[คำเตือน: บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาสำคัญของเกม Soma]
ในคอลัมน์นี้ผู้เขียนเคยแนะนำ The Talos Principle สุดยอดเกมปริศนาเชิงปรัชญา ว่าฉุกให้คิดคำถามสนุกๆ อย่างเช่น ถ้าวันหนึ่งเราสร้างหุ่นยนต์ที่เหมือนมนุษย์ทุกกระเบียดนิ้ว รวมถึง ‘ตาย’ ได้ ครุ่นคิดเรื่องต่างๆ ได้ เรียนรู้จากประสบการณ์ต่างๆ ได้ เปลี่ยนแปลงนิสัยตัวเองได้ เราควรจะเรียกมันว่า ‘คน’ หรือเปล่า?
Soma จาก Frictional Games สตูดิโอเกมเบื้องหลัง Amnesia และ Penumbra ซีรีส์เกมสยองขวัญชื่อดัง ถามคำถามจากมุมกลับข้างที่น่าคิดไม่แพ้กันว่า ถ้าวันหนึ่งมนุษย์สามารถ ‘ก๊อปปี้’ ตัวตนและการรับรู้ของตัวเองทั้งหมดใส่ร่างหุ่นยนต์ได้ หุ่นยนต์ตัวนั้นจะเป็น ‘คน’ หรือไม่? มันเป็น ‘ตัวเรา’ อยู่หรือไม่ เพียงใด ในเมื่อมันไม่ใช่ ‘ต้นฉบับ’ ? แล้วถ้าต้นฉบับตาย แต่ก๊อปปี้ยังอยู่ ร่างนั้นจะยังคงเป็น ‘เรา’ อยู่หรือเปล่า?
ฟังผิวเผินอาจเหมือนนิยายวิทยาศาสตร์แนวเพ้อฝัน แต่อนาคตที่เราต้องถามคำถามเหล่านี้อาจไม่อยู่ไกลเท่ากับที่เราคิด!
ยูวาล ฮารารี (Yuval Harari) นักประวัติศาสตร์ชาวอิสราเอลผู้โด่งดังเป็นพลุแตกจาก ‘Sapiens’ หนังสืออธิบายกำเนิดและความสำเร็จของ ‘มนุษย์’ ในนามสัตว์สายพันธุ์โฮโมเซเปียนส์ นำเสนออย่างน่าสนใจในหนังสือภาคต่อชื่อ ‘Homo Deus’ ว่า เขาเชื่อว่ามนุษย์จะไม่ใช่สัตว์ที่ครองโลกในอีก 300 ปีข้างหน้าอีกต่อไป
“เมื่อพิจารณาจังหวะการพัฒนาเทคโนโลยีทุกวันนี้ เป็นไปได้ที่เราจะทำลายตัวเองในหายนะทางระบบนิเวศหรือหายนะนิวเคลียร์อะไรสักอย่าง สิ่งที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าก็คือ เราจะใช้วิศวกรรมชีวเวช (bioengineering) การเรียนรู้ของสมองกล และปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence) ‘อัพเกรด’ ตัวเราเข้าไปในสิ่งมีชีวิตชนิดใหม่ หรือสร้างสิ่งมีชีวิตขึ้นมาใหม่เลยที่จะครองโลกแทนเรา…ไม่ว่าจะกรณีไหนก็ตาม สิ่งมีชีวิตที่จะครองโลกในอีก 200 หรือ 300 ปีนับจากนี้ จะแตกต่างจากเรามากกว่าที่เราแตกต่างจากมนุษย์ถ้ำนีแอนเดอธัลหรือจากลิงชิมแปนซีมากมายหลายเท่า”
ใกล้ตัวกว่านั้นอีกคือ เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2017 อีลอน มัสก์ (Elon Musk) นักธุรกิจวิสัยทัศน์ไกลผู้เคยประกาศว่า มนุษย์จะต้องเดินทางท่องอวกาศออกไปตั้งรกรากบนดาวเคราะห์ดวงใหม่ให้ได้ ถ้าเผ่าพันธุ์และโลกจะอยู่รอด (และเขาก็แผ้วถางทางสู่จุดนั้นด้วยการก่อตั้ง SpaceX บริษัทยานอวกาศ ไม่นับบริษัทรถไฟฟ้า Tesla และอื่นๆ อีกมากมาย) ก็ประกาศก่อตั้ง Neuralink บริษัทใหม่หมาด
