ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา จากนักบวชจำนวนหลายแสนในประเทศไทย ต้องบอกว่าน้อยยิ่งกว่าน้อย (ยิ่งกว่าน้อยๆๆ) ที่จะกล้าแสดงจุดยืนในหลักการประชาธิปไตยอย่างตรงไปตรงมา ณ ยุคสมัยที่นักการเมืองถูกสร้างภาพให้เป็นปฏิปักษ์กับความดีงาม
“ในพระพุทธศาสนามีที่พึ่งอันควรแก่การยึดเหนี่ยวอยู่ 3 ประการ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เฉกเช่นในสังคมประชาธิปไตยมีที่พึ่งอันควรแก่การยึดถืออยู่ 3 อย่าง คือ เสรีภาพ เสมอภาค และภราดรภาพ ไม่ว่าจะดีจะร้ายแค่ไหน ก็ทิ้งหลักทั้ง 3 ประการนี้ไม่ได้”
เป็นสเตตัสที่ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ โพสต์คู่กับภาพชูสามนิ้ว หลังเหตุการณ์รัฐประหาร 2557 ไม่นานนัก เมื่อข้อความถูกแชร์ไปสู่วงกว้าง เขาถูกถล่มอย่างหนักโดยชาวเน็ตจำนวนมาก จากพระหนุ่มนักธรรมเอกและเปรียญธรรม 9 ประโยค (และสามเณรนาคหลวง) พลังของโซเชียลมีเดียเปลี่ยนให้เขากลายเป็น “พระเสื้อแดง” (ทั้งที่จีวรก็ยังสีเดิม) ในสายตาคนจำนวนไม่น้อยเพียงชั่วข้ามคืน
“เป็นพระยุ่งการเมืองได้ด้วยเหรอ” เป็นคำถามที่ตอบโต้สเตตัสนั้น
เมื่อถูกถล่มโดยชาวเน็ต (มาอีกแล้ว) แทนที่จะสงบปากสงบคำเพื่อรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของสถานภาพต่อไป พระมหาไพรวัลย์ใช้โซเชียลมีเดียย้ำเรื่องการเมืองอีกครั้ง อีกครั้ง และอีกครั้ง เพื่อยืนยันว่านักบวชในฐานะปัจเจกสามารถแสดงจุดยืนทางการเมืองได้
พระมหาไพรวัลย์แสดงจุดยืนเช่นเดิมเรื่อยมา ไม่ใช่แค่โซเชียลมีเดีย แต่รวมถึงการออกไปเคลื่อนไหวให้กำลังใจฝ่ายที่ต้านรัฐประหารอีกหลายครั้ง จนมีจดหมายจากสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติส่งมายังเจ้าอาวาสของวัดสร้อยทองที่เขาเองสังกัดอยู่ จากนั้นเพียงไม่นาน การแสดงความเห็นในประเด็นพระกราบแม่ ได้สร้างความไม่พอใจให้ญาติโยม จดหมายแสดงคำตำหนิส่งมายังวัดนับร้อยฉบับ จนเขาถูกพระผู้ใหญ่ในวัดเรียกไปตักเตือน (รวมไปถึงมีเจ้าหน้าที่ทหารมาหาที่วัดอีกด้วย)
เมื่อชีวิตจริงมีข้อจำกัด พระมหาไพรวัลย์ปรับวิธีการสื่อสาร ลดความดุเดือด และขยับมาพูดประเด็นทางสังคมมากขึ้น
แต่เมื่อถามถึงจุดยืนทางการเมือง
“อาตมาสนับสนุนความเป็นประชาธิปไตย ทางนี้เท่านั้นที่จะไปได้กับสังคมสมัยใหม่” คำตอบยังยืนยันเช่นเดิม
เพื่อรู้จักตัวตนให้มากกว่าเดิม The MATTER สนทนายาวๆ กับ พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ ตั้งแต่ความเป็นมาในการบวช การศึกษาและการปกครองของคณะสงฆ์ไทย พระกับการเมือง คนดี การบวชภิกษุณี และวิถีนักบวช ณ ปัจจุบัน
เป็นเรื่องธรรมดา คนมักมองว่า พระและเณรที่มาบวช ต้องบวชเพราะศรัทธา มาฝึกปฏิบัติเพื่อไปนิพพาน แต่จริงๆ เงื่อนไขการบวชในสังคมไทยมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ความจนนั่นแหละผลักดันให้พระเณรเหล่านั้นมาบวช ถ้าชาวบ้านจะมองว่าบวชมาหากินกับศาสนา เขาก็มีสิทธิ์ที่จะมอง แต่สมเด็จพระราชาคณะ พระผู้ใหญ่หลายคน ปูมหลังก็มาจากคนจนทั้งนั้น คนที่เข้ามาบวชจำนวนหนึ่งก็เพื่อยกระดับสถานภาพตัวเองให้ดีขึ้น
หลวงพี่มาบวชได้ยังไง
อาตมาเป็นคนบ้านตะกาดเง้า อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เป็นเด็กบ้านนอกที่คลุกคลีกับวัด พอเรียนจบ ป.6 ช่วงนั้นพ่อกับแม่ทำงานก่อสร้าง พวกเขาคุยกันว่า ถ้าไม่บวชคงส่งเรียนให้จบปริญญาตรีไม่ไหว อาตมาเลยตัดสินใจบวช แล้วไปอยู่ที่จังหวัดสุโขทัยตั้งแต่อายุ 12 ปี เรียนนักธรรมและบาลีจนถึงอายุ 18-19 ปี จบเปรียญธรรม 7 ประโยค อายุใกล้บวชพระแล้ว ต่างจังหวัดไม่มีพระสอนเปรียญระดับสูงๆ พอดีมีอาจารย์ใหญ่สำนักเรียนที่นั่น เคยเป็นลูกศิษย์สำนักเรียนวัดสร้อยทอง อาตมาเลยย้ายมาเรียนที่วัดสร้อยทองจนจบนักธรรมเอก และเปรียญธรรม 9 ประโยค (เป็นสามเณรเปรียญธรรม 9 ประโยครูปแรกของจังหวัดสุโขทัย) แล้วเรียนต่อปริญญาโทพุทธศาสตร์ ของ มจร. (มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย) เพราะเปรียญธรรม 9 ประโยคเทียบเท่าวุฒิปริญญาตรี
ทำไมถึงสนใจเรียนขนาดนั้น
เราถูกส่งไปเรียน ถ้าจะอยู่วัดก็ต้องเรียน แล้วชนบทไม่มีอะไรล่อตาล่อใจมาก หน้าที่ของพระและเณรคือเรียน ทำวัตร บิณฑบาต เราได้เปรียบเณรรุ่นเดียวกัน ซึ่งตอนนี้สึกไปหมดแล้ว เพราะเป็นคนจำเก่ง เด็กๆ สอบได้ที่ 1 ที่ 2 มาตลอด การเรียนเลยไม่หนักเท่าไร
อาจมีคนไม่รู้ว่า นักธรรม/เปรียญธรรม เรียนเกี่ยวกับอะไร
