“น้องคะ พอจะมีเวลาฟังพี่สักแป๊บมั้ยคะ” พอเราใจอ่อนหยุดฟังสักพักก็พบว่ากำลังตกอยู่ในสถานการณ์บังคับให้บริจาคเงิน หรือซื้อสินค้าบริการอะไรสักอย่าง จะปฏิเสธก็ไม่กล้า แต่ถ้าควักเงินในกระเป๋าออกมาก็คงต้องอยู่แบบอดอยากถึงสิ้นเดือนแน่ ทำไมเราถึงไม่กล้าปฏิเสธเขานะ ทั้งที่รู้สึกไม่โอเคขนาดนี้
ไม่ว่าใครก็น่าจะเคยถูกจู่โจมแบบนี้ แถมถ้าโดนแบบนี้แล้วมาแชร์ประสบการณ์ คนรอบตัวก็จะถามอีกว่า “เงินอยู่ในกระเป๋าเรา จะให้ใครมาเอาไปได้ยังไง” ไม่แปลกหรอกที่เราจะปฏิเสธไม่ได้ ก็ถูกจู่โจมขนาดนั้น ทั้งสับสน ตกใจ ไม่รู้จะทำยังไงดี บางครั้งก็ไม่ใช่แค่การปฏิเสธคนที่ไม่รู้จัก แต่เราก็มีสถานการณ์ที่อยากปฏิเสธคนใกล้ตัวเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นแม่ที่ใช้ไปซื้อของในตอนที่ไม่สะดวก หรือเจ้านายที่สั่งงานในวันหยุดพักผ่อน แต่ท้ายที่สุดเราเองต้องเรียนรู้ที่จะปฏิเสธบ้าง เพื่อรักษาใจของเราเองไม่ให้จมกับความรู้สึกไม่ดีหรือถูกเอาเปรียบ
แล้วแบบนี้เราจะปฏิเสธยังไงล่ะ?
ทำไมการปฏิเสธถึงเป็นเรื่องยาก
เราสามารถอธิบายนิสัย ‘ปฏิเสธใครไม่เป็น’ ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ หากย้อนกลับไปตั้งแต่ยุคแห่งการวิวัฒนาการ สัตว์ที่มีโครงสร้างทางสังคมที่ซับซ้อนมักจะมีพฤติกรรมแบบ Altruism หรือ ‘การช่วยเหลือผู้อื่น’ มนุษย์เป็นสัตว์ที่มีโครงสร้างทางสังคมที่ซับซ้อนที่สุด เราจึงวิวัฒนาการมาพร้อมกับพฤติกรรมแบบช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
ท่ามกลางโลกที่โหดร้าย มนุษย์ต้องร่วมมือกันเพื่อความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์ เราช่วยเหลืออีกคนหนึ่ง โดยหวังว่าอีกคนหนึ่งจะตอบแทนเรากลับในภายหลัง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่เราจะปฏิเสธการช่วยเหลือใครสักคน (แม้ใจจะไม่ได้อยากช่วยเหลือเลยก็ตาม) เพราะนั่นเหมือนกับการบอกว่า “ฉันไม่อยากจะร่วมมือกับใครทั้งนั้น”
ถ้าพูดถึงมนุษย์ ก็ต้องพูดถึงทฤษฎีความต้องการของมาสโลว์ เมื่อมนุษย์เราสามารถเติมเต็มความต้องการสองขั้นแรกได้แล้ว (ขั้นที่หนึ่งคือความต้องการพื้นฐานทางร่างกาย ขั้นที่สองคือความต้องการความมั่นคงปลอดภัย) ขั้นต่อไปก็คือ ‘ความต้องการความรักและสังคม’ หรืออธิบายให้ง่ายขึ้นก็คือ มนุษย์เราต้องการจะเป็นที่ยอมรับ ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าการช่วยเหลือผู้อื่นเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด ถ้าอยากได้รับการยอมรับจากใครสักคน
ไม่แปลกเลยที่เราจะกลัวว่าจะไปทำร้ายใจคนอื่นด้วยการปฏิเสธของเรา กลัวว่าเขาจะโกรธถ้าเราตอบว่า “ไม่” และยิ่งถ้าคนที่มีลักษณะนิสัยแบบ ‘people pleaser’ ที่มักจะตามใจผู้อื่นอยู่ตลอด บางทีก็เอาความต้องการของผู้อื่นมาอยู่เหนือความต้องการของตัวเอง ก็จะยิ่งไปกันใหญ่เวลาเจอกับเหตุการณ์จู่โจมโดยไม่ทันตั้งตัวแบบนี้
เอมิลี แอนฮอลต์ (Emily Anhalt) นักจิตวิทยาคลินิกเคยพูดถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า “ในฐานะที่เราเป็นสัตว์สังคม เราต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ต้องการรักษาความสัมพันธ์ที่มีต่อกลุ่มเอาไว้ เราเลยอาจจะตอบว่า ‘ได้’ กับทุกอย่าง เพราะไม่อยากให้คนอื่นในกลุ่มมองว่าเราเป็นคนยุ่งยาก”
นอกจากนี้เธอยังบอกอีกว่า “แต่เป็นไปได้เช่นกันที่เราตอบว่า ‘ได้’ เพราะเราต้องการที่จะช่วยเหลือ แต่เราก็ลืมไปว่าความสามารถในการช่วยเหลือของเรานั้นมีจำกัด”
สร้างขอบเขตให้กับตัวเอง จะได้รู้ว่าแบบนี้ไม่โอเคแล้วนะ!
