ตกเป็นข่าวใหญ่ 2 ครั้ง ในเวลาไม่ถึงเดือน
ครั้งแรกตอนที่มีชื่อเข้ารอบ 63 คนสุดท้าย การประกวด Miss Universe Thailand ประจำปี ค.ศ.2021 อีกครั้งตอนที่เดินเข้าไปสอบถามเหตุผลจากผู้อำนวยการกองประกวด ถึงเหตุผลที่ไม่ได้เข้ารอบ 30 คนสุดท้าย จนกลายเป็นดราม่าในแวดวงนางงาม
สำหรับ เนท – ศิตานันท์ อัศวกิตติกร ที่มีโปรไฟล์คร่าวๆ คือเป็นแอร์โฮสเตสการบินไทย อดีตนักกีฬาลีลาศทีมชาติไทย
แต่สื่อมวลชนและคนทั่วๆ ไป ต่างเรียกเธอ ตามสถานะทางสายเลือดว่า ‘ลูกแน่งน้อย’ จากการเป็นบุตรสาวของ แน่งน้อย อัศวกิตติกร อดีตผู้สมัคร ส.ส.พิษณุโลก พรรครวมพลังประชาชาติไทย ในฐานะประธานศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์ (ศชอ.) องค์กรที่มีชื่อเสียงจากการยื่นฟ้องประชาชนนับพันคน จากข้อกล่าวหาว่าทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือ ‘คดี 112’
แต่การแสดงออกทางการเมืองบนโซเชียลมีเดีย ทำให้เห็นสัญญาณบางอย่างว่า แม่-ลูกคู่นี้อาจมีจุดยืนบางอย่างไม่ตรงกันนัก
แม้ใครหลายคนอาจยังกังขา หรือเคลือบแคลงสงสัย
ในวันไปรายงานตัวกับกองประกวด เนทใส่ชุดที่มีข้อความว่า Don’t Judge Me By My Mom (“อย่าตัดสินตัวฉันจากแม่ของฉัน”)
บนชุดเดียวกันยังมีข้อความเรียกร้องทั้งเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก ความเท่าเทียม ค้าประเวณีถูกกฎหมาย สมรสเท่าเทียม และพื้นที่ปลอดภัย (safe space) ที่ให้ทุกคนคุยกันได้ทุกเรื่อง
The MATTER พยายามนัดหมายคุยกับเธอ ตั้งแต่มีชื่อเข้ารอบ 63 คนสุดท้าย การประกวด Miss Universe Thailand ใหม่ๆ แต่เนื่องจากกิจกรรมที่แน่นเอี๊ยดตลอดทั้งวัน ทำให้กว่าจะได้นั่งคุยกันจริงๆ ก็เมื่อเธอตกรอบไปแล้ว และกลายเป็นดราม่าตามมา
เมื่อคุยกับแน่งน้อย คำถามภาคบังคับก็คือเรื่องการฟ้องคดี 112
เมื่อคุยกับลูกสาวของแน่งน้อย คำถามภาคบังคับย่อมเป็นเรื่องเกี่ยวกับมารดาของเธอ การฟ้องคดี 112 และจุดยืนของเธอต่อกฎหมายที่มีอันตรายโทษร้ายแรงนี้
ลองมาฟังดูว่า เนท-ศิตานันท์ จะตอบคำถามต่างๆ เหล่านี้ว่าอย่างไร
“ล่าสุดก็เพิ่งคุยกับแม่ว่า ในเมื่อคนออกมาตั้งคำถาม มาแสดงความเห็น แม่ไปแจ้งความมาตรา 112 แล้วมันไม่ลดลง เราต้องกลับมาทำความเข้าใจใหม่ไหม มายอมรับว่าความจริงว่ามันห้ามอะไรไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่คนคิดจริงๆ ดังนั้นการใช้กฎหมายที่มันรุนแรงไปมาก ไปเกินหลักสากลหลักสิทธิมนุษยชน สำหรับเราเห็นว่าไม่ควรเอามาใช้”
ทำไมเนทถึงสมัครเข้าประกวด Miss Universe Thailand
มี 2 อย่างหลักๆ หนึ่ง เราเป็นนักเต้น เราเป็น performer ชอบอยู่บนเวที รู้สึกว่าชีวิตหนึ่งชั้นอยากไปยืนบนเวที Miss Universe Thailand อยากใส่ชุดสวยๆ เดินสวยๆ แล้วเราก็มีเพื่อนกะเทยเยอะมาก รู้สึกว่าชั้นจะเป็นตัวแทนเพื่อนๆ ทุกคนไปเดินบนเวทีนี้แล้วให้เพื่อนกรี๊ดๆ อยู่ที่บ้าน นี่คือจุดนึงที่อยากทำก่อนอายุจะเกิน สอง เราเป็นแอร์โฮสเตส ช่วง 1-2 ปีนี้มีเวลาว่างเยอะขึ้น เราก็ได้มาตามอ่าน ตามดูสังเกตสังคมการเมืองเยอะขึ้น แล้วเราก็รู้สึกว่าเราชอบพูดถึงประเด็นหลายๆ อย่าง ชอบตั้งคำถาม ซึ่งหลายคนเห็นประเด็นที่เราโพสต์ เราพูด แล้วบอกว่าเราทำได้ดีในจุดนี้ ก็เลยรู้สึกว่าถ้าไปประกวด แล้วเราออกมาพูดบางอย่าง ตั้งคำถามบางอย่าง ก็จะเป็นสิ่งที่ empower สังคมได้
