ทำงานเหนื่อยๆ เจอเรื่องเครียดมาทั้งสัปดาห์ ก็อยากจะกลับบ้านไปนอนตีพุง ดูเน็ตฟลิกซ์ชิลๆ แต่แล้วก็มีความคิดแวบเข้ามาในหัว นี่เราชิลเกินไปหรือเปล่านะ? ดูขี้เกียจไปมั้ย? รู้สึกทำตัวไม่มีประโยชน์เอาซะเลย ทำไมเราถึงไม่ได้รู้สึกผ่อนคลายมากขึ้น หรือบางทีการพักผ่อนอาจจะทำให้เรารู้สึกกังวลมากกว่าเดิมกันแน่
ความวิตกกังวลเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ชีวิตประจำวันดำเนินไปได้ยาก จะไปไหนทำอะไรก็มัวแต่พะวงหน้าพะวงหลัง กระวนกระวาย กลัวในสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง และเมื่อเป็นบ่อยครั้งมากๆ ก็กลายเป็นสาเหตุนำไปสู่ ‘โรควิตกกังวล’ (anxiety) และ ‘โรคแพนิก’ (panic disorder)
หลายครั้งที่เวลาเราไปพบแพทย์ ก็มักจะได้รับคำแนะนำหนึ่งกลับมาว่า ‘พักผ่อนให้เพียงพอ’ หรือ ‘ทำตัวให้ผ่อนคลาย’ แน่นอนว่าการพักผ่อนเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการลดความตึงเครียดและคลายกังวล ช่วยรักษาทั้งอาการทางกายภาพและจิตใจ แต่กับบางคนดูจะไม่ใช่ เพราะการพักผ่อนอาจทำให้ระดับความวิตกกังวลของเขาเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม อาจเพราะพวกเขารู้สึกว่าตัวเองกำลังทำตัวสบายมากเกินไป หรือมี ‘ความวิตกกังวลจากการพักผ่อน’ หรือ relaxation-induced anxiety (RIA) อยู่ก็ว่าได้
ความวิตกกังวลจากการพักผ่อน เป็นที่พูดถึงมาตั้งแต่ปี ค.ศ.1983 เมื่อผลการศึกษาชิ้นหนึ่งพบว่า ผู้ป่วยซึ่งมีอาการเครียดเรื้อรังประมาณ 31% ที่พยายามจะผ่อนคลายกล้ามเนื้อของตัวเองด้วยการทำกิจกรรมต่างๆ (โดยเฉพาะกิจกรรมที่ต้องเพ่งโฟกัสไปที่การผ่อนคลายและการเกร็งกล้ามเนื้อพร้อมๆ กัน) และอีก 54% ที่พยายามจะทำสมาธิ สุดท้ายพวกเขากลับไปจบที่การวิตกกังวล ‘มากกว่าเดิม’ แทน ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ป่วยประมาณ 17-53% ประสบกับอาการนี้มาแล้ว
แม้ RIA จะไม่ใช่โรคทางสุขภาพจิตด้วยตัวของมันเอง เพราะยังมีงานวิจัยที่หาข้อสรุปมาอธิบายยังไม่มากพอ แต่มันก็เป็นอาการที่ตามมาจากโรควิตกกังวล ซึ่งแพทย์ทั้งหลายได้สันนิษฐานว่าอาการนี้อาจเกิดจากวิธีการพักผ่อนบางรูปแบบ ที่ผู้ป่วยจำเป็นจะต้องโฟกัสกับสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจมากเกินไป (อย่างกรณีการนั่งสมาธิ) ทำให้พวกเขาไวต่อความตึงเครียดหรือความกังวลที่กำลังรู้สึกอยู่ข้างใน และเกิดความกลัวว่าตัวเองจะเสียการควบคุมร่างกายและจิตใจไปด้วย
สำหรับผู้ป่วยโรควิตกกังวลบางคน การผ่อนคลายในแบบของคนทั่วไปอาจกระตุ้นให้พวกเขาวิตกกังวลมากกว่าเดิม ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา มิเชล นิวแมน (Michelle Newman) ได้สรุปคำอธิบายเกี่ยวกับปรากฏการณ์นี้ไว้ว่า อาการนี้อาจเกี่ยวข้องกับ ‘การหลีกเลี่ยงความแตกต่าง’ (contrast avoidance model) ที่ว่าคนเราจะวิตกกังวลต่ออารมณ์ที่เปลี่ยนไปแบบฉับพลัน เช่น การที่รู้สึกดีอยู่แล้วจู่ๆ ก็กลายเป็นรู้สึกแย่แบบกระทันหัน แต่หากเรารู้สึกวิตกกังวลเป็นประจำอย่างต่อเนื่องอยู่แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกังวลกับอาการ RIA มากนัก
นิวแมนและเพื่อนร่วมงาน ซานดรา เลรา (Sandra Llera) ทำการทดลองกับกลุ่มคนที่เป็นและไม่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไป (GAD) เพื่อดูว่า ‘ความผ่อนคลาย’ หรือ ‘ความกังวล’ ที่ทำให้พวกเขาจัดการกับความรู้สึกหลังดูคลิปวิดีโอน่ากลัวได้ดีกว่ากัน ซึ่งก็พบว่า กลุ่มคนที่เป็นโรควิตกกังวลทั่วไปมีแนวโน้มจะ ‘ชอบ’ ให้ตัวเองรู้สึกแย่มากกว่ารู้สึกดี เพราะมันทำให้พวกเขารู้สึกว่า ตัวเองสามารถจัดการกับความกลัวเหล่านั้นได้
