เวลามีเหตุการณ์ข่มขืน คำพูดอย่างเช่น “ก็ทำตัวแบบนั้นเอง ไม่แปลกหรอกที่จะโดน” มักจะเป็นสิ่งที่ได้ยินกันบ่อยๆ หรือครั้งหนึ่งก็เคยมีคำพูดที่ว่า “ถ้าไม่แต่งชุดนักศึกษา แล้วแต่งตัวโป๊ ก็ต้องยอมรับความเสี่ยงที่จะถูกข่มขืน” ซึ่งหลายคนฟังแล้วก็ช็อค หลายคนฟังแล้วก็พยักหน้า เมื่ออาจารย์ท่านหนึ่งกล่าวเกี่ยวกับการแต่งกายของนักศึกษาธรรมศาสตร์เมื่อนานมาแล้ว
กระแสเรื่องการข่มขืนของไทยมีข่าวมาเข้าหูกันเรื่อยๆ และแน่นอนว่าเราต่างต่อต้านการข่มขืน เช่นการทำแคมเปญสนับสนุนให้เพิ่มการลงโทษผู้ก่อเหตุข่มขืนให้รุนแรงขึ้น ให้ประหาร อะไรก็ว่าไป ซึ่งการแก้ไขด้วยการปราบปรามด้วยความรุนแรงก็ยังเป็นที่กังขาอยู่ โดยรวมแล้วการล่วงละเมิดทางเพศก็เป็นที่เราอยากให้หมดไปจากสังคมซะที แต่เอาเข้าจริงแล้วรากเหง้าของการข่มขืนอาจจะใกล้ตัวเรากว่าที่เราคิด
เช่นสิ่งที่ออกมาจากปากครูอาจารย์ มันน่ากลัวตรงที่หลายฟังดูก็รู้สึกว่า อืม…จริงนี่ แต่งตัวโป๊ ล่อตะเข้เอง โดนข่มขืนก็ไม่แปลก ก็สมควร
ซึ่งมันผิด! รีบเขียนไว้ก่อนเลย เอาจริงๆ เราทุกคนไม่สนับสนุนการข่มขืนกันอยู่แล้ว แต่ไอ้คำพูดหรือตรรกะที่บอกว่า อ๋อก็เพราะทำแบบนี้ไง โดนข่มขืนเลยไม่แปลก รวมถึงเป็นการโทษเหยื่อ
ตรงนี้เองที่เราอาจกำลังเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้การข่มขืน หรือ ‘วัฒนธรรมการข่มขืน (rape culture)’ มันเกิดขึ้นซ้ำๆ
ข่มขืน? เป็นวัฒนธรรม?
คำว่าวัฒนธรรมเป็นคำกลางๆ ส่วนคำว่าวัฒนธรรมการข่มขืนเป็นข้อวิพากษ์สังคมที่มันส่งเสริมให้เกิดการข่มขืน โอเค อ่านตรงนี้อาจรู้สึกว่าโหย ไกลตัว สังคมอารยะทั้งหลายการข่มขืนมันก็ไม่ได้รับการส่งเสริมทั้งนั้นแหละ
เอ้า ฟังดีๆในทางวิชาการมองว่าพฤติกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการข่มขืนขึ้นได้ก็เช่น การโทษเหยื่อ (อุ้บส์) การทำให้ผู้หญิงเป็นวัตถุทางเพศ หรือการทำให้การคุกคามทางเพศ(ต่างๆ) ถูกมองว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่
ไอ้หลายๆ ข้อที่ว่ามานี่ แหม่ วัฒนธรรมบ้านดูเหมือนจะเข้าข่าย rape culture พอสมควรเลยเนอะ โดยเฉพาะความคิดที่บอกว่าผู้หญิงที่แต่งตัวโป๊ก็ผิดด้วย แต่งแบบนี้สมควรถูกข่มขืนแล้วล่ะ คำพูดพวกนี้เป็นการส่งเสริมความรุนแรงทางเพศล้วนๆ ซึ่งเราอาจจะรู้สึกว่า อ้าวนี่ไม่ได้ส่งเสริมนะ แต่ในระดับความคิด มันไปทำให้การข่มขืนมันชอบธรรมขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้วทั้งหมดเป็นสิทธิในร่างกายของผู้หญิง ไม่ว่าจะแต่งโป๊หรือจะยินยอมมีเพศสัมพันธ์ เป็นหน้าที่ของผู้ชายที่ต้องระงับอารมณ์ตนเองให้ได้อะนะ
