ช่วงนี้กระแสฮิปฮอปกำลังมาแรง ในไทยเอง ก็มีรายการแข่งขันเฟ้นหาแร็ปเปอร์ มีแร็ปเปอร์ และฮิปฮอปแนวใหม่ๆ เปิดตัวเป็นที่รู้จักมากขึ้น ในส่วนของต่างประเทศเองก็มีเพลงฮิปฮอปอย่าง ‘This is America’ ที่กลายเป็นไวรัล ด้วยเอ็มวี เนื้อเพลง และความหมายสอดแทรกที่เสียดสีสังคม การเมือง ทั้งสามารถขึ้นชาร์ตบิลบอร์ดได้อย่างรวดเร็ว
ในขณะที่วัฒนธรรม ‘ฮิปฮอป’ กำลังเป็นกระแส สวนทางกับการเมืองไทยที่นิ่งเงียบ อยู่ในบรรยากาศที่อึมครึม มีแต่ข่าวแผนการปฏิรูป การใช้อำนาจของรัฐบาลทหาร และการเลือกตั้งที่ถูกเลื่อนออกไป ทำให้คนออกมาพูด หรือสนใจเรื่องการเมืองน้อยลงเรื่อยๆ เรากลับไปรู้จักฮิปฮอปของไทย ที่ไม่ได้แร็ปเป็นเพลงรัก หรือมีเนื้อหาสดใส แต่กลับใช้ความขบถของเพลง วิพากษ์สังคม การเมือง ไปจนถึงรัฐบาล
The MATTER คุยกับ ‘Liberate P’ แร็ปเปอร์ใต้ดิน ผู้เคยผ่านเวที Rap Is Now มาพูดคุยถึงการทำเพลงแร็ปที่วิพากษ์สังคมการเมือง ว่าทำไมถึงทำเพลงแนวนี้ สิทธิการแสดงออกและการพูดในสังคมไทยปัจจุบัน และวัฒนธรรมฮิปฮอป รวมถึงการทำเพลงใต้ดินในไทยกัน
จุดเริ่มต้นของแร็ปเปอร์สายการเมือง
Liberate P หรือ Liberate The People เป็นชื่อที่ใช้ในการทำเพลงของแร็ปเปอร์สายการเมืองคนนี้ ที่แค่ชื่อก็สะท้อนอุดมการณ์บางอย่างชัดเจนออกมา เขาเล่าถึงจุดเริ่มต้น จากการความชื่นชอบในการแร็ป สู่การนำเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองมาผสมผสาน
“ชื่อ Liberate P มันเริ่มขึ้นมาจากตอนที่เราทำเพลงแรกๆ เราอยากใช้ชื่อเกี่ยวกับอิสรภาพ แต่ตอนเด็กๆ เราคิดว่าคำว่า Freedom มันไม่เท่ เราไปหาคำอื่นและได้เป็นคำว่า Liberate ขึ้นมา ตอนนั้นเรายังไม่เข้าใจภาษาอังกฤษ จึงไปเสิร์ชอีกคำมา เจอคำว่า People แปลว่าผู้คน ก็ย่อให้กลายเป็น P ก็กลายเป็น Liberate P
“ผมทำเพลงมาประมาณ 11-12 ปี ตั้งแต่อยู่ม.5 เริ่มทำเพลงเพราะเราฟังมาก่อน ฟังพวกเพลงแร็ปใต้ดิน หลังจากนั้นเราไปเจอคอมมูนิตี้ สยามฮิปฮอป พอเราเข้าไปอยู่ตรงนั้น เราไปเจอคนที่ชอบแบบเดียวกับเรา จึงเกิดแรงบันดาลใจที่อยากทำเพลงบ้าง ซึ่งก่อนหน้านี้มันเริ่มจาก text battle ที่พิมพ์ด่ากัน และพอเค้าก็มีจัดแข่งเป็น Audio Battle เราก็ไปร่วมตรงนั้น และได้ทำเพลงที่มีการอัดเสียงครั้งแรก ตอนประมาณปี 2006-2007