การศึกษาของคณะสงฆ์แยกเป็น 2 ฝ่าย คือ นักธรรม กับ บาลี (เปรียญธรรม) นักธรรมคือหลักสูตรธรรมะภาษาไทย แบ่งเป็นระดับตรี โท และเอก เรียนพุทธประวัติ ธรรม วินัย ฯลฯ พระพุทธเจ้าประสูติที่ไหน บำเพ็ญพุทธกิจเรื่องอะไรบ้าง ได้รู้เรื่องสมัยพุทธกาลที่กว้างขึ้น ส่วนบาลีคือเรียนภาษามคธที่ใช้จารึกพระไตรปิฎก นำเนื้อหาในพระไตรปิฎกมาฝึกแปล
ยิ่งเรียนยิ่งอินไหม
ถามว่าอินไหม ก็ไม่ถึงกับอินนะ แต่เวลาสอบได้ มันมีอะไรมาประโลมใจ พอสอบได้เป็นมหาเปรียญ (พระจะถูกเรียกว่า ‘มหา’ เมื่อจบเปรียญธรรม 3 ประโยค) เราได้รับพัดยศ ทั้งคนในสังคมและคณะสงฆ์ให้เกียรติ พระผู้ใหญ่ก็เมตตา เป็นพระมหาตั้งแต่อายุน้อย ไปไหนก็เรียก เณรมหา เป็นการยกสถานภาพจากเด็กชาวบ้านขึ้นมา
บวชไปได้สักพัก อายุเข้าสู่วัยมัธยม เพื่อนที่เรียนด้วยกันวิ่งเล่น เตะบอล จีบสาว หลวงพี่มีเปรียบเทียบกับเพื่อน แล้วเกิดคำถามบ้างไหม ทำไมเรามาอยู่ตรงไหนนี้
ไม่มี ตอนเราเป็นเณร มันมีกรอบภายใต้กำแพงวัด แต่ชีวิตไม่ต่างกับเด็กนะ ซนเหมือนกัน เรายังมีเพื่อน หัวเราะ สนุกสนาน เลยไม่รู้สึกว่าขาดอะไรที่เป็นวัยรุ่นไป
ตอนมาวัดสร้อยทอง เป็นการเข้ากรุงเทพฯ ครั้งแรกเลยไหม
ช่วงที่เรียนเปรียญ 5 – 6 เคยเข้ามาติวก่อนสอบ แต่เข้ามาเป็นครั้งคราว พอมาอยู่จริงๆ จังๆ ที่กรุงเทพฯ วิถีชีวิตผู้คนไม่เหมือนบ้านนอก บ้านนอกอยู่เป็นชุมชน เข้าวัดบ่อย สนิทกัน เกื้อกูลกัน มีงานก็มาช่วยกัน พระใกล้ชิดกับชาวบ้าน กรุงเทพฯ อีกแบบเลย ไม่ค่อยเจอโยมที่มาทุกๆ วัน เป็นชีวิตที่มีความเร่งรีบ
เห็นคนใช้ชีวิตทางโลกเยอะๆ อยากสึกบ้างไหม
ไม่มีนะ เรายังต้องเรียน เป้าหมายคือสอบให้ได้เปรียญ 9 ถ้าไม่สอบตกเลย อีกแค่ 2 ปีจะได้เป็นสามเณรนาคหลวง (ผู้ได้รับบรรพชาอุปสมบทภายในพระอุโบสถของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม โดยพระมหากษัตริย์ทรงเป็นเจ้าภาพในการบำเพ็ญพระราชกุศล) ญาติโยมคาดหวังในตัวเรา อย่างน้อยก็เป็นชื่อเสียงให้วงศ์ตระกูล ซึ่งในความเข้าใจชาวบ้าน มันไม่ง่ายเลยนะ เปรียญธรรม 9 ก็ยากแล้ว มาได้ตอนเป็นสามเณรยิ่งยาก
คนจำนวนไม่น้อยบวชเพื่อศึกษาเล่าเรียน แต่อยู่ในผ้าเหลืองไปถึงจุดๆ หนึ่งก็สึกออกมาใช้ชีวิตทางโลก หลวงพี่มองเรื่องนี้ยังไง
เป็นเรื่องธรรมดา คนมักมองว่า พระและเณรที่มาบวช ต้องบวชเพราะศรัทธา มาฝึกปฏิบัติเพื่อไปนิพพาน แต่จริงๆ เงื่อนไขการบวชในสังคมไทยมีเหตุปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ความจนนั่นแหละผลักดันให้พระเณรเหล่านั้นมาบวช ถ้าชาวบ้านจะมองว่าบวชมาหากินกับศาสนา เขาก็มีสิทธิ์ที่จะมอง แต่สมเด็จพระราชาคณะ พระผู้ใหญ่หลายคน ปูมหลังก็มาจากคนจนทั้งนั้น คนที่เข้ามาบวชจำนวนหนึ่งก็เพื่อยกระดับสถานภาพตัวเองให้ดีขึ้น
ถ้ามีเป้าในใจว่ามาบวชเพื่อศึกษาแล้วสึกออกไป ถือเป็นเรื่องผิดไหม
ผิดหรือไม่ผิด ต้องมองว่าขณะที่บวชประพฤติตัวผิดพระธรรมวินัยร้ายแรงหรือเปล่า ถ้าครองตัวเองดีทุกอย่าง ถึงจุดหนึ่งเขาคิดว่าต้องไปจากจุดๆ นี้ สึกไปมีครอบครัว ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหาย สมัยก่อนเจ้านายระดับสูงที่เป็นเชื้อพระวงศ์ ยุคหนึ่งก็ถูกส่งมาให้อยู่วัดทั้งนั้น เณรบ้างพระบ้าง ถึงจุดหนึ่งก็สึก ร.4 บวชตั้งกี่พรรษา สุดท้ายก็สึกไปรับราชสมบัติ เข้ามาบวชแล้วได้ศึกษาธรรมวินัย ได้อะไรหลายๆ อย่างที่เป็นประโยชน์กับตัวเองหรือคนอื่น สึกออกไปก็นำไปใช้ประโยชน์กับการใช้ชีวิต อาตมามองว่าเป็นเรื่องธรรมดา
แต่ละเรื่องเกี่ยวพันกัน เราพูดโดยแยกเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ เราไม่สามารถพูดเรื่องการเมืองโดยไม่พูดเรื่องศาสนาและสังคม ไม่สามารถพูดเรื่องศาสนาโดยไม่พูดถึงเรื่องการเมืองและสังคมได้
จากจุดเริ่มต้นที่บวชเพื่อโอกาสทางการศึกษา ถึงวันนี้หลวงพี่บวชมา 13 พรรษาแล้ว เพราะอะไรถึงอยู่มาได้นาน
อาจเพราะไม่มีเรื่องให้คิดมาก ไม่ได้มุ่งไปทางอื่น มีหน้าที่เรียน เรียนจบก็สอน ไม่ได้อยากมีบ้าน มีครอบครัว มีลูก ถ้าคิดแบบนี้จะอยู่ไม่นาน เพราะความคิดมันบีบให้ต้องสละความเป็นพระ ตอนนี้อาตมาก็ไม่ติดต่อเชิงชู้สาวกับโยมผู้หญิงเด็ดขาด เลยไม่มีอะไรให้รบกวน พระบางรูปที่มีสีกา ถึงไม่ใช่การพูดเชิงชู้สาว แต่มาหาทุกวัน ก็อาจเกิดความรู้สึกเสน่ห์หาได้ ไม่ใช่เป็นพระสายปฏิบัติแล้วจะไม่มีเรื่องนี้
พอจบเปรียญธรรม 9 ประโยค ตอนนั้นเป้าหมายต่อไปคืออะไร
