การรอคิวยาวๆ ในโรงพยาบาลรัฐ การเดินบนฟุตบาทที่ต้องลุ้นเหมือนหลบระเบิดตลอดเวลา หรือผลลัพธ์จากปัญหาเชิงโครงสร้างอื่นๆ ต่างฟังดูเป็นเรื่องใกล้ตัว แต่พอพูดถึงวิธีการแก้ไขกลับดูยากและไกลเกินเอื้อม จนชวนให้รู้สึกท้อใจว่า เราตัวเล็กเกินกว่าจะทำอะไรได้หรือเปล่า?
“เราคิดว่าคนตัวเล็กกับระบบ เราอยู่ร่วมกัน ไม่ได้อยู่แยกกัน เราเป็นส่วนหนึ่งของระบบ แล้วโครงสร้างนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของเรา ดังนั้นมันมีผลกระทบเชื่อมโยงถึงกันในสักทางใดทางหนึ่งแน่ๆ เราเชื่อว่าเราทำอะไรบางอย่างได้ แต่มันจะเกิดผลมากน้อยนี่อีกเรื่องหนึ่ง เราว่าแล้วแต่ต้นทุนที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน เราเข้าใจพาร์ตนี้นะ แต่คิดว่าไม่ถึงขั้นที่เราทำอะไรไม่ได้เลย” โบ๊ท–วิษณุ กุลทวีวุฒิ หนึ่งในผู้ก่อตั้ง Rise Impact บอกกับเรา
แม้นิยามของ ‘Rise Impact’ กว้างเกินกว่าจะใช้เพียงไม่กี่คำเพื่ออธิบาย แต่สำหรับเรา พวกเขาคือ ‘นักออกแบบวิธีแก้ปัญหา’ ให้กับผู้คนไปจนถึงองค์กรที่อยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงสังคม อย่างล่าสุด Rise Impact ก็มีโปรเจ็กต์สนุกๆ ให้คนทั่วไปได้มีส่วนร่วมอย่าง Elderly Survival Mode: ชนชราต้องรอด ที่ชวนผู้คนมานึกภาพตัวเองตอนแก่ สวัสดิการที่ต้องการ และสวัสดิการที่ขาดหายไป เพื่อนำมารวบรวมเป็นข้อเสนอว่านโยบายแบบไหนจะเหมาะกับสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยบ้าง และยังมีอีกหลายโปรเจ็กต์ก่อนหน้านี้โดยจะเน้นเรื่องระบบสุขภาพ สังคมสูงอายุและธุรกิจเพื่อสังคมเป็นหลัก
วันนี้เราเลยชวน โบ๊ท–วิษณุ กุลทวีวุฒิ เม-นันทนัช อรุโณทยานันท์ และฟ้า-มนตรา เวสารัชช์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Rise Impact มาพูดคุยถึงการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างหรือปัญหาเชิงระบบว่าคนตัวเล็กๆ สามารถทำอะไรได้บ้าง
นักออกแบบวิธีการแก้ปัญหา
ก่อนหน้านี้ โบ๊ท เม และฟ้า เคยร่วมงานกันในองค์กรแห่งหนึ่ง โดยหน้าที่หลักคือการผลักดันให้มูลนิธิ NGO หรือกลุ่มคนที่อยากแก้ปัญหาสังคมมาใช้โมเดลธุรกิจเพื่อแก้ปัญหาเหล่านี้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าผลักดันให้เกิด ‘ธุรกิจเพื่อสังคม’ (Social Enterprise) เพราะเป็นวิธีการสร้างรายได้ที่ยั่งยืนกว่าการรับบริจาคเพียงอย่างเดียว จนวันหนึ่งส่วนงานนี้ได้ปิดตัวลง แต่ยังคงมีกลุ่มคนที่อยากแก้ปัญหา ยังอยากทำงานร่วมกันต่อไป พวกเขาจึงรวมตัวกันก่อตั้ง Rise Impact ขึ้นมาเพื่อสานต่องานเหล่านี้ อย่าง ‘มะขามป้อม’ โครงการโรงเรียนวิทยากรที่ Rise Impact ทำเรื่องพัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อสังคมให้ทีมงานมะขามป้อมได้ทบทวนการจัดการต้นทุนและปรับโครงสร้างต้นทุน ราคาขาย และการบริหารจัดการภายในทีม