สิ่งที่เตรียมไว้พูดก่อนสมัครเข้าประกวดคือเรื่องอะไร
คือตอนเราพูดไปในคลิปส่งประกวด เราใช้คีย์เวิร์ดว่าเปลี่ยนแปลงค่านิยมต่างๆ ในสังคม คือไม่ได้เจาะจงว่าคืออะไร แต่เรารู้สึกว่าปัญหาหลายๆ อย่างในสังคมมันเริ่มจากค่านิยมเล็กๆ น้อยๆ ที่เราไม่ได้สังเกตกัน
เช่น
เช่นค่านิยมจากศาสนาที่สอนให้เรารู้สึกว่า คนเราเกิดมาไม่เท่ากัน เพราะมีบุญวาสนาไม่เท่ากัน แล้วค่านิยมนี้ก็ส่งต่อไปในกลุ่มคนที่เห็นว่าคนต่างๆ ไม่เท่ากัน
ที่เป็นดราม่าเกี่ยวกับตัวเนท คือตอนที่ไม่ได้เข้ารอบ 30 คนสุดท้าย แล้วก็เดินไปถามเหตุผลกับทางผู้จัด (ปุ้ย-ปิยาภรณ์ แสนโกศิก ผู้อำนวยการกองประกวด Miss Universe Thailand) ว่าทำไมไม่ได้เข้ารอบ อะไรทำให้ตัดสินใจแบบนั้น
ปกติ ตอนที่เป็นนักกีฬาลีลาศ เราเต้นแข่งตั้งแต่ 7 ขวบจนถึงมหาวิทยาลัย แล้วตอนที่เราไม่ได้เข้ารอบหรือไม่ได้ตำแหน่งที่ดี การที่เราเดินเข้าไปถามเหตุผลจากทางกรรมการเป็นเรื่องปกติมากๆ ในการมาประกวด Miss Universe Thailand มันก็คือการแข่งขันอย่างหนึ่ง แล้วทำไมเราจะไม่มีสิทธิที่จะรู้ว่าทำไมเราถึงดีไม่พอ ก็เลยเดินไปถามตรงๆ แล้วก็ตอนที่ไปถาม เขายังประกาศรายชื่อไม่จบเลย ก็เลยตัดประเด็นที่บางคนบอกว่าเราไปด้อยค่าคนอื่นว่าไม่มีค่าพอที่จะเข้ารอบ เพราะตอนนั้นยังประกาศไปไม่ถึงครึ่งเลย เราก็เดินไปถามแล้ว
ซึ่งบนเวทีนางงามเขาไม่ค่อยจะมีเหตุการณ์แบบนี้ใช่ไหม ที่ผู้ประกวดจะเดินไปถามกรรมการว่าทำไมถึงตกรอบ
อันนี้ไม่รู้เลย คือเราก็เดินไปถามว่า “พี่ปุ้ยคะ เนทอยากรู้ว่าทำไมเนทถึงไม่ได้เข้ารอบ” ก็ถามไปแบบนี้ ซึ่งส่วนตัวไม่คิดว่ามีท่าทีก้าวร้าวอะไร เพราะถ้าจะก้าวร้าว ก็คงจะพูดไปประมาทว่า “พี่ปุ้ยคะ คิดว่าผลที่ออกมามันแฟร์แล้วเหรอคะ” อันนี้สิถึงจะก้าวร้าว คือตั้งคำถามอย่างเดียว ไม่ได้ก้าวร้าว ถ้าจะก้าวร้าวจะต้องมีคีย์เวิร์ดอะไรที่ไปโจมตีหรือตัดสินเขาแล้ว
เหตุการณ์นี้ทำให้ฟีดแบ็กกลับมาที่ตัวเนทค่อนข้างมาก เราได้ประเมินไว้ก่อนที่จะเดินไปถามไหม
ไม่คิดเลย เพราะอย่างที่บอกว่า เราก็เป็นนักกีฬาที่ผ่านการแข่งมาเยอะ แล้วเรารู้สึกว่าการถามมันเป็นเรื่องปกติ แล้วเราก็ถามตรงๆ ไม่ได้ตะโกนถามหรือโวยวาย การที่ไปถามต่อหน้าค่อนข้างจะแสดงความจริงใจในระดับหนึ่ง
สำหรับเนท เส้นแบ่งระหว่าง ‘กล้าถาม’ กับ ‘ก้าวร้าว’ มันอยู่ตรงไหน
น่าจะเป็นสิ่งที่แฝงไปอยู่ในคำพูดหรือการกระทำ ถ้ามันมีนัยยะของการจู่โจมหรือทำให้อีกฝ่ายรู้สึกถูกคุกคาม อันนั้นคือก้าวร้าว แต่เราทำในจุดที่ไม่ได้ทำให้เขารู้สึกว่าถูกคุกคาม ก็คือการเข้าไปถามเฉยๆ
หลังจากนั้นได้มีโอกาสติดต่อกับกองประกวดไหม
ไม่มี เพราะรู้สึกว่า เราไม่มีอะไรติดใจกัน
เห็นไปไล่ตอบโต้คอมเม้นต์คนที่มาวิพากษ์วิจารณ์ ทำไมตัดสินใจทำแบบนั้น แทนที่จะรับฟังอย่างเงียบๆ
