ต้อนรับปีใหม่จีน ปีนี้ ด้วยการมอบสิ่งดีๆ ให้กับตัวเองกันดีกว่า อะ นี่กระเช้าผลไม้ออร์แกนิก รับประทานถูกหลัก ต่อให้อกหักก็ยังแข็งแรง ไม่ใช่!
‘อ่านอะไร ก็ได้อย่างนั้น’ ยูอาร์วอตยูรี้ด ในโลกออนไลน์ของเรามีการรวบรวมผู้นำทางความคิดที่ได้ชี้นำเหล่าลูกแกะตาบอดให้ใช้ชีวิตรอดในโลกสมัยใหม่ได้อย่างมีคุณภาพ มีความสุข มีความคมคาย ในเมื่อได้รับคำแนะนำจากผู้นำยุคใหม่กันมามากแล้ว The MATTER จึงขอรวบรวมข้อแนะนำจากเหล่านักคิด นักปรัชญามาแบ่งปันบ้าง เพื่อเติมสิ่งดีๆ ในชีวิตคุณ
Epictetus
อิปิคเตตัส เป็นนักปรัชญาชาวกรีกที่มีชาติกำเนิดเป็นทาสแถมร่างกายก็พิการ ปรัชญาของอิปิคเตตัสคือเชื่อว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้นต่างก็อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของเรา สิ่งสำคัญคือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นเราควรรับมืออย่างสุขุมและไม่ยินดียินร้ายจนเกินไป วิธีแบบนี้ก็คล้ายๆ แนวคิดเรื่องความคิดเชิงบวกที่กำลังฮิตๆ ทุกวันนี้เหมือนกัน ซึ่งก็น่าจะเวิร์กสำหรับอะไรที่เราควบคุมไม่ได้จริงๆ เราก็ทำใจให้สบายไป แต่อะไรไม่ถูกต้องที่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ก็ลุกขึ้นมาทำอะไรหน่อยก็ดีเนอะ
Maya Angelou
มายา แองเจโล เป็นอีกหนึ่งนักคิดผิวสีคนสำคัญของยุคปัจจุบัน มายาเป็นนักเขียนและกวีอเมริกันที่ทรงพลัง เป็นนักต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิงและคนผิวสี ในช่วง 50 ปีของการสร้างสรรค์ผลงานเธอได้รับรางวัลอันทรงเกียรติต่างๆ ราว 50 รายการ โดยงานเขียนของเธอมักพูดเรื่องการเหยียดสีผิว ตัวตน ครอบครัวและการเดินทาง ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จุดยืนของเธอคือการต่อสู้ ไม่ว่าจะเพื่อผู้หญิง เพื่อชาติพันธุ์ซึ่งความยุติธรรม ความเสมอภาค หรือความดีงามใดๆ ย่อมเป็นคุณธรรมที่ควรรักษาไว้ แต่หากขาดไร้ซึ่งความกล้าหาญแล้ว การลุกขึ้นหรือรักษาไว้ด้วยคุณสมบัติอื่นๆ ย่อมเป็นไปได้ยาก
Haruki Murakami
ความเหงาและความตรอมตรมของโลกสมัยใหม่เป็นสิ่งที่เราสัมผัสได้ผ่านงานเขียนของเฮีย ฮารุกิ มูราคามิ นักเขียนชาวญี่ปุ่นที่เรียกได้ว่าทรงอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในโลกวรรณกรรมร่วมสมัยเลยก็ว่าได้ แต่บางทีก็เป็นอย่างที่เฮียมูแกว่าแหละ ว่าท่ามกลางชีวิตที่แสนโดดเดี่ยวและแหลกสลายไม่ว่าจะแง่มุมไหนก็ตาม ไม่ว่าเราจะทุกข์ทนแค่ไหน สุดท้ายสิ่งที่เหลืออยู่คือความทรงจำ และความทรงจำอันเจ็บปวดนั้นแหละที่เป็นสิ่งอันมีค่า…ที่เราจะไม่ยอมลืมเลือนมันไปง่ายๆ