ถ้าเป้าหมายเป็นเรื่องเป็นราวไม่มี เรารู้สึกว่าความรู้ที่ได้มายังไม่เพียงพอ เปรียญ 9 ความรู้แค่นิดเดียวเอง ยังมีอีกหลายอย่างต้องเรียนรู้ ต้องแสวงหา ส่วนทุกวันนี้ เป้าหมายคือการศึกษาเพิ่มเติม ทำยังไงจะเอาธรรมะไปจับกับการเมืองหรือสังคมให้ได้ พยายามทำตัวเป็นคนศึกษาที่เริ่มต้น
การศึกษาของคณะสงฆ์ นักธรรมเอกและเปรียญธรรม 9 ประโยคเหมือนจะสูงสุดแล้ว แต่หลวงพี่กลับบอกว่ายังรู้อะไรไม่มาก
ใช่ ไม่ได้มากเลย เปรียญธรรมมันยากก็จริง ในแง่ที่ไม่ใช่ภาษาของเรา หลักการคือเราต้องจำ การประเมินผลมาจากความจำ คุณจำดีก็สอบผ่าน เหมือนสวดพระปาฏิโมกข์ (การสวดศีลทั้ง 227 ข้อเป็นภาษาบาลี) คุณก็ต้องจำให้แม่น ถึงจะเป็นพระทรงปาฏิโมกข์ที่เก่ง บาลีก็เหมือนกัน เขาไม่ได้ถามกระบวนการคิด คิดอย่างไรกับธรรมะหมวดนี้ คิดอย่างไรกับเรื่องในพุทธประวัติ จงเขียนวิเคราะห์เชื่อมโยง ไม่มีแบบนี้
ตอนเรียนจบเปรียญธรรม 9 มาใหม่ๆ มียืดๆ ว่า ‘เราเก่ง’ บ้างไหม
ด้วยความรู้ที่แคบมาก เราจึงมองว่า ‘เราสุดยอดนะ’ คนที่เป็นเณรแล้วได้เปรียญ 9 คณะสงฆ์จะให้ความนับถือและเกรงใจ มันไม่ได้มีแค่วิทยฐานะอย่างเดียว มันมีสมณศักดิ์ด้วย เรายิ่งรู้สึกพอง แต่ปรากฏการณ์ทางสังคมและการเมืองทำให้อาตมาได้เรียนรู้เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับธรรมะมากขึ้น คนๆ หนึ่งที่ทำให้อาตมาเปลี่ยนแง่คิด คืออาจารย์สุลักษณ์ ศิวลักษณ์ อาจารย์ทำให้รู้ว่าสิ่งที่เราจบมาเป็นของเล่น มันไม่ช่วยตอบโจทย์ความเป็นตัวเรา มีแต่ทำให้เราลืมความเป็นตัวเรา ลืมว่าเป็นใคร มาจากไหน และควรจะทำอะไรเพื่อใคร จริงๆ อาตมาเริ่มตามอาจารย์สุลักษณ์ด้วยความโกรธ อาจารย์วิจารณ์คณะสงฆ์เยอะ ด่าพระเณรมาก เราตามด้วยความรู้สึกว่า ‘ทำไมโยมคนนี้ถึงก้าวร้าว’ อาจารย์สุลักษณ์พูดพาดพิงถึง สมเด็จฯ ว่าเป็นลูกคนจน เป็นลูกชาวนา แต่พอบวชแล้วทำตัวเป็นเจ้า เราอยากแย้ง แต่ทำไม่ได้ เพราะที่พูดคือความจริง
อีกคนที่ตามด้วยความโกรธ คือ คำผกา ตอนนั้นเขาจัดรายการ คิดเล่นเห็นต่าง เรื่องสวดมนต์ข้ามปี แล้วถูกโจมตีมาก จนต้องออกมาขอโทษขอโพย ปิดรายการไปเป็นเดือน อาตมามีมุมมองแบบพระกระแสหลัก เลยมองว่าทำไมมาดูหมิ่นพระรัตนตรัย อาตมาเป็นคนที่ไม่ชอบใครแล้วจะตามศึกษาคนๆ นั้น ทำไมถึงคิดแบบนี้ รายการที่คำผกาจัดพูดประเด็นทางสังคมหลายๆ อย่าง มีมิติทางศีลธรรมศาสนาเข้าไปพาดพิง แต่ละเรื่องเกี่ยวพันกัน เราพูดโดยแยกเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่ได้ เราไม่สามารถพูดเรื่องการเมืองโดยไม่พูดเรื่องศาสนาและสังคม ไม่สามารถพูดเรื่องศาสนาโดยไม่พูดถึงเรื่องการเมืองและสังคมได้
แต่คนจำนวนไม่น้อยมองว่า การเมืองเป็นเรื่องทางโลก ศาสนาเป็นเรื่องทางธรรม แล้วก็มองแบบแยกออกจากกัน
แต่ก่อนอาตมาก็มองแบบนั้น อาจารย์สุลักษณ์บอกว่า ต้องมองอะไรแบบอิทัปปัจจยตา คือ ทุกอย่างเชื่อมโยงกัน มีเหตุมีปัจจัย ถ้าคุณบอกว่าเรื่องศาสนาบริสุทธิ์หมดจด แล้วทำไมศาสนาถึงมีเรื่องการเมืองคณะสงฆ์ มีเรื่องสมณศักดิ์ มีเรื่องซื้อยศถาบรรดาศักดิ์
พอติดตามข่าวสารและความรู้ทางสังคมการเมืองมากขึ้น หลวงพี่มองต้นสังกัดของตัวเองเปลี่ยนไปไหม
แน่นอน เราเริ่มตั้งคำถามมากขึ้น แต่ไม่ได้ตั้งคำถามกับตัวคนนะ เราตั้งคำถามกับโครงสร้าง มันมีปัญหาจริงๆ แต่ก่อนเราไม่เคยเรียนเรื่องโครงสร้างคณะสงฆ์ หลักสูตรนักธรรมเอกมีเรื่องพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ แต่ก็ให้ท่องแล้วไปสอบนิดเดียว แต่เราไม่มีความรู้ว่าแต่ละยุคสมัยพระราชบัญญัติคณะสงฆ์มีที่มาอย่างไร มีจุดประสงค์เพื่ออะไร
การปกครองคณะสงฆ์ของไทยมีปัญหาอะไร
สองพันกว่าปีก่อน สภาพบริบทสังคมในอินเดียล้าสมัยมาก จารีต ประเพณี วิถีปฏิบัติ ระบบความคิด มันใช้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าเลยสร้างวิธีคิดและเปลี่ยนระบบสังคมให้มีความเป็นอารยะ คือสร้างสังคมแบบใหม่ที่มีเหตุมีผลมากขึ้น ขณะที่ศาสนาเกิดขึ้นแล้วเป็นสิ่งที่ล้ำสมัย
แต่ระบบคณะสงฆ์ของเรากลับล้าหลัง ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองมาตั้งแต่ พ.ศ.2475 สังคมข้างนอกเดินไปไกลมากแล้ว ทั้งระบบวิธีการคิด มีการพูดถึงหลักสิทธิมนุษยชน หลักสิทธิเสรีภาพ ภราดรภาพ คณะสงฆ์ก็ยังอยู่ที่เดิม โครงสร้างไม่เอื้อกับสังคมสมัยใหม่ ไม่เอื้อให้คณะสงฆ์โดยรวมมีสิทธิมีเสียง มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนพระศาสนาเท่าๆ กัน ทำยังไงพระในชนบทจะมีความเข้มแข็งในการปกครองดูแลตัวเองได้
