จีนเดียวนั้นมีจริงแน่หรือ ถ้าในแง่ของผู้คน ความเป็นจีนและชาวจีนเองก็ย่อมต้องเต็มไปด้วยมุมมองและตัวตนอันหลากหลาย ชาวจีนเป็นกลุ่มคนที่ทั้งกระจัดกระจายไปตั้งรกรากเป็นชุมชนชาวจีน และตัวตนจีนใหม่อยู่แทบทุกทวีปทั่วโลก หรือกระทั่งชาวจีนร่วมสมัยที่แม้จะใช้ชีวิตอยู่ในแผ่นดินใหญ่เอง ก็ใช่ว่าจะมีความคิด ความเห็น เป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกันแต่อย่างเดียว
นวนิยาย เป็นรูปแบบงานเขียนที่สามารถบอกเล่าเรื่องตัวตนและวัฒนธรรมของผู้คนได้อย่างล้ำลึก งานเขียนที่ว่าจะเป็นเรื่องแต่ง เป็นบันเทิงคดี แต่ในตัวนวนิยายหรือวรรณกรรมนั้นก็ต่างทำหน้าที่บรรจุเรื่องราวบางประการเอาไว้ งานเขียนของนักเขียนจีน-ลูกครึ่งจีน ไปจนถึงลูกหลานจีน ที่ไม่ว่าจะเติบโตอยู่ที่ไหน งานเขียนของนักเขียนจีนร่วมสมัยเหล่านี้ ก็ต่างบอกเล่าเรื่องราวที่แม้อาจจะไกลตัว แต่บางครั้ง ด้วยความใกล้ชิดบางอย่าง ก็ทำให้เราสัมผัสเรื่องราวและความรู้สึกบางอย่าง ของโลกตะวันออก ในการปะทะกับโลกตะวันตก การกลับมาของเรื่องเล่าจากอดีตที่ยังคงสัมพันธ์กับพื้นที่ในปัจจุบัน
ในช่วงเวลาที่เราเริ่มมีความรู้สึกตึงๆ กับทางจีนแผ่นดินใหญ่ ในโอกาสนี้ The MATTER จึงอยากชวนกลับไปรู้จัก ไปเปิดอ่านเรื่องราวของชาวจีนในหลากบริบทหลายความเห็นจากเหล่านักเขียนร่วมสมัย งานเขียนที่บอกเล่าประวัติศาสตร์จีนและเรื่องราวของผู้คนในมุมมองที่อาจออกไปจากที่แผ่นดินใหญ่ หรือจีนเดียวอยากให้เล่า จากงานเขียนสามยุคสามสมัยในฐานะประวัติศาสตร์ครัวเรือนของจุง ชาง เรื่องเล่าจากของแม่และลูกสาวในห้องครัวและบนโต๊ะไพ่นกกระจอกของเอมี่ ตัน วรรณกรรมเยาวชนของหยาง หงอิง เรื่อยมาจนถึงเรื่องเล่าจีนแผ่นดินใหญ่ในยุคโลกาภิวัตน์ของหยูหัว นักเขียนตัวเต็งรางวัลโนเบลในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้
Jung Chang
ถ้าคำว่าประวัติศาสตร์มักหมายถึงบันทึกเรื่องราวจากรัฐ จากพื้นที่ของทางการและส่วนกลางเป็นหลัก นวนิยายเรื่องยิ่งใหญ่ ‘หงส์ป่า(Wild Swan)’ ของจุง ชาง (Jung Chang) ก็เหมือนบันทึกประวัติศาสตร์จากครัวเรือนโดยเล่าผ่านมองของผู้หญิง ในมิติของประวัติศาสตร์ในครอบครัวชาวจีนที่ดำรงและเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงมากมายนับตั้งแต่ยุคจีนโบราณ สมัยปฏิวัติวัฒนธรรม เรื่อยมาจนถึงจีนร่วมสมัย งานเขียนของจุง ชางก็คล้ายกับงานเขียนนักเขียนหญิงจีนหลายคนที่มักเล่าถึงเรื่องราวจากรุ่นสู่รุ่น
