การพบกันระหว่าง นายกรัฐมนตรี กับสื่อออนไลน์เกิดขึ้นในวันที่สถานการณ์บ้านเมืองเป็นไปอย่างเข้มข้น มีการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาในหลายจังหวัด ที่ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา ลาออก และแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ในวันที่ The MATTER ได้พบกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากการเดินทางพบเข้าสื่อออนไลน์ เพื่อรับฟังข้อเสนอจากสื่อ นอกจากข้อเสนอที่ทาง The MATTER เตรียมไว้ เราได้เตรียมคำถามไว้ชุดหนึ่ง เพื่อสอบถามโดยตรงกับ พล.อ.ประยุทธ์ และได้สรุปประเด็นคำตอบที่น่าสนใจมาไว้ในบทความนี้
นายกฯ มีการรับฟังเสียงข้อเรียกร้องจากผู้ชุมนุมอย่างไร? จะเป็นไปได้ไหมถ้านายกฯ จะไปพูดคุยกับผู้ชุมนุมโดยตรง? จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ และแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติได้ไหม? ในวันที่คนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อยกำลังส่งเสียงที่จะขอกำหนดชีวิตและรัฐบาลด้วยตัวเอง มาอ่านคำตอบจากนายกฯ พร้อมกัน
ในช่วงเริ่มประชุม นายกฯ บอกว่า วันนี้มาพูดคุยกับท่านเพื่อแลกเปลี่ยน และรับฟังความเห็นว่า เราจะเดินหน้าประเทศได้อย่างไร โลกยุคใหม่กำลังเข้ามา โลก New Normal กำลังเข้ามา
นายกฯ คิดอย่างไรกับข้อเสนอจากคนรุ่นใหม่ที่ออกมาชุมนุม?
ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่เข้มข้นและมีการชุมนุมเกิดขึ้นจากกลุ่มนักศึกษาและประชาชนในหลายจังหวัด The MATTER จึงหยิบประเด็นเรื่องการรับฟังความคิดของผู้ชุมนุมมาเป็นหัวข้อสำคัญของการพูดคุย
The MATTER เสนอความเห็นว่า ถ้าดูตามหน้าสื่อในตอนนี้ ก็จะเห็นการออกมาแสดงความคิดเห็นของเยาวชนจำนวนมาก อยากทราบว่าทางรัฐบาลมีกลไกในการรับฟังความเห็นของประชาชนอย่างเป็นระบบอย่างไรบ้าง เพราะสิ่งที่ประชาชนออกมาพูดในวันนี้ คือความรู้สึกที่เสียงของเขาไปไม่ถึงรัฐบาล คำถามคือแล้วนายกฯ จะตอบรับเรื่องเหล่านี้อย่างไร
พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า ที่ผ่านมาได้ติดตามข่าวสารและข้อเรียกร้องจากผู้ชุมนุมอยู่ตลอดและกำลังพิจารณาที่จะเปิดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มนักศึกษา
“ผมก็เปิดดูเฟซบุ๊ก ว่างก็เปิด ถ้าไม่เปิดก็มีคนสรุปมาให้ดู คือเราก็ต้องมาคิดกัน เราอยู่วันนี้อยู่เพื่อใคร เพื่ออำนาจหรอ ไปตรวจสอบมาได้เลยถ้าคิดว่านายกฯ มีเรื่องผลประโยชน์” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อถามว่า จะมีสักวันหนึ่งไหมที่นายกฯ ออกไปคุยกับนักศึกษาที่ชุมนุมโดยตรงเพื่อแสดงถึงความจริงใจ และรับฟังความเห็นจากคนรุ่นใหม่จริงๆ
พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า กำลังหาช่องทางในเรื่องนี้ และจะนำเรื่องที่เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้ง
