‘หิมาลัย’ ยอดเขาที่ใครหลายคนอยากลองไปพิชิต บางคนก็บอกว่าเป็นยอดเขาที่มีผลต่อความคิดและชีวิตตัวเองหลังจากได้เดินทางไปที่นั่น แต่สำหรับ ‘นิ้วกลม’ เขาเลือกจะเล่าเรื่องการเดินทางครั้งนั้นในหนังสือเล่มใหม่ ด้วยชื่อว่า ‘หิมาลัยไม่มีจริง’
The MATTER เลยชวน ‘นิ้วกลม’ หรือ ‘เอ๋-สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์’ พูดคุยเกี่ยวกับการเดินทางครั้งนั้น และการก้าวผ่านยอดเขาครั้งสำคัญๆ ในชีวิต ทำไมถึงบอกว่า ‘หิมาลัยไม่มีจริง’? หิมาลัยเปลี่ยนคนได้จริงไหม? แล้ว ‘นิ้วกลม’ เปลี่ยนไปบ้างหรือเปล่า?
The MATTER : ‘หิมาลัยไม่มีจริง’ ต่างจากหนังสือเกี่ยวกับการเดินทางเล่มอื่นที่เคยเขียนมายังไง
นิ้วกลม : แกนของมันก็คือการเดินทาง แต่เล่มนี้อาจเรียกได้ว่าเป็นเล่มรวมฮิตทั้งชีวิตเรา เป็นบันทึกของการตกผลึกอะไรบางอย่างจากสิ่งที่เราเคยอ่าน ประสบการณ์ที่เราเคยเจอ ขมวดเข้าด้วยกัน ถ้าพูดเว่อร์ๆ ก็เหมือนหนังสือเล่มนี้มันพยายามทำความเข้าใจความจริงในแบบที่เราเข้าใจ ความจริงของโลกใบนี้ ของจักรวาลนี้ ของชีวิตนี้
ที่เขียนเรื่องนี้ เพราะเป็นทริปที่ไปเดินทางแล้วเห็นว่า อ๋อ แบบนี้เองหรือ ความจริง ซึ่งที่จริงก็คือธรรมชาตินั่นแหละ เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในธรรมชาติ เป็นสิบกว่าวันที่หลุดไปจากโลกเลย อาจเพราะเราขึ้นไปสูง ไปไกล ยิ่งเดินลึกขึ้นไปเรื่อยๆ สูงขึ้นไปเรื่อยๆ มันก็มีมนุษย์น้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งการมีมนุษย์น้อยลง มันมีผลมากต่อความรู้สึก ทำให้เราเหมือนเราเอาตัวเองออกไปจากโลกที่มันเป็นโลกมนุษย์
ถ้าอยู่ในเมือง เราจะรู้สึกว่าโลกใบนี้เป็นโลกมนุษย์ เรามักจะเรียกมันแบบนั้น แต่ตรงนั้นมันเป็นโลกอีกใบนึง มีธรรมชาติ มีต้นไม้ มีเมฆ หมอก หิน ภูเขา ต้นหญ้า ที่มีชีวิตของมัน แล้วมันก็ทำให้รู้สึกว่า ที่เราเคยอ่านว่าเราเป็นแค่ส่วนหนึ่งของจักรวาล เป็นแค่ส่วนหนึ่งของโลกใบนี้ มันคือการทำความเข้าใจผ่านความคิด ถ้าทางธรรมก็คือระดับจินตามยปัญญา แต่พอเอาตัวเองไปอยู่ตรงนั้น มันเกิดภาวนามยปัญญา เกิดความเข้าใจจากการปฏิบัติ แทบจะเป็นครั้งแรกในชีวิตที่รู้สึกว่า อ๋อ คำว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่มันใหญ่กว่า สิ่งที่เรียกว่าธรรมชาติ หรือสิ่งที่เรียกว่าความจริง มันเป็นอย่างนี้นี่เอง
The MATTER : ทำไมถึงตั้งชื่อหนังสือว่า ‘หิมาลัยไม่มีจริง’