มันเป็นการเยียวยาตัวเองอย่างหนึ่ง ที่ไม่ชอบถูกเข้าใจผิด ไม่ชอบปล่อยให้อะไรค้างคา คือถ้าทะเลาะกับแฟนก็จะไม่ปล่อยให้งอนกัน แต่จะคุยกันจนกว่าจะเคลียร์ แล้วก็หลายๆ ความเห็น เขาพูดถึงคุณแม่กับกฎหมาย (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112) แล้วเขาก็ตัดสินแนวคิดทางการเมืองของเราไปในทางผิดๆ ซึ่งส่วนตัวเราก็รู้สึกว่า ชั้นมีความเคียดแค้นเกลียดชังกับระบบระดับหนึ่ง แต่คุณกลับเอาชั้นให้ไปอยู่ในระบบนั้นด้วย ก็เลยเข้าไปตอบ
มีคอมเม้นต์อะไรเกี่ยวกับแม่ที่เราติดใจ
เอาจริงๆ เราเข้าใจทุกคอมเม้นต์เลยนะ ที่บอกว่ามันเป็นการทำร้ายคนอื่น มันเป็นการตัดอนาคตคนอื่น แต่ที่เราไม่ชอบเลยคือมีคนมาเขียนว่า “ทีลูกตัวเองทำได้ ทำไมลูกคนอื่นทำไม่ได้” เหมือนเขาไม่เข้าใจ
ไม่เข้าใจเรื่องอะไร
คือเขาบอกว่า ลูกตัวเองแสดงความคิดเห็นแล้วแม่ไม่ไปฟ้อง แม่ไปฟ้องคนอื่น เรารู้สึกว่าเขาไม่ได้ศึกษาขนาดนั้นว่า เราโพสต์อะไร แล้วคนที่แม่เราไปฟ้อง เขาโพสต์อะไร
จริงๆ ในความเห็นของเนท แม่ไม่มีเจตนาทำร้ายใคร คือเขาเชื่อแบบนั้นว่า ตราบใดที่ยังมีรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 อยู่ (“องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”) ก็จะอยู่ในสถานะที่แตะต้องไม่ได้ คือฝั่งนั้นเขาก็คิดแบบนั้นจริงๆ แม้ฝั่งเยาวชนคนรุ่นใหม่จะมองว่าเป็นการแสดงความคิดเห็น แต่คนอีกฝั่งกลับคิดว่าเป็นกบฎ เขามองว่ามันรุนแรงมากๆ
ส่วนตัวเนทเป็นทั้งคนรุ่นใหม่และเป็นลูกของคุณแน่งน้อยด้วย จุดยืนเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เรายืนอยู่ข้างไหน
เรายืนยันอยู่ข้างคนรุ่นใหม่ ล่าสุดก็เพิ่งคุยกับแม่ว่า ในเมื่อคนออกมาตั้งคำถาม มาแสดงความเห็น แม่ไปแจ้งความมาตรา 112 แล้วมันไม่ลดลง เราต้องกลับมาทำความเข้าใจใหม่ไหม มายอมรับว่าความจริงว่ามันห้ามอะไรไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่คนคิดจริงๆ ดังนั้นการใช้กฎหมายที่มันรุนแรงไปมาก ไปเกินหลักสากลหลักสิทธิมนุษยชน สำหรับเราเห็นว่าไม่ควรเอามาใช้
แล้วแม่ตอบว่ายังไง
เขาก็ตอบประมาณว่า.. หลักๆ เลยนะที่เขาเอามาโต้แย้ง “ก็มันเป็นกฎหมาย ถ้าคุณทำผิดกฎหมาย ก็ต้องรับโทษ” อันนี้คือจุดหลักเลยที่เขาพูด แล้วก็ทำให้เวลาเนทไปตอบคอมเม้นต์บางทีก็ต้องอ้างกฎหมาย แม้เราจะเคยบอกแม่ว่า ก็กฎหมายมันไม่ดี ไม่ควรใช้ แต่เขาก็จะบอกว่า ก็มันมีกฎหมายอยู่ ก็ต้องบังคับใช้ แต่เอาจริงๆ มาตรา 112 มันก็มีช่วงที่เขาไม่บังคับใช้ มันมีช่วงที่เขาปล่อยๆ แต่ ณ ตอนนี้มันก็เอากลับมาใช้อีกแล้ว
ทะเลาะกับแม่เรื่องนี้บ่อยไหม
บ่อย แต่มันจะมีรายละเอียดยิบย่อยอื่นๆ มากกว่า เป็นเรื่องทางอารมณ์ เช่นเขารู้สึกว่ามีคนด่าเขา แล้วเราไปคุยกับคนที่ด่าเขา เขาก็จะรู้สึกว่า เห้ย ทำไมไปคุยกับคนที่ด่าแม่ตัวเองได้ มันก็เป็นประเด็นอ่อนไหวสำหรับเขา สนับสนุนคนด่าแม่เหรอ เขาก็จะงอน ทะเลาะกันใหญ่
ในบ้านคุยเรื่องการเมืองได้ระดับไหน เช่น พูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ไหม
