ตั้งแต่การปิดกั้นไม่ให้นักศึกษาใช้พื้นที่ของมหาวิทยาลัยในการจัดชุมนุม ไปจนถึงกรณีที่นักศึกษาโดนจับตำรวจจับ เพราะไปแสดงออกทางการเมือง ภายในรั้วมหาวิทยาลัย พร้อมด้วยข่าวว่าคนที่แจ้งจับคือคณะผู้บริหารของมหาวิทยาลัย
เราเห็นอะไรบ้างจากเหตุการณ์เหล่านี้?
ในวันที่เหล่านิสิต นักศึกษา ลุกขึ้นมาตั้งคำถามกับสิ่งที่เคยเป็น ‘เรื่องปกติ’ ในสังคม แต่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยกลับสกัดกั้นพวกเขา หรือยิ่งไปกว่านั้น บางครั้ง ผู้มีอำนาจในมหาวิทยาลัยก็กระโดดเข้าไปเป็นหนึ่งในตัวละครที่คุกคามสิทธิ เสรีภาพขั้นพื้นฐานของพวกเขาไปด้วย
ทำไมผู้มีอำนาจสูงสุดของมหาวิทยาลัย หรือก็คือ อธิการบดี จำนวนมากในประเทศไทย ถึงดูจะยืนอยู่ขั้วตรงข้ามกับนิสิต นักศึกษาพวกเขาอยู่เสมอ และอันที่จริงแล้ว บทบาทของอธิการบดีในภาวะเช่นนี้ ควรเป็นอย่างไรกันแน่ เราขอชวนทุกคนมาร่วมขบคิดไปด้วยกัน
ความคาดหวังของนิสิต นักศึกษา
จากกรณีปิดประตูมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากกลุ่มนักศึกษาประกาศจะจัดชุมนุม ซึ่งเรียกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า มหาวิทยาลัยจงใจปิดกั้นการแสดงออกของนักศึกษา ไปจนถึงกรณีที่นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรถูกจับกุมตัวโดยไม่แสดงหมายเรียกที่ห้องพักของตน สืบเนื่องจากที่นักศึกษาปาสีใส่ป้ายเฉลิมพระเกียรติ โดยที่มีกระแสข่าวว่าอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเป็นผู้แจ้งความด้วยตัวเอง แม้ภายหลังมหาวิทยาลัยจะออกแถลงการณ์ว่า ตอนแรกไม่ทราบว่าเป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัย รวมถึงอธิการบดีที่ออกมาปฏิเสธว่าเป็นผู้แจ้งความเองด้วย
ไม่ใช่แค่สองกรณีนี้เท่านั้น แต่ยังมีอีกหลายครั้งหลายครา เมื่อนิสิต-นักศึกษาหลากหลายสถาบันจัดกิจกรรมชุมนุมในรั้วมหาวิทยาลัย เพื่อต่อต้านเผด็จการและเรียกร้องให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งยังมีการปราศรัยที่ทะลุเพดานสูงขึ้นไป จนกลายเป็นประเด็นร้อนที่ทำให้เกิดกระแสถกเถียงถึงการเปิดพื้นที่มหาวิทยาลัยให้นักศึกษาใช้
แน่นอนว่า มหาวิทยาลัยต้องเป็นพื้นที่ให้นิสิต-นักศึกษาได้แสดงออกทางการเมืองกันอยู่แล้ว แต่ก็เป็นที่รู้กันดีว่า ผู้ที่มีอำนาจในการบริหารจัดการ รวมถึงออกคำสั่งต่างๆ ในรั้วมหาวิทยาลัย แล้วบทบาทที่ดีอธิการควรมีบทบาทอย่างไร ในช่วงที่มีความขัดแย้งเช่นนี้
“เราคิดว่าอธิการบดีควรมีท่าทีที่ชัดเจนว่าจะปฏิบัติต่อนักศึกษาอย่างไร หากสนับสนุนกิจกรรม การเรียน ความปลอดภัย หรือด้านต่างๆ ที่นักศึกษามีส่วนเกี่ยวข้อง ก็ควรดำเนินการอย่างเที่ยงตรง มีแนวทางที่ชัดเจน หรือหากจะคัดค้านควรออกมาแถลงชี้แจงให้ชัดเจน ไม่ใช่รอให้นักศึกษารอดูและเดาท่าทีของมหาวิทยาลัยไปเอง”
บัณฑิตจบใหม่จากคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งกล่าวถึงความคาดหวังที่มีต่อบทบาทของอธิการบดี โดยเธอบอกอีกว่า ท่าทีที่ไม่ชัดของอธิการบดี จะทำให้เกิดความลำบากทั้งต่อมหาวิทยาลัย และนักศึกษา เพราะทุกคนจะสับสนว่าต้องพึ่งพาใคร และต้องวางท่าทีอย่างไร
