(1)
ตอนครบรอบ 40 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ผมจำได้ว่ามีโอกาสไปนั่งคุยกับ อ.อนุช อาภาภิรมย์ หนึ่งในปัญญาชนหัวก้าวหน้า ‘อินฟลูเอนเซอร์’ ของนักศึกษายุค 14 ตุลาฯ ลงในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ช่วงก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ นั้น อนุช เป็นบรรณาธิการหนังสือชัยพฤกษ์ และชัยพฤกษ์วิทยาศาสตร์ เจ้าของพื้นที่ให้นักศึกษา–ปัญญาชน สามารถแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิด และสร้างอุดมการณ์ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง เฉกเช่นเดียวกับที่ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นบรรณาธิการผู้ก่อตั้งวารสารสังคมศาสตร์ปริทัศน์ อีกหนึ่ง ‘สำนัก’ ที่นำการเปลี่ยนแปลงทางความคิด จนสร้างขบวนการนักศึกษาให้เติบโตได้
อนุชให้นิยามว่า 14 ตุลาคม พ.ศ.2516 ไม่ใช่เรื่องเฉพาะในไทยอย่างเดียว แต่เป็น ‘ผลพวง’ จากการเคลื่อนไหวในสหรัฐอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องสิทธิของคนผิวดำในอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นการเคลื่อนไหวต่อต้านสงครามเวียดนาม และขบวนการนักศึกษาปัญญาชน ที่สร้างอุดมการณ์ ‘ซ้ายใหม่’ หรือ New Left ขึ้น
แน่นอน หนึ่งในตัวกลางที่ถ่ายทอด ‘ความเปลี่ยนแปลง’ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็คือ ‘ชัยพฤกษ์’ ของอนุช และสังคมศาสตร์ปริทัศน์ของสุลักษณ์ ที่ทั้งแปลบทความว่าด้วยการต่อสู้จากต่างประเทศ และเปิดพื้นที่ให้นักเขียนไทยประชันแนวความคิด
ในเวลานั้น เป็นยุคเบ่งบานของสิทธิเสรีภาพ นักศึกษากำลังเบื่อหน่ายเต็มที่กับสังคมอภิสิทธิ์ชน จอมพลถนอม กิตติขจร ดำรงตำแหน่งมาแล้วติดต่อกัน 8 ปี พยายามเป็นนายกฯ จากการเลือกตั้งแล้ว ก็ยังรัฐประหารตัวเองซ้ำอีก เผด็จการ เหมือนจะคงอยู่ตลอดไป จากระบอบสฤษดิ์–ถนอมดำรงอยู่มาตลอด 14–15 ปี มีการร่างรัฐธรรมนูญก็จริง แต่ไม่เคยเสร็จสิ้น และเมื่อเกิดเหตุเฮลิคอปเตอร์ทหารตกที่ทุ่งใหญ่นเรศวรพร้อมซาก ‘กระทิง’ จำนวนมากช่วงสิ้นเดือนเมษายน ความอดทนของนักศึกษาก็ถึงขีดสุด
ปัญหาของถนอมก็คือ ไม่คิดว่านักเรียน–นักศึกษาในไทย จะเป็นพิษเป็นภัยกับระบอบอำนาจนิยมอันมั่นคง การปกครองประเทศต่อเนื่องยาวนาน น่าจะคุมระบบราชการได้เบ็ดเสร็จ กองทัพเองก็ไม่น่าจะมีแรงกระเพื่อม นักการเมืองเวลานั้นอาจมีพิษมีภัยบ้าง แต่การที่ไทยไม่เคยมีระบบรัฐสภาจากการเลือกตั้งยาวนานตั้งแต่ 30 ปีก่อนหน้านั้น ก็ทำให้ผู้แทนราษฎรไม่เคยมีสิทธิ์มีเสียงอะไรอยู่แล้ว
นั่นจึงทำให้เด็กรุ่นใหม่ในยุคนั้น ซึ่งไม่เคยได้อะไรเลยจากการปกครอง ‘ระบอบจอมพล’ ต้องออกมาต่อสู้ แม้จะจบลงด้วยโศกนาฏกรรม จากการ ‘หักหลัง’ กันเองของบรรดาขุนทหาร จนทำให้ระบอบ ถนอม–ประภาส สิ้นสุดลง ในความเห็นของอนุช แม้ผลลัพธ์ของ 14 ตุลาฯ จะไม่ได้สร้างอะไรใหม่เลยก็ตามที แต่ก็เป็นบททดสอบว่า ‘คนรุ่นใหม่’ นั้น มีพลัง สามารถล้มในสิ่งที่ไม่มีใครคิดว่าเป็นไปไม่ได้จนสำเร็จ และเป็น ‘ครึ่งทาง’ ของ ปี พ.ศ.2475 ที่ทำให้การเมืองไทย ไม่ ‘ไปไกล’ สามารถจบยุคทองของบรรดาจอมพลลงได้ ไม่กลายเป็นเผด็จการเบ็ดเสร็จ
ถ้านับ พ.ศ.2475 เป็นต้นทาง พ.ศ.2516 เป็นครึ่งทาง
ก็ถึงเวลาแล้ว
ที่สังคมไทยจะถึง ‘จุดเปลี่ยน’ อีกครั้ง
อาจดีขึ้น หรือเลวลงก็ได้..