พอมองการปกครองคณะสงฆ์ด้วยแว่นแบบนี้ ได้พูดคุยถกเถียงกับเพื่อนนักบวชบ้างหรือเปล่า
คุยนะ ไม่ใช่เราคนเดียวที่คิดแบบนี้ มีพระที่ตั้งคำถามกับโครงสร้างและปรากฏการณ์ต่างๆ แต่เป็นส่วนน้อยที่คุยได้ ขณะเดียวกัน ก็มีหลายคนที่ไม่พอใจเราอย่างมากที่พูดเรื่องเหล่านี้
อยู่ในสถานะนักบวชยากขึ้นไหม
ยาก (ตอบทันที) สังคมจะแคบ เพื่อนที่สามารถพูดคุยในประเด็นนี้มีน้อย เพราะคนในคณะสงฆ์ส่วนใหญ่เขายินยอมที่จะเดินตามโครงสร้างแบบนั้น การเดินตามมันทำให้เขาเติบโตในระบบคณะสงฆ์ มีตำแหน่ง มีสมณศักดิ์ แต่ถ้าเปลี่ยนวิธีคิด เขาต้องสูญเสียความก้าวหน้า จึงไม่ค่อยมีใครเอากันหรอก
หลวงพี่มองว่าพระจำเป็นต้องสนใจเรื่องการเมืองไหม
จำเป็น ถ้าเราไม่เปิดโลกทัศน์ สิ่งที่เรารู้มาไม่มีประโยชน์ในแง่การเผยแผ่เลย อาตมามองไม่ออกว่า ถ้าไม่มีองค์ความรู้เรื่องอื่นๆ เลย เราจะเข้าใจปัญหาของโยม เข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ รอบตัวได้ยังไง เวลาเอาธรรมะไปพูดกับโยม แล้วไม่เข้าใจว่ามีความทุกข์เพราะอะไร เราจะไปสอนได้ยังไง เราจะไปชี้หน้าว่า “ทำแบบนี้ผิดนะ”
พระทุกวันนี้เลยมีหน้าที่แค่ตัดสินดี-เลว ทำแบบนี้-ดี ทำแบบนี้-เลว ใช้ความรู้ธรรมะเพียวๆ ที่มาจากพระไตรปิฎก แต่พระไม่รู้เลยว่า สังคมปัจจุบันมีเหตุปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ชาวบ้านต้องเผชิญหน้ากับสภาพปัญหาและความทุกข์แบบนี้
พระเลยเทศน์แค่ชีวิตเป็นทุกข์ ลงท้ายว่า อนิจจัง แล้วโยมก็ สาธุ
(หัวเราะ) ซึ่งมันไม่ใช่ไง สมัยที่พระพุทธเจ้ายังอยู่ ท่านเข้าใจระบบสังคมอินเดียว่าคนมีความทุกข์เพราะอะไร เช่น ทุกข์เพราะความเชื่อของศาสนา แบ่งคนตามวรรณะ อ้างเทพเจ้าเพื่อแบ่งชั้นคน พระพุทธเจ้าก็พยายามอธิบายใหม่ คุณบอกว่าคนเราต่างกันเพราะการบันดาลจากเทพเจ้า มันฟังไม่ขึ้นนะ
เป็นพระมีจุดยืนทางการเมืองได้ไหม
ถ้าเป็นทรรศนะส่วนตัว มีได้ และทุกคนก็มี เราต้องยอมรับว่าทุกคนมีอคติ มีความลำเอียงในใจ เพราะประสบการณ์ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เช่น บางคนรับข้อมูลข่าวสารจากข้างนี้ อีกคนฟังจากข้างนั้น ถ้าคุณบอกว่าตัวเองไม่มีอคติเลย แสดงว่าคุณกำลังโกหกตัวเอง
จุดยืนของหลวงพี่คืออะไร
อาตมาสนับสนุนความเป็นประชาธิปไตย ทางนี้เท่านั้นที่จะไปได้กับสังคมสมัยใหม่ สังคมจะอยู่ได้ต้องมีหลักประชาธิปไตย ซึ่งให้เสรีภาพเป็นพื้นฐานกับคน เวลาพูดทรรศนะส่วนตัว ก็ด่าอาตมาได้ เพราะนี่คือการใช้สิทธิความเป็นปัจเจกในการแสดงความเห็น อาตมาไม่ได้บอกว่า นี่เป็นการแสดงความเห็นในนามของคณะสงฆ์
การศึกษาของนักบวช มีการสอดแทรกเรื่องปัจจุบันบ้างหรือเปล่า
ไม่มี มันแยกออกไปเลย หลักสูตรคณะสงฆ์ก็เรียนตามที่มีมา เป็นการพูดตามตำราหมดเลย
หลักสูตรควรต้องเปลี่ยนแปลงไหม
หลักสูตรคณะสงฆ์ถูกชำระครั้งล่าสุดตอนสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า ซึ่งผ่านมาร้อยกว่าปีแล้ว อะไรที่ไม่เปลี่ยนแปลงเลย มันใช้ได้เหรอ ทุกวันนี้มันมีองค์ความรู้อื่นๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย ขณะที่การศึกษาของคณะสงฆ์เหมือนถูกดองไว้แค่นั้น
ทำไมถึงไม่เปลี่ยนแปลง
คณะสงฆ์มักอ้างว่า พระโบราณจารย์ท่านทำไว้ดีแล้ว การไปลบล้างหรือแก้ไขเท่ากับการไปหมิ่น คณะสงฆ์จะกลัวคำนี้มาก การศึกษาเลยถูกดอง ซึ่งอาตมาไม่เห็นด้วย เพราะขณะที่คณะสงฆ์ดองการศึกษาไว้แค่นั้น แต่ก็จะเอาเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น วุฒิเปรียญธรรม 9 ประโยค คุณไม่ได้เปลี่ยนอะไรเลย แต่คุณจะเอาไปเทียบกับปริญญาเอก ถามว่าเนื้อหาสาระคุณมีอะไรรองรับเหมือนทางโลกบ้าง ทางโลกต้องมีงานวิจัย สารนิพนธ์ วิทยานิพนธ์ ดุษฎีนิพนธ์
สเตตัสแรกที่หลวงพี่โพสต์เรื่องการเมืองคืออะไร
ประเด็นการชูสามนิ้ว ตอนนั้นอาตมาศึกษาเรื่องการเมืองมาช่วงหนึ่งแล้ว คนในสังคมต้องยืนยันถึงหลักการได้ การชูสามนิ้วคือการยืนยันหลักการของสังคมสมัยใหม่ สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค นั่นคือครั้งแรกที่อาตมาถูกถล่มอย่างหนัก (หัวเราะ) กลายเป็นที่พูดถึงในกลุ่มการเมืองวงกว้าง
มีผลต่อการโพสต์ครั้งต่อไปไหม แบบนี้เปลี่ยนมาโพสต์แค่ ‘อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา’ ดีกว่า
เรากลับยิ่งโพสต์เรื่องการเมืองมากขึ้นด้วยซ้ำ
เราต้องการแสดงจุดยืน ?