เขาประกาศว่า Neuralink จะคิดค้นวิธีเชื่อมต่อสมองมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์ เพื่อให้เราๆ ท่านๆ ‘ตามคอมพิวเตอร์ให้ทัน’ เพราะปัญญาประดิษฐ์รุดหน้าไปเร็วเหลือเกิน
ในเมื่ออนาคตที่เราสามารถ ‘หลอมรวม’ สมองหรือร่างกายเข้ากับสมองกลกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ขึ้นเรื่อยๆ ประสบการณ์การเล่น Soma ก็นับเป็นวิธี ‘ชิมลาง’ อนาคต ที่มีต้นทุนต่ำแต่กระตุกความคิดได้กว้างไกลอย่างยิ่ง
ดอนนี่ คูเซนส์ (Donnie Cuzens) นักพัฒนาเกมและนักดนตรี เขียนบทความสรุปความเจ๋งของเกมนี้ชนิดที่เก่งกว่าผู้เขียนเขียนเองหลายเท่า จึงถือวิสาสะแปลเนื้อหาบางตอนมาเล่าสู่กันฟัง
คุณโซซัดโซเซผ่านทางเดินมืดสงัด พื้นที่รอบตัวคุณครวญครางด้วยน้ำหนักของท้องนที ร่างร่างหนึ่งนั่งอยู่บนเก้าอี้ มันคือคุณ แต่ก็ไม่ใช่คุณ พนักเก้าอี้ด้านขวามีสวิตช์ กดปุ่มนี้เท่ากับโยนเหรียญ เมื่อเหรียญนั้นตกถึงพื้น ก็จะมีคุณเหลืออยู่คนเดียว แต่คุณจะเป็นใครกันเล่า ระหว่างคนที่ยืนอยู่ หรือร่างบนเก้าอี้ หายใจติดขัด จ้องมองคุณเขม็ง เหรียญแห่งโชคชะตาจะออกหัวหรือออกก้อย คุณกดปุ่ม โยนเหรียญเสี่ยงดวง
Soma เป็นเกมที่ดีเพราะมันไม่เคยตอบคำถามที่มันตั้ง
เกมนี้ทำให้คุณรู้สึกกลัวได้จริงๆ ในฐานะเกมสยองขวัญ ไม่ใช่เพราะมันมี ‘ผีตุ้งแช่’ โผล่มาเป็นระยะๆ แต่เพราะมันสุขุมเยือกเย็น น่ากลัวด้วยการกลายพันธุ์ของร่างมนุษย์ นำเสนอและสำรวจแนวคิดที่น่าขนพองสยองเกล้าอย่างมีชั้นเชิง ความรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึงและเสื่อมโทรมแทรกซึมอยู่ในทุกอณูของทุกฉากใน Soma พร้อมดนตรีประกอบที่สร้างอารมณ์ครั่นคร้าม สะพรึง และหวาดกลัว
แต่แก่นสารความเจ๋งของ Soma อยู่ในการเขียนบท ไม่ใช่กราฟฟิกหรือดนตรี เจตนาของ Soma ในฐานะนิยายวิทยาศาสตร์ คือ จ้องมองตรงๆ และล้วงลึกลงไปในสิ่งที่เรามองว่าเป็นขอบเขตและนิยามของ ‘ตัวตน’ ของมนุษย์ จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อเนื้อหาในสมองของเราทั้งหมด (หรือเรียกสั้นๆ เป็นภาษาพุทธว่า ‘จิต’) ถูกก๊อปปี้ไปได้ ดำรงอยู่ได้ในสองพื้นที่พร้อมกัน? ก๊อปปี้คือตัวเราหรือเปล่า? หรือว่าเป็นอีกคน? เราคือคนคนเดียวกันไหม?
ถ้าอัพโหลดสมองไปใส่ในร่างอีกร่าง เราจะยังเป็นตัวเราอยู่หรือเปล่า?
