ถ้าใครเคยมาเที่ยวเชียงใหม่ภาพที่คุ้นตากันดีคือนักท่องเที่ยวปั่นจักรยานแอ่วกันแถวคูเมือง ประตูท่าแพ ถนนนิมมานฯ ถนนคนเดิน ฯลฯ เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่เมื่อประมาณต้นปี 2018 หน้านิวส์ฟีดของชาวเชียงใหม่เต็มไปด้วยข่าวการเปิดตัว Mobike ธุรกิจ Bike-Sharing สัญชาติมังกรที่เข้ามาเขย่าวงการจักรยานให้เช่าในเมืองล้านนาแห่งนี้ ชาวเชียงใหม่ที่มีนิสัยชอบลองของใหม่ เลยอัพรูปลงโซเชียลมีเดียพร้อมจักรยานคันเล็กๆ สีแดงกันให้เต็มไปหมด ทุกคนล้วนตื่นเต้นเพราะมันทั้งสะดวก ใช้งานง่าย จอดที่ไหนก็ได้ไม่มีข้อจำกัด และที่สำคัญมันเรียกยอดไลก์จากกลุ่มเพื่อนได้เป็นกอบเป็นกำเลยทีเดียว
Mobike อาจเป็นเจ้าแรกของธุรกิจประเภทนี้ที่ขยับขยายเข้ามาในเชียงใหม่ (ซึ่งในประเทศไทยถือว่าเป็นเมืองที่สองต่อจากกรุงเทพฯ) แต่แน่นอนว่าพวกเขาไม่มีทางเป็นเจ้าเดียวอย่างแน่นอน เพราะมีคู่แข่งจากประเทศจีนอย่าง Ofo ที่เปิดตัวในกรุงเทพฯ ไปแล้วเมื่อประมาณกลางปี 2017 โดยทั้งคู่เป็นบริษัทที่มูลค่าหลักพันล้านเหรียญเช่นเดียวกัน และตามข่าวลือที่หนาหูคือ Ofo กำลังเตรียมตัวขยายไปยังหัวเมืองอื่นๆ ในประเทศไทยอย่างพัทยาและเชียงใหม่ด้วย (เจ้าอื่นๆ ที่พอจะมีชื่อเสียงคือ Bikeshare, LimeBike และ SPIN)
ข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังอีกทวีปหนึ่งของโลกที่เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอเนียร์ JUMP บริษัทสตาร์ทอัพจากเมืองนิวยอร์กที่ก่อตั้งในปี 2013 กำลังจะเข้ามาร่วมในวงธุรกิจ Bike-Sharing เช่นเดียวกับ Mobike และ Ofo แต่สิ่งที่ทำให้ JUMP น่าสนใจคือพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท Ride-Sharing ที่มีมูลค่าในตลาดสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกชื่อ Uber เพราะฉะนั้นตอนนี้ธุรกิจจักรยานให้เช่าแบบไร้สถานี (Dockless Bike-Sharing) กำลังจะมีผู้เล่นหน้าใหม่ที่มีทั้งประสบการณ์และกำลังทรัพย์ที่พร้อมสำหรับการแย่งส่วนแบ่งของตลาดเพิ่มอีกราย
ในเวลานี้ JUMP (Uber Bike) เป็นเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับอนุญาตให้ทดลองโครงการ Bike-Sharing ในเมืองซานฟรานซิสโก โดยก่อนหน้านี้ Ofo ได้พยายามส่งจดหมายโต้แย้งไปยังเจ้าหน้าที่ของเมืองเพื่อให้พวกเขาอนุญาตบริษัทสตาร์ทอัพอื่นๆ (ซึ่งพวกเขาก็หมายถึงตัวเองนั้นแหละ) ในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับเมืองบ้าง โดยหัวหน้าฝ่ายงานรัฐของ Ofo ได้เขียนเปิดเผยในจดหมายว่า “รู้สึกผิดหวังกับการตัดสินใจให้ใบอนุญาตแบบไม่โปร่งใสเป็นอย่างมาก”
โดยช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา Ofo ยังคงพยายามโน้มน้าวหน่วยงานของรัฐ แต่ก็ดูเหมือนว่าไม่ได้มีผลลัพธ์ที่เปลี่ยนแปลง JUMP ยังคงเป็นเพียงบริษัทเดียวที่สามารถให้บริการในเมืองนี้ได้ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่รัฐเองก็ออกมาให้เหตุผลว่า