แกก็รู้ว่าเราอยู่ข้างนี้ เราก็พยายามพูดๆ แต่ถ้าหนักมาก ก็จะเดินหนีเลย ไม่ฟังสิ่งที่เราพยายามจะบอก แต่จริงๆ เขามีแนวโน้มที่จะอ่อนข้อแล้วฟ้องน้อยลง เขาบอกว่า ศชอ. (ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์) จะเปลี่ยนไปทำเป็นมูลนิธิ และบทบาทจะเปลี่ยนไปเป็นช่วยเหลือคนที่ถูกล่วงละเมิดทางออนไลน์ ก็เลยคิดว่ามันมีผลนะ สิ่งที่เราพูดๆ ใส่เขา สุดท้ายเขาก็ฟังสังคม ฟังลูกตัวเอง ว่าคนไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่ทำเยอะ แล้วมันเป็นการที่รุนแรงเกินไป โดยเฉพาะกับเยาวชน
แล้วคนที่เคยยื่นฟ้องไปแล้ว จะไปถอนฟ้องไหม
อันนี้ไม่แน่ใจ แต่ที่มันดูเยอะ เพราะมีคนส่งมาให้ ศชอ. คือเขาก็เป็นตรงกลาง แล้วมีหลายบ้านส่งมาให้ เขาก็เลยเอาไปฟ้องต่อ มันเลยดูเหมือนเยอะ แต่คนก็จะบอกว่าคุณป้าหัวขาวเก็บแต้ม แต่จริงๆ มันไม่ใช่แกที่อยากจะฟ้องด้วยตัวเอง แต่มันเป็นสิ่งที่คนอื่นส่งมาแล้วแกก็ต้องเอาไปฟ้องต่อ
ว่าด้วยกันความสัมพันธ์ เนทกับแม่สนิทกันแค่ไหน
มาก (ลากเสียง) ย้อนไปเรื่องดราม่ากองประกวด มันจะมีเรื่องนึงที่พี่ปุ้ยบอกว่า เราอยากไปพูดเรื่องแม่ คือมันเป็นพาร์ตที่ครูเงาะ (รสสุคนธ์ กองเกตุ) มาเป็นโค้ช ให้กลับไปคุยกับตัวเอง ตอน 1-7 ขวบ ช่วงเด็กที่จะได้รับผลกระทบจากพ่อแม่ เรื่องคำพูดหรือการกระทำต่างๆ แต่สำหรับเนท พอคิดย้อนกลับไป ปรากฎว่าเราไม่มีปมอะไรเลย คือแม่เขาเลี้ยงมาดีมาก เขาซัพพอร์ตทุกอย่าง มันจะมีคำพูดถึงที่ให้ผู้เข้าประกวดทุกคนกลับไปพูดกับตัวเองว่า “หนูเป็นที่รักนะ หนูเก่งนะ หนูทำได้นะ” ซึ่งนั่นเป็นคำพูดที่แม่พูดกับเรามาตั้งแต่เด็ก เลยทำให้เราโตมาเป็นแบบนี้ แล้ว ณ ช่วงเวลานั้นไม่ใช่แบบว่า ขอคุยกับแม่หน่อย แต่ครูเงาะถามว่า ที่มาเรียนแบบนี้ รู้สึกยังไง เราก็รู้สึกว่าขอบคุณแม่จริงๆ เพราะหลายคนพอได้กลับไปดูตัวเอง หลายคนเป็นทุกข์มาก บางคนร้องไห้เลย แต่สำหรับตัวเอง พอมองย้อนกลับไป กลับรู้สึกว่ามีความสุขมากๆ เราก็เลยแบบว่า แค่อยากจะพูดเฉยๆ แล้วก็หันไปหากล้องว่า อันนี้ไลฟ์อยู่หรือเปล่า อยากจะขอบคุณแม่เราที่เลี้ยงเรามาดี
ลึกๆ เราก็เลยรู้สึกว่าขอบคุณแม่มากๆ ที่พยายามเลี้ยงดูเรามา ดังนั้นสิ่งที่เราขัดแย้งกัน เราก็เลยพยายามที่จะเข้าใจเขา
แม่เลี้ยงเราแบบตามใจหรือเปล่า
ไม่ได้ตามใจ จริงๆ เขาก็จะกดดันให้ทำสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้น ค่อนข้างจุกจิก แต่ก็สนับสนุน เช่น แบบโค้ชคนนี้ดูถูกลูกชั้นว่าเต้นให้ดีไม่ได้ มา แม่จะพาไปหาโค้ชคนใหม่ แล้วเราอยู่ที่ จ.พิษณุโลก แม่ก็พามาเรียนกับโค้ชใน กทม. คือซัพพอร์ตทุกๆ อย่าง แล้วก็ตอนเด็กๆ เราก็เป็นเด็กหมวย ซึ่งสมัยนั้นความหมายไม่ได้แปลว่าสวย แต่แม่ก็จะบอกว่า ลูกชั้นสวย ตาเฉี่ยวมากลูก ผิวสีน้ำผึ้ง คือจะเป็นสิ่งที่เขาทำให้เรารู้สึกรักตัวเอง มีคุณค่าในตัวเอง
เราเห็นแม่เคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่เด็กเลยไหม
เราเห็นเขาเป็น กปปส. เขาเปิดฟังม็อบตลอด แต่เรารู้สึกว่าเราไม่ชอบ รำคาญ นึกออกใช่ไหม เวทีเสื้อเหลืองก็มักจะมีแต่.. มันเลยทำให้การเมืองเป็นเรื่องน่ารำคาญ ไม่อิน แต่ก็พอเข้าใจว่า คนนี้ถูกกล่าวหาว่าทุจริตเหรอ เราก็ฟังระดับหนึ่ง ไม่ได้รับมาขนาดนั้น แต่ก็พอเข้าใจว่าแม่คิดยังไง