Soma ถามคำถามเหล่านี้ผ่านตัวละครหลักสองตัว ตัวแรกเราบังคับเอง ชื่อ ไซมอน (Simon) ชายไร้ประวัติที่มีชีวิตอยู่ในโลกยุคปัจจุบัน เรารู้แต่เพียงว่าหลังจากที่ประสบอุบัติเหตุรถชน สมองของไซมอนถูกกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง เขาไปเข้าเครื่องสแกนสมอง (โยนเหรียญแห่งชะตา) แต่พอยกเครื่องสแกนออก ไซมอนก็ลืมตาขึ้นมาพบว่าอยู่ในโลกอนาคตอีกหนึ่งร้อยปีให้หลัง อยู่ในศูนย์วิจัยใต้ท้องทะเลลึก ในร่างกายที่ไม่ใช่ร่างเดิมของเขา ไม่นานก็พบว่ามนุษยชาติทั้งหมดบนพื้นผิวโลกสูญพันธุ์ไปแล้วจากเหตุการณ์ดาวหางพุ่งชนโลก มิหนำซ้ำแทบทุกคนที่รอดชีวิตภายในศูนย์วิจัยแห่งนี้ก็มีตัวตนแต่เพียงในร่างหุ่นยนต์ซ่อมบำรุงหลากชนิด ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำไปว่าไม่ได้อยู่ในร่างมนุษย์อีกต่อไปแล้ว
ดร. แคเธอรีน แคธ ชุน หนึ่งใน ‘มนุษย์’ ไม่กี่คนที่ยัง ‘สติดี’ อยู่ ไม่มีร่างกายอีกต่อไป ตัวตนทั้งหมดของเธออยู่ในสภาพซอฟต์แวร์ที่เรา (ไซมอน) หนีบไปไหนต่อไหนด้วยในรูปอุปกรณ์สารพัดนึก (มีดสวิสอนาคต) เธอจะ ‘ตื่น’ ขึ้นมาสนทนากับเราเป็นครั้งคราว เมื่อเราเจอคอมพิวเตอร์ที่อ่านอุปกรณ์นี้ได้ บทสนทนาแทบทั้งหมดในเกมนี้คือช่วงเวลาที่เราคุยกับแคธ ครุ่นคิดถึงธรรมชาติของ ‘ชีวิตใหม่’ ของเราทั้งสอง – ไซมอนในฐานะจิตที่ ‘สิง’ ร่างมนุษย์ที่ไม่ใช่ร่างเดิมของเขา แคธในฐานะซอฟต์แวร์ในอุปกรณ์พกพา
ไซมอนแม้จะ ‘ดูเหมือน’ มนุษย์มากกว่าแคธ แต่แท้ที่จริงแล้วก็ไม่ต่างจากเธอเลย ตรงที่ทั้งสองต่างเป็น ‘ตัวตนไร้ร่าง’ ทั้งคู่
‘ปัญหา’ ของปรัชญาและการสำรวจเชิงปรัชญา (ในสายตาของคนจำนวนมาก) คือ มันไม่มีคำตอบที่ถูกต้องหนึ่งเดียว และบางครั้งก็ไม่มีคำตอบใดๆ เลย จนสุ่มเสี่ยงที่คนจะเบื่อหน่ายหรือรู้สึกว่าวนเวียนอยู่ที่เดิม แต่ทีมเขียนบทของ Soma ทำสำเร็จตรงที่ทำให้บทสนทนาระหว่างไซมอนกับแคธออกมาเป็นธรรมชาติและสมเหตุสมผล มีพัฒนาการในฐานะตัวละคร ขณะที่ไซมอนหรือตัวเราพยายามครุ่นคิดถึง ‘ชีวิตใหม่’ ที่เขาตกกระไดพลอยโจนมาสิงสู่ แคธก็พยายามปลอบประโลมและหว่านล้อมให้สบายใจ (และแน่นอน เธอคือผู้มอบพันธกิจต่างๆ ในเกมให้ทำ)
