คำเตือน บทความต่อไปนี้เต็มไปด้วยเนื้อหาที่มีความรุนแรงทางเพศ อาจทำให้เกิดความหดหู่ โปรดไตร่ตรองพิจารณาก่อนอ่าน
สงครามโลกครั้งที่ 2 ในช่วงต้นปี ค.ศ.1945 เป็นช่วงถดถอยของฝ่ายเยอรมัน หลังจากความพ่ายแพ้ที่สมรภูมิบาสโตนจ์ (Bastogne) จากความพยายามที่จะยึดคลังเชื้อเพลิงของฝ่ายสหรัฐอเมริกาล้มเหลว ทำให้เยอรมันขาดแคลนสิ่งที่สำคัญที่สุดในการรบไป พวกเขาไม่มีเชื้อเพลิงเหลือเพื่อใส่ในยานเกราะและรถถัง การบุกไม่สามารถรุกคืบได้อีกต่อไป จนถูกกองพลยานเกราะของอังกฤษและสหรัฐอเมริกาทำลายย่อยยับพังพินาศ
เรียกได้ว่ามันคือจุดเปลี่ยนของเยอรมันโดยสิ้นเชิง ต่อมาฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มรุกคืบอย่างรุนแรงจากกำลังสนับสนุนที่พลเอกจอร์จ แพตตัน ผู้บัญชาการกองทัพที่ 3 ของสหรัฐอเมริกานำเข้ามา โจมตีทำลายยานเกราะและรถถังจนแทบไม่เหลือ ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้เยอรมนีสูญเสียทรัพยากรด้านสงครามจนเป็นผลทำให้แนวรบอีกด้านหนึ่งคือแนบรบด้านตะวันออกที่กองทัพแดงของสหภาพโซเวียตต่อสู้ป้องกันพื้นที่ของตนเองอย่างทรหดได้แตกลงและถูกรุกคืบตีกลับด้วย “ความแค้นสุดมหันต์”
ทำไมกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตถึงเคียดแค้นเยอรมัน?
ย้อนกลับไปวันที่ 24 สิงหาคม ค.ศ.1939 ไม่กี่วันก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จะเริ่มต้น สหภาพโซเวียต และนาซีเยอรมัน ได้ทำกติกาสัญญาโมโลตอฟ–ริบเบินทร็อพ (Molotov–Ribbentrop Pact) หรือที่รู้จักกันในชื่อ กติกาสัญญานาซี–โซเวียต (Nazi–Soviet Pact) มันคือกติกาสัญญาไม่รุกรานกันระหว่างประเทศเยอรมนีและสหภาพโซเวียต ที่ลงนามในกรุงมอสโก มันเป็นการประกาศวางตัวเป็นกลางหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกโจมตีโดยประเทศที่สาม และประเทศทั้งสองสัญญาว่าจะไม่เข้าร่วมกลุ่มกับอำนาจอื่นซึ่งมีเป้าหมายในการโจมตีประเทศของคู่สัญญา
โจเซฟ สตาลิน ผู้นำสหภาพโซเวียตในตอนนั้นชะล่าใจ แม้ในช่วงเวลาหลังจากเซ็นสัญญา อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ จะนำทัพอันเกรียงไกรบุกเข้าในทั่วยุโรป ไล่ยึดครอง เข่นฆ่าฝ่ายตรงข้ามและฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวไปมากเท่าใด สตาลินไม่เคยคิดว่าฮิตเลอร์จะกล้าหักหลังและบุกประเทศของเขา
