“หนังสือพิมพ์ A ประกาศปิดตัว”
“นิตยสาร B จะวางแผงฉบับนี้เป็นฉบับสุดท้าย”
ปี 2559 เป็นปีที่ข่าวร้ายในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ไทยทยอยออกมาเป็นระลอกๆ จนทุกครั้งที่มีข่าวเช่นนี้ออกมา เรามักได้ยินเสียงถอนหายใจพร้อมรำพึงรำพันว่า “ปิดไปอีกฉบับหนึ่งแล้ว”
แต่ข่าวร้ายคงยังไม่หมดเพียงแค่นี้แน่นอน ผู้เกี่ยวข้องหลายคนประเมินตรงกันว่า สถานการณ์ปีหน้าจะหนักยิ่งกว่าปีนี้ และปีต่อไปจะหนักยิ่งกว่าปีหน้า โดยเหตุผลก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เป็นอย่างทุกๆ คนรู้กัน คือ ‘พฤติกรรมของผู้บริโภค’ เปลี่ยนไป จากคนอ่านกระดาษก็หันไปอ่านออนไลน์ กระทบต่อรายได้ขององค์กรสื่อสิ่งพิมพ์เหล่านั้นจนยากจะอยู่ได้ในทางธุรกิจ
แต่คำถามก็คือ นั่นเป็นเหตุผลเดียว เป็นทุกสิ่งทุกอย่าง ของการปิดตัวของหนังสือพิมพ์เก่าแก่ ของนิตยสารที่เป็นตำนานจริงๆ หรือไม่
คำตอบก็คือ …คงไม่ใช่อย่างแน่นอน
The MATTER จะขอคลี่เบื้องหลังพาดหัวข่าวชวนใจหายดังกล่าว เพื่อให้ผู้อ่านรู้ว่า ยังมีเหตุผลอื่นๆ ที่สื่อสิ่งพิมพ์หลายๆ ฉบับ จะใช้พิจารณาว่าจะหยุดแค่นี้หรือไปต่อ
1. โฆษณาเหือดหาย
จำนวนคนอ่านที่หายไม่ได้กระทบต่อตัวสื่อสิ่งพิมพ์โดยตรง แต่พอคนอ่านหายแล้วทำเงินโฆษณาหายไปด้วย นั่นแหละถึงจะกระทบเต็มๆ เพราะ ‘ค่าโฆษณา’ คือท่อน้ำเลี้ยงสำคัญของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะนิตยสารส่วนใหญ่ ที่รายได้ 75-80% มาจากค่าโฆษณา
ข้อมูลจากบริษัท นีลเส็น ประเทศไทย จำกัด ระบุว่า ค่าโฆษณาในวงการนิตยสาร ช่วง 10 ปีหลัง หายไปถึงกว่า ‘หนึ่งในสาม’ จาก 6.1 พันล้านบาทในปี 2549 เหลือเพียง 4.2 พันล้านบาทในปี 2558 ขณะที่มีนิตยสารบนแผงกว่า 400 ฉบับ
จะแปลกอะไรที่เจ้าของนิตยสารบางฉบับจะรู้สึกเหนื่อยหน่ายที่ต้องมาแย่งชิงเค้กก้อนที่มีขนาดเล็กลงไปทุกที สู้กำเงินไปลงทุนทำธุรกิจประเภทอื่นๆ ไม่ดีกว่าหรือ
นิตยสารหลายๆ ฉบับจึงเลือกที่จะปิดตัว เพราะรายได้ลดลงอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะบรรดานิตยสารแฟชั่น อาทิ เปรียว Volume Image ฯลฯ ที่ต้นทุนการผลิตต่อเล่มสูงกว่าราคาขายบนหน้าปก 1-2 เท่า
2. เจ้าของถอดใจ หรือผลัดรุ่น
