-1-
คุณคิดว่า ‘คนตาบอด’ ต้องการอะไรในการเดินทางบ้าง
นอกจากไม้เท้าที่ใช้การได้และทักษะในการเอาตัวรอด สิ่งสำคัญคือทางเท้าที่มีคุณภาพและสภาพแวดล้อมโดยรอบที่ปลอดภัย ทั้งพื้นผิวราบเรียบไม่เป็นหลุมบ่อ ฝาท่อปิดสนิทไม่ชำรุด สายไฟเป็นระเบียบไม่ห้อยระโยงระยาง และไม่มีสิ่งกีดขวางทำให้เกิดอันตราย ทั้งหมดนั้นเป็นเรื่องพื้นฐานที่คนตาบอดทุกคนต้องการ (ว่ากันตามตรง ต่อให้คุณมองเห็น สิ่งเหล่านั้นก็สำคัญเช่นกัน)
น่าเศร้าว่าสำหรับประเทศไทย (หรือเอาเฉพาะกรุงเทพฯ ก็ได้) สิ่งเหล่านั้นยังห่างไกลกับคำว่าใช้การได้ดี
สำหรับ ‘ทราย-คีริน เตชะวงศ์ธรรม’ หลังจากเรียนจบปริญญาตรีด้านจิตวิทยาจาก Hendrix College ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอพา ‘ลูเต้อร์’ สุนัขสีดำเพศผู้พันธุ์ลาบราดอร์ขึ้นเครื่องบินกลับมาประเทศไทย พร้อมกับบอกทุกคนว่า เธอต้องการพาลูเต้อร์ไปในที่ต่างๆ ด้วย นั่นเพราะเธอมองไม่เห็น และลูเต้อร์คือสุนัขนำทางที่อยู่เคียงข้างกันมาตลอดสองปี
ในด้านหนึ่ง ลูเต้อร์คือสัตว์เลี้ยงที่มอบคุณค่าทางใจให้กับเจ้าของ ซึ่งทุกคนคงสัมผัสได้ผ่านหน้าตาแสนน่ารัก แววตาใสซื่อ และท่าทีเป็นมิตร แต่ในอีกด้าน มันคือสุนัขที่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างเข้มข้น เพื่อให้พร้อมสำหรับหน้าที่นำทางคนตาบอด ซึ่งเป็นเรื่องที่คนส่วนใหญ่ในบ้านเรายังไม่เข้าใจ (หรืออาจเข้าใจแต่ไม่ให้ความสำคัญ) ดังนั้นเมื่อทรายพาลูเต้อร์ไปในที่ต่างๆ เธอเลยเจอกับคำปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า
แม้ค่อยๆ อธิบายเหตุผลและชี้แจงผ่านข้อกฎหมายของไทย (พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 20 วรรค 8 ระบุเรื่องอนุญาตให้นำสัตว์นำทางเข้าไปในที่ต่างๆ) แต่เจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ยังยืนยันคำปฏิเสธเช่นเดิม
ความสัมพันธ์ของ ‘ทราย’ และ ‘ลูเต้อร์’ อยู่ในช่วงหยุดชะงัก ‘สุนัขนำทาง’ ถูกลดบทบาทเหลือเพียง ‘สัตว์เลี้ยง’ เธอเลยตัดสินใจนำเรื่องราวของตัวเองมาสื่อสารผ่านเพจ ‘ผมชื่อลูเต้อร์’ เพื่อความเข้าใจกับคนในสังคมไทย โดยหวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลง
-2-
ตอนเกิดมาและยังเป็นเด็กหญิง ‘ทราย-คีริน เตชะวงศ์ธรรม’ มองเห็นเหมือนคนทั่วไป แต่พออายุ 13 ปี อยู่ๆ เธอก็มองเห็นไม่ชัด ภาพตรงหน้ากลายเป็นเลือนราง เมื่อไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย เธอตรวจพบเนื้องอกในสมอง ทำให้ต้องเข้ารับการผ่าตัดอย่างเร่งด่วน ข่าวดีคือสายตาของเธอค่อยๆ กลับมาดีขึ้น แต่หลังจากนั้นเพียงวันเดียวกลับเจอข่าวร้ายเปลี่ยนชีวิต นั่นคือเธอต้องสูญเสียการมองเห็นไปอย่างถาวร
