หากวันนี้ลองล้อมวงคนรักชามานั่งคุยกัน แล้วถามว่า “ชาเขียวร้านโปรดของคุณคือร้านไหน” หรือ “พอจะแนะนำร้านชาที่ชอบให้ลองชิมสักร้านได้ไหม” หนึ่งในคำตอบคงต้องมีชื่อ Peace Oriental Teahouse อยู่ด้วยแน่นอน และใครจะเชื่อว่าร้านชาดั้งเดิมที่เน้นขายความเป็นต้นตำรับ จะมีแบรนด์น้องอย่าง 手 qraft. ที่นำเสนอของกินร่วมสมัยในมุมที่ต่างออกไป ในขณะเดียวกัน ก็ถ่ายทอดตัวตนของ Peace และ 手 qraft. ออกมาได้อย่างชัดเจน
ธี-ธีรชัย ลิมป์ไพฑูรย์ เจ้าของร้านและผู้ปลุกปั้นทั้งสองแบรนด์ ได้มาร่วมพูดคุยกับ The MATTER โดยแบ่งปันแนวคิดและวิธีการทำแบรนด์ Peace Oriental Teahouse และ 手 qraft. ซึ่งทำให้เห็นมุมมองการสร้างแบรนด์และทำการตลาดของธุรกิจอาหารประเภทของหวานและเครื่องดื่มที่ต่างไปจากเดิมทีเดียว
การเดินทางจาก Peace สู่ 手 qraft.
เริ่มต้น ธีได้พาเราย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดของแบรนด์ Peace Oriental Teahouse ก่อนจะมาถึงแบรนด์ 手 qraft. ซึ่งสะท้อนถึงจุดร่วมแกนหลักของแบรนด์ทั้งสอง
“ก่อนอื่นขอเกริ่นถึง Peace ก่อนนะครับ จริงๆ แล้ว ผมไม่ได้ต้องการทำร้านชาเขียวเลย แต่ผลิตภัณฑ์ชาเขียวเป็นสิ่งที่คนสนใจและขายดี ผมตั้งใจทำแบรนด์ชาตะวันออก ถ้ามองในมุมการทำแบรนด์ ผมไม่ชอบนำตัวแบรนด์ไปผูกกับผลิตภัณฑ์ แต่เชื่อว่าการสร้างแบรนด์ควรนำตัวแบรนด์ไปผูกกับปรัชญา
“ส่วนตัวผมสนใจเรื่องวัฒนธรรมอยู่แล้ว โดยเฉพาะวัฒนธรรมตะวันออก เพราะชอบแก่นสารเรื่องความไม่ฉาบฉวย ความเรียบง่าย ลึกซึ้ง มีความหมาย เลยทำแบรนด์ Peace ขึ้นมา โดยนำคำว่า Teahouse มาใช้ในไทยเป็นคนแรก และอยากทำแบรนด์ที่ผูกปรัชญาตะวันออกเน้นเรื่องความละเอียดอ่อน เรียบง่าย และลึกซึ้ง”
เมื่อมาถึงแบรนด์ 手 qraft. ธีเล่าว่าจุดเริ่มต้นแบรนด์เกิดจากไปเจอโลเคชั่นแถวอารีย์ที่มีอยู่สองห้อง ซึ่งทำเลที่ดีมาก ทำให้รู้สึกเสียดายหากจะเลือกเปิดร้านสำหรับแบรนด์ Peace อย่างเดียว ตอนนั้นจึงขอเก็บไว้ทั้งสองห้องก่อน และคิดว่าจะทำอะไรต่อไป
จุดเปลี่ยนที่นำมาสู่การขยายไลน์ธุรกิจจนได้แบรนด์ 手 qraft. เกิดจากการที่ตนและทีมงานมีไอเดียหลายอย่างที่เชื่อว่ามีคุณค่าและทำได้ดีมากๆ อยู่แล้ว เพียงแต่ไม่สามารถทำและนำเสนอออกมาภายใต้แบรนด์ Peace Oriental Teahouse เท่านั้นเอง ในขณะเดียวกัน การสร้าง 手 qraft. ก็ตั้งต้นจากปรัชญาที่มีแก่นเดียวกันกับ Peace โดยคนในทีมต่างหลงใหลวัฒนธรรมตะวันออก และสนใจเรื่องที่ว่าด้วยความลึกซึ้งและไม่ฉาบฉวยนั่นเอง
