“ประธานสภาจะเป็นพรรคก้าวไกลก็ได้ พรรคเพื่อไทยก็ได้ แต่ที่สำคัญกว่าอยู่พรรคไหนคือ ขอให้ได้คนที่ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีเกียรติและศักดิ์ศรี ทำให้เกียรติยศของฝ่ายนิติบัญญัติไม่เสียหาย”
ชื่อของ วันมูหะมัดนอร์ มะทา เป็นที่รู้จักในแวดวงการเมืองครั้งแรก หลังเอาสามารถเอาชนะการเลือกตั้งใน จ.ยะลา กลายเป็นตัวแทนของประชาชนสมัยแรกในปี 2522 และหลังจากนั้นชื่อนี้ก็ไม่ห่างหายไปจากวงการเมืองอีกเลย เขาเป็น ส.ส.ต่อเนื่องยาวนานถึง 11 สมัย และเคยก้าวขึ้นไปถึงตำแหน่งสำคัญในฝ่ายบริหารอย่าง รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม, รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมถึงรองนายกรัฐมนตรีในสมัยพรรคไทยรักไทย
ในแง่งานด้านนิติบัญญัติ เขาก็เคยมีส่วนร่วมอย่างสำคัญในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการเมืองไทย โดยระหว่างปี 2539 – 2543 เขาได้ตำรงตำแหน่งประธานสภามีหน้าที่คัดเลือกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ได้ขึ้นชื่อว่ามีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด และยังมีหน้าที่รวบรวมเสียงในสภาเพื่อโหวตรับรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ก่อนขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้
นอกเหนือจากความสำเร็จทางการเมือง ชายคนนี้คือนักการเมืองที่เกิดและเติบโตในดินแดนมลายู เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถูกรัฐไทยกดทับและเหยียบย่ำมาตลอดประวัติศาสตร์ เคยถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองในฐานะกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย และตลอดช่วงชีวิตเขาเคยผ่านการรัฐประหารมาแล้วอย่างน้อย 6 ครั้ง และยังเคยถูกตัวแทนหน่วยงานความมั่นคงกล่าวหาว่ามีความผิด ม.116 จากที่ไปพูดในงานวันครบรอบ 1 ปีพรรคประชาชาติ ในช่วงหลังรัฐประหาร
กว่า 40 ปีบนถนนการเมืองไทยที่เต็มไปด้วยหลุมดำ ขวากหนาม และความไร้เหตุไร้ผล วันมูหะมัดนอร์ มะทา แบ่งปันเรื่องราวประสบการณ์ทางการเมืองแก่เรา แสดงความคิดเห็นถึงสถานการณ์บ้านเมือง ให้ความเห็นถึงหน้าที่ของประธานสภา และตอกย้ำตลอด 1 ชั่วโมงที่พูดคุยกันถึงจุดยืนตรงข้ามคณะรัฐประหารทุกคณะเสมอมา
ในวัน 22 พฤษภาคมที่แถลง MOU ทำไมวันนั้นคุณถึงพูดว่า ‘ขอโอกาส’
ผมอยากจะสื่อไปถึงพี่น้องประชาชน, คนที่เกี่ยวข้อง, ส.ว. และรัฐบาลปัจจุบัน ประเทศไทยเราเสียโอกาสจากการปฏิวัติและรัฐประหารมานานพอสมควรแล้ว เมื่อมีการเลือกตั้งและประชาชนตัดสินแล้วว่าพรรคใดจะเป็นผู้บริประเทศ เราควรให้โอกาสกับพรรคการเมืองที่เสียงส่วนใหญ่ของประชาชนเลือกมา นี่คือระบบประชาธิปไตย
ผมไม่อยากให้มีการยื้อแย่งเอาอำนาจโดยใช้พลังนอกระบบอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีตอีกแล้ว มันจะทำให้ประชาชนผิดหวัง และเมื่อผิดหวังอาจเกิดพลังต่อต้านคนที่ทำให้เขาผิดหวัง นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะสื่อโดยภาพรวมในวันนั้น เพื่อเตือนใจทุกฝ่ายว่ามันถึงเวลาที่บ้านเมืองต้องเปลี่ยนแปลง
