ในวันที่การสื่อสารถูกจำกัดไม่กี่ช่องทาง การโทรศัพท์หากันในเวลาดึกดื่นเพื่อถกเรื่องงาน (หรือเรื่องอื่นก็ตาม) ดูจะไม่ใช่มารยาทที่ดีสักเท่าไหร่ แต่ในวันนี้ วันที่เราสามารถเชื่อมต่อกับโลกภายนอกได้ตลอดเวลา เพียงแค่ปลายนิ้วก็สามารถพูดคุยกับผู้อื่นได้ จนเส้นแบ่งของการพูดคุยเรื่องงานกับเรื่องส่วนตัว ปะปนกันมั่วซั่ว ข้อความทวงงานในบ่ายวันอาทิตย์ หรือห้าทุ่มวันทำงาน มันกลายเป็นเรื่องปกติได้จริงหรือ?
ทะเลข้อความในโปรแกรมแชตที่เราต้องงมหา ปะปนอยู่กับข้อความคุยจิปาถะ สั่งข้าว ชวนกลับบ้าน น่าจะเป็นเหตุผลชัดเจนที่สุดที่ทำให้การใช้แอพพลิเคชั่นสำหรับพูดคุยเรื่องงาน ควรจะแยกตัวออกมาจากแอพพลิเคชั่นที่ใช้สำหรับชีวิตประจำวัน เช่น ไลน์, เฟซบุ๊กเมสเซนเจอร์ แล้วไปใช้โปรแกรมที่ออกแบบมาเพื่อใช้ในองค์กรโดยเฉพาะ เช่น Slack, Microsoft Teams, Google Chat เพื่อไม่ให้เส้นแบ่งของงานและความเป็นส่วนตัวถูกปะปนกัน คุยเล่นกับเพื่อนอยู่เมื่อกี๊ ต้องสลับมาคุยงานกับเจ้านาย มือลั่น ผิดแชต ก็เห็นกันได้อยู่บ่อยๆ
นอกจากเรื่องของความเป็นส่วนตัวแล้ว อีกสิ่งที่มักจะตามมาสำหรับการใช้โปรแกรมแชตในชีวิตประจำวันคุยเรื่องงาน คือ การคุยงานนอกเวลา เมื่อเส้นแบ่งที่มีอยู่นั้นสุดจะเบลอ อาจทำให้เราเผลอคุยเรื่องงานระหว่างคุยเล่นกับเพื่อนร่วมงานในเวลาพักผ่อน จำต้องตอบแชตที่คั่งค้างเรื่องงาน เพราะหยวนๆ เอาว่าไม่ได้คุยจริงจังนัก
ไม่ว่าจะเป็นอีเมล ข้อความ หรือโปรแกรมแชต ไม่ว่าจะคาดหวังการตอบรับในทันที หรืออยากแปะข้อความทิ้งไว้ เช่น “แจ้งไว้ก่อน ไว้มาทำพรุ่งนี้เช้าได้นะ” หรือ “วันจันทร์เข้าออฟฟิศ อย่าลืมโปรเจ็กต์นี้นะ” ล้วนสร้างความกังวลให้ผู้รับไปแล้วทั้งนั้น เมื่อต้องเจอแจ้งเตือน ก็เหมือนรู้แล้วว่ามีงานกำลังรอข้างหน้า หรือแม้แต่ในตอนนี้เดี๋ยวนี้ มันคือการทำลายเวลาส่วนตัวของผู้รับนั่นแหละ
เมื่อปี ค.ศ.2012 ค่ายรถยนต์อย่าง Volkswagen เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงตั้งค่าเซิร์ฟเวอร์เอาไว้ ไม่ให้อีเมลส่งไปยังพนักงานในช่วงวันหยุดและนอกเวลางาน สำหรับทำงาน จะส่งได้แค่ก่อนและหลังเวลางานเพียง 30 นาทีเท่านั้น โอเค นี่อาจดูเป็นข้อตกลงในบริษัทแห่งหนึ่ง ที่คำนึงถึงสวัสดิภาพของพนักงาน แล้วคนอื่นๆ ล่ะ มีใครตระหนักถึงเรื่องนี้อีกไหม?