หงส์ป่าถือเป็นนวนิยายกึ่งอัตชีวประวัติที่เธอเล่าเรื่องราวของสตรีจีน 3 รุ่น คือรุ่นยาย แม่ และมาจนถึงตัวของเธอเอง โดยในเรื่องนั้นเราจะได้เห็นอีกมุมของประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่สมัยขุนศึก ยุคประธานเหมา มาจนถึงยุคปฏิวัติวัฒนธรรมว่า ในมิติของผู้หญิงและผู้คนนั้น ประวัติศาสตร์ชาติส่งผลอย่างไรกับพวกเธอบ้าง จุง ชางถือเป็นนักเขียนหญิงจีนพลัดถิ่น หลังจากผ่านการยุคประธานเหมา ชางได้ทุนและย้ายมาเรียนพร้อมตั้งรกรากอยู่ในอังกฤษตั้งแต่ปี ค.ศ.1787 ตีพิมพ์หงส์ป่าในปี ค.ศ.1991 นวนิยายขนาดยาวที่ได้รับรางวัลสำคัญมากมาย แปลออกกว่า 37 ภาษา และขายได้มากกว่า 10 ล้านเล่ม
Amy Tan
เอมี่ ตัน (Amy Tan) เป็นลูกครึ่งจีน อเมริกัน ที่ตัวเธอเองเกิดในอเมริกา โดยมีแม่เป็นชาวจีนอพยพ งานของเอมี่ ตัน เป็นอีกงานที่มีความเป็นลูกครึ่ง ทั้งลูกครึ่งความเป็นตะวันออกและตะวันตก งานของเธอนอกจากจะถ่ายทอดเรื่องเล่าความขัดแย้งและการประนีประนอมของโลกสองใบ ไปสู่ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งของแม่และลูกสาว งานของเอมี่มีกลิ่นความลึกล้ำแบบโลกตะวันออก เจือด้วยฉากและเรื่องเล่าแบบตะวันตก
เอมี่ ตันถือเป็นนักเขียนร่วมสมัยที่มีคนรักงานของเธอไปทั่วโลก งานสำคัญเช่น The Joy Luck Club เองใช้กลวิธีการเล่าที่แสนจะหฤหรรษ์ผ่านวงไพ่นกกระจอกและขั้นตอนของการเล่นไพ่นกกระจอกที่เธอค่อยๆ คลายเรื่องเล่าของแม่และลูกสาว เล่าย้อนจากปัจจุบันไปสู่อดีตที่เราเองไม่เคยมองเห็นว่าอาม่านั้น มีอดีตอันเข้มข้ม เข้มแข็งเพียงไหน หรือกระทั่ง Kitchen God Wife ที่ใช้ตำนานปรัมปราและเรื่องราวของผู้หญิงในพื้นที่ครัวกลับมาเล่าถึงการต่อสู้และการกดขี่ที่ผู้หญิงต้องเผชิญ
Mo Yan
โม่เหยียน (Mo Yan) เป็นนักเขียนนวนิยายจีนที่ได้รับการยกย่องในฐานะนักเขียนร่วมสมัยที่ยิ่งใหญ่คนหนึ่งของวงวรรณกรรมจีน ได้รับฉายาว่าเป็นคาฟกาแห่งประเทศจีน ตัวงานของโม่เหยียนก็คล้ายกับจุง ชาง นวนิยายขนาดยาวชื่อ Red Sorghum บอกเล่าถึงคนสามรุ่นจากครอบครัวชาวนาในมณฑตซานตง ตัวเรื่องเล่าถึงเรื่องราวของประชาชนที่ถูกพัดพาไปตามกระแสความเปลี่ยนแปลงยิ่งใหญ่ของประวัติศาสตร์จีน จากครอบครัวชาวนา สู่กลุ่มต่อต้าน เป็นนวนิยายที่ให้ภาพผลกระทบจากการปฏิวัติวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ความคิดและสังคมจีนอย่างพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน และเล่าถึงประสบการณ์ของผู้คนในการสู้รบระหว่างสงครามจีนญี่ปุ่น นวนิยายเรื่องนี้ถือเป็นนวนิยายสมัยใหม่ของจีนที่สำคัญที่สุดเล่มหนึ่ง และคาดกันว่าส่งเสริมให้โม่เหยียนเป็นนักเขียนจีนคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี ค.ศ.2012
Eileen Chang
จาง ไอหลิง (Eileen Chang) เป็นนักเขียนหญิงและนักเขียนบทภาพยนตร์อันนำมาสู่ภาพของหนังจีน-ฮ่องกงร่วมสมัยที่เราคุ้นเคยกับภาพของดินแดนแห่งความรัก ความฝัน และการบริโภคอันฟู่ฟ่า ตัวชางเองถือเป็นผู้หญิงร่วมสมัยที่ใช้ชีวิตอยู่ในห้วงเวลาของความขัดแย้งจากการคุกคามของญี่ปุ่นในเซี่ยงไฮ้ งานเขียนของเธอถือเป็นวรรณกรรมที่เล่าเรื่องชาวจีนในมิติที่ต่างออกไป โดยเฉพาะการพูดถึงบริบทสงคราม
