“เปลี่ยนอายุเยาวชนได้แล้ว เอาให้น้อยลง”
“แก้กฎหมายเยาวชนเถอะ เด็กสมัยนี้มันรู้เกินวัย”
“ยุบศาลเยาวชนแล้วครอบครัว เด็กเดี๋ยวนี้มันเลวเกินเด็ก ควรได้รับโทษสูงสุด แล้วเข้าเรือนจำซะ”
แค่อ่านก็คงรู้เลยว่าข้อความเหล่านี้ปรากฎในสถานการณ์แบบไหน เป็นเวลา 1 เดือนแล้วที่เกิดเหตุเยาวชนฝ่าไฟแดงชนคนเสียชีวิต จนนำสังคมกลับมาถกเถียงเรื่องการกระทำผิดของเด็กและเยาวชน (อีกครั้ง)
‘แก้กฎหมายสิ เพิ่มโทษสิ สังคมของเราจะได้ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น’ คือข้อถกเถียงที่เรามักจะเห็นบ่อยๆ เมื่อเกิดคดีที่เด็กและเยาวชนทำผิด โดยเจตนาแล้ว คงไม่พ้นความอยากช่วยเยียวยาจิตใจครอบครัวผู้สูญเสียที่ต้องเผชิญความทุกข์ และปลอบประโลมสังคมที่ต้องเผชิญข่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แต่คำถามที่ตามมาก็คือ การหวดไม้เรียวที่แรงขึ้นจะทำให้เด็กกลัวมากขึ้นจริงไหม จะทำให้อาชญากรรมหายไปจริงรึเปล่านะ หรือถ้าไม่ใช่กฎหมาย เราควรแก้ที่อะไรบ้าง ? The MATTER ชวนหาคำตอบจากปากของ ณรงค์ ใจหาญ อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการบ้านกาญจนาภิเษก ไปด้วยกัน
กฎหมายพูดถึงการรับผิดของเยาวชนอย่างไร
ก่อนจะหาคำตอบว่าเพิ่มโทษจะลดอาชญากรรมจริงไหม ชวนปูพื้นฐานเรื่องกฎหมายการรับผิดของเด็กและเยาวชนก่อน
ถ้าสรุปง่ายๆ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 73-76 คือกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการรับผิดของเด็กและเยาวชนมากที่สุด มีรายละเอียด ดังนี้
- มาตรา 73 : ผู้ที่อายุไม่เกิน 12 ปี ถ้าทำความผิด ไม่ต้องรับโทษ
- มาตรา 74 : ผู้ที่อายุ 12-15 ปี ถ้าทำความผิด ก็ไม่ต้องรับโทษ แต่กฎหมายเปิดช่องให้ศาลมีอำนาจสั่ง ‘มาตรการพิเศษ’ ซึ่งเป็นมาตรการเพื่อฟื้นฟูเด็กที่กระทำผิดได้ เช่น วางข้อกำหนดกับผู้ปกครอง ส่งตัวไปสถานอบรม กำหนดเงื่อนไขคุมประพฤติ เป็นต้น
- มาตรา 75 : ผู้ที่มีอายุ 15-18 ปี ถ้าทำความผิด ศาลจะพิจารณาถึงความรู้ผิดชอบ และตัดสินว่าจะสั่งลงโทษหรือไม่ ถ้าตัดสินลงโทษทางอาญาแบบคนทั่วไป จะให้ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง แต่ถ้าไม่ลงโทษ อาจกำหนดให้ดำเนินการฟื้นฟูตาม ม.74
- มาตรา 76 : ผู้ที่อายุ 18-20 ปี ถ้าทำความผิด ต้องรับโทษอาญาเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ แต่ศาลอาจให้ลดโทษ 1/3 หรือกึ่งหนึ่งก็ได้
คนทำผิดไม่ได้คิดเรื่องโทษ
“การเพิ่มโทษไม่ได้แก้อาชญากรรม เพราะแม้จะเพิ่มโทษ ตอนคนกระทำความผิด ก็ไม่ได้คิดถึงโทษเท่าไหร่หรอก เขาคิดแค่ว่าจะถูกจับได้ไหม หรือจะถูกลงโทษหรือเปล่า” ณรงค์ ใจหาญ นักกฎหมายและศาสตราจารย์จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับเรา
