การรู้จัก red flag ในความสัมพันธ์มักทำให้เราคิดว่าเราไม่มีทางตกอยู่ในความสัมพันธ์แย่ๆ ได้หรอก จริงรึเปล่า?
เรารู้จักว่าพฤติกรรมแบบไหนสามารถสร้างความเสี่ยงให้กับเราได้ เรารู้ว่าพวกเขาใช้วิธีอะไร เรารู้จักหน้าตาของ abuser แต่ทำไมเราเห็นหนึ่งในคู่รักดาราที่เคยดูไร้ที่ติกลับมีข่าวการทำร้ายร่างกายบุตรและภรรยาของเขา? ทำไมบ่อยครั้งเราถึงยังตกอยู่ในความสัมพันธ์รูปแบบนั้นครั้งแล้วครั้งเล่า? และทำไมการเดินออกมาจากความสัมพันธ์นั้นๆ มันยากเหลือเกิน?
ความรักเป็นเพียงส่วนเดียวของความสัมพันธ์
ชีวิตคู่ที่อุดมคติที่สุดที่เราเข้าใจคือเราเลือกที่จะอยู่ในความสัมพันธ์สักความสัมพันธ์หนึ่งเพราะความรักเท่านั้น แต่นั่นคืออุดมคติและโลกที่เราอาศัยอยู่ไม่ได้มีเพียงทุ่งดอกไม้ เช่นเดียวกันกับที่เราไม่สามารถทำแต่งานเท่านั้นโดยไม่สนใจแง่มุมอื่นๆ ในชีวิตเลย ความสัมพันธ์ที่จริงจังก็มีแง่มุมมากกว่าเพียงความรักที่จะยึดคนในความสัมพันธ์ไว้ด้วยกันโดยไม่ขาดออกจากกันเสียก่อน อาจจะการเงิน ความฝัน ครอบครัว ความคาดหวัง ฯลฯ
แต่อย่างนั้นแล้วหากความสัมพันธ์เปลี่ยนไปเป็นความสัมพันธ์ที่รุนแรงล่ะ? หากเราจะตีความความรุนแรงในความสัมพันธ์ว่าเป็นการทำลายความรัก ก็ยังแปลว่าข้อผูกมัดจำนวนมากยังคงอยู่ และจากเสาที่เคยค้ำจุนและยึดเหนี่ยวให้ความสัมพันธ์คงทน มันกลายร่างเป็นเหมือนสิ่งที่ตรึงผู้ถูกกระทำเข้ากับผู้กระทำเข้าด้วยกันและยากจะเอาออก หรือบางครั้งอาจเรียกได้ว่าไม่อยากที่จะเอาออกด้วยซ้ำ
ในหลากหลายเหตุผลที่ทำให้การเดินออกจากความสัมพันธ์รุนแรงเป็นเรื่องยาก เหตุผลต้นๆ คือทั้งคู่มีบุตรร่วมกัน เพราะเมื่อมีลูกการตัดสินใจนั้นไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของคน 2 คน แต่มันเป็นการตัดสินใจที่ส่งผลไปถึงชีวิตของลูกเพิ่มอีกด้วย ยังไม่รวมกับความกลัวการสูญเสียลูกไปทับถมขึ้นมาจากความยากลำบากของการอยู่ในความสัมพันธ์รุนแรงอีกทบหนึ่ง
และในหลายๆ กรณีการมีลูกเองก็เป็นหนึ่งในความพยายามของพ่อแม่ที่ต้องการจะซ่อมแซมความสัมพันธ์ที่แตกร้าว
และบ่อยครั้งในกรณีนี้ผลที่ออกมา
มักเป็นไปในแง่ลบมากกว่าบวก
นอกจากนั้นยังมีความกดดันจากภายนอก ความคาดหวังจากครอบครัว อาจจะการถูกบังคับ หรือแม้แต่ความคาดหวังของสังคมจากการเป็นดารา โดยเฉพาะคู่รักที่ขายภาพลักษณ์ครอบครัวอบอุ่นก็เป็นตัวการที่ทำให้การเดินออกมาดูไม่ใช่ตัวเลือก หรืออาจจะเป็นตัวเลือกที่เลือกยากที่สุดเมื่อคิดถึงผลที่ตามมาแล้ว
ถ้าเลิกแล้วจะไปไหนได้? การทำให้รู้สึกโดดเดี่ยวในชีวิตตัวเอง