“ช่วงปิดเทอม (เตรียมขึ้น ม.2) เราไปเที่ยวจังหวัดตรังห้าวัน อยู่ๆ สายตาก็แย่ลง พอวันสุดท้ายก็เห็นเลือนรางแล้ว เราเดินชนกระถาง เดินเข้าพุ่มไม้ พอกลับมาบ้าน วันจันทร์ไปหาหมอ วันอังคารสแกน MRI วันพุธรู้ผลว่ามีเนื้องอกในสมองก้อนค่อนข้างใหญ่ ต้องรีบผ่าตัด ก็เข้าโรงพยาบาลตอนเย็นวันพฤหัส แล้วผ่าตัดวันศุกร์เลย เสาร์ อาทิตย์ จันทร์อยู่ที่โรงพยาบาล สายตาค่อยๆ ดีขึ้นนะ วันอังคารกลับมาบ้านก็เข้านอนตามปกติ แต่พอเช้าวันพุธก็มองไม่เห็นเลย” เธอเล่าถึงช่วงเวลาไม่กี่วันที่เปลี่ยนชีวิตหลังจากนั้นไปอย่างสิ้นเชิง
แม้ไม่มีคำตอบแน่ชัดเรื่องการกลับมามองเห็น แต่เธอยังมีความหวังอยู่ตลอด พร้อมกับค่อยๆ ปรับตัวในการใช้ชีวิต ชีวิตในโรงเรียนทางเลือกแนววอลดอร์ฟที่เน้นกิจกรรมมากกว่าตำรา เธอต้องอาศัยความเข้าใจจากครูและเพื่อนร่วมชั้น เข้าร่วมเท่าที่ไหว ทำเท่าที่ทำได้ เวลาผ่านไปประมาณหนึ่งปี แสงแห่งความหวังค่อยๆ หรี่ลง จนกระทั่งชัดเจนว่าคงหมดหวัง แต่การปรับตัวกับโลกอันมืดมิดได้บ้างแล้ว ก็เป็นส่วนหนึ่งให้เธอยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้พอสมควร
ช่วงนั้นครอบครัวได้เข้าไปปรึกษากับโรงเรียนสอนคนตาบอด ทำให้ทรายมีโอกาสได้เรียนอักษรเบรลล์ ขณะที่แนวทางของโรงเรียนทางเลือกที่ไม่ได้เน้นเรื่องเทคโนโลยี แม้จะเป็นข้อดีสำหรับหลายคน แต่มันกลายเป็นข้อจำกัดในการรับรู้ข้อมูล หลังจากเรียน ม.2 ครบหนึ่งปีการศึกษา ครอบครัวเลยเลยตัดสินใจให้เธอย้ายไปเข้า ม.3 ที่โรงเรียนนานาชาติแห่งหนึ่ง ที่นั่นสนับสนุนให้นักเรียนเข้าถึงเทคโนโลยีได้เต็มที่ การรับรู้บทเรียนและข้อมูลข่าวสารต่างๆ เลยเป็นไปได้มากยิ่งขึ้นผ่านโปรแกรมที่เปลี่ยนข้อความตัวอักษรเป็นเสียง ซึ่งเธอเป็นนักเรียนตาบอดคนแรกของโรงเรียนด้วย
“คุณต้องปรับตัวหลายอย่าง ชีวิตช่วงนั้นเครียดขนาดไหน” ผมสงสัย
“อารมณ์ก็ขึ้นๆ ลงๆ ชีวิตปกติแฮปปี้ดี แต่ละวันไม่ได้มาคิดหรอกว่า ‘ฉันมองไม่เห็น ฉันมองไม่เห็น ฉันมองไม่เห็น’ แต่เวลาที่อยากทำบางอย่างแล้วติดขัด เรามักคิดว่า ‘ถ้ามองเห็นคงทำได้ง่ายกว่านี้’ เพราะถ้าทำอะไรได้เอง เราก็ไม่อยากขอความช่วยเหลือใคร
“ช่วงแรกๆ เราจับข้อศอกพ่อแม่ เดินไปกับพวกเขาตลอด ไม่เคยใช้ไม้เท้าแล้วเดินเองเลย มองย้อนกลับไป เราคงทำใจไม่ได้ ใครถามก็บอกแค่ว่า ‘หนูมองไม่เห็น’ ไม่ค่อยใช้คำว่า ‘ตาบอด’ เรารู้สึกว่าคนในบ้านเรามักสงสารคนตาบอด มองว่าทำอะไรไม่ได้ ซึ่งการใช้ไม้เท้าเป็นการบอกว่าคนนี้ตาบอด”
