ในยุคที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและนวัตกรรมใหม่ๆ ‘ความรวดเร็ว’ คืออีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเดินหน้าสู่เป้าหมาย การแข่งขันของโลกคนทำธุรกิจก็จำเป็นต้องคิดหาสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้ทันใจ ในขณะเดียวกัน เมื่อว่าด้วยการกอบกู้วิกฤติใดๆ ก็ต้องอาศัยกลยุทธ์ที่แก้ปัญหาได้ตรงจุดและทันการณ์เสมอ
ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา เราต่างเห็นความเปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์ที่ทุกคนประสบทั่วโลก สิ่งหนึ่งที่ทำให้รับรู้ได้นั้นคือ การแก้ไขและตั้งรับอย่างมีแบบแผนและรวดเร็วจะช่วยพลิกสถานการณ์ได้เสมอ หากจะยกตัวอย่างการแก้ไขดังกล่าวให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้นการรับมือการแพร่ระบาดของโรคโควิดด้วยระบบ Operation Warp Speed (OWS) ของสหรัฐอเมริกา
เมื่อปี ค.ศ.2020 สหรัฐอเมริกาคือประเทศที่มีอัตราผู้เสียชีวิตจากการแพร่ระบาดของ COVID-19มากที่สุด ถึงอย่างนั้น ระบบ OWS ก็ถูกจัดตั้งขึ้นมา เพื่อช่วยแก้ปัญหาและเร่งทดสอบ ผลิต พัฒนา และจัดสรรวัคซีนที่มีประสิทธิภาพไปให้ถึงมือประชากรทุกคน จนนำมาสู่การช่วยเหลือชีวิตผู้คนอีกนับล้านไม่ให้สูญเสียไปมากกว่าเดิม
สิ่งที่น่าสนใจของระบบ OWS ก็คือขั้นตอนการทำงานที่สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดและองค์ประกอบของการมุ่งหา solutions มาแก้ไข pain point ของผู้คนได้อย่างตรงจุดและรวดเร็ว ทั้งในแง่ของการจัดหาตั้งแต่ต้นน้ำ การผลิต การกระจายของ ตลอดจนจัดสรรให้ได้ตามความต้องการของผู้คนอย่างทั่วถึง ซึ่งอาจเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาของโมเดลที่นำมาประยุกต์ใช้กับระบบการผลิตและการกระจายสินค้าในภาคอุตสาหกรรม
ลองมาดูขั้นตอนของระบบ OWS ว่ามีองค์ประกอบหรือซ่อนแนวคิดอะไรที่คนทำธุรกิจหรือคนรักการคิดค้นสร้างสิ่งใหม่ๆ มาแก้ปัญหามนุษย์อาจสนใจและน่าลองปรับใช้กับงานตัวเองกันบ้าง
มองวิธีแก้ปัญหาแบบระยะยาว
หากคุณเป็นคนทำธุรกิจ การคิดนำคู่แข่งหนึ่งก้าวอาจทำให้คุณอยู่เหนือคู่แข่งได้ แต่ในมุมของการรับมือวิกฤติเร่งด่วนเช่นนี้ การคิดแบบมองไปข้างหน้ายังช่วยให้เราค้นพบทั้งวิธีแก้ไขและการป้องกันล่วงหน้าได้ในคราวเดียว แน่นอนว่าวิธีคิดดังกล่าวเริ่มจากการตีปัญหาให้แตกและมองหาตัวเลือกของวิธีแก้ปัญหาที่หลากหลาย
ย้อนกลับไปก่อนเกิดระบบ OWS ทุกอย่างเริ่มต้นขึ้นที่อีเมลโต้ตอบกันในหมู่แพทย์และผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข ที่มีชื่ออีเมลว่า Red Dawn (มีที่มาจากชื่อหนังว่าด้วยการต่อสู้ของชาวอเมริกันกับกลุ่มโซเวียตที่รุกรานเข้ามา) ตอนนั้นทุกคนต่างรับรู้ถึงหายนะของการแพร่ระบาดโรคแล้ว แต่จุดที่ทำให้พวกเขาตระหนักจนนำมาสู่การรวมตัวเฉพาะกิจและจัดตั้งระบบ OWS ต่อมานั้น ก็คือ การแพร่ระบาดของโควิดจะยิ่งแย่ลงถึงขั้นสั่นสะเทือนระบบสาธารณสุขของสหรัฐฯ จริงอยู่ที่เชื้อไวรัสมีลักษณะแพร่กระจายได้ง่ายเหมือนเชื้อ H1N1 หากแต่โคโรน่ากลับร้ายแรงต่อชีวิตคนหลายเท่านัก ที่สำคัญ นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดในประเทศก็ไม่อาจจัดการได้ดีอย่างที่ควรจะเป็น
