กว่า 8,700 กิโลเมตร คือ ระยะทางระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี
หากบินตรงแบบไม่แวะพักที่ไหน จะใช้เวลาประมาณ 10-11 ชั่วโมง
สำหรับคนส่วนใหญ่ ระยะเวลาแค่นี้ นอนไม่กี่ตื่นก็น่าจะถึงจุดหมายปลายทางแล้ว
แต่กับใครบางคน ทันทีที่เหยียบแผ่นดินเยอรมนี น้ำตาก็ไหลพรากพร้อมความรู้สึก “ราวกับได้เกิดใหม่”
เพราะนับแต่วันนั้น ‘พรพิมล’ (ขอสงวนนามสกุล) แม่ค้าออนไลน์จาก จ.เชียงใหม่ จะต้องไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ภายใต้สถานะผู้ขอลี้ภัย จากการถูกแจ้งข้อหาคดีร้ายแรงในบ้านเกิด
แต่ในวิกฤตก็ยังมีโอกาส ความยากลำบากของการเริ่มต้นใหม่มาพร้อมกับโอกาสใหม่ๆ ของชีวิต
“หนูอยากเป็นหมอ อยากเรียนแพทย์ หนูจะลองดูว่ามันจะเป็นไปได้ไหม เพราะชีวิตสมัยเรียนมัธยมปลายของหนูที่ไทยค่อนข้างลำบาก
“หนูไม่คิดหวังว่าจะได้กลับไทย และหนูก็ไม่อยากกลับไทยเลย มีสิ่งเดียวที่ไทยที่หนูคิดถึงมากๆ คือครอบครัวของหนู ถ้ามีหน้าที่การงานที่มั่นคง หนูอยากเอาเขามาอยู่ด้วย”
ผู้ต้องหาคดี 112 ลำดับที่ 13
จากคำบอกเล่าของพรพิมล หรือ ‘นก’ หญิงสาววัย 22 ปี ชีวิตของเธอไม่ได้สุขสบาย ต้องทำงานหาเลี้ยงตัวเองและครอบครัวตั้งแต่ยังเรียนอยู่ชั้น ม.ปลาย ด้วยการขายสินค้าบนโลกออนไลน์
การแบ่งเวลาที่ไม่สมดุลระหว่างเรียน-ทำงาน ทำให้ครูคิดว่าเธอไม่ตั้งใจเรียน และไม่ยอมเซ็นใบรับรองสถานะการเป็นนักเรียนเพื่อไปยื่นขอสอบเข้าเรียนต่อชั้นอุดมศึกษา ในสายแพทย์-พยาบาล ที่เธอบอกว่าสนใจอาชีพนี้มาตั้งนานแล้ว
“อาจารย์คิดว่าหนูไม่สนใจเรียน เพราะการแบ่งเวลาในห้องเรียนของหนูแตกต่างจากเด็กคนอื่น หนูขายของออนไลน์เพื่อหาเงินเลี้ยงตัวเองและส่งให้ครอบครัว แต่ครูเขาคงเห็นว่าเด็กคนนี้ไม่สนใจเรียน คงไม่มีสมองที่จะไปสอบแพทย์ แต่เขาไม่รู้หรอกว่าหนูติดตามดูคณะนี้มาตั้งแต่ ม.ต้นแล้ว”
ชีวิตของพรพิมล เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือในวันที่ 31 มี.ค.2564 เมื่อตำรวจจาก สภ.ช้างเผือก จ.เชียงใหม่ บุกมาจับเธอถึงห้องพักในตัวเมือง จ.เชียงใหม่ หลังมีผู้ไปแจ้งความเธอในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา (ป.อาญา) มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
“หนูโดนจับกุมโดยตำรวจราว 5-6 คนที่หอพัก เขาบอกว่าโดนคดี 112 แต่หนูไม่แน่ใจเพราะไม่เคยได้รับเอกสารแจ้งเตือนมาก่อน เขาพาหนูไปโรงพัก กีดกันไม่ให้แฟนหนูขึ้นรถมาด้วย หนูรู้สึกตั้งแต่แรกแล้วว่าไม่ปลอดภัยแน่ๆ กลัวเขาจะพาไปที่อื่นที่ไม่ใช่โรงพัก