ใช่ๆ มันเป็นการพูดอุดมการณ์ของตัวเอง ตอนนั้นมีคนตั้งคำถามว่า ทำไมพูดแบบนี้ เป็นพระยุ่งการเมืองได้ด้วยเหรอ พอมีคำถาม เราเลยอัดอั้น อยากตอบ อยากชี้แจง ถึงเป็นพระก็ควรแสดงทรรศนะทางการเมืองได้
มีพระผู้ใหญ่มาห้ามบ้างหรือเปล่า
ช่วงแรกๆ ที่เขียนอะไรลงเฟซบุ๊ก อาตมายังไม่เป็นที่รู้จักมาก เลยยังไม่มีใครมาว่าอะไร แต่ช่วงหลังๆ ประมาณปีที่แล้ว พออาตมาออกไปจุดเทียน ไปศาลทหาร ไปสถานีตำรวจ ไปเรือนจำ ไปลานพระบรมรูป มีจดหมายจากสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ เรื่องของอาตมาถูกนำเข้ามหาเถระสมาคม มีคำสั่งจากสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติส่งมาที่เจ้าอาวาส เขาใช้คำพูดว่า “ขอความเมตตาให้อบรมสั่งสอน ดูแลสัทธิวิหาริก” (เป็นคำใช้เรียกผู้ได้รับอุปสมบทจากพระอุปัชฌาย์ คือได้รับอุปสมบทจากพระอุปัชฌาย์รูปใด ก็เป็นสัทธิวิหาริกของพระอุปัชฌาย์รูปนั้น) อ้างเหตุผลว่า การออกไปจุดเทียนอาจผิดประกาศมหาเถระสมาคมที่ห้ามพระเณรไปชุมนมเพื่อเรียกร้องสิทธิแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง ครั้งนั้นค่อนข้างหนักเหมือนกัน
แล้วเรื่องก็เงียบไปพักหนึ่ง ต่อมาอาตมาไปแสดงความเห็นว่า การที่พระกราบแม่เป็นการดราม่าตามกระแส พระไม่ควรทำ แล้วให้เหตุผลว่า มีหลายอย่างที่พระพุทธเจ้าอนุญาตให้พระทำกับพ่อแม่ได้ ปรากฏว่ามีคนไม่พอใจ ส่งจดหมายมาเป็นร้อยฉบับ ไม่ลงชื่อผู้ส่ง โดยจ่าหน้าซองว่านายไพรวัลย์ ทุกวันนี้อาตมาก็ยังเก็บจดหมายเหล่านั้นไว้
หลังจากเหตุการณ์นั้น เจ้าอาวาสก็เรียกไปตักเตือน เราเลยกลับมาทบทวนตัวเอง ถ้ายังจะอยู่ที่นี่ต่อไป ก็ต้องปรับวิธีการสื่อสาร ระมัดระวังมากขึ้น บางคำที่อาตมาใช้ในบทความ ก็ยอมรับว่าเป็นคำที่เสียดสีรุนแรงไป ซึ่งคนในสังคมไทยรับไม่ได้ เราก็ต้องเปลี่ยน
ไม่ได้เปลี่ยนเนื้อหา แต่เปลี่ยนวิธีการ
ใช่ เปลี่ยนวิธีการ
ทำไมถึงเก็บจดหมายเหล่านั้นไว้
เก็บไว้เตือนตัวเองว่าครั้งหนึ่งเคยเกิดอะไรขึ้นกับเรา สะท้อนความผิดพลาดว่า บางทีการจะสื่อสาร การสอน การเตือน ถ้าใช้วิธีการที่ตรงไปแรงไป ก็อาจไปทำร้ายความรู้สึกของเขา
การเป็นพระเซเลบมีข้อดียังไง
เราพิมพ์สเตตัสไป มันมีฟีดแบ็คกลับมาแน่นอน คนที่ชอบก็พร้อมจะแชร์และแสดงความเห็น นั่นคำพูดของพระมหาไพรวัลย์ เรื่องที่ต้องการสื่อสารก็กระจายไปวงกว้างง่ายขึ้น
มีพิมพ์ๆ ลบๆ เพราะกลัวโดนด่าบ้างไหม
ไม่มีนะ แต่หลายสเตตัสพอโพสต์ไป พอมาอ่านก็มีแก้ไขเหมือนกัน สำนวนตรงนี้กำกวมนะ เปลี่ยนคำให้นุ่มนวลขึ้น
เคยถูกด่าต่อหน้าบ้างไหม
ถ้าต่อหน้าไม่มีนะ มีจดหมาย มีหน้าเฟซ มีหน้าเพจ และอินบอกซ์เยอะมาก
ทั้งที่คนด่าทางจดหมายและโซเชียลมีเดียจำนวนมาก แต่ชีวิตจริงกลับไม่มีเลย มันสะท้อนอะไร
โลกออนไลน์กับความจริงมันคนละโลกกัน สังคมออนไลน์มันเป็นพื้นที่สาธารณะที่คนไม่ต้องมาเกรงใจกัน เพราะเราไม่ได้เจอกัน คุณอยู่หน้าคอม จะพิมพ์อะไรไปก็ได้ ไม่ต้องเกรงใจ ด่าก็ได้ เพราะคุณไม่ได้อยู่ต่อหน้า
โยมด่าพระบาปหรือเปล่า
การด่าก็คือการสร้างวจีกรรมให้กับตัวเอง ถ้ามุมมองพุทธศาสนา ด่าก็มาจากความโกรธความเกลียด การสั่งสมอารมณ์แบบนั้นไม่ใช่เรื่องดี แต่ไม่ได้บอกว่าบาปหรือไม่บาป อาตมาไม่เคยบอกว่าคนด่าอาตมาเป็นบาปนะ
เราเถียงพระได้ใช่ไหม
เถียงได้ และควรต้องเถียง เวลามีคนมาสัมภาษณ์แล้วถามว่า ทำไมถึงเลือกใช้เฟซบุ๊กในการสื่อสาร อาตมาจะบอกว่า
ข้อดีของเฟซบุ๊กคือ มันไม่เหมือนการนั่งเทศน์บนธรรมมาส เพราะคนฟังก็ฟังอย่างเดียว ด้วยความเชื่อว่านั่นคือการเทศน์ คุณก็ต้องประนมมือ ตั้งใจฟัง คุณจะได้บุญ ถึงไม่เห็นด้วยก็ทำได้แค่แย้งในใจ แต่เฟซบุ๊กไม่ใช่แบบนั้น มันเป็นพื้นที่ที่คนทุกศาสนาหรือไม่มีศาสนาก็ได้ มาแลกเปลี่ยนโดยไม่ต้องนบนอบอ่อนน้อม เขาพิมพ์ได้ตามความคิดจริงๆ
หลวงพี่เคยให้สัมภาษณ์ว่า พระในวัดคุยเรื่องการเมืองเป็นเรื่องปกติ แต่พอในที่สาธารณะกลับไม่ค่อยแสดงความคิดเห็น ทำไมถึงเป็นแบบนั้น
ด้วยภาพที่สังคมมองว่าพระไม่ควรอยู่กับการเมือง พระก็ไม่กล้าที่จะพูดถึงการเมืองจริงๆ จังๆ ภาพสังคมบอกว่าไม่ใช่กิจของสงฆ์ เรื่องนี้พระอย่ายุ่ง คนเลยด่าเวลาพระพูดเรื่องการเมือง พระก็กลัว แล้วพระหลายคนมีภาพว่า การอยู่ในสถานะพระ คนต้องกราบไหว้ ต้องให้ความเคารพ ถ้าโดนโยมด่าจะทนไม่ได้ มันกระทบอัตตาตัวเอง เรื่องอะไรต้องให้คนมาด่า แต่จริงๆ ไม่ใช่เลย สังคมพระจริงๆ พูดเรื่องการเมืองกันทุกวัน ซุบซิบยิ่งกว่าโยมอีกด้วยซ้ำ (หัวเราะ) อยู่ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ อยู่ในวัด มีข่าวอะไรมา บางทีพระรู้ก่อนอีก เขารู้ เขาคุยกัน แค่ไม่พูดในที่สาธารณะเฉยๆ
