จะแก้รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ ยื่นมติไปก็ไม่ถึง
‘การแก้ไขรัฐธรรมนูญ’ กลายเป็นหนึ่งในข้อเรียกร้องของการชุมนุม และหลายๆ กลุ่มเคลื่อนไหว ที่สังคมให้ความสนใจมากขึ้นในตลอดปีที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าจะมีความพยายามรวบรวมรายชื่อของภาคประชาชน หรือของพรรคการเมืองในการผลักดัน แต่ที่ผ่านมาประเด็นนี้ก็ถูกตีตก มีกับดักมากมาย ที่ทำให้ไปไม่ถึงการแก้ไขได้
โดย 6 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ตรงกับวันครบรอบ 4 ปีที่รัฐธรรมนูญ 60 ถูกบังคับใช้ กลุ่ม Re-solution ได้เปิดตัวแคมเปญ #ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์ ล่ารายชื่อเพื่อแก้รัฐธรรมนูญ โดยมีการจัดงานเปิดตัวที่บริเวณคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ เปิดโต๊ะให้ประชาชนเข้าร่วมลงชื่อ พร้อมเวทีบรรยายข้อเสนอของร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะถูกเสนอนี้
ทั้งเรื่องของระบอบประยุทธ์ การการเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป ล้มระบบวุฒิสภา โละศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ และการล้างมรดกการรัฐประหาร The MATTER ได้สรุปการบรรยายประเด็นต่างๆ และข้อเสนอของร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่กำลังรวบรวมรายชื่อนี้ ว่ามีอะไรบ้าง มาให้อ่านกันแบบย่อยง่ายแล้ว
อ.ประจักษ์ ก้องกีรติ – “ระบอบประยุทธ์ : ทหาร ทุน วงจรอุบาทว์การเมืองไทย
การบรรยายของ อ.ประจักษ์ เริ่มด้วยประเด็นว่าประเทศไทยเราเคยมีรัฐธรรมนูญที่ดีกว่าฉบับนี้ แต่เพราะรัฐบาลเผด็จการไม่อยากให้เรามีรัฐธรรมนูญที่ดี แต่อยากให้มีรัฐธรรมนูญสำหรับสืบทอดอำนาจ จึงให้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งล้วนแต่เป็นคนที่เคยร่างฉบับก่อนๆ มาแล้วในอดีต อย่าง ‘มีชัย ฤชุพันธุ์’
“ในประเทศไทยเรามีอุสาหกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ มีคนที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญ”
สำหรับแคมเปญ ‘ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์’ อาจารย์ประจักษ์ในฐานะหนึ่งในนักวิชาการที่มีส่วนในการเขียนอธิบายถึงความหมายของระบอบนี้ ได้มาบรรยายถึงความหมายของมัน โดยชี้ว่า ‘ระบอบประยุทธ์ = รัฐทหาร + ทุนนิยมแบบช่วงชั้น’ คือระบอบที่ให้อำนาจกับทหารมาก เอาทหารมาแทรกแซงการเมือง ควบคุมสังคม ทั้งในกิจการที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทหารเลย โดยด้านหนึ่งได้จัดระเบียบรัฐกับสังคม ทำให้รัฐมีอำนาจเหนือสังคม และในอีกด้านนึงคือการให้อำนาจรัฐเอื้อผลประโยชน์กับกลุ่มทุน จัดความสำคัญรัฐกับกลุ่มทุนใหม่
ดังนั้น อาจารย์จึงใช้คำว่า
“ระบอบประยุทธ์คือ ระบอบคณาธิปไตยของชนชั้นนำ โดยชนชั้นนำ เพื่อชนชั้นนำ 1% ที่เป็นยอดพิรามิดของสังคม”
