จริงอยู่ว่าในความสัมพันธ์ – ความรักเป็นเรื่องของความกลมเกลียว เรารักคนคนนี้แหละ แต่บางที ลึกๆ แล้ว ในความสัมพันธ์ ต่างฝ่ายต่างก็แอบ ‘แข่งขัน’ กันอยู่ในที
หลายครั้งเราเล่นเกมเล่นกีฬากับคนรักอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อพิสูจน์ว่าใครฝีมือดีกว่ากัน ในความสัมพันธ์ที่โตขึ้นมาหน่อย คู่รักหลายคู่ก็แอบเปรียบเทียบตัวเองกับคนรักในมิติต่างๆ หน้าที่การงาน รายได้ โบนัส ความสำเร็จ และหน้าตาทางสังคม พอถึงจุดที่กลายเป็นครอบครัวเดียวกัน พ่อแม่หลายคู่ก็แอบแข่งขันกันว่าใครจะเลี้ยงลูกได้ดีกว่ากัน ลูกจะรักใครมากกว่า
มนุษย์เรามีการแข่งขันเป็นองค์ประกอบหนึ่งในการเอาตัวรอด (survival) ลึกๆ เราต่างมีจิตวิญญาณนักแข่ง ขนาดในความรักที่เราถือว่าเราแข่งชนะคู่แข่งอื่นๆ จนได้ครองรักกันแล้ว บางทีเราก็ไม่วายที่จะแอบแข่งขันกันต่อ การแข่งขันหรือเปรียบเทียบกันเองกับคนที่เรารักอาจจะมีสาเหตุหลายแบบ ส่วนหนึ่งคือเราเองก็อยากจะบอกว่า เราเองก็ไม่ได้น้อยหน้าคนรักเรานะ เราเองก็เหมาะกับเธอนะ แต่บางครั้งก็เป็นการแข่งเพื่อเอาชนะ ซึ่งอย่างหลังอาจจะนำไปสู่ปัญหาในความสัมพันธ์ก็ได้
การแข่งขันเป็นเรื่องธรรมดา แต่อยู่ที่การมองว่าโลกนี้คือการแข่งแบบไหน
การแข่งขันมันอยู่ในสายเลือด แต่วิธีมองการแข่งขันถือเป็นสิ่งสำคัญ การแข่งที่มักนำไปสู่การหักหาญและทำลายความสัมพันธ์มักเกิดจากการมองโลกนี้ว่าเป็นเกมแบบ zero sum game เป็นเกมที่มีคนชนะได้แค่คนเดียว ในเกมแบบนี้ปลายทางจึงต้องมีคนแพ้และคนชนะ ซึ่งในความสัมพันธ์และโลกแห่งความจริง ชีวิตคือการเล่นเป็นทีม ในชีวิตจริงก็ไม่ได้มีผู้แพ้และผู้ชนะที่ชัดแจ้งและตายตัวไปตลอด
คนเราก็อยากพัฒนาตัวเอง อยากจะเก่งขึ้น และก็น่าจะไม่ใช่เรื่องแปลกที่เราจะเอาคนใกล้ตัวเป็นเสมือนหลักไมล์ที่ใช้เปรียบเทียบความก้าวหน้าของตัวเอง คนรักเราไปถึงไหนแล้วนะ แล้วเราล่ะ เหมาะควรกับอีกฝ่ายหนึ่งแค่ไหน ในความปรารถนาที่จะเก่งขึ้น พอถึงจุดหนึ่งพูดอย่างเลี่ยนๆ ก็คงเป็นด้วยความรักนี่แหละ ที่จะทำให้เรายอม ยอมให้อีกฝ่ายเป็นคนชนะไป หรือทำให้การแข่งไม่มีการแพ้หรือชนะ เพราะสุดท้ายไม่ว่าใครจะชนะหรือแพ้ ก็อาจจะไม่ได้สลักสำคัญอะไร
ความรักเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความเข้มข้นซับซ้อน เราทั้งรัก ทั้งรู้สึกเขม่นกันบ้าง อยากจะเอาชนะ หรือบางครั้งก็ทำให้อีกฝ่ายหนึ่งเจ็บปวด ในความรักหลายรูปแบบเช่นความรักระหว่างพี่น้องก็มักจะมีนัยของการแข่งขันเอาชนะกันอยู่ในที
ปัญหาของการแข่งขันในความสัมพันธ์
โดยรวมแล้ว การแข่งขันมักนำไปสู่ปัญหาในมิติของความสัมพันธ์ เพราะการแข่งขัน – โดยเฉพาะการเอาชนะ – มักเป็นเรื่องความงอกงามของอัตตา มากกว่าจะเป็นการลดทอนอัตตา คนที่ชอบแข่งขันมักเป็นคนที่มีอัตตาสูง กลายเป็นว่าใช้คนที่รักเป็นเพียงกระจกที่ตัวเองอยากเอาชนะเพื่อสะท้อนความเก่งกาจและสถานะที่สูงส่งกว่า (ในทางกลับกัน ก็อาจจะเป็นปัญหาที่มีอัตตาต่ำเกินไป คือรู้สึกด้อยกว่าอีกฝ่ายจึงต้องวิ่งตามเพื่อบอกว่าเราอยู่ในสถานะที่ใกล้กันนะ)
ในระยะยาว ความสัมพันธ์ที่มีการเอาชนะกันมักนำไปสู่จุดสะดุดและนำมาซึ่งปัญหา ผู้เชี่ยวชาญทางความสัมพันธ์มักแนะนำให้จัดการกับการแข่งขันที่นำไปสู่การทำลายความสัมพันธ์ หลักๆ แล้วก็อาจจะเกิดจากความอิจฉาในเรื่องต่างๆ ความรู้สึกไม่มั่นคงในหน้าที่การงานหรือสถานะทางสังคม
มีงานศึกษาในปี 2017 พบว่าในสังคมที่มีการแข่งขันกันสูง – และแน่ล่ะว่าการแข่งขันนั้นกินเข้ามาในพื้นที่ของความสัมพันธ์ – จะทำให้ความรักนั้นมีสีสันมากขึ้น สุดท้าย เรื่องความสัมพันธ์จึงกลับมาที่ประเด็นคลาสสิก…คือการบริหารอัตตา
เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะแข่งขันเพื่อทำนุบำรุงอัตตาของเราด้วยการเอาชนะ แต่ในที่สุดแล้ว ด้วยความรักและคนที่เรารักนี่แหละที่จะทำให้เราลดทอนอัตตาและยอมให้ความสัมพันธ์ไปต่อ มากกว่าจะรักษาแค่ความรู้สึกของการเป็นผู้ชนะเอาไว้
อ้างอิงข้อมูลจาก