ทำไมต้องมี MOU ในเมื่อมันเป็นกระดาษเปล่าที่ถูกฉีกง่ายเหลือเกิน
MOU ไม่มีอะไรไปผูกมัดใคร มันไม่ใช่สัตตยาบันที่ใครเซ็นแล้วต้องทำตามนี้ 100% แต่การทำความเข้าใจว่าเราจะทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาอะไรให้พี่น้องประชาชนบ้าง ซึ่ง MOU ก็อาจมีการเปลี่ยนแปลง ตัดตอน ขึ้นอยู่กับโอกาสและสถานการณ์ แต่ถ้าไม่มีหลักอะไรเลย ประชาชนก็จะถามว่ารัฐบาลชุดใหม่จะทำอะไรบ้าง
ตอนช่วงแถลง MOU มี 2 เรื่องที่พรรคประชาชาติคัดค้านคือ สมรสเท่าเทียมและสุราก้าวหน้า จุดยืนของพรรคต่อเรื่องนี้คืออะไร
จุดยืนเราชัดเจนตั้งแต่เป็นฝ่ายค้านแล้วว่า เรื่องใดที่กระทบต่อศาสนาที่พี่น้องเราเคารพนับถือ เราต้องไม่ให้เกิดผลต่อพี่น้องที่นับถือศาสนานั้น เช่น เรื่องสมรสเท่าเทียม ในศาสนาอิสลามมีบทบัญญัติกำหนดในพระมหาคำภีร์มาเป็นหลาย 1,000 ปีแล้วว่า การที่ชายกับชายหรือหญิงกับหญิงจะอยู่แบบสามี-ภรรยา พระเจ้าไม่ยินยอม ซึ่งในด้านสรีระและการแพทย์ก็ไม่ได้เห็นด้วยเรื่องนี้ มนุษยชาติมันต้องมีการสืบพันธุ์
แต่เมื่อคนส่วนนึง เขาไม่ได้นับถือศาสนาอิสลาม เราจะไปกำหนดความเชื่อของเขาก็ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเสียงส่วนใหญ่ต้องการแบบนั้น ก็ทำได้โดยไม่กระทบต่อคนที่นับถือศาสนาอื่น เช่น อิสลามหรือคริสต์ อย่าไปบังคับเขาโดยกฎหมายว่าผู้ทำพิธีในศาสนาต้องทำพิธีให้ แต่ถ้าจะไปจดทะเบียนอันนี้เป็นเสรีภาพของคุณ
เรื่องเหล้าก็เหมือนกัน ศาสนาอิสลามห้ามของมึนเมาที่ทำลายสมอง สุขภาพ และจิตใจ ดังนั้น เหล้าและยาเสพติดเป็นของต้องห้าม ศาสนาอิสลามค่อนข้างเข้มข้นและเมื่อเข้มข้นจะปล่อยเสรีโดยที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องศาสนาก็ไม่ได้ เช่น จะต้มเหล้าในหมู่บ้านที่นับถือศาสนาอิสลามไม่ได้ แต่ถ้าออกจากหมู่บ้านแล้ว จะไปทำก็เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา
ศาสนาอิสลามบอกชัดเจนว่าศาสนาของเราก็เป็นเรื่องของเรา ศาสนาของเขาก็เป็นเรื่องของเขา ต่างคนต่างอยู่ ต่างคนต่างเข้าใจกันได้ แต่อย่ามาก้าวก่ายกันเรื่องศาสนา พอถึงเวลาคนนึงก็ไปวัด คนนึงไปโบสถ์ คนนึงไปมัสยิด แล้วหลังจากนั้นจะพบกันร้านกาแฟก็ได้ไม่มีปัญหาอะไร เพราะในสังคมโลกมันต้องมีหลายศาสนา หลายชาติพันธุ์ หลายภาษา แต่ทำอย่างไรให้ความหลากหลายอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
และพรรคจะยกมือรับรองไหมในสภา
ยกไม่ได้และเราอาจต้องอภิปรายไม่เห็นด้วย เพื่อชี้แจงเหตุผลว่าเพราะอะไร หลักการเป็นอย่างไร การเป็นพรรคร่วมรัฐบาลไม่จำเป็นที่จะไปฝืนในเรื่องจริยธรรม แต่เราสามารถอยู่ร่วมรัฐบาลได้ คงไม่มีปัญหาอะไร