แนวคิดเรื่องวัฒนธรรมการข่มขืนยืนอยู่บนทฤษฎีเฟมินิสต์ที่กลับมาทบทวนว่า เฮ้ยจริงๆ แล้วเพราะว่าสังคมมีการจัดวางผู้ชายและผู้หญิงอย่างไม่เท่าเทียมกัน เป็นสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่และผู้หญิงถูกทำให้กลายเป็น ‘วัตถุ’ โดยเฉพาะเป็นวัตถุทางเพศ ทั้งหมดนี้เองที่เป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการข่มขืนกันขึ้น
การข่มขืนในต่างวัฒธรรม
นักมานุษยวิทยาเขาก็สงสัยกันว่าเฮ้ยทำไมเราถึงข่มขืนกันนะ ผลที่ออกมาคือค่อนข้างเชื่อว่ามันเกิดจากสังคมแหละ แล้วก็สอดคล้องกับแนวคิดของเฟมินิสต์ด้วยที่บอกว่าการข่มขืนมันเกี่ยวกับความไม่เสมอภาคทางเพศและสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ เพราะว่านักมานุษยวิทยาพวกนี้จะไปศึกษากลุ่มชนหลายๆ กลุ่ม โดยรวมก็จะพบว่าสังคมแต่ละที่ก็มีการจัดวางบทบาทของแต่ละเพศไว้ต่างกัน คือถ้ามันเป็นเรื่องธรรมชาติ บทบาทและตำแหน่งของชายหญิงมันจะเหมือนกันหมด แต่นี่พบว่าอ้าว ในบางชนเผ่ามันก็ไม่มีการข่มขืนกันเลยเว้ย และผลคือสังคมที่ไม่มีการข่มขืนคือเป็นสังคมที่ผู้หญิงมีอำนาจ
Peggy Reeves Sanday เป็นนักมานุษยวิทยาที่ศึกษาชนเผ่า 156 เผ่าที่มีวัฒนธรรมต่างๆ กัน พบว่าการข่มขืนเกิดขึ้นในสังคมที่ผู้หญิงไม่มีอำนาจ ในชนเผ่าที่พบว่าไม่มีการข่มขืนเกิดขึ้นจะเป็นสังคมที่ให้ความสำคัญว่าผู้หญิงก็เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างสังคมนั้นขึ้นมา มีการกระจายอำนาจและเชื่อว่าเพศทั้งสองมีบทบาทในการเติมเต็มซึ่งกันและกัน ฟังดูเป็นอุคมคติดีมาก พูดง่ายๆ คือเป็นสังคมที่ชายหญิงเท่าเทียมกัน
ในทางกลับกันก็พบเลยว่าสังคมที่กันผู้หญิงออกจากพื้นที่ทางอำนาจต่างๆ คือไม่มีส่วนร่วมใดๆ ผู้หญิงจะถูกมองว่าเป็นเพียงวัตถุสิ่งของ เป็นเพียงแค่สิ่งที่ผู้ชายไขว่คว้ามาควบคุมและครอบครอง สังคมแบบหลังเป็นสังคมที่มีการข่มขืนกันมาก
สุดท้ายมันแล้วมันก็เหมือนงูกินหางเนอะ ตอนแรกเราอาจจะรู้สึกว่า เฮ้ย คนข่มขืนมันเป็นเรื่องไกลตัวว่ะ เราทำหน้าที่ประนามและหาทางกำจัดมันออกไปจากสังคมที่ดีงามของเราดีกว่า แต่พอลองดูการศึกษาต่างๆ กลับเป็นว่า อ้าว สังคมที่เราเป็นส่วนหนึ่งนี่แหละที่สุดท้ายแล้วมันสร้างความรุนแรงทั้งๆ เราอาจจะไม่รู้ตัวเลย
ในกรณีของการข่มขืน มีเรื่องความไม่เสมอภาคทางเพศที่มันทำให้การข่มขืนมันเกิดขึ้นในสังคมได้ เราอาจไม่รู้สึกอะไรกับการผลิตซ้ำตรรกะที่ด่าว่าผู้หญิงที่แต่งตัวโป๊ เราอาจเคยเฉยๆ กับการล้อกันเล่นหรือการพูดเล่นที่มีนัยของการคุกคามทางเพศ เราอาจจะเฉยๆ กับการที่เราใช้ผู้หญิงมาเป็นวัตถุทางเพศต่างๆ ใช้เรือนร่างของเธอมาจัดแสดงเพื่อดึงดูดผู้คน ทั้งหมดนี้มันเป็นการตอกย้ำว่าตำแหน่งผู้หญิงหรือความไม่เสมอภาคทางเพศในสังคมไทย อาจจะฝังรากลึกและควรขุดรื้อทบทวนกันบ้าง