นิ้วกลม : ถ้าเดินอยู่ตรงนั้นจริงๆ ก็จะรู้สึกอย่างนั้น เพราะว่าเราเดินอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ตื่นเช้ามาฟ้าค่อยๆ สว่าง แสงอาทิตย์กระทบยอดเขา หิมะบนภูเขาก็จะละลาย เราก็จะเห็นว่ามันมีไอหมอกขึ้นมาบนยอดเขาทุกเช้า อีกสักพัก ไอหมอกพวกนี้ก็จะกลายเป็นเมฆ บางวันก็จะครึ้มเลย บางวันก็ฝนตก บางวันก็หิมะตก แล้วเราจะเห็นว่าตามโตรกผาหรือตามซอกร่องของภูเขา มันมีธารน้ำแข็งหรือหิมะสีขาวไหลลงไปด้านล่าง พอเดินผ่านไปถึงจุดที่มันมองใกล้ได้ ก็จะเห็นว่าหิมะนั้นละลายกลายเป็นน้ไหลไปลงแม่น้ำ ซึ่งก็จะไหลไปสู่ทะเล แล้วไอน้ำจากทะเลมันก็จะกลายเป็นเมฆขึ้นมา
การที่เราไปอยู่ตรงนั้นจริงๆ มันทำให้รู้สึกว่า ถ้าเราหยุดเวลาไว้ เราจะเรียกชื่อของแต่ละสิ่งได้ อันนี้ภูเขา อันนี้หิมะ อันนี้เมฆ แต่ถ้าไม่หยุดเวลา แล้วอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงนั้นตลอดเวลาจะพบว่าเราเรียกมันไม่ได้ กระทั่งเมฆ เราก็เรียกชื่อมันว่าเมฆไม่ได้ เพราะอีกพักนึงมันก็กลายเป็นฝนแล้ว หิมาลัยก็เหมือนกัน หิมาลัยก็อยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง
ตัวหิมาลัยเองก็เปลี่ยนแปลง หิมาลัยตอนเช้ากับหิมาลัยตอนบ่ายก็เป็นคนละหิมาลัย พื้นที่ตรงที่เป็นหิมาลัย ก็เคยเป็นทะเลมาก่อน พอแผ่นดินสองแผ่นทวีปเคลื่อนมาชนกันก็ค่อยกลายเป็นหิมาลัย แล้วทุกวันนี้ หิมาลัยก็กร่อนลงไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น จากเคยไม่มีก็มี จากมีก็อาจจะกลับกลายเป็นไม่มีอีกก็ได้
‘หิมาลัยไม่มีจริง’ มันเป็นแค่สิ่งหนึ่งที่เราหยิบขึ้นมาเป็นตัวแทน แต่ที่จริงหนังสือเล่มนี้พูดถึงเรื่องที่ว่าจริงๆ แล้ว ทุกอย่างมันไม่มีจริง เป็นเพียงปรากฏการณ์ซึ่งเกิดขึ้นจากสารพัดสิ่ง
The MATTER : หิมาลัยเปลี่ยนคนได้จริงไหม
นิ้วกลม : สำหรับเรา เราเปลี่ยนแหละ แต่ก็ไม่ได้คิดว่ามันจะทำให้ทุกคนรู้สึกว่าตัวเองเปลี่ยนไป จริงๆ มันขึ้นอยู่กับหลายอย่างมาก สถานที่เป็นอย่างหนึ่ง ตัวคนที่ไปเดินทางก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เราเชื่อว่าบางคนไปดูพิพิธภัณฑ์บางแห่ง บางคนอาจจะไปดูค่ายกักกันเอาช์วิตซ์ แล้วก็เปลี่ยนแปลงไปตลอดกาลได้ อยู่ที่ว่าภาวะภายในของคนๆ นั้นกับสถานที่มันแมตช์กันพอดีหรือเปล่า เราไม่ได้คิดว่าสถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้คนเปลี่ยนแปลง สำหรับเรา มันอาจเป็นช่วงเวลาและช่วงวัยที่มันพอดีกับทางเส้นนี้ เราก็รู้สึกว่ามันก็เปลี่ยนเรา