แต่ถึงอย่างนั้น อ.ประจักษ์ยังขยายความเข้าใจอีกว่า ระบอบประยุทธ์นั้น ไม่ได้หมายถึงตัวประยุทธ์คนเดียว หรือประยุทธ์ที่มีอำนาจมากที่สุด “ประยุทธ์เป็นตัวแทนชนชั้นนำ เป็นตัวแทนของการใช้อำนาจในระบอบนี้ ดังนั้นการไล่ประยุทธ์ไม่จบ เพราะมีเครือข่ายผลประโยชน์มหาศาลที่แวดล้อมรัฐบาลประยุทธ์ และเครือข่ายอำนาจที่ใช้พลเอกประยุทธ์เป็นเครื่องมือ”
ที่มาทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์คือการรัฐประหาร ซึ่งอาจารย์ยังนำเสนอว่า การรัฐประหารของ คสช.ทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศรัฐทหารแห่งสุดท้ายในโลก ซึ่งหลังสงครามเย็นแทบไม่มีประเทศไหนใช้หนทางนี้ นอกจากประเทศในกลุ่มด้อยพัฒนา ทั้งยังสร้างสถิติใหม่ คือเป็นรัฐบาลรัฐประหารที่อยู่ในอำนาจยาวนานที่สุดตั้งแต่ 14 ตุลา รวมถึงคณะรัฐประหารมักอ้างความชอบธรรมในการยึดอำนาจ แต่จากประวัติศาสตร์ มักพบเหตุผลเบื้องหลัง คือเพื่อที่คณะนายพล จะจัดระเบียบอำนาจทางการเมือง และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจใหม่ เพื่อที่จะให้ผลประโยชน์แก่เขา และชนชั้นนำเบื้องหลังเขามากที่สุด
“การรัฐประหารครั้งนี้ มีบทเรียนจากรัฐประหารปี 2459 ทำให้กองทัพวางแผนมา คุมการเมือง คุมสังคม คุมตำแหน่งนายกฯ คุมกลาโหม มหาดไทย และกระทรวงอื่นๆ ทั้งตั้ง คสช. สนช. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูป มาจากการแต่งตั้ง ที่ไม่มีตัวแทนประชาชน ไม่มีฝ่ายค้าน เรียกได้ว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา” ซึ่งนอกจากนี้ อ.ประจักษ์ยังเสริมถึง ส.ว.ที่ก็ยังถูกแต่งตั้งมาจากเครือข่ายคนของ คสช.เช่นกัน
อ.ประจักษ์ชี้ว่า ลักษณะของระบอบประยุทธ์นั้นกลไก ‘มีการบิดเบือนระบอบประชาธิปไตยเพื่อมารักษาระบอบเผด็จการ’ โดยการใช้กลกลประชาธิปไตย ผ่านมีการทำประชามติที่ไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม การออกแบบรัฐธรรมนูญเพื่อรักษาอำนาจกองทัพ ทั้งรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่ใช้ ยังไม่ใช่อันเดียวกับที่ลงประชามติด้วย
“ดังนั้นรัฐธรรมนูญ 60 ไม่ได้ร่างมาเพื่อค้ำจุนระบอบประชาธิปไตย แต่เป็นการร่างเพื่อรักษาระบอบประยุทธ์ คือการมี ส.ว.จากการแต่งตั้ง มีนายกที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ระบบเลือกตั้งจัดสรรเป็นส่วนผสม ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจสูงมาก ไม่สามารถตรวจสอบได้ รัฐธรรมนูญที่แก้ยาก และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” รวมถึง “ยังทำลายประชาธิปไตยให้แคระแกร็น ให้อำนาจชนชั้นนำที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง เหนือสถาบันที่มาจากการเลือกตั้ง คือ รัฐสภา ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และลดทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีการสร้างเครือช่ายอุปถัมป์ คนที่สนับสนุนระบอบประยุทธ์ได้รับรางวัล ได้เข้าไปอยู่ในตำแหน่ง”