นักกฎหมายให้ข้อมูลว่า เจตจำนงของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการทำผิดของเด็กและเยาวชนคือ การอยากให้ดำเนินคดีและปฏิบัติกับเด็กแตกต่างจากผู้ใหญ่ เพื่อป้องกันและคุ้มครองสิทธิของผู้เยาว์
เป้าหมายนี้สัมพันธ์กับ ‘อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก’ ที่ไทยลงนามไว้ตั้งแต่ปี 2535 เป็นอนุสัญญาที่นำทางให้รัฐบาลคุ้มครองสิทธิเด็กในประเทศอย่างเท่าเทียม มีเนื้อหาระบุว่า หากต้องดำเนินคดีกับเด็กและเยาวชนที่ทำผิด จะต้องทำแตกต่างจากผู้ใหญ่ และมุ่งทำให้เด็กกลับเข้าสู่สังคมไวที่สุด บนฐานที่เชื่อว่าเด็กอาจมีสาเหตุการทำผิดจากความอ่อนเยาว์และสภาพแวดล้อม ดังนั้น การเพิ่มโทษเยาวชน ในแง่นึงก็จะขัดอนุสัญญาสิทธิเด็กที่เราให้สัตยาบันไว้ และอาจถูกประณามจากนานาชาติ
ส่วนอีกสาเหตุที่ต้องดำเนินคดีต่างจากผู้ใหญ่ ณรงค์ชี้ว่า เพราะเด็กจำนวนไม่น้อยยังแยกผิดถูกไม่ได้ และบางกลุ่มโตมาในสภาพแวดล้อมที่มีปัญหา
“มหาชนมองว่าต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมสำหรับเด็ก ซึ่งผมก็โอเค แต่ก็ขอให้มองเห็นว่า เด็กที่กระทำความผิดมันไม่ใช่เรื่องของเด็กเพียงอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องของกลไกโครงสร้างและสภาพแวดล้อมของเด็กที่ทำให้เด็กเป็นแบบนั้น ฉะนั้น การที่เราไปเน้นเรื่องการเพิ่มโทษ หรือเอาเด็กมาลงโทษโดยไม่มีการรอ ไม่มีการอะไร อาจจะไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องนี้” นักกฎหมาย กล่าว
ส่วนข้อเสนอที่ให้เยาวชนเข้าคุกผู้ใหญ่ก็จะสร้างปัญหาตามมา ณรงค์อธิบายว่า ตามทฤษฎีทางอาชญาวิทยา หากลงโทษเด็กปะปนกับผู้ใหญ่ อาจเกิดกระบวนการถ่ายทอดวิชาที่เด็กเข้าไปเรียนรู้วิธีการผิดๆ จนพัฒนาทักษะที่เลวร้ายกว่าเดิม และก้าวออกจากห้องขังในฐานะมืออาชีพก็ได้
อะไรคือปัญหาของกฎหมายเอาผิดเยาวชน
ณรงค์มองว่า ตัวบทกฎหมายได้มาตรฐานอยู่แล้ว แต่ช่องโหว่อยู่ที่การบังคับใช้ เช่น กลไกการฟื้นฟูและบริหารจัดการยังไม่ดีพอ จำนวนเยาวชนผู้กระทำผิดล้นคุกจนขาดประสิทธิภาพในการอบรมฟื้นฟู และการขาดการมีส่วนร่วมจากชุมชนเพื่อฟื้นฟูเด็ก เป็นต้น
หากต้องแก้ไขกระบวนการนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายเสนอว่า จะต้องแก้ให้สถานพินิจมีโอกาสดูแลเด็กได้มากขึ้น ผ่านการลดจำนวนเด็กหรือปรับการบริหารจัดการอื่นๆ พร้อมกับเสนอให้มีโครงการที่ให้ชุมชน–เอกชนเข้ามามีส่วนช่วยฝึกอบรมเด็กและคุมประพฤติเข้มแบบในต่างประเทศ เพราะเชื่อว่ามาตรการนี้จะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเด็กได้ แบบที่ไม่ผลักเด็กเข้าสู่ระบบคุกอย่างเดียว