ในฐานะแม่ คุณแน่งน้อยถือเป็นแม่ที่โอเคระดับหนึ่ง
เนทว่าเขาเป็นแม่ที่ดี คือเพื่อนเป็นสิบคนมาที่บ้านได้ แล้วทุกคนเป็นตัวเองได้ เช่นเพื่อนกะเทยก็เอาวิกผมไปแต่งหญิงที่บ้านได้ แม่เขาเปิดรับมาก แล้วลูกเพื่อนมีปัญหาอะไรเขาก็ช่วย
แต่เวลาไปเคลื่อนไหวทางการเมือง แล้วเจอชื่อแม่ในข่าวที่มักตามมาด้วยเสียวิพากษ์วิจารณ์ ตัวเรารู้สึกยังไง
เอาจริงๆ เราก็ไม่แฮปปี้ ตั้งแต่เรียนมหาวิทยาลัยมาจนถึงตอนทำงาน เราก็อยู่ที่ กทม. ส่วนแม่ยังอยู่ที่ จ.พิษณุโลก ฉะนั้นมันจะเริ่มห่างตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เราก็เลยไม่รู้ว่าเขาไปทำงานการเมืองอะไรบ้าง แต่พอรู้แล้วเราก็ไม่ได้อยู่เฉย ก็จะทักไปว่า ทำอย่างนี้อีกแล้วเหรอ แต่ก็พยายามจะเข้าใจ เพราะสิ่งที่เขาทำคือ ศชอ. แล้วบางอย่างก็รู้สึกว่าไม่ได้อยากฟ้องหรอก เด็กอายุ 14 ปี เขาก็เอามาให้ดูเลยนะว่าโพสต์นั้นมันรุนแรงยังไง แล้วคนฝั่งนั้นเขารู้สึกว่ามันไปละเอียดกับศรัทธาในใจของพวกเขา คือโพสต์ที่มันไปกระทบกับศรัทธาของคนจำนวนไม่น้อย แล้วแม่อยู่จุดนั้นในฐานะตัวแทน ลึกๆ แล้วเขาก็อาจจะไม่ได้อยากทำหรือเปล่า แต่เพราะเขาอยู่ตรงนั้น มันเป็นตำแหน่งหน้าที่ของเขาด้วย เขาก็ต้องทำ เนทก็พยายามจะเข้าใจในจุดนี้
ถ้าใจจริงคือไม่อยากฟ้อง แล้วเคยคุยกับแม่เรื่องถอยจาก ศชอ.ไหม
เอาจริงๆ เรื่องเด็กคนนั้นที่ดัง เขาบอกนะว่าได้พยายามคุยแล้ว แต่น้องไม่ยอม น้องแข็ง พยายามคุยแล้ว แต่เขาก็ยังทำอีก แล้วไม่ใช่ครั้งแรก แต่ความจริงเป็นยังไง เราก็ไม่รู้ แต่นั่นคือสิ่งที่เขาบอกมาอีกที
เนทคิดว่าเขาพยายามถอยแล้ว.. แต่มันอาจจะต้องถอยทั้งคู่ คือส่วนตัวมันไม่มีใครควรจะได้รับกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักขนาดนี้จากการแค่ออกมาแสดงความเห็น แต่สำหรับบางคนเขารู้สึกว่ามันร้ายแรงมาก มันผิดกฎหมาย มันคือกบฎ เนทคิดว่ามันต้องถอยทั้ง 2 ฝ่าย
อยากให้อธิบายเพิ่มเติมหน่อยว่า ‘ถอยทั้ง 2 ฝ่าย’ คือยังไง
เนทพูดตลอดว่า เราแสดงความเห็นได้ ตราบใดที่ไม่ผิดกฎหมาย แต่ก็มีบางคนอธิบายว่าในเมื่อเราโกรธ เราก็น่าจะแสดงความโกรธออกมาตามโซเชียลมีเดียได้ทุกอย่างสิ แต่เนทไม่เห็นด้วยตรงนี้ จริงๆ safe space (พื้นที่ปลอดภัย) ที่เคยพูดไว้ในคลิปตอนประกวด Miss Universe Thailand มันไม่ใช่ว่าเราจะต้องให้อีกฝ่ายมาเซฟเราเสมอ แต่เราจำเป็นจะต้องเซฟตัวเองด้วยเหมือนกัน เพราะในเมื่อกฎหมายมันก็ยังมีอยู่ แล้วเรายังแก้ไม่ได้ จริงๆ คนที่อยากจะพูด เนทคิดว่าพูดได้ แต่อาจจะต้องเลือกวิธีที่มันปลอดภัย
แต่คดี 112 มันก็ถูกขยายการเอามาใช้ฟ้องร้องกันแบบกว้างขวางมาก ไม่ใช่แค่การใช้ถ้อยคำ แต่งตัวก็โดน ใส่ชุดไทยก็โดน เรามองยังไง
เพราะมันอยู่ในหมวดความมั่นคง แล้วไม่ใช่เฉพาะมาตรา 112 ยังมีบางมาตราที่นายกรัฐมนตรีก็เอามาใช้ ทำไมอะไรๆ ก็ไม่มั่นคง แล้วคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการตัดสิน สมมุติแม่เนทฟ้องไป 10 คดี ถ้าผู้เกี่ยวข้องเขามีความเป็นกลางพอ รู้สึกว่า เห้ย ไม่เห็นเป็นตามนั้นเขา เขาก็ไม่ยื่นฟ้องก็ได้ ถูกไหมคะ เพราะฉะนั้นหลายๆ ฝ่ายมันต้องช่วยกัน
