ใครๆ ก็พูดถึงโปเกมอน ล่าสุดก็มีคนมาตำหนิว่าโปเกมอนมันเป็นภัย ทั้งภัยต่อคน ทำให้คนมันห่วยแตก และภัยต่อรัฐ เมืองไทยก็เหมือนที่อื่นแหละที่เกมโปเกมอนเป็นเหมือนของเล่นเจ๋งๆ ที่ใครๆ ก็ชอบเล่นกัน
สัปดาห์ที่ผ่านมา The MATTER ชวนไปหาคำตอบเชิงวิทย์ๆ ว่าทำไมเราถึงได้ติดโปเกมอนกันนัก ทีนี้พอโปเกมอนมันกลายเป็นปรากฏการณ์ทางสังคม พวกนักวิชาการทั้งหลายก็ไม่ได้ออกมาบอกว่าเฮ้ยอย่าเล่น แต่จะลงไปดูว่าไอ้เทคโนโลยีใหม่ๆ พวกนี้มันตอบสนองอะไรกับเรานะ ลึกๆ แล้วมันมีอะไรอยู่ข้างใน ซึ่งคราวนี้ The MATTER จะขอเน้นไปทางปรัชญาๆ มากกว่าเชิงวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยีที่ก็คงได้อ่านๆ กันไปบ้างแล้วเนอะ
ในเชิงปรัชญาก็จะมีประเด็นเจ๋งๆ ที่พอพูดขึ้นมาแล้วก็แบบ เออ จริงเว้ย เช่นว่า เกมโปเกมอนมันสนองความปรารถนาอะไรของมนุษย์ ทำไมโปเกมอนมันถึงพูดได้แต่ชื่อของตัวเอง แต่มนุษย์ใช้ชุดประโยคอย่าง ‘ฉันเลือกนายแล้วนะ’ ในการสื่อสารควบคุมโปเกมอน หรือในโปเกบอลมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ความสัมพันธ์ในจินตนาการระหว่างมนุษย์กับสัตว์ (ธรรมชาติ) มันถูกสะท้อนออกมาในการสร้างโลกในจินตนาการพวกนี้อย่างไร มันเชื่อมโยงกับความเป็นมนุษย์ของเราอย่างไร
ฟังดูแล้วก็แบบ โห โปเกมอนมันพาเราครุ่นคิดได้ขนาดนี้เชียวรึ
บทบาทใหม่ในความน่าเบื่อหน่ายในชีวิตประจำวัน
‘ชีวิตประจำวัน’ จริงๆ เป็นเรื่องน่าเบื่อเนอะ มันคือความจำเจที่เราทำเหมือนๆ กันทุกวัน ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น ทีนี้ไอ้สื่อบันเทิงอย่างเกม หนัง การ์ตูน หรือวรรณกรรม ฟังก์ชั่นหนึ่งของมันคือการเปิดโอกาสให้เราได้หนีออกจากชีวิตประจำวันที่น่าเบื่อออกไปได้แป๊บนึง โดยเฉพาะเกมที่มันสร้างโลกจำลองขึ้นมาและเปิดโอกาสให้เราได้รับบทบาทพิเศษที่เราทำไม่ได้ในโลกแห่งความจริง
โปเกมอน โก ก็เหมือนกัน นอกจากจะเป็นการผสานโลกเสมือนเข้ากับโลกจริง ประมาณว่าเหมือนกับว่ามีโปเกมอนพวกนี้เชื่อมโยงอยู่บนพื้นที่จริงๆ ที่เราเดินๆ ไปเจอ ไปจับได้ โปเกมอน โก ยังเปิดโอกาสให้มนุษย์เงินเดือนหรือนักเรียนตัวซีดๆ ได้รับบทเป็นเทรนเนอร์เท่ๆ เป็นนักฝึกสายบู๊ หรือจะเป็นสายมิตรภาพที่เน้นหาสหายคู่ใจ ตั้งชื่อ และเลี้ยงเป็นคู่หู
อะไรซ่อนอยู่ใน ‘จะจับให้หมดเลย’ (Gotta Catch ‘Em All)