“หากสังเกตทั้งสองแบรนด์จะเห็นว่าเป็นแบรนด์ที่ร่วมสมัยทั้งคู่ แต่ Peace เน้นไปที่ความ traditional เราอยากนำเสนอชาจีนดั้งเดิม ซึ่งมีทั้งการชงกงฟูฉา (工夫茶) ตีมัทฉะในชามด้วยวิธีดั้งเดิม หรือเสิร์ฟของที่กินยากหน่อย
“แต่ 手 qraft. เน้นไปในทางโมเดิร์นมากกว่า ซึ่งมีผลิตภัณฑ์หลายอย่างที่เรารู้อยู่แล้ว ว่าจะทำให้ดีกว่าสิ่งที่มีอยู่ในตลาดอย่างมากได้ยังไง ยกตัวอย่าง ชานมไข่มุก ในฐานะที่เราเป็น tea master เราเห็นชัดอยู่แล้วว่าชาแบบนี้ควรทำด้วยวิธีไหนจึงจะได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด แต่ในขณะเดียวกัน เราก็รู้ว่าถ้าใส่ชานมไข่มุกเข้าไปใน Peace ตัวแบรนด์จะพัง เพราะผลิตภัณฑ์ไม่เหมาะกับแบรนด์ Peace ไม่ได้มีความเด็กแบบนั้น หรือถ้าจะทำครัวซองต์ขายในนาม Peace ก็ทำไม่ได้เหมือนกัน”
ความเหมือนที่แตกต่าง
หากมองเรื่องรูปลักษณ์หรือสินค้าแล้ว ทั้ง Peace Oriental Teahouse และ 手 qraft. ต่างขายของที่ไม่เหมือนกันอยู่แล้ว แต่เบื้องหลังของสิ่งที่ต่างกันนั้นกลับซ่อน ‘ความเหมือน’ ในการรังสรรค์ตัวตนของแบรนด์ขึ้นมา จนได้นิยาม Peace Oriental Teahouse และ 手 qraft. ที่มีล้กษณะแบรนด์ชัดเจนบนฐานสร้างที่แข็งแกร่ง
“นอกเหนือจากตัวตนของแบรนด์แล้ว ความแตกต่างอยู่ที่ operation ซึ่ง Peace ไม่มีครัว ทีนี้เราเลยตั้งคำถามว่า หากเราทำอีกแบรนด์หนึ่งที่ฟิวชั่นได้หลายอย่าง มีความเป็นเด็กมากขึ้น และมีพื้นที่ทำครัวได้ด้วย เราจะทำอะไรได้บ้าง คำตอบคือทำได้เยอะมาก เพราะ 手 qraft. เป็นเหมือนพื้นที่ปล่อยของของทีม Peace ที่แบรนด์ Peace ทำไม่ได้
“ในขณะเดียวกัน เรายังยึดแก่นสารในการทำสิ่งที่มีความหมาย ไม่ฉาบฉวย มีคุณค่า และต้องทำได้ดีกว่าใคร”
“ผมจะตั้งต้นว่าอะไรคือ ‘โอกาส’ หากเราพิจารณาลงไปถึงความจริงขั้นพื้นฐานที่สุดในเรื่องนั้นๆ แล้วพบว่าความจริงที่เราค้นพบนั้น แตกต่างไปจากสิ่งที่คนอื่นทำอยู่ในปัจจุบัน สิ่งนั้นแหละผมเรียกมันว่า ‘โอกาส’’
“อย่างตอนเริ่มทำ Peace ผมเห็นความจริงที่ว่าตอนนั้นมีแต่ร้านชาฝรั่งหรูๆ ทำแบรนด์ดี น่าเข้าน่านั่ง แต่เราก็รู้ด้วยว่าชาฝรั่งสู้ชาตะวันออกไม่ได้จริงๆ เพราะชาตะวันออกเราทำกันมาหลายพันปีแล้วมันละเอียดอ่อน ลึกซึ้งกว่ากันมาก ในขณะเดียวกันร้านชาแท้ๆ ร้านชาตะวันออกดีๆ ก็มีอยู่ในที่ๆ เข้าถึงยาก ไม่น่านั่ง ไม่ถูกจริตคนรุ่นใหม่ อย่างเยาวราช เมื่อเห็นความจริงว่ามันมีแต่ความสุดโต่งสองฝั่งนี้ ทำให้ผมตั้งคำถามว่าแล้วทำไมไม่มีร้านชาแท้ๆ แบบเยาวราช ที่ทำแบรนด์ให้ดี และทำร้านให้น่าเข้าได้เหมือนร้านชาฝรั่ง พอพิจารณาเข้าไปถึงความจริงพื้นฐานนี้ ก็เห็นโอกาส