ในประเด็นเรื่องของทุน อาจารย์ยังย้ำว่า ระบอบประยุทธ์ทำให้ 7 ปีที่ผ่านมา สังคม และเกิดความเหลื่อมล้ำที่ชัดเจนมากขึ้น “ระบอบนี้ มีความสัมพันธ์ผ่านทุนผูกขาดขนาดใหญ่ ผ่านนโยบายประชารัฐ ใช้คำว่าประชารัฐ หลีกเลี่ยงประชานิยม แต่ก็แจกเงินมากที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั้งยังปรับความสัมพันธ์ระหว่างรัฐ และธุรกิจ เอื้อกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มมาคุมเศรษฐกิจได้ เกิดความไม่เท่าเทียม ไม่เอื้อต่อการแข่งขัน ถูกผูกขาดโดยทุนน้อยราย ให้กลุ่มทุนเข้ามาใช้ประโยชน์จากกลไก ทรัพยากร บุคลกร และข้อมูลของรัฐ โดยการถูกแต่งตั้งในตำแหน่งต่างๆ อย่างคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ”
อ.ประจักษ์ยังชี้ว่า ระบอบประยุทธ์ยังทำให้ระบบราชการอ่อนแอลง ด้วยความไม่แน่นอน จากการทหารใช้อำนาจพละการ โดยหารใช้ ม.44 ซึ่งเกือบครึ่งของการใช้ ม.44 นั้น เป็นเพื่อการปลด และโยกย้ายข้าราชการที่ คสช.ไม่พึงพอใจ มีการโดนย้ายโดยไม่มีหลักฐาน มีการถูกลดขั้น และไล่ออก โดยไม่มีการสอบสวนด้วย รวมถึงประชาชนที่ถูกคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกจำนวนมาก
อาจารย์จึงสรุปว่า แม้จะมีการเลือกตั้งแต่ก็เราก็ยังคงเจอกับระบอบประยุทธ์เช่นเดิม เพราะเป็นการเปลี่ยนจาก ‘เผด็จการเต็มใบที่เปลือยเปล่า เป็นเผด็จการที่ชุบตัวจากการเลือกตั้ง’ เท่านั้น
สฤณี อาชวานันทกุล – “เลิก ยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูป : ปลดโซ่ตรวนอนาคตประเทศ”
ได้ยินกันมานานกับเรื่องของยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งเป็นหนึ่งในมรดกจากยุคของ คสช. โดยสฤณี ก็ชี้ว่าแม้เราอาจจะไม่ค่อยได้ยินเรื่องของยุทธศาสตร์ และแผนปฏิรูปประเทศแล้ว แต่มันยังคงเป็นโซ่ตรวน และกลไกเหล่านี้ล่ามไม่ให้ประเทศไปข้างหน้า
สฤณีพูดถึงยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บท ปี 2562 ซึ่งมี 23 ประเด็น และกลายเป็นกฎหมายปฏิรูปประเทศที่รัฐบาลมีการประกาศใช้เมื่อต้นปี ซึ่งแม้ว่าตัวยุทธศาสตร์ชาติจะมีผลยาว 20 ปี แต่ก็มีการวางเป้าหมายทุกๆ 5 ปี ซึ่ง 2565 หรือปีหน้า จะเป็นหมุดหมายที่ครบ 5 ปีแรก โดยข้อมูลจากสภาพัฒน์ชี้ว่า 177 เป้าหมาย ในปี 2563 บรรลุแล้ว 19% ดังนั้นเหลืออีก 80 กว่าเปอร์เซ็นต์
แต่สิ่งที่สฤณีมองว่าเป็นปัญหา และหยิบยกขึ้นมาพูดในงานวันนี้ คือเรื่องของตัวชี้วัด โดยเธอบรรยายว่า จากการศึกษาพบว่า มีตัวชี้วัดทั้งหมด 205 ตัว (เยอะกว่าเป้าหมาย เพราะบางเป้าหมายมีตัวชี้วัดหลายตัว) ซึ่ง 47 ตัว ต่ำเกินไป และในจำนวนนั้นมี 12 ตัว ที่ต่ำเกินไป และยังเป็นการโกงอนาคตด้วย ยกตัวอย่างเช่น แผนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมการบริการแห่งอนาคต ซึ่งกำหนดเป้าหมายประสิทธิภาพแรงงานไทย จากรายงานที่ประชุมเศรษฐกิจโลกว่า ต้องได้อันดับไม่ต่ำกว่า 60 แต่ตอนนี้ไทยก็อยู่อันดับที่ 46 แล้ว “แปลว่าประกาศแผนมา ก็ไม่ต้องทำอะไรเลยไป 3 ปี ก็บรรลุแล้ว”