แต่พอมันเป็นคดี 112 ตำรวจจะกล้าไม่ฟ้องเหรอ อัยการจะกล้าไม่ฟ้องเหรอ
คือทุกคนก็ต้องกล้ายืนยันยืนหยัดในความถูกต้อง แล้วมันมีหรือเปล่าตอนนี้
สมมุติคนฟ้องไม่ใช่แม่เนท แต่เป็นคนอื่น เราจะมีจุดยืนที่ต่างกันหรือเปล่า
หมายถึงว่า เราจะด่ากว่านี้ไหม เราจะโกรธกว่านี้ไหม
(หยุดคิด) อาจเพราะบริบทตอนนี้เรารู้ว่า แม่ฟ้องไปเพราะอะไร เหมือนเราเห็นคนขโมยของ ถ้าเขาขโมยเพราะมักง่ายกับเขาขโมยเพราะมันมีคนป่วยอยู่บ้าน ความรู้สึกมันก็ลดลงอยู่แล้ว ในเมื่อเรารู้ว่าเขาคิดยังไง ถึงทำแบบนี้ มันก็เลยซอฟต์ลง อันนี้ก็ยอมรับ
ส่วนตัวคิดยังไงกับมาตรา 112
บทลงโทษมันรุนแรงไป ขั้นต่ำคือจำคุก 3 ปี เทียบเท่ากับการฆ่าคนโดยไม่เจตนา เห้ย ประเทศมองประเด็นนี้เท่ากับฆ่าคนเลยเหรอ มันไม่ใช่ แล้วยิ่งมันเกี่ยวกับหมวดความมั่นคงด้วย ความมั่นคงมันเปราะบางมากเลยสำหรับการตีความใช้ในบ้านเรา มันควรจะมีขอบเขตมากกว่านี้ ควรจะมีความชัดเจนมากกว่านี้ อะไรได้ อะไรไม่ได้ พื้นที่ปลอดภัยไม่จำเป็นต้องเฉพาะในครอบครัว แต่น่าจะรวมถึงในสังคม ทุกวันนี้เด็กๆ เยาวชนก็ออกมาแสดงออกมากมาย ก็คุยกันตรงๆ เลยก็ได้ว่า เขาทำอะไรได้-ไม่ได้ ก่อนที่จะเราไปฟ้องกัน
ก็ต้องยอมรับว่า มีบางคนเอามาตรา 112 มาใช้เป็นเครื่องมือทำร้ายกันอย่างรุนแรงโดยใช้เหตุ
สำหรับเนท กฎหมายนี้ควรจะยกเลิกไปเลยหรือแค่แก้ไข
ถ้าพูดแบบไม่แคร์แม่ คือยกเลิกไปเลยเถอะ แต่ถ้าพูดแบบแคร์แม่ มันมีได้ แต่มันต้องลด ถ้าเป็นแค่การพูดดูหมิ่น ทุกคนก็เท่ากัน ไม่ว่าจะดูหมิ่นใคร มันก็ควรจะมีโทษเท่ากัน
คือแก้ให้มีโทษเท่ากับการหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป
ใช่ ให้โทษมันเท่ากับคนทั่วไป
แต่ถ้าหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป ถ้าใครรู้สึกว่าโดนละเมิดอยู่ ก็ต้องมาฟ้องเองนะ ต่างกับมาตรา 112 ที่ใครฟ้องก็ได้
อันนี้ก็ควรจะแก้ด้วย แต่จริงๆ เนทรู้สึกว่า ยกเลิกไปเลยก็ได้นะ ซึ่งก็ต้องไปคุยกันในรายละเอียดเหมือนใน 10 ข้อเสนอ (ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม) ต่อว่า ฟ้องได้แค่ไหน ใครรับเรื่องได้ ใครเป็นคนฟ้องอีก ซึ่งรายละเอียดตรงนั้น คิดว่าส่วนตัวอาจไม่มีคุณสมบัติพอจะตอบว่ามันควรจะเป็นแบบไหน
แต่ถ้าถามส่วนตัวก็ยืนยันว่า ไม่เห็นด้วย ยกเลิกไป
เนทรู้สึกว่าศรัทธาและความเคารพ มันไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายมาชี้นำ เราอยากให้คนรักเรา เราจะสร้างกฎมาบังคับเขาเหรอ เราก็ทำอะไรให้คนรักแทนสิ มาซื้อใจกันดีกว่า
แทนการใช้ความหวาดกลัว
ใช่ๆ
คิดยังไงกับข้อเรียกร้องของเยาวชนเรื่อง ‘คนเท่ากัน’
เห็นด้วย แต่เขาก็คงไม่ได้เห็นเราเท่ากันขนาดนั้น ตั้งแต่ระบบทหารเข้ามาปกครอง
แต่การจะพยายามทำให้ทุกๆ คนเท่ากัน ไม่ได้แปลว่าจะไปทำให้ศรัทธาของคนบางกลุ่มด้อยลง คนเรามีศรัทธาได้ แต่กฎเกณฑ์ต่างๆ มันก็ควรจะให้ความเป็นธรรมกับทุกคน
คิดยังไงกับระบบทหารที่อยู่มาตั้งแต่ปี 2557 คิดยังไงกับตัว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