“เราต้องมั่นใจว่าการขยายตัวของธุรกิจ dockless bike-sharing จะไม่ทำให้มันมีจำนวนที่เยอะเกินไปจนเกะกะ หรือไม่มีความสมดุลในการกระจายตัวในพื้นที่”
ในอาทิตย์หน้า JUMP จะปล่อยจักรยานให้เช่าแบบไร้สถานี จำนวน 250 คัน ไปตามจุดต่างๆ ทั่วเมืองซานฟรานซิสโก หลังจากนั้น 9 เดือนก็สามารถเพิ่มได้อีก 250 คัน โดยลูกค้าสามารถตามหา/เรียกใช้ รถจักรยานของ JUMP ผ่านทางแอพ Uber ได้โดยตรง ซึ่งก็เหมือนกับ Mobike หรือ Ofo ที่คนอยากใช้บริการต้องเป็นฝ่ายเดินตามหาจักรยานบนแผนที่ด้วยตัวเอง (เคยมีคนถามเหมือนกันว่ากดเรียกเหมือน Uber เหรอ?) ใส่ข้อมูลบัตรเครดิต หลังจากนั้นการเรียกใช้บริการก็แค่ใส่เบอร์โทรและรหัสเข้าไปที่เครื่องบริเวณท้ายรถจักรยาน เสร็จแล้วก็ปลดล็อก
สิ่งที่ทำให้ JUMP ได้รับความสนใจมากกว่าของบริษัทอื่นก็คือมันเป็น Electronic Bike (e-bike) หรือจักรยานไฟฟ้า โดยมีการใช้มอเตอร์ไฟฟ้ามาช่วยทำให้การปั่นใช้แรงน้อยลง สามารถปั่นขึ้นเนินหรือระยะทางไกลได้ดีขึ้นและไม่เหนื่อยมากเหมือนกับจักรยานทั่วไป เหมาะสำหรับคนที่ต้องการใช้ปั่นไปทำงานเพราะไม่ต้องตัวโชกเหงื่อเดินเข้าออฟฟิศ โดยมีอัตราค่าบริการอยู่ที่ 2 เหรียญ (ราวๆ 65 บาท) ต่อ 30 นาที
CEO ของ JUMP กล่าวว่า “มันมีโอกาสที่ e-bikes จะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างจักรยานกับรถยนต์ เพราะมันทำให้เราปั่นได้ไกลขึ้น ถึงจุดหมายได้เร็วขึ้น และมันก็ปั่นสนุกมาก จนเรารู้สึกมั่นใจว่าเทคโนโลยีของเราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้คนอยากค้นหาและเดินทางในเมืองมากยิ่งขึ้น” โดยก่อนหน้านี้ JUMP ได้ให้บริการที่ Washington D.C. ไปแล้ว และกำลังพยายามขยายไปเมือง Sacramento และ Rhode Island ภายในปีนี้
การเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับ Uber ทำให้ JUMP ได้เปรียบบริษัทอื่นด้วยจำนวนฐานลูกค้าที่กว้างขวาง Andrew Salzberg หัวหน้าทีม Transportation Policy and Research ของ Uber บอกว่าพวกเขาคิดเสมอว่าอยากทำธุรกิจเกี่ยวกับจักรยาน แต่มันยังไม่ลงตัวซะที แต่พอมี JUMP เขารู้สึกว่ามันเป็นโอกาสที่ดี และเป็นการสร้างทางเลือกใหม่ให้กับผู้ที่ใช้บริการ Uber เป็นประจำอยู่แล้ว ในกรณีรถติดหรือฉุกเฉินที่การกระโดดควบจักรยานและปั่นอาจทำให้ถึงที่หมายเร็วกว่า แถมเป็นการสนับสนุนให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงส่วนต่างๆ ของเมืองมากยิ่งขึ้น ร้านเล็กร้านน้อยในตรอกซอย สถานที่ท่องเที่ยวที่ไม่ค่อยมีที่จอดรถ หรือร้านอาหารริมทาง สิ่งเหล่านี้ล้วนได้ประโยชน์จากธุรกิจจักรยานเช่าแบบไร้สถานีทั้งนั้น แต่ที่สำคัญที่สุดคือสุขภาพที่ดีขึ้นและมลพิษในอากาศที่จะลดลงตามไปด้วย
นี่เป็นก้าวแรกของ Uber ในสนามแข่งขันธุรกิจนี้ แต่อย่างที่รู้กันคือพวกเขาไม่ได้เป็นเจ้าแรก และนอกจาก Mobike และ Ofo แล้ว JUMP ก็ยังมีคู่แข่งธุรกิจสัญชาติอินเดียชื่อ Ola Pedal ที่ให้บริการในมหาวิทยาลัยต่างๆในอินเดียด้วย แม้แต่ Grab กับ Didi ก็ยังเข้ามาร่วมวงสังสรรค์เฮฮาปาร์ตี้จักรยานนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