พรรคของเรามีความเชื่อในเรื่องของพหุวัฒนธรรม เราเชื่อว่าในโลกนี้ไม่มีสังคมใดมีเฉพาะศาสนาเดียว ความเชื่อเดียว ภาษาเดียว บางคนตาโต บางคนตาเล็ก บางคนผิวแดง บางคนผิวขาว แต่เราอยู่ร่วมกันได้ หลักการคืออยู่กันอย่างสันติและร่วมมือกัน เช่น ผมนับถือศาสนาอิสลาม แต่ถ้าอยากจะรู้ธรรมะก็ควรจะเรียนธรรมะได้ อย่างตอนผมรับราชการเป็นอาจารย์ผมสอนวิชาศีลธรรม ผมก็ไปนั่งคุยธรรมกับท่านพุทธทาสปีหนึ่ง 1-2 ครั้ง เพราะผมต้องสอนเด็ก ท่านก็บอกว่าศาสนาอยู่ที่ธรรมะ ไม่ใช่อยู่ที่การก่อสร้าง อิสลามก็เช่นเดียวกันไม่ได้เน้นเรื่องวัตถุ แต่เน้นเรื่องธรรมะ และถ้าเราเชื่อว่าศาสนาเป็นเรื่องของธรรมะก็มาคุยกันได้ อย่าไปคุยในเรื่องของความงมงายสุดโต่ง
คุณเข้ามาเป็น ส.ส. สมัยแรกช่วงทศวรรษ 2520 ต่อเนื่องจนถึงตอนนี้ก็ 11 สมัยแล้ว ตลอด 40 กว่าปีบนถนนการเมืองเข้าใจการเมืองไทยอย่างไรบ้าง
จริงๆ แล้วผมสนใจการเมืองตั้งแต่เรียนหนังสือระดับมัธยม ตอนผมเรียนมหาวิทยาลัยก็มีความสนใจมาตลอดฟังและอ่านทั้งการเมืองในประเทศและต่างประเทศตามภาษาคนที่สนใจ และความสนใจนั้นนำมาสู่การลงเลือกตั้งครั้งแรกในปี 2522
ความจริงแล้วการเมืองไทยอธิบายค่อนข้างยาก เพราะว่ามันมีสิ่งนอกระบบอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีการรัฐประหาร เปลี่ยนรัฐธรรมนูญมาตั้ง 20 กว่าฉบับ ซึ่งประเทศอื่นไม่ค่อยมีเหมือนเรา มันเป็นเรื่องน่าผิดหวัง
ทำไมประเทศไทยเราปล่อยให้เรื่องแบบนี้เกิดขึ้น มันเป็นเพราะผู้มีอำนาจใช้อำนาจนอกระบบเพื่อเข้าสู่อำนาจ และประชาชนเองก็ยินยอมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนอกระบบอยู่บ่อยครั้ง
ผมคิดว่าต่อไป ประชาชนในฐานะเจ้าของอำนาจที่แท้จริงควรยืนหยัดและยืนยันในอำนาจอธิปไตยว่าเป็นของประชาชน และไม่ควรให้ใครมายื้อแย่งเอาไป
มีช่วงไหนไหมที่คุณรู้สึกว่าเมืองไทยมีบรรยากาศของประชาธิปไตยที่แท้จริง
ผมเจอมาทั้งเผด็จการเต็มใบ ประชาธิปไตยครึ่งใบ แต่ประชาธิปไตยเต็มใบนี่ถือยังว่ายังไม่เชิง มันผลุบโผล่ๆ มีความพยายามให้เป็นประชาธิปไตยไม่เต็มใบอยู่ตลอดเวลา นี่คือความโชคร้ายของคนไทย ที่ผมสัมผัสมมาก็มีช่วงหลังใช้รัฐธรรมนูญ 2517 แต่ก็สั้นๆ แต่พอมันเต็มใบก็ล้นเกิน มี ส.ส.บางคนที่สร้างพฤติกรรมไม่ดีไม่งาม จนกระทั่งประชาชนรู้สึกว่าประชาธิปไตยไม่สวยงาม แต่เราแก้ไขไม่ถูกวิธี แทนที่จะแก้ด้วยระบบเลือกตั้ง คนที่ไม่ดี คนที่ชั่ว คนที่ขายตัว คนที่เป็นงูเห่า ก็ไม่ต้องเลือกเข้ามา เรากลับแก้ด้วยการปฏิวัติรัฐประหารแล้วบอก ส.ส.ไม่ดี
ความจริงเราเทียบการเลือกตั้งปี 2566 กับ 2562 ก็ได้ เมื่อปี 2562 ตอนนั้นระบบเลือกตั้งก็ไม่ค่อยดีนัก และก็มีพฤติกรรมที่ไม่ดีของ ส.ส.ในสภาเช่นการขายตัวเป็นงูเห่า
ตอนนี้ผมดูแล้ว 40 กว่าคนที่ขายตัวไม่มีใครโผล่หน้ามาให้เห็นเลย แสดงว่าประชาชนตัดสินใจทางที่ดีได้ เราก็ต้องให้ประชาชนตัดสินใจเพื่อให้ประชาธิปไตยพัฒนาต่อไป ไม่ใช่คณะใดคณะหนึ่งมาตัดสินใจแทนประชาชน
ดูเหมือนคำอธิบายประเภทนักการเมืองเลว มันเกิดขึ้นมาตั้งแต่ 40 กว่าปีที่แล้ว
ใช่ครับ มันเกิดตั้งแต่ 2475 แล้ว เพราะว่าประชาธิปไตยยังพัฒนาไม่ทัน ประชาธิปไตยมันต้องอาศัยเวลาพัฒนาโดยประชาชน ประชาธิปไตยมันควรเป็นของประชาชนเพื่อประชาชนโดยแท้ การให้คนใดหรือกลุ่มใดพัฒนาให้ มันไม่ค่อยไปไหนเท่าไหร่
