‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ เป็นมากกว่าพื้นที่ทดลองในการฟื้นฟูการท่องเที่ยวของชาวภูเก็ต แต่คือความหวังในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและธุรกิจท่องเที่ยวไทยให้กลับมาอีกครั้ง หากเตรียมพร้อมรับมือกับการท่องเที่ยวไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ดี ก็มีโอกาสที่จะนำโมเดลนี้ไปใช้กับการเปิดเมืองท่องเที่ยวจริง
ตัวแปรสำคัญของการทดลองครั้งนี้จึงอยู่ที่ ‘วัคซีน’ โดยตั้งเป้าว่าต้องฉีดวัคซีนประชาชนในภูเก็ตให้ถึง 70% เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบโดสให้เดินทางเข้ามาได้โดยไม่ต้องกักตัว
ถึงอย่างนั้น คุณภาพวัคซีนก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะไม่เพียงช่วยป้องกันการแพร่ระบาด แต่ยังชี้วัดได้ว่าทุกคนในพื้นที่ทดลองนี้จะรับมือไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดตามเงื่อนไขของภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้หรือไม่ ถ้าเข้าข่ายเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่ง แน่นอนว่าโครงการนี้ต้องพับเก็บไปอย่างน่าเสียดาย นี่เองที่ทำให้ ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ คือความหวังที่ตั้งอยู่บนความกังวลที่ต้องยอมเสี่ยง
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้เริ่มโครงการ เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาทั้งหมด 4 เที่ยวบิน โดยกำหนดมาตรการปฏิบัติตัวทั้งก่อนและเมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทยอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังได้กำหนดเงื่อนไข 5 ประการ สำหรับการทำโครงการนำร่องท่องเที่ยว หากการเปิดภูเก็ตครั้งนี้ประสบเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งต่อไปนี้ ก็จำเป็นต้องยุติโครงการลง
เงื่อนไขที่ 1 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่า 90 ราย/สัปดาห์
เงื่อนไขที่ 2 เกิดการกระจายโรคในจังหวัดทั้ง 3 อำเภอ และมากกว่า 6 ตำบล
เงื่อนไขที่ 3 เกิดการระบาดเกิน 3 คลัสเตอร์ หรือหาสาเหตุการเชื่อมโยงการแพร่ระบาดไม่ได้
เงื่อนไขที่ 4 อัตราครองเตียงในโรงพยาบาลเกิน 80%
เงื่อนไขที่ 5 การแพร่ระบาดเป็นวงกว้างโดยควบคุมไม่ได้
แม้ชาวภูเก็ตจะได้รับวัคซีนตามเป้าหมายที่เปิดรับนักท่องเที่ยวได้แล้ว แต่ผู้คนบางส่วนก็กังวลไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มคนประกอบอาชีพที่ต้องสัมผัสหรือใกล้ชิดกับคนมากมาย เพราะต่างไม่มั่นใจภูมิคุ้มกันที่ได้รับมากับโอกาสเสี่ยงติดเชื้อแบบไม่รู้ตัว
แต่คงไม่เท่ากับกังวลว่าจะทำอย่างไรต่อไปหากการจัดการไม่เป็นไปตามแผน เพราะนั่นหมายถึงเส้นเลือดหล่อเลี้ยงชีวิตพวกเขาทั้งชีวิตต้องหยุดลง
ณ ตอนนี้ เราต้องจับตามองกันต่อว่า การเร่งฉีดวัคซีนด้วยวัคซีนม้าหลักเพียงตัวเดียว เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวของ ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ นั้น จะกลายเป็นคำตอบแก้สมการทดลองการฟื้นตัวธุรกิจและเศรษฐกิจของไทยได้หรือไม่ แน่นอนว่าหลายประเทศก็มีโครงการนำร่องท่องเที่ยวเช่นนี้อยู่ไม่น้อย ในขณะเดียวกัน บางประเทศก็ประสบปัญหาเชื้อกลับมาแพร่ระบาดสูงแม้จะใช้กลยุทธ์เร่งฉีดวัคซีนจนถึงเป้าหมายแล้วก็ตาม
Seychelles คืออีกหนึ่งตัวอย่างที่น่าสนใจเมื่อพูดถึงการเปิดเมืองท่องเที่ยวด้วยกลยุทธ์เร่งฉีดวัคซีนให้ผู้คนในพื้นที่ เพื่อฟื้นคืนความเชื่อมั่นและความปลอดภัยให้กับประเทศ
Seychelles หรือ สาธารณรัฐเซเชลส์ อยู่ในทวีปแอฟริกา ถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่ล้อมรอบไปด้วยหมู่เกาะสวยงาม โดยเกาะหลักที่เป็นที่รู้จักคือ เกาะมาเฮ เกาะพราแลง และเกาะลาดีก แน่นอนว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวคือเส้นเลือดใหญ่ของเศรษฐกิจในประเทศที่มีลักษณะเป็นหมู่เกาะ โดยเฉพาะในแถบมหาสมุทรอินเดียตะวันตก