“พอมาถึงช่วงลงแข่ง Rap Is Now ซีซั่น 1 เริ่มมีคนตามเราเยอะขึ้น เราก็คิดว่าช่วงนี้แหละ ที่เราน่าจะพูด โดยก่อนหน้านี้มันก็มีเพลงของหลายคนที่พูดเรื่องการเมือง แต่ในแง่ของเรา เราทำเพลงออกมาโดยไม่คิดว่าจะมีคนฟัง หรือเข้าใจอะไรมาก แต่เราคิดว่าถ้าเราทำ อย่างน้อยก็เป็นการแสดงว่าตรงนี้มันมีปัญหาอยู่”
ฮิปฮอบใต้ดิน กับ การทำเพลงด้วยตัวเอง
ในฐานะที่ Liberate P ทำเพลงด้วยตัวเอง มันจึงน่าสนใจไม่น้อยว่า กระบวนการที่เริ่มตั้งแต่แต่งแร็ป ทำเพลงจนออกมาเป็นเพลงๆ หนึ่ง รวมถึงการปล่อยเพลงใต้ดินในประเทศไทย ที่เพลงฮิปฮอปยังไม่ได้เป็นกระแสหลักนั้นเป็นอย่างไร
“ในการแต่งแร็ป ผมเป็นคนแต่งเพลงนาน นานมากเลย บางเพลงใช้เวลาเกือบครึ่งปี บางเพลงก็เร็ว มันมีหลายๆ อย่างด้วย บางทีผมอาจจะมีความรู้สึกมาก เขียนๆ ไปก็เสร็จเลย บางเพลงก็อาจจะต้องกรองหน่อย ต้องเช็กสถานการณ์อะไรด้วย ถ้ากรณีที่เป็นเพลงการเมือง จริงๆ การทำเพลงมันง่ายนะ เราแค่มีอุปกรณ์อัด และเราอาจจะซื้อบีทมา หรือใน Culture เพลงแร็ปมันก็จะมี Mixtape ที่เอาบีทเปล่ามาและมาแร็พลงไป ซึ่งเค้าก็ทำกันเยอะ ทั้งต่างประเทศ และในไทย จะบอกว่ายากมันก็ยากที่เราฝึกฝน เหมือนคนหัดเล่นกีต้าร์
“การปล่อยเพลงใต้ดินในไทยมันยาก ก่อนช่วงที่จะมี Rap Is Now ช่วงนั้นปล่อยเพลงมาคือหลักร้อยวิว ขึ้นพันก็ดีใจแล้ว พอมันมีกระแสขึ้นมา มันก็เริ่มกระจายเร็วขึ้น เริ่มเป็นหลักหมื่น หลักแสนแล้วเหมือนกัน”
ฮิปฮอป + การเมือง
ในการทำเพลง โดยเฉพาะในไทยเราจะคุ้นชินกับเพลงที่มีเนื้อหาวนเวียนเกี่ยวกับความรัก ความรู้สึกของคนอินเลิฟ หรืออกหัก แม้แต่เพลงฮิปฮอปเองก็ยังไม่พ้นแนวนี้ แต่เนื้อเพลงส่วนใหญ่ของ Liberate P กลับเป็นในเชิงวิพากษ์สังคม ทั้งเพลง OC(T)YGEN ที่เล่าถึงเหตุการณ์ 6 ตุลา เพลง Wonderland ที่เสียดสีถึงสถานการณ์ในประเทศที่มีการทำรัฐประหาร หรือ CAPITALISM ที่พูดถึงชนชั้นที่ไม่เท่าเทียม
Liberate P อธิบายว่า เหตุผลต้องแร็ปเรื่องการเมือง เพราะต้องการสะท้อนแง่มุมในสังคมให้กับคนฟัง และเพื่อตอกย้ำถึงความสำคัญของปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น
“ด้วยความที่ Culture ของเพลงแร็ปที่พูดอะไรที่ขบถ หรือว่าสิ่งที่ศิลปินหรือนักร้องอยากจะพูด พอมาช่วงหลังเรารู้สึกว่ามันมีคนตามเรามามากขึ้น เราจึงอยากพูดเรื่องการเมืองบ้าง เพราะคิดว่าเป็นอีกทางเลือกนึงที่คนจะตามเพลงการเมืองแบบนี้ จริงๆ ในไทยก็มีเพลงแนวนี้เยอะ แต่เราอาจจะต่างกับเขาตรงที่ว่า เราพูดในอีกแง่นึงที่มันมากกว่าการด่ารัฐบาล หรือด่าตำรวจ เราจะพูดในแนวสะท้อนปัญหาว่า สังคมมันมีปัญหาจริงๆ นะ ในสังคมการเมืองบ้านเรา มันมีคนโดนจับ โดนยิงตาย มันเป็นเรื่องที่เราอยากจะพูดตรงนี้บ้าง”
