ตั้งแต่ ‘คำพูดปลุกใจ’ โดยไลฟ์โค้ชจนถึง ‘เตามหาเศรษฐี’ น้อยครั้งนักที่คนผู้ไม่อยู่ในข้อจำกัดทางการเงินจะแสดงออกอย่างเข้าอกเข้าใจคนที่อยู่ในสถานการณ์ทางการเงินแบบนั้น
ถ้าใครเคยพบเจอ ‘คำแนะนำ’ เกี่ยวกับการจัดการทางการเงินว่า รับจ๊อบเสริมสิ เลิกกินกาแฟไหม ไม่มีเงินแล้วทำไมดูหนัง มะนาวแพงก็ใช้มะม่วงแทน ฯลฯ บทสรุปที่เราได้มาจากพวกเขาเหล่านั้นอาจไม่ใช่ความตื่นรู้ที่นำไปสู่อิสระทางการเงิน แต่เป็นความรู้สึกว่าผู้พูดอาจไม่มีประสบการณ์ร่วมกับเราเลย
และเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นบ่อยกับคนทั่วโลกจนมีการบัญญัติศัพท์กันเองโดยชาวเน็ตที่เราเรียกกันว่า ‘Richsplaining’ ออกมา
โดยที่มาที่สืบค้นได้ของคำคำนี้เกิดขึ้นบนเว็บไซต์ Reddit ในห้องชื่อ r/PovertyFinance พื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนคำแนะนำสำหรับคนที่ตกอยู่ในสถานการณ์ทางการเงินที่ยากลำบาก โดยคำจำกัดความที่โผล่ขึ้นมาคือ ‘เมื่อคนที่ไม่เคยยากจนให้คำแนะนำเชิงยกตนข่มท่าน (patronizing) กับคุณ’ ซึ่งเป็นการบิดมาจาก mansplaining คำที่ใช้อธิบายพฤติกรรมของผู้ชายที่อธิบายเกี่ยวกับเรื่องใดๆ โดยมุมมองของความเป็นชายล้วนๆ
ว่าแต่ทำไมเรื่องแบบเดียวๆ กัน ในรูปแบบที่เหมือนกันถึงเกิดขึ้นไม่ว่าจะในสังคมไหน? ทำไมคนที่อยู่ภายนอกดู ‘รู้มาก’ และรู้สึกว่าพวกเขาสามารถหาทางออกให้กับคนอื่นๆ ที่อยู่ในสถานการณ์อื่นได้มากกว่าเจ้าตัว? สิ่งที่อาจช่วยในการทำความเข้าใจเรื่องนี้คือทฤษฎี Psychological Distance หรือระยะห่างทางจิตใจ
โดยทฤษฎีดังกล่าวถูกพัฒนาขึ้นโดยยาโคฟ โทรป (Yaacov Trope) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก และนิรา ลิเบอร์แมน (Nira Liberman) ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ โดยแรกเริ่มแล้วระยะห่างทางจิตใจใช้อธิบายมุมมองที่แตกต่างต่อเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งเมื่อมองมันผ่านช่วงเวลาและยุคสมัยที่แตกต่าง หลังจากนั้นมีการศึกษาเพิ่มเติมโดยนักวิจัยมากมายที่ครอบคลุมมันไปถึงระยะห่างที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์ที่แตกต่าง หรือการสร้างระยะห่างจากคนที่เรามองว่ามีลักษณะไม่เท่ากับเราอีกด้วย
การสร้างระยะห่างดังกล่าวถูกยกมาเป็นวิธีการที่ดีในการช่วยตัดสินใจเมื่อมีโจทย์ที่ต้องแก้ที่อาจเกี่ยวเนื่องกับความรู้สึกส่วนตัวของเรา เพราะบางครั้งในการตัดสินใจบางโจทย์นั้นเราต้องอาศัยการมองภาพกว้าง และเมื่อเรื่องเหล่านั้นเชื่อมโยงกับความรู้สึกของเราการมองภาพกว้างอาจเป็นไปไม่ได้ การสร้างระยะห่างดังกล่าวจึงเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ในหลายสถานการณ์
แต่การสร้างระยะห่างเช่นนั้นอาจใช้ไม่ได้กับทุกเรื่อง