ไม่ใช่แค่ธรรมชาติ ทางที่ไปหิมาลัยแต่ละเส้นมีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน อย่างคนไปเดิน ABC ก็อาจจะได้เจอกับอะไรที่ค่อนไปทางฮินดูหน่อย แต่ถ้าเป็นเส้น EBC จะไปทางพุทธวัชรยาน เพราะว่าชาวบ้านที่อยู่บนทางเส้นนี้คือชาวเชอร์ปา (Sherpa) เป็นคนที่อพยพมาจากทิเบต เพราะฉะนั้น ระหว่างที่เราเดินขึ้นไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็นวัดเล็กๆ อารามใหญ่ แล้วก็สิ่งมงคลเรียงรายไปตลอดทาง ระหว่างที่เดินทางไปบนทางเส้นนี้ เลยไม่ใช่แค่สัมผัสถึงธรรมชาติ แต่ผ่านสิ่งศักดิ์สิทธิ์บางอย่าง ซึ่งพอเราอยู่ตรงนั้น มันสัมผัสได้ว่าความศักดิ์สิทธิ์คืออะไร (คืออะไร นิ้วกลมบอกให้ไปอ่านต่อได้ในหนังสือ)
ถ้าเราอยู่ในห้องแอร์ เราอาจจะไม่ต้องการสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เพราะมันเป็นชีวิตที่เราควบคุมได้ ฝนตกก็ไม่เป็นไร แดดจะไม่ออกก็ไม่เป็นไร มันยากมากที่จะมีอะไรที่มาทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัย แต่ถ้าเราเอาตัวเองไปอยู่ในธรรมชาติที่ใหญ่ขนาดนั้น ฝน แดด หิมะ ที่ไม่รู้จะตกลงมาเมื่อไหร่ มนุษย์ไม่กล้าคิดว่าตัวเองใหญ่หรอก เราต้องเคารพอะไรบางอย่าง ซึ่งจริงๆ สิ่งที่เขาเคารพก็คือความจริงน่ะแหละ มันคือสิ่งที่เขาไม่รู้และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สิ่งที่เอาไม่อยู่ ควบคุมบัญชาไม่ได้ ความรู้สึกนี้ เมื่อมันบวกรวมกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ระหว่างทาง เราก็เลยพบว่า มันทำให้เราเปลี่ยนไปพอสมควร
เราอาจจะเคยเป็นคนที่เชื่อมั่นในมนุษย์มากๆ ถ้าเป็นเด็กๆ เราคงเรียกตัวเองว่าเป็นคนมีเหตุมีผล วิทยาศาสตร์ และไม่เชื่อในสิ่งที่เรามองไม่เห็น แต่การเดินทางครั้งนี้มันตอบเรื่องเหล่านี้กับเราว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มองไม่เห็น ที่ไม่ใช่ไสยศาสตร์นั้นมีอยู่ มันคือสิ่งที่เราไม่รู้
เราไม่รู้ว่าแดดจะออกเมื่อไหร่ ไม่รู้ว่าเราเดินไป หินมันจะหล่นมาทับเราหรือเปล่า จริงๆ สิ่งที่เราไม่รู้มันมีมากกว่านี้เยอะเลย วินาทีนี้มีรังสีบางอย่างส่งมาจากดวงอาทิตย์ซึ่งเรามองไม่เห็น แต่มีผลต่อชีวิตเรา มีโมเลกุลต่างๆ นานาขยับเขยื้อนเคลื่อนที่และส่งผลต่อโลกใบนี้ อาจเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่มันอยู่ตรงหน้า แต่เรามองไม่เห็น กับอีกอย่างคือมันอาจจะอยู่คนละทวีป แต่มันกระทบชีวิตเรา ซึ่งถ้าเราตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ เราจะไม่คิดว่าตัวเองยิ่งใหญ่ เราจะคิดว่าชีวิตนี้เป็นแค่ส่วนหนึ่งของสิ่งที่ใหญ่กว่าซึ่งควบคุมไม่ได้ และเมื่อเป็นแบบนั้น เราจะมีความเคารพและศรัทธา เราว่าสิ่งนี้คือความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต มันคือการที่เชื่อว่า คุณไม่ได้เป็นเจ้าของโลกใบนี้ ไม่ได้เป็นเจ้าของจักรวาลนี้ หรือแม้กระทั่งชีวิตคุณ
The MATTER : หลังๆ เห็นว่านิ้วกลมลุกขึ้นมาทำอะไรหลายอย่างที่ไม่ใช่งานเขียน (อย่างทอล์กโชว์หรือรายการดีเบต) เบื่อเหรอ