ลงโทษแรง–แยกประเภทความผิด ไม่ดีอย่างไร
“การผลักดันเข้าเรือนจำโดยไม่ได้แก้อะไร เขาก็อาจจะออกมาแล้วกระทำผิดมากกว่าเดิมก็ได้” ณรงค์ กล่าว
อาจารย์จากคณะนิติศาสตร์เชื่อมั่นว่า การกำหนดโทษควรเป็นไปตามลำดับขั้นตอน เช่น หากทำผิดครั้งแรกก็ใช้การคุมประพฤติก่อน แต่หากเริ่มผิดซ้ำ ก็คุมให้เข้มขึ้น หรือหากผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก กฎหมายก็เปิดช่องให้สั่งโทษจำคุกได้อยู่แล้ว เพียงแต่จะมีกลไกบำบัดฟื้นฟูผู้กระทำผิดด้วย
“การมองว่าเพิ่มโทษแล้วอาชญากรรมจะลด มันก็คือความรู้สึกคนที่เชื่อในหลักการว่าเพิ่มโทษแล้วคนจะกลัวนั่นแหละ แต่จริงๆ คนทำผิดไม่ได้กลัวโทษที่เพิ่มนะ เขากลัวถูกจับ ดังนั้น ถ้าโทษยังมีเหมือนเดิม หรือเพิ่มโทษ แต่ก็ไม่จับ ไม่บังคับใช้ คนก็กล้าทำความผิดอยู่ดี”
“ถ้าอยากให้อาชญากรรมลดลง ก็ควรไปเพิ่มมาตรการบังคับใช้กฎหมายให้เอาจริงเอาจังมากขึ้น เช่น ถ้ามีความผิดเยาวชนเกิดขึ้นอีก ทุกคนก็จะได้รับการดำเนินคดี และต้องได้รับการแก้ไขไม่ให้กลับไปทำความผิดอีก”
ท่ามกลางมหาสมุทรแห่งข้อถกเถียงในเรื่องนี้ มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจ คือ การเสนอให้แยกประเภทอาชญากรรมที่ควรพิจารณาด้วยสูตรของผู้ใหญ่ หรือก็คือ เด็กที่ก่อคดีแรงๆ อย่างค้ายา ฆ่าข่มขืน หรือเมาแล้วขับ ก็ให้พิจารณาแบบผู้ใหญ่ซะ
ซึ่งแนวทางลักษณะนี้ ก็เป็นแนวทางที่มีการบังคับใช้จริงแล้วบนโลกนี้ เช่น อังกฤษระบุว่า เด็กอายุ 10-11 ปีอาจถูกจำคุกได้ในกรณีที่ทำความผิดร้ายแรงมาก เช่น ฆาตรกรรม เป็นต้น
สำหรับประเด็นนี้ ณรงค์กล่าวว่า หากรัฐสภาต้องการแก้ไขก็คงเป็นไปได้ ในต่างประเทศก็มีตัวอย่างที่ทำเช่นนี้ แต่เขายืนยันว่าทิศทางกฎหมายไทยโน้มเอียงไปในทางปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กที่กระทำผิด ประกอบกับการลงนามในอนุสัญญา ก็อาจทำให้มันขัดกับหลักที่ประเทศยึดถือได้
นอกจากนี้ เขาเสนอว่า หากจะเปลี่ยน ก็ควรดูกฎหมายทั้งระบบด้วย และไม่เลือกปฏิบัติกับผู้ที่ทำผิดร้ายแรงเท่านั้น
วิกฤตศรัทธากระบวนการยุติธรรมไทย
เมื่อถามว่ากระบวนการยุติธรรมจะกู้ศรัทธาอย่างไร อาจารย์นิติศาสตร์ตอบติดตลกว่า “จะกู้ศรัทธาคืนมาคงไม่ใช่แค่กับกรณีคดีเยาวชนหรอก” พร้อมแนะนำให้ผู้ที่ทำงานบังคับใช้กฎหมายทำหน้าที่อย่างขันแข็ง