(ตอบเร็ว) รู้สึกว่าทหารกับการเมืองควรจะแยกกัน เพราะระบบที่ขัดเกลาทหาร สร้าง mindset ในหมู่ทหาร มันจะดีถ้าทำเพื่อให้ทหารไปทำหน้าที่ตัวเอง แต่มันจะไม่ดี ถ้าจะทำให้ทหารมาเล่นการเมืองและบริหารประเทศ เช่น mindset เรื่องรักพวกพ้อง จะทำอะไรก็ต้องนึกถึงพวกพ้องก่อน มันก็เลยทำให้เขาพยายามปกป้องพวกของตัวเองเวลาทำผิดอะไรหรือเปล่า ซึ่งเขาก็ไม่ได้มองประชาชนเป็นพวกเดียวกัน แล้ว mindset หลายอย่างก็ไม่เหมาะกับคนเป็นผู้นำ หลายคำพูด เขาก็พูดว่า เขาเป็นผู้บังคับบัญชา การที่คนๆ นึงพูดคำนี้ได้เต็มปาก มันค่อนข้างสะท้อนว่า เขาคิดว่าตัวเองเป็นคนกุมบันเหียนทุกอย่างอยู่ แต่เขาต้องคิดว่า จริงๆ แล้วจุดที่เขาอยู่ตรงนี้ ต้องเข้ามาเพื่อรับใช้ประชาชน แต่สิ่งที่เขาแสดงออกอยู่ มันตรงกันข้าม
ในมุมของเนท คำว่าสังคมประชาธิปไตย ควรจะมีหน้าตาแบบไหน
ประชาธิปไตย คือเรามีอำนาจต่อรองที่จะไปตัดสินอะไรบางอย่างในสังคม โดยระบบคือเรามีตัวแทนของเราไปพูดในสภา แต่การมี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน มันไม่แฟร์ตั้งแต่มีสิ่งนี้แล้ว มันก็คือการสืบทอดอำนาจของ คสช. ในความคิดเนทนะ เพราะ คสช.เป็นคนเลือกเข้ามา แล้วยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็เขียนออกมาล็อกการทำงานต่างๆ ของรัฐบาลไว้แล้ว มันจึงไม่มีทางมีประชาธิปไตยได้ ตราบใดที่ยังมี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน และมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เพราะสุดท้ายคนที่เลือกเราไปเป็นตัวแทนต่อรองอะไรต่างๆ แทนเรา เสียงมันแพ้ตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม
ฉะนั้นเนทคิดว่า ประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของจริง เราควรจะมีตัวแทนที่เป็นธรรมก่อน มีระบบสภาที่เป็นตัวตัดสินกฎหมายและหลายๆ อย่างในประเทศ เราต้องทำให้ตรงนี้มันแฟร์ก่อน เราถึงจะไปเริ่มคุยเรื่องมีประชาธิปไตยได้
ได้ไปเข้าร่วมการชุมนุมระหว่างปี 2563 – 2564 มาบ้างไหม และเห็นโอกาสที่การเคลื่อนไหวนี้จะประสบความสำเร็จแค่ไหน
ไปร่วมชุมนุมหลายครั้ง แต่ยังไม่เห็นโอกาสชนะเท่าไร ไม่เช่นนั้นเขาคงลาออกไปแล้ว
ใน 3 ข้อเรียกร้อง เราสนับสนุนข้อไหนที่สุด
ให้นายกรัฐมนตรีลาออก เพราะเขาอยู่มานานแล้ว ควรจะยอมรับได้แล้วว่า การที่เขาเข้ามาอยู่ การทำงานของเขามันล้มเหลว มันไม่ได้มีอะไรดีขึ้นเลย เขาควรจะยอมรับความผิดของตัวเองหลายๆ อย่าง ให้คนที่พร้อมมากว่านี้เข้ามาทำแทน
แล้วอีก 2 ข้อที่เหลือ ทั้งการแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ล่ะ
ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์น่าจะยากที่สุด เพราะมันเกี่ยวข้องกับศรัทธาของผู้คน ส่วนการแก้ไขรัฐธรรมนูญน่าจะง่ายกว่า แต่ก็ย้อนไปเรื่อง ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน เพราะเขามีผลต่อการโหวตว่าจะยอมให้แก้ไขหรือไม่ มันก็ยากเหมือนกัน
อาจจะเป็นคำถามท้ายๆ การที่เนทเป็น ‘ลูกแน่งน้อย’ มันส่งผลยังไงกับชีวิตบ้าง