นิ้วกลม : คิดว่าเป็นนิสัย หนึ่งคือเบื่อง่าย สองคือชอบทดลอง สามคือไม่หยุดเรียนรู้ ต้องเรียนรู้อยู่เรื่อยๆ เพราะฉะนั้นอะไรที่อยากทำเราก็ทำเลย แล้วก็ไม่จำเป็นต้องนิยามตัวเองว่าเป็นอะไร
การลงมือทำมันไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องทำได้ดี และก็ไม่จำเป็นว่าคุณจะต้องเก่งแล้ว คุณถึงจะทำ เราเป็นแบบนี้มาตลอดชีวิต เราทำในสิ่งที่เราไม่เก่งก่อน พอได้ทำ อาจจะค่อยๆ เก่งขึ้นก็ได้ หรือบางอย่าง เราอาจจะเคยคิดว่ามันน่าทำมากเลย แต่พอลงมือทำแล้ว เราก็ได้เรียนรู้ว่าเราไม่เหมาะ หรือว่าเราไม่ได้อยากทำจริง เราก็เลิก
อย่างรายการดีเบต เราก็คิดว่าถ้าทำต่อไปอีกสักพักนึง เราน่าจะทำได้ดีขึ้น แต่ก็บอกตัวเองว่า ไม่น่าจะเหมาะ เราคิดว่าถ้าทุกคนมีความพยายามมากพอ และใช้เวลานานมากพอ ทุกคนน่าจะเป็นได้ทุกอย่าง แต่การเป็นสิ่งนั้นมันตอบสนองข้างในใจมากน้อยแค่ไหน
คล้ายๆ กับตอนที่เราทำดีเบต เราคิดว่าเราพยายามได้ ทำหน้าที่ได้ดีขึ้นได้ ถ้าให้เวลาเราสักปี แต่ภายในใจมันรู้สึกว่า เราเป็นพิธีกรรายการแบบนี้ได้ไม่ดี รู้สึกว่าเราไม่ใช่คนใส่พริกลงไปในการสนทนา เราเป็นคนใส่น้ำเปล่าลงไปให้ความเข้มข้นเผ็ดร้อนมันจางลงมากกว่า มันผิดที่ผิดทางพอสมควร ถ้าจะให้รายการมันเผ็ดร้อน มันคงไม่ใช่บุคลิกของเรา แต่ว่าถ้าให้หัดเติมพริกก็หัดได้
เราว่ามันมีสิ่งที่ทำได้ กับสิ่งที่ทำได้แล้วรักมัน แฮปปี้ที่จะทำมัน แก่ขนาดนี้แล้ว เราก็คิดว่า เราควรจะเลือกสิ่งที่ทำได้แล้วแฮปปี้ที่จะทำ หรือกระทั่งทำไม่ได้ แล้วแฮปปี้ที่จะทำ เพราะว่าความแฮปปี้นั้นจะทำให้เราทำได้ในวันหนึ่ง
The MATTER : แต่ตอนนั้นก็เจอคำวิจารณ์อยู่พอสมควร นิ้วกลมรับมือยังไงกับคำวิจารณ์เหล่านั้น
นิ้วกลม : คนเดินทางมาถึงอายุเกือบ 40 คำพูดของคนอื่นมันมีผลกับชีวิตเราน้อยลงแหละ ส่วนหนึ่งก็เพราะว่า เรารู้ตัวอยู่ว่าเราทำอะไร คือตอนเด็กๆ มันสั่นคลอนง่าย คิดว่าชีวิตเรามันอาจจะขึ้นอยู่กับการยอมรับของคน แต่ว่าพอมันโตขึ้นมา เราคิดว่าเรามีฐานที่มั่นของเราอยู่ คล้ายๆ กับว่าเรามีบ้านอยู่บนเกาะแห่งหนึ่ง แล้วเราก็สามารถออกเรือไปเที่ยวตามแผ่นดินอื่น ถ้าโดนพายุ โดนคลื่นลม ก็กลับมาที่ฝั่งได้ มันมีที่มั่น คิดว่ามันทำให้ความสั่นคลอนของสิ่งต่างๆ น้อยลง
แล้วมันก็ทนทานขึ้น ก็โดนด่ามาเยอะ โดนวิจารณ์ โดนเข้าใจผิด โดนเข้าใจถูก แล้วก็เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ก็ผ่านไป สิ่งสำคัญก็คือว่าเราต้องรู้ตัวเอง แล้วก็ไม่ทำในสิ่งที่เจตนาไม่ดี