Uber กับ JUMP ไม่ได้เปิดเผยเนื้อหาข้อตกลงทางธุรกิจครั้งนี้ แต่อย่างน้อยจะเป็นการร่วมมือกันให้บริการที่เมืองซานฟรานซิสโก ในระยะเวลา 18 เดือน ซึ่งแน่นอนว่าเป้าหมายของ Uber และ JUMP นั้นไม่ได้หยุดอยู่แค่เมืองนี้ ต้องมีการวางแผนเผื่อการขยายออกไปให้กว้างขึ้นในอนาคต ถึงแม้ว่าตอนนี้ยังต้องทุ่มกับโปรเจกต์ที่กำลังอยู่ตรงหน้าก็ตาม
ย้อนกลับมาที่บ้านเรา หลังจากที่ Mobike เข้ามาในเชียงใหม่เมื่อประมาณต้นปี มีเพื่อนคนหนึ่งไปลองปั่น แล้วถ่ายรูปลงโซเชียลตามระเบียบ พอมีโอกาสได้คุยกันเลยถามถึงประสบการณ์ในตอนนั้น เขาบอกว่ามันก็สนุกดี เหมือนไปเดินตามหาโปเกมอน เสร็จปุ๊บเจอแล้วก็ปั่นได้สักพัก พอเบื่อก็จอดแค่นั้น พอถามต่อว่าจะกลับไปใช้อีกไหม คำตอบที่ได้กลับมาคือ “ร้อน…ไม่ไหววะ”
แน่นอนว่าเพื่อนคนนี้อาจเป็นเพียงส่วนน้อยของจำนวนผู้ใช้จริง แต่ก็หลีกเลี่ยงประเด็นคำถามนี้ไม่ได้ว่าธุรกิจนี้จะเหมาะกับภูมิอากาศบ้านเราจริงๆ ไหม? แถมช่วงหลังๆ เริ่มมีคนบอกว่าเห็นตะกร้ารถจักรยาน Mobike หลุดวางบนพื้นตามที่ต่างๆด้วยเช่นกัน (ไม่แน่ใจว่าเพราะสาเหตุอะไร)
ทั้งกรุงเทพฯ เชียงใหม่ และหัวเมืองต่างๆ ธุรกิจจักรยานแบบไร้สถานีกำลังเติบโตและเริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ มีการสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนเพราะมันเป็นรูปแบบของธุรกิจที่น่าสนใจ สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับเมือง แต่ต้องอย่าลืมด้วยว่าเมื่อธุรกิจกำลังอยู่ในช่วงเบ่งบาน มีผู้เล่นมากหน้าหลายตา มีเงินทุนมากมายหลั่งไหลเข้ามาสนับสนุน จำนวนจักรยานเหล่านี้ก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ยกตัวอย่างใน Washington D.C. เองก็มีถึง 6 บริษัทที่แข่งขันและให้บริการที่คล้ายคลึงกัน ซึ่งอีกไม่นานบ้านเราก็คงไม่ต่างกันนัก ข้อดีก็คือลูกค้ามีทางเลือกเยอะเดินไปทางไหนก็มีจักรยานให้ปั่น แต่ถ้ามองกลับไปอีกด้านหนึ่งเมื่อรถจักรยานเหล่านี้ไม่มีสถานีให้จอด มันก็ถูกจอดทิ้งไว้บนทางเท้าบ้าง หน้าร้านค้าบ้าง หน้าบ้านคนอื่นบ้าง แล้วสมมุติว่ามันมีเยอะๆ คิดง่ายๆ แค่บริษัทละ 1000 คัน (เหมือนที่ Mobike เปิดตัวในเชียงใหม่) เราจะยังมีทางเท้าให้เดินไหมหรือมันจะเป็นพื้นที่จอดจักรยานไปซะหมด?
กลุ่มคนที่ปั่นจักรยานในเชียงใหม่มีอยู่สองกลุ่มใหญ่ๆ หนึ่งคือคนที่ปั่นอยู่แล้ว ซึ่งก็จะมีจักรยานเป็นของตัวเอง และสองคือนักท่องเที่ยว ซึ่ง Mobike เปิดตัวมาเพื่อเป็นทางเลือกใหม่สำหรับหัวเมืองแห่งนี้ของประเทศไทย ก็คงต้องรอดูกันสักพักหนึ่ง ว่าทางเลือกนี้จะถูกเลือกหรือเป็นแค่กระแสวูบวาบ แต่ถึงยังไง Ofo และ JUMP ก็คงตามมาในไม่ช้า
เพราะฉะนั้นตอนนี้ถ้าย้อนกลับไปอ่านความเห็นของเจ้าหน้าที่เมืองซานฟรานซิสโก การที่ไม่อนุญาตให้ Ofo เปิดให้บริการพร้อมกับ JUMP อาจไม่ใช่เรื่องใจแคบหรือมีลูกรักลูกชัง แต่เขาเล็งเห็นถึงปัญหาที่อาจตามมาในภายหลังมากกว่า