ครั้งหนึ่งมีทหารมาถวายเพลที่วัดด้วย เรียกว่าถูกปรับทัศนคติได้ไหม
ก็ไม่ปรับเสียทีเดียว สื่อไปเขียนให้น่ากลัวมากไป เขาแค่นัดโทรมาเพื่อเอาอาหารมาถวาย แต่เรารู้แหละว่ามาจากทหาร เขาไม่ได้ขออะไรเลย แต่มันเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ทำให้กลัวโดยไม่ต้องพูดอะไร แต่ก่อนหน้าที่จะมาถวายเพล เขาพูดเหมือนกัน กระแอมมานิดหน่อย เขาค่อนข้างเป็นกังวล เพราะปีแรกของการรัฐประหาร เราให้ความเห็นเกี่ยวกับเรื่องการเมืองและพาดพิงทหารมาก
ตอนมาทีแรก ประมาณหนึ่งทุ่ม ห้องไม่ได้ล็อค เขาเคาะตึ้งๆ สองที แล้วเข้ามานั่งในห้องเลย (หัวเราะ) เขาก็พูดทำนองว่า “อยากมากราบหลวงพี่” ซึ่งเราก็รู้สึกว่าไม่ใช่ละ จู่ๆ ก็พรึบพรับเข้ามาเลย แทนที่จะเคาะประตูแล้วยืนรอก่อน อาตมาก็บอกว่า “เดี๋ยวนะโยม รอข้างนอกก่อน เดี๋ยวค่อยออกไปนั่งคุยกันนะ” มันไม่ปกติแล้ว อาตมาก็พูดกับเขาตรงๆ ว่า ท่านเป็นใคร มาคุยกับอาตมาต้องการอะไร ให้พูดมาตรงๆ เลย อาตมาไม่มีนอกมีใน เขาก็เข้าใจเอาคนมานะ เป็นคนมีอายุหน่อย คล้องพระเครื่อง จิตวิทยาเขาสุดยอด เมื่อต้องไปพบพระต้องเอาคนแบบไหนไป
หลวงพี่พูดถึงเสรีภาพในการแสดงออกของพระ จนดูเหมือนมันไม่มีข้อจำกัด แต่ในความเป็นจริงสถานะนักบวชคงมีกรอบบางอย่าง เส้นแบ่งนั้นคืออะไร
มันพูดยากว่าแค่ไหนได้แค่ไหนไม่ได้ สำหรับตัวอาตมาเองนะ ถ้าจะแสดงความเห็นในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง อาตมาต้องให้คำตอบตัวเองได้ก่อน ว่าสิ่งนั้นมีประโยชน์ไหม เราต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อน ว่าอยากแสดงความเห็นเรื่องนี้เพราะอะไร ถ้าตอบตัวเองได้ อยากจะสื่ออะไร กับใคร อาตมาก็ไม่สนใจว่าคนอื่นจะคิดยังไง
เราสามารถนำหลักธรรมะมาอธิบายหลักการประชาธิปไตยได้ไหม
คอนเซ็ปต์ของธรรมะในยุคพระพุทธเจ้าไม่ได้พูดเรื่องสิทธิเสรีภาพโดยตรง หลักๆ จะมุ่งที่การปลดปล่อยคนจากความเชื่อที่เป็นจารีตและการกดขี่ ส่วนประชาธิปไตยเป็นกฎที่สร้างขึ้นมาใหม่ คนเพิ่งมาให้ความสำคัญเมื่อไม่กี่ร้อยปี ธรรมะบางอย่างจึงถูกนำมาเทียบเคียงกับหลักประชาธิปไตยผ่านการตีความ ยุคหนึ่งหลวงพ่อพุทธทาสพูดเรื่องเผด็จการโดยธรรม ก็กลายเป็นวาทกรรมทางการเมือง เอาธรรมะไปอ้างให้การเมืองไม่เป็นไปตามกรอบประชาธิปไตย จริงๆ แล้วไม่ใช่ ธรรมาธิปไตยกับประชาธิปไตยต้องไม่ขัดแย้งกัน ภายใต้กฎเกณฑ์ของประชาธิปไตย คือต้องเคารพสิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค เป็นที่ตั้ง ธรรมาธิปไตยจะดำเนินไปได้ มันต้องไม่แยกขาดจากหลักการนี้ มันไม่ใช่ว่าคุณมีธรรมะแล้ว จะอ้างมาใช้อำนาจอย่างไรก็ได้
ทุกยุคทุกสมัยคนพยายามอ้างธรรมะอ้างคำสอนทางศาสนา เพื่อมาสร้างความชอบธรรมในอำนาจของตัวเอง แต่ก่อนคนจะมีอำนาจได้ อาจเริ่มจากใช้อำนาจกดขี่คนให้กลัวก่อน พอใช้อำนาจอย่างเดียวกลายเป็นการป่าเถื่อน คนเริ่มไม่ยอมรับ ก็เอาหลักการทางศาสนามารองรับความชอบธรรมในการใช้อำนาจ
แต่ก่อนก็อ้างว่ากษัตริย์เป็นตัวแทนของเทพเจ้า ได้อำนาจจากพระเจ้า พุทธศาสนาก็บอกว่า กษัตริย์คือพระโพธิสัตว์ที่ลงมาบำเพ็ญบารมี มีทศพิธราชธรรม สามารถดูแลบ้านเมืองให้สงบสุขได้ ธรรมะก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง
ธรรมะโดยตัวมันไม่สามารถบอกความเป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นได้ แต่มันตีความให้เข้ากับประชาธิปไตยได้ ขณะเดียวกัน มันก็ตีความกับเผด็จการก็ได้ อยู่ที่ว่าปัญญาชนของกลุ่มนั้นๆ จะหยิบยกธรรมะจากจุดไหนมารองรับความชอบธรรมของตัวเอง เช่น ถ้านักวิชาการหัวก้าวหน้าก็ตีความพุทธศาสนา พูดถึงบริบทที่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย พระพุทธเจ้าทำลายระบบวรรณะของอินเดีย พยายามสร้างสังคมสงฆ์ที่ทุกคนมีความเสมอภาคภายใต้พระธรรมวินัย เหมือนกับที่สังคมสมัยใหม่ พยายามจะทำให้ทุกคนมีความเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย
ทำไมวาทกรรม ‘ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป’ ถึงฟังค์ชั่นกับสังคมไทย ทั้งที่ศีลข้อแรกบอกชัดเจนว่าการฆ่าเป็นสิ่งที่ผิด