“หรืออย่างตอนจะทำครัวซองต์ เสน่ห์อย่างนึงของครัวซองต์คือความกรอบของผิวนอก แต่สิ่งที่เห็นอยู่ทั่วไปคือ พอคนอยากทำครัวซองต์ให้เป็นรสชาติต่างๆ ก็เอาวัตถุดิบนั้นไปแต่งหน้าครัวซองด้านนอกให้ดูสวยงาม แต่การทำแบบนั้นก็เท่ากับทำลายส่วนนึงขององค์ประกอบสำคัญ คือทำให้ความกรอบของผิวครัวซองต์หายไป เราเลยตั้งใจไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะให้รสชาติต่างๆ เป็น filling ที่อร่อยมากแล้วฉีดเข้าข้างในครัวซองต์แทน ถ้าเดินเข้ามาในร้าน จะรู้สึกว่าครัวซองต์มีหน้าตาเหมือนกัน ดูไม่มีลูกเล่นสีสันอะไรเลยจนกว่าจะได้ลองทานเข้าไป
“ถ้าให้เลือกระหว่าง ‘สิ่งที่มีหน้าตาสวยแต่กินเข้าไปแล้วรู้สึกเฉยๆ’ กับ ‘สิ่งที่หน้าตาเฉยๆ แต่กินแล้วรู้สึกว้าว’ เราก็เลือกอันที่สอง ทั้งหมดนี้ก็เป็นตัวอย่างของการพิจารณาเข้าไปที่ความจริงขั้นพื้นฐานที่สุดในเรื่องนั้นๆ เพื่อให้เห็นคุณค่าและเกิดความเชื่อมั่นในสิ่งที่เราจะทำ”
ทำไมต้อง 手 qraft.
เชื่อว่าทุกคนต้องสะดุดตากับชื่อ 手 qraft. เมื่อเห็นครั้งแรกแน่นอน ทั้งความแปลกใหม่ในชื่อที่สะกดแตกต่างจากที่เคยเห็นมา หรือแม้แต่ความหมายแฝงของตัวอักษรจีนที่สะท้อนตัวตนของแบรนด์ได้ลึกซึ้งอีกด้วย
“เรื่องแปลกของการตั้งชื่อแบรนด์ก็คือ ผมมีชื่อแบรนด์ในใจตั้งแต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไรอยู่ก่อนแล้ว พอจะเริ่มทำธุรกิจนี้ ผมก็มีแต่ชื่อ qraft ชื่อเดียวที่อยู่ในใจและอยากใช้ ก็เลยใช้ชื่อนี้เลย
“ตอนเด็กๆ ผมมีวงดนตรีที่ชอบ เป็นวงเกาหลีแนว electronic house music ชื่อว่า Classiquai Project และผมชอบ Jamiroquai ซึ่งทั้งสองวงใช้ตัว Q มาแทนตัว C หรือตัว K ทำให้รู้สึกชอบตรงนี้ พอผมจะทำแบรนด์ที่มีชื่อที่อยู่ในใจอยู่แล้วคือคำว่า craft ประกอบกับความชอบในการใช้ตัว Q แทนที่ว่านั้น เลยได้มาเป็นคำนี้
“ส่วนตัวอักษรภาษาจีนที่แปลว่า ‘มือ’ นั้น ผมเชื่อว่าแก่นสารของงานคราฟต์ทุกอย่างอยู่ที่มือ ผมเลยใช้ตัวอักษรตัวนี้มาประกอบชื่อแบรนด์เพื่อนำเสนอว่าโปรดักท์ทุกอย่างของแบรนด์ qraft. จะทำจากวัตถุดิบตั้งต้นพื้นฐานด้วยมือของพวกเราเอง และเราใส่เครื่องหมายจุด ‘ . ’ ไว้ตอนท้ายเพื่อแสดงให้เห็นว่าเราทำทุกๆ อย่างด้วยความปราณีตและตั้งใจ”