มีคำกล่าวอมตะที่ว่าการทำธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ก็เหมือน ‘เอาเงินมาเผาทิ้ง’ ต้องอาศัยความกล้าหาญ บ้าบิ่น รวมถึงกึ๋นในการเข้ามาสู้ศึกในสนามรบนี้ ในยุคสมัยที่อุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์เฟื่องฟู หลายเจ้าก็ประสบความสำเร็จจากความกล้าได้กล้าเสียครั้งนั้น ไม่แปลกใจที่นิตยสารหลายๆ ฉบับจะมีอายุยืนยาวถึง 30-40 ปี ทว่าพอมาถึงปัจจุบันที่วงการสื่อสิ่งพิมพ์เข้าสู่ภาวะข้าวยากหมากแพง เจ้าของหนังสือที่เคยประสบความสำเร็จบางคนก็อาจจะถอดใจ ทำไมต้องมาปากกัดตีนถีบตะลุมบอนแย่งชิงเงินโฆษณาที่ก้อนเล็กลงเรื่อยๆ ไม่นับรวมถึงการผลัดรุ่นเปลี่ยนเจ้าของไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน ที่ไม่เห็นว่าสื่อสิ่งพิมพ์จะเป็นการทำธุรกิจที่ดีอีกต่อไป
ว่ากันว่า เหตุผลที่นิตยสารคลาสสิกอย่าง ‘สกุลไทย’ ที่สร้างนักเขียนนวนิยายระดับชาติมาครองใจคนอ่านนักต่อนักต้องปิดตัวลง ก็เนื่องมาจากการเสียชีวิตของผู้ก่อตั้งอย่าง ประยูร ส่งเสริมสวัสดิ์ เช่นกัน
3. เฉือนอวัยวะรักษาชีวิต
การประกอบธุรกิจสิ่งพิมพ์ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ หลายครั้งมีเหตุผลมากกว่าแค่เรื่อง ‘ธุรกิจ’
วันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เคยฉายภาพธุรกิจหนังสือพิมพ์ไทยอย่างย่นย่อให้ฟังว่า เจ้าของหนังสือพิมพ์บางคนไม่ได้ทำธุรกิจหนังสือพิมพ์เพียงอย่างเดียว แต่ยังทำธุรกิจอื่นๆ ด้วย หนังสือพิมพ์นอกจากใช้เพื่อหารายได้ ยังใช้เพื่อสร้างเกียรติยศ สร้างตัวตนในสังคม รวมไปถึงใช้เพื่อต่อยอดธุรกิจหลักๆ ที่เจ้าของหนังสือพิมพ์คนนั้นๆ มีอยู่ ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรงจริงๆ คงไม่มีใครอยากปิด
ทว่ามาถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งวงการหนังสือพิมพ์ก็ตกต่ำไม่แพ้นิตยสาร ข้อมูลจากบริษัทนีลเส็นฯ เม็ดเงินโฆษณาลดลงจาก 1.5 หมื่นล้านบาทในปี 2549 เหลือ 1.2 หมื่นล้านบาทในปี 2558 หรือลดลงราว 20% ในขณะอิทธิพลของหนังสือพิมพ์ต่อสังคมไทยก็ลดลงไปเรื่อยๆ
การถือครองธุรกิจหนังสือพิมพ์เอาไว้จึงไม่ให้ประโยชน์กับเจ้าของเช่นที่เคยเป็น แถมบางครั้งยังไปดึงธุรกิจหลักให้แย่ลงอีก
การเฉือนอวัยวะเพื่อรักษาชีวิตจึงเกิดขึ้น ทั้งในแวดวงนิตยสารและหนังสือพิมพ์
4. อนาคตชวนสยอง
แม้จะรู้กันมานานว่า อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์มีอนาคตไม่ค่อยจะสดใสนัก แต่ผู้เกี่ยวข้องหลายๆ คนต่างก็ยังมองโลกในแง่ดีว่าจะน่าจะมีโอกาสอยู่รอดได้