“ระหว่างนั่งอยู่ในรถตำรวจ มีตำรวจ 2 คนพูดจาคุกคามหนู พูดถึงสรีระและหน้าตาของหนู ตำรวจคนนึงบอกว่า ‘ถ้าน้องไม่โดน 112 พี่จะจีบน้องแล้ว พี่ไปดูเฟซบุ๊กน้องตอนเกิดเรื่อง น้องน่ารักมากเลยนะ’ ตอนนั้นหนูทั้งกลัวและตกใจ”
คืนนั้นเธอถูกนำตัวไปขังไว้ที่ สภ.ช้างเผือก โดยมีทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งแฟนหนุ่มของเธอแจ้งเรื่องราวให้ทราบตามมาให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย การแจ้งข้อกล่าวหามีขึ้นในช่วงเช้าวันที่ 1 เม.ย.2564 ระบุว่า มีผู้มาแจ้งความว่า ในวันที่ 16 ต.ค.2563 ได้พบผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งโพสต์ข้อความหนึ่งที่อาจเข้าข่ายความผิดตาม ป.อาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมฯ ซึ่งพรพิมลปฏิเสธว่าไม่ได้ใช้เฟซบุ๊กตามที่ถูกกล่าวหา
จากนั้นตำรวจได้ยื่นขอฝากขังต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งศาลอนุญาตเพราะเห็นว่า ‘คดีมีอัตราโทษสูง-เกรงว่าจะหลบหนี’ แม้ช่วงเย็นวันเดียวกัน ทีมทนายความและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะยื่นคำร้องขอประกันตัวพร้อมหลักทรัพย์ 300,000 บาท แต่ศาลก็ยกคำร้อง
ทำให้พรพิมลถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ ในวันเดียวกันนั้นเอง
ในเวลาไม่ถึง 48 ชั่วโมงหลังถูกจับกุม อิสรภาพของเธอก็ต้องสิ้นสุดลงชั่วคราว
เธอกลายเป็นผู้ต้องหาคดี 112 รายที่ 13 นับแต่รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นำกฎหมายร้ายแรงนี้กลับมาใช้อีกครั้งในเดือน พ.ย.2563 (และเพิ่มเป็นอย่างน้อย 151 คนในปัจจุบัน – ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)
ช่วยคืนชีวิตให้หนูที
หลังถูกตำรวจจับกุมไปดำเนินคดี พรพิมลทั้งตื่นกลัวและตกใจ จนร้องไห้อยู่ตลอดเวลา
ระหว่างถูกคุมตัวอยู่ในห้องขังของ สภ.ช้างเผือก เธอได้เขียนจดหมายฉบับหนึ่งระบายความรู้สึกภายในใจ
“มันเหมือนหนูตายทั้งเป็น ฉันตายแล้ว ฉันไม่ควรต้องมาอยู่ในนี้ แล้วพื้นมันแข็ง หนูนอนอยู่ดีๆ ก็กรี๊ดขึ้นมาเพราะแมลงสาบมันไต่ ในห้องขังนั้นสกปรกมาก เศษอาหารเต็มไปหมดเลย หนูก็เลยเขียนจดหมาย เขียนทั้งน้ำตา เขียนไปด้วยร้องไห้ไปด้วย”
ข้อความในจดหมายที่พรพิมลเขียน มีดังนี้