ผลการเลือกตั้งในปี 2566 ประชาชนเขาชี้แล้วว่าพรรคไหนควรได้มาก พรรคไหนควรได้น้อย คนที่ซื้อเสียงก็ไม่ได้รับเลือกเสมอไป และบทเรียนที่ดีมากคือ คนที่ขายอุดมการณ์ ทิ้งพรรคการเมือง สอบตกหมด และไม่ใช่คนสองคนด้วย 40-50 คน และผมเชื่อว่าในการเลือกตั้งปี 2570 ประชาธิปไตยก็จะพัฒนาไปอีกระดับนึง ดังนั้น ปล่อยให้มีการเลือกตั้งเถอะ ประชาชนจะพัฒนาและระบบเลือกตั้งจะทำให้มีสมาชิกสภาที่ดีเกิดขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลของประชาชนก็จะเกิดขึ้น
ถามตรงๆ เลย คิดว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้ไหม
ถ้าโดยธรรมชาติมันควรจะจัดตั้งได้ แต่มันไม่เป็นธรรมชาติเพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันเป็นระบบสืบทอดอำนาจที่ให้ ส.ว.ซึ่งได้รับการแต่งตั้งและมอบหมายให้มีอำนาจเลือกนายกฯ ซึ่งครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะใช้อำนาจนี้ เมื่อไม่เป็นธรรมชาติแบบนี้ก็ทำให้การจัดตั้งรัฐบาลมีอุปสรรคบ้าง
แต่ผมเชื่อว่าจิตสำนึกแห่งความดีงาม จิตสำนึกแห่งความเป็นคนไทย จิตสำนึกของประชาธิปไตย น่าจะมี ส.ว.ส่วนหนึ่งที่เห็นแก่ความก้าวหน้าของบ้านเมือง ความต้องการของประชาชน และเติมเต็มให้รัฐบาลจัดตั้งได้ แต่จัดตั้งแล้วจะก้าวหน้าไปมากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับรัฐบาลใหม่แล้ว
ภาระในการจัดตั้งรัฐบาลรอบนี้ไม่ใช่แค่ฝ่ายใดฝ่ายนึง ทุกฝ่ายควรจะต้องร่วมมือร่วมใจ ให้โอกาสคนที่ประชาชนเลือกจัดตั้งรัฐบาล พรรคที่ไม่ได้ร่วมรัฐบาลจะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยดำรงอยู่และเดินหน้าต่อไป นี่เป็นภาระหน้าที่ของทั้ง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน
เพราะฝ่ายค้านก็อยู่ในระบบประชาธิปไตย มีหัวหน้าฝ่ายค้านที่ได้รับการโปรดเกล้าฯ เช่นกัน ดังนั้น ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านต้องช่วยกันทำให้ประชาธิปไตยเดินหน้า เพราะถ้าประชาธิปไตยไปไม่รอด พวกเราก็ลำบากทุกคน รวมทั้งประชาชนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาประชาชนเขาลำบากมามากแล้ว แต่คนที่ลำบากแล้วมีความหวังดีกว่าคนที่ลำบากกับการผิดหวัง
ในมุมมองของคุณมีคำอธิบายไหมว่าทำไมกองทัพบ้านเราถึงมักทำรัฐประหารบ่อยครั้ง
ก็ไม่พัฒนาไง อย่าลืมว่าทุกกองทัพในโลกนี้ที่มีอาวุธในมืออยากมีอำนาจทั้งนั้น แต่ทำไมกองทัพที่มีอาวุธเต็มมืออย่างในมาเลเซีย, สิงคโปร์, ญี่ปุ่น หรืออเมริกาถึงไม่ปฏิวัติในประเทศของเขา เพราะประชาชนไม่ยินยอมไง คนมันจะหยุดงาน ครูหยุดสอนหนังสือ ถ้าคนหยุดงานหมดมันจะปฏิวัติได้ไหม เราต้องเข้าใจว่าคนที่มีอาวุธอยากมีอำนาจทั้งนั้น แต่มันทำไม่ได้เพราะประชาชนไม่ยินยอม
มันน่าเสียดาย ประเทศไทยไม่เคยเสียเอกราชให้ใคร แต่ประเทศต่างๆ ที่เขาเพิ่งได้เอกราช เช่น แอฟริกาใต้กลับมีประชาธิปไตยที่ยั่งยืนกว่า ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะต้องเรียบร้อย 100% ประชาธิปไตยมันต้องล้มลุกคลุกคลาน แต่ประชาชนควรต้องมีอำนาจโดยตลอด
ในช่วงชีวิตคุณคิดว่าจะเห็นรถถังมายึดอำนาจอีกไหม