บทสนทนาระหว่างแคธกับไซมอนสรุปได้สั้นๆ ว่ามันสะท้อนวิวาทะที่เก่าแก่ที่สุดในโลกเรื่องหนึ่งว่าด้วย ‘ความเป็นมนุษย์ที่แท้’ ว่าอยู่ที่ใดแน่ ระหว่างการดำรงอยู่ของร่างกาย หรือการดำรงอยู่ของจิต ไซมอนมีปัญหากับการยอมรับว่าเขาคือคนคนเดียวกันกับไซมอนในปี 2016 ที่ประสบอุบัติเหตุ หลังจากที่พบว่าจิตของเขาถูกถ่ายโอนเข้าไปในร่างกายของเพื่อนร่วมงานแคธคนหนึ่ง หลังจากที่เพื่อนคนนั้นตายแล้ว “คุณคิดไปเองว่าคุณเปลี่ยนไปมากมาย แต่คุณเปลี่ยนไปจริงๆ หรือเปล่า?” แคธถามไซมอน ระหว่างห้วงยามเงียบสงบให้ได้ครุ่นคิด เธอคะยั้นคะยอให้เขาตั้งคำถามกับความเชื่อลึกๆ ของตัวเอง ให้พยายามคิดทบทวนดูว่า ‘ความเป็นมนุษย์’ แปลว่าอะไรกันแน่สำหรับเขา ในเมื่อเซลล์ทั้งหมดในร่างกายของเราทุกคนเสื่อมสภาพและสูญสลายทุกเจ็ดปี ร่างกายสร้างเซลล์ใหม่ขึ้นมาทดแทน ไม่มีเซลล์ไหนเลยที่เหลือจากเจ็ดปีที่แล้ว คุณยังเป็นคนคนเดิมอยู่หรือไม่? แคธอยากให้เราหรือไซมอนเผชิญหน้ากับคำถามเหล่านี้ ไม่ว่ามันจะทำให้เจ็บปวดสักปานใด
ถ้าเพียงแต่ Soma จะดำเนินเรื่องราวผ่านบทสนทนาเหล่านี้ เท่านั้นก็เพียงพอ แต่การออกแบบเกมนี้ทุกมิติพยายามทำให้เราในฐานะคนเล่นมีส่วนร่วมกับธีม เราจะถูกสถานการณ์บังคับหลายครั้งให้ตัดสินใจเกี่ยวกับความต่อเนื่องของจิต ไม่เฉพาะคนอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ในศูนย์วิจัยใต้น้ำ แต่รวมถึงความต่อเนื่องของไซมอนเองด้วย เราจะได้พบกับผู้หญิงที่ติดอยู่ในร่างหุ่นยนต์ซ่อมบำรุง นอนทรุดโทรมอยู่บนพื้นทะเล เธอไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นและดูเหมือนจะรู้สึกสบายดี แต่ไม่มีทางที่เธอจะขยับตัวไปไหนได้อีก คุ้มค่าหรือเปล่าที่จะปล่อยให้เธอ ‘มีชีวิต’ ต่อไปในสภาพนั้น? การปลิดชีวิตเธอจะเป็น ‘การุณยฆาต’ หรือแสดงความเมตตามากกว่าหรือไม่? เรามีสิทธิตัดสินเรื่องแบบนี้ไหม?