(2)
ตอนผมเด็กๆ หรือแม้กระทั่งเป็นช่วงที่เป็นนักศึกษา มักจะมีคนบอกว่านักศึกษายุคนี้ ไม่สนใจเรื่องบ้านเมือง ไม่สนใจเรื่องการเมืองอีกต่อไป พลังของนักศึกษายุค 14 ตุลาฯ ยุคพฤษภาฯ พ.ศ.2535 น่าจะตายหมดแล้ว..
ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย การชุมนุมของคนเสื้อแดง หรือการชุมนุมของกปปส. นักศึกษาก็ไม่ได้เป็นตัวหลัก เป็นเพียงแค่องก์ประกอบเพื่อให้โฆษกบนเวทีประกาศว่ามีผู้ชุมนุมที่หลากหลายกลุ่มรวมตัวกันเท่านั้น
เป็นต้นว่า หากมีนักศึกษามาร่วมด้วย โฆษกบนเวทีก็จะโห่ร้อง ดีใจ แล้วก็ตบมือให้ ไม่ได้มีอะไรมากกว่านั้น และไม่อาจเป็นตัวนำหลักได้ใน ‘ม็อบ’ ที่มีกลุ่มการเมืองอยู่เบื้องหลัง ซึ่งอาจมีแกนนำบางคนไป ‘ดีล’ กับทหาร ‘ดีล’ กับนักการเมืองไว้ เพื่อหาทางลง นักศึกษา จึงไม่อาจมีส่วนร่วมในสมการนี้
ขณะเดียวกัน ม็อบที่เริ่มด้วยนักศึกษาคือตั้งแต่ยุค 14 ตุลาฯ นั้น ก็จบลงด้วยเหตุการณ์สังหารหมู่วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 หลายคนเสียชีวิต หลายคนต้องหนีเข้าป่า และสร้างความสิ้นหวังให้ติดในใจคนเจเนอเรชั่นนั้น ซึ่งรู้สึกว่า ‘การเมือง’ ไม่ใช่พื้นที่ของนักศึกษาอีกต่อไป ต่อเนื่องมาอีกหลายสิบปี
ผลลัพธ์ก็คือ ยิ่งนานวันเข้า การเมืองระดับชาติยิ่ง ‘ตัดขาด’ นักเรียน นักศึกษาออกชัดเจน การเมืองเป็นเรื่องของการต่อสู้เพื่อแย่งชิงอำนาจ สิ่งที่เด็กๆ ทำได้ก็คือ ก้มหน้าก้มตาเรียนต่อไปเพื่อจบออกมาทำงานแบบเดียวที่คนรุ่นก่อนหน้าทำ
(3)
ปัญหาก็คือ การเมืองในระยะ 6-7 ปีหลัง เริ่มส่งผลกระทบกับชีวิตของคนรุ่นใหม่ ไม่ใช่แต่เรื่องสิทธิเสรีภาพเท่านั้น แต่เรื่องเศรษฐกิจ เรื่องความเหลื่อมล้ำ ก็ไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลง ซ้ำยังแย่ลง
เอาเข้าจริง ช่วงนี้ไม่ได้ต่างอะไรไปกับช่วงก่อน 14 ตุลาฯ เท่าไหร่ การเมืองยังเป็นระบบปิด สังคมไทยยังคงพูดกันเรื่อง ‘ระบบอำมาตย์’ ยังพูดเรื่องความไม่เท่าเทียมทางกฎหมาย และ ‘อภิสิทธิ์ชน’ เหมือนเมื่อเกือบ 50 ปีที่แล้ว ส่วนประชาชน ไม่ค่อยเกี่ยวเท่าไหร่ ยิ่งนักเรียนนักศึกษายิ่งไม่เกี่ยว
จะว่าเป็น ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ แบบที่ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผู้บัญชาการทหารบกพูดไว้ก็ได้ แต่เท่าที่ผมคุยกับคนรุ่นหลัง หลายคนเชื่อแบบนั้นจริงๆ ว่า การเมืองไทยเป็นไปเพื่อกำจัด ‘ฝ่ายตรงข้าม’ ออกให้ได้ ‘ผู้นำ’ ต้องเป็นคนที่ทหาร คนที่ฝั่งชนชั้นนำเห็นชอบเท่านั้น.. นั่นแปลว่าใครที่อยู่ตรงข้าม ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่ายเสื้อแดง แต่ถ้าอันตรายไป ก้าวหน้าเกินไป ก็ต้องเอาออกจากสารบบ