เวลาที่เรากระโดดไปทำอะไร ที่จริงต้องการคำวิจารณ์ เพราะนั่นหมายความว่าเขาเห็นเรา คำวิจารณ์คือสิ่งที่มาบอกให้เราพัฒนาปรับปรุง ให้เราทบทวนตัวเอง แต่ต้องทำใจไว้เหมือนกัน บางคำวิจารณ์มันก็ทำให้เราเจ็บปวด แต่เราว่าพอโตแล้วก็ยอมรับความจริงได้มากขึ้น ไม่ปกป้องตัวเอง
ความเจ็บปวดที่สุดของการถูกวิจารณ์ คือการที่เราปกป้องตัวเอง ทั้งๆ ที่เรารู้ว่ามันก็จริง
สมัยที่เราเคยโดนด่าว่าเราโลกสวย ช่วงแรกๆ เราก็ปกป้องตัวเอง เราก็พยายามคิดว่าจะพูดกับตัวเองยังไงให้รู้สึกดี ภาวะปิดกั้นแบบนั้นมันทำให้ตัวเองไม่เรียนรู้อะไรเลย เราแค่ได้ยินคำว่าโลกสวย เราก็ไม่เข้าใจ เราก็คิดว่าคุณเข้าใจเราผิด มันเหมือนเขาจะบอกเราตอนนั้นว่า คุณเป็นคนที่มองเห็นความสุขในเชิงปัจเจกมากๆ ไม่มองความสุขในเชิงระบบหรือโครงสร้างเลย ถ้าเราฟัง เราจะเข้าใจทันทีว่ามันเป็นสิ่งที่เราขาดหายไป และควรศึกษาเพิ่มเติม และทันทีที่เราเปิดตัวเอง เราก็ได้เรียนรู้สิ่งที่มันขาด เราต้องเรียนรู้จากคำวิจารณ์เหล่านี้ว่า เปิดใจรับฟังแก่นของคำวิจารณ์ ไม่ใช่อารมณ์ของคำวิจารณ์
The MATTER : นิ้วกลมโลกสวยจริงไหม
นิ้วกลม : คิดว่าจริง ซึ่งหลังจากนั้นก็โลกหม่นไปพักนึง แล้วตอนนี้คิดว่ากลับมาโลกสวยแล้ว แต่ว่าอาจจะโลกสวยแบบที่เข้าใจมันมากขึ้น
ยอมรับอย่างหนึ่งว่าเราโตมาในสายงานและการเรียนที่มันไปในทางความคิดสร้างสรรค์ เราอาจจะมีความรู้หรือทักษะในเรื่องสังคมศาสตร์ หรือความรู้ในเชิงสังคมน้อย งานเขียนในช่วงแรกๆ มันก็สะท้อนออกมาจากตัวเราในตอนนั้น มองย้อนกลับไป เราก็เข้าใจคำวิจารณ์เหล่านั้น ว่าถ้าคุณเขียนถึงเรื่องความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในเชิงปัจเจกบ่อยๆ ความคิดที่คุณแพร่ออกไปมันมีผลต่อสังคม มันอาจทำให้สมดุลของสังคมมันเสียไป คือมัวแต่ชวนคนไปมองความสุขเล็กๆ ส่วนตัวกันหมด แทนที่จะช่วยกันคิดถึงความสุขระดับสังคมให้มันมากขึ้น หรือมองเห็นความทุกข์ของคนที่เขาไม่ได้มีความสุขแบบเรา ไม่ได้มีโอกาสในชีวิตแบบเรา
พอมองออกไปจากตรงนี้ ก็จะรู้สึกว่า เออ ใช่ คำว่าโลกสวยมันคือแบบนั้น
พอโลกไม่สวยก็เลยเทาไปเลยเหมือนกัน แต่ก็เหมือนภาวะตาสว่าง เห็นปัญหาของสังคม เห็นปัญหาเชิงระบบ เชิงโครงสร้าง พอเราอยากศึกษา ก็อ่าน ก็ถาม ก็คุย ก็จะเห็นปัญหาหลายๆ อย่างที่ซ้อนทับกัน แล้วก็เชื่อมโยงกันอยู่ ก็เลยคิดได้ว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่จำเป็นที่จะต้องแก้ไข ไม่ใช่เราสามารถมีความสุขส่วนตัวอยู่ได้ ในสังคมที่บิดเบื้ยว
พอเห็นแบบนั้น ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ความคิด ผลงาน มันก็เปลี่ยนไป ก็พูดในเชิงสังคมมากขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่า พอไปสนใจเรื่องของปัญหาสังคมมากขึ้น มันก็มีบางช่วงเหมือนกันที่รู้สึกหดหู่
