เวลาที่บอกว่า ‘ไปติดต่อราชการ’ แค่นึกถึงก็เครียดขึ้นมาทันที จะไปติดต่อแต่ละทีต้องเตรียมทั้งตัว เตรียมทั้งใจ เตรียมเอกสาร เตรียมเวลา โหย ยังกับจะไปออกรบอะไรขนาดนั้น
มันเป็นเรื่องของจินตนาการด้วยส่วนหนึ่งเนอะ จริงๆ ข้าราชการกับหน่วยงานราชการสมัยนี้หลายๆ ที่ที่พยายามปรับตัว เน้นบริการประชาชน ยิ้มแย้มแจ่มใส เข้าใจ เข้าถึง ทุกระดับ (มาเป็นสโลแกนเลย!)
ไม่รู้ทำไมเวลาเรานึกถึงภาพของ ‘สถานที่ราชการ’ และ ‘ข้าราชการ’ ที่ต้องไปติดต่อด้วย มันก็มีภาพจำที่ขลังๆ นิดนึง ทั้งๆ ที่ข้าราชการก็มีทุกช่วงวัย ทุกเพศ แต่เรามักนึกภาพเป็นคนที่สูงวัยหน่อย ไปติดต่ออะไรก็รู้สึกยำเกรงยิ่ง ไม่ค่อยกล้าไปอะไรมากมาย มีอะไรก็พยายามเตรียมไปให้พร้อม
โดยเฉพาะ…เวลา สิ่งที่ต้องกำหนดไว้ในใจเลยคือ เราต้องมีเวลาเยอะๆ หาวันว่างๆ ลางานต่างๆ ไป ถ้าเสร็จสิ้นไปได้ก็จะรู้สึกยินดียิ่งแล้ว
Bureaucracy – มีอะไรในระบบราชการ
ระบบราชการ หรือระบบการทำงานที่มีการคัดเลือกบุคคลเข้ามาทำกิจการงานต่างๆ ของรัฐ ระบบราชการหรือบริการของรัฐ (Civil service) เป็นสิ่งที่มีอยู่ทั่วไป ตอนที่คำว่า Bureaucracy ถูกคิดขึ้นมา ค่อนข้างมีนัยแง่ลบ คือ เป็นการวิพากษ์ถึงตัวระบบราชการที่ไร้ประสิทธิภาพ ยุ่งเหยิงและไม่มีความยืดหยุ่น
แหม่ ฟังดูคุ้นๆ
ไม่ใช่ทุกคนที่บอกว่าระบบราชการแย่ Max Weber นักคิดคนสำคัญเห็นว่าระบบราชการนี่แหละที่เป็นรูปแบบองค์กรที่ดีงาม และเป็นสิ่งจำเป็นในโลกสมัยใหม่ สิ่งที่ระบบราชการทำนั้นเป็นผลดีต่อประชาชนและประเทศชาติส่วนรวม แต่เวเบอร์เองก็เห็นว่ากฎเกณฑ์และระเบียบต่างๆ มากมายในระบบราชการนั้น เมื่อทำทุกอย่างให้เป็นระบบ (rationalization) มากๆ เข้า อาจส่งผลให้มนุษย์เรากลายเป็นสิ่งไม่มีวิญญาณไปเลย
ส่วนนักคิดอีกกลุ่มหนึ่งเช่น Harold Laski, Ludwig von Mises หรือMichel Crozier เห็นแย้งว่า ระบบราชการก่อความเสียหายมากกว่า ด้วยความที่ไม่มีการคำนึงถึงกำไรหรือขาดทุนแบบองค์กรธุรกิจ ทำให้คนในระบบขาดแรงจูงใจในการทำงาน คือคิดแบบโลกธุรกิจว่าถ้าไม่ต้องแข่งขันก็มีแนวโน้มที่จะขาดประสิทธิภาพ แถมยังมองว่าระบบราชการเป็นแหล่งของการใช้อำนาจเกินขอบเขต ไม่มีความยืดหยุ่น ขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีกฎข้อบังคับและแบบแผนการปฏิบัติงานที่ล่าช้าเต็มไปด้วยรายละเอียดหยุมหยิมที่ไม่จำเป็น
ไปเป็นเจ้าคนนายคน
ในสังคมจีนโบราณมีวิธีการเอาคนเข้าสู่การรับราชการด้วยการสอบ การสอบจอหงวนที่เราเคยเห็นตามหนังจีนต่างๆ ตอนนั้นก็ถือว่าเป็นกระบวนการที่ล้ำสมัยพอสมควร เพราะจากเดิมการสืบฐานะทางสังคมส่วนใหญ่โดยเฉพาะตำแหน่งขุนนางนั้นทำกันโดยสายเลือด เป็นเรื่องของสายตระกูลและครอบครัว