คนมีกำลังซื้อเหมือนกัน แต่สนใจเรื่องต่างกัน
เมื่อว่าด้วยเรื่องทำการตลาดแล้ว กลุ่มเป้าหมายของ 手 qraft. เป็นกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อระดับเดียวกับ Peace Oriental Teahouse แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการแย่งกลุ่มลูกค้ากันเอง เพราะมันคือ ‘โอกาส’ ที่เพิ่มขึ้นมาต่างหาก
“ถ้าพูดถึง spending power ก็คือกลุ่มเดียวกับ Peace แต่ว่า Peace จำกัดอยู่ที่กลุ่มคนที่ชอบของที่ pure ดั้งเดิม ไม่ผสมหรือปรุงแต่งอะไรมาก เน้นเคารพตัววัตถุดิบดั้งเดิม ไม่ได้เบลนด์หลายสิ่งเข้าด้วยกัน ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกับชาตะวันออกอย่างชาจีนหรือญี่ปุ่นที่มีแค่วัตถุดิบเดียวเท่านั้นในหนึ่งกา
“แต่ถามว่ามีกลุ่มคนที่มี spending power แบบนี้ แต่สนใจโปรดักต์อื่นอีกไหม ก็ต้องบอกว่ามีอีกเยอะมาก เช่น กลุ่มคนที่กินชานมไข่มุก ครัวซองต์ แซนด์วิช หรือคาเนเล่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ Peace จะไม่มีวันทำ”
นี่เองที่พอจะเป็นคำตอบได้ว่าทำไมธีร์ยังเลือกทำแบรนด์ที่มีกลุ่ม spending power เหมือนกับแบรนด์ก่อนหน้า นั่นก็เพราะทั้งสองแบรนด์ต่างนำเสนอสิ่งที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อระดับเดียวกัน แต่มองหาสิ่งที่ต่างไปจากอีกแบรนด์ได้อย่างลงตัว
“ผมมองว่าในอนาคต แบรนด์ที่จะมีหน้าร้านอยู่ในเมืองที่มีคนหนาแน่น ต้องเป็นแบรนด์ที่มอบประสบการณ์ที่เหนือกว่าให้กับคนได้ รวมทั้งยังต้องประสบความสำเร็จทั้ง dine-in, take home และ delivery ให้ได้ เพราะถ้าเรามองโครงสร้างพื้นฐานของ delivery service ก็ดีขึ้นมาก new normal ของคนยุคนี้ที่เริ่มกระจายออกไปอยู่นอกเมืองเพราะคน work from home ได้มากขึ้น ในขณะที่พื้นที่ในเมืองก็แพงขึ้นเรื่อยๆ มีทั้งต้นทุนและการลงทุนที่สูงมาก หลายแบรนด์ที่แข่งขันกันในตลาด mass ก็จะต้องปรับเปลี่ยนตัวเองไปเป็น cloud kitchen อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ดังนั้นการเปิดร้านในเมืองที่ต้องมีทั้งโลเคชั่นดีและต้นทุนพนักงานบริการที่สูง ต้องทำแบรนด์ที่สร้างคุณค่า และสร้างประสบการณ์ที่พิเศษมากได้ เราจึงยึดกลุ่มเป้าหมายของ 手 qraft. ไว้ที่กลุ่มที่มี spending power เดียวกันกับ Peace เพียงแต่ไลน์สินค้าแตกต่างออกไป เพื่อดึงคนที่สนใจโปรดักต์อื่นๆ อย่างเบเกอรี่ กาแฟ cold-brew ชานมไข่มุก น้ำแข็งใส หรืออาหารคาว เข้ามาอยู่กับ brand portfolio ให้มากขึ้น”
