การเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนุร่นใหม่ ที่มีส่วนประกอบเป็นนักเรียนมัธยม นักเรียนอาชีวะ และนักศึกษาเป็นแกนหลัก ขับเคลื่อนกันอย่างออร์แกนิคตลอดระยะเวลา 3 – 4 เดือนที่ผ่านมาอยู่ในภาวะที่ใกล้จะสุกงอมเต็มที่ ทั้งประเด็นที่มีความเฉียบแหลมมากขึ้น การจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ‘การสร้างสัญลักษณ์’ ร่วมให้คนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนการเคลื่อนไหวได้ง่ายขึ้น
โบว์สีขาว, เพลง 1 2 3 4 5 I love You ของ The Bottom blues, ภาพโปรไฟล์เป็นสีน้ำเงินแสดงสัญลักษณ์การพ่นน้ำสารเคมีของตำรวจคุมฝูงชน,การชูสามนิ้วแบบภาพยนตร์ The Hunger Games และล่าสุดก็คือ ‘เป็ดยาง’ ที่กลายเป็นสัญลักษณ์ของผู้พิทักษ์รักษาประชาชนในม็อบ จนสื่อระดับโลกต้องหยิบยกการนำเอาเป็ดยางเป่าลมเข้ามาเคลื่อนไหว สิ่งเหล่านี้คือ Pop Cultureที่ถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งใน Mob culture
ความสุกงอมดังกล่าวนั้นเวียนมาบรรจบพอดีกับมหกรรมดนตรีของวัยรุ่นที่ใหญ่ที่สุดประจำปีงานหนึ่ง ที่จะจัดทุกเดือนพฤศจิกายน นั่นก็คือ Cat Expo ที่ดำเนินการโดยคลื่นวิทยุออนไลน์ Cat radio ในแบบ 2วัน 2คืน ซึ่งปีนี้เลือกสวนสนุกวันเดอร์แลนด์ย่านรามอินทราเป็นสถานที่จัดงาน ทำให้เกิดการจับตาว่ากลุ่มวัยรุ่นที่เป็นพลังขับเคลื่อนม็อบในปัจจุบันจะมีปฏิกิริยาต่อเรื่องนี้อย่างเลย และเราได้เห็นการแสดงออกของศิลปินรุ่นใหม่มากขึ้นในการเสนอจุดยืนที่สอดคล้องกับมวลชน
หากม็อบกปปส. ที่เคยเคลื่อนไหวเมื่อ 6 – 7 ปีที่ผ่านมาได้ระดมศิลปินดาราแถวหน้าของเมืองไทยในการร่วม ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ และดึงสัญลักษณ์ ‘ธงชาติไทย’ ให้ยึดโยงกับกลุ่มก้อนของตัวเอง มีเป็นสัญลักษณ์เพื่อบ่งบอกความเป็นพวกเดียวกัน แต่ม็อบประชาชนปลดแอกนั้นสร้างสัญลักษณ์มากกว่าและหลากหลายมากกว่า ทำให้สามารถหยิบยกไปนำเสนอรูปแบบความคิดได้กว้างกว่า
ในวันแรกของ Cat Expo นอกจากปัญหาเรื่องการบริหารจัดการที่มีเป็นประจำจนน่าเอือมในทุกๆ ปีแล้ว กลายเป็นว่าปีนี้ยังเป็นเวทีแสดงสัญลักษณ์ทางการเมืองอย่างกว้างขวาง ไม่ว่าจะเป็นการที่แฟนเพลงพร้อมใจชูสามนิ้วในเพลง ‘เผด็จเกิร์ล’ ของวง Tattoo Colour ที่แต่งเพื่อเสียดสีการปกครองเผด็จการในยุคคสช. หรือการที่แฟนคลับหลายคนชูสามนิ้วหลังจาก BNK48 ชวนโพสต์ท่าขอสามบาท
หรือจะเป็นวง Mints ศิลปินหน้าใหม่ที่แสดงบนเวทีที่ 3 ถามแฟนๆ ว่าพวกเราแสดงเวทีไหนะ ไหนช่วยชูนิ้วหน่อย เพื่อให้แฟนๆ ร่วมกันชูสามนิ้วขึ้นมา แต่ที่เป็นไฮไลท์คือการแสดงของวง T-047 เมื่อทางวงชักชวนแกนนำเคลื่อนไหวไม่ว่าจะเป็น แอมมี่ The Bottom Blues ,ไผ่ ดาวดิน และรุ้ง ปนัสยาขึ้นมาบนเวทีพร้อมกล่าวว่า “ในวันที่เรากำลังสนุกพวกเขาเหล่านี้กลับต้องถูกจองจำเพียงเพราะออกไปต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้ดีขึ้น”