นี่เองที่ทำให้ Robert Kadlec ผู้ช่วยเลขานุการฯ แห่ง HHS ริเริ่มทำโครงการนี้ ซึ่งได้รับแรงผลักดันจาก Peter Marks ผู้อำนวยการ FDA ที่เป็นคนคิดชื่อ Warp Speed โดยพวกเขาร่วมกันร่างแผนงานส่งเรื่องไปยังเลขานุการของ HHS เพื่อขออนุมัติโครงการ จนนำมาสู่การขอความร่วมมือจากหน่วยงานทุกภาคส่วนให้มาร่วมช่วยกันวางแผนตั้งแต่คิดค้น พัฒนาวัคซีน ผลิตสต็อค ตลอดจนจัดสรรและกระจายวัคซีน
เมื่อเริ่มผลิตวัคซีน พวกเขากลับเสี่ยงที่จะทดลองเทคโนโลยีวัคซีนใหม่มากกว่า เพราะอย่างที่รู้กันดีว่าลักษณะเชื้อไวรัสตัวนี้แตกต่างจากที่เคยเจอมา แนนอนว่าการเสี่ยงของพวกเขาตั้งอยู่บนฐานคิดที่มีแบบแผนรัดกุมพอสมควร วิธีเลือกตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับนำไปผลิตวัคซีนให้คนใช้ได้จริงจึงใช้วิธีกรองตัวเลือกที่ไม่ใช่ออกไป จนเหลือสิ่งที่ใช่หรือใกล้เคียงกับ criteria ที่กำหนดมากที่สุด ได้แก่
mRNA (Moderna,Pfizer/BioNTech)
replication-defective live-vector (AstraZeneca, Janssen)
recombinant-adjuvanted protein (Novavax, Sanofi/GSK)
เหตุผลที่พวกเขาเลือกหยิบวัคซีนมาไว้หลายตัว ก็เพราะ “ไม่ต้องการเลือกเทคโนโลยีวัคซีนแบบเดียว ซึ่งจะเป็นการปล่อยให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งได้รับเลือกไป แต่ต้องการที่จะสร้างทางเลือกที่หลากหลายในการพัฒนาวัคซีน”
ระดมความร่วมมือจากหลายภาคส่วน
มีคนเคยตั้งข้อสังเกตว่าระบบ OWS อาจเป็นต้นแบบการสร้างนโยบายอุตสาหกรรม (Industrial Policies) ซึ่งช่วยเอื้อไม่ให้เกิดการผูกขาดในประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยทุนนิยม เพราะระบบ OWS เป็นการร่วมทำงานกันของหน่วยงานหลากหลาย ประกอบด้วยกระทรวงสุขภาพและบริการมนุษย์สหรัฐ (HHS) กระทรวงกลาโหมสหรัฐ (DoD) บริษัทเอกชน และรัฐบาลที่เป็นหน่วยกำกับดูแลสูงสุด
ข้อดีอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนจากการระดมบุคลากร
จากภาคส่วนต่างๆ มาร่วมในโครงการนี้ก็คือ การใช้ทรัพยากรบุคคล
มาแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ
ไม่ว่าจะเป็นแพทย์หรือนักวิจัยที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีวัคซีนและโรคระบาด ผู้ทำงานและมีประสบการณ์ในการผลิต ดูแลคลังสินค้า และขนส่ง หรือแม้กระทั่งผู้ผลิตหรือทำงานในอุตสาหกรรมเฉพาะทาง โดยมีหัวเรืออย่างรัฐบาลคอยมอบอำนาจสั่งการให้แต่ละฝ่ายได้ดำเนินงานในส่วนของตัวเองได้อย่างสะดวกและเหมาะสม
เมื่อว่าด้วยการทดสอบวัคซีนเพื่อนำมาสู่การวางแผนผลิตคลังวัคซีนนั้น ก็ต้องรู้จำนวนผู้ติดเชื้อว่ามีเท่าไหร่ เพื่อที่จะได้ผลิตวัคซีนให้ได้เพียงพอหรือมากกว่าความต้องการของผู้คน แต่สหรัฐฯ ประสบปัญหาการนำเข้าอุปกรณ์ตรวจโควิดอยู่ก่อนแล้ว การตรวจโรคโควิดให้กับประชากรนับล้านถือเป็นเรื่องที่เกินขีดจำกัดความสามารถของ CDC เพราะ CDC ไม่ได้ถูกออกแบบมารองรับวิกฤติเร่งด่วน ที่สำคัญ CDC ไม่ได้มีประสบการณ์ในการเป็นพาร์ทเนอร์กับองค์กรเชิงพาณิชย์ใดๆ มาก่อน พวกเขาจึงไม่สามารถนำเข้าอุปกรณ์การตรวจโรคได้