อยากปฏิเสธให้เป็น ลองเริ่มจากการกำหนดขอบเขตให้ตัวเองก่อน เบรเน บราวน์ (Brené Brown) นักวิจัยด้านสังคมสงเคราะห์ชาวอเมริกันได้อธิบายคำว่าขอบเขตเอาไว้ว่า อะไรที่เราโอเค และอะไรที่เราไม่โอเค ซึ่งการกำหนดขอบเขตอาจฟังดูเป็นเรื่องของความสัมพันธ์มากกว่า แต่ก็สามารถนำมาใช้กับการฝึกปฏิเสธได้เหมือนกัน
การกำหนดขอบเขตเริ่มต้นจากการถามตัวเองว่าเรารู้สึกอย่างไรกับเหตุการณ์ที่เกิด รู้สึกอย่างไรเมื่อถูกเรียกให้หยุดกลางคันเพื่อฟังโครงการอะไรบางอย่าง รู้สึกอย่างไรเมื่อถูกยื่นตัวเลือกให้ว่าจะบริจาคเงินเท่าไหร่ ทั้งที่เราไม่มีเงินสดในกระเป๋าเลยสักนิด รู้สึกอย่างไรเมื่อถูกพนักงานขายพุ่งตรงเข้ามาเสนอโปรโมชั่นอย่างดุเดือด ความรู้สึกที่เกิดขึ้นเป็นเชิงบวกหรือเชิงลบ เมื่อเรารู้เท่าทันตัวเองแล้ว จงซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง อย่าให้ใครมาเปลี่ยนแปลงมันได้
เมื่อเราฝึกตัวเองแบบนี้บ่อยครั้งเข้า เราจะเริ่มรู้ว่า อะไรที่โอเค อะไรที่ไม่โอเค อะไรที่ทำแล้วยังรู้สึกสบายใจอยู่ และอะไรทำแล้วรู้สึกว่ากำลังล้ำเส้นขอบเขตของเรา การยึดมั่นในขอบเขตที่กำหนดไว้จะช่วยให้รับมือกับสถานการณ์บีบบังคับเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น ถ้าเริ่มรู้สึกไม่ดี การปฏิเสธไม่ใช่เรื่องผิดเลยสักนิด เพราะความรู้สึกของเราต้องมาก่อนเสมอ
ปฏิเสธอย่างไร ดันหยุดคุยกับเขาไปเสียแล้ว
เราเข้าใจดีว่าเป็นการยากที่จะเดินผ่านคนที่กำลังเรียกให้เข้าไปฟังอะไรบางอย่าง ดังนั้นถ้าเผลอหยุดคุยกับพวกเขาไปแล้ว จะทำอย่างไรดี
ก่อนอื่นเลย สิ่งสำคัญที่สุดคือการตั้งสติ อย่างที่เราบอกไปข้างบนว่า ฝึกถามตัวเองให้บ่อยว่ารู้สึกอย่างไร สิ่งนี้โอเคหรือเปล่า สิ่งนี้ล้ำเส้นเราอยู่ไหม เมื่อเรารู้สึกว่าคนที่พุ่งเข้ามาขายคอร์สอย่างรุนแรงใส่เรา กำลังล้ำเส้นขอบเขตที่เรากำหนดไว้ เทคนิกที่นักบำบัดแนะนำมา คือ หายใจเข้าให้เต็มปอดสักครั้ง เพื่อซื้อเวลาให้ตัวเองว่าจะตัดสินใจทำอย่างไรกับเหตุการณ์ตรงหน้า
