ภาพการชุมนุมรวมตัวของนิสิตนักศึกษาภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคอนาคตใหม่ เป็นปรากฏการณ์ที่สร้างความประหลาดใจให้หลายคนที่เคยปรามาสเด็กๆ ยุคนี้ไว้ว่า พวกเขามักจะเคลื่อนไหวและแสดงพลังผ่านแฮชแท็กบนโลกออนไลน์เท่านั้น
หากเราย้อนกลับไปดูการแสดงพลังทางการเมืองของภาคประชาชน โดยเฉพาะการรวมตัวของกลุ่มนิสิตนักศึกษาที่ผ่านมาจะพบว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นบนหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยมานานหลายทศวรรษแล้ว ในห้วงช่วงเวลาความขัดแย้งที่ผ่านมาตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ.2535 จนมาถึง ‘ม็อบเหลือง’ ‘ม็อบแดง’ หรือ ‘ม็อบนกหวีด’ ล้วนเห็นได้ชัดว่า กลุ่มผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นวัยกลางคนมากกว่านิสิตนักศึกษา
กระทั่งภายหลังการยุบพรรคอนาคตใหม่ ตามสถานศึกษาก็เริ่มมีการนัดรวมตัวชุมนุมผ่านแฮชแท็กในแพลตฟอร์มออนไลน์ ซึ่งถ้านับคร่าวๆ ตอนนี้มีมหาวิทยาลัยที่ประกาศตัวชุมนุมแล้วประมาณ 20 แห่งด้วยกัน จึงไม่น่าแปลกใจว่า ทำไมปรากฏการณ์เช่นนี้ได้รับความสนใจจากสังคมค่อนข้างมาก
เพราะตลอดหลายสิบปีที่ผ่านในช่วงเวลาที่สังคมเกิดวิกฤต นักวิชาการหรือนักเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนเคยออกมาแสดงความเห็นทำนองว่า หากจะหวังให้นักศึกษาเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนหรือเรียกร้องเหมือนในยุค 14 ตุลา หรือ 6 ตุลานั้น โอกาสแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย สถานการณ์ในวันนี้จึงสร้างความประหลาดใจและเกินความคาดหมายของสังคมไปมาก
ทำไม ‘พื้นที่ทางการเมืองในมหาวิทยาลัย’ ถึงสำคัญ?
หลายครั้งที่บุคลากรมหาวิทยาลัยหรือนักศึกษาออกมาแสดงความเห็นทางการเมือง ทั้งในรูปแบบเวทีเสวนาวิชาการ การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หรือการนัดชุมนุมแฟลชม็อบก็มักจะถูกห้ามปรามด้วยลักษณะที่ว่า มหาวิทยาลัยควรวางตัวเป็นกลางทางการเมือง มากกว่าเลือกฝักใฝ่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งออกนอกหน้า
อ.สมชาย ปรีชาศิลปกุล คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ว่า ต้องย้อนกลับไปทำความเข้าใจถึงคำว่า ‘เป็นกลาง’ ก่อนว่า ความหมายหรือจุดยืนของคำคำนี้คืออะไร หรือจริงๆ แล้วความเป็นกลางอาจจะไม่ได้สำคัญเท่ากับการเป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพในการแสดงออกของบุคลากรและนักศึกษาหรือไม่