การระบาดของโควิดส่งผลให้รายได้ของเซเชลส์ลดลงไปถึง 61% เมื่อปีที่แล้ว คิดเป็นมูลค่าความสูญเสีย 322 ล้านดอลลาร์ เพราะนักท่องเที่ยวไม่กล้าเดินทางเข้าประเทศ ซึ่งหายไปมากถึง 70% นี่เองจึงทำให้เซเชลส์ต้องฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศอย่างเร่งด่วน
เซเชลส์ได้วางแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมดำเนินการเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยเลือกฉีดซิโนฟาร์ม และ Covishield จนได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนคนในประเทศสูงที่สุด ดูเหมือนว่าแผนการเตรียมเปิดรับนักท่องเที่ยวจะเป็นไปด้วยดี เพราะสายการบินต้นทุนต่ำที่มีฐานอยู่ในซาอุดิอาระเบียได้วางโปรแกรมจัดที่ยวบินแบบ nonstop มาลงจอดที่เซเชลส์ โดยมีแผนเริ่มบินในเดือนกรกฎาคมนี้
ถึงอย่างนั้น ยอดผู้ติดเชื้อกลับพุ่งสูงขึ้นมาอีก โดยมียอดเพิ่มเป็นสองเท่าในหนึ่งสัปดาห์ (อ้างอิงข้อมูลเมื่อวันที่่ 11 พฤษภาคม 2564) แถมจำนวนผู้ติดเชื้อเหล่านั้นก็เป็นคนที่ได้รับวัคซีนครบทั้งสองโดสแล้ว คิดเป็น 37% แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลงจาก 2,400++ เคส เหลือเพียง 1,426 เคส (อ้างอิงข้อมูลเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564) ก็ยังนับว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงพอสมควร
หลายคนอาจเกิดคำถามว่า ทำไมเซเชลส์ถึงมียอดผู้ติดเชื้อสูงอยู่ทั้งที่เร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบ 70% แล้ว ที่สำคัญ ผู้ติดเชื้อบางส่วนกลับเป็นคนที่ได้รับวัคซีนครบทั้งสองโดสด้วย ข้อกังขาจึงอาจไปอยู่ตรงคำถามต่อมาว่า วัคซีนที่ฉีดให้ประชาชนนั้นมีประสิทธิภาพมากพอที่จะป้องกันการแพร่เชื้อได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะการป้องกันโควิดสายพันธุ์แอฟริกา สายพันธุ์อังกฤษ และสายพันธุ์อินเดีย ซึ่งล้วนเป็นต้นเหตุของการทำให้ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งขึ้นกลับมาครั้งนี้
ในมุมของผู้ประกอบการ อัตราคนได้รับวัคซีนที่สูงเป็นสัญญาณที่ดีในการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้คนกลับมาท่องเที่ยวเยี่ยมชมเมืองที่พวกเขาลงหลักปักฐานทำธุรกิจ ในขณะเดียวกัน การสร้างภูมิคุ้มกันที่ทำให้ไม่เกิดการแพร่ระบาดนั้นก็ต้องมาพร้อมกับตัวเลือกหลากหลาย เพื่อปรับตัวและพลิกแพลงตามสถานการณ์และการกลายพันธุ์ของไวรัสที่พัฒนารุนแรงขึ้นอยู่ทุกวัน
ในขณะที่เซเชลส์ต้องเดินหน้าเปิดรับนักท่องเที่ยว ก็ได้กำหนดให้มีการรับวัคซีน Pfizer ภายใต้โครงการโคแวกซ์ ร่วมกับประเทศอื่นในแถบแอฟริกาด้วย เพื่อป้องกันความสูญเสียของชีวิตประชาชนและมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่ให้ตกต่ำไปมากกว่านี้
เมื่อหันกลับมามอง ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ เราต่างรู้ดีว่านี่คือโครงการนำร่องทดลองด้านการท่องเที่ยว โดยผูกสมการอยู่กับชีวิตและปากท้องของผู้คนในเมืองเกาะท่องเที่ยวแห่งนี้ หากการทดลองไม่เป็นผล การฟื้นฟูเศรษฐกิจและธุรกิจท่องเที่ยวในภูเก็ตและเมืองท่องเที่ยวอื่นจะเป็นอย่างไรต่อไป
ยิ่งไปกว่านั้น ‘วัคซีน’ ทางธุรกิจอย่างแหล่งเงินทุนก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน เพราะผู้ประกอบการและเจ้าของธุรกิจรายย่อยต่างประสบปัญหานี้ทั่วหน้า พวกเขาไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับกู้ยืมมาพัฒนากิจการตัวเองให้ไปต่อได้ เศรษฐกิจคงขับเคลื่อนไปได้ยากหากนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาเยี่ยมชมเมืองภูเก็ตที่ไม่ได้คึกคักเหมือนเก่า เพราะเหล่าร้านค้าและเจ้าของกิจการรายเล็กรายน้อยต่างหายตายไปเรื่อยๆ ระหว่างที่ทำการทดลองในแซนด์บ็อกซ์นี้
ถึงตรงนี้ เราอาจต้องคิดต่อไปว่า องค์กรผู้มีส่วนเกี่ยวข้องจะมีแผนรับมืออื่นนอกเหนือจากกลยุทธ์เร่งฉีดวัคซีนด้วยวัคซีนม้าหลักตัวเดียวอย่างไรในกรณีที่ทุกอย่างไม่เป็นตามที่วางไว้ แล้วผู้ประกอบการรายย่อยมีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ไม่ใช่แค่การเยียวยามากน้อยแค่ไหน เพื่อนำไปสู่จุดหมายปลายทางของพื้นที่การทดลองครั้งนี้ได้อย่างแท้จริง
อ้างอิงข้อมูลจาก