พอเรียนจบ ม.3 ครอบครัวส่งทรายไปฝึกทักษะชีวิตที่ศูนย์ฝึกคนตาบอดที่รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา หลากหลายวิชาว่าด้วยการใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ทั้งวิชาไม้เท้า วิชาเบลล์ วิชาคอมพิวเตอร์ วิชาทำอาหาร นอกจากได้ฝึกฝนสิ่งเหล่านั้น เธอยังได้นั่งพูดคุยกับเพื่อนคนตาบอดทุกอาทิตย์ ได้บอกความรู้สึกของตัวเองออกมา ซึ่งช่วงเวลาสองเดือนนั้นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความมั่นใจและการยอมรับตัวเอง
“เราอยู่ที่นั่นสองเดือน พอกลับมาเมืองไทย เรามีความมั่นใจมากขึ้น โอเค เราตาบอด แต่ยังทำหลายอย่างได้เหมือนคนทั่วไป ปรัชญาของที่ศูนย์ฯ คือคุณสามารถใช้ชีวิตอย่างที่ต้องการได้ ทุกคนเป็นคนตาบอด แต่ทุกคนใช้ชีวิตได้ตามปกติ อยากทำอะไร อยากเป็นอะไร ก็หาวิธีจนได้ ถ้าอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ เขาจะไม่คิดว่า ‘ฉันตาบอด คงเป็นนักวิทยาศาสตร์ไม่ได้หรอก’ แต่คิดว่า ‘ฉันอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทำยังไงถึงจะได้เป็น’ เราเจอแต่อะไรแบบนั้น พอกลับมาเมืองไทยก็ช่วยได้เยอะ”
-3-
สิ่งที่เกิดขึ้นตอนอายุ 13 ปีคือจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิตของทราย เปลี่ยนทั้งวิธีการเดินทาง การรับข้อมูลข่าวสาร และสิ่งสำคัญที่สุด คือเปลี่ยนเป้าหมายชีวิตหลังจากนั้น จากเด็กหญิงที่คิดเล่นๆ ว่าอยากเรียนและทำงานออกแบบภายใน เพราะแม่เรียนจบมาทางนี้ การที่อยู่ๆ มองไม่เห็น เธอเลยต้องคุยกับตัวเองถึงเส้นทางข้างหน้า
“ตอน ม.3 ที่ย้ายโรงเรียน เพื่อนรอบตัวรู้หมดเลยว่าอยากเป็นอะไร เราก็กดดัน เลยคุยกับแม่ไปเรื่อยๆ ว่าชอบอะไร เราชอบอ่านหนังสือ ชอบเรียนรู้ ชอบเข้าใจคน แม่เลยแนะนำว่า ‘อาจจะสนใจจิตวิทยาก็ได้นะ’ ก่อนหน้านั้นไม่เคยได้ยินมาก่อน เลยหาข้อมูล ก็ชอบมาก เลยสนใจด้านนี้
“ตอนขึ้น ม.ปลาย ที่โรงเรียนมีวิชาจิตวิทยา เราได้เรียนก็ชอบ พอใกล้จะเรียนจบ เพื่อนที่โรงเรียนหลายคนไปต่อเมืองนอก เราอยากได้ภาษาอังกฤษ การศึกษาในต่างประเทศก็มีคุณภาพ และการช่วยเหลือผู้พิการก็เป็นระบบมากกว่า เลยตัดสินใจไปเรียนต่อที่อเมริกา”
การเรียนต่อปริญญาตรีด้านจิตวิทยาจาก Hendrix College ที่ตั้งอยู่เมืองคอนเวย์ (Conway) ประเทศสหรัฐอเมริกา นอกจากวิชาความรู้แล้ว ทรายยังเติบโตผ่านการใช้ชีวิตด้วยตัวเอง ทุกๆ วันเธอจะเดินจากหอพักในวิทยาลัยเพื่อไปห้องเรียนด้วยตัวเอง โดยมีไม้เท้าเป็นเครื่องมือคลำทางไปบนฟุตบาทที่มีคุณภาพ (นอกจากไปในที่ใหม่ๆ ที่ต้องอาศัยเพื่อนขับรถพาไป) แล้วที่นั่นคนตาบอดไปไหนมาไหนด้วยตัวเองเป็นเรื่องปกติ แม้จะเป็นส่วนน้อย แต่ก็ทำให้คนส่วนใหญ่ปฏิบัติตัวต่อคนตาบอดเหมือนเป็นคนปกติคนหนึ่ง