แต่สตาลินรู้จักฮิตเลอร์น้อยเกินไป เช้าตรู่ของวันที่ 22 มิถุนายน ค.ศ.1941 เยอรมนีเริ่มปฏิบัติการบาร์บารอสซา ทหารกว่า 2.6 ล้านคน พร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ ปืนใหญ่กว่า 7,000 กระบอก รถถังและยานเกราะกว่า 4,000 คัน เครื่องบินอีกกว่า 2,500 ลำ มุ่งหน้าเต็มกำลังเข้าสู่ดินแดนสหภาพโซเวียตโดยที่ไม่มีใครคิดและตั้งตัวทัน ทหารกองทัพแดงและประชาชนถูกฆ่าตายไปราว 3 ล้านคน ถูกจับเป็นเชลยทาสสงครามอีกราว 3 ล้านคน บ้านเมืองพังทลายราบเป็นหน้ากลอง
หนึ่งในเหตุการณ์ที่โหดร้ายที่สุด คงหนีไม่พ้น “เลนินกราด” มันคือ 872 วันแห่งการปิดล้อมที่ยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ การปิดล้อมเลนินกราด (ปัจจุบันคือเมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก) โดยกลุ่มกองทัพเหนือของเยอรมัน เพื่อต้องการทำลายแนวรบทางทิศตะวันออก ตั้งแต่วันที่ 8 กันยายน ค.ศ.1941 จนถึง 27 มกราคม ค.ศ.1944 แผนของพวกเขาคือการปิดล้อมให้คนด้านในต้องตายจากความอดอยากด้วยความทรมาน จนกลายเป็นโศกนาฏกรรมที่สร้างความทุกข์ทรมานและคร่าชีวิตประชาชนไปอย่างมากมาย
เหล่าประชาชนชาวรัสเซียที่อยู่ในเลนินกราดเมื่อรู้ว่าไม่สามารถหลีกหนีบริเวณแนวล้อมที่อยู่โดยรอบ พวกเขาจึงวางแผนแบ่งอาหารที่ยังพอมีเหลือซึ่งส่วนมากคือขนมปังให้พอเพียงกับคนกว่า 3.5 ล้านคน แต่ละคนตอนนั้นโดยเฉลี่ยแล้วได้อาหารเพียง 300 แคลอรี่ต่อวันเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าความต้องการเฉลี่ยในแต่ละวันถึง 5 เท่า และเมื่ออาหารใกล้หมดพวกเขาจึงแบ่งให้แค่ ผู้หญิง คนชรา และเด็ก แม้จะยื้อชีวิตไปมากแค่ไหน
แต่เมื่อผ่านไป 1 ปี อาหารของพวกเขาก็ไม่มีเหลือ สัตว์เลี้ยงและหนู จึงกลายเป็นตัวเลือกถัดไปเพื่อประทังชีวิตให้อยู่รอด และต่อมาก็คือการกินเหล่าซากศพที่ตาย ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ หรือเนื้อคน ศพที่ถูกนำไปสุมกองในบริเวณหนี่งของเมือง พบว่าแต่ละศพนั้นส่วนมากจะไม่มีแขนและขา ผู้คนบางส่วนที่ล้มตายจากโรคระบาดที่เกิดจากการกินอาหารเหล่านี้ แต่ส่วนมากล้วนล้มตายจากความอดอยาก