(นิ่งคิด) ไม่ค่อยแน่ใจ (นิ่งคิด) จริงๆ หลายครั้งหลายหนที่ผมคิดว่าไม่ควรจะเกิด มันก็เกิดขึ้น เช่น ช่วงหลัง 14 ตุลา (2516) ที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้แล้ว เป็นประชาธิปไตยค่อนข้างเต็มใบแล้ว ผมก็ไม่คิดว่าจะมีการรัฐประหาร แต่มันก็เกิดขึ้นได้ในปี 2519 ซึ่งเราห่างจากครั้งที่แล้วตั้งเกือบ 20 ปี ฉะนั้น วันนี้ผมเลยขาดความมั่นใจ
ตอนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2540 และผ่านการเลือกตั้งมา 2 รอบแล้ว ผมมีความมั่นใจว่าบ้านเมืองไม่มีปฏิวัติแล้ว แต่มันก็มีอีกในปี 2549 มันจะมีปัจจัยอะไรผมไม่ทราบ
บุคคลที่คิดก่อการทั้งหลายเหล่านั้นทั้งที่มีชีวิตอยู่และไม่มีชีวิตอยู่ ควรคิดว่าปฏิบัติการทั้งหลายเหล่านั้นมีผลเสียมากกว่าผลได้มากนัก
ถ้าจะมีสักกรณีที่รัฐบาลชุดนี้จะทำให้เกิดเหตุผลในการปฏิวัติ มองว่าจะเป็นเรื่องอะไร
การปฏิวัติมันต้องมีการสร้างสถานการณ์ แต่ตอนนี้ยังไม่เห็นสถานการณ์นั้น ตอนนี้เพียงแต่ว่ามันมีกระแสปลุกเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่มันยังไม่ขึ้น อย่างไรก็ดีเราไม่ควรประมาท รวมทั้งคนที่เป็นรัฐบาลก็ไม่ควรประมาท เพราะความประมาทเป็นเหตุให้เกิดสิ่งที่เราไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น
คุณเป็นประธานสภาในช่วงปี 2539 – 2543 มองว่าตำแหน่งนี้มีความสำคัญอย่างไร ทำไมสองพรรคถึงทะเลาะเพื่อแย่งกันใหญ่
จริงๆ ไม่ใช่เรื่องที่ต้องทะเลาะกัน ถ้าเราปฏิบัติในกรอบที่เคยปฏิบัติมาและเอาประโยชน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง แต่ผมคิดว่าหลังจากคุยกันเมื่อวาน (30 พฤศจิกายน) คงไม่ยากที่จะตกลงกันได้ เพียงแต่ยังไม่บอกตกลงกันเท่านั้น
ประธานสภาจะเป็นพรรคก้าวไกลก็ได้ พรรคเพื่อไทยก็ได้ แต่ที่สำคัญกว่าอยู่พรรคไหนคือ ขอให้ได้คนที่ทำให้ฝ่ายนิติบัญญัติมีเกียรติและศักดิ์ศรี ทำให้เกียรติยศของฝ่ายนิติบัญญัติไม่เสียหาย
แต่ผมคิดว่าดีแล้วที่เราเห็นว่าตำแหน่งประธานสภามีความสำคัญ เพราะก่อนหน้านี้ หลายคนอยากเป็นแต่รัฐมนตรีกระทรวงเกรด A โดยที่มองข้ามความสำคัญของประธานสภา ทั้งที่ สภาเป็นเกียรติและศักดิ์ศรีของฝ่ายนิติบัญญัติ มีสมาชิกตั้ง 750 คน บางครั้งสภาก็เดินไปด้วยดีเพราะเราได้คนที่เก่ง คล่องตัว รอบรู้ และมีวิธีทำงานที่ถูกต้อง
เป็นประธานสภามีสมาชิกตั้ง 750 คน รัฐบาลมีแค่ 35 คนและมีคนรอบข้างคอยให้คำปรึกษา แต่ประธานสภาเมื่อนั่งบนบัลลังก์แล้ว ไม่มีเครื่องมือมาช่วย มีแค่สมองและสายตาที่จะแก้เกมบริหารยังไงให้การประชุมไปได้ดี แต่สภาทั่วโลกก็เป็นแบบนี้แหละ ไม่ได้ราบเรียบกันทุกแห่ง บางประเทศก็แย่กว่าเราก็มี แต่ดีกว่าเราก็เยอะ
คุณสมบัติของประธานสภาต้องมีอะไรบ้าง
ต้องมีองค์ประกอบหลายอย่างเหมือนกัน คนที่เป็นก็น่าจะรู้ ถ้าเขาไม่รู้ก็ไม่ควรมาเป็น ควรจะต้องทำหน้าที่ได้ เช่น ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมได้ดี ศึกษาข้อบังคับกฎหมายต่างๆ รวมทั้งควรศึกษาบุคคลด้วย 750 คนคงจะจำคนทั้งหมดไม่ได้ แต่คนที่มีบทบาทในสภามากๆ อภิปรายบ่อย เราควรจำได้เพราะจะทำให้ชี้แนะหรือพูดจากันได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าเราจำชื่อได้จะทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี คุยๆ กับเขาบ้างก็ไม่มีปัญหาอะไร