“ที่ผ่านมาเราเริ่มจากเรื่องผู้ประกอบการ เราทำความเข้าใจว่าผู้ประกอบการต้องการอะไร พยายามออกแบบงานของเราให้ตอบโจทย์เรื่องนั้น ให้มันรันไปได้ แต่เราเจอข้อจำกัดคือผู้ประกอบการเพื่อสังคมไม่ได้แก้ปัญหาสังคมได้ทุกเรื่อง มันก็มีส่วนที่เราขยับมาทำงานเชิงระบบ เลยเกิดเป็นโครงการ Positive Health Disruptor ขึ้นมา เพราะมีงานอื่นๆ ที่ไม่จำเป็นต้องใช้โมเดลธุรกิจเข้ามาแก้ปัญหาเสมอไป”
โครงการ Positive Health Disruptor ที่โบ๊ทเล่าถึงนี้ มีขึ้นเพื่อแก้ปัญหาระบบสุขภาพอันแสนซับซ้อน และมีปัญหายิบย่อยหลายอย่าง แถมคนที่อยากลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงระบบก็ไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน พวกเขาเลยออกแบบโครงการพัฒนา ‘ผู้นำ’ ที่อยากเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพ เช่น ทันตแพทย์ที่อยากทำให้บริการทันตกรรมเข้าถึงง่ายยิ่งขึ้น แพทย์ที่อยากพัฒนาระบบปฐมภูมิในเขตเมือง เพื่อแก้ปัญหาความแออัดและรอคิวยาวๆ ในโรงพยาบาลใหญ่ๆ ฯลฯ โดยพากลุ่มคนมีไฟเหล่านี้มาทำความเข้าใจภาพรวมของระบบมากขึ้นว่ามีใครเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้บ้าง แต่ละคนมีข้อจำกัดอะไร และถ้าอยากเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ต้องเริ่มจากตรงไหน ก่อนจะกลับไปสานต่อเพื่อเปลี่ยนแปลงส่วนที่ตัวเองสังกัดหรือรับผิดชอบอยู่
“สำหรับเราในโครงการ Positive Health Disruptor คือเราฟังแล้วเราทำความเข้าใจเยอะมากเลย มันดูไม่ได้เป็นเครื่องมือแบบ canvas แต่เราต้องฟังมากๆ ว่า ผู้เข้าร่วมโปรแกรม พี่ๆ เขาจะทำอะไร เป้าหมายเขาอยู่ตรงไหน มีช่องว่างตรงไหน คือฟังนี่ไม่ได้หมายความว่าเขาเล่าให้เราฟังเฉยๆ นะ เราก็ต้องทำความเข้าใจเขาไปด้วย”
หรืออีกโครงการหนึ่งคือ Policy Dialogue ที่เกิดขึ้นเพราะนโยบายบางอย่างในประเทศเราไม่ได้ตอบโจทย์ทุกคนที่เกี่ยวข้อง พวกเขาจึงสร้างพื้นที่ให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชน รวมทั้งคนทั่วไปได้มาร่วมวงสนทนา แลกเปลี่ยนความเห็น ข้อจำกัดและความต้องการ เพื่อกลั่นออกมาเป็นนโยบายหรือข้อเสนอที่คนในสังคมได้ร่วมกันออกแบบ ส่วนนโยบายเหล่านี้จะถูกนำไปใช้หรือไม่ก็ยังคงขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจทางกฎหมาย แต่เมมองว่า อย่างน้อยถ้าผู้คนได้มีส่วนร่วมออกความคิดเห็นแล้ว พวกเขาก็จะมีแรงจูงใจให้อยากติดตามผลลัพธ์ ตั้งคำถาม และผลักดันข้อเสนอที่มีต่อไปเรื่อยๆ