ณรงค์เผยว่า บางครั้ง กระบวนการยุติธรรมอาจไม่ถูกใจมหาชน โดยเฉพาะในกรณีที่เยาวชนเป็นผู้กระทำผิดเพราะเด็กสร้างความเสียหายจริงๆ แต่การละเลยไม่ดำเนินการในบางกรณี อาจทำให้มหาชนยิ่งขาดความเชื่อถือเข้าไปอีก
“คนไม่ไว้ใจกระบวนการยุติธรรม ซึ่งอันนี้มันเป็นเรื่องที่กระบวนการยุติธรรมต้องปฏิรูปตัวเอง ว่าจะต้องใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น กฎหมายก็เน้นให้ปรับพฤติกรรมเยาวชนมากกว่าอยู่ดีนะ” ณรงค์ ทิ้งท้าย
เพิ่มโทษหนัก ผลักภาระให้ปัจเจก
การถกเรื่องการแก้กฎหมายเพื่อหยุดอาชญากรเด็กจะมองผ่านเลนส์ของนักกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ แต่คงต้องมองผ่านเลนส์ของผู้มีประสบการณ์จริงกับเด็กและเยาวชนที่เคยทำผิดอย่างทิชาด้วย
“แก้กฎหมาย เพิ่มโทษเยาวชนให้หนักขึ้น ช่วยอะไรไม่ได้เลย เพราะเอาเข้าจริง วิธีการเพิ่มโทษ จะให้แรงสุดจนประหารชีวิต มันก็คือการผลักภาระให้การแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล แต่ในความเป็นจริงมันยังมีระบบที่พร้อมจะหมุนผู้คนออกมาสู่พื้นที่ที่เป็นด้านมืดจนก่ออาชญากรรม ระบบมันยังทำหน้าที่ของมันอยู่”
พื้นที่ที่เธอดูแล คือ บ้านกาญจนาภิเษก สถานพินิจสำหรับเด็กและเยาวชนชายที่เคยกระทำความผิด ทิชาเล่าให้ฟังว่า บ้านแห่งนี้มีกฎเหล็กคือการไม่รับมรดกทางความคิดที่รัฐไทยเคยกระทำกับเด็กที่ทำผิด
ดังนั้น บ้านกาญจนาจึงเป็นสถานพินิจที่พาเด็กและเยาวชนไปกินหมูกระทะข้างนอก ปล่อยให้พวกเขาแต่งหน้าแต่งผมตามใจชอบ และไม่ได้ไล่เข้านอนตั้งแต่ตะวันยังไม่ตก แต่ปล่อยให้พวกเขาได้เล่นและเรียนรู้ตามวัย
“เราเข้าใจคนที่คิดว่าจะต้องเพิ่มโทษเยาวชนที่กระทำความผิด จนทำให้คนอื่นต้องเสียชีวิต และทุกข์โศก เราเห็นด้วยว่าการตายคือทุกข์แสนสาหัสของคนข้างหลัง แต่ประเทศจะขับเคลื่อนด้วยโศกนาฏกรรมไม่ได้ เราต้องไปให้ถึงโครงสร้างและระบบที่ดีด้วย” ผอ.สถานพินิจ อธิบาย
ทำไมเยาวชนทำความผิด
สถิติจากกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนระบุว่า ในปี 2564 สถานพินิจดูแลคดีเด็กและเยาวชนไป 14,593 คดี ซึ่งเกือบ 50% เป็นคดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ขณะที่ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอยู่ที่ราวๆ 10%
เหตุที่ทำให้เด็กและเยาวชนทำผิด คงไม่ใช่การเกิดมาแบบถูกใส่รหัสให้เป็นอาชญากร ทิชา ชี้ว่ามีหลายปัจจัยร่วม ได้แก่ ครอบครัว ตัวเด็กเอง และผู้บังคับใช้กฎหมาย
ทิชามองว่า บางบ้านอาจไม่ให้ความสำคัญกับการละเมิดกฎหมาย ซึ่งต้องคิดต่อว่าเพราะประสบการณ์ใดที่ทำให้พวกเขามองว่ามันไม่สำคัญ ในขณะที่เด็กก็เป็นปัจจัยสำคัญ เพราะเขารู้ดีว่าไม่มีใบขับขี่