พอมีการสอบเพื่อเข้ารับราชการ การสอบ การศึกษาและความสามารถจึงเป็นช่องทางให้บุคคลสามารถเลื่อนสถานะทางสังคมของตัวเองได้ จากคนที่ไม่ได้เกิดมาในครอบครัวขุนนาง แต่ถ้ามีความสามารถมากพอก็เข้ารับราชการได้เหมือนกัน (ถึงในทางปฏิบัติคนที่เข้าถึงการศึกษาได้จะยังจำกัดอยู่ก็ตาม)
ในบ้านเรา การปฏิรูปการศึกษาและระบบการบริหารราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นส่วนหนึ่งของการปรับประเทศให้ทันสมัย การขยายตัวของการศึกษาและงานราชการใหม่ๆ เปิดโอกาสให้คนสามารถเข้ารับการศึกษาและนำไปสู่การรับราชการในกระทรวงต่างๆ ได้ การศึกษานับจากสมัยนั้นจึงเป็นช่องทางสำคัญในการเลื่อนฐานะทางสังคม
ดังนั้นเลยมีคำกล่าวว่า เรียนไปเป็นเจ้าคนนายคนไง
ต่างตอบแทน vs การอนุเคราะห์
ด้วยความที่โลกของราชการ เรามีคำเรียกลำลองว่าหลวง อะไรที่เป็นของหลวง หรือทำภายใต้งานหลวงก็ฟังดูเป็นอะไรที่ใหญ่กว่าเราทั้งนั้นแหละเนอะ
ดังนั้นเวลาที่เราต้องไปติดต่อเรื่องราวต่างๆ กับราชการ เราไปในฐานะประชาชนตัวจ้อยๆ ที่เข้าไปดีลกับสิ่งที่เรียกว่าภาครัฐในฐานะเป็นตัวแทนของประเทศ ตรงนี้เองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราต้องกระมิดกระเมี้ยนเวลาไปติดต่อเพื่อขอความอนุเคราะห์อำนวยความสะดวกต่างๆ
เราอยู่ในโลกสมัยใหม่ ถ้าคิดด้วยตรรกะและเหตุผลแล้ว การไปติดต่อราชการไม่ควรเป็นความสัมพันธ์จากข้างบนลงข้างล่าง แต่ควรเป็นเรื่องการตอบแทนซึ่งกันและกันมากกว่า แม้จะมีคำพูดที่ในทางปฏิบัติอาจจะเป็นอย่างนั้นว่า “ราชการรับเงินจากภาษีของประชาชน” แต่มองในแง่การพึ่งพากันไปมามากกว่าน่าจะดี ถ้าประชาชนได้รับบริการที่ดีก็ทำให้เศรษฐกิจเติบโต สังคมก้าวหน้าได้ รัฐเองก็มั่งคั่งมั่นคงขึ้นตามลำดับ พอรัฐมั่นคงก็มีการบริการต่างๆ ให้ประชาชนได้พึ่งพิง ได้ก้าวเดินกันไป (โลกสวยเชียว)
ปัจจุบันหน่วยงานราชการหลายๆ ที่ ก็พยายามปรับตัวเพื่อบริการประชาชนด้วยความเอาใจใส่และความรวดเร็ว ก็ขอเชิดชูไว้ด้วย ณ โอกาสนี้
จริงอยู่ที่สังคมใดๆ คำว่า society นั้นมีนัยของการเป็นลำดับชั้นอยู่แล้ว แต่ในสังคมไทยคงปฏิเสธไม่ได้ว่าการแบ่งลำดับชั้นของเรายังคงอยู่ในความคิดอยู่มาก คนขับรถเบนซ์เหยียดรถแท็กซี่ คนกรุงเทพฯกับคนอีสาน คนรวยกับคนจน ซึ่งในที่สุดแล้วแล้วสังคมก็ขับเคลื่อนไปได้ด้วยคนทุกภาคส่วนอยู่ดี
ดังนั้น ลดๆ บ้างก็ดีเนอะ เรื่องลำดับชั้น พิจารณาอย่างเสมอกัน ในฐานะคนคนนึงที่ทำหน้าที่ของตัวเองไป
ไม่มีใครตัวเล็กตัวใหญ่ไปกว่ากัน