ความสนใจเรื่องการเมืองของ Liberate P เกิดขึ้นตั้งแต่ตอนเป็นนักเรียน เขาเล่าให้เราฟังถึงความชื่นชอบในการติดตามบทความวิชาการ ที่มันช่วยให้มุมมองต่อสังคมของตัวเองเปลี่ยนไปและมองเห็นอะไรบางอย่างในมุมที่ไม่เคยสังเกตมาก่อน
“เราสนใจการเมือง ติดตามมาตั้งแต่มัธยม ชอบดูข่าวการเมือง ก่อนหน้านี้เราชอบประวัติศาสตร์พวก 14 ตุลา ก็ไปตาม หาอ่าน เราว่านักศึกษาพวกนั้นดูเท่ เราก็ตามมาเรื่อยๆ จนถึงตอนปี 2549 (รัฐประหารทักษิณ) มันเหมือนเหตุการณ์เก่าๆ ที่เคยเกิดขึ้น เราก็คิดว่าต้องมีคนลุกฮือ ออกมาแน่ๆ เลย ปรากฏว่าปี 2549 มันเงียบ เงียบไม่พอยังมีคนไปยื่นดอกไม้ให้ เรามองแบบ ‘นี่มันอะไรกันเนี่ย’ มันเหมือนอกหักจากคนชนชั้นกลางของประเทศนิดหน่อย ว่าทำไมเค้ากลายเป็นแบบนี้ หลังจากนั้น ในปี 2553 มันก็ยิ่งมีความขัดแย้งหนักลงไปอีก มีการเชียร์กันไม่พอ ยังใช้ทำลายอีกฝั่งนึง เราเลยรู้สึกว่าเราต้องพูดอะไรออกมาบ้าง แต่ว่าตอนนั้นเรายังไม่มีเสียงพอที่จะทำให้ไกลออกไป ให้คนฟังจำนวนเยอะ”
แต่ในสถานการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน ทำให้หลายคนมองว่าการพูด หรือวิจารณ์เรื่องการเมืองนั้นสุ่มเสี่ยง ไม่ปลอดภัย และไม่ใช่ประเด็นที่เปิดกว้างในการสนทนา แต่ Liberate P ไม่ใช่แค่กล้าพูด แต่ยังทำเรื่องนี้ออกมาเป็นเพลงสู่สาธารณะด้วยความคิดที่ว่าอย่างน้อยเพลงน่าจะทำให้คนตื่นตัวมากขึ้นได้
“ผมว่ามันยังมีสถานการณ์ที่เรายังพูดตรงนี้ได้อยู่ ผมว่าถ้าเราหยุดพูดมันเหมือนเสียโอกาสที่เรายังพอพูดได้ ผมมองว่าการที่เราเลือกที่จะเงียบมันก็เหมือนกับเรายอมอยู่ในสังคมการเมืองที่เค้ากดขี่อยู่”
“แล้วอะไรคือเป้าหมายของการแร็ปเรื่องการเมือง” เราสงสัย
“ผมว่าเพลงของผม มันอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรได้มาก แต่ผมว่ามันจะมีคนที่เขาฟังแล้วรู้สึกว่า มันมีบางอย่างไม่ยุติธรรมจริงๆ ซึ่งเขาอาจจะไปต่อยอดส่วนตัวของเค้าได้ ผมก็ไม่ได้ประเมินว่า พอปล่อยเพลงไปแล้วคนต้องฟังเรา ต้องเชื่อเราทันที แต่ผมคิดว่าอย่างน้อยๆ เค้าก็อาจจะตื่นตัว เก็บไปคิด หรือไปตามสิ่งที่เราพูดมากขึ้น คือมันอาจจะไม่ได้มือเปล่าขนาดนั้น”