‘เชื่อ’ และ ‘รัก’ ในสิ่งที่ (จะ) ทำ
หากว่ากันถึงเมนูเครื่องดื่มและขนมของทางร้านแล้ว ต้องยอมรับว่ามีให้เลือกหลากหลายและแปลกใหม่พอสมควร โดยเคล็ดลับในการรังสรรค์เมนูแต่ละอย่างของแบรนด์นั้นอยู่ที่รักในสิ่งที่จะทำ และเห็นคุณค่าว่าจะทำให้มันดีขึ้นมาได้ในแบบตัวเอง
“สิ่งแรกที่เรามองคือ เราต้องเชื่อก่อนว่าสิ่งที่เราจะทำนั้นเป็นสิ่งที่มีคุณค่า พอเชื่ออย่างนั้นแล้วเราก็ต้องถามต่อว่าเรามองออกมั้ย ว่าเราจะทำมันให้ดีกว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่มีอยู่ก่อนแล้วได้ยังไง ถ้าเรามองไม่ออกหรือมีคนที่ทำได้ดีที่สุดอยู่แล้ว แล้วเราจะทำสิ่งนั้นทำไม แต่ถ้าเรามองแล้วเรารู้ว่ามันมีวิธีที่จะทำให้มันดีขึ้นกว่านั้นได้อีก แต่ทำไมไม่มีใครทำ เราก็จะเลือกสิ่งนั้นมาทำให้สุดความสามารถ
ในทีม R&D จะตั้งคำถามเสมอเมื่อเจอสิ่งที่ไม่เคยทำว่า เชื่อไหมว่าเราจะทำได้ดีกว่า คำตอบของเรามีคำเดียวเสมอคือเรา ‘เชื่อ’
“แต่ไม่ใช่เพราะเราคิดว่าเราเก่งที่สุดหรือไม่มีใครเก่งกว่าเรา แต่เราเชื่อว่าไม่มีใครรักงานของเรามากกว่าที่พวกเรารัก และเราจะไม่หยุดทำจนกว่ามันจะดีกว่า ผมว่าสิ่งที่สำคัญก็อยู่ตรงที่ ‘ตัวงานนั้นถูกทำอย่างตั้งใจ’ เพราะไม่ว่าใครจะรักผลงานของเราหรือไม่ แต่ตัวงานนั้นก็จะถูกรักอยู่แล้ว และแค่นั้นก็พอแล้ว
“เพราะถ้าเราเชื่อในสิ่งนั้นจริงๆ แล้วตั้งใจทำออกมาให้ดี ก็จะมีคนบางกลุ่มที่เชื่อว่าดีเหมือนกัน แล้วคนกลุ่มนั้นก็จะส่งต่อความเชื่อที่ว่าให้ค่อยๆ ขยายต่อไปเอง”
ความท้าทายในการทำเดลิเวอรี่
หนึ่งในความท้าทายของธุรกิจอาหาร ณ เวลานี้ คงหนีไม่พ้นการเปลี่ยนทิศทางมาใช้บริการผ่านตัวกลางอย่างแอปพลิเคชันเดลิเวอรี่อาหาร โดยเฉพาะร้านที่เน้นขายบรรยากาศและประสบการณ์ที่มากกว่าของกิน ในฐานะเจ้าของแบรนด์ Peace Oriental Teahouse และ 手 qraft. ธีได้แบ่งปันแนวคิดในการปรับตัวครั้งนี้ไว้อย่างน่าสนใจ
“แบรนด์ที่มาก่อนวิกฤตโควิดท้าทายแน่นอน บังเอิญว่า 手 qraft. ถูกสร้างมาในช่วงโควิด ช่วงเวลาสองปีที่เราสร้าง 手 qraft. ส่วนใหญ่ก็อยู่ในช่วงโควิด เมื่อเห็นว่าเทรนด์เปลี่ยน business model จึงถูกออกแบบมารองรับ new normal ตรงนี้อยู่แล้ว สำหรับแบรนด์ 手 qraft. ความท้าทายน่าจะผ่านมาแล้ว