“ข้อเสนอมันอาจจะถูกปฏิเสธ จากการไม่ถูกนำไปใช้ หรือมันอาจจะไม่ถูกเสนอด้วยซ้ำ หรือแม้แต่เสนอเข้าไปแล้ว ด้วยสถานการณ์ทางการเมืองมันอาจจะถูกดึงออกระหว่างทาง เราเลยสร้างมวลชน สร้างความเคลื่อนไหวว่าเรื่องนี้สำคัญและควรทำแบบนี้ กระบวนมีส่วนร่วมของสังคมที่เราทำ แม้มันจะดูเล็กและเป็นการทดลอง แต่มันเป็นเรื่องที่เราไปยืนยันกับเขาได้ว่า เฮ้ย มันมีคนที่ออกเสียงกับเรื่องนี้ว่าควรจะเปลี่ยนแปลงแบบนี้นะ แล้วมีคนตระหนักเรื่องนี้มากขึ้น เขาไม่ได้ยอมให้เรื่องนี้ผ่านไปได้เฉยๆ เพราะการสร้างความรับรู้ในสาธารณะ เราคิดว่ากระแสมันจะไม่ได้หายไป เพราะว่ามันไม่ได้เป็นการทำเอกสาร (white paper) ส่งไปว่าเอาหรือไม่เอา แต่มันจะมีคนที่เริ่มรู้สึกแล้วล่ะว่า จริงๆ เราควรจะได้รับบริการที่ต่างจากเดิม คือมันขนานไปด้วยกัน”
ทำสิ่งที่ทำได้ แต่ไม่ลืมตั้งคำถามถึงรากของปัญหา
พอเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างหรือนโยบายต่างๆ บางคนอาจจะมองว่าปัญหาเหล่านี้ควรถูกแก้ไขโดยหน่วยงานรัฐหรือองค์กรใหญ่ๆ มากกว่า ซึ่งเมเล่าถึงประเด็นนี้ว่า
“บางเรื่องมันเป็นปัญหาที่กฎระเบียบ กฎหมายมันมีผลมากๆ อย่างเรื่องแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม เราว่ากลไกภาครัฐสำคัญจริงๆ แค่ประกาศว่าเลิกใช้ถุงพลาสติก ก็อิมแพ็กแล้วไง แต่บางเรื่องมันไม่ใช่แค่การประกาศแบบนั้น สมมุติว่าไปแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพ อย่างถ้าอยู่ดีๆ บอกว่า ให้ไปฉีดยาได้ทุกคน มันต้องคิดผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจและทางสังคมที่เกิดขึ้นอีกเยอะเหมือนกันว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราว่ามันแล้วแต่ประเด็นเหมือนกัน แต่นโยบายของรัฐน่ะมีผลเสมอ เพราะมันคือเครื่องมือของรัฐในการบริหารประเทศที่เรามี โจทย์ของเราก็เลยจะขยับมาเป็น แล้วทำยังไงให้รัฐทำงานได้ฉลาดและดีขึ้นสมควรกับการที่เขาใช้ภาษีเราอยู่ สำหรับเรามันอาจจะเป็นแบบนั้น แล้วเราทำงานร่วมกับเขาได้อย่างไรมากกว่า ซึ่งก็ไม่ได้ง่าย แต่ก็เป็นโจทย์ที่เราคิดว่า เราสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ”
