หลังเกิดเหตุกราดยิงไปเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากประเด็นเรื่องการเยียวยาผู้ประสบเหตุ รวมถึงข้อเรียกร้องในการปฏิรูปกองทัพ และระบบจัดเก็บอาวุธยุทโธปกรณ์ที่หละหลวมแล้ว คำถามสำคัญที่ตามมาอีกอย่างก็คือ หากเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นอีก ประเทศไทยมีแผนสำรองเพื่อเตรียมตัวสำหรับเหตุการณ์วิกฤตอย่างไรบ้าง
หรือจริงๆ แล้วเนื้อหาว่าด้วยการเตรียมตัวป้องกันเหตุการณ์วิกฤต-ภัยธรรมชาติควรจะต้องบรรจุในหลักสูตรแบบเรียนขั้นพื้นฐาน และฝึกปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจังตั้งแต่ชั้นประถมเลยหรือไม่ เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมความพร้อมตั้งแต่วัยเด็ก เพราะถ้าเราลองนึกแบบเร็วๆ การฝึกซ้อมเพื่อป้องกันเหตุการณ์วิกฤตในปัจจุบัน อาจมีเพียงการซ้อมหนีไฟเมื่อเราเข้าสู่วัยทำงานเท่านั้น
The MATTER ลองไปสำรวจดูหลักสูตรป้องกันตัวในประเทศอื่นๆ ที่มีวิกฤตและภัยพิบัติเกิดขึ้นบ่อยๆ ว่า พวกเขาฝึกซ้อมเตรียมตัวรับมือกันยังไงบ้าง และวิธีการแบบนี้ใช้ได้ผลมากน้อยแค่ไหน
ครูพกปืน นักเรียนใช้เป้ใส หน้าต่างกันกระสุนได้ – กรณี ‘Mass Shooting’ ในสหรัฐอเมริกา
สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่เกิดเหตุการณ์กราดยิงยืดเยื้อและยาวนานมากที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งโรงเรียนไฮสคูลระดับมัธยม เป็นพื้นที่ที่เกิดกรณี mass shooting บ่อยที่สุด
หลังจากเหตุการณ์กราดยิงครั้งใหญ่ที่โรงเรียนมัธยมมาร์จอรี สโตนแมน ดักลาส ในเมืองพาร์คแลนด์ รัฐฟลอริดา เมื่อช่วงต้นปี ค.ศ.2019 ที่ผ่านมามีนักเรียนเสียชีวิตมากถึง 17 ราย ทำให้โรงเรียนหลายแห่งในรัฐฟลอริดาตื่นตัว สร้างมาตรการป้องกันรัดกุมเพื่อไม่ให้เกิดเรื่องสุดสลดเช่นนี้ขึ้นอีก และหนึ่งในกฎใหม่สำหรับนักเรียนในโรงเรียนย่านฟลอริดา ได้แก่ ข้อบังคับให้นักเรียนสะพายกระเป๋าเป้ PVC แบบใสเท่านั้น
ทว่า กฎข้อบังคับนี้กลับถูกนักเรียนต่อต้านมากกว่าเพราะมองว่า เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลมากเกินไปและวิธีการนี้ก็ไม่สามารถรับประกันอนาคตได้ว่า หากใช้กระเป๋าเป้โปร่งใสแล้วจะไม่เกิดเหตุกราดยิงขึ้นอีก
ฉะนั้นสิ่งที่โรงเรียนและทางการควรตระหนักมากที่สุดคือ การกลับไปแก้ไขที่ต้นเหตุของปัญหานั่นคือ กฎหมายครอบครองอาวุธปืนที่เอื้อให้เกิดเหตุการณ์กราดยิงซ้ำซาก
นักเรียนบางกลุ่มให้ความเห็นว่า กระเป๋าเป้แบบใสช่วยให้การป้องกันเหตุกราดยิงมีประสิทธิภาพมากขึ้นบ้างก็จริง แต่อีกนัยหนึ่งมันก็เข้าไปเพิ่มปัญหาในส่วนอื่นๆ อย่างการลักทรัพย์ รวมถึงข้อกังวลเกี่ยวกับความเป็นส่วนตัวสำหรับนักเรียนที่ต้องพกของใช้จำเป็นพวกยารักษาโรค หรือผ้าอนามัย
ส่วนโรงเรียนมัธยมในรัฐเท็กซัสก็หันมาผลักดันมาตรการส่งเสริมให้ครูในโรงเรียนพกพาปืนได้ ประเด็นดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากโรงเรียนแห่งหนึ่งเกิดเหตุกราดยิงจนมีนักเรียนเสียชีวิต 8 คน และครูผู้สอนอีก 2 คน