“มันจึงกลับมายังแนวคิดที่ว่า คนเราจะรู้สึกสบายใจกับความกังวลมากกว่าความผ่อนคลาย แต่การมองว่าความกังวลเปรียบเสมือนผ้าห่มที่ห่อหุ้มเราให้รู้สึกปลอดภัยเป็นความคิดที่น่าตลกเหลือเกิน เพราะที่จริงมันไม่ได้ช่วยปกป้องเราจากสิ่งใดเลย ซ้ำยังเรารู้สึกแย่ตลอดเวลาอีกต่างหาก และท้ายที่สุด ความเกลียดชังที่วนเวียนอยู่ในสถานะการผ่อนคลายของเรา ก็จะทำให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ต่ำลงไปด้วย” นิวแมนกล่าว
หากไม่เห็นภาพว่าการพักผ่อนหรือการผ่อนคลายจะทำให้คนเรารู้สึกแย่กว่าเดิมได้ยังไง คริสตินา ลูเบอร์โต (Christina Luberto) นักจิตวิทยาคลินิกประจำโรงพยาบาลแมสซาชูเซตส์ ได้สร้างแบบทดสอบตนเอง 21 ข้อ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยที่มีอาการ RIA สามารถระบุได้ว่าส่วนไหนของการผ่อนคลายที่ไป ‘กระตุ้น’ ความกังวลของพวกเขา หรือที่เรียกว่า ‘ดัชนีความไวต่อการผ่อนคลาย’ (relaxation sensitivity index)
เมื่อเก็บแบบสอบถามจากนักศึกษาปริญญาตรี ลูเบอร์โตก็พบว่า การผ่อนคลายทำให้พวกเขาได้รับผลกระทบสามด้านด้วยกัน ได้แก่ ด้านสังคม ด้านการรับรู้ และด้านกายภาย
ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบด้านสังคม (social) จะรู้สึกกังวลเมื่อตัวเองปล่อยให้ร่างกายผ่อนคลายมากเกินไป เพราะมันจะทำให้พวกเขาดูไม่มีเสน่ห์ ไม่น่าดึงดูด และทำให้ผู้คนมองว่าพวกเขาเป็นคนขี้เกียจ ผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบด้านการรับรู้ (cognitive) จะรู้สึกไม่อยากผ่อนคลาย เพราะไม่ชอบเวลาที่ความคิดของตัวเองเริ่มช้าลง และการผ่อนคลายทำให้พวกเขาควบคุมความรู้สึกของตัวเองไม่ได้ ส่วนผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบด้านกายภาพ (physical) จะมีอาการตื่นกลัวตอนที่ลมหายใจของตัวเองลึกขึ้น บางคนถึงกับไม่ชอบความรู้สึกที่กล้ามเนื้อของตัวเองได้รับตอนนวดร่างกายเลยด้วยซ้ำ
อาจพูดได้ว่าผู้ป่วยที่มีอาการ RIA สามารถทำกิจกรรมผ่อนคลายได้ตามปกติ อย่างการเข้าครัวทำอาหาร นั่งฟังเพลงชิลๆ หรือแม้แต่เดินดูดฝุ่นในบ้านก็ดูเพลิดเพลินไปอีกแบบ แต่ที่มันยากสำหรับพวกเขาก็คือ เมื่อทำไปนานๆ อาการวิตกกังวลก็จะตามมา เพราะในขณะที่ระบบประสาทกำลังเริ่มเข้าสู่ช่วงพาราซิมพาเทติก (parasympathetic) หรือช่วงผ่อนคลาย สักพักอัตราการเต้นของหัวใจและอัตราการหายใจจะเพิ่มขึ้น จนทำให้เกิดอาการวิตกกังวลในที่สุด
เมื่อเป็นเช่นนี้ พวกเขาจึงไม่ได้รับการผ่อนคลายอย่างเต็มที่ และไม่มีช่วงเวลาให้ร่างกายได้เบรกจากความเหนื่อยล้าอย่างที่ควรจะเป็น ลูเบอร์โตแนะนำว่า เราจำเป็นจะต้องให้เวลากับร่างกายได้ ‘ตอบสนอง’ กับการผ่อนคลายบ้าง เพราะนั่นเป็นจุดที่เราจะได้หยุดพักและซ่อมแซมตัวเอง เพื่อชดเชยผลกระทบด้านลบจากความเครียดเรื้อรัง
เพราะฉะนั้น การหาสาเหตุของความกลัวหรือความกังวลจากการพักผ่อน จึงถือเป็นเรื่องที่ผู้ป่วยและแพทย์ต้องจัดการให้ได้ก่อนที่จะทำการรักษาในขั้นต่อๆ ไป เพื่อจะได้หาวิธีที่ปลอดภัยและเหมาะสมกับผู้ป่วยให้ได้มากที่สุด
สุดท้าย ทางออกที่ดีที่สุดคือพยายามไม่หลีกเลี่ยง แม้ว่ามันจะทำให้รู้สึกกลัวหรือแย่กว่าเดิมก็ตาม และก็ควรลองเผชิญหน้ากับความกลัวนั้นให้ได้ เพื่อเป็นการเปิดให้โอกาสร่างกายและจิตใจของตัวเองได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ เพราะหากไม่ได้หยุดพักเลย อาการวิตกกังวลอาจจะรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าก็ได้
อ้างอิงข้อมูลจาก