ธรรมะมันถูกนำไปผูกกับเงื่อนไขอีกอย่างที่มีความสำคัญพอๆ กัน เช่น คนสมัยก่อนให้ความสำคัญกับสถาบันหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งคนต้องให้เคารพไปไม่น้อยกว่าธรรมะ หรือศาสนาก็ถูกนำไปผูกในสถาบันหลัก ถ้าใครเป็นปฏิปักษ์ต่ออุดมการณ์นี้ คนนั้นก็สมควรต้องถูกกำจัด
การอธิบายเรื่องกรรมเก่าในแบบพุทธบ้านเรา มักทำให้คนจำนวนไม่น้อยจำนนต่อการกดขี่ โครงสร้างทางสังคมที่เหลื่อมล้ำ ฯลฯ หลวงพี่มองประเด็นนี้ยังไง
มันอยู่ที่คนทำความเข้าใจศาสนาได้ลึกหรือตื้นขนาดไหน จะโทษศาสนาอย่างเดียวคงไม่ได้ อยู่ที่เราจะมอง ศาสนาก็พูดแหละ ว่าคนมีความต่างกันเพราะกรรม แต่ขณะเดียวกันศาสนาพุทธก็สอนหลักธรรมอื่นเยอะแยะ คุณต้องเกื้อกูลคนในสังคมเดียวกันอย่างไร เมตตาอย่างไร ต้องไม่เบียดเบียนกันอย่างไร ไม่ใช่ว่าคุณเกิดมารวยกว่าคนอื่น แล้วต้องเบียดเบียน ศาสนาไม่ได้สอนตรงนี้
ไม่ได้หมายความว่าคุณต้องเชื่อทุกอย่างที่ศาสนาบอก คุณไม่เห็นด้วยกับการอธิบายความรวยจนแบบที่ศาสนาบอกก็ได้ คุณไม่จำเป็นต้องเชื่อที่ศาสนาบอกว่า คุณเกิดมาจนเพราะชาติที่แล้วไม่ให้ทาน เราอาจตั้งคำถามว่าโครงสร้างทางสังคมทำให้เราจนหรือเปล่า เป็นเพราะความเหลื่อมล้ำหลายๆ อย่างที่ทำให้เรามีชะตากรรมแบบนี้ไหม และในทางสังคมการเมือง เราสามารถเรียกร้องสิทธิอะไรได้บ้าง ไม่ใช่จำนนต่อกรรม ซึ่งก็ไม่รู้ว่าชาติที่แล้วเราทำอะไรไว้บ้าง
คำๆ หนึ่งที่คนจำนวนหนึ่งก็คลั่งไคล แต่คนจำนวนหนึ่งก็ตั้งคำถาม คือคำว่า ‘คนดี’ ซึ่งโดยความหมายจริงๆ มันไม่น่าเป็นคำที่เสียหาย แต่กลายเป็นว่าในบริบททางการเมืองของไทย ‘คนดี’ ถูกเสียดสีจนกลายเป็นของไม่ดีไปแล้ว หลวงพี่มองเรื่องนี้ยังไง
ต้องดูนิยามคำว่า ‘คนดี’ ว่าดีแบบไหน ดีแบบที่กล่าวหาคนอื่นว่าไม่ดีหรือเปล่า แล้วดีนั้นภายใต้เงื่อนไขอะไร การบอกว่าต้องการนักการเมืองที่ดี มันถูกจุดหนึ่งนะ แต่ไม่ใช่ถูกทั้งหมด คำถามคือดีภายใต้เงื่อนไขอะไร ถ้านักการเมืองคนนั้นถูกตรวจสอบ ถูกถ่วงดุลการใช้อำนาจ ถูกกำกับโดยการมีส่วนร่วมของประชาชน หรือองค์กรอื่นๆ ที่คอยจับตาการทำงาน เราต้องการนักการเมืองที่เอื้อให้ตรวจสอบ ท้วงติง เสนอข้อเรียกร้องได้ แบบนี้ถึงจะเป็นนิยามของนักการเมืองที่ดีในยุคปัจจุบัน ไม่ใช่นักการเมืองที่อ้างว่าตัวเองเป็นคนดี
ไม่ใช่นักการเมืองที่ทำบุญใส่บาตร
(หัวเราะ) ไม่ใช่นักการเมืองที่เข้าวัด รักษาศีลทุกวันพระ หรือชวนให้คนทำบุญใส่บาตร นั่นมันเป็นความดีปัจเจก เป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องส่วนตัวคุณเห็นแก่ตัวก็ได้ แต่ในเชิงระบบคุณต้องเป็นคนดี ให้คนอื่นตรวจสอบได้
หลวงพี่มองว่าคนทั่วๆ ไปจำเป็นต้องสนใจการเมืองไหม
จำเป็น การเมืองคือเรื่องของคุณ ความเป็นอยู่จะดีขึ้นหรือไม่ ไม่ได้มาจากคุณขยันทำมาหากินอย่างเดียว มันเกี่ยวกับรัฐดูแลความเป็นอยู่คุณดีแค่ไหน ให้สวัสดิการอะไรบ้าง เรื่องพวกนี้มันเกี่ยวกับการเมือง คุณจะไม่ตั้งคำถามเหรอ
เราทำมาหากิน บริโภคความบันเทิง พอมีเวลาว่างก็เข้าวัดทำบุญ แค่นี้ไม่เพียงพอเหรอ
ถ้าคุณพอใจที่จะอยู่แบบนั้น ก็โอเค แต่ขณะเดียวกันที่หลายคนตั้งคำถามและเรียกร้อง มันเป็นสิทธิ์ คุณต้องไม่มองว่าคนที่เรียกร้องสร้างความวุ่นวาย สังคมไทยเป็นแบบนี้ พอมีคนออกมาชุมนุม คุณก็ไปมองว่าคนพวกนี้สร้างความแตกแยก ไม่ชอบให้บ้านเมืองสงบ แต่คุณไม่ตั้งคำถามว่าที่บ้านเมืองสงบ มันอยู่ภายใต้สภาพแบบไหน เป็นสภาพที่นายทุนจะไปทำเหมืองแร่ กระทบต่อวิถีชีวิตของคนในชุมชนยังไงก็ได้ รุกป่าสงวนยังไงก็ได้ แต่ขณะที่ชาวบ้านต้องอยู่แบบอดๆ อยากๆ หรือทรัพยากรมันถูกทำให้เป็นของคนที่มีเงินอย่างเดียว ขณะที่คนรอบๆ กลับไม่ได้รับประโยชน์จากทรัพยากรนั้น คนพวกนี้ต้องอยู่อย่างสงบโดยไม่ต้องเรียกร้องใช่ไหม
ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช.บอกว่าจะคืนความสุข ผ่านมาแล้ว 2 ปีกว่าแล้ว หลวงพี่ได้ความสุขคืนมาบ้างไหม
ถ้าพูดในฐานะนักบวช เขาไม่ได้เอาความสุขจากพระไปนะ อยู่แบบไม่รู้ร้อนรู้หนาวก็ได้ พระไม่ได้เดือดร้อนกับเหตุการณ์เหล่านี้เลย รัฐบาลประชาธิปไตยหรือเผด็จการ พระไม่มีปัญหากับเรื่องนี้หรอก ถ้าอาตมาไม่ออกมาพูดเรื่องการเมือง ชีวิตก็คงแฮปปี้ดี
หลวงพี่ว่าตอนนี้สังคมไทยสงบดีไหม
สงบน่ะสงบแน่นอน ภาพรวมไม่มีการออกมาประท้วง แต่มันสงบภายใต้เงื่อนไขของการถูกห้ามหรือถูกกด มันมีอะไรห้ามไม่ให้คนพูดได้แสดงออกได้
ไม่มีคนออกมาประท้วง ไม่ดีเหรอ