“แต่ป้าเชื่อว่า เด็กคนนี้เคยเห็นคนละเมิดกฎหมายแล้วรอดจากการถูกจับกุม และเขาก็น่าจะเชื่อว่ากูก็คงรอดเหมือนกัน เลยอาจจะไม่ได้แคร์ว่าขับได้หรือเปล่า กฎหมายอนุญาตหรือไม่ เพราะเหวี่ยงสายตาไปทางไหนก็เห็นคนละเมิดกฎหมายเต็มไปหมดในประเทศ ส่วนนึงดันรอดด้วย” ทิชา กล่าว
ส่วนปัจจัยที่สำคัญมากอย่าง ตำรวจ หรือผู้บังคับใช้กฎหมาย ทิชาเปรียบเปรยว่า การที่เด็กและเยาวชนกระทำผิด ก็คือเหรียญอีกด้านที่สะท้อนความไร้ประสิทธิภาพของตำรวจ และเธอยังตั้งคำถามว่า ตำรวจแน่ใจหรือเปล่าว่าทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและสม่ำเสมอแล้ว
“คนไม่ได้กลัวว่าจะถูกจับหรือไม่ถูกจับ แต่เขากลัวว่าตำรวจจะเอาจริงรึเปล่ามากกว่า” คือทัศนะของทิชา ที่ดันคล้ายกับความเห็นจากอาจารย์นิติศาสตร์
ฟื้นฟูยังจำเป็น แต่กระบวนการอาจยังมีปัญหา
หลักการสำคัญของกฎหมายที่เกี่ยวของกับการทำผิดของเด็กและเยาวชน คือ การเน้นฟื้นฟูมากกว่าลงโทษ ซึ่งทิชามองว่าหลักการสำคัญถูกต้องอยู่แล้ว ซึ่งไม่ได้เป็นไปเพราะความเมตตาสงสาร แต่เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อผู้เยาว์
อย่างไรก็ดี เธอย้ำว่า จะต้องเคร่งครัดกับหลักการในการฟื้นฟูมาก เพราะในความเป็นจริง คุกอาจไม่เปลี่ยนวิธีคิดของคนได้ “คุกทั่วโลก รวมถึงคุกไทย มันไม่ได้เปลี่ยนวิธีคิดของคน แต่ไปจัดการและช็อคพฤติกรรมของคนเท่านั้น พอเขาออกมา วิธีคิด ความเชื่อ ความศรัทธาของเขาอาจไม่ขยับเลย พออาการช็อคหายไป แต่สิ่งแวดล้อมในประเทศเหมือนเดิม วิธีคิดใหม่ก็ไม่เกิดขึ้น ซึ่งมันคือความสูญเปล่า” ทิชา อธิบาย
ซึ่งคุกสำหรับเด็กที่กระทำผิดในไทยก็ยังมีปัญหา ผู้ดูแลบ้านกาญจนาอธิบายว่า สถานพินิจส่วนใหญ่จะเน้นฝึกวินัยและฝึกอาชีพ ซึ่งเป็นการทำงานทางพฤติกรรม แต่ละเว้นการทำงานฟื้นฟูทางความคิด และไม่ทำงานเพื่อเปลี่ยนมายเซ็ตของเด็ก
“ต่อให้สั่งวิ่งจนเหงื่อจะกลายเป็นเลือด ถามว่าจะหายไหม ในเมื่อระบบวิธีคิดของเขายังไม่ถูกสลายเลย” ทิชากล่าว
ถ้าไม่แก้กฎหมาย ต้องแก้ที่อะไร
คำตอบของทิชา คือ แก้ปัญหาเชิงระบบ ซึ่งเธอก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องยาก
เธอเปรียบเปรยโครงสร้างและสภาพแวดล้อมทางสังคมว่าเป็นโรงงานผลิตมนุษย์ ซึ่งหากต้องการแก้ปัญหาอาชญากรเด็ก ก็ไม่พ้นจะต้องคุมเข้มและทำให้โรงงานมีคุณภาพที่ดีขึ้น
ทิชากล่าวว่า “โรงงานเหล่านี้ มันไม่เคยมีใครเข้าไปจัดการ เช่น เราไม่มีโรงเรียนที่สอนให้เด็กคิด วิเคราะห์ รับฟังความเห็นแตกต่าง หรือถกเถียงกันว่าการเคารพและไม่เคารพกฎหมายจะส่งผลอย่างไร เราไม่ได้ถกเถียงกันอย่างจริงจังนุ่มลึก”