ภายหลังเหตุการณ์นี้ บวกกับเหตุการณ์กราดยิงที่เมืองพาร์คแลนด์ ทั้งสองมลรัฐจึงมีความเห็นตรงกันในการผลักดันข้อกฎหมายสนับสนุนให้ครูผู้สอนติดอาวุธเพื่อใช้ยิงตอบโต้ในยามฉุกเฉินได้
โครงการนี้มีชื่อว่า ‘marshal program’ เป็นการฝึกอบรมครูและบุคลากรคนอื่นๆ ในโรงเรียนสำหรับพกพาอาวุธปืน และเก็บปืนไว้กับตัวได้ตลอดเวลา ทางวุฒิสภาที่เป็นผู้พิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้เห็นด้วยว่า การเก็บปืนไว้กับตัวน่าจะเป็นผลดีกว่าการเก็บไว้ในล็อคเกอร์เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์จริง ปืนนั้นจะไม่สามารถหยิบมาใช้งานได้ทันท่วงที
ในขณะเดียวกัน กลุ่มครูและนักเคลื่อนไหวกฎหมายควบคุมปืนก็ออกมาแสดงความกังวลว่า การให้ครูพกปืนติดตัวตลอดเวลาแบบนี้ค่อนข้างอันตรายและมีช่องโหว่มากๆ ปริมาณอาวุธที่เพิ่มขึ้นในโรงเรียนไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด พวกเขามองว่า ปืนที่ใกล้ตัวเด็กๆ ในระดับนี้อาจนำมาสู่ความรุนแรงระหว่างเด็กด้วยกันเองก็ได้
นอกจากนี้ บทความจาก Buzzfeed ยังได้รวบรวมวิธีการเอาตัวรอดจากการกราดยิงไว้ค่อนข้างน่าสนใจและส่วนใหญ่ดูจะเป็นวิธีการแบบ ‘active’ มากกว่าด้วย
ผู้อำนวยการโรงเรียนแห่งหนึ่งในรัฐเพนซิลเวเนียมีมาตรการแจกไม้เบสบอลขนาดเล็กให้กับนักเรียนพร้อมย้ำว่า ต้องเก็บไว้กับตัวคนละ 1 ชิ้น และเก็บไว้ที่ห้องเรียนอีก 1 ชิ้น แม้ว่าต่อมาวิธีนี้จะถูกวิจารณ์จากสื่อมวลชนและสาธารณะว่า เหมือนเป็นการผลักภาระให้เด็กต้องออกไปต่อสู้
แต่เขาก็ยืนยันว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการเตรียมความพร้อมมากกว่าที่จะไม่ทำอะไรเลย ซึ่งโรงเรียนในรัฐเพนซิลวาเนียบางแห่งก็ได้เพิ่มมาตรการเก็บถังใส่หินขนาด 5 แกลลอนไว้ในห้องเรียนเพื่อเป็นการหยุดยั้งมือปืนกราดยิงในขั้นตอนเริ่มต้น
ส่วนสุดท้ายคือ เสื้อผ้าและการแต่งกาย หลังจากเหตุกราดยิงในเมืองพาร์คแลนด์ ทำให้หลายโรงเรียนออกกฎให้นักเรียนต้องห้อยบัตรประจำตัวหรือ ‘id card’ ทุกครั้งที่มาโรงเรียน ในเมืองซานตาเฟ หลังจากมีเหตุกราดยิงโรงเรียนได้ออกกฎห้ามสวมใส่เสื้อโค้ทแบบยาวหรือที่เรียกว่า ‘trench coat’ รวมถึงแจ็คเก็ตที่มีกระเป๋าด้านในและด้านนอกจำนวนมาก
สำหรับอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยอื่นๆ หลายโรงเรียนที่เคยประสบเหตุกราดยิงได้ติดตั้งบานประตูและหน้าต่างกันกระสุนที่มีความแข็งแรงในระดับที่ต้องระดมยิงติดต่อกัน 10 นาทีกระจกถึงจะแตก
รวมถึงโรงเรียนในรัฐนิวเจอร์ซีทั้งระดับประถมและระดับมัธยมต้องติดตั้ง ‘emergency panic button’ หรือปุ่มแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย ที่ใช้สำหรับส่งสัญญาณเตือนดังออกไปภายนอกตึก เพื่อความรวดเร็วในการเข้ามาเคลียร์พื้นที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจนั่นเอง
มากกว่าแบบเรียน คือต้องฝึกภาคปฏิบัติอย่างจริงจังด้วย – ว่าด้วยเหตุการณ์ภัยพิบัติทางธรรมชาติ
