นี่คือบทความที่พิมพ์ด้วยมือทั้งสองข้าง
พอเจอการท้าทายให้เขียนลายมือลงเฟซบุ๊กตอนนี้ก็สนุกใหญ่ แบบว่าโตแล้ว ไม่ค่อยได้เขียน นานๆ ได้เขียนโชว์ลงโซเชียลบ้างก็สนุกดี
เรื่องลายมือว่าไปแล้ว ถ้าเป็นตอนเด็กๆ นี่ก็เป็นอย่างนึงที่แอบน่าเบื่อ และเป็นเรื่องของการ ‘บังคับ’ ในหลายๆ ระดับเหมือนกันเนอะ ทั้งโดนครูบังคับให้คัด และเราเองก็ต้องบังคับร่างกาย บังคับมือ ลากปากกาไปตามเส้นประ
ลายมือและการคัดลายมืออันเป็นกระบวนการฝึกหัดสำคัญลำดับต้นๆ ในโรงเรียนจึงเกี่ยวข้องกับการปลูกฝังวินัยและกระบวนการสั่งสอนทางสังคม ในทางทฤษฎีเป็นการ ‘ควบคุม’ คน ในระดับ ‘ร่างกาย’
ลาย (นิ้ว) มือ กับร่องรอยของตัวเรา
ลายมือเขียน มันก็ทำหน้าที่เหมือนคล้ายๆ ลายมือที่อยู่บนฝ่ามือเราเหมือนกัน เพราะลายมือมันเป็นสิ่งเฉพาะตัว แบบที่เรามองแล้วก็รู้ได้ว่าลายมือแบบนี้ของนายคนนั้นแน่ๆ เท่ดีที่ลายมือเขียนกับลายบนฝ่ามือหรือนิ้วชี้ สามารถเอามาใช้เพื่อบ่งชี้ความแตกต่างของแต่ละบุคคลได้ ซึ่งมันก็ต่างกันนิดหน่อย เพราะลายมือบนร่างกายเป็นเหมือนร่องรอยทางชีวภาพที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิด แต่ลายมือเขียนนั้นเป็นร่องรอยของตัวเราที่ถูกหล่อหลอมขึ้นจากสังคม
แม้แต่ฝาแฝดที่มียีนส์เหมือนกันแต่ก็จะเขียนลายมือไม่เหมือนกัน ลายมือคนเราทำหน้าที่เหมือนลายนิ้วมือคือ เราอาจจะลอกเลียนลายมือได้ แต่เราจะไม่มีวันที่เขียนออกมาด้วยวิธีเดียวกันได้เลย ลักษณะของการเขียนที่มันเป็นลักษณะเฉพาะก็อย่างเช่น ความคมเหลี่ยมมุมหรือความกลมมนของแต่ละตัวอักษร การเว้นช่องไฟ ความโค้ง แรงหนักเบาในการกดปากกาลงในกระดาษ ขนาดโดยเฉลี่ยของตัวอักษร ความหนาบาง ซึ่งทั้งหมดนี้ แต่ละคนต่างก็มีสไตล์ในการเขียนที่เฉพาะของตัวเอง
ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ
สำหรับลายมือเป็นเหมือนเครื่องบ่งบอกตัวตนที่เราได้มาจาก ‘สังคม’ ไม่ได้ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดซะทีเดียว ถ้าเราดูคู่ตรงข้ามแบบ Nature กับ Culture การเรียนรู้ที่จะอ่านเขียนก็เป็นประตูสำคัญที่มนุษย์จะได้รับการขัดเกลาเข้าสู่สังคม
ถ้าจะตัดสินกันอย่างผิวเผิน และด้วยความคิดที่โบราณนิดหนึ่ง ลายมือก็เป็นอย่างนึงที่เราจะดูแล้วรับรู้ได้ว่า คนๆ นี้มีภูมิหลังที่ดีแค่ไหน ในสมัยโบราณก็อย่างที่สุนทรภู่บอกว่า ลูกผู้ชายลายมือนั้นคือยศ ซึ่งก็คือลายมือมันเป็นสิ่งที่พอจะบอกได้ว่าคนๆ นั้นได้รับการ ‘ขัดเกลา’ มาดีแค่ไหน