“ขณะที่สังคมนอกบ้านของเด็ก ก็เต็มไปด้วยพื้นที่สีเทาและดำ สุดท้าย พอคนทำผิดขึ้น เราก็เกรี้ยวกราดกับปัจเจกว่า ‘มึงต้องรับผิดชอบนะ’ ซึ่งต่อให้เราจับคนเหล่านี้มาเข้าคุกคนแล้วคนเล่า แต่โรงงานที่สร้างคนที่พร้อมจะผิดพลาด มันก็ยังทำหน้าที่ของมันอย่างสม่ำเสมอ ไม่เคยหยุดเลย”
การแก้กฎหมายเพิ่มโทษอาจมีอันตรายในตัวเองด้วย ทิชาชี้ว่ามันจะยิ่งเพิ่มอำนาจให้ตำรวจ หรือผู้บังคับใช้กฎหมาย ภายใต้ระบบที่ก็ยังไม่แข็งแรงพอ
นอกจากนี้ คงต้องแก้พื้นที่ฟื้นฟูอย่างสถานพินิจด้วย ผู้ดูแลบ้านกาญจนาอธิบายว่า คุกเด็กมีครั้งแรกเมื่อปี 2495 ด้วยเจตนาป้องกันการปะปนของเด็กในคุกผู้ใหญ่ แต่การก่อตั้งครั้งนั้นไม่ได้มีเครื่องมือ-วิธีปฏิบัติแนบมาด้วย ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องไปหยิบวิธีที่คุกทำกับนักโทษผู้ใหญ่มาใช้ ซึ่งมันเป็นวิธีแบบ ‘อำนาจนิยม’
“ตราบใดที่เอาอำนาจนิยมออกไปจากสังคมไม่ได้ ไม่ว่าจะในสถานพินิจ ในบ้าน ในโรงเรียน หรือมหาวิทยาลัย การเปลี่ยนแปลงก็คงจะเกิดขึ้นได้ยาก” ทิชา กล่าว
กรณีศึกษาจากสหรัฐฯ
ความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญโดดๆ อาจไม่เห็นภาพ เราจึงขอยกกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นในประเทศที่เปิดช่องให้ลงโทษเต็มกำลังกับเด็กและเยาวชนมาเล่าให้ฟัง
กรณีต่อไปนี้เกิดขึ้นที่อเมริกา ในปี 2004 เด็กหญิงวัย 16 ปีถูกศาลสหรัฐฯ สั่งจำคุกตลอดชีวิต ด้วยมาตรฐานเดียวกับผู้ใหญ่ เพราะฆ่าชายรายหนึ่งจนเสียชีวิต อย่างไรก็ดี เธอยืนยันว่าเป็นการป้องกันตัว เนื่องจากถูกบังคับให้ขายตัว ขณะที่กำลังหนีออกจากบ้านที่ใช้ความรุนแรง
ปัจจุบัน เธอได้รับการปล่อยตัวแล้ว แต่ระหว่าง 15 ปีที่ถูกคุมขัง คดีนี้ได้รับความสนใจอย่างมากจากสังคมสหรัฐฯ จนทำให้ผู้คนออกมาเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ต้องหารายนี้
สหรัฐฯ คือประเทศเดียวที่เด็กและเยาวชนมีสิทธิโดนสั่งจำคุกตลอดชีวิต และกรณีข้างต้นอาจทำให้ชวนคิดต่อว่า หากสังคมไทยปรับแก้กฎหมาย ไม่ว่าจะเพิ่มโทษ หรือเปิดช่องให้ตัดสินคดีแบบผู้ใหญ่ จะมีโอกาสเกิดเหตุการณ์แบบกรณีข้างต้นหรือไม่ หรือเราทำอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้ได้ ?
ทั้งนี้ รายการสื่อเชิงสืบสวน FRONTLINE สรุปงานวิจัยที่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ไว้ว่า โทษที่หนักขึ้นแบบผู้ใหญ่ ไม่ได้ทำให้เด็กและเยาวชนกลัวขนาดนั้น และหลังจากปล่อยตัวแล้ว กลุ่มที่รับโทษหนักแบบผู้ใหญ่มีแนวโน้มที่จะกระทำผิดซ้ำเร็วกว่า และบ่อยกว่า หากเทียบกับผู้ที่ได้รับการฟื้นฟูในระบบของเด็กและเยาวชน
อ้างอิงจาก