นอกจากเหตุกราดยิงที่ต้องฝึกให้เด็กๆ เตรียมรับมือให้พร้อมแล้ว เหตุการณ์ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ล่วงหน้าอีกอย่างคือ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งเหตุการณ์น้ำท่วม แผ่นดินไหว หรือสึนามิครั้งใหญ่
ในเมืองวิศาขาปัตตนัม ประเทศอินเดีย ได้วางแผนโครงการอบรมทักษะการเอาตัวรอดจากเหตุการณ์สึนามิให้กับนักเรียนกว่า 7,000 คนใน 6 โรงเรียน โครงการนี้จะให้ความรู้พื้นฐานและจำลองการฝึกซ้อมเสมือนจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรงเรียนที่ตั้งอยู่ใกล้ชายฝั่งทะเล การอบรมครั้งนี้ไม่ได้หวังให้ความรู้กับนักเรียนที่เข้าร่วมโครงการเท่านั้น แต่ยังต้องการให้เด็กๆ นำทักษะที่ได้ไปบอกต่อกับครอบครัวด้วย
ส่วนประเทศญี่ปุ่น ประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีเหตุการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้นบ่อยมากๆ นั้น รัฐบาลญี่ปุ่นได้วางรากฐานเรื่องนี้ตั้งแต่การคิดริเริ่มโครงการกับสหประชาชาติในชื่อว่า โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์สึนามิให้กับเด็กนักเรียนในประเทศเสี่ยงภัยแถบเอเชียและแปซิฟิกอื่นๆ
ไอเดียเริ่มต้นของโครงการนี้เกิดจากการที่ประชาชนส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นมีความรู้ความเข้าใจในทักษะการเอาตัวรอดค่อนข้างดีมาก นักเรียนส่วนใหญ่รู้ว่าสึนามิคืออะไร และหากเกิดเหตุการณ์ขึ้นจะต้องตอบสนองกับสถานการณ์ตรงหน้ายังไงได้บ้าง
ตัวอย่างเช่น เหตุการณ์แผ่นดินไหว ณ เมืองโทโฮคุ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ.2011 มีผู้เสียชีวิตมากถึง 15,800 คน และมีผู้สูญหายอีก 2,660 คน ทว่า เหตุการณ์ครั้งใหญ่นี้กลับมีนักเรียนรอดชีวิตราวๆ 3,000 คน นำไปสู่การตั้งข้อสังเกตที่ว่า อะไรทำให้เด็กๆ เหล่านี้มีไหวพริบที่สามารถเอาตัวรอดจากภัยพิบัติที่คร่าชีวิตคนไปมากมาย
ต่อมาจึงมีการสำรวจพบว่า ทันที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 9.0 แม็กนิจูด เด็กๆ จะรีบวิ่งออกไปยังที่สูง ซึ่งในขณะนั้นชาวบ้านรอบๆ ที่ตั้งโรงเรียนยังไม่ได้เตรียมพร้อมวิ่งขึ้นที่สูงกัน แต่เมื่อเด็กๆ พร้อมใจกันวิ่งออกไปเป็นหมู่คณะก็ทำให้บ้านเรือนละแวกนั้นตื่นตัวและหนีเอาตัวรอดไปพร้อมๆ กับนักเรียน ซึ่งเด็กนักเรียนที่โตกว่ายังสามารถช่วยเหลือเด็กประถมตัวเล็กๆ ไปยังสถานที่ที่ปลอดภัยได้ด้วย
สิ่งที่ทำให้เด็กๆ จดจำและนำมาปฏิบัติในสถานการณ์จริงได้ดีขนาดนี้เป็นเพราะการจัดตั้งโครงการศึกษาการป้องกันภัยพิบัติสึนามิ ที่ได้รับความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมโยธามาช่วยดูแลหลักสูตร และนำไปสอนในเชิงปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง
ผู้เชี่ยวชาญในการป้องกันภัยพิบัติน้ำท่วมอธิบายถึงหลักการ 3 ข้อง่ายๆ ที่ใช้สอนเด็กๆ