“การกำหนดเป้าหมายวางตัวชี้วัดที่ทำได้เลยคือการโกงอนาคต คิดง่ายๆ ว่าจะเข้าเป้าหมายโดยที่ไม่ต้องทำอะไร เอาความสามารถของตัวเองเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่อนาคต”
ทั้งสฤณียังเสริมว่า ตัวชี้วัดอีก 57% ตัวที่เป็นนามธรรมมากๆ และไม่สามารถวัดค่าได้ เพราะเนื้อหา และเป้าหมายมีความคลุมเครือ เป็นนามธรรม หรือระดับอุดมคติ รวมถึงภาพรวมของแผนยังไม่มีการลำดับความสำคัญก่อนหลัง ทำให้ไม่รู้ว่ารัฐบาลให้น้ำหนักกับอะไร เรียกได้ว่าเขียนอย่างไม่มียุทธศาสตร์ โดยถ้าอ่านแนวทางจะเห็นว่าใช้คำกว้างๆ และการมีเอกสารก็ไม่ได้การันตีว่าทุกองคาพยพจะทำงานโดยเคารพเจตนารมย์
นอกจากนี้ สฤณีมองว่า เนื้อหาของแผนยังไม่ได้ใส่เรื่องที่คนในสังคมในปัจจุบันให้ความสำคัญ โดยเธอได้ยกมาใน 4 เรื่อง คือ
- กองทัพ มีการพูดถึงการเพิ่มความพร้อม แต่ไม่มีการพูดถึงการปฏิรูปกองทัพ
- การทุจริต มีเรื่องการต่อต้าน แต่ไม่ระบุเรื่องการให้ประชาชนตรวจสอบอำนาจรัฐ ตามอย่างกระแสการ open data
- เศรษฐกิจ มีแผนแม่บท แต่ไม่มีที่พูดถึงความจำเป็นของการสร้างสนามแข็งขันที่เท่าเทียม ลดการผูกขาด การฉ้อฉลเชิงอำนาจ หรือลดการเอื้อประโยชน์เอกชน
- การบริการภาครัฐ มีการให้ส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนกับการบริการสาธารณะ แต่ไม่มีการพูดถึงการกระจายอำนาจ
ประเด็นเรื่องของผู้เขียนยุทธศาสตร์ชาติ ก็มีการบรรยายในครั้งนี้ด้วย โดยสฤณีชี้ว่า “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 34 คน ถูกแต่งตั้งโดย คสช. ก่อนการเลือกตั้ง และล็อกรัฐบาลต่อๆ ไป โดยรัฐธรรมนูญที่บอกว่า การเสนองบประมาณรายจ่าย และนโยบาย ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และหน่วยงานรัฐก็ต้องตามแผนแม่บท ทำให้รัฐบาลที่จะมาจากการเลือกตั้ง ไม่ต้องรับผิดกับนโยบายหาเสียง แต่ต้องไปรับผิดกับกลไกที่ คสช.แต่งตั้งแทน”
ซึ่งหากหน่วยงานรัฐที่ไม่ทำตาม คณะกรรมการสามารถสั่งให้แก้ไข ถ้าไม่แก้ สว.หรือ ส.ส. ก็สามารถส่งเรื่องให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) จัดการได้ ทั้งยุทธศาสตร์ยังเขียนอีกว่า หากหน่วยงานรัฐไม่ดำเนินงานตาม จากมติ ครม.ให้ วุฒิสภาสามารถส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ถ้าการกระทำไม่ชอบกฎหมาย และมีการส่งเรื่องให้ ปปช. ก็จะกลายเป็นฐานทุจริตต่อหน้าที่
ดังนั้น สฤณีอธิบายว่า นี่เป็นการเปิดช่องว่างให้กลั่นแกล้ง หากไม่ได้รัฐบาลที่มาจากฝั่งระบอบประยุทธ์ในการเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป สามารถถูกตีความว่ามีความผิดเพราะไม่ทำตามยุทธศาสตร์ชาติ ขณะที่คนที่เขียนแผนนั้นไม่ต้องรับผิดอะไรเลย เธอจึงสรุปว่า “การมียุทธศาสตร์ชาติจะไม่นำเราไปสู่การเป็นชาติที่มียุทธศาสตร์”