“ในขณะที่ Peace เป็นแบรนด์ที่มาก่อนโควิด ก็มีความท้าทายมากกว่า เพราะแบรนด์ถูกสร้างมาในลักษณะที่ต้องอาศัยคนมานั่งทานที่ร้าน ใช้เวลาที่ร้าน เรียกว่า 70-80% ของรายได้มาจากกลุ่มนั้น พอจะเปลี่ยนมาทำเดลิเวอรี่จึงเป็นเรื่องค่อนข้างท้าทาย
“ถึงอย่างนั้น สิ่งที่คิดว่าเป็นอุปสรรคมากที่สุด ซึ่งตอนนี้คนก็ออกมาส่งเสียงกันเยอะ ก็คือเรื่องของ GP ของบริการแอปฯ เดลิเวอรี่ ในขณะที่เรายังมีค่าเช่าร้านอยู่ น้องๆ ที่ทำงานกับเราก็ต้องดูแลเค้าให้ดี และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็เหมือนเดิม แต่ปัญหาก็คือไม่มีใครเข้ามาควบคุมการเก็บค่า GP ของบริการแอปฯ เดลิเวอรี่เลย แต่กลับทำให้การพึ่งพาแอปฯ เหล่านี้เป็นหนทางเดียวที่จะทำรายได้ๆ
“ทางออกของ 手 qraft. คือเราไม่ใช้บริการ delivery app ที่เก็บ GP เลย เราเชื่อมั่นในตัวโปรดักต์มากพอ และเชื่อว่าคนยังอยากตามมากินแม้ว่าเราจะไม่ได้อยู่ใน delivery app เหล่านั้น เราเลยตัดสินใจทำ pre-order โดยใช้ Line MyShop ให้คนเข้ามากดสั่งซื้อ แล้วเลือกวิธี pick up เอง แต่ถ้าหากเปิดหน้าร้านในแอปฯ เดลิเวอรี่ เราคงต้อง enter ตลาดโดยการตั้งราคาที่สูงขึ้น ไม่งั้นจะไม่มีกำไรเลย ซึ่งทำให้สิ่งที่เราอยากทำเป็นไปไม่ได้ และนั่นก็คือการตั้งใจทำโปรดักท์อย่างดีที่สุด และขายในราคาที่ต่ำที่สุดที่เราจะไม่ตาย เพื่อให้ผลงานของเราได้ถูกสัมผัสในวงกว้างมากที่สุด”
หัวใจของการสร้างแบรนด์
ในขณะที่แวดวงขนมและเครื่องดื่มเป็นที่นิยม มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาร่วมตีตลาดนี้มากมาย แต่สิ่งที่ทำให้ Peace Oriental Teahouse ยืนหยัดในใจของผู้บริโภคจนต่อยอดมาสู่ 手 qraft. นั้น กลับไม่ใช่ตัวผลิตภัณฑ์ที่ขายดิบขายดีของร้าน แต่เป็น ‘ปรัชญา’ อันเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างแบรนด์
“สิ่งที่ผมเชื่อคือผมจะไม่ผูกแบรนด์กับโปรดักต์ เพราะจะทำให้แบรนด์เปราะบางมาก ถ้าเทรนด์ของสินค้านั้นหมดไปแล้ว แบรนด์ก็พัง หรือถ้าสินค้านั้นมีข่าวที่ไม่ดี แบรนด์ก็พัง แต่ผมผูกแบรนด์ไว้กับปรัชญามากกว่า โดยยึดความเชื่อที่ว่าทีมเราหรือแบรนด์เราจะทำของที่ไม่ฉาบฉวย จะทำของที่มีคุณค่า ละเอียดอ่อน และมีความหมาย