“ผมมีเป้าหมายว่า เพลงทุกเพลงของผมที่เกี่ยวกับการเมือง ผมต้องการสื่อไปถึงชนชั้นกลางว่า ประเทศเรามีปัญหานะ เรากำลังปล่อยให้คนติดคุกโดยที่ไม่ได้ทำผิดอะไร เค้าแค่ออกมาพูด ผมต้องการให้คนตื่นตัวมากกว่าออกมาด่ารัฐบาลเพื่อความสะใจ ที่มันไม่ได้อะไรกลับมาเลย ผมอยากให้คนเปลี่ยนความคิด หรือตื่นตัวมากกว่าทำให้เพลงมันดัง”
เมื่อเป็นเรื่องการเมือง หลายคนจะมีความกลัว และอยากหลีกเลี่ยงที่จะพูดในเรื่องที่ผู้คนยังคิดเห็นแตกต่าง หากแต่ Liberate P กลับเชื่อว่า การพูดเรื่องเช่นนี้คือสิ่งสำคัญและจำเป็นในยุคสมัยปัจจุบัน
“จริงๆ ผมว่ามันไม่มีสังคมการเมืองที่ดีนะ แต่มันต้องเป็นอะไรที่เราสามารถพูดในสิ่งที่ไม่ผิดกฎหมายได้ เราสามารถใช้สิทธิที่ชอบธรรมของประชาชน ซึ่งตรงนี้มันหายไปเรื่อยๆ จากที่เราเคยทำได้ 100 ถูกถอยมา 80 70 60 ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งถ้ายิ่งมีคนเงียบ มันยิ่งลดเรื่อยๆ เพราะจำนวนคนมันพูดน้อยลงเรื่อยๆ คนที่พูดน้อยลงก็กลายเป็นเป้า ก็ยิ่งถูกจำกัดเข้าไปอีก”
ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ เขายังได้ทำโปรเจ็กต์ของฝั่งสายแร็ปที่ชื่อว่า ‘Rap Against Dictatorship’ ที่ร่วมงานกับเพื่อนแร็ปเปอร์บนเฟซบุ๊ก เพื่อขยายขอบเขตของการสื่อสารไปยังโลกออนไลน์
“มันเป็นโปรเจ็กต์ที่เราคิดว่า แร็ปมันเป็นกระแสขึ้นมา และในทางกระแสหลักของแร็ปก็ไม่ได้มีใครมาทำตรงนี้เท่าไหร่ ทั้งส่วนของใต้ดินเอง มันไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องสัญญา หรือภาพลักษณ์ต่ออาชีพการงานมาก ต้องเท้าความก่อนว่า โดยทั่วไป ตัวเพลงแร็ป/ฮิปฮอปเอง มันเป็นแนวเพลงที่เรียบง่าย ตรงไปตรงมา และติดดินอยู่แล้ว คือคุณสามารถหยิบไมค์ขึ้นมาร้องได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปิน หรือมีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรมากนัก ผมมองว่าตรงนี้มันพูดได้ เลยอยากสร้างพื้นที่ให้คนทั่วๆ ไปสามารถแสดงออกทั้งด้านสังคม และการเมืองผ่านเพลงแร็ป/ฮิปฮอปได้ โดยพยายามสื่อสารกับคน บวกกับกระแสที่มันเป็นช่วงนี้
“เราได้แรงบันดาลใจมาจากพวกเพลงเก่าๆ ที่อาจจะไม่ใช่เพลงแร็ปแต่เค้าผลักดันทางสังคม เค้าขับเคลื่อนสังคมได้ เราเลยว่าในส่วนของแร็ปมันน่าจะผลักดันสังคมได้ ไม่มากก็น้อย เราเลยอยากให้ทุกคน ไม่ว่าจะมีความเชื่อทางการเมือง หรือมีจุดยืนแบบไหน ถ้าหากคุณคิดว่าปัจจุบันประเทศเรากำลังมีปัญหา และอยากจะพูดมันออกได้ใช้ช่องทางในพื้นที่เพจ Rap Against Dictatorship ซึ่งเป็นโปรเจ็กต์ระยะยาวที่เราจะทำ จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง”