แม้ทางเมืองพยายามลดความโหดร้ายของสถานการณ์โดยพยายามใช้พื้นที่ว่างเปล่าทำการเพาะปลูกพืชผักให้ได้มากที่สุด แต่ประชาชนและทหารชาวรัสเซียเสียชีวิตไปกว่า 1.5 ล้านคน จากจำนวนประชากรที่เคยอาศัยอยู่กว่า 3.5 ล้านคนก่อนช่วงสงคราม เศรษฐกิจที่เคยรุ่งเรืองถูกทำลายโดยสิ้นเชิง หลังสงครามเหลือประชาชนเพียง 7 แสนคน และใช้เวลาหลายสิบปี ในการกู้สิ่งที่เคยมีอยู่กลับมา
ว่ากันว่านี่เป็นบาดแผลเป็นที่บาดลึกไปในจิตใจของชาวรัสเซียมากที่สุด จนทำให้เมื่อฝ่ายตรงข้ามเริ่มล้มหลังจากการเข้ามาของสหรัฐอมเริกาในการช่วยเหลือด้านตะวันตกของยุโรป
สหภาพโซเวียตก็ไม่รีรอที่จะแก้แค้นอย่างสาสม
และรุนแรงกว่าหลายเท่า
หลังจากกองทัพเยอรมันเริ่มเปราะบางกองทัพแดงของสหภาพโซเวียตนำทัพที่สั่งสมมาบุกเข้ายึดครองโปแลนด์ได้อย่างไม่ยากเย็น และเป้าหมายต่อไปของพวกเขาคือการบุกยึดครองกรุงเบอร์ลิน เมืองหลวงของประเทศเยอรมนีอย่างไม่มีใครที่หยุดยั้งได้แล้วอีกต่อไป
ในเดือนมกราคม ค.ศ.1945 กองทัพแดงเคลื่อนพลเป้าหมายคือเข้าสู่กรุงเบอร์ลิน กองทัพไปด้วยความรวดเร็วด้วยความเร็วเฉลี่ยวันละ 30 กิโลเมตร เส้นทางคือปรัสเซียตะวันออก พอเมอเรเนียตะวันออก จนไปถึงกรุงเบอร์ลิน ระหว่างทางกองทัพแดงไล่ฆ่าประชาชน ดื่มเหล้าเมา และไล่ข่มขืนประชาชนชาวเยอรมันอย่างไร้มนุษยธรรม แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะทำ จากความหลากหลายและมากโขของประชาชนในกองทัพแดง จึงมีทั้งพวกเสรีนอกรีตที่ชอบดื่มเหล้ามากกว่ารบและไล่ข่มขืนอย่างไร้ยางอาย รวมถึงพวกคอมมิวนิสต์ในอุดมคติที่เคร่งครัดในระเบียบ และปัญญาชนอีกหลายคนที่ตกตะลึงกับพฤติกรรมดังกล่าวและรีบแจ้งแก่เบื้องบน
ในตอนนั้นสตาลินอยู่ที่มอสโคว์ เขาได้รับรายงานอย่างละเอียดจากทหารจำนวนหนึ่ง หนึ่งในรายงานกล่าวว่า “ผู้หญิงเยอรมันทุกคนในปรัสเซียตะวันออกถูกทหารกองทัพแดงข่มขืน มีการข่มขืนกระทำชำเราและรุมโทรมข่มขืนผู้หญิงหนึ่งคนต่อทหารหลายคนพร้อมกันเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่เด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 18 ปีไปจนถึงหญิงชรา”
จอมพลคอนสตันติน คอนสตันติโนวิช โรคอสซอฟสกี ผู้บัญชาการโซเวียตและโปแลนด์ ได้ออกคำสั่งหมายเลข 006 เพื่อพยายามกำกับทหารของตนกับ “ความรู้สึกเกลียดชังกับศัตรูในสนามรบระหว่างการต่อสู้” แต่ดูเหมือนว่าคำสั่งนี้จะช่วยได้เพียงเล็กน้อย ทหารบางส่วนยังคงไล่ข่มขืนและฆ่าอย่างไร้ปราณี ผู้บังคับบัญชาสหภาพโซเวียตบางส่วนจึงต้องใช้อำนาจขั้นสูงสุด