ด้วยระบบการเมืองที่ออกแบบมาเพื่อตัดขาดจากคนรุ่นใหม่แบบนี้ หลายปีที่ผ่านมา มีคนถามผมเยอะมากว่า จะ ‘ย้าย’ ไปทำมาหากินในต่างประเทศ ควรใช้ช่องทางไหน และมีวิธีไหนบ้างที่จะขอวีซ่าระยะยาวในประเทศที่เปิดรับอย่างออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เพราะรู้สึก ‘สิ้นหวัง’ มากขึ้นเรื่อยๆ
เพราะการเมืองแบบนี้ ไม่ต้องเป็นนักข่าว ไม่ต้องเป็นกรรมการร่างรัฐธรรมนูญก็ดูออกว่า นอกจากจะไม่พาเราไปไกลแล้ว จะไม่สามารถกำจัดฝั่งตรงข้ามได้เด็ดขาด และในที่สุด ถ้ายังสาละวนกับการกำจัดฝั่งตรงข้าม ไม่เปิดพื้นที่ให้อีกฝั่งมีปากมีเสียง
ความขัดแย้ง
ก็จะกลับมาตรงจุดเดิมอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน มาตรฐานใหม่ของการชุมนุม ก็ไม่ใช่เรื่องที่จะจบลงง่ายแบบการอาศัย ‘จำนวนคน’ แล้วจะสำเร็จเหมือนเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ การชุมนุมสองครั้งหลังสุด จบไม่สวยเท่าไรนัก การชุมนุมของคนเสื้อแดง จบลงที่การสลายการชุมนุม โดยที่ผ่านมา 10 กว่าปี ก็ยังเอาผิดใครไม่ได้ ส่วนการชุมนุมของกปปส.นั้น ก็ต้องใช้เวลาการชุมนุมลากยาว 6–7 เดือน จนเหตุการณ์ตกผลึกพอที่จะทำ ‘รัฐประหาร’ ได้
เพราะฉะนั้น วันที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประกาศว่าจะพาพรรคอนาคตใหม่ หาข้อตกลงใหม่ผ่านระบบรัฐสภา มากกว่าจะไป ‘ลงถนน’ อีกรอบ เด็กรุ่นหลังเลยตื่นตัวมาก หลายคนไปนั่งฟังการปราศรัยใหญ่ของพรรคด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ว่าเด็กรุ่นใหม่นั้นสนใจการเมืองไม่น้อย ไม่ได้ตัดขาดจากการเมือง เพียงแต่ก่อนหน้านี้ ไม่มีพรรคการเมืองอะไรที่ดึงดูดผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจำนวน 5–6 ล้านคนแบบนั้น ได้มากพอ
เพราะฉะนั้น อนาคตใหม่เลยประสบความสำเร็จมากกว่าภูมิใจไทย มากกว่าประชาธิปัตย์ และจนถึงวันนี้ ผมก็ไม่คิดว่าจะมีพรรคการเมืองไหน ที่จะได้คะแนนของคนกลุ่มนี้มากกว่าอนาคตใหม่ แม้จะถูกยุบไปหลายเดือนแล้ว
เพราะฉะนั้น ใครก็แล้วแต่ ที่อยู่เบื้องหลังการยุบอนาคตใหม่ ด้วยข้อหาแบบนั้น เพราะเห็นว่า ‘อันตราย’ มากไป ก็ต้องคำนวณไว้แล้วว่า จะเจอกับอะไร…
(4)
24 กรกฎาคมที่ผ่านมา ผมยืนฟังการชุมนุมของนักศึกษา ที่หน้าหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ท่ามกลางความกังวลตามประสาของคนที่ผ่านการชุมนุมมาก่อน