สมัยก่อนโรงเรียนที่อยู่ในระดับแถวหน้านิดนึงจะมีการสอนเขียนตัวเขียนภาษาอังกฤษ เป็นวิชาที่พิเศษขึ้นมาอีก คือแค่นักเรียนมีความสามารถทางภาษาต่างประเทศได้ก็ถือว่าแถวหน้าแล้ว แต่นี่ยังสามารถเขียนอักษรเป็นตัวเขียนสวยงาม (ซึ่งก็ต้องมีหมึก มีปากกาประกอบไปอีก)
ลายมือกับวิชาของวินัย
คำว่า ‘ขัดเกลา’ ที่โยงกับการฝึกคัดลายมือ ให้ภาพกระบวนการของการศึกษาได้ดีใช้ได้ นึกภาพเด็กๆ ที่เป็นธรรมชาติมาเลย การเข้าสู่โรงเรียนมันคือก้าวแรกในการเข้าสู่ระบบสังคม สิ่งสำคัญที่เด็กๆ ต้องเรียนรู้คือการที่จะรู้จักควบคุมตนเอง
การคัดลายมือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการที่เด็กจะถูกฝึกหัดให้ควบคุมตนเอง การคัดลายมือมันเป็นการเรียนรู้แบบแผนและการควบคุมร่างกาย เด็กๆ จะต้องเรียนรู้ที่จะนั่งอยู่กับที่ ต้องควบคุมจัดระเบียบร่างกายทั้งการนั่ง การจับปากกา และการลากเส้นซ้ำไปซ้ำมา จากเส้นขยุกขยุย ก็ถูกบังคับให้ลากซ้ำไปซ้ำมาจนอยู่ในรูปในรอย
มิเชล ฟูโกต์ บอกว่า บทบาทสำคัญของโรงเรียน คือการที่เด็กๆ เรียนรู้ที่จะควบคุมตนเองด้วยการรับรู้ว่ามีอำนาจที่สูงกว่าคอยสอดส่องตรวจตราอยู่ตลอดเวลา ลักษณะดังกล่าวเรียกว่า panoptic อันเป็นนวัตกรรมการออกแบบที่เน้นการถูกจับจ้อง ซึ่งฟูโกต์บอกว่าตรงนี้แหละเป็นกระบวนการควบคุมของสังคมสมัยใหม่ คือเป็นการควบคุมในระดับร่างกายของเราเอง
บทบาทสำคัญของโรงเรียน คือการที่เด็กๆ เรียนรู้ที่จะควบคุมตนเองด้วยการรับรู้ว่ามีอำนาจที่สูงกว่าคอยสอดส่องตรวจตราอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้น การคัดลายมือในโรงเรียนจึงเป็นการที่เรารู้จักจะควบคุม รวมไปถึงถูกประเมินว่าเราได้ทำตามระบบและมีวินัยมากน้อยแค่ไหนโดยที่เราเองก็ไม่รู้ตัว เช่นว่า ถ้าเราเชื่อฟัง เราก็จะ ‘มีวินัย’ คือรู้จักควบคุมตัวเองให้ไปฝึกการเขียน ซึ่งการเขียนนี้เราลงมือทำเองโดยที่ไม่ต้องมีใครมาคอยเฝ้าให้เราทำ การควบคุมตนเองนี้เลยขยายวง จากแค่ในห้องเรียน เราก็ต้องควบคุมตัวเองแม้แต่ในห้องนอนด้วย เราเรียนรู้ที่จะมีระเบียบและมีวินัยแม้แต่ในพื้นที่ส่วนตัวของเราเอง ผลที่เราได้รับก็คือการยอมรับ หรือรางวัลเป็นสถานะที่ระบบนั้นมอบให้ เช่น คะแนนคัดสวย หรือคำชื่นชมที่มีนัยว่าเรามีวินัยและเป็นที่พึงปรารถนาในสังคมนั้น
จากลายมือที่เราเขียนอยู่กับมือ จากมุมมองของนักวิชาการที่เฝ้าสังเกตสังคมของเรานำไปสู่การควบคุมบงการสมาชิกในระดับที่ลึกซึ้ง ลายมือก็ดูจะเป็นกระบวนการของการฝึกวินัยและให้รางวัลที่เป็นรูปธรรมอย่างหนึ่งในโรงเรียน
ไม่ว่าเราจะลายมือสวยหรือไม่สวย แต่เราต่างก็อยู่ในการควบคุมหรือต้องควบคุมตนเองอยู่เสมอ