“หนูผิดอะไรคะ ทุกคนเข้ามาพาหนูไปทำตามขั้นตอน มันเกิดขึ้นเร็วมาก หนูรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมสำหรับหนู ที่ผ่านมาหนูเจอเรื่องร้ายๆ มาเยอะมาก หนูยังต้องเจอแบบนี้อีก หนูไม่มีใครเลยค่ะ ไม่มีเลย หนูโดดเดี่ยวต้องหาเงินเลี้ยงตัวเองตั้งแต่เด็กจนถึงทุกวันนี้ หนูเหนื่อยมากๆ หนูไม่เคยได้รับความอบอุ่นจากไหนเลย ชีวิตหนูยังมาเจอเรื่องบ้าบอแบบนี้อีก ข้างในนี้มียุง พื้นมันแข็ง น้ำสกปรกมาก กลิ่นเหม็น หนูคือผู้บริสุทธิ์แต่ทำไมหนูถึงอยู่ในนี้คะ พี่ๆ ช่วยหนูด้วยนะคะ หนูดิ้นรนที่จะไม่ฆ่าตัวตาย ดิ้นรนที่จะมีชีวิตอยู่มาจนถึงอายุ 21 ปี มันยากมากๆ หนูไม่มีความสุข มันกังวล มันกลัวไปหมด คนที่แกล้งหนูหนูหวังให้เขาได้รับผลกรรมไวๆ ช่วยเมตตาหนูด้วยนะคะ
“..ช่วยคืนชีวิตให้หนูที”
เมื่อถูกย้ายไปทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ เธอเฝ้ารอแต่วันที่จะได้เจอกับทนายความ นั่งนับมื้ออาหารแทนปฏิทิน หลายช่วงก็ฟุ้งซ่าน คิดมากจนแทบบ้า เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรม บางครั้งถึงขั้นคิดว่าอยากตาย
สภาพห้องที่เธออยู่ ช่วงแรกต้องอยู่ในห้องขังขนาดเล็ก กับผู้ต้องขังอื่นอีกคน
“ห้องที่ได้คือห้องเล็กๆ เหมาะกับการอยู่คนเดียว ห้องน้ำก็เป็นห้องน้ำเตี้ยๆ มีแค่กำแพงกั้น มีโถปัสสาวะกับถังน้ำให้อีกหนึ่งถัง เป็นห้องขังปิดมีเพียงหน้าต่างช่องเล็กๆ มีพัดลมเพดานและไฟให้อยู่ แต่ห้องมันเหม็นอับ อากาศระบายได้ไม่ดี แล้วยิ่งต้องมาแชร์กับเพื่อนผู้ต้องขังอีกคน บางทีเขาก็ร้องไห้แล้วตัวสั่น หนูก็กลัว นั่งอัดมุม กลัวว่าเขาอาจจะเข้ามาทำร้ายหนู
“พอไปบอกกับทนายแล้วเป็นข่าว เขาก็ย้ายหนูไปห้องที่ใหญ่ขึ้น เป็นห้องสำหรับ 30 คน แต่ตอนนั้นมีแค่หนูกับเพื่อนผู้ต้องขังอีกคน ห้องหนาวมาก ให้ผ้าห่มมาแค่ 3 ผืน ผืนนึงไว้ปู ผืนนึงไว้ทำหมอน อีกผืนเอาไว้ห่ม หนูหนาวมาก หนาวเหมือนจะตาย เขาบอกต้องทำแบบนั้น เพราะปฏิบัติตามมาตรการ COVID-19”
หลังจากนั้นเธอก็ถูกย้ายอีกครั้งไปอยู่ห้องขังปกติ ตอนแรกก็ดีใจ ก่อนจะพบว่าเป็นห้องขังจิตเวช มีผู้ต้องขังอื่นอยู่หลายคน เวลานอนจึงค่อนข้างแออัด
พรพิมลถูกฝากขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่เป็นเวลา 23 วัน ก่อนจะได้รับการปล่อยตัวหลังศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ประกันตัว ในการยื่นคำขอเป็นครั้งที่ 3 (ครั้งแรก วันที่ 1 เม.ย.2564, ครั้งที่สอง วันที่ 9 เม.ย.2564 และครั้งที่สาม วันที่ 23 เม.ย.2564) ตีวงเงินประกัน 150,000 บาท พร้อมนัดให้มารายงานตัว ในวันที่ 25 พ.ค.2564