ผมว่าคนที่จะเป็นประธานสภาต้องรู้สึกว่าทำได้ ถ้าทำไม่ได้ก็อย่ารับปาก มันจะทำให้สภาวุ่นวาย ไม่ใช่ว่าเขาให้เป็นจะได้หมดโควตารัฐมนตรี เราต้องเป็นเพราะเชื่อมั่นว่าเราทำได้ ถึงค่อยไปทำ
หวยจะมาลงที่คุณไหม
ผมพูดเสมอว่าพรรคใหญ่สองพรรคควรเป็นประธานสภา เพราะประชาชนเลือกเข้ามามากที่สุด นายกฯ และประธานสภาควรให้สองพรรคนี้ตกลงกันได้ ไม่ควรให้พรรคที่มีเสียงน้อยแบบผม แต่จะให้ผมให้คำปรึกษาอะไรต่างๆ ผมยินดี แต่ให้เขาเป็นดีกว่า เชื่อว่าเกือบ 300 คนในสองพรรคต้องมีคนที่เหมาะสมแน่นอน ให้ความสำคัญและศึกษากันให้รอบคอบ เขาต้องหาจนได้
ตอนสมัยคุณเป็นประธานสภา งานใหญ่งานนึงที่รับผิดชอบคือการเลือก ส.ส.ร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ตอนนั้นเป็นอย่างไรบ้าง
สมัยผมงานใหญ่คือการเลือก ส.ส.ร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จใน 1 ปี เราก็ต้องอาศัยงบประมาณ ให้ความร่วมมือกับเขา 100% บอกว่านี่คือการทำความดีเพื่อบ้านเมือง ดังนั้น ถ้ามีอะไรให้ช่วย ผมในฐานะประมุขฝ่ายนิติบัญญัติจะให้ความร่วมมือทุกอย่าง มีทั้งจัดห้องหับให้ประชุมอย่างมีเกียรติมีศักดิ์ศรี ห้องประธานอะไรต่างๆ ผมอำนวยความสะดวกเต็มที่ เป็นงานที่สำคัญและเมื่อบรรลุเป้าหมายเขาก็มาขอบคุณผม
ในตอนสุดท้ายที่จะให้ผ่านหรือไม่ผ่าน เป็นเรื่องของรัฐสภา แต่ผมในฐานะประธานรัฐสภาก็ให้ข้อคิดเห็นว่ามันควรจะประกาศใช้ให้ได้ ถ้าไม่ผ่านจะต้องเสียเวลาอีกมาก ซึ่งก็โชคดีที่สมาชิกรัฐสภาในตอนนั้น เกือบทั้งหมดก็ยกมือให้ผ่าน
แต่น่าเสียดายที่เราคิดว่าจะใช้ไปได้นาน หรือถ้าเกิดข้อบกพร่องก็ค่อยแก้ไข แต่ปราฏว่าไม่ได้แก้ไขในรัฐธรรมนูญ กลับแก้ไขด้วยการยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญ พอฉีกแล้วก็ร่างใหม่ก็แย่ลงกว่าเดิมทุกครั้งๆ แม้แต่ฉบับ 2560 ยิ่งแย่หนักเมื่อเทียบกับ 2540 มันคนละเรื่องเลยในความเป็นประชาธิปไตย
รอบนี้ก็จะมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีก มีอะไรอยากบอกถึงว่าที่ประธานสภาคนใหม่ไหม
เมื่อวาน (30 พฤษภาคม) ก็ประชุมกันที่นี่ (ที่ทำการพรรคประชาชาติ) ก็เห็นว่าวาระเรื่องการแก้รัฐธรรมนูญเป็นวาระสำคัญเร่งด่วน ซึ่งเขาก็ตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อที่จะร่างไว้แล้ว ขอให้ทั้งพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยตกลงเรื่องประธานสภากันให้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว ยังไงก็ต้องมีประธานสภา คุณตกลงกันได้อยู่แล้ว
พรรคที่ไม่ได้ตำแหน่งประธานสภาก็ยังมีรองประธานสภาอีกตั้ง 2 ตำแหน่ง พรรคร่วมรัฐบาลอยากผลักดันวาระอะไร ทั้ง 3 คนช่วยกันทำงานได้ คนนึงทำหน้าที่บรรจุระเบียบวาระ คนนึงทำหน้าที่ปฏิรูประบบรัฐสภา อีกคนดูเรื่องกระทู้ มันแบ่งกันได้ทั้ง 3 คน