จนทำให้เป็นที่จับตาว่าในวันที่สองของการจัดงานจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ยังไม่รวมการพูดถึงจุดยืนของผู้บริหารค่ายและดีเจบางคนที่มีแนวทางการสนับสนุนการเคลื่อนไหวของ กปปส.มาก่อน และเรื่องที่รุนแรงที่สุดคือการออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมของศิลปินที่เคยขึ้นเวที Cat Expo โดยมีสมาชิกวง Gym and Swim เป็นหัวหอกกล้าตายที่เปิดประเด็นความไม่โปร่งใสของ Cat Expo ว่าพวกเขานั้นถูกให้เล่นงานฟรีบ้าง และศิลปินวง Hope The Flowers ออกมาพูดถึงเรื่อง การโดนเลือกปฏิบัติและ มีการหักหัวคิวหากทำธุรกรรมในการซื้อของภายในงานบ้าง จนเกิดแฮชแท็กในโลกออนไลน์ #CatExpoเอาเปรียบศิลปิน ทั้งที่มีการขยับราคาบัตรขึ้นทุกปี และมีสปอนเซอร์สนับสนุน อีกทั้งการออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องดังกล่าวของทางคลื่นกับมีน้ำเสียง ‘ทวงบุญคุณ’ ในการเปิดพื้นที่ให้กับศิลปินหน้าใหม่ และยัง ‘ลดทอนคุณค่า’ ของคู่ขัดแย้งที่ออกมาเปิดประเด็น ซึ่งเป็นแถลงการณ์ที่ดูจะไม่ใกล้เคียงกับความเป็นมืออาชีพที่จัดงานมาแล้วหลายปี
วันที่สองของการแสดงก็ไม่ผิดจากความคาดการณ์ เมื่อ แม็กซ์ เจนมานะ เจ้าของเพลงดัง “วันหนึ่งฉันเดินเข้าป่า” ร่วมอ่านจดหมายของ Human of Thailand วงดนตรีอย่างน้อยสามวงป่าวประกาศคำขวัญ “เผด็จการจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” บนเวที ส่วนวง Somkiat ก็มเล่นเพลงขอวอน2 และพูดก่อนเข้าเพลงว่า แล้วถ้าขอวอน3 ล่ะทำให้แฟนๆ ชูสามนิ้วขึ้นมาร่วมแสดงสัญลักษณ์
แต่ที่เป็นไฮไลต์ที่สุดของวันก็คงหนีไม่พ้นวงที่เรียกว่าเป็นศิลปินเพื่อชีวิตของคนยุคใหม่อย่าง ไททศมิตร ที่มาพร้อมกับ ‘เป็ดยางสีเหลือง’ ที่กลายเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของประชาชน ไม่นับรวมศิลปินหลายคนที่สวมเสื้อสัญลักษณ์ สามนิ้ว สามขีด หรือเสื้อสีน้ำเงินที่ถูกสาดแทนน้ำเคมีของตำรวจคุมฝูงชนด้วยเช่นกัน เรียกได้ว่ากลายเป็นเวทีแห่งการแสดงออกทางการเมืองอย่างเต็มที่ แบบที่ไม่ต้องสนใจจุดยืนผู้บริหารของทาง Cat Radio ด้วยซ้ำ
คุณุปการหนึ่งต้องขอขอบคุณงาน Mob Fest ที่จัดขึ้นหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้างาน Cat Expo ที่เป็นพื้นที่แสดงจุดยืนของศิลปินหลายคนที่ออกมายืนเคียงข้างประชาชน และทำให้เห็นว่าการแสดงจุดยืนในสิ่งที่เชื่อในระบอบประชาธิปไตยคือสื่งที่ถูกต้องและสามารถทำได้ ยังมีประชาชนคนรุ่นใหม่ที่เป็นกลุ่มแฟนคลับผู้บริโภคที่พร้อมจะให้การสนับสนุน ไม่ผูกขาดเพียงแต่ศิลปินรุ่นเก่าที่มีจุดยืนต่อต้านประชาธิปไตยเท่านั้นที่มีสิทธิ์แสดงออก
โจทย์ที่ท้ายทายของ Cat Radio ในก้าวต่อไปน่าสนใจว่า เมื่อปัญหาความไม่โปร่งใสที่ถูกซุกไว้ใต้พรมถูกเอามาพูดถึงและนำเสนอแล้วในยุคที่ผู้บริโภคมีการตรวจสอบที่ดี รวมไปถึงจุดยืนของผู้บริหารที่ถูกเปิดเผยเช่นกัน พวกเขาจะรักษาคนรุ่นใหม่ที่เป็นฐานแฟนคลับ ศิลปินที่ออกมาเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับตัวเองและเพื่อนๆ ได้หรือไม่? หรือท้ายที่สุดจะกลายเป็นว่า Cat Radio ที่เคยเป็นหัวหอกของคนรุ่นใหม่จะถูกทอดทิ้งโดยผู้ฟังและศิลปินรุ่นใหม่เพราะปรับตัวไม่ทันตามเช่นเดียวกับสิ่งอื่นๆในสังคมที่ปรับตัวไม่ทันและผุพังไปตามเวลา
เพราะแม้กระทั่งช่วงที่บริหารใช้เวลาของวง Cat radio TV Superband ในการขึ้นไปแถลงก็ยังปราศจากคำว่า ‘ขอโทษ’ แต่อย่างใด