‘คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน’
7 มีนาคม 2564 นี้ครบรอบหนึ่งปีการจากไปของ คณากร เพียรชนะ อดีตผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดยะลา ที่ตัดสินใจหันกระบอกปืนและลั่นไกเข้าหาตัวเองถึงสองครั้งสองครา ครั้งแรกบนบังลังค์ศาลในจังหวัดยะลา และครั้งที่สองที่บ้านพักข้าราชกาลศาลในจังหวัดเชียงใหม่
ถึงวันนี้คณากรจากไปครบหนึ่งปีแล้ว The MATTER ขอชวนย้อนเรื่องราวของคณากรและสองข้อเรียกร้องของเขาที่เคยเขียนไว้ในจดหมายความยาว 25 หน้า
10 มิถุนายน 2561 เกิดเหตุฆาตรกรรมชาวบ้าน 5 คน ในบ้านตือโละดือลง อ.บันนังสตา จ.ยะลา ซึ่งในวันเดียวกับนั้นเจ้าหน้าที่ควบคุมผู้ต้องสงสัยชาวมุสลิมจำนวน 5 คน
19 สิงหาคม 2562 ศาลยุติธรรมจังหวัดยะลาต้องเลื่อนพิจารณาคดีดังกล่าวออกไป เพราะ เพิ่มศักดิ์ สายสีทอง อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ได้ส่งข้อแนะถึงร่างคำพิพากษามาถึงคณากรให้แก้คำพิพากษาเป็นประหารชีวิตจำเลย 3 คน และจำคุก 2 คน
ทั้งนี้ คดีดังกล่าวไม่ใช่คดีที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง แต่เป็นคดียาเสพติด แต่การควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยกลับใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร รวมถึงพยานหลักฐานทั้งหมดมีขึ้นภายหลังจำเลยถูกควบคุมตัวเป็นเวลานาน
4 ตุลาคม 2562 คณากรได้เผยแพร่เอกสารความยาว 25 หน้าบนเฟซบุ๊กส่วนตัว กล่าวถึงคำสั่งให้แก้ไขการพิจารณาคดี และปัญหาในกระบวนการยุติธรรมอื่นๆ ที่ผู้พิพากษาต้องพบเจอ โดยเขาได้เสนอ 2 ข้อเรียกร้องเพื่อให้ศาลยุติธรรมปลอดจากอำนาจชนิด ‘ผมขอ’ ก่อนทิ้งท้ายด้วยข้อความที่เขียนว่า ‘คืนคำพิพากษาให้ผู้พิพากษา คืนความยุติธรรมให้ประชาชน’
ในวันเดียวกัน คณากรได้ไลฟ์เฟซบุ๊กขณะขึ้นนั่งบัลลังกฺ์อ่านคำพิพากษา และยืนยันตามคำวินิจฉัยเดิมของตน ยกฟ้องจำเลยทั้ง 5 คน ในช้อหาอังยี่ซ่องโจร ก่อนที่ภายหลังเสร็จสิ้นการอ่านคำพิพากษา เขาได้หันหน้าเข้าหาพระบรมฉายาลักษณ์และหันปืนพกเข้าหาตัวเอง แล้วลั่นไกลบาดเจ็บสาหัส
7 ตุลาคม 2562 คณะกรรมการตุลาการ หรือ ก.ต.มีมติตั้งอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว
9 ตุลาคม 2562 สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ถ่ายทอดคำพูดของ เพิ่มศักดิ์ อธิบดีผู้พิพากษาภาค 9 ซึ่งยืนยันว่าเพิ่มศักดิ์ไม่มีเจตนาแทรกแซงการพิจารณาคดี เพียงแต่ต้องการให้พิจารณาด้วยความรอบคอบ และถ้าคณากรจะยืนยันคำพิพากษาของตนก็ทำได้
18 พฤศจิกายน 2562 ที่ประชุม ก.ต. รับทราบการตรวจหาข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวจากคณะอนุกรรมการ และมีมติให้คณากรไปช่วยราชการในกองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 5 จ.เชียงใหม่ พร้อมทั้งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยคณากร
7 มกราคม 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ยะลา ได้แจ้งข้อหาคณากรตามความผิดใน พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ กรณีพกอาวุธปืนเข้าสู่บัลลังก์ศาลและใช้ยิงตัวเองหลังการพิจารณาเมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2562
7 มีนาคม 2563 คณากรได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระบายถึงความทุกข์และอัดอั้นที่ถูกสอบสวนวินัยและถูกแจ้งข้อหาในคดีอาญา ซึ่งคาดว่าไม่พ้นตนคงต้องออกจากราชการแน่นอน ก่อนทิ้งท้ายยืนยันว่าทั้งหมดที่ทำเป็นไปด้วย ‘หัวใจที่บริสุทธิ์’
ในบ้านพัก อ.ดอยสะเก็ด จ.เชียงใหม่ คณากรตัดสินใจหันกระบอกปืนเข้าหาอกซ้ายของตัวเอง และลั่นไกอีกครั้ง ก่อนเสียชีวิตในเวลา 10.45 น.
