ในวันที่เทคโนโลยีอยู่ในมือของเรา แม้แต่การจดโน้ตเล็กๆ น้อยๆ ไปจนถึงพิมพ์อะไรยาวหลายหน้า ก็ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอย่างเลี่ยงไม่ได้ ตั้งแต่วัยทำงานไปจนถึงวัยเรียน ที่ตอนนี้ใช้แท็บเลตหรือคอมพิวเตอร์ส่วนตัวในชีวิตประจำวันแทบทั้งสิ้น ถ้าไม่นับจดข้าวร้านตามสั่ง นานแค่ไหนแล้วนะที่เราไม่ได้หยิบดินสอ ปากกา มาจดอะไรลงบนกระดาษด้วยมือเราเอง
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาของสวีเดน ได้ประกาศว่าในช่วง 5 ปีหลังนี้ ทักษะการอ่านระดับนานาชาติ (Progress in International Reading Literacy Study) โดยการวัดระดับนั้น มาจากความเข้าใจในการอ่านของเด็กอายุ 9-10 ปี ตกต่ำลง จากระดับสูงมาสู่ระดับกลาง แม้จะไม่ได้ตกต่ำเสียจนน่าเป็นห่วง แต่เมื่อเทียบกับมาตรฐานที่เคยได้ นั่นก็อาจไม่ใช่ผลที่น่าพอใจเท่าไหร่นัก เราเลยได้เห็นนโยบายลดการใช้อุปกรณ์ดิจิทัล เพื่อให้เด็กๆ ในโรงเรียนได้มีทักษะการอ่านที่ดีขึ้น
นโยบายนี้เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อยู่พอสมควร ว่าสิ่งนี้เหมือนจะโทษเทคโนโลยีมากเกินไปหรือเปล่า ข้อดีของมันก็มีนะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจึงแนะนำให้ใช้การเรียนการสอนแบบ hybrid ระหว่างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และตำราเรียนแทน
สอดคล้องกับงานวิจัยจาก Johns Hopkins University ที่แนะนำว่า การเขียนด้วยมือนั้นช่วยขัดเกลาทักษะการเคลื่อนไหวและสร้างทักษะอ่านเขียนได้เร็วกว่าและดีกว่าการพิมพ์หรือดูหน้าจอ โดยทำการทดลองในกลุ่มผู้ที่ไม่ได้พูดภาษาอาหรับ 42 คน สุ่มแบ่งออกเป็นผู้เรียน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเขียนด้วยมือ กลุ่มพิมพ์ และกลุ่มดูวิดีโอ
ในระยะแรกของการทดลอง ผู้เข้าร่วมแต่ละคนจะได้รับการสอนอักษรอารบิก ซึ่งมีตัวอักษร 28 ตัว โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้ตามกลุ่มที่แบ่งไว้ กลุ่มดูวิดีโอสามารถจดจำตัวอักษรทั้งหมดได้ แต่กลุ่มเขียนด้วยมือซึ่งใช้ปากกาและกระดาษจดระหว่างเรียนทำได้ดีกว่านั้น พวกเขาสามารถอยู่ในระดับเชี่ยวชาญหลังจากการเรียนเพียงสองคาบ และในการทดลองระยะสองที่มีความเข้มข้นของเนื้อหาในการเรียนมากขึ้น พวกเขาต้องสะกดและผสมคำใหม่ๆ แน่นอนว่ากลุ่มเขียนด้วยมือก็สามารถผ่านไปได้แบบสบายๆ
จากการทดลองช่วยให้เรามั่นใจขึ้นแล้วว่า หากเราได้จดอะไรด้วยมือ อ่านอะไรบนกระดาษหรือสิ่งที่จับต้องได้ จะช่วยให้เราจดจำและเรียนรู้ได้มากกว่า เหตุผลก็เป็นเพราะการจดด้วยมือช่วยกระตุ้นประสาทสัมผัส จากการเคลื่อนไหวที่มากกว่าการพิมพ์บนแป้นพิมพ์หรือหน้าจอ ใช้การรับรู้ของเราไปพร้อมๆ กัน
หากยังไม่เห็นภาพ สมมติว่าเราต้องบันทึกอะไรสักอย่างยาวๆ แล้วเราใช้การพิมพ์บนแท็บเล็ตหรือบนมือถือ แน่นอนว่ามันเร็วจี๋ทันใจแน่นอน เพราะแค่เพียงปลายนิ้วสัมผัส ตัวอักษรก็ขึ้นมาอย่างใจนึก ไม่เหมือนกับการเขียนที่เราต้องจับใจความและจดลงไป ยิ่งทำไปนานๆ เราก็พิมพ์เร็วปานสายฟ้า แม้ตาอยู่บนหน้าจอก็ยังทำได้ เพราะร่างกายจดจำลักษณะท่วงท่าการพิมพ์ ผ่าน Muscle Memory ไว้เรียบร้อยแล้ว แต่นั่นอาจทำให้เราพิมพ์ไปด้วยความเคยชิน เก็บหมดทุกคำ แต่คำที่จำกลับไม่ได้มากเท่าการจด
การที่เราพิมพ์ตามทั้งหมดไม่ได้ มันทำให้เราประมวลผลว่าอะไรสำคัญหรือไม่สำคัญ เมื่อเราส่งสัญญาณไปที่สมองด้วยการบอกกับตัวเองว่าสิ่งนี้สำคัญนะ สมองอันชาญฉลาดจะตัดเนื้อหาที่ไม่จำเป็นออกจากความทรงจำของเราไป พอต้องจดด้วยมือ เราไม่อาจจดได้เร็วเท่าสิ่งที่ฟัง เลยต้องประหยัดพื้นที่ในหัวด้วยการสรุปคร่าวๆ จับใจความแล้วจึงจดลงไป ซึ่งสิ่งนี้แหละที่ทำให้การจดด้วยมือมีแต้มต่อมากกว่า นอกจากเรื่องของการจดจำอะไรได้ดีกว่าแล้ว ยังช่วยให้เรามีสมาธิมากขึ้นอีกด้วย
แต่ก็ใช่ว่าการพิมพ์จะแย่ไปเสียทั้งหมด ในช่วงเวลาเร่งด่วนที่จำเป็นต้องใช้จริงๆ หากจะให้ควานหาปากกากระดาษขึ้นมาจดก็คงไม่ทันใจ การพิมพ์ก็ยังมีข้อดีในเรื่องของความรวดเร็วดั่งใจ สำรองข้อมูลได้ง่ายไม่มีหายเหมือนกระดาษ ที่อาจหลงอยู่ในกระเป๋ากางเกง แล้วไปเละในเครื่องซักผ้า แถมยังอ่านออกแน่นอนไม่ต้องลุ้นเหมือนลายมือที่จดตอนรีบๆ ตอนนี้เข้าใจ แต่พอมาอ่านทีหลังแล้วก็ต้องเกาหัวว่าเราจดอะไรมากันนะ
แต่ละวิธีต่างก็มีช่วงเวลาที่เหมาะสมเป็นของตัวเอง เพียงแค่เราเลือกใช้ให้ถูกที่ถูกเวลา แค่นี้ก็สามารถช่วยให้การจดในครั้งนั้นบรรลุจุดประสงค์ของมันไปได้
อ้างอิงจาก