ตัวอย่างเช่นผู้บังคับบัญชากองพลปืนไรเฟิลแห่งหนึ่งได้ตัดสินใจประหารด้วยการยิงผู้หมวดในหน่วยของตนที่กำลังเข้าแถวต่อคิวเพื่อข่มขืนสตรีชาวเยอรมันรายหนึ่งที่กำลังถูกกดให้นอนอยู่บนพื้นเพื่อข่มขืน แต่นายทหารบางคนหลายหน่วยก็ยังเข้าไปพัวพันเรื่องนี้ด้วยตัวเอง การขาดวินัยของกองทัพแดงทำให้แต่ละคนอยู่ในช่วงอันตรายขีดสุด มันเต็มไปด้วยทหารขี้เมาที่พกอาวุธปืน ใช้อำนาจเพื่อสนองความต้องการตนเองโดยไม่สนใดๆ อีกต่อไป
ทหารหลายคนไม่สนใจกฎระเบียบ พวกเขามองว่านี่คือการล้างแค้นให้กับมาตุภูมิซึ่งประชาชนและครอบครัวของเขาถูกฆ่าตายหลายล้านคนจากการรุกรานของกองทัพเยอรมัน ความคิดนี้ทำให้มีความรุนแรงเกือบทุกอย่างไปทุกหย่อมหญ้า แม้แต่ทหารหญิงและเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ในกองทัพแดงก็มีการปรากฏว่าแสดงความเห็นด้วยกับการล่วงละเมิดทางเพศ “พฤติกรรมของทหารของเราที่มีต่อชาวเยอรมัน โดยเฉพาะการกระทำต่อผู้หญิงชาวเยอรมันนั้นถูกต้องที่สุด!” ทหารหญิงกองทัพแดงวัย 21 ปีคนหนึ่งกล่าว
นาตาเลีย กีสส์ นักข่าวสงครามโซเวียต ได้เฝ้าสังเกต บันทึก และถ่ายภาพการทำงานของกองทัพแดงในช่วงปีค.ศ.1945 เธอกล่าวว่า “ทหารรัสเซียข่มขืนผู้หญิงชาวเยอรมันทุกคนตั้งแต่อายุ 8 ปีถึง 80 ปี มันเป็นกองทัพของนักข่มขืน”
เรื่องของการข่มขืนหมู่ของกองทัพแดงในเยอรมนีนั้นยังคงเป็นประเด็นที่โจมตีรัสเซียจนถึงทุกวันนี้ ทหารผ่านศึกหลายคนยังไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นว่าเป็นความจริง มีเพียงคนไม่กี่คนที่ออกมาเล่าอย่างเปิดเผย แต่การออกมาพูดใช่ว่าจะเป็นการกลับใจ แต่มันคือสิ่งที่ตรงกันข้าม หลายคนพูดออกมาด้วยความภูมิใจ
“พวกเขาทั้งหมดถอดกระโปรงแล้วนอนบนเตียงของเรา” หนึ่งในอดีตผู้บังคับบัญชาหน่วยรถถังสหภาพโซเวียตกล่าว “ลูกของเราสองล้านคนเกิดในเยอรมนี”
“เพื่อนของเราอดอยากทางเพศมาก พวกเขามักจะข่มขืนหญิงชราอายุ 60, 70 หรือ 80 ด้วยซ้ำ จนทำให้คุณยายเหล่านี้ประหลาดใจ” อดีตนายทหารสหภาพโซเวียตคนหนึ่งกล่าว
การข่มขืนผู้หญิงของกองทัพนี้ไม่ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะสิ่งเหล่านี้มีมาตั้งแต่ในสมัยกรีกโบราณ ชาวกรีกโบราณถือว่าการข่มขืนผู้หญิงในสงครามนั้นเป็น “พฤติกรรมที่สังคมยอมรับได้ภายใต้กฎการทำสงคราม” และนักรบต่างถือว่าผู้หญิงที่พวกเขาพิชิตได้นั้น “ชอบด้วยกฎหมาย ในฐานะภรรยา นางสนม แรงงานทาส หรือถ้วยรางวัลในสนามรบ”