1.ต้องตื่นตัวกับภัยพิบัติตลอดเวลา อย่าคิดว่าบ้านและโรงเรียนไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงแล้วจะสามารถละเลยการเตรียมความพร้อมได้
“ผู้คนบางส่วนมักจะประเมินสถานการณ์จากแผนที่พล็อตจุดเกิดเหตุสึนามิในครั้งที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีใครการันตีได้หรอกว่า จุดอื่นๆ จะปลอดภัย และไม่เกิดวิกฤตในอนาคต” คำบอกเล่าจากผู้เชี่ยวชาญที่มีส่วนในการปรับปรุงหลักสูตร
2. พวกเขาจะกระตุ้นครูและนักเรียนทุกครั้งที่มีการฝึกซ้อมอยู่เสมอ โดยเฉพาะครูที่มีสถานะกึ่งๆ ผู้นำในการช่วยเหลือ ส่วนนักเรียนที่โตกว่าก็จะตระหนักอยู่เสมอว่า ต้องช่วยเหลือน้องๆ ที่ตัวเล็กและอายุน้อยกว่า
3. ต้องให้กำลังใจและผลักดันให้เด็กๆ มีความกล้าที่จะอพยพ หลายๆ ครั้งเมื่อเกิดเหตุขึ้น เด็กนักเรียนบางคนจะไม่กล้าเคลื่อนตัวเท่าไหร่ แต่ในโครงการนี้ผู้เชี่ยวชาญจะช่วยกระตุ้นส่งเสริมให้เด็กทุกคนมีความกล้าเผชิญหน้ากับวิกฤต ไม่ต้องกลัวที่จะเป็นคนแรกในการเริ่มอพยพ
ด้านฟิลิปปินส์ ได้บรรจุหลักสูตรเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยพิบัติทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา โดยเริ่มต้นจากการอบรมให้ความรู้กับครูก่อน ซึ่งจะเน้นไปที่การแจ้งเตือนในเวลาฉุกเฉิน เตรียมความพร้อมในส่วนของยาและอุปกรณ์ฉุกเฉิน รวมถึงเวลาที่เหมาะสมในการอพยพ
ส่วนเด็กๆ จะได้รับการสอนให้รีบเอาตัวรอดให้เร็วที่สุดโดยไม่ต้องรอครูหรือผู้ใหญ่คนอื่นๆ ตรงนี้มาจากข้อกังวลของส.ส. ที่มีบทบาทเกี่ยวกับเยาวชนเขามองว่า ผู้บริหารในหลายโรงเรียนไม่ได้เข้มงวดกับการฝึกซ้อมมากเท่าไหร่ เนื่องจากขาดอุปกรณ์และเงินทุน ซึ่งผู้ปกครองบางคนเองก็ให้ความสำคัญกับวิชาการมากกว่าการฝึกซ้อมภัยพิบัติด้วยซ้ำ
แต่ปัจจุบันทางฟิลิปปินส์พยายามเข้มงวดกับการซ้อมมากขึ้น มีการซ้อมเหตุฉุกเฉินในโรงเรียนทุกๆ 3 เดือน เพื่อเตรียมรับมือกับภัยพิบัติทั้งแผ่นดินไหว ภูเขาไฟ พายุไต้ฝุ่น และน้ำท่วมที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี
สำหรับประเทศไทยเราได้สอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) และได้รับคำตอบมาว่า ในส่วนของเหตุการณ์ภัยพิบัติมีการบรรจุในแบบเรียนขั้นพื้นฐานตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 แล้ว แต่ในส่วนของการฝึกปฏิบัตินั้น ไม่สามารถให้คำตอบที่แน่ชัดได้
เราได้ถามต่อไปว่า เหตุการณ์กราดยิงที่เพิ่งเกิดขึ้นจะมีการนำไปพิจารณาเพื่อปรับปรุงหลักสูตรเอาตัวรอดเพิ่มไหม ทางเจ้าหน้าที่ของ สพฐ. ให้ข้อมูลว่า ยังไม่ได้มีการนำเรื่องนี้ไปพิจาณา เป็นส่วนของระดับปฏิบัติการที่ต้องรอผู้อำนวยการ สพฐ. นำเรื่องเข้าพิจารณาในลำดับต่อไป
ตัวอย่างจากญี่ปุ่นน่าจะพอช่วยอธิบายได้ว่า ทำไมเราถึงต้องมีการเตรียมความพร้อมกันตั้งแต่ระดับโรงเรียน เพราะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่สามารถคาดการณ์ได้เลย วันหนึ่งเรื่องที่ดูไกลตัวสุดๆ อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเราเมื่อไหร่ก็ได้