“ผมก็รู้สามอย่างคือ ยุบสภา ลาออกเลือกตั้งใหม่ แก้รัฐธรรมนูญ ถามว่า มันไปถึงเด็กมัธยมได้ยังไง ทำไมต้องไปถึงเด็กมัธยมด้วย มันมีกลไกกระบวนการอยู่ตรงนี้ ทุกคนก็รู้อยู่ แต่ผมไม่ได้ทำอะไรเขา ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือผมกลัวคนจะตีกันอีก แล้วสิ่งที่ไม่ต้องการมันจะเกิดขึ้นรึเปล่า ก็ไม่รู้ว่าจะตีกันทั้งประเทศ แล้วจะทำยังไง จะมีวิธีการยังไง จะมีวิธีการอื่น ผมแก้มาครั้งนึงแล้ว ผมคงไม่ไปทำอะไรแบบนั้นได้อีกแล้ว” นายกฯ ระบุ
มีการพูดคุยถึงข้อเสนอในห้องประชุมว่า ถ้ามองไปดูตัวอย่างที่รัฐบาลไต้หวัน ซึ่งได้รับการยอมรับจากนานาชาติว่าใช้แพลตฟอร์มดิจิทัลมาสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลไทยมีแนวคิดจะทำอะไรแบบนี้บ้างไหม โดยนายกฯ ตอบว่า ตอนนี้เรื่องแพลตฟอร์มกำลังเร่งทำ ทั้งเรื่องการค้าการลงทุน และสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำข้อมูลในเรื่องนี้ให้เสร็จภายใน 3 เดือน โดยยอมรับว่าที่ผ่านมารัฐบาลมีปัญหาเรื่องการสื่อสารข้อมูลต่างๆ สู่สาธารณะ จึงเห็นด้วยว่าต้องมีการแก้ไขในเรื่องนี้
อย่างไรก็ตาม The MATTER ได้ถาม พล.อ.ประยุทธ์ ต่อไปอีกว่า คนรุ่นใหม่ๆ ที่ออกมาชุมนุมในวันนี้ เขารู้สึกว่าเขาไม่เคยมีส่วนในการกำหนดอนาคตของตัวเอง เขาอยากมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคต เช่นการเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่นความรู้สึกว่าการมี ส.ว.ที่ทำให้เขาไม่สามารถเลือกรัฐบาลของตัวเองได้ นายกฯ จะดำเนินการอย่างไรกับเรื่องนี้
พล.อ.ประยุทธ์ บอกว่า ถึงแม้ว่า ส.ว.มีอำนาจเลือกนายกฯ ก็ตาม แต่เท่าที่ได้รับฟังคำชี้แจงมาจากคณะกรรมาธิการก็คือ ประเด็นเรื่องอำนาจ ส.ว.นี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจจะมีปัญหาเรื่องการเลือกนายกฯ ขึ้นมาเท่านั้น
The MATTER ถามว่า ตอนนี้คนรุ่นใหม่อยากจะแก้ไขยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อที่จะมีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตของตัวเอง เมื่อเป็นแบบนี้ รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรบ้างกับข้อเสนอนี้บ้าง
พล.อ.ประยุทธ์ ตอบว่า เรื่องยุทธศาสตร์ชาติสามารถแก้ไขทุก 5 ปี แล้วระหว่างนี้ก็แก้ได้ทั้งปี โดยเรื่องพวกนี้อยู่ในรัฐธรรมนูญ
เมื่อพูดถึงเรื่องของคนรุ่นใหม่และการกำหนดอนาคตของตัวเอง นายกฯ บอกว่า ต้องถามว่า รัฐบาลได้วางอนาคตและวางยุทธศาสตร์เอาไว้ให้ เพื่อให้ประเทศเดินหน้าได้ต่อเนื่อง
“ถ้าคนรุ่นใหม่อยากได้อะไร ต้องถามว่า ที่ผ่านมาคนรุ่นใหม่ได้อะไรไปแล้วบ้าง ไม่ได้อะไรเลยรึเปล่า อย่าลืมนะว่า คนรุ่นก่อนหน้านี้เคยมีอย่างนี้ไหม บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ไหม ไม่เป็นนะ เคยมีการพัฒนามาตามลำดับใช่ไหม คนรุ่นเก่าทำรึเปล่า