‘Right to disconnect’ กฎหมายที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบในฝรั่งเศส ที่ให้บริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 50 คนขึ้นไป ต้องกำหนดเวลาการส่งอีเมลกันอย่างชัดเจน และอนุญาตให้พนักงานปิดเครื่องมือสื่อสารนอกเวลางาน นั่นแหละ ประเด็นนี้ไปไกลถึงการออกเป็นกฎหมายแล้วและมีการฟ้องร้องเกิดขึ้นจริงอย่างเคสที่กล่าวไปข้างต้น
ความตื่นตัวของหลายประเทศคงพอจะทำให้เราตระหนักถึงประเด็นนี้ขึ้นมาบ้าง ไม่ว่าเราจะเป็นผู้รับ หรือผู้ส่งข้อความผิดเวลานั้น มาดูกันดีกว่าว่ามันส่งผลเสียอย่างไร ทำไมถึงต้องขนาดมีกฎหมายมารองรับ
ส่งผลเสียตั้งแต่สุขภาพกายถึงสุขภาพใจ
ความเครียดในที่ทำงานมันจะจบลงถ้าเราไม่แบกเอามันกลับมาด้วย แต่จะหลอนแค่ไหนถ้ามันตามเรามาเองถึงในพื้นที่ส่วนตัวอย่างโทรศัพท์ ความกังวลต่อความคาดหวังที่วิ่งมาพร้อมแจ้งเตือนนั้นหลีกเลี่ยงได้ยาก
ผลการวิจัยเรื่อง ‘Killing me softly: electronic communications monitoring and employee and significant-other well-being,’ จาก ร.ศ. วิลเลียม เบ็กเกอร์ (William Becker) แห่ง Pamplin College of Business กล่าวถึงผลเสียของการคาดหวังในการทำงาน และประเด็นที่น่าสนใจคือ ความคาดหวังที่พนักงานจะต้องคอยตอบ คอยเช็กอีเมล แม้จะเป็นหลังเวลาเลิกงาน จนเกิดวัฒนธรรม always on ขึ้น ความคาดหวังนี้ส่งผลต่อความเครียด ความกังวล ของตัวพนักงานเอง และส่งผลถึงครอบครัวของพวกเขาด้วย
อีกนัยหนึ่งก็คือความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและงานมันถูกทำลายนั่นแหละ
ส่งผลเสียไปถึงคุณภาพงาน
เมื่อเกิดความเครียดกับตัวพนักงาน จะไม่ให้ส่งผลถึงคุณภาพของงานก็เป็นไปได้ยาก เมื่องานออกมาจากผู้ผลิตที่เหี่ยวเฉา หมดไฟ กังวลเล็กน้อยไปหมด
ดร.เทรซี่ โบรเวอร์ (Tracy Brower) ผู้เขียนหนังสือ ‘Bring Work to Life by Bringing Life to Work: A Guide for Leaders and Organizations’ ได้กล่าวไว้ในบทความของ Fast Company ว่า กฎหมาย Right to disconnect ทำให้เห็นว่า การที่พนักงานสามารถเลือกที่จะตอบหรือไม่ตอบอีเมลนอกเวลางาน ช่วยป้องกันอาการหมดไฟได้ และในทางตรงกันข้าม หากพวกเขาเลือกไม่ได้ว่าจะตอบหรือไม่ตอบ จะทำให้พวกเขาหมดไฟ รวมถึงไม่โปรดักทีฟในงานที่ทำ
แอพฯ สำหรับพูดคุยในทีมดีกว่าเป็นไหนๆ
แอพพลิเคชั่นที่สร้างมาเพื่อพูดคุยในชีวิตประจำวัน ย่อมมีฟังก์ชั่นที่เอื้ออำนวยให้พูดคุยสะดวก รวดเร็ว ข้อความจึงท่วมท้นเป็นสิบเป็นร้อยได้ เพราะนั่นคือ ‘การสนทนาทั่วไป’ แต่สำหรับการทำงาน เราคงไม่อยากเห็นข้อความนับร้อยจนจับใจความไม่ได้ว่ากำลังคุยเรื่องอะไร เราต้องทำอะไร ความคืบหน้าไปถึงไหนแล้ว แอพฯ ที่สร้างมาเพื่อการสื่อสารในทีม จึงมีฟังก์ชั่นที่เหมาะกับการทำงานมากกว่าเป็นไหนๆ ห้องแชตสำหรับแต่ละแผนก การแปะลิงก์ อัปโหลดไฟล์ แม้แต่เวลาแจ้งเตือนที่จะไม่ไปรบกวนหลังเลิกงาน กลับมาอีกทีเมื่อเวลางานในวันต่อไป สิ่งสำคัญของเรื่องนี้ คือการแยกงานออกจากชีวิตส่วนตัวอย่างชัดเจน
Slack
แอพพลิเคชั่นยอดฮิตอันดับต้นๆ ที่หลายบริษัทเลือกใช้ ด้วยฟังก์ชั่นที่เอื้อสำหรับการพูดคุยในทีม ที่เราจะมั่นใจได้ว่าไม่หลุดออกจากประเด็นไหนไป ตั้งแต่ห้องแชตแบบกลุ่มและแบบส่วนตัว การตอบกลับในแต่ละข้อความให้อยู่ใน thread เดียวกัน ไปจนถึงการบันทึกข้อความเอาไว้ส่วนตัว สะดวกในการพูดคุยหลายหัวข้อโดยไม่ตีกัน และที่สำคัญ เราสามารถตั้งเวลาแจ้งเตือนได้ ไม่ว่าใครจะแปะงานไว้นอกเวลากี่ชิ้น ก็จะไม่มีแจ้งเตือนกวนใจในเวลาพักผ่อน
Hangout
หากทุกวันนี้ใช้ Gmail สารพัดผลิตภัณฑ์จากกูเกิลอยู่เป็นนิจ สามารถสานต่อความสะดวกสบายนี้ได้ด้วย Hangout ที่สามารถพูดคุย ประชุม ได้ทั้งข้อความและวิดีโอคอล และยิ่งสะดวกสบายด้วย AI ที่ใส่มาให้ คอยตอบคำถาม ช่วยเหลือ ในเบื้องต้น รวมทั้งยังเปิดรับบ็อตจากค่ายอื่นๆ เข้ามาช่วยอีกต่างหาก
จะดีกว่าไหม หากแจ้งเตือนที่เห็นหลังเวลางาน จะมีแต่เรื่องส่วนตัวที่ไม่ใช่งานอีกแล้ว ไม่ต้องมานั่งตอบตอนโหนรถเมล์ บนรถไฟฟ้า ระหว่างติดไฟแดง ในวันที่ทุกคนออนไลน์ ความสะดวกสบายในการสื่อสารอาจทำให้เราลืมไปว่า นี่ไม่ใช่เวลาที่ถูกต้องเท่าไหร่นัก
อ้างอิงข้อมูลจาก