แน่นอน เป็นการชุมนุมของ ‘มือใหม่’ จำนวนมากเป็นเด็กมหา’ลัยปีต้นๆ จำนวนไม่น้อยเป็นเด็ก ‘ม.ปลาย’ ประเด็นก็แตกเป็นธรรมดา จุดมุ่งหมายที่วางไว้ 3 ข้อ จากเวทีใหญ่นั้น เวทีย่อยแบบนี้ไม่ได้แสดงจุดยืนอะไรได้มากนัก นอกจากเป็นพื้นที่ระบายความคับข้องใจ ผ่านป้ายเขียนมือ ผ่านเวที และผ่านผู้ปราศรัยที่ไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน…
ที่น่าสนใจก็คือ เพียงช่วงเวลาอาทิตย์เดียว มีการชุมนุมเกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดทั่วประเทศ แต่ละที่ แม้จะนัดกันไม่กี่วันล่วงหน้า แต่ดูจากสายตา จำนวนผู้ชุมนุมก็ไม่ได้น่าเกลียดเลย หลายเรื่องในประวัติศาสตร์ หลายเรื่องที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ คนรุ่นใหม่ไม่ต้องเรียนรู้ผ่านชัยพฤกษ์ ไม่ต้องเรียนรู้ผ่านสังคมศาสตร์ปริทัศน์อีกต่อไปแล้ว…
แต่โลกและบทเรียนประวัติศาสตร์
กว้างขวางกว่านั้นมาก
ช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา เพิ่งมีข่าวว่าอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีลูกชายผู้มีอันจะกิน ขับรถหรูชนตำรวจตายเมื่อหลายปีก่อน และตำรวจก็เห็นคล้อยตามอัยการ ซึ่งก็บังเอิญพอดีว่า หลายคดีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ซึ่งผู้ต้องหาเป็นชาวบ้าน เป็นเด็กนักศึกษาธรรมดา อัยการส่งฟ้องขึ้นศาลกันเป็นว่าเล่น และหลายคดี ศาลก็ตัดสินจำคุกไปเรียบร้อย
การชุมนุมยุคนี้ไม่ได้ง่ายเลย นอกจากเรื่องที่รัฐบอกว่าห่วงการระบาดของโรค COVID–19 ที่จะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ก็ได้แล้ว ยังมีเรื่องของคดีความ เรื่องของมือที่สาม และการถูกป้ายสีพลังนักศึกษาให้เป็น ‘อย่างอื่น’ ไม่นับรวมความถดถอยทางเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าตกต่ำมาก ก็จะกลายเป็นเรื่องที่สังคม ‘อ้อนวอน’ ให้ขบวนการนักศึกษาลดราวาศอก หยุดการชุมนุม โดยให้มองเรื่องปากท้องไว้ก่อน
เพราะฉะนั้น ม็อบ ‘มุ้งมิ้ง’ ที่โดนปรามาสไว้ จึงไม่ใช่เรื่องที่มองเห็นทางออกได้ง่าย การชุมนุมแบบนี้จะใช้เวลายาวนาน จะมีเรื่องท้าทายอีกมาก ที่บรรดานักศึกษา บรรดาคนรุ่นใหม่จะต้องเผชิญ ซึ่งถ้าไม่ระวังให้ดี เรื่องแบบนี้ จะกลายเป็นการปะทะ ‘ระหว่างวัย’ ได้ไม่ยาก
แต่ทั้งหมดนี้ สิ่งที่จะชัดขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ ‘การเปลี่ยนแปลง’ นั้นกำลังเริ่มต้นขึ้นแล้ว จุดเริ่มต้นของจุดจบที่หลายคนถามถึง อยู่ไม่ไกลกว่าที่คิด นักศึกษา กำลังกลับเข้ามาในวงจรการเมืองอีกครั้ง ส่วนจะยาวนาน 1 ปี 10 ปี หรือ 20 ปี ยังไม่มีใครรู้
ที่แน่ๆ อาจไม่จบที่รุ่นเรา.. ก็เป็นได้