จริงๆ แล้วโปเกมอนคือสิ่งมีชีวิตในจินตนาการที่เราสร้างขึ้น และมนุษย์ก็มีความสัมพันธ์เชิงจินตนาการ (imaginary relationship) กับโปเกมอนพวกนั้น แต่ในเรื่องที่ถูกจินตนาการขึ้นมันก็มีความปรารถนาจริงๆ ของมนุษย์อยู่ในนั้น
แนวคิดเรื่องการศึกษาและสะสมสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ ให้ครบ มันสัมพันธ์กับการเฟื่องฟูของวิทยาศาสตร์ ผสานกับยุคต่อมาที่เกิดการเดินทางและล่าอาณานิคมขึ้น แน่ล่ะความรู้คือการแสดงถึงอำนาจอย่างหนึ่ง Darwinism ในแง่หนึ่งคือการที่มนุษย์มองว่าสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เป็นเหมือนสายพันธุ์ที่มนุษย์จะเข้าไปศึกษาความรู้และสะสมสัตว์สายพันธุ์ต่างๆ ใครที่สะสมได้มากก็แสดงถึงอำนาจของจักรวรรดินั้นๆ เพราะว่าสัตว์สายพันธุ์แปลกๆ ต้องเดินเรือไปตามดินแดนไกลๆ เพื่อไปเก็บสะสมให้ได้ครบ จักรวรรดิไหนที่มีสัตว์ครบถ้วนก็แปลว่ามีแสนยานุภาพก้าวไกล ทั้งในเชิงของสะสมและในเชิงความรู้ด้วย
Anne Fadiman เลยบอกว่าการทำการสะสมแบบ taxonomy หรืออนุกรมวิธานในยุคศตวรรษที่18-19 ความหมกมุ่นในของนักชีววิทยาที่ชอบสะสม จัดเก็บ การให้ชื่อและจัดลำดับชั้น มันเป็นอาการของมนุษย์ในวิธีคิดแบบจักรวรรดินิยม แถมการสะสมก็ยังเป็นเครื่องแสดงพลังของจักรวรรดิที่มีอาณานิคมแปลกๆ เยอะๆ ด้วย
ในโปเกมอนเลยมีคำเรียกที่น่าสังเกตคือคำว่า wild คือเวลาเราเจอโปเกมอนที่ยังไม่ถูกจับ เกมจะนิยามมันว่าเป็นสัตว์ป่า ซึ่ง wild มันจะแปลว่าเถื่อน คือเป็นสัตว์ที่ยังไม่ถูกควบคุมจัดการโดยมนุษย์ และสิ่งที่เทรนเนอร์ทั้งหลายต้องทำคือการจับมันมา และสิ่งที่เราได้มาหลังจากการจับคือ ‘ความรู้’ เกี่ยวกับโปเกม่อนนั้นๆ
ดังนั้นการจับโปเกมอนก็สนองกับความปรารถนาของมนุษย์ที่จะเข้าใจธรรมชาติหรือสายพันธุ์อื่นๆ อย่างครบถ้วนและทะลุปรุโปร่ง เหมือนความสงสัยและการเดินทางไปตามที่ต่างๆ ของนักวิทยาศาสตร์ในยุคศตวรรษที่ 19 ที่อยากจะสร้างความรู้ของสิ่งมีชีวิตอื่นๆ นอกเหนือจากตัวเอง
และในนัยที่มนุษย์มองว่าสิ่งมีชีวิตอื่นสามารถถูกจับมาขัง สะสมได้ ก็ย้ำว่ามนุษย์อยู่เหนือสายพันธุ์อื่นๆ อยู่ในที
ในกระบวนการการปาบอลไปจับ ซึ่งก็ไม่รู้เนอะว่าโปเกบอลมันทำอะไรกับโปเกมอน พอจับปุ๊บ เราถึงได้เสมือนกับศึกษาเจ้าตัวนั้นโดยละเอียด ความรู้อะไรเกี่ยวกับโปเกมอนนั้นจะปรากฏแบบครบถ้วนชัดเจน ถูกวัดกะเกณฑ์ออกมาได้หมด น้ำหนัก ขนาด ค่าพลัง สายพันธุ์ ประเภท ธาตุ นอกจากการที่เอาโปเกมอนใส่บอลได้สำเร็จจนได้ความรู้แล้ว นัยหนึ่งของการปาบอลคือกระบวนการการทำให้ สัตว์ป่ากลายเป็นสัตว์ที่เชื่อง (domesticated) เพราะหลังจับได้แล้ว เทรนเนอร์ก็สามารถควบคุมโปเกมอนที่เคยเถื่อนนั้นได้อย่างเต็มรูปแบบ (เราเรียกสวยๆ ว่าเป็นเพื่อนกัน)