ทว่า อธิคม คุณาวุฒิ บรรณาธิการบริหารของนิตยสาร Way Magazine ไม่คิดอย่างนั้น หลังจากไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน จึงประกาศแจ้งผู้อ่านผ่านทางเฟซบุ๊กช่วงปลายปี 2558 ว่าจะเปลี่ยนแปลงจากที่เคยวางแผงทุกเดือน กลายมาเป็น 4 เดือน และนำคอลัมน์ทั้งหมดขึ้นไปอยู่บนเว็บไซต์ โดยเขาให้เหตุผลว่า “เป็นเพียงการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอด มีโอกาสเติบโตบนเงื่อนไขข้อเท็จจริง และมีอนาคต”
เช่นเดียวกับผู้ประกอบการนิตยสารและหนังสือพิมพ์หลายรายที่เริ่มไปรุกหารายได้บนโลกออนไลน์มากขึ้น เพราะต่างรู้แล้วว่า หากยังทำธุรกิจแบบเดิมยากจะอยู่รอดได้ และวงการสิ่งพิมพ์คงจะมีแต่สาละวันเตี้ยลง
หลากหลายเหตุผลข้างต้น ถ้าอ่านดูดีๆ คล้ายจะเกี่ยวพันกัน และมีสาเหตุพื้นฐานมาจากบูมสุดขีดของอินเตอร์เน็ตที่มาแย่งชิง ‘คนอ่าน’ ไปจากหน้ากระดาษ
ทว่าสิ่งที่เราต้องการจะบอกก็คือ บางครั้งการพิจารณาว่าจะปิดตัวนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ฉบับใด มีเหตุผลมากกว่าแค่เรื่องธุรกิจเพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งพิมพ์หลายๆ หัวมีเรื่องราว มีตำนาน มีความผูกพัน มีคุณค่าทางจิตใจในรูปแบบที่อธิบายได้ลำบาก เราจึงได้เห็นการ ‘ยื้อ’ ให้ยังมีชีวิตต่อไป ทั้งการลดค่าใช้จ่ายภายในกองบรรณาธิการ การลดต้นทุนเช่นลดความถี่ในการวางแผงหรือลดจำนวนหน้า หรือไปจนถึงขั้นสุดท้าย ปรับลดจำนวนพนักงาน
แต่ภาวะยื้อเช่นนี้จะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน
…ตัวชี้วัดสำคัญอยู่ในสิ่งไร้หัวใจ ที่ชื่อ ‘ตัวเลขผลประกอบการ’
แฟนเพจจุลสารราชดำเนินของสมาคมนักข่าวฯ เคยตรวจสอบผลประกอบการของสื่อสิ่งพิมพ์ชื่อดัง ทั้งในส่วนของนิตยสารและหนังสือพิมพ์ของปี 2558 ก่อนจะพบว่า มากกว่าครึ่งประสบภาวะขาดทุนสุทธิ
กรณีนิตยสาร 40 ฉบับที่ถูกตรวจสอบ มีตัวเลขผลประกอบการที่ตรวจสอบได้ 33 หัว โดย 16 หัวประสบภาวะขาดทุนสุทธิ และเริ่มขาดทุนหนักๆ ช่วง 2-3 ปีหลังนี่เอง
ส่วนกรณีหนังสือพิมพ์ 20 ฉบับที่ถูกตรวจสอบ ก็มีสภาพไม่ต่างกัน บางฉบับถ้าเป็นคนไข้คงต้องพาไปอยู่ในห้องไอซียูโดยด่วน
ปีนี้อาจเป็นแค่การ “เผาหลอก” ปีหน้าสิ “เผาจริง”
ใครเป็นแฟนนิตยสารหรือหนังสือพิมพ์ฉบับใด รีบซึ้อเก็บไว้ เพราะสิ่งนั้นอาจหาไม่ได้อีกในอนาคต!