พอเป็นเรื่องสังคม เราก็เป็นเด็กไร้เดียงสามาก เรารู้ว่ามันไม่มีทางเปลี่ยนจากเราคนเดียวอยู่แล้ว เราเป็นแค่ส่วนเสี้ยวเล็กๆ แต่ก็หวังว่ามันน่าจะมีความเปลี่ยนแปลงบ้าง คนในสังคมน่าจะเรียนรู้ผ่านสิ่งผิดพลาด ผ่านความขัดแย้ง ผ่านสิ่งที่มันเสียหายไป แต่การทบทวนมันน้อย แล้วความแตกแยกมันเยอะขึ้นเรื่อยๆ
เรารู้สึกว่าเราก็ปรารถนาดี คิดแบบโง่ๆ อะ ถ้าเราฉลาดเราคงจะไม่คิดแบบนั้น ถ้าเราเข้าใจความจริงของมนุษย์และโลก เราจะไม่คิดแบบนั้น แต่ช่วยไม่ได้ มันไร้เดียงสา เราก็คิดว่าคนที่มันเคยทะเลาะกัน มันน่าจะคุยกันได้ หรือว่าคุณด่ากันมาหลายรอบแล้ว คุณต้องเข้าใจแล้วล่ะว่าคนนี้มันคิดยังไง แล้วก็พูดจากันด้วยเหตุผล หาทางที่จะเรียนรู้จากกัน แต่ก็ดูเหมือนความขัดแย้งไม่ได้เคลื่อนไปสู่จุดที่มันดีขึ้นเลย
พอมาถึงตอนนี้ ก็หายหดหู่ละ ก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้ว ความขัดแย้งมันก็คงดำรงอยู่ไปตลอดกาลแหละ แต่ว่า มันก็จะจัดสมดุลบางอย่างได้ อาจจะหาทางพูดคุยกันได้ด้วยอะไรที่มันดีขึ้น เข้าใจกันแบบที่เกลียดกันอยู่ก็ได้ แต่ว่าพอจะเข้าใจว่าเกลียดกันเพราะอะไร ระหว่างเถียงกันด่ากันมันก็มีการเรียนรู้จากกันและกันอยู่ มันก็มีความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ที่เกิดขึ้นอยู่เหมือนกัน ก็คิดว่าได้ผ่านช่วงหดหู่มาแล้ว ตอนนี้ไม่ถึงขั้นมีความหวัง แต่ก็ไม่ได้รู้สึกหมดหวัง
โดยส่วนตัว เราก็เปลี่ยนภาวะข้างในของเราไปเหมือนกัน ช่วงเวลาที่เราพยายามเรียนรู้ทำความเข้าใจเรื่องสังคมและการเมือง เราอาจจะอ่านหนังสือวิชาการเยอะ ซึ่งจริงๆ มันดีนะ ก็ควรจะอ่านต่อไปเรื่อยๆ แต่เราพบว่า ตอนนั้นเรากลายเป็นมนุษย์เหตุผลมากๆ เลย แล้วอาจจะใช้สิ่งหนึ่งน้อยกว่าแต่ก่อน ก็คือหัวใจและความรู้สึก ใช้ความเป็นมนุษย์สัมผัสกัน ซึ่งสำคัญไม่แพ้เหตุผลนำมาถกเถียงกัน เราสามารถเถียงกันด้วยจิตใจที่มีเมตตาต่ออีกฝ่ายได้
ถูกผิดมันก็ควรจะคุย แต่ว่าคุยยังไง เราว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ในช่วงปีสองปีมานี้ เราพยายามหาวิธีที่จะคุย แบบอยู่ร่วมกันมากขึ้น นอกจากเรื่องตรรกะเหตุผล เรื่องของจิตใจ จิตวิญญาน มันก็ต้องไปด้วยกัน คือคุณต้องคุยกันด้วยหัวสมองกับหัวใจอะ ถึงจะคุยกันได้ เราก็เลยสนใจเรื่องทางจิตใจมากขึ้น
The MATTER : แล้วนิ้วกลมมีโลกหม่นในเชิงปัจเจกบ้างไหม