การข่มขืนมักถูกใช้เป็นวิธีการทำสงครามจิตวิทยา
เพื่อทำให้ศัตรูเกิดความอับอายขายหน้า
ความรุนแรงทางเพศในช่วงสงครามเกิดขึ้นมาหลายร้อยหลายพันปี จนเริ่มมีสนธิสัญญาและประมวลกฎหมายสงครามในการคุ้มครองสตรีและเด็กในช่วงปลายศตวรรษที่ 18 และ 19 แต่วัฒนธรรมและแนวคิดของการมองผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุแห่งชัยชนะและถ้วยรางวัลยังคงมีให้เห็นจนถึงปัจจุบัน
วาซิลี กรอสแมน นักข่าวสงครามที่ติดตามกองทัพแดงที่บุกรุกเยอรมนี เขาพบว่าเหยื่อการข่มขืนไม่ใช่แค่ชาวเยอรมันเท่านั้น แต่ผู้หญิงชาวโปแลนด์ก็ต้องทนทุกข์ทรมานเช่นกัน หญิงสาวชาวรัสเซีย เบลารุส และยูเครน ต่างถูกแวร์มัคท์ (ชื่อเรียกกองทัพของนาซีเยอรมนี) ส่งกลับไปยังเยอรมนีโดยเพื่อใช้เป็นแรงงานทาส และบางครั้งพวกเธอก็กลายเป็นทาสทางเพศของทหารเหล่านั้น
ในกรุงเบอร์ลิน ผู้หญิงจำนวนมากไม่ได้เตรียมพร้อมสำหรับการแก้แค้นของทหารกองทัพแดง ไม่ว่าพวกเขาจะได้ยินโฆษณาชวนเชื่อสยองขวัญมากมายเพียงใด แต่หลายคนกลับมั่นใจว่าไม่อันตรายและไม่โดนข่มขืนอย่างแน่นอน
ตัวอย่างเช่นที่เขตดาห์เลม กรุงเบอร์ลิน เจ้าหน้าที่สหภาพโซเวียตกลุ่มหนึ่งได้เข้าพบซิสเตอร์คูนิกุนเด ผู้อำนวยการของเฮาส์ ดาห์เลม คลินิกคลอดบุตรและสถานเลี้ยงเด็กกำพร้า อันที่จริงเจ้าหน้าที่และคนของสหภาพโซเวียตกลุ่มนี้ประพฤติตัวและถ่อมตนดีมาก พวกเขาถึงกับเตือนซิสเตอร์เกี่ยวกับกองทหารชุดที่ 2 ฝ่ายเดียวกับพวกเขาที่กำลังจะมาถึงกรุงเบอร์ลิน แต่ซิสเตอร์และคนที่นั่นกลับไม่เชื่อ ปรากฏว่าหลังจากกองทัพแดงชุดนั้นมาถึง แม่ชี เด็กสาว หญิงชรา สตรีมีครรภ์ และมารดาที่เพิ่งคลอดบุตร ล้วนถูกข่มขืนอย่างไม่สงสารปราณีใดๆ
ผู้หญิงหลายคนถูกบังคับให้ “ยอมจำนน” พวกเธอตัดสินใจยอมทหารกองทัพแดงคนใดคนหนึ่งด้วยความหวังว่าทหารคนนั้นจะปกป้องเธอจากคนอื่นๆ ที่พยายามจะมาข่มขืน แมกดา วีแลนด์ นักแสดงสาววัย 24 ปี ถูกลากจากอพาร์ตเมนต์ของเธอใกล้กับถนนคูเฟอร์สเตนดัม ในกรุงเบอร์ลิน ทหารหนุ่มจากกองทัพแดงลากเธอออกไปด้วยความตื่นเต้นมากกับสาวผมบลอนด์แสนสวยคนนี้ วีแลนด์ใช้ภาษามือเสนอตัวให้เขาเป็นแฟน หากเขาสัญญาว่าจะปกป้องเธอจากทหารรัสเซียคนอื่น แต่แล้วทหารคนนี้กลับลากเธอออกไปอวดเพื่อนฝูง และทหารเหล่านั้นก็ข่มขืนเธอ