“ชีวิตเปลี่ยนไปมากตั้งแต่ได้รับคดี 112 หนูเสียเพื่อน เสียครอบครัว เสียเงิน เสียหน้าที่การงาน และที่สำคัญ หนูเหมือนคนเสียสติ”
ไปเริ่มต้นใหม่
“หนูอยู่ไม่เป็นที่เลยหลังจากที่ออกมา หนูกระวนกระวาย กลัวมาก ย้ายที่อยู่ตลอดเวลาเพราะคิดว่าที่ไหนก็ไม่ปลอดภัย หนูกลับบ้านที่ จ.ลำปางไม่ได้เลย ที่บ้านเขาบอกว่า ตำรวจมาตามหาที่บ้านแล้วบอกว่าถ้าหาไม่เจอจะฆ่ายกครัว บอกว่าเป็นตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นาย ตากับยายที่เลี้ยงหนูมาเขาบอกว่ายายไม่กล้าออกไปตลาดเลยเพราะเขากลัวว่าจะโดนคดีไปด้วย บางคนก็ไม่ชอบ หาว่าลูกหลานบ้านนี้ทำตัวไม่ดี เขาไม่ขายของให้ยาย ..ตอนนั้นคิดอย่างเดียวว่าอยากออกนอกประเทศ”
เหตุการณ์ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยน คือตอนที่พรพิมลไปรายงานตัวกับศาล เมื่อวันที่ 25 พ.ค.2564 ที่ต้องไปอยู่ในห้องขังใต้ถุนศาลตลอดทั้งวัน ไม่ได้กินข้าว ไม่ได้กินน้ำ เข้าไปตอน 08.00 น. กว่าจะได้ออกมาหลังทนายความมาทำเรื่องเสร็จสิ้น ก็เวลา 17.00 น. ซึ่งช่วงระหว่างนั้น เธอคิดใคร่ครวญว่า อยู่สู้คดีต่อไปก็ยากจะได้รับความยุติธรรม ผู้มีอำนาจเป็นคนสร้างกฎ ประชาชนเป็นฝ่ายถูกกระทำ จะทำอะไรก็ต้องขออนุญาต หลายคนมีสปอตไลต์มากกว่าเธอยังสู้คดีด้วยความยากลำบาก
วันนั้นเองที่เธอตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะ ‘ไม่อยู่ในประเทศนี้’ ต่อไปแล้ว
“นี่คือเหตุการณ์ที่ทำให้หนูตัดสินใจแล้วว่าจะไม่อยู่และเลือกที่จะเดินทางออกจากไทย เอาเงินก้อนสุดท้ายที่เหลืออยู่ใช้ในการออกนอกประเทศ
“คดี 112 คือกฎหมายที่ใช้ปิดปากคนที่เห็นต่าง หนูคิดเสมอว่าฉันเป็นแค่ประชาชนคนหนึ่ง ฉันแสดงความคิดเห็นในนามของประชาชน ยังไงเขาก็ไม่มาจับฉันหรอก แต่พอมาโดนกับตัว เลยรู้ว่าหนูคิดผิด นี่มันกะลาแลนด์ มันเป็นประเทศที่ไม่ให้ความรู้สึกว่าเป็นเสมือนบ้าน”
วิธีหนีของเธอไม่ยุ่งยากซับซ้อน แค่ซื้อตั๋วเครื่องบิน แล้วบินออกมาเลย
เหตุผลที่เลือกปลายทางเป็นเยอรมนี เนื่องจากตอนนั้น COVID-19 กำลังระบาดหนัก มีประเทศให้เธอเลือกไปได้ไม่มากนัก อีกประเทศคือฝรั่งเศส แต่ค่าตั๋วเครื่องบินสูงเกินไป จึงเลือกมาที่เยอรมนีแทน