เช่นเดียวกันกับทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์ การจัดการการเงินมีปัจจัยหลากหลายที่ต้องคำนึงถึง อาจจะประเทศที่เราอาศัยอยู่ ฐานะครอบครัวที่ถูกกำหนดตั้งแต่ก่อนเกิด บรรทัดฐานในการทำงาน ค่าแรงขั้นต่ำ เงินฝืดเงินเฟ้อ ฯลฯ ซึ่งเมื่อลองไล่มาแล้วเราอาจพบว่าการสร้างระยะห่างออกจากปัจจัยเหล่านั้นระหว่างคนจนและคนรวย อาจไม่ได้ทำให้เกิดการมองภาพกว้าง แต่เป็นการมองไม่กว้างพอ และเพ่งเล็งไปยังแผนการในอนาคตและการกระทำในปัจจุบันเท่านั้นซึ่งไม่เล่าเรื่องทั้งหมด
ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพ เราอาจต้องพูดถึงหนึ่งในไลฟ์โค้ชชื่อดังที่สุดในโลกคนหนึ่งอย่างแกรี่ เวย์เนอร์ชัค (Gary Vaynerchuk) หรือที่เป็นที่รู้จักกันว่า Garyvee มหาเศรษฐีผู้มีธุรกิจในด้านการสื่อสารและขึ้นพูดในเวทีมากมายเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการบริหารธุรกิจและการเงิน โดยเขามักเล่าว่าการเติบโตของเขาจากการเป็นผู้อพยพในสหรัฐอเมริกาสู่การเป็นตัวของเขาในปัจจุบัน เริ่มจากการเก็บดอกไม้ในสวนของคนอื่นไปขาย และวัยเด็กของเขา เขาเรียนรู้เกี่ยวกับการทำงานเมื่อพ่อบังคับให้เขาเป็นคนแพคน้ำแข็งในร้านขายเหล้าตั้งแต่วัยสิบสี่ปี
หากจะให้สรุปหลักคิดของเขา เขาเชื่อว่าวิธีเดียวที่จะสามารถนำไปสู่ความสำเร็จคือการทำงานอย่างยากเข็ญ และสิ่งที่แย่กว่าการเกิดขึ้นมาในครอบครัวที่ไม่มีเงินคือการเกิดขึ้นมาในครอบครัวที่มีมรดก ‘ผมอยากเกิดมามีเงิน 0 ดอลมากกว่า 100 ล้านดอล…ผมคุยกับลูกมหาเศรษฐี พวกเขาเศร้า’ เขาพูดต่อ ‘พวกเขาคิดว่า ไม่ว่าเขาจะทำอะไรในแปดสิบปีที่เขามีชีวิต จะไม่มีใครคิดว่านั่นคือความสำเร็จของเขาเอง…คุณคิดว่านั่นนำไปสู่โรคซึมเศร้า โคเคน และการปาร์ตี้จนตายมากขนาดไหน?’
และนี่คือจุดที่เขาใช้จี้กลุ่มคนที่เขาพูดถึง ด้วยแนวคิดว่าหากไม่อยากตกลงไปสู่หลุมของความเศร้าหมอง พวกเขาต้องขยันมากขึ้น และหากไม่รู้สึกถึงความยากเข็ญก็สร้างมันขึ้นมา หนึ่งในคำพูดที่ดังที่สุดของเขาเกิดขึ้นเมื่อถึงช่วงถามคำถามบนเวทีโค้ชของเขา ผู้หญิงคนหนึ่งถามหาวิธีสร้างแรงผลักดันของเขา เขาให้คำตอบว่า ‘ใครคือคนที่คุณรักที่สุดในชีวิต?…ทุกวัน ใช้เวลาห้านาทีลองจินตนาการว่าคนคนนั้นโดนยิงหัว’ โดยเขาอธิบายว่านั่นคือสิ่งที่เขาทำเพื่อนำไปสู่ความสุขที่เขามีทุกวันนี้
เราคงพูดไม่ได้ว่าความขยันและทักษะของแกรี่ไม่เกี่ยวข้องกับความสำเร็จของเขาเลย แต่สิ่งที่เขามักลืมพูดถึงคือบริบทรอบๆ ชีวิตของเขาว่านอกจากการเริ่มทำงานตั้งแต่วัยเด็กที่บ้านของเขามีธุรกิจขายไวน์ที่มั่นคงอยู่แล้วก่อนแล้ว และแม้ว่าเขาจะมีส่วนในการขยายอาณาจักรดังกล่าว ระยะห่างของเขาจากความยากจนนั้นอาจทำให้คำแนะนำหลายๆ อย่างของเขาไม่สะท้อนการใช้ชีวิตของคนจนจริงๆ ก็เป็นได้
และในฐานะชนชั้นกลางลงไป เมื่อเราเห็นคลิปคำแนะนำโดยไลฟ์โค้ชว่าคนอดตายในช่วงโควิดเพราะความขาดวินัย และความไม่กล้าปรับตัวในยุคหลังโควิดความรู้สึกแรกต่อมันคงไม่นึกถึงพระผู้มาโปรด แต่เป็นคนที่ไม่เอาปัจจัยอื่นๆ ของชีวิต เช่น การเข้าถึงและการเข้าไม่ถึงเทคโนโลยี ต้นทุน หรือแม้แต่การจัดการ work-life-balance ใหม่ของคนคนหนึ่งเข้ามาเป็นปัจจัยหนึ่งของการจัดการธุรกิจของเรามากกว่า