อย่างไรก็ตาม เธอยืนยันว่า อธิการบดีควรสนับสนุนเสรีภาพและการแสดงออกของนักศึกษามากกว่านี้ เพราะสิทธิเสรีภาพ เป็นแก่นสำคัญอย่างยิ่ง
แม้จะบอกว่า การรับฟังและเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงความคิดเห็น เป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจในรั้วสถานศึกษาต้องยึดถือ แต่นักศึกษาหลายคนก็มองว่า การรับฟังนี้ไม่จำเป็นยึดติดกับกรอบค่านิยมบุญคุณเหมือนในอดีต เพราะพวกเขามองว่ามหาวิทยาลัยก็เป็นธุรกิจอีกประเภทหนึ่งเช่นกัน
นักศึกษาชั้นปี 4 จากสถาบันแห่งหนึ่ง กล่าวว่า บทบาทของอธิการบดีคิดว่าก็คงไม่ต่างกับผู้นำในสถานที่ต่างๆ ซึ่งต้องคอยรับฟัง จัดการ สนับสนุนและฟังเสียงของนักศึกษา เป็นการทำงานให้คุ้มกับ ‘ค่าเทอม’ ที่นักศึกษาจ่ายไป
ขณะเดียวกัน บัณฑิตจากคณะทางด้านศิลปะของมหาวิทยาลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง ก็กล่าวถึงค่านิยมดั้งเดิมที่มองว่า ครูหรืออาจารย์ เป็นผู้มีบุญคุณกับเหล่านักเรียน นักศึกษา โดยเธอมองว่า กรอบความคิดเช่นนี้ ไม่สอดรับกับความเชื่อของคนรุ่นใหม่แล้ว
“ส่วนตัวแล้วคิดว่า อธิการบดีไม่ว่าของมหาวิทยาลัยไหน ต้องเลิกทำตัวเป็นข้าราชการบนหอคอยงาช้าง เลิกคิดว่าการเป็นครูบาอาจารย์คือผู้เสียสละ หรือเป็นเรือจ้างได้แล้ว แนวคิดนี้มันล้าหลังไปมากแล้ว”
อธิการบดีต้องวางตัวเป็นกลาง?
“ผมถือเป็นนักศึกษามหาลัย ที่มีการแจ้งจับนักศึกษาของตัวเอง” คำกล่าวจากณวรรษ เลี้ยงวัฒนา บัณฑิตมหาวิทยาลัยศิลปากร ที่ขึ้นปราศรัยบนเวทีชุมนุมหน้าสำนักงานใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา
เขากล่าวถึงกรณีที่ นักศึกษาคณะจิตรกรรมของมหาวิทยาลัยศิลปากร ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวโดยไม่แสดงหมายเรียก พร้อมกับกระแสข่าวที่ระบุว่า อธิการบดีเป็นคนแจ้งจับเอง โดยณวรรษระบุว่า การทำเช่นนี้จะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของมหาวิทยาลัย ทั้งยังสร้างผลทางลบให้กับมหาวิทยาลัยโดยตรงอีกด้วย
“ผมขอให้อาจารย์ทุกคน ทั้งในมหาวิทยาลัย และโรงเรียน ลุกขึ้นมาต่อสู้กับเรา ต่อจากนี้ ต้องไม่มีใครได้รับผลกระทบจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย หรือดำเนินคดีกับใครที่ออกมาพูดความจริง”
ข้อเรียกร้องเช่นนี้ สอดรับกับเสียงของนิสิต นักศึกษาหลายคน ที่ไม่ต้องการให้อธิการบดีหรือผู้ที่มีอำนาจในมหาวิทยาลัยนิ่งเฉยต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยตั้งคำถามไปถึงคำกล่าวว่า ‘ต้องเป็นกลางทางการเมือง’ ซึ่งไม่อาจทำได้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน
“การปฏิบัติของกลุ่มผู้บริหาร ทำให้นักศึกษามองเห็นได้ชัดถึงจุดยืนในการบริหารที่ไม่ได้ยึดโยงกับนักศึกษา”
นักศึกษาชั้นปีที่ 3 จากคณะวิจิตรศิลป์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งกล่าวว่า การยึดถือนโยบายว่านักศึกษาคือลูกค้า จะทำให้คณะผู้บริหารมองข้ามบางสิ่งบางอย่างที่เหล่านักศึกษามี เช่น ความหลากหลายในการศึกษา ความเป็นตัวตนเองของนักศึกษา รวมไปถึงทัศนคติทางการเมืองของนักศึกษาไปด้วยเช่นกัน
