ช่วงนี้ประเด็นเรื่องประวัติศาสตร์ ความทรงจำกำลังอยู่ในความสนใจ เราพูดเรื่องความรู้ทางประวัติศาสตร์กันอย่างแพร่หลาย โดยตัว ‘ประวัติศาสตร์’ เองก็เป็นแขนงวิชาที่มีความเคลื่อนไหวไม่หยุดนิ่ง สำหรับวงวิชาการทางประวัติศาสตร์ของไทยก็มีหนังสือสำคัญๆ ที่ศึกษาและสร้างองค์ความรู้ที่จะนำมาซึ่งความเข้าใจปัจจุบันได้ไม่มากก็น้อย
คำว่าประวัติศาสตร์ บางครั้งเราฟังแล้วคิดภาพไปแต่เรื่องคร่ำคร่าพ้นสมัยไปแล้ว แต่ประวัติศาสตร์ยุคใกล้ ที่เพิ่งเกิดมาไม่นานนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจและส่งผลกระทบต่อปัจจุบันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเด็นการถกเถียงเรื่องที่เป็นกระแสตอนนี้ก็เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์บ้านเราที่เพิ่งผ่านพ้นมาได้ไม่นาน The MATTER จึงรวบรวมหนังสือประวัติศาสตร์ไทยเล่มสำคัญๆ ที่พยายามอธิบายเรื่องราวในอดีต งานเขียนหลายเล่มและหลายเรื่องที่ถูกพูดถึงนั้นทรงพลัง ส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดและผู้คนในปัจจุบัน
กำเนิดสยามจากแผนที่ : ประวัติศาสตร์ภูมิกายาของชาติ (Siam Mapped) / ธงชัย วินิจจะกูล
เราอาจรู้สึกว่าประเทศของเรามีความแน่นอนมั่นคง แต่นั่นสินะ เราเป็นสยามที่กลายมาเป็นไทย เป็นดินแดนด้ามขวานทองอย่างที่เรา ‘จินตนาการ’ ถึงชาติไทย ถึงเขตแดนที่ชัดเจนแบบนี้ได้อย่างไร Siam Mapped เป็นงานเขียนชิ้นสำคัญของ ธงชัย วินิจจะกูล นักวิชาการทางประวัติศาสตร์ไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ที่ย้อนกลับไปสำรวจว่าประวัติศาสตร์ของสยามบ้านเราก่อรูปร่างขึ้นมาจาก ‘ประดิษฐกรรม’ ต่างๆ เช่น การสร้างเขตแดนและการทำแผนที่ อันเป็นจุดเริ่มต้นที่สยามเริ่มสร้างจินตนาการบางอย่างเกี่ยวกับตนเอง ที่แตกต่างจากคนอื่นขึ้นมา
ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย (A History of Thailand) / คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร
คริส เบเคอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร เป็นชื่อที่จะไม่พูดถึงเลยไม่ได้หากจะพูดถึงประวัติศาสตร์กรุงเทพฯ เศรษฐกิจการเมืองไทยสมัยกรุงเทพฯ งานศึกษาสำคัญชิ้นก่อนหน้าที่เป็นหมุดหมายความเข้าใจประวัติศาสตร์ไทยในยุคก่อร่างก่อนที่จะมาสู่ไทย/กรุงเทพในยุคปัจจุบัน ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัยเป็นงานเขียนที่ทั้งสองไล่เรียงกระแสความเปลี่ยนแปลงในหลายมิติที่ค่อยๆ ก่อรูปนับตั้งแต่ยุคก่อนกรุงเทพฯ ที่ค่อยๆกลายมาเป็นไทยสมัยใหม่ได้ในปัจจุบัน สรุปว่าถ้าอยากทราบภูมิหลัง เรื่องราวของเราในยุคหลังในมิติต่างๆ ทั้งเชิงสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่ค่อยๆ มีผลสืบเนื่องจนเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นลำดับ ก็ต้องปรึกษาทั้งสองท่านนี้แน่นอน
ปากไก่และใบเรือ: รวมความเรียงว่าด้วยวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์ / นิธิ เอียวศรีวงศ์
ปากไก่และใบเรือ ถือเป็นงานของนิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์ที่หันมาอธิบายประวัติศาสตร์ด้วยแง่มุมของ ‘วัฒนธรรม’ มากขึ้น มีการใช้ตัวบทวรรณกรรมในการมองวัฒนธรรมการก่อตัวและการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในยุคนั้น อนึ่ง งานเขียนชิ้นนี้ คำว่ารัตนโกสินทร์ตอนต้นอาจจะฟังดูไกลจากยุคสมัยในปัจจุบัน แต่ด้วยแง่มุมทางวัฒนธรรมที่ถูกพูดถึง โดยเฉพาะการเข้ามาของระบบทุนนิยม ความคิด ความเชื่อ รวมไปถึงกลุ่มคนใหม่ๆ อย่างคนจีน นายทุน ชนชั้นกลางที่ก่อตัวขึ้นพร้อมๆ กับเมืองหลวงใหม่ของไทย วัฒนธรรมเหล่านั้นก็ยังเป็นสิ่งที่ไม่ได้เหินห่างจากเราในปัจจุบันเท่าไหร่นัก
บ้านเมืองของเราลงแดง : แง่มุมทางสังคมและวัฒนธรรมของรัฐประหาร 6 ตุลาคม / Benedict Anderson