ไม่ว่าจะเป็นการรับบริจาค การขายคอร์สเสริมความงาม หรืออื่นใด มักจะมาพร้อมกับ ‘การโน้มน้าว’ เราจะเริ่มรู้สึกว่าปฏิเสธยากยิ่งขึ้น เมื่ออีกฝ่ายมีกลยุทธ์แสนแพรวพราวในการเอาชนะเราให้ได้ แต่ถ้าเรายึดมั่นในขอบเขตที่เรากำหนดเอาไว้ จะไม่มีใครมาทำอะไรเราได้อย่างแน่นอน
ถึงเขาจะชมเราอย่างไร หรือชวนคุยอย่างเป็นมิตรจนรู้สึกว่าคำปฏิเสธที่ท่องมาจากบ้านเริ่มพูดออกมาได้ยาก ให้ตอบรับน้ำใจด้วยคำขอบคุณสักหน่อย แล้วค่อยปฏิเสธให้ชัดเจน อย่าแสดงถึงความลังเล ไม่อย่างนั้นบทสนทนาจะไม่จบลงเสียที
ใช้ภาษากายควบคู่ไปด้วย ส่งสัญญาณให้รู้ว่าเราไม่โอเค
จากบทความในวารสารด้านการตลาดพบว่า ประมาณ 65%-90% ของการสื่อสารในชีวิตประจำวันนั้นเป็นแบบการสื่อสารโดยใช้อวัจนภาษา หากยังไม่รู้ว่าจะปฏิเสธอย่างไรดี เราแนะนำว่าใช้ภาษากายที่แสดงถึงการปฏิเสธให้อีกฝ่ายรับรู้เบื้องต้นก่อนก็ได้
เริ่มจากภาษากายที่ง่ายที่สุดอย่างการ ‘กอดอก’ เพื่อเป็นการบ่งบอกว่าเรากำลังรู้สึกอึดอัด ถูกคุกคาม และไม่เปิดใจ มากไปกว่านั้นการกอดอกของเราจะยิ่งมีน้ำหนักมากขึ้นไปอีก ถ้าเป็นการกอดอกที่ทำมือเป็นกำปั้นด้วย เพราะนั่นหมายความว่านอกจากเราจะไม่เปิดใจแล้ว ยังพร้อมสู้กลับอีกด้วย ถ้าเข้ามาล้ำเส้นอีกแม้แต่นิดเดียว
ตำแหน่งของร่างกายก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สื่อถึงการปฏิเสธได้ อย่างการ ‘เอนตัวออกห่าง’ ที่เป็นเหมือนการบอกคู่สนทนาว่า “ฉันไม่อยากคุยกับเธอ” หรือจะเป็นการ ‘บิดตัวเฉียงไปทางอื่น’ เพื่อแสดงให้เขารู้ว่าเรากำลังคุยตามมารยาท ไม่ได้อยากอยู่ตรงนี้นานสักเท่าไหร่หรอกนะ
ทิศทางของปลายเท้าก็สามารถช่วยบอกได้เหมือนกันว่าเราอยากจะหนีออกไปจากตรงนี้ ดังนั้นการ ‘ชี้ปลายเท้าไปทางอื่น’ ที่ไม่ใช่คู่สนทนาก็เป็นสัญญาณว่าเรากำลังจะเดินจากไป อย่ารั้งเอาไว้นาน
ถ้าตอนนี้เรายังไม่พร้อมจะใช้เงินกับอะไรบางอย่างนอกแผนที่วางไว้ จงยึดมั่น อย่ายอมเพียงเพราะตัดความรำคาญ เพราะเราอาจต้องรู้สึกไม่ดีกับการตัดสินใจที่ผิดพลาดไป
เข้าใจนะ ว่าหลายคนกลัวว่าคำปฏิเสธของเราอาจจะไปทำร้ายใจใครเข้า แต่อย่าลืมว่าเราต้องไม่ยอมให้ใครมาตักตวงเอาอะไรไป โดยที่เราไม่เต็มใจเช่นกัน
อ้างอิงข้อมูลจาก
Illustration by Sutanya Phattanasitubon