เรื่องรองประธานก็ต้องให้ความสำคัญเหมือนกัน ไม่ใช่ใครก็ได้ ต้องใส่ใจศักยภาพพอๆ กับประธานสภา เพราะเวลาทำหน้าที่ก็ต้องตัดสินใจบนบัลลังก์เหมือนกัน รองประธานต้องเป็นคนที่มีฝีไม้ลายมือพอๆ กับประธาน ไม่ใช่ประธานไม่อยู่ พอรองขึ้นมามีปัญหาทุกครั้ง นี่ก็ไม่ควร
ในการประชุมสภาสมัยหน้าดูท่าจะมีหลายประเด็นที่น่ากังวล ไม่ว่า ม.112, ลบผลพวงคณะรัฐประหาร, กระจายอำนาจ
ทั้งหมดก็พูดคุยกันในสภา เพราะการแก้แต่ละเรื่องที่พูดกันไม่ว่าเรื่องกระจายอำนาจ, ม.112, สิทธิเสรีภาพ มันก็ต้องแก้กฎหมาย และการแก้กฎหมายสมาชิกรัฐสภาทั้ง 750 คน ก็มีสิทธิอภิปรายแก้ไขกันได้ตลอด ไม่ใช่พรรคใดเสนอขึ้นมาแล้วต้องเอาตามนั้น พรรคที่เสนอก็ต้องฟังเสียงสมาชิกสภา ฟังประชาชน ฟังสื่อมวลชน ถ้าทุกคนอยู่ในกรอบความไว้วางใจกันให้เป็นไปตามระบบ ก็จะเป็นประโยชน์
ดูเหมือนคุณจะเชื่อว่าไม่ว่าเรื่องนั้นจะขัดแย้งแค่ไหน ให้ไปคุยกันในสภา
ถ้าคุยกันในสภาตามระบบแล้วทุกอย่างก็จะจบด้วยดี และถ้าใครที่ทำอะไรไม่ดี ประชาชนนั่นแหละจะบอก อย่างงูเห่ารอบนี้ไปกันหมดนะ และต่อไปพรรคการเมืองไหนที่หักหลังประชาชน พรรคนั้นจะเจ๊งเอง ประชาชนจะเรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ฉะนั้น อย่าหลงระเริงว่าเป็น ส.ส. แล้วทำอย่างไรก็ได้ นี่คือระบบประชาธิปไตยที่ดี มันจะขัดเกลา แก้ไขปัญหาต่างๆ
ผมจึงบอก ส.ส.บางคนว่าอย่าไปคิดว่าเป็น ส.ส.แล้ววิเศษเหนือคนอื่น ยิ่งเป็น ส.ส.ยิ่งต้องน้อมตัวลงต่ำให้เหมือนต้นข้าวที่มีเมล็ดข้าวเต็มรวง แต่ถ้า ส.ส. คนไหนเมล็ดข้าวมันลีบ มันจะชูโด่เด่ มันไม่ฟังเสียงคน และไม่มีประโยชน์อะไร
ปรัชญาเมล็ดข้าวคือเคล็ดลับที่ทำให้คุณเป็น ส.ส. มานานถึง 11 สมัย
คนสอนผมเรื่องนี้คือ ส.ส. 13 สมัยของประเทศญี่ปุ่น และเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ตอนนั้นผมเป็น ส.ส.สมัยแรกประมาณปี 2522 มั้ง เผอิญได้ไปดูงานที่ญี่ปุ่น เขาก็เข้ามาคุยกับผม ผมถามท่านว่าทำอย่างไรถึงเป็น ส.ส.มา 13 สมัยได้ เขาพูดว่าคุณมาจากประเทศไทยใช่ไหม คุณรู้จักต้นข้าวไหม คุณทำตัวให้เหมือนกับต้นข้าวที่รวงมันเต็มไปด้วยเมล็ดข้าว นั่นแหละถึงมีค่า ผมจำขึ้นใจเลยตอนนั้น
และไม่ใช่แค่ ส.ส.อย่างเดียวนะ เคยเจอนักเลงไหม (คิดว่าเคยเจอครับ) ผมสังเกตเลย อย่างกำนันเป๊าะ (สมชาย คุณปลื้ม) เจอกับผมพูด “ยินดีที่ท่านมาเยี่ยวเยียน” โอ้โห บุคลิกแบบนั้นเป็นนักเลงจริงได้ หรือ ป.ประตูน้ำ (ไพจิตร ธรรมโรจน์พินิจ) เจอผมพูด “ครับพี่” คนละเรื่องกับกิตติศัพท์ที่เราได้ยิน ฉะนั้น ความนอบน้อมถ่อมตนเป็นคุณสมบัติความเป็นผู้นำ ไม่ว่าผู้นำสังคม ผู้นำศาสนา นักเลง
พอพูดถึง ส.ส.ญี่ปุ่น แล้วนึกถึง ส.ส.บุญเท่ง ทองสวัสดิ์
พี่เท่งสนิทกับผม เป็นคนที่สุภาพ อ่อนน้อม เป็นผู้แทนจนถึงเสียชีวิต 17 สมัย (มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย) พูดไว้เฉยๆ ว่า คนเราใหญ่ให้เป็นอยู่ได้นาน
ตอนนั้นคุณมาเป็นประธานสภาได้อย่างไร
