นาฬิกาบอกเวลาสิ้นสุดการทำงานของวัน ขณะที่เพื่อนร่วมงานยังคงขมักเขม้นอยู่หน้าจอคอมฯ หัวหน้าก็ดูไม่มีทีท่าว่าจะลุกไปไหน แม้ใจจะก้าวขึ้นรถตรงดิ่งกลับบ้านแล้ว แต่กายหยาบยังไม่กล้าแม้แต่จะเก็บกระเป๋าลุกออกไป เพราะกลัวสายตาที่เหมือนกำลังบอกว่า เราเป็นคนไม่ขยัน ไม่ทุ่มเทให้กับการทำงาน พาลให้รู้สึกผิดไปในตัว
ตั้งแต่เมื่อไรกันที่การทำงานล่วงเวลากลายเป็นเรื่องธรรมดา และการเลิกงานตรงเวลากลายเป็นเรื่องรู้สึกผิดเสียอย่างนั้น?
ถ้านั่งไทม์แมชชีนย้อนกลับไปช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือประมาณ 100 กว่าปีที่แล้ว คนส่วนใหญ่ทำงานเฉลี่ย 55-72 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพื่อให้สามารถผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ในสงครามได้ทัน แต่ต่อมาเริ่มมีงานวิจัยที่ออกมายืนยันว่า ระดับการผลิตที่มีประสิทธิภาพ (productivity) สูงสุดจะหยุดอยู่ที่ 40 ชั่วโมง/สัปดาห์ หลังจากนั้นประสิทธิภาพการทำงานจะลดหลั่นลงจน ‘ไม่คุ้ม’ กับการลงทุนลงแรงทำต่อไป ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า ‘diminishing returns’
เมื่อเรื่องนี้มาถึงหูของ ‘เฮนรี ฟอร์ด’ (Henry Ford) เจ้าของ Ford Motors เขาเลยนำมาปรับใช้กับกิจการของตัวเองเมื่อประมาณปี ค.ศ.1926 จนการทำงาน 40 ชั่วโมง/วัน หรือการทำงานแบบเก้าโมงเช้า เลิกห้าโมงเย็น เริ่มกลายเป็นเรื่องปกติของหลายบริษัทในปัจจุบัน
ทว่าผลการสำรวจจาก ADP Research Institute ในปี ค.ศ.2021 กลับพบว่าพนักงานทั่วโลกทำงานล่วงเวลา (overtime) แบบไม่ได้รับค่าจ้างประมาณ 9.2 ชั่วโมง/สัปดาห์ ซึ่งอีกนัยหนึ่งอาจหมายถึงปัจจุบัน ‘คนส่วนใหญ่จะเลิกงานช้ากว่าปกติวันละประมาณสอง ชั่วโมง’
แต่อะไรทำให้เป็นแบบนั้น?