พริษฐ์ วัชรสินธุ – “ล้ม วุฒิสภา : เดินหน้าสภาเดี่ยว”
ส.ว.มีไว้ทำไม ? การตั้งคำถามของการมีอยู่ของวุฒิสภา ไปถึงข้อเสนอการยุบเหลือสภาเดียวไม่ใช่ประเด็นใหม่ แต่หลังเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่ผ่านมา มีการพูดถึง และย้ำถึงประเด็นนี้อยู่เรื่อยๆ โดยในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่แคมเปญนี้จะเสนอ ก็เป็นการแก้ไขมาตราที่เกี่ยวกับอำนาจของ ส.ว.ด้วยข้อเสนอ ล้มวุฒิสภา และการเดินหน้าเป็นสภาเดี่ยว
พริษฐ์ วัชรสินธุ ผู้ที่ยืนยันในแนววิธีการนี้อย่างต่อเนื่อง ก็มาบรรยายว่า เขามองว่า “วุฒิสภา เป็นองค์กรหรือสถาบันที่เป็นศูนย์รวมความเลวร้ายของรัฐธรรมนูญ 2560 และความวิปริตของการเมืองไทย” และการแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรา ที่บางพรรคเสนอนั้น ไม่มีการแตะเรื่องอำนาจ และที่มาของ ส.ว.เลย ซึ่งเขามองว่าไม่เพียงพอในการรื้อระบอบประยุทธ์ ดังนั้นข้อเสนอของการแก้ไขครั้งนี้ คือการปรับเป็นสภาเดี่ยว เอา ส.ว.ออกจากรัฐสภา ซึ่งก็มีหลายประเทศที่มีเพียงแค่สภาเดี่ยว และถือว่าเป็นเรื่องธรรมดา
‘7 เหตุผล ที่ประเทศจะดีขึ้นถ้ามีสภาเดี่ยว’ คือสิ่งที่พริษฐ์นำมาเสนอ โดย 3 ข้อแรก คือความเลวร้ายของ ส.ว.ในยุคปัจจุบัน ในขณะที่ 4 เหตุผลที่เราไม่จำเป็นต้องมีระบบวุฒิสภา ได้แก่
1)ประชาชนจะมีสิทธิ 1 สิทธิ 1 เสียงเท่ากันในการเลือกนายกฯ
มาจากมาตรา 272 ที่ให้อำนาจ ส.ว.250 คน มีสิทธิในการเลือกนายกฯ ซึ่งทำให้ ส.ส. 500 คน ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 38 ล้านคน มีสิทธิเลือกนายกฯ 67% ขณะที่ ส.ว.ที่มาจาก คสช.มีสิทธิ 33% ซึ่งพริษฐ์ได้ตีค่าว่า คสช.นั้น เทียบเท่ากับประชาชน 19 ล้านคน ในการมีสิทธิเลือกนายก
2) รัฐสภาต้องสะท้อนเจตนารมย์ของประชาชน
พริษฐ์ชี้ว่า วุฒิสภาไม่ควรมีอำนาสูงกว่าประชาชนโดยเทียบกับประเทศต่างๆ ที่มีวุฒิสภา อย่างอังกฤษ ที่ ส.ว.มีอำนาจน้อยมาก ขัดประชาชนไม่ได้ หรือสหรัฐฯ ที่มี ส.ว.จากการเลือกตั้งของประชาชน หากขัดประชาชนก็จะไม่ได้รับเลือกในสมัยหน้า แต่ขณะที่ ส.ว.ไทยมีอำนาจสูงมาก ทั้งในการปฏิรูปประเทศ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ
3) ระบอบประยุทธ์ตั้งคนมาสืบทอดอำนาจต่อได้
ในอังกฤษที่มีวุฒิสภาจากการแต่งตั้งนั้น ได้เฟ้นหาหาคนมีความสามารถเชี่ยวชาญจากสาขาวิชาต่างๆ แต่ของไทย นั้นเป็นการแต่งตั้งจาก คสช. ทั้งทางตรง และทางอ้อม โดยพริษฐ์แยกข้อมูลให้เห็นว่า
- แทนที่จะมีตัวแทนจากสาขาอาชีพหลากหลาย แต่จาก 250 คน มีถึง 104 คนที่เป็นทหารกับตำรวจรวมกัน
- มีคณะกรรมการสรรหา ส.ว. 3 ใน 10 คน ที่ตั้งพี่น้องตัวเอง
- มีคณะกรรมการสรรหา ส.ว. 6 ใน 10 คน ที่แต่งตั้งตัวเอง
- และการสรรหา ส.ว.ยังใช้งบประมาณถึง 1,300 ล้านบาท