ส่วนฟ้ามองว่ารัฐมีทั้งอำนาจและข้อจำกัดบางอย่างที่คนตัวเล็กๆ อย่างเราสามารถเข้าไปเติมช่องว่างตรงนี้ได้เหมือนกัน “ถ้ามองรัฐเป็นหนึ่งผู้เล่น (player) ในระบบ เขามองไม่เห็นรอบด้านอยู่แล้ว เขาไม่รู้หรอกว่า คนนี้เจอปัญหาอะไรอยู่ สมมุติว่าเราคือรัฐมนตรี เราไม่รู้หรอกว่าคุณ A เขาประสบปัญหาการใช้ชีวิตประจำวันอย่างไร เรารู้สึกว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราที่ต้องส่งเสียง แล้วมุมหนึ่งรัฐก็มีเครื่องมือแบบของรัฐเหมือนกัน แต่ว่าเครื่องมือเหล่านี้ไม่ได้แก้ได้ทุกอย่าง อย่างเช่นกฎหมาย ระเบียบต่างๆ แต่เรารู้สึกว่า เรา ประชาชน บริษัท นักเรียนนักศึกษา สื่อ ทุกคนมีเครื่องมือของตัวเอง ทุกคนมีจุดยืน มีมุมมอง มีสิทธิจะให้ความเห็นในเรื่องที่กระทบกับเรา เสียงนี้มันควรจะส่งเสียงไปถึงกัน จริงๆ มันควรจะเป็นการทำงานร่วมกัน โดยที่รัฐรับฟัง มีพื้นที่ให้เราเข้าไปให้ความเห็น มีพื้นที่ให้เราตั้งคำถามกับสิ่งที่รัฐอาจจะทำอยู่แล้วมันไม่เวิร์ค มันคือพื้นที่ให้เราได้เกิดบทสนทนา ได้เห็นภาพปัญหาจากมุมของคนอื่นๆ ได้ยินเสียง ได้ฟังความเห็น ได้โต้เถียงโต้แย้ง เห็นจุดร่วมจุดต่าง เราควรทำงานร่วมกันในลักษณะนี้มากกว่า”
แม้คนทั่วไปจะมีบทบาทสำคัญและสามารถลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่คำถามต่อมาคือเราจะรู้ได้ยังไงว่าเราทำอะไรได้บ้างนอกจากพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้น
“เราว่าทุกคนก็เลือกได้หลายแบบ” เมตอบ “เราว่าถ้าใครที่เลือกจะทำเพื่อผลลัพธ์ที่ดี มันก็ไม่ผิด แต่ว่าถ้าเรามองกว้างขึ้นอีกนิดนึงว่า เรื่องที่เรากำลังจะกระโดดเข้าไปทำในมุมที่เราทำได้ บางทีเราอาจจะลืมไปว่า ถ้าเราทำร่วมกับคนอื่น เราอาจจะทำเรื่องอื่นได้อีก สำหรับตัวเองก็เลยจะมีความกลืนไม่เข้าคายไม่ออกนิดหน่อย เพราะไม่งั้นทุกคนก็จะเลือกบริจาค อย่างเดียวเพราะมันทำได้เลย แต่ว่าอยากให้มองภาพกว้างมานิดนึงว่าเรื่องนี้มันเกิดจากอะไรนะ เรื่องนี้ปัญหามันซ้อนกันจากไหน” ส่วนโบ๊ทจะเสริมประเด็นนี้ว่า
“ถ้ามองจากเรื่องที่เราทำได้มันคือความเข้าใจตั้งต้นของเรา เราคิดว่า ไม่ได้ทุกเคสนะ แต่จะมีโอกาสที่หลายๆ ครั้ง สิ่งที่เราทำ มันดีตรงหน้าเรา แต่มันไปเกิดปัญหา เกิดผลกระทบที่อื่นโดยที่เราไม่รู้ตัว เราคิดว่ามันจะเหมือน รู้สึกดีกับการที่เราได้ลงมือทำแล้ว แต่ว่าทั้งหมดอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร อาจจะแย่ลงอะไรอย่างนี้ เราว่ามันมีปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นได้ ดังนั้นเราว่าสำคัญมากเลย ก่อนจะเริ่มทำอะไรสักอย่าง นิดเดียวเลยคือตั้งคำถามว่า เรื่องนี้มีใครทำอะไรอยู่บ้าง แล้วมันจะเจอจุดที่ถ้าเรามองเห็น เราจะเลือกได้มากขึ้นว่า โอเค เรายังไม่พร้อมไปร่วมกับคนอื่น งั้นเราเลือกทางนี้แหละ แต่อย่างน้อยเรารู้ว่าคนอื่นกำลังทำอะไรอยู่ แล้วมันจะมีโอกาสส่งต่อเชื่อมโยงกันยังไง โดยไม่มุ่งไปทิศทางของเราคนเดียว”