โครงการจึงต้องจัดตั้งการร่วมทุนระหว่างภาครัฐกับเอกชนขึ้นมา โดยรัฐบาลต้องให้สิทธิหรือสัมปทานแก่องค์กรเอกชนในการผลิตและนำเข้าอุปกรณ์สำหรับทดสอบโรคโควิด เช่นเดียวกัน บริษัทเอกชนก็ได้สิทธิในการผลิตวัคซีนสำหรับแจกจ่ายให้ประชาชน นับตั้งแต่หน่วยงานวิจัยคัดสรรตัวเลือกวัคซีนมาทดสอบตั้งแต่ต้น จัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็น จ้างแรงงานและเทรนนิ่งตามสมควร เพิ่มกำลังการผลิต ไปจนถึงการจัดหาบรรจุภัณฑ์สำหรับบรรจุวัคซีน โดยเลือกโรงงานที่ผลิตบรรจุภัณฑ์ยาตามมาตรฐานการแพทย์โดยเฉพาะ
ลำดับความสำคัญ
ตัวแปรสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการทำงานทั้งหมดจะไปรอดหรือไม่นั้นอยู่ที่การบริหารจัดการ แน่นอนว่าผู้ที่มีอำนาจส่วนนี้ต้องมีทักษะจัดลำดับความสำคัญดีเยี่ยม มองทะลุปัญหาได้ว่าควรทำสิ่งใดก่อนหลัง ขั้นตอนแต่ละอย่างใช้เวลาและดำเนินการอย่างไร ไปจนถึงโอกาสและความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ก่อนหน้าผลิตวัคซีนออกมา ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างรู้ดีว่ากว่าจะได้วัคซีนออกมาใช้อย่างถูกต้องจำเป็นต้องผ่านการอนุมัติของ FDA ทว่า ขั้นตอนการดำเนินการก็ใช้เวลานานพอสมควร ในขณะที่สถานการณ์รุนแรงขึ้นทุกวัน และชีวิตคนก็รอไม่ได้นานขนาดนั้น การประกาศใช้มาตรการฉุกเฉิน EUA (Emergency Use Authorization) จึงเกิดขึ้น เพื่อรองรับและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเช่นนี้
เมื่อถึงคราวที่ต้องกระจายวัคซีนให้กับประชาชน ก็มีอยู่สองลักษณะด้วยกัน ได้แก่ การจัดส่งให้พื้นที่ต่างๆ และการฉีดให้ประชาชนโดยตรง ต้องยอมรับว่าเริ่มแรกเกิดปัญหาความผิดพลาดในการสื่อสาร ส่งผลให้ฉีดวัคซีนล่าช้า ถึงอย่างนั้น ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่างกลับมาทบทวนปัญหา เพื่อหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วนและให้ประชาชนได้รับวัคซีนโดยเร็วที่สุด โดยเขาเลือกจัดสรรฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุก่อน
ไบเดนเน้นกระจายวัคซีนด้วยการฉีดให้ประชาชนโดยตรง โดยเปิดจุดฉีดวัคซีนหลายแห่งภายใต้การบริหารจัดการของสำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง (Federal Emergency Management Agency) จัดสรรกองกำลังทหารประจำการจำนวน 4,000 นาย เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกอย่างทั่วถึง รวมทั้งจัดส่งวัคซีนบางส่วนไปให้คอมมูนิตี้ต่างๆ ที่ประชาชนอาจไม่สะดวกมารับวัคซีนกับส่วนกลางให้ได้มากที่สุด
สิ่งสำคัญที่เรามองเห็นจากขั้นตอนการทำงานภายใต้ระบบ Operation Warp Speed คือการบรรลุเป้าหมายในการแก้ปัญหา ซึ่งในที่นี้ก็คือสวัสดิภาพของประชาชนในสหรัฐฯ นี่จึงกลายเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาในแง่ของการสร้างและปรับใช้นวัตกรรมในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน รวมทั้งสะท้อนแนวคิดการทำงานหรือการแข่งขันในโลกอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยความยืดหยุ่น รวดเร็ว และแม่นยำ แน่นอนว่าคำตอบสุดท้ายก็จะไปจบลงตรงที่การรู้จักปรับตัวและพัฒนาไปตามโลกที่หมุนไปตลอดเวลานั่นเอง
อ้างอิงข้อมูลจาก