เพราะหากเราลองทำความเข้าใจกับวัตถุประสงค์ในการเกิดขึ้นของสถานศึกษาแล้วจะพบว่า สถานศึกษาตั้งอยู่บนพื้นฐานของของการถ่ายทอดความรู้ รวมถึงการบริการวิชาการแก่สังคม เจตนารมณ์สูงสุดของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยคือ การสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนและเรียนรู้ให้กับนักศึกษา ฉะนั้นการออกมาแสดงความเห็นหรือส่งเสียงเพื่อสังคมในพื้นที่มหาวิทยาลัยจึงไม่อาจสรุปได้ว่า เป็นการกระทำที่ไม่เป็นกลาง และถึงที่สุดแล้วมหาวิทยาลัยก็ไม่จำเป็นต้องเป็นกลางด้วยเหมือนกัน
ถ้าเราลองกลับไปดูความพยายามในการแสดงความเห็นทางการเมืองในช่วงเวลาที่ผ่านมาจะพบว่า ในยุครัฐบาลคสช. ระหว่างปี พ.ศ.2557 – 2562 แทบทุกมหาวิทยาลัยที่มีการจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการจะโดนข่มขู่คุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐมาโดยตลอด ซึ่งรัฐก็มักจะให้เหตุผลว่า เนื้อหาที่นำเสนออาจนำไปสู่ความขัดแย้งได้
เสรีภาพที่ถูกบีบอัดลดทอนมาเรื่อยๆ มีส่วนทำให้นิสิตนักศึกษาหลายคนไม่กล้าแสดงความเห็นทางวิชาการที่ถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่นักศึกษาและนักวิชาการทุกคนพึงมี นักวิชาการหลายคนยังมองด้วยว่า การสร้างวัฒนธรรมความกลัวแบบนี้ทำให้นักศึกษาไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ว่าด้วยการมีเสรีภาพทางวิชาการได้ ทั้งที่ในความเป็นจริง เสรีภาพตรงนี้คือ หัวใจสำคัญในการผลิตนักศึกษาด้วยซ้ำ
ในขณะที่ อ.เอกรินทร์ ต่วนสิริ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เคยให้ความเห็นเกี่ยวกับบทบาทของมหาวิทยาลัยและบุคลากรไว้ว่า ท่ามกลางสถานการณ์ทางการเมืองที่มีความขัดแย้ง มหาวิทยาลัยควรมีบทบาทในการเป็นพื้นที่ส่วนกลางหรือพื้นที่สาธารณะในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และไม่ควรมีท่าทีเลือกข้างเพื่อนำไปไปสู่ความขัดแย้งเสียเอง
สำหรับการชุมนุมแฟลชม็อบที่เกิดขึ้นในตอนนี้ แม้จะมีชนวนเหตุจากการยุบพรรคอนาคตใหม่ แต่ถ้าเข้าไปสำรวจหัวใจสำคัญในการออกมาร่วมชุมนุมครั้งนี้จะพบว่า มีที่มาจากความไม่พอใจกับวิธีการทำงานของรัฐบาล รวมถึงองค์กรอิสระที่ไม่ได้ลอยตัวเหนือการควบคุมจากรัฐหรือชนชั้นนำจริงๆ
น่าสนใจว่า พื้นที่สถานศึกษาทั้งโรงเรียนและมหาวิทยาลัยไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อบังคับพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะพุทธศักราช 2558 ซึ่งมีการระบุไว้ในมาตรา 3 ว่า พระราชบัญญัตินี้ไม่ใช้บังคับแก่การชุมนุมสาธารณะ ทำให้การชุมนุมแฟลชม็อบของแต่ละมหาวิทยาลัยที่ผ่านมาค่อนข้างมีความอิสระมากกว่าช่วงรัฐบาลคสช. แม้ว่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามาดูแลความสงบเรียบร้อยอยู่บ้างก็ตาม ซึ่งในมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งยังมีคณาจารย์เข้าร่วมชุมนุมและถือป้ายด้วย
แฟลชม็อบจะนำไปสู่ ‘ขบวนการนิสิตนักศึกษา’ ได้ไหม?