โปเกมอน ภาษากับอำนาจของมนุษย์
จริงๆ แค่มนุษย์สามารถเข้าใจและจัดการสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์อื่นได้ มันก็ให้อำนาจมนุษย์อยู่แล้ว ทีนี้มีนักวิชาการทางปรัชญาและทฤษฎีทางวัฒนธรรมคือพี่ Davin Heckman บอกว่าเฮ้ย ‘ภาษา’ ที่ถูกใช้ในโปเกมอน อย่างการที่โปเกมอนมันพูดได้แต่ชื่อตัวเองและการที่มนุษย์สั่งการโปเกมอนผ่านภาษาเนี่ย มันมีนัยที่ให้อำนาจกับมนุษย์นะเฟ่ย
สิ่งที่พี่แกชี้ให้เห็นคือ นี่ไง ภาษาในเรื่องมันมีลักษณะเป็นการสั่งการ เช่นการที่จะปล่อยโปเกมอนออกไปสู้ก็จะใช้คำว่า ‘ฉันเลือกเธอนะ ตามด้วยชื่อของโปเกมอน’ และในการควบคุมสั่งการมนุษย์ก็จะใช้ภาษาในการบงการว่า แกจงใช้ท่านั้นท่านี้ ดังนั้นภาษามันเลยเป็นเหมือนสิ่งที่มนุษย์ใช้ควบคุมโปเกมอน แต่ในทางกลับกันโปเกมอนกลับทำได้แต่ออกชื่อตัวเอง เหมือนกับว่ารับคำสั่งได้อย่างเดียว (มีเนียสของแก๊งร็อคเก็ตที่พิเศษมากและทำตัวเหมือนคน และพูดได้ด้วย)
นัยสำคัญคือ วิธีการสร้างโลกโปเกมอนมันมีมนุษย์ใหญ่สุดและเป็นศูนย์กลางสู่สายพันธุ์อื่นๆ คล้ายๆ กับที่เรามองตัวเองในฐานะพี่ใหญ่ของโลกนี้แหละ เรามองว่าเรามีสิทธิเข้าไปศึกษา จัดการ หรือจะอนุรักษ์อะไรก็ว่าไป ดังนั้นมิวทูโปเกมอนแสบที่มาพลิกว่าต่อไปนี้จะเป็นโลกของโปเกมอนแล้วนะเฟ่ย
แต่มนุษย์เราก็เป็นแบบนี้แหละ เราคิดว่าเราเป็นผู้มีสติปัญญาเหนือสายพันธุ์อื่น แต่มิวทูหรือมิวก็บอกว่าเฮ้ย บางทีมันยังมีอะไรที่ใหญ่และโบราณกว่าอารยธรรมพวกแกอยู่นะ
ในขณะเดียวกัน แม้ว่ามนุษย์จะอหังการและอยากจะควบคุมธรรมชาติ แต่จริงๆ แล้วมนุษย์เองก็ไม่สามารถตัดขาดและต้องพึ่งพาธรรมชาติในท้ายที่สุด จินตนาการเรื่องโปเกมอนก็อาจจะสะท้อนถึงจินตนาการของมนุษย์ที่อยากจะเชื่อมต่อกับธรรมชาติผ่านการเชื่อมโยงกับโปเกมอน ในนัยสำคัญคือแนวคิดเรื่องธาตุทั้งหลายที่โปเกมอนเป็นตัวแทน แนวคิดเรื่องธาตุนี้ปรากฏในทุกอารยธรรมของมนุษย์
แนวคิดเรื่องธาตุมูลฐาน อย่างดินน้ำลมไฟ มันเป็นจินตนาการที่มนุษยพยายามเชื่อมโยงตัวเองและสร้างสมดุลเข้ากับสิ่งแวดล้อม โดยมี ‘ธรรมชาติ’ เป็นแกนกลางของจินตนาการนั้นๆ
มนุษย์เราแม้จะพยายามควบคุมและจัดการธรรมชาติ หรือคิดว่าตัวเองใหญ่โตแค่ไหน แต่ลึกๆ แล้วเราก็ยังโหยหาที่จะเชื่อมโยงกลับไปสู่ธรรมชาติอยู่ดี