ถ้าเป็นภาวะปกติ อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งโดยพลเมือง มีระบบรัฐสภา มีกลไกตรวจสอบ ฝ่ายค้าน องค์กรอิสระ แบบนี้ก็ดีแน่ แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้น เราจะบอกว่าดีได้ยังไง
หลวงพี่มีความเห็นยังไงกับการบวชภิกษุณีในประเทศไทย
คณะสงฆ์ไทยบอกว่า พระพุทธเจ้าจะให้บวชภิกษุณีได้ ต้องมาจากสงฆ์ 2 ฝ่าย มาจากภิกษุณีสงฆ์ที่เป็นเถรวาท และภิกษุสงฆ์ที่เป็นเถรวาท แต่ภิกษุณีสงฆ์ที่เป็นเถรวาทขาดสายไปแล้ว ที่เขาเถียงกันคือเรื่องระเบียบขั้นตอนการบวช มันไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัย ซึ่งมันควรจะยืดหยุ่นได้ เรามาเถียงกันเรื่องระเบียบขั้นตอน พยายามจะยืนยันความบริสุทธิ์ของระเบียบขั้นตอนตามพระธรรมวินัย แต่ถามว่าคณะสงฆ์ไทยปฏิบัติตัวตามพระธรรมวินัยเป๊ะไหม ก็ไม่
ขณะที่หลายเรื่องคุณยืดหยุ่นได้ แต่พอถึงการบวชภิกษุณี คุณกลับบอกว่าไม่ได้
ใช่ อาตมาเลยเสนอว่า ถ้าคุณไม่ยอมรับเขาเข้ามาเป็นเถรวาทแบบมหานิกายหรือธรรมยุติ คุณก็ควรให้ความเป็นเถรวาทในนิกายอื่น ที่ศรีลังกาก็มีเถรวาทนิกายหนึ่ง ที่ให้ภิกษุณีที่บวชจากฝ่ายมหายานมาร่วมสังฆกรรมได้ คุณก็ควรจะให้ความเป็นธรรมและยอมรับในการเป็นเถรวาทแบบนั้น อาตมาทำงานกับภิกษุณีมามาก (บวชจากประเทศศรีลังกา) ภิกษุณีที่เกาะยอ ที่ภาคใต้ ทำงานเรื่องสันติภาพ ทำงานแทนคณะสงฆ์ ทำแทนมหาเถระสมาคมด้วยซ้ำ แล้วทำไมถึงไม่เห็นความสำคัญของพวกเขา
เวลาโดนคนด่าเยอะๆ หลวงพี่จัดการอารมณ์ตัวเองยังไง
การเป็นคนสาธารณะ มีคนรู้จักเยอะ ยิ่งเจออารมณ์ที่เราไม่ชอบ พอๆ กับอารมณ์ที่ชอบ เจอคำด่าพอๆ กับคำชม หรืออาจมากกว่าด้วยซ้ำ วิธีจัดการอารมณ์คือ ต้องอยู่กับใจตลอดเวลา พอเกิดความรู้สึกอะไรขึ้น เราต้องทันมัน กำลังโกรธแล้วนะ กำลังโมโห เวลาโดนคนด่า แล้วอยากจะพิมพ์ตอบโต้
ยังเป็นพระที่มีความโมโหอยู่
ยังโมโห คนที่จะตัดอารมณ์โมโหได้คือพระอริยบุคคลชั้นอนาคามี อาตมายังโกรธยังโมโห แต่ก่อนไม่เคยมีใครมาด่า เราจะรู้สึกว่ามีอัตตาเยอะมาก พอมีคนด่าบ่อยเข้า เราก็คนปกตินะ ไม่ได้ดีกว่าคนอื่น ยังเป็นคนที่คนอื่นสามารถด่าได้ ไม่ได้สูงส่งอะไร
หลวงพี่แบ่งเวลาให้การภาวนาในรูปแบบบ้างไหม
ภาวนาตรงๆ เลยไม่นะ พูดจากใจจริงเลย อาตมาไม่ชอบอะไรที่เป็นพิธีการ อาตมาเรียนปริญญาโทที่ มจร. หลักสูตรต้องไปปฏิบัติกรรมฐาน ก็ทำได้ แต่เราไม่ชอบรูปแบบซ้ายย่างหนอ…ขวาย่างหนอ… ชีวิตจริงเราไม่ได้สโลวไลฟ์แบบนั้น ไม่ได้เคลื่อนไหวเชื่องช้า มันเกิดขึ้นปุบปับ กระทบแล้วจัดการทันที อาตมาก็อยู่กับมันนี่แหละ เวลาฟังใครพูดแล้วไม่ถูกใจ ก็จัดการอารมณ์ไม่ให้การตอบกลับแบบศัตรูกัน
แต่ไหนแต่ไรอาตมาเป็นคนอารมณ์ร้อน ระงับอารมณ์ตัวเองไม่ค่อยได้ ทุกวันนี้ดีขึ้น แต่ไม่ใช่เพราะปฏิบัติธรรมนะ ที่โกรธน้อยลงเพราะเรารู้อะไรกว้างขึ้น มันทำให้เปิดใจมากขึ้น เรารับมุมมองใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่น แทนที่จะมองคนๆ หนึ่งจากมุมของเรา ก็มองจากมุมของเขาด้วย การรับฟังคนอื่นก็ทำให้เราเป็นคนใจกว้างโดยอัตโนมัติ
การเปิดใจรับฟังคนอื่น ทำให้เราโกรธน้อยลง?
มันลดอัตตาตัวเอง
หลวงพี่เคยไม่เห็นด้วยกับพระพุทธเจ้าบ้างไหม
เคย แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นพระพุทธเจ้าจริงๆ หรือเป็นพระพุทธเจ้าในพระไตรปิฎก ซึ่งคนอื่นเขียนให้เป็นแบบนั้น ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะไปโปรดพุทธมารดาบนสวรรค์ชั้นดาวดึง พระพุทธเจ้าแสดงยมกปาฏิหาริย์ แต่ก่อนหน้านั้นท่านเพิ่งบัญญัติสิกขาบทว่า ห้ามไม่ให้พระแสดงปาฏิหาริย์ ไม่ให้อวดอุตริแม้จะมีจริงๆ ก็ตาม แต่ท่านกลับแสดงปาฏิหาริย์ซะเอง โดยอ้างว่า พระราชามีสิทธิที่จะกินมะม่วงในอุทยาน ขณะที่คนอื่นไม่มีสิทธิกิน อาตมามองว่าแบบนี้ก็ไม่ชอบธรรมสิ ท่านห้ามคนอื่น แต่ท่านกลับมาทำเสียเอง นี่คือสิ่งที่อาตมาตั้งคำถาม ไม่ใช่แค่ตั้งคำถามกับพระพุทธเจ้า แต่ตั้งคำถามกับพระพุทธโฆษาจารย์ที่เป็นพระอรรถกถาที่เขียนธรรมบทให้เณรแปล เราตั้งคำถาม เราไม่เห็นด้วย
ตอนนี้เป้าหมายในฐานะนักบวชและมนุษย์คนหนึ่งคืออะไร
เรียนรู้อยู่ตลอดเวลา ชีวิตคนเราไม่แน่นอน ทุกวันนี้คิดอยากทำอะไรก็ทำไป คิดวันต่อวัน
ตั้งใจจะบวชตลอดชีวิตไหม
ก็ไม่แน่ อาตมามองว่าไม่ใช่แค่วิถีพระเท่านั้น ถึงจะเป็นศาสนิกที่ดีของพุทธศาสนาได้
ถ้าวันหนึ่งอาตมาตัดสินใจสึก ก็ไม่เสียดาย เพราะเรายังมีวิธีคิดยังเหมือนเดิม ความศรัทธาที่มีต่อพระรัตนตรัยยังเต็มเปี่ยม