แม้เปลี่ยนทั้งระบบไม่ได้ แต่กระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้
สิ่งที่ Rise Impact ทำ อาจไม่ใช่การสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นทันที เพราะผู้เข้าร่วมโครงการของ Rise Impact เองก็ต้องไปสร้างความเปลี่ยนแปลงอีกต่อหนึ่ง ทั้งยังมีเรื่องการบังคับใช้นโยบายต่างๆ ที่ขึ้นอยู่กับผู้มีอำนาจ แต่พวกเขามองว่า Rise Impact เป็นเหมือนตัวกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้เร็วขึ้นมากกว่า
“เราคิดว่าเราสร้างการเปลี่ยนแปลงในความเร็วที่ต่างจากเดิม เราอยากเป็นตัวเร่งน่ะ เหมือนเรารู้สึกว่าถ้าไม่มีตัวเร่งทำให้เร็วขึ้น สมมุติกระทรวงมหาดไทยใช้วิธีทำบัตรประชาชนให้เรา แบบแมนนวลมันก็ทำไปเรื่อยๆ แหละ ถ้าวันหนึ่งมีเครื่องมือมาทำให้เรื่องนี้เร็วขึ้น อิมแพ็กมันคือคนทำได้เร็วขึ้น ทุกอย่างสะดวกขึ้น แต่ถ้าไม่มีถามว่าขาดอะไรไปไหม ก็คงไม่ขาด แต่ก็อาจจะมีคนไปต่อคิวนาน เราว่า Rise Impact เป็นตัวเร่งในเซนส์แบบนั้น แต่ถามว่าวันนี้ถ้าเราทำได้ดีถึงขนาดที่จะเคลมว่าตัวเองสร้างอิมแพ็กแบบรวดเร็วขนาดนั้นไหม ก็อาจจะยังไม่ถึงจุดที่เราพอใจ แต่คิดว่ามันมีผลอยู่แบบนั้นจริงๆ”
“คือมันยังหาผลผลิตเป็นชิ้นได้ยาก แต่อย่างเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เมื่อกี้ คือวันที่เราทำ Aging In Place ของผู้สูงอายุ ก่อนที่เราจะพูดถึงเรื่องนี้ เราเสิร์ชก็คือไม่มีใครพูดถึงเรื่องนี้ในประเทศไทยเป็นภาษาไทย แต่วันที่เราไปชวนคอลัมนิสต์คนหนึ่งมาช่วยเราทำงานด้านการสื่อสาร แล้วแชร์ข้อมูลไป 2 เดือนหลังจากนั้นก็มีคอลัมน์เรื่องนี้เกิดขึ้น ซึ่งเรารู้สึกว่ามันก็อาจจะค่อยๆ เชื่อมโยงกันไป วันหนึ่งเราคงวัดอิมแพ็กของการมีเราได้ชัดกว่านี้ สำหรับเรามันมีหลายเรื่องที่เป็นสัญญาณเล็กๆ แต่เรายังไม่อยากเคลมว่ามันมาจากเราทั้งหมด คือถ้าไม่มีเรา เราคิดว่าอาจจะไม่เป็นไรขนาดนั้น แต่เราก็จะเป็นห่วงว่า ถ้าไม่มีใครทำอะไรแบบเราเลย แล้วสังคมมันกำลังเดินไปสู่ทิศทางไหน เราอยากให้มีคนแบบเราเพิ่มขึ้นด้วยเพราะเราไม่ได้ทำได้ทุกเรื่อง” เมกล่าว ก่อนที่โบ๊ทจะเล่าต่อว่า “ที่บอกว่ามีคนแบบเรา ไม่ได้หมายถึงมาทำแบบเรานะ วิธีเราอาจจะไม่เวิร์คก็ได้ แต่เราอยากให้มันมีกระบวนการคิดแบบนี้ที่ว่า ปัญหามันอยู่ตรงไหน เป้าหมายคืออยากไปไหน แล้วทางแก้คืออะไร ยิ่งมีคนทำเยอะ ยิ่งมีทางแก้หลากหลายให้ในสังคมได้ลองว่าอะไรคือทางที่ควรจะเป็น”