ตอนเลือกตั้งปี 2539 เขาประชุมกันอยู่ก็มีข่าวว่าคนโน้นคนนี้อยากเป็นประธานสภา พอผมมาถึงห้องประชุม หัวหน้าพรรคก็มาบอกว่าให้ผมเป็นประธานสภาดีไหม ผมก็ตอบว่าเห็นมีหลายคนเขาอยากเป็นให้เขาเป็นเถอะ แล้วพอจะมีการเสนอชื่อประธานสภา หัวหน้าก็มาบอกอีกทีว่าผู้ใหญ่ในพรรคอยากให้ผมเป็นจะได้ไม่ต้องแข่งกัน ถ้าแข่งกันจะมีความแตกแยก ผมก็เลยบอกว่าถ้าอยากให้ผมเป็นก็ได้ แต่ถ้าเสนอชื่อหลายคนผมถอนนะ เพราะตอนนั้นถึงผมไม่ได้เป็นประธานสภาก็น่าจะได้เป็นรัฐมนตรี เพราะเราอาวุโสถึงขั้นแล้ว แต่ปรากฎว่าตอนเสนอชื่อไม่มีใครแข่ง ผมก็เลยได้เป็น
ไม่ใช่ไม่อยากเป็นหรืออยากเป็น แต่ผมไม่อยากไปแข่งขันเรื่องตำแหน่งหรือวิ่งเต้นอะไรกับใคร รัฐมนตรีผมก็ไม่เคยวิ่งเต้น เขาบอกพรรคร่วมอยากให้เป็น ผมก็รับไปเพื่อให้เห็นว่าบางทีตำแหน่งหน้าที่นั้น ไม่ต้องไปวิ่งเต้นก็เป็นได้ และด้วยความเชื่อผมในศาสนาอิสลาม เมื่อพระเจ้ากำหนดแล้วเราก็ต้องเป็นตามนั้น แต่ถ้าพระเจ้าไม่กำหนดเราอยากแค่ไหนก็ไม่ได้เป็น ผมก็เชื่อว่าที่ผมเป็นประธานสภาเพราะพระเจ้ากำหนดมา
แต่อย่างวันนี้ ถ้ามาบอกว่าให้พรรคประชาชาติไปเป็นประธานสภา ผมไม่เอา เพราะคนที่ควรจะเป็นมีอยู่ ให้เขาเป็นตามวาระดีกว่าไม่เป็นตามวาระ ถ้าไม่มีจริงๆ ค่อยว่ากัน แต่ตอนนี้มันยังมีอยู่ เรามีอะไรช่วยบ้านเมืองเราก็ช่วย บ้านเมืองไม่ใช่ของเราคนเดียว เราพยายามทำให้ดีที่สุดเพื่อบ้านเมือง
ตอนเป็นประธานสภาหนักใจเรื่องอะไรที่สุด
ไม่ค่อยนะ ประการแรก ผมเป็นคนที่ไม่เครียดกับงาน ทำสบายๆ อะไรที่ทำได้ก็ทำให้ดีที่สุด ที่ทำไม่ได้ก็ทำเท่าที่ได้ ไม่เคยเครียดว่าต้องทำให้ได้ ประการที่สอง เราไม่มีวาระซ่อนเร้นเพื่อประโยชน์ของตัวเองและพวกพ้อง มีแต่ประโยชน์ของส่วนรวม ประการที่สาม ผมโชคดีเป็นคนหลับง่าย หลับตาปุ๊ปก็นอนหลับได้
ผมโชคดีที่เรียนรู้ศาสนาและปฏิบัติตามหลักการศาสนา เข้าใจว่าตำแหน่งไม่ใช่ของเรา ตายไปก็ไม่ได้เหลืออะไรนอกจากความดีงามที่เรามี เรายืนตรงนี้ก็สบายใจ ไม่ได้คิดว่าจะทำเพื่อตัวเอง อะไรที่มาได้ก็ไปได้
ความอาวุโสสำคัญกับการเป็นประธานสภาไหม
ส่วนหนึ่งเท่านั้น จะบอกว่าสำคัญไหมก็ไม่ขนาดนั้น ความอาวุโสได้ประโยชน์บ้างให้คนเกรงใจ แต่ถ้าคนอาวุโสทำตัวไม่เหมาะสมก็ทำไม่ได้อยู่ดี มันเป็นส่วนประกอบนึงเท่านั้น ความรอบคอบ ความเหมาะสมในการทำงานเป็นอีกเรื่องนึง
แต่ไม่ใช่ทุกคนเป็นประธานสภาได้นะ บางทีผมว่าประธานสภาเป็นยากกว่านายกฯ อีก เพราะนายกฯ ก็มีทีมงาน แถลงข่าวก็ได้ไม่แถลงก็ได้ แต่ประธานสภาต้องนั่งอยู่กับคน 750 คน เขาจะซักถามอะไรก็ไม่รู้ล่วงหน้า ถามก็ต้องตอบ ดังนั้น จะว่ายากก็ยาก ว่าไม่ยากก็ไม่ยาก อยู่ที่การวางตัว
ผมอยากให้ได้ประธานสภาเร็ว จะได้มีเวลาไปเตรียมตัว ทุกครั้งไม่เคยยืดเยื้อ ปกติตำแหน่งประธานสภาก็ควรให้พรรคที่เสียงข้างมาก ซึ่งคนก็ไม่ค่อยอยากแย่งเท่าไหร่ เพราะมันต้องออกหน้าหลายเรื่อง เป็นความสามารถเฉพาะ เป็นรัฐมนตรี 35 คนใครก็เป็นได้ แต่ประธานสภาคือ 1 ใน 750 คน
อ่านแถลง MOU ได้ที่: thematter.co/brief
อ่านเรื่องการตั้ง ส.ส.ร. เพื่อร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ได้ที่: thematter.co/big-matter