ในบทความของ BBC ได้เขียนถึงวัฒนธรรมการทำงานหนักจนเกินไป ว่าเกิดขึ้นมาจากหลายสาเหตุด้วยกัน อย่างประเทศญี่ปุ่นที่เริ่มมีวัฒนธรรมการทำงานหนักในช่วงฟื้นฟูประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือบางอุตสาหกรรมอย่างการแพทย์มีแนวโน้มต้องแบกรับภาระงานหนักขึ้นในช่วงที่มีโรคระบาด หรือแม้แต่ค่านิยมการทำงานหนักในช่วงปลายทศวรรษ 1990 และต้นทศวรรษ 2000 ก็อาจจะมาจากบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอย่าง Google, Facebook, Twitter, และอีกหลายบริษัทที่เข้ามามีอิทธิพลสำคัญต่อวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลก ซึ่งเรามักจะได้ยินถ้อยคำทำนองว่าการจะเปลี่ยนโลกได้เราต้องเสียสละและทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างแข็งขัน อย่างในปี ค.ศ.2018 อีลอน มัสก์ เคยกล่าวในทวิตเตอร์ของเขาว่า “ไม่มีใครเปลี่ยนโลกได้ด้วยการทำงาน 40 ชั่วโมง/สัปดาห์” (“[…] nobody ever changed the world on 40 hours a week”) ความเหนื่อยล้าจากทำงานหนักเลยถูกมองว่าเหมือนกับสัญลักษณ์ของ ‘ความสำเร็จ’ ไปโดยปริยาย
ขณะเดียวกันเทคโนโลยีเหล่านี้ยิ่งเอื้อให้มนุษย์ใช้ชีวิตแบบไม่หยุดหย่อนตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นร้านสะดวกซื้อ โซเชียลมีเดีย การสื่อสาร การช็อปปิ้งออนไลน์และธุรกรรมอีกมากมายที่สามารถเกิดขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง เส้นแบ่งของการพักผ่อนกับการทำงานจึงเบาบางลงเรื่อยๆ ยิ่งช่วงการระบาดของเชื้อ COVID-19 ยิ่งทำให้เส้นแบ่งระหว่างเวลาเริ่มและเวลาเลิกงานลดลงไปกว่าเดิมเพราะเราสามารถทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา ซึ่งในด้านหนึ่งความยืดหยุ่นนี้อาจเป็นข้อดีให้หลายคนบริหารจัดการเวลาชีวิตตัวเองได้ง่ายขึ้น แต่อีกด้านคือบางบริษัทเริ่มคาดหวังให้พนักงาน ‘พร้อมทำงานตลอดเวลา’ แต่แทนที่จะพาไปสู่ความสำเร็จอย่างรวดเร็ว กลับกลายเป็นการเร่งให้พนักงานรู้สึก ‘หมดไฟในการทำงาน’ (burnout) มากกว่า
องค์การอนามัยโลกนิยาม ‘ภาวะหมดไฟ’ ว่าเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความเครียดเรื้อรังในการทำงานที่ยังไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม โดยคนที่เผชิญกับภาวะนี้มักจะรู้สึกอ่อนเพลีย อ้อนล้าทั้งร่างกายและจิตใจ เริ่มมองงานในแง่ลบ รวมทั้งประสิทธิภาพในการทำงานลดลง
นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ.2015 พบว่า คนที่ทำงานมากกว่า 55 ชั่วโมง/สัปดาห์ มีความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองมากกว่าคนที่ทำงาน 35-40 ชั่วโมงถึง 33% และพบว่าพนักงานที่ทำงานหนักเกินไปมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้น 13% อีกด้วย แม้งานวิจัยนี้จะไม่ได้พิสูจน์ว่าการทำงานเป็นสาเหตุด้านสุขภาพ ‘โดยตรง’ แต่ก็ทำให้เราเห็นความสัมพันธ์ระหว่างการทำงานหนักกับความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้นได้เหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอีกชิ้นที่บอกว่า ‘วิธีบริหารจัดการเวลา’ นั้นส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานมากกว่าชั่วโมงที่เราทำงานเสียอีก
ทั้งหมดนี้ก็พอจะทำให้เห็นแล้วว่าการทำงานให้เสร็จแล้วกลับบ้านตามเวลาเลิกงานเป็นเรื่องธรรมดาที่ไม่ได้น่ารู้สึกผิดอะไร แถมการทำงานหนักเกินไปกลับกลายเป็นผลร้ายทั้งต่อตัวเราเองและบริษัทมากกว่า เช่นเดียวกับสิ่งที่ คริสตินา มาสลาช (Christina Maslach) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ ให้สัมภาษณ์กับ BBC เกี่ยวกับการทำงานหนักจนเกินไปว่า
“ถ้าคุณเอาต้นไม้มาใส่ในกระถางแล้วไม่รดน้ำ ดินไม่ดี แสงแดดไม่พอ ฉันไม่สนหรอกว่าต้นไม้ต้นนั้นจะงอกงามมาตั้งแต่ต้น เพราะสุดท้ายแล้วมันจะไม่เติบโต”
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Krittaporn Tochan