ส่วนฟ้ามองว่า Rise Impact เป็นเหมือนคนที่ชวนคนอื่นๆ ในสังคมมาลองแก้ปัญหาเดิมด้วยวิธีการใหม่ๆ “เราอาจจะเทียบเป็นการจราจรก็ได้ ก่อนหน้านี้มันอาจจะมีแต่รถมอเตอร์ไซค์ เราก็อาจจะพยายามชวนคิดว่า การไปจากอ่อนนุชไปสยาม จำเป็นต้องไปด้วยมอเตอร์ไซค์อย่างเดียวหรือเปล่า มันอาจจะมีทางเลือกอื่นๆ รถ EV ขี่ซาเล้ง เดิน อะไรอย่างนี้ แต่เรารู้สึกว่าบทบาทของเรามันคือทำให้คนอื่นๆ เห็นเหมือนกันว่า เอ้ย มันก็คิดวิธีการทำงานแบบใหม่ได้หนิ เขาก็มีไอเดียในแบบของเขา เขาก็ลองในแบบของเขาได้ เราว่าแค่นั้นเลย บทบาทของเรา ณ ตอนนี้”
“เราว่าพอ Rise Impact ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรหรือหน่วยงานรัฐแล้วมันยืดหยุ่นมากพอที่จะทำให้เราได้คิดไอเดียใหม่ๆ อยากทำอะไรใหม่ๆ ได้ลองอะไรที่เราอยากลอง แล้วไม่รู้เพราะเริ่มเป็นแม่ด้วยหรือเปล่า พอเรามีลูก เรารู้สึกว่ามันทำให้เลนส์ในการมองสังคม เราพยายามจะคิดถึงอนาคตข้างหน้าเยอะขึ้น แล้วก็รู้สึกว่า เฮ้ย เออ มันเริ่มจากพอมีลูกแล้วตั้งคำถามเหมือนกันว่าจริงๆ เราอยากให้ลูกเราโตในเมืองไทยจริงไหม พอหาคำตอบได้ว่า คงไปไหนไม่ได้แล้วลูกเอ้ย (หัวเราะ) หมายถึงว่าถ้าสุดท้ายลูกเรายังต้องใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทย เราอยากเห็นมันเป็นยังไง แล้วก็ยังรู้สึกว่ากลไลแบบ Rise Impact คือการมีคนที่เป็นนักชงว่า เฮ้ย มันต้องมีวิธีใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาสิ มันยังตอบโจทย์ทั้งเรื่องนี้และแพสชั่นต่องานนี้ค่ะ”
คนตัวเล็กๆ จะเปลี่ยนระบบได้แค่ไหน? หลังจบบทสนทนาเราเองก็ไม่สามารถให้คำตอบที่วัดผลได้ว่า ‘แค่ไหน’ เหมือนกัน แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดคือทุกคนต่างมีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงระบบ อย่างคนตัวเล็กก็อาจจะเห็นปัญหาในพื้นที่ เข้าใจสิ่งที่เจอในชีวิตประจำวัน ส่วนหน่วยงาน องค์กรใหญ่ๆ ก็อาจจะเห็นภาพรวมของปัญหา เข้าใจกฎระเบียบและข้อจำกัดต่างๆ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงคงเกิดขึ้นไม่ได้ถ้ามีแค่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น และไม่แน่ว่าถ้าถอยออกมาสักก้าวหนึ่งแล้วมองภาพใหญ่ว่าปัญหานี้เกิดจากอะไร มีใครทำอะไรอยู่บ้าง เราอาจจะเห็นหนทางใหม่ๆ ที่คนตัวเล็กอย่างเราก็สามารถทำได้เช่นเดียวกัน