Rap/Hip Hop Culture ในไทย
พูดถึง Culture แร็ป/ฮิปฮอปทีไร ก็ต้องมีคนพูดถึงคำหยายคาย คำด่า และการสบถต่างๆ ที่ปรากฏในเนื้อเพลง เราจึงได้ถามเขาว่าจริงๆ แล้วมันจำเป็นไหม ที่ต้องหยาบคายในเพลง
ในมุมของ Liberate P เชื่อว่า แม้มันจะเป็นคำหยาบไม่ลื่นหูใครบางคนบ้าง แต่หัวใจของการสื่อสารที่เขาต้องการคือเนื้อหาที่ขับเน้นประเด็นมากกว่า “จริงๆ คำหยาบเป็นคำพูดที่เราพูดอยู่แล้ว ผมมองว่าคำหยาบมันเป็นอารมณ์นึงที่คนมันโมโห เราระบายใส่เพลง ผมเลยมองว่าคำหยาบมันไม่ได้มีปัญหาขนาดนั้น เราควรใส่ใจไปที่คอนเทนต์ของเพลงมากกว่าว่า เพลงมันพูดถึงอะไร ผมมองว่าคำหยาบเหล่านี้ มันเป็นคำที่เปลือกมาก ถ้าเรามองข้ามมันไปมันก็ไม่มีอะไรเลย แต่สำหรับบางเพลงที่มันไม่มีคอนเทนต์อะไรอยู่แล้ว ยิ่งมีคำหยาบมันก็อีกก็เป็นอีกแบบ ถ้าในเพลงที่มีเนื้อหาชัดเจน และน่าสนใจ ต่อให้มีคำหยาบผมก็มองว่ามันไม่ได้มีผลกระทบ หรือแย่อะไร แต่ผมก็เข้าใจถ้าคนที่ไม่อยากฟัง เพราะรู้สึกว่าเพลงมันหยาบ ผมก็อยากบอกว่าให้โฟกัสที่เนื้อหาดีกว่า”
แน่นอนว่า ช่วงนี้เราเห็นกระแสฮิปฮอปที่มาแรง ทั้งจากรายการแข่งขัน ‘The Rapper’ และ ‘Show Me The Money Thailand’ ที่ทำให้คนออกมาแร็ป หรือฟังเพลงฮิปฮอปกันมากขึ้น Liberate P ผู้คร่ำหวอดในวงการฮิปฮอปไทยมองว่า วัฒนธรรมเช่นนี้กำลังอยู่ในช่วงเติบโต
“ตอนนี้ Culture ฮิปฮอปในไทยมันอยู่ในช่วงที่กำลังโต มันยังไม่ถึงจุดอิ่มตัว ยังไม่มีศิลปินที่อาจจะไม่ได้เป็นกระแสหลักดังขึ้นมาชัดเจนเท่าไหร่ ถ้าคิดจากคนที่อยู่มานาน นอกจากฝั่งไทเทเนี่ยม, ก้านคอคลับ, พี่โจ้, โจอี้บอย, พี่กอล์ฟ ฟัคกลิ้งฮีโร่พวกนี้ มันก็ถือว่าน้อยในกลุ่มใหม่ที่กำลังขึ้นมา ผมก็มองว่ามันก็ต้องใช้เวลา ว่ามันจะไปถึงแค่ไหน
“มันก็มีโอกาสนะที่ฮิปฮอปจะเป็นกระแสหลัก ถ้ากลุ่มสื่อรู้สึกว่ามันเวิร์ก และเข้ากับทุกกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งถ้ามันถูกโหมเรื่อยๆ ก็จะมีโอกาสได้เหมือนกัน”
สุดท้ายก่อนจากกัน ไหนๆ Liberate P ก็สนใจการเมืองเป็นพิเศษ เราจึงขอให้เขาลองจินตนาการหากต้องแบทเทิลเรื่องเพลงกับผู้นำของเราอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
“จะสู้ได้ไหม ถ้าต้องแบทเทิลกับท่านนายกฯ ” คือคำถามสุดท้ายถึงแร็ปเปอร์สายการเมือง
“ไม่น่าจะสู้ได้ เพราะเขามีปืน มีอำนาจ และมีกฎหมาย เค้ามีทุกอย่างเลย ผมว่าผมอาจจะไม่สู้ตรงนี้ได้เลย”
Photo by. Asadawut Boonlitsak