4) การออกกฎหมายคล่องตัว ทันใจ ตอบสนองต่อสถานการณ์มากขึ้น
ข้อนี้ พริษฐ์เสนอว่า กฎหมายจำเป็นต้องเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพราะโลกมีความผันผวน ความเร็วจึงสำคัญ และต้องมีคนที่เชี่ยวชาญ สภาเดี่ยวจึงเหมาะกับสถานการณ์มากกว่า
5) ประหยัดงบประมาณ
การยกเลิกระบบวุฒิสภา จะทำให้ประหยัดเงินไปได้ 4,700 ล้านบาท จากเงินเดือน ส.ว. และผู้ช่วย ส.ว. 3,400 ล้านบาท รวมถึงค่าสรรหา ส.ว.1,300 ล้านบาท ซึ่งควรใช้เงินนี้กับสวัสดิการกับประชาชนมากกว่า
6) กลไกตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ มีประสิทธิภาพมากกว่า
ในหลายประเทศ ส.ว.มีเพื่อถ่วงดุลอำนาจ ของ ส.ส. แต่จากข้อมูลชี้ว่า การเสนอมติ 145 มติที่ผ่านมาของ ส.ส. ทาง ส.ว.ไม่เคยปัดตกเลย มีมติเดียวที่ปัดตกคือ ‘การแก้ไขรัฐธรรมนูญ’ ดังนั้น ถือว่า ส.ว.ไม่ได้ทำหน้าที่ในการตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร
ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญใหม่นอกจากการล้มวุฒิสภาแล้ว ก็ได้เสนอวิธีการตรวจสอบถ่วงดุลใหม่คือ
- ให้นายกฯ ต้องเป็น ส.ส. เพื่อไม่สามารถหนีการตรวจสอบ
- ติดอาวุธฝ่ายค้าน ให้ฝ่ายค้านมีหน้าที่ รองรัฐสภา 1 คน และอยู่ใน กมธ.ที่สำคัญในการตรวจสอบ
- มีการเปิดเผยข้อมูลที่สำคัญ ให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้
7) ประเทศไทยต้องก้าวทันโลก
จากข้อมูล พริษฐ์ชี้ว่า จาก 31 ประเทศประชาธิปไตย ที่เป็นรัฐเดี่ยว และมีระบบรัฐสภา มีถึง 20 ประเทศที่เป็นสภาเดี่ยว มีเพียงแค่ 1 ใน 3 ที่ยังเป็นสภาคู่ ซึ่งหลายประเทศได้ตัดสินใจยกเลิกวุฒิสภาหลังไม่สามารถค้นหาโมเดลที่มีสองสภาร่วมกันได้
จาก 7 เหตุผลนี้ พริษฐ์ชี้ว่า การมีวุฒิสภา ไม่ใช่การส่งเสริมการเป็นระบอบประชาธิปไตย และทิ้งท้ายด้วยคำถามสำคัญว่า
“คำถามไม่ใช่ ยุบ ส.ว.ทำไม ? แต่เป็นภาระที่ ส.ว.ที่ต้องตอบให้ได้ว่า ส.ว.มีไว้ทำไม ?”
ปิยบุตร แสงกนกกุล – “โละ ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และล้าง มรดกรัฐประหาร : หยุดวงจรอุบาทว์ขวางประชาธิปไตย”
ปิยบุตร แสงกนกกุล ขึ้นมาพูดในสองประเด็นของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ และมรดกของรัฐประหาร โดยกล่าวว่า ศาลรัฐธรรมนูญในปัจจุบันนั้น ไม่สามารถถูกตรวจสอบได้โดยประชาชน และถูกครอบงำโดย คสช.
เขาชี้ว่า ในอดีตรัฐบาลถูกกล่าวหาว่าเข้าไปครอบงำศาล ผ่านการครอบงำ ส.ว.อีกที จึงกลายมาเป็นเหตุผลของการรัฐประหารในปี 2549 ทำให้หลังจากนั้น อีกฝ่ายที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเข้าไปยึดศาล และองค์กรอิสระแทน กลายเป็นปัญหา ที่มาของศาล และองค์กรอิสระ ที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาธิปไตย และเป็นอิสระจนหลุดพ้นจากประชาชน ไม่มีการตรวจสอบ แต่ถึงอย่างนั้น ก็ไม่เป็นอิสระจาก คสช.