The Bhagavad Gita
คัมภีร์ภควัทคีตาเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ในความเชื่อแบบฮินดู ตัวคัมภีร์ปรากฏเป็นบทแทรกอยู่ในมหากาพย์มหาภารตะอันเป็นการสู้รบกันระหว่างฝ่ายเการพและปาณฑพ ซึ่งการสู้รบนี้เป็นการสู้รบกันภายในตระกูลจันทรวงศ์ด้วยกันเอง บทแทรกในการรบนี้เป็นบทสนทนาโต้ตอบกันระหว่างอรชุนเจ้าชายแห่งฝ่ายปาณฑพที่ลังเลในการสู้รบฆ่าฟันเครือญาติตัวเอง สนทนาตอบคำถามกับพระกฤษณะผู้กำลังทำหน้าที่สารถี ประเด็นสำคัญอันเป็นแกนความเชื่อแบบฮินดูคือการทำหน้าที่ในแบบของตนเอง แต่ละบุคคลในสังคมก็มีหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งถ้าเอามามองกับยุคปัจจุบันก็ดูเข้ากับคำคมๆ แบบที่ว่าคนเราต่างมีวิถีชีวิตเป็นของตัวเอง จะไปใช้ชีวิตตามแบบคนอื่นทำไม – กลายเป็นโฆษณาการใช้ชีวิตให้เต็มที่ไปซะเฉย
C.S. Lewis
ซี.เอส. ลิวอิส เป็นนักเขียนเจ้าของผลงานวรรณกรรมชุดนาร์เนียร์ที่โด่งดังระดับโลก ได้รับการแปลออกไปแล้วกว่า 30 ภาษาและมียอดขายกว่า 100 ล้านเล่ม ลิวอิสเป็นศาสตราจารย์ประจำด้านวรรณกรรมยุคกลางและยุคเรเนสซองส์คนแรกของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เคยมีผลงานวิชาการเกี่ยวกับความรักชื่อ ‘นิทานความเปรียบเรื่องความรัก’ (The Allegory of Love) เผยแพร่เมื่อปี 1936 ส่วนมุมมองคมๆ เรื่องความรักของพี่แกมีความคลับฟลายเดย์ดี ถ้ารักมาก ก็เจ็บมาก แต่สุดท้ายมันก็คุ้มอยู่ดีที่เราจะรักเอง เจ็บเอง ใจเอย…
Albert Camus
อัลแบร์ กามู เป็นนักเขียนและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส ปรัชญาที่กามูเสนอผ่านงานเขียนและวรรณกรรมคือความไร้แก่นสาร (Absurd) ของชีวิตมนุษย์ งานวรรณกรรมสำคัญคือเรื่อง ‘คนนอก’ (L’Étranger) ตีพิมพ์ในปี 1942 โดยกามูได้รับโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1957 และแน่นอนว่า การเคารพนับถือที่สร้างจากความกลัว ก็น่าคิดว่ามันคือความเคารพที่แท้จริงรึเปล่า
Jean-Paul Sartre
ฌอง-ปอล ซาร์ต เป็นอีกหนึ่งนักปรัชญาสมัยใหม่ที่สำคัญคนหนึ่งของฝรั่งเศส ซาร์ตเป็นทั้งนักคิด นักเขียน นักการละครที่มีบทบาทสำคัญต่อความคิดแบบอัตถิภาวนิยม (Existentialism) ความคิดที่เชื่อว่าคนเราเป็นอิสระและรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง ซาร์ตเองได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 1964 และปฏิเสธที่จะรับรางวัลดังกล่าว เราอาจจะรู้สึกว่านักปรัชญาหรือแม้กระทั่งตัวเราในทุกวันนี้จะใช้เหตุผลขบคิดตัดสินสิ่งต่างๆ ตลอด แต่ในนิยามของความรัก เราไม่ตัดสินคนที่เรารัก แค่นี้เอง ง่ายๆ จบ.