เบน แอนเดอร์สัน เป็นนักวิชาการตะวันตกที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทยคนสำคัญ งานเขียนเรื่อง ‘บ้านเมืองของเราลงแดง’ เป็นการศึกษาแง่มุมของเหตุการณ์การรัฐประหารในช่วง 6 ตุลาที่เบนมองเห็นว่าเป็นจุดหักเหที่สำคัญของสังคมไทย งานเขียนชิ้นนี้ให้คำอธิบายปรากฏการณ์การสังหารหมู่ในที่สาธารณะและความรุนแรงในหมู่ชนชั้นนำ เบนให้คำอธิบายเหตุการณ์ดังกล่าวเชื่อมโยงเข้ากับการเปลี่ยนแปลงทางชนชั้นและอุดมการณ์ของสังคมไทยในยุคหลัง
การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 / นครินทร์ เมฆไตรรัตน์
คำว่า ‘ชิงสุกก่อนห่าม’ และการเป็นต้นตอของวงจรทางการเมืองที่ไม่รู้จบ เป็นคำนิยามที่เราได้ยินอย่างหนาหูต่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองในช่วง 2475 งานประวัติศาสตร์นิพนธ์ของ นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ กลับไปทบทวนและชี้ให้เห็นถึง ‘ความจำเป็นทางประวัติศาสตร์’ ของเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครองดังกล่าว
ศิลปะ-สถาปัตยกรรมคณะราษฎร / ชาตรี ประกิตนนทการ
ยังคงต่อเนื่องกับเรื่องราวของคณะราษฎร ชาตรี ประกิตนนทการ เป็นนักวิชาการทางด้านสถาปัตยกรรม ที่ไม่ได้มองสถาปัตยกรรมแค่สถานที่สำหรับใช้ประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ยังมองเห็นพลังและความหมายต่างๆ ที่สัมพันธ์กับอำนาจที่ถูกแฝงและเข้ารหัสไว้ภายในพื้นที่ที่ถูกออกแบบสร้างขึ้นมา งานเขียนชิ้นนี้พูดถึงสถาปัตยกรรมและศิลปกรรมในช่วง 2475-2490 อันเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ที่คณะราษฎรเข้ามามีบทบาททางการเมือง
การเมืองว่าด้วยการเลือกตั้ง: วาทกรรม อำนาจและพลวัตชนบทไทย / บรรณาธิการโดยประจักษ์ ก้องกีรติ
‘การเลือกตั้ง’ ดูจะเป็นอคติบางอย่างที่สังคมไทยตราใส่ไว้ว่าประชากรบางส่วนถูกหลอกล่อได้ด้วยเงิน ชุดงานเขียนดังกล่าวบรรณาธิการโดยประจักษ์ก้องกีรติ และเป็นเจ้าของบทความ ‘มายาคติและการเมืองของนิทานสอนใจว่าด้วยความโง่ จน เจ็บ ของผู้เลือกตั้งชนบท’ ชุดงานเขียนจากนักวิชาการชั้นแนวหน้านี้จะพาไปสำรวจความเปลี่ยนแปลงและสิ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ชนบทจริงๆ ว่าชนบทและคนชนบทผู้ซึ่งมาเป็นส่วนหนึ่งของระบบประชาธิปไตย เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองจริงๆ แล้วมีหน้าตาความคิดแบบเดียวกับที่เราคิดหรือไม่ ถ้ามองคำว่าประวัติศาสตร์ในความหมายที่กว้างขึ้น ประวัติศาสตร์และความเป็นไปของพื้นที่และคนชนบท ก็ดูจะเป็นสิ่งสำคัญกับปัจจุบันที่เราอาจไม่ทันมอง
ปั้นอดีตเป็นตัว : ว่าด้วยการรับรู้อดีตและการเขียนประวัติศาสตร์ / ไชยันต์ รัชชกูล
งานชิ้นนี้เป็นเสมือนการสรุปรวบยอดและชวนขบคิดใหม่ในเรื่อง ‘อดีต’ และ ‘ประวัติศาสตร์’ ที่มีความซับซ้อนในกระบวนการที่ตัวมันเองถูกสร้างขึ้น ประวัติศาสตร์จึงไม่ใช่แค่ชุดเหตุการณ์ใดๆ ที่ร้อยเรียงกันเป็นลำดับเท่านั้น แต่ประวัติศาสตร์และอดีตมีกระบวนการก่อร่างที่ซับซ้อน ซึ่งก็ท้าทายเส้นแบ่งบางๆ ของประวัติศาสตร์ในฐานะ ‘ความจริง’ จากอดีต
ประวัติศาสตร์ “สุโขทัย” ที่เพิ่งสร้าง / วริศรา ตั้งค้าวานิช
สุโขทัย เป็นอาณาจักรที่ถูกนึกถึงในฐานะต้นธารของประวัติศาสตร์เรา แต่ ‘ความรู้เรื่องสุโขทัย’ ที่ทำให้รู้สึกว่านี่คืออดีตของเรานั้นเกิดขึ้นจากไหนนะ งานเขียนชิ้นนี้ไปสำรวจช่วงต้นรัตนโกสินทร์ อันเป็นช่วงที่ชนชั้นนำไทยสนใจและเริ่มสร้างประวัติศาสตร์ชาติขึ้นมา ทั้งเรื่องราวประวัติศาสตร์และพื้นที่เมืองเก่าทางโบราณสถานที่ค่อยๆ กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์กระแสหลัก ดังนั้นจากสุโขทัยที่เรานึกถึงในฐานะดินแดนในน้ำมีปลาในนามีข้าว งานเขียนชิ้นนี้ก็จะพาเราไปยังแง่มุมเชิงลึกต่างๆ ที่สัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ยุคไม่ไกลจากเรานี้ ยุคที่เราเริ่มสร้างประวัติศาสตร์ของตัวเองขึ้นมา