เขายังกล่าวด้วยว่า การที่ผู้บริหารไม่สนับสนุนการชุมนุมของนักศึกษา ด้วยเหตุผลว่า มหาวิทยาลัยต้องเป็นกลางทางการเมือง เป็นมุมมองที่ตรงข้ามกับกลุ่มนักศึกษาที่แย้งว่า มหาวิทยาลัยต้องเคียงข้างประชาชน ซึ่งจุดยืนที่แตกต่างในสถานการณ์การเมืองปัจจุบันนี้ เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า คณะผู้บริหารได้เลือกข้างแล้ว
“ช่วงที่มีกระแสการเคลื่อนไหวในปัจจุบัน นอกจากจะไม่ได้รับการสนับสนุน ยังมีการวางมาตรการต่างๆ ที่เห็นได้ว่า เป็นการแสดงออกผ่านมาตรการในการขัดขวางการชุมนุมของนักศึกษา เช่น การไม่อนุญาติให้ใช้พื้นที่ เป็นต้น”
นักศึกษาคนนี้ยังบอกด้วยว่า กลุ่มนักศึกษารู้กันถึงจุดยืนทางการเมืองของคณะผู้บริหาร และรับรู้ว่าเหล่าผู้บริหารนั้นเก่งในการใช้โวหารในการสร้างความชอบธรรม ในการดำรงตำแหน่งอยู่เพื่อรักษาอำนาจการควบคุมมหาวิทยาลัย เรามองเห็นว่าคณะผู้บริหารเป็นส่วนหนึ่งของโครงข่ายอำนาจผ่านการกระทำที่เหล่าผู้บริหารตอบสนองมากับเหตุการณ์ปัจจุบัน และเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาในโครงสร้างอุดมศึกษา
บทบาทของอธิการบดีที่ควรเป็น
อาจจะต้องย้อนไปมองถึงที่มาที่ไปของการดำรงตำแหน่งอธิการบดีกันเสียก่อน ซึ่งอธิการบดีของมหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และนักศึกษาก็ไม่ได้มีส่วนในการเลือกอธิการบดีของมหาวิทยาลัยด้วยเช่นกัน
รศ.ดร.ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้ว่า ที่มาของอธิการบดีนั้น ไม่ได้มาจากการเลือกของนักศึกษา นั่นจึงเป็นคำตอบว่าทำไมผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยไม่ยืนเคียงข้างนักศึกษา
อ.ปิ่นแก้ว กล่าวว่า ประเด็นแรกที่ต้องตั้งคำถามถึงบทบาทของอธิการบดีคือ ตำแหน่งนี้มีหน้าที่ในการรับผิดชอบต่อใคร? ในทางหลักการแล้ว ก็มีหน้าที่รับผิดชอบต่อประชาคมของมหาวิทยาลัย แต่ก็ทราบกันดีที่ว่าระบบการคัดสรรมาจากพิรามิดยอดสูงสุด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบรรดาชนชั้นนำของมหาวิทยาลัย
ประเด็นต่อมาก็คือ หลังจากการรัฐประหารเมื่อปี พ.ศ.2557 อธิการบดีมหาวิทยาลัยต่างๆ ถูกเชิญเข้าไปเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งถือเป็นการสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ดังนั้น ถ้าถามถึงการวางตัวเป็นทางการเมืองนั้น เมื่อได้ดำรงตำแหน่ง สนช.แล้ว อธิการบดีเหล่านี้ก็สูญเสียภาวะความเป็นกลางทางการเมืองไปด้วยเช่นกัน
“ในช่วงที่ประหารและหลังรัฐประหาร เราจะไม่เห็นการทำหน้าที่ของสถาบันองค์กรต่างๆ ที่ควรจะมีตำแหน่งแห่งที่ที่ให้แสงสว่างทางปัญญากับสังคม เนื่องจากผู้บริหารสูงสุดมีความเหลื่อมซ้อนด้านผลประโยชน์ทางการเมืองเสียแล้ว ดังนั้น จะไปคาดหวังการทำหน้าที่เป็นกลางนี้ก็ยาก”
อ.ปิ่นแก้ว กล่าวต่ออีกว่า ในภาวะที่การเมืองผันผวนนี้ นิสิต-นักศึกษาทั้งหลายต้องเผชิญอุปสรรคหลายอย่าง เช่น นักศึกษาขออนุญาตมหาวิทยาลัยเพื่อใช้จัดกิจกรรมการเมือง ก็ถูกผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยขัดขวาง
คำถามที่ตามมาก็คือ แล้วผู้บริหารสูงสุดรับผิดชอบต่อใคร?