การจากไปของคณากรได้จุดให้เกิดข้อถกเถียงถึงระบบยุติธรรมของไทยมากมาย โดยเฉพาะในสองข้อเรียกร้องในจดหมายความยาว 25 หน้าของคณากร ที่เรียกร้องให้
- ออกกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมพระธรรมนูญศาลยุติธรรมเพื่อห้ามกระทำการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟัง และห้ามกระทำการใด ๆ อันมีผลเป็นการแทรกแซงผลคำพิพากษา
- ขอให้รัฐบาลและฝ่ายนิติบัญญัติให้ความเป็นธรรมทางการเงินแก่ผู้พิพากษาทั่วประเทศ
โดยในประเด็นแรก คณากรได้เรียกร้องให้แก้ไขพระธรรมนูญศาลยุติธรรมยกเลิกการตรวจร่างคำพิพากษาก่อนอ่านให้คู่ความฟังเพื่อไม่ให้เกิดการแทรกแซงคดี จนนำไปสู่ข้อถกเถียงมากมายว่ามีการแทรกแซงการพิจารณาคดีของผู้พิพากษาหรือมี ‘ใบสั่ง’ จริงหรือไม่
ทางด้าน iLaw เคยอธิบายไว้ว่าตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ.2543 ไม่ได้มีการระบุว่าอธิบดีผู้พิพากษามีอำนาจในการแก้ไขคำพิพากษา อย่างไรก็ตาม ในระเบียบว่าด้วยการรายงานคดีสำคัญในศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์ต่อประธานศาลฎีกา และการรายงานคดีและการตรวจสำนวนคดีในสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาคก็มีการกำหนดถึงการรายงานร่างคำพิพากษาในกรณีที่เป็น ‘คดีสำคัญ’ เอาไว้
โดยในรายงานคดีสำคัญฯ ระบุว่า ผู้พิพากษาต้องรายงานอธิบดีผู้พิพากษาภาคเพื่อรายงานประธานศาลฎีกาต่อในคดีสำคัญ อาทิ คดีอาญาที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร, คดีที่เกี่ยวกับการก่อการร้าย, คดีที่อัตราโทษสูงกว่าจำคุก 10 ปี เช่น ประหารชีวิต, คดีที่ประชาชนสนใจ หรือ คดีที่เกี่ยวกับความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ไม่มีการระบุว่าผู้พิพากษาในคดีต้องเชื่อฟังหรือเปลี่ยนคำตัดสินตามข้อแนะอยู่ดี
ทั้งนี้ คณะกรรมการตุลาการก็ได้มีมติให้มีการจัดตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาและพัฒนาหลักเกณฑ์ แนวทาง และวิธีการตรวจร่างคำพิพากษาของภาคแล้วและมีการส่งรายงาน แต่เท่าที่ตรวจสอบยังไม่มีระเบียบหรือร่างกฎหมายใดๆ เพิ่มเติมออกมา
ในประเด็นที่สอง คณากรเรียกร้องให้มีการเพิ่มระดับเงินเดือนของผู้พิพากษา หรืออนุญาตให้ทำงานพิเศษเพิ่มได้ เพราะงานผู้พิพากษาเป็นงานที่หนักจนบางครั้งต้องทำงานเกินเวลา และต้องใช้เวลาส่วนตัวเพื่อเขียนสำนวนคดี
ทั้งนี้ การขยับเงินเดือนของผู้พิพากษามีขึ้นครั้งล่าสุดในปี 2561 โดยมีการออก พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ฉบับที่ 8 พ.ศ. 2561 ปรับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งของผู้พิพากษาให้ขึ้นเป็น 30,000 – 138,090 บาท
อีกประเด็นที่ทับซ้อนอยู่ในคดีที่คณากรรับผิดชอบเช่นกันคือ การประกาศใช้กฎหมายความมั่นคงถึง 3 ฉบับในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะในแง่หนึ่ง กฎหมายความมั่นคงมอบอำนาจให้หน่วยงานความมั่นคงสามารถคุมตัว ‘ผู้ต้องสงสัย’ ได้ก่อนที่จะมีหลักฐาน ซึ่งหลายครั้งนำไปสู่กระบวนการสอบปากคำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน และผู้ต้องสงสัยจำเป็นต้องรับสารภาพเพื่อให้พ้นออกจากการควบคุมตัว
อ้างอิง:
https://thematter.co/brief/recap/recap-1583562591/103268
https://www.bbc.com/thai/thailand-51781494
https://www.bbc.com/thai/thailand-49943661
https://www.bbc.com/thai/thailand-49996715
http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2561/A/112/T_0001.PDF
https://www.facebook.com/224734584714549/posts/515742438947094/