พอเล่นไปเรื่อยๆ เราจะพบเจอก๊อปปี้ของตัวเรา ร่างที่เราเคยสิงสถิตไม่นานมานี้ ยังมี ‘จิต’ ของเราอยู่ในนั้น เราหรือไซมอนพูดออกมาดังๆ ว่ารู้สึกขยะแขยงที่จะทิ้งก๊อปปี้ให้เน่าและตายอย่างเดียวดาย และคิดแต่ไม่ได้พูดออกมาว่าการดำรงชีพอยู่ในสองร่างในเวลาเดียวกันนั้นน่าหวาดหวั่นยิ่งนัก แต่เราคนเล่นมีอำนาจตัดสินใจว่าจะปลิดชีวิตไซมอนอีกร่างหรือไม่
เราคือคนที่โยนเหรียญแห่งชะตา
ท้ายที่สุดแล้ว ‘การตัดสินใจ’ เหล่านี้ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อผลลัพธ์สุดท้ายของเกม ไม่มีบทสรุปหลายแบบเพื่อเผยผลพวงที่แตกต่าง Soma ทิ้งผลพวงจากการตัดสินใจให้อยู่ในร่องรอย ‘การเดินทางของความรู้สึก’ ของตัวเราเองในฐานะคนเล่น แม้กระทั่งการเล่นเกมนี้เองก็เป็นการทดลองว่า จิตหลายก๊อปปี้จะมีความสม่ำเสมอเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้หรือไม่ กว่าจะจบเกมนี้ จิตของไซมอนจะถูกก๊อปปี้ไปแล้วไม่น้อยกว่าสี่ครั้ง จิตสามก๊อปปี้อาจดำรงอยู่ในเวลาเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าเราตัดสินใจอย่างไร ตัวเชื่อมเพียงหนึ่งเดียวที่จะตัดสินได้ว่าใครคือไซมอน ‘ที่แท้จริง’ คือตัวเราในฐานะคนเล่น เพราะเราคนเดียวเท่านั้นที่มีความทรงจำอย่างครบถ้วนเกี่ยวกับจิตทุกก๊อปปี้
ถ้าคิดดูอีกที การสังเกตและการควบคุมไซมอนของเราเกิดขึ้นเพราะเราตัดสินใจจะเล่นเกมนี้ แต่แค่นั้นบอกได้หรือว่าไซมอนคนไหน ‘แท้’ ? บางทีไซมอนที่แท้อาจตายไปตั้งแต่หนึ่งศตวรรษที่แล้วก็ได้ เมื่อร่างเดิมของเขาตาย ดังที่ไซมอนเองก็รำพึงรำพัน
สัตว์ประหลาดต่างๆ ที่เดินดุ่มๆ ตะคุ่มๆ ในศูนย์วิจัยก็คือส่วนขยายของธีมหลักเช่นเดียวกัน ครั้งหนึ่งสัตว์ประหลาดเหล่านี้เคยเป็นนักวิทยาศาสตร์หรือผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ ในศูนย์ใต้ทะเล กลายพันธุ์เป็นภัยคุกคามไซมอนในส่วนผสมน่าสยดสยองระหว่างมนุษย์กับสมองกล เราจะยังเรียกพวกเขาว่ามนุษย์ได้หรือไม่? ถ้าหากจิตไปเสียแล้วแต่ร่างยังอยู่ พวกเขาจะแตกต่างอย่างไรกับเรา มนุษย์ที่ร่างสลายไปนานแล้วแต่จิตยังอยู่? “อย่ามองมัน!” แคธกรีดร้องบอกเราระหว่างที่เผชิญหน้ากับสัตว์ประหลาดเหล่านี้ครั้งแรกๆ และเราก็รีบคู้ตัวหันหลังให้ไม่กล้ามอง (Soma น่ากลัวน้อยกว่าซีรีส์ Amnesia แต่ใช้กลไกสร้างความน่ากลัวตัวเดียวกัน นั่นคือ ความหมดหวังอ่อนแอ ความที่เราไม่มีทางต่อสู้กับสัตว์ประหลาดเหล่านี้ได้เลย ต้องวิ่งหนีหรือแอบย่องผ่านสถานเดียวเท่านั้น)
กลไกการวิ่งหนีเหมือนแมวจับหนูทำให้เรารู้สึกสับสนและลนลาน เพียงแค่เราเบือนหน้าหนีจากสัตว์ประหลาดเหล่านี้ มันก็ดูจะหยุดปรี่เข้ามาหา ราวกับว่าการปฏิเสธการดำรงอยู่ของพวกมันก็เพียงพอแล้วที่จะหยุดภัยคุกคาม
ซึ่งก็สะท้อนความพยายามของไซมอนที่จะปฏิเสธสิ่งที่เขาเป็นได้อย่างค่อนข้างดี
Soma เป็นเกมสยองขวัญที่ตั้งคำถามยากๆ ได้อย่างทรงพลัง และน่ากลัวชนิดลืมไม่ลงไม่ใช่เพียงเพราะสร้างบรรยากาศน่ากลัว แต่ที่เหนือกว่านั้นคือ สร้างอนาคตน่ากลัวให้เราครุ่นคิดว่า หรือนี่จะเป็น ‘ราคา’ ที่เราต้องจ่าย สำหรับการยก ‘จิต’ ให้พ้นจากขอบเขตความเป็น-ความตาย ออกนอกกรอบกฎเกณฑ์ของธรรมชาติ.