ต้องรับผิดชอบต่อรัฐบาลหรือรับผิดชอบต่อประชาคมมหาวิทยาลัยที่มีทั้งอาจารย์และนักศึกษา ซึ่งเมื่อความรับผิดชอบของผู้บริหารไม่ได้ขึ้นกับประชาคมมหาวิทยาลัย อ.ปิ่นแก้วจึงมองว่า นี่เป็นสาเหตุให้ผู้บริหารถูกตั้งคำถามในเชิงวิพากษ์วิจารณ์เช่นนี้มาโดยตลอด
หากโยงกลับไปตอนต้นที่ว่าผู้บริหารไม่ได้ถูกเลือกมาจากคนในมหาลัย ดังนั้น เราจึงไม่มีอำนาจในการต่อรองกับผู้บริหาร ไม่มีอำนาจในการเรียกร้องให้ผู้บริหารมีความรับผิดชอบต่อประชาชนและประชาคม กลายเป็นแบบจำลองของชุมชนการศึกษาที่สะท้อนภาพชุมชนใหญ่ว่าระบบความสัมพันธ์ทางอำนาจในมหาวิทยาลัยเอง ก็ยังไม่มีความเป็นประชาธิปไตยเลย
“บรรดานักศึกษาอยู่ปลายสุด ฐานรากสุด แล้วมีจำนวนมากที่สุด แต่ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ เลย แม้ว่าจ่ายค่าเทอมแพงแสนแพง แต่กระทั่งการจัดกิจกรรมต่างๆ ที่ไม่ได้ขัดต่อหลักการประชาธิปไตยก็จัดไม่ได้ เรื่องนี้จึงสะท้อนอำนาจของสังคมที่ไม่เป็นประชาธิปไตยของประชาคมอุดมศึกษา ซึ่งมีภาวะที่แย่ลงในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยสะท้อนภาพใหญ่ในสังคมไทยที่ผู้มีอำนาจมีเพียงหยิบมือเดียวและกระจุกตัวอยู่บนรอบพีรามิดสามารถที่จะใช้อำนาจของตนเองในการบังคับผู้อื่น โดยไม่ได้สนใจว่าการเป็นผู้นำหรือผู้บริหารที่สำคัญคือการมีความรับผิดชอบต่อประชาชน”
อ.ปิ่นแก้วยังย้ำด้วยว่า อธิการบดีไม่จำเป็นต้องเห็นคล้อยกับนิสิต นักศึกษา แต่มหาวิทยาลัยควรจะเป็นพื้นที่ที่มีเสรีภาพในการคิด เพราะเป็นสถาบันที่สร้างปัญญา และปัญญาจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากไม่เปิดให้มีการถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน
“ดังนั้น สิ่งที่ผู้บริหารสูงสุดของมหาวิทยาลัยควรทำซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานมากเลย คือไม่ต้องลงมาแสดงความคิดเห็นอะไร เพียงแค่เปิดให้มีการใช้พื้นที่อย่างอิสระ แค่มีพื้นที่ในการแสดงออกและถกเถียงแบบวิญญูชน”
“แต่ในการจัดกิจกรรมที่ผ่านมาของนักศึกษามักถูกขัดขวางมาโดยตลอด จนนักศึกษาต้องแอบจัด หรือหาที่หาทางอื่นๆ จัดกันเอง ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องเลย รัฐบาลอาจจะสั่งห้ามมา แต่สิ่งที่มหาวิทยาลัยควรจะมีคือ หลักการ หลักการที่จะไม่ถูกกดโดยอำนาจไม่ว่าอำนาจจะมาจากที่ไหน เพราะว่าต่อให้เปลี่ยนรัฐบาล ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นผู้นำ
แต่สิ่งที่ต้องดำรงอยู่คือ แสงสว่างทางปัญญาให้กับสังคม ถ้าผู้บริหารสูงสุดไม่เข้าใจหลักการนี้ ก็ไม่แปลกใจที่มีการจัดการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยทีไร ก็มีการก่นด่าหรือวิพากษ์วิจารณ์อธิการบดีอยู่เสมอ”