ในช่วงเวลาที่เกิดแฟลชม็อบตามมหาวิทยาลัยทั่วประเทศมากมาย และขณะนี้ยังมีโรงเรียนมัธยมหลายแห่งรวมตัวจัดกิจกรรมแฟลชม็อบจึงนำไปสู่การตั้งคำถามจากสังคมว่า การชุมนุมในลักษณะนี้จะนำไปสู่การเกิดขึ้นของขบวนการนักศึกษาอย่างที่เคยปรากฏขึ้นในอดีตได้มั้ย
งานวิจัยของ ชยุตม์ พันธุ์สุวรรณ อธิบายการเกิดขึ้นของขบวนการนักศึกษาระหว่างพ.ศ.2549 – 2557 ไว้ว่า การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาเกี่ยวข้องกับตัวแปรหลักๆ สองข้อ คือ ขบวนการนักศึกษาจะเริ่มเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้นก็ต่อเมื่อระดับความเข้มข้นของสถานการณ์ทางการเมืองในตอนนั้นมีอุณหภูมิไม่คงที่ ซึ่งก่อนหน้าที่นักศึกษาจะตัดสินใจเคลื่อนไหวแต่ละครั้งก็ขึ้นอยู่กับท่าทีของรัฐบาล รวมถึงการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนด้วย ถ้าภาคประชาชนเคลื่อนไหวก่อน ขบวนการนักศึกษาก็จะเริ่มมีความรู้สึกเอนเอียงไปในทิศทางเดียวกัน
ประการที่สองคือ การเคลื่อนไหวในช่วงปีที่ชยุตม์ทำการศึกษาพบว่า นักศึกษามักจะมีการเคลื่อนไหวที่ยึดโยงกับขบวนการของภาคประชาชน ที่มีการจัดรูปแบบการเคลื่อนไหวในลักษณะแบ่งขั้ว ซึ่งการเคลื่อนไหวแบบนี้ทำให้ความแข็งแรงของขบวนการนักศึกษาเปราะบางและไร้พลังมากๆ
แต่จุดเด่นและข้อสังเกตของขบวนการนักศึกษาที่เกิดขึ้นหรืออาจจะเกิดขึ้นต่อไปคือ ตัวแปรด้านความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการสื่อสารแบบใหม่ที่เติบโตมาพร้อมกับขบวนการนักศึกษาอย่างทวิตเตอร์ และ เฟซบุ๊ก ที่จะทำให้คนรุ่นใหม่ได้เปรียบกว่าขบวนการอื่นๆ ตั้งแต่การประชาสัมพันธ์ไปจนถึงการเคลื่อนไหวแบบกลุ่มออนไลน์ ซึ่งเครื่องมือแบบนี้มีส่วนทำให้การเคลื่อนไหวของขบวนการนักศึกษาในทศวรรษนี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก
ชยุตม์สรุปไว้อย่างน่าสนใจว่า เขามองว่าขบวนการนักศึกษาไม่ได้หายไปไหน แม้ไม่ได้เคลื่อนไหวในมิติทางการเมืองระดับมหภาค แต่ขบวนการนักศึกษาในทศวรรษนี้เลือกที่จะเมีบทบาทในประเด็นยิบย่อยลงรายละเอียดที่ลุ่มลึกขึ้น ซึ่งกลุ่มนักศึกษาอาจจะต้องรอความพร้อมและบริบทที่เหมาะสมในการก้าวขึ้นมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง
เหมือนกับที่ อ.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์การเมืองไทยเคยให้ความเห็นไว้ว่า มีสัญญาณและโอกาสที่ขบวนการนักศึกษาจะเดินไปถึงเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่ไม่สามารถคาดคะเนได้ว่าจะเป็นเวลาไหนและเมื่อไหร่
การรวมตัวของปัญญาชนในรั้วมหาวิทยาลัยครั้งนี้กลายเป็นความหวังสำหรับใครหลายๆ คนที่กำลังกล้าๆ กลัวๆ กับการแสดงออกในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า นิสิตนักศึกษาปัญญาชนยังคงเป็นหัวหอกในการเคลื่อนไหว เป็นเหมือนก้านไม้ขีดที่ช่วยจุดไฟแห่งความหวังให้กับสถานการณ์ตอนนี้ได้จริงๆ