ก็อย่างที่เล่า ตอนเด็กๆ เราโตมาโดยมีการซัพพอร์ตที่ดีมาก เรามีโอกาสทำในสิ่งที่เราอยากทำ เขาทำให้เรารู้สึกว่า เราไม่เคยรู้สึกด้อยกว่าคนอื่นเลย
แต่ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของเขา มันก็มีความกดดัน เพราะหลายคอมเม้นต์ มันทำให้เรารู้สึกว่าเหมือนแม่เราไปฆ่าคนตาย แล้วก็โยนความกดดันมาให้เราว่า ทำไมเราไม่ห้าม แล้วทุกครั้งอย่างที่มาประกวด Miss Universe Thailand ก็มีคนบอกว่า ทุกๆ สิ่งที่เราพูด มันจะโดนกังขาโดยการกระทำของแม่ตัวเอง มันก็เป็นความยากในส่วนนี้ ว่าสิ่งที่เราพูด เราเชื่อแบบนี้จริงๆ เหรอ แล้วทำไมแม่เราเป็นแบบนั้น คือคนก็คงอยากจะแยกแยะ แต่มันคงจะแยกยาก แต่ในส่วนของเนท ก็อยากจะบอกว่า เราพยายามเต็มที่ในส่วนของเราแล้ว อะไรที่เราเข้าไปก้าวก่ายไม่ได้ มันก็เป็นแบบนั้น
ซึ่งจริงๆ เราพยายามแล้ว
เราพยายามแล้ว ตอนประกวด ช่วงแรกๆ ที่กระแสมา ก็ทะเลาะกับแม่รุนแรงมาก “เนทจะให้แม่ประกาศไปเลยไหมว่า ตัดแม่ลูกกัน เขาจะได้ไม่ตัดสินเนทจากแม่” ก็คือแรงแบบนี้เลย
เท่าที่ฟังมา เนทกับแม่มีจุดยืนทางการเมืองต่างกัน แต่พอเป็นเรื่องความสัมพันธ์ จุดยืนของทั้งคู่จะแกว่ง
เนทมองว่ามันไม่ได้แกว่งทางการเมือง แต่ประเด็นที่มันแกว่ง มันเกี่ยวกับจิตใจมากกว่า เพราะบางเรื่องมันเกี่ยวกับศรัทธา เหมือนเราคุยเรื่องศาสนา มีคนที่เชื่อมากๆ ในพระเจ้า เราก็คงจะไปพูดไม่ได้ว่า อี้ ทำไมรักพระเจ้าล่ะ สำหรับคนกลุ่มนั้น มันเป็นสิ่งที่ฝังกันมานาน มันเป็นจารีตวัฒนธรรมที่จำเป็นต่อประเทศไทย คือเขาคิดแบบนั้น มันเหมือนกับคนที่คิดว่าศาสนาจำเป็นต้องมีพระเจ้า มันเกี่ยวข้องกับ believe เพราะถ้าเขามาพูดว่า นายกฯ ดีมากๆ อันนี้แย้งได้ เพราะมันไม่ใช่ fact แต่พอเป็นเรื่องของศรัทธา ก็เป็นอีกเรื่อง
แล้วการที่แม่แกว่ง มันเป็นเรื่องของสิทธิมนุษยชนและชีวิตคน แม้เขาจะเห็นว่าสำหรับเขามันผิดกฎหมาย แต่พอมีคนวิพากษ์มามากๆ ว่ามันแรงไปไหม ก็ทำให้เขาแกว่งได้
แล้วจะทำยังไงให้เกิดพื้นที่ที่คนทุกกลุ่มทุกวัย คุยกันได้ทุกเรื่องโดยไม่โดนดำเนินคดี
แม้แต่เนทเองก็เคยโพสต์คลิปบางอย่างบนเฟซบุ๊ก ที่แม่มาเตือนว่าอันนี้เข้าข่าย ขอให้ลบออก แม้โพสต์นั้นจะตั้งค่าให้เห็นเฉพาะเพื่อน แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นเพื่อนกับแม่ในเฟซบุ๊กแล้วเพราะทะเลาะกันบ่อย ส่วนตัวจึงคิดว่า safe space น่าจะเป็นแบบนี้ คือมีการเตือนกันก่อน บางอย่างเราอาจแย้งว่าเรื่องนี้น่าจะพูดได้ มันน่าจะเป็นแบบนี้คือหาตรงกลาง
ตราบใดยังมีมาตรา 112 อยู่ จะมี safe space ได้จริงเหรอ
มันต้องเป็น safe space ที่เราสร้างกันเอง ไม่ใช่รอให้เขาสร้างให้เรา เนทอยากจะย้ำจุดยืนนี้คือในแม่กฎหมายมันยังแก้ไม่ได้ เราก็ต้องพยายามสร้างพื้นที่ปลอดภัยก่อน คู่ขนานกันก็คือรณรงค์เรื่องแก้ไขกฎหมายนี้ไป แต่ส่วนตัวก็มองว่า ยังมีกฎหมายบางอย่างที่น่าจะแก้ง่ายกว่านี้ ถึงตอนนี้ยังแก้ไม่ได้เลย แล้วมาตรา 112 ซึ่งเกี่ยวข้องกับอะไรที่ฝังลึกมานาน ก็อาจจะแก้ไขได้ยาก ระหว่างนี้ พวกเราก็อาจจะต้องเซฟตัวเองกันไปก่อน