“ทำให้กลายเป็นเดิมพันของฝักฝ่ายการเมือง ที่อยากยึดศาลรัฐธรรมนูญ เพราะรู้ว่ามีอำนาจในกำหนดชะตาชีวิต และยึดกุมรัฐธรรมนูญ ถ้าทำอะไรก็รอดได้ เจตนาในการก่อตั้งศาลรัฐธรรมนูญในปี 2540 กลับกลายเป็นเครื่องมือในการจัดการฝ่ายตรงข้าม”
ปิยบุตร ได้เสนอการเปลี่ยนที่มาในการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ จากปัจจุบัน ที่เป็นอำนาจของ ส.ว.ในการรับรอง มาเป็น ส.ส. ที่มีทั้งฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลที่มีสิทธิในการเสนอ ซึ่งจะทำให้ที่มา มาจากทุกกลุ่มทุกก้อนในเชิงอำนาจ ทั้ง ส.ว. และ ส.ส. ไม่สามารถยึดศาลได้ ดังนั้นเวลาปฏิบัติหน้าที่ของศาลจะได้ไม่ต้องคิดว่าจะไปอยู่ฝักฝ่ายใด และกำหนดให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้นอยู่ได้วาระเดียว ทั้งปิยบุตรชี้ว่า จำเป็นต้องเขียนอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนขึ้น โดยประเด็นการส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าประเด็นไหน ทำได้ หรือทำไม่ได้ ถ้าส่งทุกเรื่องจากกลายเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย และกลายเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง อำนาจของรัฐธรรมนูญก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
รวมถึงยังมีองค์คณะพิจารณาถอดถอน ที่สามารถถอดถอนตุลาการ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองด้วย ทั้งปิยบุตรยังเสนอให้มีผู้ตรวจการศาล และศาลรัฐธรรมนูญ ที่มาจาก ส.ส. 10 คน ครึ่งนึงจากรัฐบาล และอีกครึ่งจากฝ่ายค้าน ที่จะทำหน้าที่ ตรวจสอบงบประมาณของศาล ศึกษา วิเคราะห์ ประเมินคุณภาพ ผลกระทบคำวินิจฉัยด้วย และสำหรับองค์กรอิสระ ก็มีการเปลี่ยนแปลงที่มาเช่นกัน มีการสร้างระบอบตรวจสอบถ่วงดุล
นอกจากเรื่องของศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ยังมีแก้รายมาตราเพื่อล้างมรดกรัฐประหาร โดยยกเลิกมาตรา 279 ที่บอกว่าการกระทำทุกอย่างของคณะรัฐประหารชอบด้วยกฎหมาย ทำให้อำนาจ คสช.ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ “คณะรัฐประหารเวลายึดอำนาจมีความผิดฐานกบฎ มีโทษประหาร หรือจำคุกตลอดชีวิต แต่พอทำรัฐประหารสำเร็จก็ตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ และนิรโทษกรรมตัวเอง เป็นที่น่าเศร้าใจมากคือ คนๆ นึงที่ชอบอ้างกฎหมายตลอดเวลา คนๆ นั้น ทำผิดกฎหมายคนแรก และก็นิรโทษกรรมตัวเอง นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”
ซึ่งปิยบุตรชี้ว่า การประกาศนิรโทษกรรมจากการรัฐประหารต้องเป็นโมฆะ ซึ่งที่ผ่านมา มีประเทศอย่างตุรกี อาร์เจนตินา ที่สามารถระบุว่า ถ้าทำรัฐประหาร ต้องถูกขึ้นศาลได้ด้วย
สรุปแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ถูกเสนอโดยกลุ่ม Re-solution นั้น เป็นการแก้ไขรายมาตรา ที่ทางกลุ่มเองชี้แจงว่าไม่ได้ครอบคลุมทุกเรื่อง แต่ครอบคลุม 4 ประเด็น มุ่งไปที่ปัญหา และองค์กรที่ขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ ปี 60 และแม้ตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้ใช้รายชื่อประชาชน 50,000 รายชื่อ แต่แคมเปญนี้ก็หวังว่าการรวมรายชื่อนี้จะได้ถึงหลักแสน หรือหลักล้านด้วย เพื่อกดดัน ส.ว.ที่เคยปัดตก ร่างรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้
เข้าไปอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม หรือร่วมลงชื่อได้ที่ https://resolutioncon.com/