เคยไหมเวลาเห็นคนตกอยู่ในความสัมพันธ์ที่รุนแรงแต่เขาไม่ปรึกษาใคร ไม่ว่าจะเพื่อนหรือครอบครัว?เคยสังเกตหรือเปล่าว่าเขาอาจจะเจอะเจอกับกลุ่มเพื่อนน้อยลงในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเมื่อมาถึงจุดหนึ่งในความสัมพันธ์? อาจจะไม่ได้ออกไปเที่ยวด้วยกัน ไม่ได้ไปสังสรรค์กัน หรือบางครั้งก็ค่อยๆ พาตัวเองหายออกไปโดยไม่ได้มีเหตุผลอะไรแม้แต่กับเพื่อนคนที่สนิทที่สุด
หนึ่งสิ่งที่ผู้กระทำมักทำคือการตัดขาดคนคนหนึ่งออกจากสังคมและคนใกล้ตัวของเขา ทำให้ผู้ถูกกระทำรู้สึกโดดเดี่ยวและไม่มีมุมมองจากภายนอก และในขณะเดียวกันก็เหลือเพียงผู้กระทำเป็นเพียงที่พึ่งในการใช้ชีวิตหนึ่งเดียวของพวกเขา โดยอาจทำด้วยวิธีการจำกัดการออกไปพบปะ หรือถ้าจะไปอาจต้องพาตัวเองออกไปด้วยเท่านั้นเพื่อคงอำนาจของตัวเองในความสัมพันธ์เอาไว้ และในบางกรณีคือการสร้างความเคยชินว่าไม่ว่าจะทำอะไรผู้ถูกกระทำจะต้องขออนุญาตก่อน
การตัดขาดนี้บ่อยครั้งมองไม่เห็นจากตาเปล่า เพราะมันมักปลอมตัวมาในรูปแบบของพฤติกรรมที่เราเคยชินแล้ว ‘แฟนโคตรขี้หึงเลยว่ะ’ ‘มีแฟนแล้วลืมเพื่อนเลย’ ‘กลัวเมียสุดๆ’ ฯลฯ ความเข้าใจเหล่านี้บางครั้งอาจไม่มีพิษภัยอะไร แต่เพราะความไม่มีพิษภัยของมันมันจึงสามารถเป็นเครื่องมือที่ผู้กระทำสามรถใช้มันซ่อนวิธีการของเขาเอาไว้ได้
และเมื่อเราไม่อาจเห็นความรุนแรงภายในความสัมพันธ์ของตัวเองได้ พร้อมกับเราไม่มีสายตาจากภายนอกที่คอยมองมุมกว้าง คำว่ารักทำให้ตาบอดก็มักกลายเป็นจริงในทางที่แย่ที่สุด และบ่อยครั้งเมื่อไม่มีที่ไป ตัวคนผู้เป็น abuser เองนั่นแหละที่จะบอกว่าเขาคือหนทางเดียวในชีวิตของเรา
แต่ว่าอะไรทำให้คนคนหนึ่งเป็น Abuser?
คงน่าสงสัยว่าอะไรทำให้คนคนหนึ่งทำพฤติกรรมที่ไม่ว่าจะมองในมุมไหนก็ไม่สามารถเป็นบวกได้เช่นการกดขี่ข่มเหงคู่รักของตัวเองไม่ว่าจะทางกายหรือใจ มนุษย์ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับลักษณะนิสัยและตัวตนของตัวเอง แต่เขาต้องเรียนรู้มันจากที่ไหนสักที่ อย่างนั้นแล้วการเรียนรู้การเป็น abuser นี้คนคนหนึ่งเรียนมาจากไหน
คำตอบไม่ตายตัว เพราะคนเราเรียนรู้เรื่องนี้จากห้วงเวลาที่แตกต่างกันในชีวิต ที่แรกที่สุดคือการถูกปลูกฝังโดยครอบครัว ในวัยเด็กเราอาจเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ผ่านวิธีการที่พ่อแม่ของเรามีปฏิสัมพันธ์ต่อกันและกันหรือกับเรา และหากครอบครัวของเราเป็นครอบครัวที่มีความรุนแรงอยู่ภายใน เป็นไปได้สูงว่าเราจะถูกปลุกฝังเกี่ยวกับความพอดีนี้เข้าไปในความเข้าใจชีวิตของเรา