ไอหลิงจะเล่าจากเรื่องรักและความสัมพันธ์ส่วนบุคคล ความโรมานซ์วาบหวามที่มีฉากเป็นเซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง หรือไต้หวันเป็นสำคัญ เรื่องราวของผู้หญิงจีน ซึ่งอาจหมายรวมถึงตัวเธอเองอาจแสดงให้เห็นภาพของชาวจีนในอีกรูปแบบที่ออกมาใช้ชีวิตนอกแผ่นดินใหญ่ กลายเป็นสมาชิกประชาคมของโลกใบนี้ มีการเดินทาง มีความรัก และการเปิดรับวัฒนธรรมอันหลากหลายยและพูดถึงชีวิตส่วนตัวอย่างโลดโผน
Yiyun Li
หลี่ อี้หยุน (Yiyun Li) เป็นนักเขียนหญิงจีนพลัดถิ่น เธอเกิดและเติบโตขึ้นที่ปักกิ่ง ผ่านการใช้ชีวิตในกองทัพ ก่อนจะอพยพมาใช้ชีวิตอยู่ที่อเมริกา อี้หยุนถือเป็นนักเขียนที่ชีวิตและตัวตนความเป็นจีนของเธอไม่ได้งดงามนัก เธอเองประสบกับวิกฤติของตัวตนซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการคุกคามและการครอบงำทางความคิดทั้งจากทางการและจากแม่ของเธอเอง
อี้หยุนเป็นนักเขียนสัญชาติจีนอเมริกัน ที่เธอไม่เคยเขียนงานด้วยภาษาแม่ด้วยส่วนหนึ่งนั้นเธอต้องการตัดขาดและหลีกหนีจากอดีตและอิทธิพลของแผ่นดินใหญ่ของเธอเอง เธอต้องการเขียนถึงต่างๆ ได้อย่างอิสระเสรี งานรวมเรื่องสั้น A Thousand Years of Good Prayers ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.2005 ถือเป็นงานเธอได้ตอบโต้และระบายความคิดและยอกย้อนไปสู่แผ่นดินแม่ของเธอได้อย่างคมคาย
Yu Hua
หยูหัว (Yu Hua) ถือเป็นนักเขียนจีนระดับบิ๊กเนมจากจีนแผ่นดินใหญ่ เป็นนักเขียนที่ทรงอิทธิพลที่สุดคนหนึ่งในทศวรรษหลังช่วงปีปลายปี ค.ศ.1990 ถึงหลังปี ค.ศ.2000 เป็นต้นมา หยูหัวเป็นหนึ่งในตัวเต็งของรางวัลโนเบล เป็นผู้ที่ทั้งบันทึกภาพและฉายอนาคตของความเป็นจีนร่วมสมัยได้อย่างร้ายกาจและคมคาย หยูหัวมีผลงานสำคัญที่ทั้งยั่ว ล้อ และอธิบายความเป็นจีนร่วมสมัยได้อย่างแสบสันใน 10 คำนิยามจีน นวนิยายของหยูหัวนั้นแทบจะถูกเขียนขึ้นในลักษณะของมหากาพย์ แต่เป็นมหากาพย์ที่ให้ภาพสังคมจีนอันใกล้ ในยุคที่ผู้คนภายใต้ความเชื่อแบบคอมมิวนิสต์จีนเริ่มกระโดดไปสู่โลกทุนนิยม
งานเขียนของหยูหัวเล่าภาพอันขมขื่นของคนจีนที่เผชิญกับความยากแค้น แต่เรื่องราวที่หยูหัวเล่านั้นกลับเจือไปด้วยเรื่องราวสุดพิลึกพิลั่นและเต็มไปด้วยความย้อนแย้งชวนหัว นวนิยายเช่นคนตายยากที่เล่าชีวิตอันขมขื่นที่คนอ่านรู้สึกว่าตัวเอกน่าจะตายแต่ไม่ตาย แถมหยูหัวยังเล่าออกมาว่า คนตายยากนั้นกลับมีความสุขในโศกนาฏกรรมเสียเต็มประดา คนขายเลือด ที่แน่ล่ะว่าแร้นแค้นจนต้องขายเลือดกิน ตัวเรื่องก็กลับเต็มไปด้วยเรื่องชวนหัว โดยในความแปลกประหลาด เหนือจริง และการใช้กลวิธีของวรรณกรรมนั้น ทำให้หยูหัวสามารถเล่าเรื่องราวของจีนแผ่นดินใหญ่พร้อมวิพากษ์วิจารณ์ออกมาได้อย่างแนบเนียนและคมคาย
อ้างอิงข้อมูลจาก