นิ้วกลม : เรารู้สึกว่ามันไม่มีเส้นแบ่งระหว่างตัวเรากับสังคม โลกกับเรามันเชื่อมกัน ถ้าโลกไม่ดี เราจะไม่ดีด้วย หรือถ้าเราไม่ดี โลกก็อาจจะไม่ดีด้วยเหมือนกัน ช่วงเวลาที่ดาร์กมากสำหรับเรา มันก็คือช่วงเวลาที่รู้สึกหมดหวังกับสังคม รู้สึกในทุกมิติเลย รู้สึกว่าความขัดแย้งในบ้านเมืองกระทบเรารุนแรง และดูเหมือนจะไม่คลี่คลาย
ในความขัดแย้ง มันจะมีผู้ถูกกระทำเกิดขึ้นเสมอ บางครั้งก็เห็นความไม่ยุติธรรมในบ้านเมือง แต่ในบรรยากาศแบบนั้น มันก็ยากมากที่จะแสดงความคิดเห็นอะไรบางอย่าง
ไม่ต้องในฐานะนักเขียน ในฐานะคนๆ หนึ่งของสังคม บางทีมันก็อยากจะพูดอะไรบางอย่าง เมื่อไหร่ที่แสดงความคิดเห็น ไม่ว่าในพื้นที่ส่วนตัวหรือพื้นที่สาธารณะเนี่ย ก็มีโอกาสที่จะปะทะกับใคร บางครั้งที่เจออะไรแรงๆ ก็มึนเหมือนกัน ก็เจ็บเหมือนกัน อันนี้หมายถึงคนใกล้ชิด
แล้วเวลาทะเลาะกับเพื่อน มันก็ไม่สนุก หรือว่าเวลาทะเลาะกับพี่ ทะเลาะกับคนในบ้าน เรารู้สึกว่ามันเป็นคนที่ควรจะคุยกันได้ แล้วการทะเลาะนั้น บางทีมันก็ไม่ได้เกิดขึ้นจากการที่เห็นไม่ตรงกัน มันเกิดจากว่า แกจะไปยุ่งกับเขาทำไม แกไปเขียนเรื่องแบบนั้นทำไม ซึ่งสำหรับคนเขียนหนังสือ เราว่ามันอึดอัด เรารู้สึกว่า มันสับสนด้วย เรารู้สึกว่าการเขียนของเรา ตกลงมีประโยชน์หรือว่ามีโทษกันแน่
เราเชื่อในความหลากหลายของความคิด เราเชื่อว่าการที่เราโยนความคิดอะไรลงไป มันเพิ่มพื้นที่ให้กับทางเลือกของการที่คนเราจะคิด ได้เห็นความคิดที่แตกต่างหลากหลาย ไม่ได้ผิดไม่ได้ถูก แต่ถ้าเราทำแบบนั้น แล้วทำให้เราผิดใจกับที่บ้าน ตกลงมันยังไงกันแน่ เราเลยรู้สึกว่า เสรีภาพทางความคิดนี่มันมีมิติของเสรีภาพทางวัฒนธรรมด้วย
มันมีวัฒนธรรมบางอย่างที่ครอบเราอยู่ มันอาจจะเป็นวัฒนธรรมทางความคิดที่ไม่เปิดกว้าง ที่บอกว่าถ้าคุณเขียนเรื่องนี้ ถ้าคุณแหย่เท้าเข้าไปในพื้นที่อะไรบางอย่าง คุณมีโอกาสที่จะทะเลาะกับคน เช่น การเมือง อาจจะเพราะว่าเรายังมีความอดทนอดกลั้นกันต่ำมากในสังคม และยังยอมรับการแสดงความคิดเห็นที่หลากหลายไม่ได้ ถ้าเขาเห็นว่าเราคิดอีกแบบ เขาจะเกลียดเราไปเลย ในภาวะแบบนั้นแหละ ก็เลยรู้สึกว่า แล้วเราจะอยู่ไปทำไมวะ ถ้าไม่ได้แสดงความคิดเห็นของตัวเอง หรือได้แลกเปลี่ยนความคิดกันให้งอกงาม คือมันมีความกลัวต่อกันและกันแผ่คลุมสังคมอยู่
พอมาคิดถึงตัวเอง ช่วงเวลาที่เรากระตือรือร้นมากคือช่วงเวลาที่เราสร้างบ้าน คิดว่าพอบ้านเสร็จแล้วคงอยู่อย่างมีความสุข แต่พอเสร็จแล้วมันก็เสร็จ แล้วไงต่อ? ถ้าคุณพอใจกับชีวิตตัวเองในระดับนึงแล้ว แต่คุณกลับรู้สึกว่า คุณไม่ได้มีฟังก์ชั่นอะไรกับสังคม คุณก็จะรู้สึกว่า แล้วไงต่อ? ในชีวิตช่วงนั้นมันถามตัวเองตลอดเลย ถ้ามีชีวิตอยู่แล้วมันก็ไม่มีความหมายอะไร ก็ไม่อยู่ก็ได้
The MATTER : ทุกวันนี้ตอบได้หรือยังว่า ‘แล้วไงต่อ?’