“ตอนนี้คนรุ่นใหม่ก็ต้องทำต่อใช่ไหม แต่เราวางอนาคตให้ วางยุทธศาสตร์เอาไว้ให้ คุณก็ทำตามนี้ไป ต้องทำงานให้ต่อเนื่อง ให้มันเชื่อมโยง ให้ตอบคำถามได้ในอนาคต เพราะฉะนั้น สิ่งเหล่านี้บังคับใครไม่ได้ แต่นายกฯ ชี้นำแนวทางปฏิบัติให้ได้ เพื่อให้ทุกคนเข้าสู่กระบวนการที่รัฐบาลทำ เพราะถ้าทุกคนไปคนละทาง มันหาวิธีการปฏิบัติไม่ได้” นายกฯ กล่าว
นายกฯ ได้พูดถึงเรื่องนิยามของคนรุ่นใหม่ว่า ไม่สามารถกำหนดนิยามให้ได้ ทุกคนต้องกำหนดตัวเอง แต่เดิมเคยมีคำว่า เด็กคืออนาคตของชาติ เป็นเยาวชน แต่ตอนนี้มีปัญหาระหว่างคนรุ่นใหม่ คนรุ่นเก่า ก็เลยกลายเป็นสิ่งที่ต้องมาคิดกันว่าจะหาวิธีที่จะทำงานร่วมกันได้อย่างไรบ้าง
หนึ่งในประเด็นที่ The MATTER หยิบมาพูดคุยเพิ่มเติมคือเรื่องการปฏิรูปการศึกษา เพราะวัยรุ่นจำนวนไม่น้อยเห็นว่า การศึกษาที่ผ่านมามันทำให้พวกเขารู้สึกว่าต้องท่องจำ ขาดความคิดสร้างสรรค์ ไม่สามารถค้นพบว่า ตัวเองต้องการอะไร เป็นไปได้ไหมที่เราจะมีกระบวนการหรือกลไกเกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษาที่เป็นไปตามเทรนด์ของโลกในวันนี้ ทั้งการลดจำนวนการสอบลง ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ที่เรียนรู้จริงๆ มากกว่าการเรียนรู้เพื่อไปสอบเพียงอย่างเดียว เมื่อปัญหาเป็นเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐบาลควรหยิบไปแก้ไขต่อไป
นายกฯ ตอบว่า ทำเรื่องปฏิรูปการศึกษามาแล้ว 5 ปี แต่ต้องยอมรับว่า เรื่องนี้ต้องปฏิรูปทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นครู โรงเรียน บุคลากร และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงต้องใช้เวลาให้ครูทุกคนได้ปรับตัวด้วย ขณะเดียวกันก็ได้ระบุถึงเรื่องที่เด็กไทยเรียนจบไปแล้วแต่ไม่มีงานทำว่า
“เด็กรุ่นใหม่ต้องคิดอย่างนี้ วันนี้การศึกษามีงานทำได้ครบไหม ไม่ครบ เพราะอะไร เพราะผู้ประกอบการเราก็มีแค่นี้ แล้ววันหน้าปัญหาเทคโนโลยีเข้ามาอีก ลดคนอีก แล้วสาขาที่มีเป็นร้อยๆ สาขา มันมีงานรองรับไหม ต้องสอนเด็กรุ่นใหม่ ต้องเรียนในสาขาที่ไม่ตกงาน”
ข้อสังเกตจากการพูดคุย
-ยังไม่มีความชัดเจนว่า นายกฯ ตอบรับข้อเสนอของผู้ชุมนุมไหม จากการพูดคุยกันครั้งนี้ มีเพียงการบอกว่าจะมีกระบวนการรับฟังความเห็น
-ประเด็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามข้อเสนอของผู้ชุมนุมนั้น นายกฯ ก็ตอบว่า เนื้อหาบางอย่างเช่นเรื่องที่มาและอำนาจของ ส.ว.นั้นมีความจำเป็นบางอย่างอยู่ ซึ่งก็ไม่มีการตอบรับว่าจะแก้หรือไม่แก้ไขในเรื่องนี้ รวมถึงกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
-ถึงแม้ นายกฯ จะยืนยันว่ายุทธศาสตร์ชาตินั้นแก้ไขได้ แต่ที่ผ่านมามีข้อสังเกตมากมายทั้งจากนักวิชาการและสื่อมวลชนว่า ยุทธศาสตร์ชาติที่ร่างออกมานี้แก้ไขได้ยากมาก เช่น กระบวนการที่ต้องผ่าน ‘คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงต้องผ่าน ส.ว. ที่แต่งตั้งขึ้นมาจาก คสช. ด้วย