ในไม่ช้าผู้หญิงที่ยังหลงเหลืออยู่ก็เรียนรู้ที่จะซ่อนตัวในช่วงเวลาที่เรียกกันว่า “ชั่วโมงล่าสัตว์” ในตอนเย็นของทุกวันเป็นเวลาที่เหล่าทหารจะไล่หาผู้หญิงเพื่อมาปรนเปรอตนเอง เด็กสาวตัวน้อยถูกพ่อแม่จับซ่อนอยู่ในห้องเก็บของเป็นเวลาหลายวัน และบรรดาแม่ๆ แอบออกไปตักน้ำในช่วงเช้าตรู่ในช่วงเวลาที่ทหารโซเวียตนอนหลับสนิทจากฤทธิ์แอลกอฮอล์เมื่อคืนก่อน
บางครั้งอันตรายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดมาจากเพื่อนหรือคนใกล้ตัว แม่ชาวเยอรมันคนหนึ่งตัดสินใจบอกที่ซ่อนของเด็กผู้หญิงคนอื่นที่ไม่ใช่ลูกตนเอง ด้วยความหวังว่าจะช่วยลูกสาวของเธอเองให้พ้นภัย เสียงกรีดร้องของเด็กเป็นอะไรที่สิ้นหวังและหดหู่ที่สุด ชาวเบอร์ลินหลายคนยังคงจดจำเสียงกรีดร้องของเด็กที่เปลี่ยนไปทุกคืนได้
จากข้อมูลเหยื่อการข่มขืนจากโรงพยาบาลหลักสองแห่งของกรุงเบอร์ลินในช่วงการรุกรานของกองทัพแดงระหว่างเดือนมกราคม ถึง สิงหาคม ปี ค.ศ.1945 มีเหยื่อที่ถูกข่มขืนในกรุงเบอร์ลินอยู่ระหว่าง 95,000 ถึง 130,000 คน และมีผู้เสียชีวิตจากเหตุข่มขืนประมาณ 10,000 คน ส่วนใหญ่เกิดจากการฆ่าตัวตายหลังจากที่ถูกข่มขืน
รายงานของโรงพยาบาลยังระบุด้วยว่ามีการทำแท้งทุกวันในโรงพยาบาลทุกแห่ง ในขณะที่ปรัสเซียตะวันออก พอเมอราเนีย และซิลีเซีย พบคดีข่มขืนมากกว่า 1.4 ล้านคดี มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 200,000 คนทั้งจากการฆ่าตัวตายและโรคที่ตามมาจากการถูกข่มขืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหยื่อที่ถูกข่มขืนมากกว่า 70 ครั้งขึ้นไป
คดีข่มขืนเกิดขึ้นเกือบทุกประเทศ เกือบทุกฝ่าย และเกือบทุกสมรภูมิมาตลอดหลายพันปี ไม่เพียงแต่เหตุการณ์นี้ของสหภาพโซเวียตเท่านั้น เหตุการณ์นี้เป็นเพียงตัวอย่างของความโหดร้ายที่เกิดขึ้นท่ามกลางสงคราม คนที่เจ็บปวดที่สุดกลับกลายเป็นประชาชนผู้ที่ไม่ได้ต้องการสงครามไม่ได้ต้องการอะไรนอกจากใช้ชีวิตอยู่อย่างสงบสุข บทความนี้เป็นเพียงการเปิดอีกมุมมองหนึ่งของสงครามที่ไม่มีใครอยากพูดถึง เรื่องราวของทหารที่มองประชาชนโดยเฉพาะผู้หญิงเป็นเพียงเครื่องมือการแก้แค้นและวัตถุแห่งการปนเปรอความสำเร็จ แต่กลับถูกมองว่าเป็นภาพลักษณ์ของฮีโร่ผู้ช่วยกอบกู้ประเทศเอาไว้
อ้างอิงข้อมูลจาก
หนังสือ History of world war 2 โดย พันเอกศนิโรจน์ ธรรมยศ