แต่นอกจากความหงุดหงิดและรำคาญใจที่เกิดขึ้นเมื่อได้ยินเรื่องเหล่านี้แล้ว อีกสิ่งที่เป็นปัญหาคือมันสร้างภาพจำต่อสังคมให้กับคนที่มีข้อจำกัดทางการเงินอีกด้วย ไม่นานมานี้มีการถกเถียงกันเรื่องราคาตั๋วหนังและมุมมองว่าความบันเทิงเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยหรือไม่ ซึ่งแนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดที่เราเห็นโดยไม่ขาดสายจากคนรวย
ในปี ค.ศ.2015 ในบทสนทนากับเว็บไซต์ The Telegraph จีน่า ไรน์ฮาร์ท (Gina Rinehart) เศรษฐีนีชาวออสเตรเลีย ทายาทธุรกิจเหมือง Hancock Prospecting และในขณะนั้นเจ้าของตำแหน่งหญิงผู้รวยที่สุดในโลก กล่าวว่าเหตุผลที่พาเธอมายืนอยู่ในจุดที่เธอยืนอยู่ทุกวันนี้ได้ก็เพราะเธอไม่ได้เอาเงินและเวลาของเธอไปลงกับการสูบบุหรี่และการกินเหล้า พร้อมกับเรียกคนจนว่าเป็นคนขี้อิจฉาและขี้บ่นมากเกินไป
ซึ่งในความเป็นจริงแล้วปัญหาความยากจนมีมิติมากกว่านั้น ‘มันกล่าวโทษความยากไปยังผู้คนที่ตกอยู่ในสถานการณ์นั้นราวกับว่าความยากจนเป็นตัวเลือก ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของระบบที่ออกแบบมาให้ยากต่อการที่คนจนจะเดินไปข้างหน้าได้’ ซูซาน เดจาร์นาต (Susan Dejarnatt) ศาสตราจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทมเพิลกล่าวกับนิตยสาร Popsugar เกี่ยวกับพฤติกรรม Richsplaining
การเหมารวม (stereotype) เช่นนี้ไม่ได้มีผลเพียงต่อสังคม แต่ต่อตัวตนของคนที่ถูกเหมารวมด้วย ในหนังสือว่าด้วยการนำเสนอคนกลุ่มน้อยผ่านภาพยนตร์และสื่อโดย แนนซี หวัง เยี่ยน (Nancy Wang Yuen) นักสังคมวิทยาอเมริกัน มีส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเหมารวมที่สามารถปรับใช้กับเรื่องนี้ได้
โดยเธออธิบายว่าการนำเสนอคนกลุ่มน้อยในแง่ลบบ่อยๆ เช่น การถูกนำเสนอเป็นตัวร้าย ตัวประกอบ หรือวัตถุทางเพศ สามารถส่งผลแง่ลบต่อมุมมองตัวตนของเขาเอง และสร้างความไม่มั่นใจในตัวเองของคนกลุ่มนั้น พร้อมทั้งเสริมสร้างความมั่นใจให้คนอีกกลุ่มอย่างมาก และหากเราเอามาปรับใช้กับสถานะทางสังคม ความรวย ความยากจน ก็ไม่เป็นเรื่องแปลกที่เราจะเห็นว่าความนิยมของเหล่าไลฟ์โค้ชมาจากไหน และการเหมารวมและภาพจำของความยากจนยังคงอยู่ในโลกได้ยังไง
บทความนี้ไม่ได้ต้องการบอกว่าการให้คำแนะนำด้านการเงินใดๆ เป็นเรื่องแย่ แต่ในชีวิตของมนุษย์นั้นมีมิติที่หลากหลายกว่าประสบการณ์ส่วนตัวของตัวเองเจออย่างมาก ฉะนั้นคำแนะนำเหล่านั้นอาจต้องมองภาพที่แคบลงไปยังปัจจัยด้านจิตใจ และกว้างขึ้นไปสู่การแก้ปัญหาเชิงระบบไปพร้อมๆ กันจึงจะสามารถสะท้อนสถานการณ์ทางการเงินของคนหลายๆ คนได้อย่างซื่อสัตย์
อ้างอิงข้อมูลจาก