แต่กว่าจะสำเร็จก็ต้องพยายามอยู่ 2 ครั้ง เพราะครั้งแรก เจ้าหน้าที่ ตม.ไม่พบข้อมูลพาสปอร์ตในระบบ ใช้เวลาตรวจสอบอยู่นาน จนทำให้ตกเครื่อง มาครั้งที่สอง เมื่อสแกนพาสปอร์ตและนิ้วในด่าน ตม.สำเร็จ เธอก็รีบวิ่งไปที่เกตเพื่อรอขึ้นเครื่องบิน และพอเครื่องบินไปถึงเยอรมนี เธอถึงกับน้ำตาไหลพราก เพราะรู้สึก “เหมือนได้เกิดใหม่” ก่อนจะวิ่งไปหาตำรวจของที่นั่นและแจ้งขอลี้ภัยในทันที
กระบวนการหลังจากนั้น ทางตำรวจของสนามบินเยอรมนี ก็จัดหาที่พักให้และสอบถามข้อมูลเบื้องต้นว่า ต้องการลี้ภัยด้วยสาเหตุอะไร
จากนั้นไม่นาน พรพิมลก็ถูกนำตัวขึ้นศาลเยอรมนีเพื่อพิจารณาคำขอลี้ภัย ใช้เวลาไต่สวนอยู่ถึง 7 ชั่วโมง ซึ่งศาลเยอรมนีได้สอบถามเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ คดี 112 และการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดขึ้นในเมืองไทย
“ชีวิตที่มาเริ่มต้นใหม่ตรงนี้ ก็ต้องปรับตัวนิดหน่อย แต่คิดว่าน่าจะทำได้ง่ายกว่าอยู่ไทย เพราะที่นี่ให้สวัสดิการอย่างทั่วถึงทุกคน ต่างกับเมืองไทย ที่รัฐบาลให้สวัสดิการแบบที่ประชาชนต้องไปแก่งแย่งกัน
“หนูโดดเดี่ยวตั้งแต่เล็กจนโต การออกมาอยู่แบบนี้ ไม่ใช่ความรู้สึกใหม่ หนูชิน ย้ายออกจากบ้านมาอยู่หอพักตั้งแต่ ม.4 พอจบ ม.6 ก็ย้ายมาอยู่ที่ จ.เชียงใหม่”
ที่เยอรมนี พรพิมลหวังว่าจะได้ลงเรียนวิชาแพทย์ เพราะเป็นความใฝ่ฝันของเธอมาตั้งแต่เด็กๆ
แต่การขอลี้ภัยที่เยอรมนีใช่ว่าจะสำเร็จโดยง่าย
ประภากรณ์ ลิพเพิร์ท ผู้ช่วยนักวิจัยเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองไทย สาขานโยบายการพัฒนา มหาวิทยาลัยพัสเซาของเยอรมนี ให้ข้อมูลว่า นับแต่มีรัฐประหารในปี 2557 – ปัจจุบัน มีคนไทยมาขอลี้ภัยในเยอรมนีมากกว่า 60 คน แต่มีผู้ได้รับสถานะผู้ลี้ภัยเพียง 5-6 คนเท่านั้น เพราะเงื่อนไขหลายประการที่ไม่เอื้อให้การลี้ภัยในเยอรมนีทำได้โดยง่าย แต่การที่จำนวนคนไทยซึ่งมาขอลี้ภัยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วง 2 ปีหลัง ที่มากถึง 28 คน สะท้อนให้เห็นว่า ไทยมีปัญหาความรุนแรงทางการเมือง และสถานการณ์ทางสิทธิมนุษยชนของเมืองไทยเสื่อมถอยลง
ย้อนกลับไปเรื่องพรพิมล เราถามว่าหากมีโอกาสกลับไทยได้จะกลับไหม? เธอตอบว่า ไม่อยากกลับ ไม่ไหวแล้ว ประเทศนี้เป็นภัยต่อจิตใจของเธอมากๆ
สิ่งเดียวในไทยที่พรพิมลคิดถึงคือครอบครัว ที่ในอนาคต หากมีหน้าที่การงานมั่นคงเมื่อไร ก็จะพามาอาศัยอยู่ด้วยกันที่เยอรมนี