“แบรนด์หนึ่งจึงมีโปรดักต์หลากหลาย ผมตั้งใจสร้าง Peace และ 手 qraft. โดยไม่ได้พยายามผูกแบรนด์กับตัวสินค้าหรือคนกลุ่มเดียว ถ้าผมขายแต่กาแฟ ก็จะขายได้แค่ตอนเช้ากับตอนเที่ยง ถ้าขายไอศกรีมก็แค่ช่วงหลังมื้ออาหาร ถ้าขายอาหารคาวพอผ่านช่วงมื้ออาหารไปก็ไม่มีคน ผมไม่อยากทำแบรนด์แบรนด์หนึ่งที่น้องๆ พนักงานนั่งเฉยๆไม่มีอะไรทำในบางช่วงเวลา แต่อยากให้แบรนด์เชื่อมโยงกับทุกคนเมืองทุกคน ทุกอายุ ทุกเพศ ตลอดเวลา
“ความเปราะบางของการเอาแบรนด์ไปผูกกับสินค้าก็คือใครต่างทำโปรดักต์นี้ได้เหมือนกัน หากตัวแบรนด์คือโปรดักต์ แล้วเกิดมีคนทำโปรดักต์ที่ว่านั้นได้ดีกว่า ก็หมายความว่าแบรนด์นั้นด้อยกว่า ทำให้ตัวแบรนด์เปราะบางอยู่ตลอดเวลา”
แต่ถ้าเรายึดปรัชญาในการทำแบรนด์ ไม่ว่าจะหันไปทำอะไร คนจะเชื่อมั่นว่านี่คือ ‘เรา’ อยู่ดี
สิ่งที่อยากทำต่อไปในอนาคต
“มีเต็มไปหมดเลยครับ ความตั้งใจของเราก็คือ ไม่ว่า Peace อยู่ที่ไหน 手 qraft. จะอยู่ที่นั่น เปิดคู่กันได้เลย ไม่เกิดการ canabilize กัน ไม่แย่งลูกค้ากันแม้ว่าจะเป็นกลุ่ม spending power เดียวกัน เพราะกลุ่มโปรดักต์ต่างกันมากจนมันตั้งอยู่ที่เดียวกันได้ แต่อย่างที่เล่าให้ฟังว่า ทั้งสองแบรนด์ถูกสร้างมาให้เกี่ยวข้องกับคนเมืองทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกเวลา เพราะฉะนั้น 手 qraft. จะมีครัวซองต์ โทสต์ กาแฟ สำหรับคนในช่วงเช้า พอตอนกลางวันก็มีอาหารเที่ยงที่ค่อนข้างเร็ว ตอนบ่ายคนก็เริ่มมาทานชา ขนม ชานมไข่มุกกัน ตอนเย็นก็มีอาหารมื้อที่ค่อนข้างจริงจัง แล้วตอนกลางคืนก็มียังของหวานอีก สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือโปรดักต์ทำให้คนมาเกี่ยวข้องกับแบรนด์ในแต่ละช่วงเวลาที่ว่ามาทั้งหมดนี้ มันต้องพิเศษมากๆ เท่านั้นเอง
เมื่อถามถึงสิ่งที่คนเริ่มหันมาจับทางทำธุรกิจแนวนี้ควรทำเป็นหลักคืออะไร คำตอบก็คือให้ทำสิ่งที่เป็นตัวเอง ในมุมมองของธี หากเราทำตามคนอื่นแล้ว ก็จะอยู่ในฐานะของผู้ตามอยู่นั่นเอง แต่ถ้าเราทำในแบบที่เป็นตัวตนของเราเองจริงๆแล้ว ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไหร่ ก็ยังเป็นตัวเองและอยู่ได้อย่างยั่งยืน
“คนชอบพูดว่า ‘ต้องทำอะไรที่แตกต่างและไม่เหมือนคนอื่น’ ผมเห็นด้วยในส่วนหนึ่งแต่ไม่ทั้งหมด คือต้องถามด้วยว่า ‘ต่าง’ อย่างไร? ต่างที่เปลือกผิวหรือต่างที่แก่นสาร ต่างอย่างฉาบฉวยหรือต่างอย่างมีคุณค่า เพราะหากเราเลือกต่างที่แก่นสารอย่างมีคุณค่าแล้ว แบรนด์ก็จะยั่งยืน และพอคนได้มาสัมผัสก็จะได้พบกับคุณค่าเหล่านั้นจริงๆ” ธีกล่าวทิ้งท้าย