Seneca
เซเนกา หรือ เซเนกาผู้ลูก (คือเป็นลูกของเซเนกาอีกคน – โอ๊ย งง ไม่งงเนอะ เหมือนจูเนียร์ไง) เป็นนักปรัชญา รัฐบุรุษ และนักการละครชาวโรมัน เซเนกาเป็นครูให้กับจักรพรรดิเนโรผู้เหี้ยมโหด ตัวคำกล่าวข้างต้นปรากฏในงานชื่อ ‘De Tranquillitate Animi’ (On Tranquility of the Mind) ซึ่งจริงๆ อ้างถึงอาริสโตเติล ความโดยสรุปก็มีความร่วมสมัยคือ ถ้าจะจีเนียสได้มันจะมีแต่ความราบเรียบธรรมดาได้ยังไง มันต้องมีความบ้าคลั่งร่วมอยู่ด้วยไม่มากก็น้อยแหละน่า ในตอนท้ายของชีวิตเซเนกาเขียนงานที่ชื่อว่า ‘ว่าด้วยความปรานี’ (DE CLEMENTIA) ถึงจักรพรรดิเนโร
Bertrand Russell
มาสู่นักคิดฝั่งอังกฤษผู้ซึ่งมีอิทธิพลด้านการศึกษาในศตวรรษที่ 20 เบอร์ทรันด์ รัสเซลล์ เป็นอีกหนึ่งสุดยอดนักคิดที่วางรากฐานความคิดเกี่ยวกับ ‘ความรู้’ และตรรกะวิทยา ซึ่งพี่แกเองก็วางรากฐานไว้ในหลายแขนงวิชาไม่ว่าจะเป็นปรัชญา คณิตศาสตร์ หรือฟิสิกส์ แถมยังเป็นนักเขียนที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี 2493 อีก ซึ่งมุมมองของพี่แกก็ดูจะพูดถึงชีวิตที่สวยงามใช้ได้ คือมีทั้งความรักและความรู้ควบคู่กันไป แหม่ชีวิตดีๆ ที่สมบูรณ์แบบเว่อร์
Confucius
ว่าด้วยความลึกซึ้ง และการชี้นำชีวิต สายเลือดชาวเอเชียอย่างเราย่อมได้รับความคิดจาก ขงจื่อ นักคิดและนักปรัชญาชาวจีนที่ฝังลึกลงในแถบเอเชียและดำรงอย่างมายาวนานจนกระทั่งปัจจุบัน ขงจื่อวางรากฐานเชิงศีลธรรมและความคิดตั้งแต่ระดับปัจเจกชนไปจนถึงความสัมพันธ์และการปกครองคนในสังคม ดังนั้นเรื่องที่ดูเป็นมุมมองส่วนบุคคลต่อสรรพสิ่งขงจื่อก็พูดถึงไว้ คือสรรพสิ่งนั้นมีความงามในตัวเอง อยู่ที่เราจะมองเห็นแง่งามมากน้อยแค่ไหน
Eleanor Roosevelt
เอเลนอร์ รูสเวลต์ เป็นหญิงแกร่งและคมคายคนหนึ่งของสหรัฐ เธอคืออดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของประธานาธิบดีแฟรงกรินด์ ดี. รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) เป็นนักการเมือง นักการทูต และนักกิจกรรมที่ต่อมาประธานาธิบดีเฮนรี่ ทรูแมน (Harry Truman) ขนานนามเธอว่าเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของโลกใบนี้จากการต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนของเธอ คำกล่าวของเธอเป็นวาทะที่ทรงพลัง สวยงาม และเปี่ยมไปด้วยความหวัง แน่ล่ะ อนาคตย่อมเป็นของเรา ผู้ที่เชื่อมั่นในความฝันของเราเอง
Rabindranath Tagore
รพินทรนาถ ฐากุร เป็นอีกหนึ่งนักปราชญ์ที่มีอิทธิพลในระดับโลก ฐากุรเป็นนักปรัชญาและกวีชาวอินเดียที่มีสมัญญานามว่า ‘คุรุเทพ’ เริ่มเขียนกวีครั้งแรกเมื่ออายุ 8 ขวบ เป็นผู้มีบทบาทในการต่อต้านรัฐบาลอังกฤษและร่วมเคลื่อนไหวประกาศเอกราชของอินเดีย ฐากุรเป็นชาวเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณในปี 1913 และแน่ล่ะ ถึงจะเป็นกวีแต่ก็มีบทบาททางการเมืองด้วย ดังนั้นการจะทำการใหญ่ๆ หรือยากลำบากใดๆ ให้ลุล่วงได้ แค่ยืนดูเฉยๆ คงไม่ได้อะไรขึ้นมา