แต่นั่นไม่ได้แปลว่าหากเกิดมาในครอบครัวที่มีการกดขี่จะนำเราไปยังหนทางของการเป็น abuser ทันที หลังจากการปลูกฝังแล้วเมื่อเราโตขึ้น การตีความของเราอาจบอกว่า เราจบวงจรของการกดข่มที่เราและจะไม่ส่งต่อมันไปยังใครอีก แต่สำหรับบางคนการตีความของเขาก็อาจจะแตกต่าง ไปสู่คำตอบว่าวิธีการเดียวที่จะไม่เป็นผู้ถูกกดขี่ได้ เขาก็ต้องเป็นผู้กดขี่เสียเอง
นั่นอาจแย่หน่อยเมื่อเราพูดถึงการเรียนรู้แนวคิดการเป็น abuser ในห้วงเวลาอื่นๆ หลังจากนั้น หนึ่งในที่ที่สร้างแนวคิดเช่นนี้ได้มากๆ คือสื่อประเภท “สอนจีบสาว” หรือ Manoshpere ที่ต้องใส่เครื่องหมายคำพูดให้คำว่าจีบสาวไม่ได้เพื่อเน้นย้ำ แต่เพราะสื่อเหล่านี้โดยมากไม่ได้สอนให้เราเข้าหาผู้หญิง แต่เพื่อครอบงำพวกเขาเสียมากกว่า
ตัวอย่างของกลุ่ม Manosphere ที่ได้รับความนิยมเช่น รูช วี (Roosh V) หรือ แอนดรูว์ เทท (Andrew Tate) ที่เพิ่งถูกแบนบนทุกโซเชียลมีเดียของเขาไปทั้งหมด มักมีคำแนะนำเกี่ยวกับการจีบสาวผ่านแนวคิดการเหยียดผู้หญิง หนึ่งในท่อนที่ตัดมาสั้นๆ จากหนังสือของรูชเขียนว่า “ห้ามบอกผู้หญิงว่าเธอสวย เพราะนั่นเป็นการเพิ่มมูลค่าของเธอเมื่อเทียบกับคุณ การไม่ชื่นชมจะเสริมโอกาสให้คุณเนื่องจากมันคือการกุมของรางวัลที่ผู้หญิงต้องการเอาไว้”
โดยมากแล้วคอนเทนต์จำพวกนี้เล็งไปยังวัยรุ่นผู้ชายที่กำลังต้องเริ่มต้นทำความเข้าใจในตัวตนเพศชายของเขา ความต้องการรู้ว่าพวกเขาจะเข้าหาผู้หญิงยังไง หรือความต้องการทำความเข้าใจต่อความเป็นชายของตัวเอง นั่นทำให้คอนเทนต์ของ Manosphere ได้รับความนิยมอย่างสูง แต่มันก็มาพร้อมกับความเสี่ยงของการที่จะขยายแนวคิดการใช้ชีวิตที่เป็นพิษต่อผู้อื่นได้อย่างมาก และหากเด็กสามารถถูกปลูกฝังได้ ในเวอร์ชั่นของผู้ใหญ่นั้นการดูคอนเทนต์เหล่านี้บ่อยๆ สามารถนำไปสู่การทำให้สุดโต่ง (Radicalization) ได้
ทำไมเราถึงมักมองไม่เห็น red flag?
แม้ว่าจะมีคนที่เมื่อเรามองไปยังวิธีคิดของเขาแล้วรู้ว่าไม่ดีแน่ๆ แต่ในชีวิตของเรานั้นหน้าตาของ abuser ไม่ได้มองเห็นชัดแบบนั้น ในชีวิตจริงพวกเขาไม่ได้หน้าตาแตกต่างมนุษย์ทั่วไปเลย บ่อยครั้งเมื่อมีข่าวหรือการไล่เรียงเหตุการณ์สิ่งที่เรานึกถึงคือใบหน้าของปีศาจ ของตัวร้าย
แต่ผลที่ตามมาของการมอง abuser เป็นปีศาจคือเราสร้างระยะห่างระหว่างตัวเราเอง คนในชีวิตของเรา คู่รักของเรา กับปีศาจตัวนั้น การคิดว่าคนคนหนึ่งที่เราใช้ชีวิตอยู่ด้วย ผูกมัดชีวิตตัวเองเข้าด้วยกัน ดูจะไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้เลยสำหรับคนคนนั้นจะเป็นปีศาจ หรือแม้แต่การมองสะท้อนพฤติกรรมของตัวเองว่าเรากดขี่ใครอยู่หรือเปล่าก็อาจทำไม่ได้
เราไม่อาจพิสูจน์ได้ว่าปีศาจมีจริงหรือไม่ แต่คนที่กดขี่ผู้อื่นมีจริงอย่างแน่นอน
อ้างอิงข้อมูลจาก