นิ้วกลม : ก็ตอบได้แล้ว ก็ผ่านชีวิตช่วงนั้นมา คิดว่าช่วงนั้นเป็นช่วงคิดมาก เป็นช่วงที่คิดวนเวียน ก็เลยต้องพาตัวเองออกจากความคิด เพราะบางทีความคิดมันก็ทำให้เราทรมาน มัวแต่คิดวน แล้วก็นำมาซึ่งอัตตา คิดถึงแต่ตัวเอง คิดแต่ว่าจะทำอะไรดี รู้สึกว่าการคิดว่าตัวเองจะทำอะไรให้มีประโยชน์ บางทีก็โคตรอัตตาเลย รู้สึกว่าจริงๆ ไม่ได้คิดถึงคนอื่นหรอก แค่คิดว่าอยากรู้สึกดีกับตัวเองที่ได้ทำอะไรดีๆ ซึ่งก็ต้องระวัง กว่าที่จะเห็นตัวเองชัดแบบนี้ ก็ต้องผ่านเวลามาประมาณนึง แต่วิธีแรกก็คือต้องเอาตัวเองออกจากความคิด ก็ไปปั่นจักรยาน ไปวิ่ง กิจกรรมเหล่านั้นมันไม่คิด ช่วยให้ไม่คิดวนไปวนมา
แต่ละคนก็คงต้องมีวิธีต่างกัน คงมีทางออกหลายอย่าง แต่สิ่งหนึ่งที่มันน่าจะมองเห็นก็คือ มนุษย์ในสังคมเมือง จริงๆ แล้วเป็นนักคิดมากเลย แล้วเทคโนโลยีต่างๆ มันก็ทำให้เราคิดไม่หยุดเลย การที่เราเห็นเฟซบุ๊กแล้วเราต้องตอบไปว่าเราคิดอะไรอยู่ หรือว่าเห็นความคิดของเพื่อนตลอดเวลา เห็นกิจกรรมของเพื่อนตลอดเวลา สิ่งเหล่านี้มันเร้าความคิดมากๆ สภาพแวดล้อมมันทำให้เราเป็นนักคิด ในความหมายที่ไม่ดีเท่าไหร่
พอคิดไปเยอะๆ มันทำให้เราขาดอีกมิติหนึ่งไป ธรรมชาติของมนุษย์ต้องการการเคลื่อนไหว ต้องการการออกไปทำ มันต้องทำ ต้องลงมืออะไรสักอย่าง ที่มันต้องจดจ่อ ต้องใช้สมาธิ ต้องใช้เรี่ยวแรง ซึ่งจะทำให้เราเลิกคิดไปชั่วขณะ แล้วเราจะอยู่กับปัจจุบัน ในชีวิตมันต้องมีโมเมนต์แบบนี้บ้าง โมเมนต์ flow ที่ไม่หมกมุ่นวนเวียนกับการคิด ต้องจัดสมดุลให้ดี
The MATTER : นิ้วกลมวัย (เกือบ) 40 มีอะไรอยากบอกนิ้วกลมวัย 20 กว่าๆ
นิ้วกลม : ก็ดีแล้ว ก็เป็นไป ตามวัย อยากทดลองอะไรก็ทำไป สบายใจเถอะ เรื่องที่คิดว่ามันจะหนักหนา มันก็คงไม่หนักหนาหรอก ไม่ต้องไปกังวลมาก ปล่อยไปธรรมชาติ เรียนรู้จากสิ่งที่ทำ จงสบายใจ ดำเนินชีวิตไป ไม่มีคำแนะนำอะไรให้ ชีวิตมันก็มีทางไปของมันเอง