ถ้าเฉพาะเรื่องการเดินทาง ด้วยโครงสร้างพื้นฐานของเมืองเล็กๆ ที่มีคุณภาพ การก้าวเดินโดยอาศัยไม้เท้าไม่ใช่เรื่องเหนือบ่ากว่าแรงของทรายเลย แต่ด้วยเรื่องหนักใจต่างๆ ที่สะสมจนหนักอึ้ง ทั้งเรื่องเรียน เรื่องการปรับตัวเข้ากับสังคมใหม่-เพื่อนใหม่ รวมถึงเรื่องการมองไม่เห็นที่ส่งผลกระทบต่อเรื่องอื่นๆ ความเครียดเลยยกระดับเป็นโรคซึมเศร้า เธอมีโอกาสได้เข้ารับการบำบัดกับคนให้คำปรึกษา และนั่นได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ครั้งใหม่
ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ทราย’ และสุนัขนำทางที่ชื่อว่า ‘ลูเต้อร์’
“ช่วงนั้นเราเครียดเรื่องเรียน อยู่เมืองนอกก็ไม่ค่อยมีเพื่อน เพราะเป็นคนคุยไม่เก่ง ไม่ชอบปาร์ตี้ บางครั้งก็เหงา แล้วการตาบอดก็ทำให้เรียนยากอีก อ่านหนังสือต้องใช้เวลามากกว่าคนอื่น เพราะเราต้องใช้การฟัง ช่วงนั้นอยากนอนทั้งวัน ไม่อยากตื่น ไม่มีแรง ไม่อยากออกไปเจอใคร พอไปหาหมอก็รู้ว่าเป็นโรคซึมเศร้า เลยต้องกินยา
“เราเคยได้ยินเรื่องสุนัขนำทางมาก่อน แต่ไม่ได้สนใจอะไร มันความรับผิดชอบเยอะนะ ตอนนั้นเราใช้ไม้เท้าไปไหนมาไหนได้แล้ว พอเป็นโรคซึมเศร้า เราไปเข้ารับบริการการให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิตของวิทยาลัย แล้วเขาพูดถึงสัตว์เลี้ยงที่มาช่วยเรื่องสุขภาพจิต ช่วงปิดเทอมเราไปอยู่บ้านเพื่อน เลยได้เล่นกับสุนัขของเขา ก็แฮปปี้ มันน่ารัก เล่นด้วยแล้วรู้สึกดี เลยอยากได้สุนัขบ้าง ก็คิดถึงการขอสุนัขนำทางคนตาบอด แบบนั้นเราก็ได้สองเรื่องเลย”
ตอนนั้นทรายมีโอกาสได้คุยกับรุ่นพี่ที่เป็นคนตาบอด ทำให้ได้คุยกันเรื่องสุนัขนำทาง เธอเลยยื่นความต้องการไปที่โรงเรียนฝึกสุนัขนำทางในนิวยอร์กชื่อ Guiding Eyes for the Blind เวลาผ่านไป 6 เดือน ทางศูนย์ฯ แจ้งกลับว่าได้สุนัขแล้ว ซึ่งถือว่าเร็ว เพราะการฝึกสุนัขนำทางหนึ่งตัวใช้เวลาและงบประมาณไม่น้อยเลย ขั้นตอนหลังจากนั้น เธอต้องใช้เวลาสามสัปดาห์ในการฝึกฝนคำสั่งต่างๆ และสร้างความคุ้นเคยกับเพื่อนร่วมทาง ก่อนจะพากลับไปอยู่ด้วยกันตลอดเวลา และด้วยความที่เป็นองค์กรการกุศล เธอเลยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเลย
“ตลอดสามสัปดาห์นั้น เราต้องฝึกเรื่องออกคำสั่ง การให้อาหาร การให้น้ำ การเก็บอึ ทุกๆ วันจะเดินไปในเมืองด้วยกัน เดินไปที่เดิมๆ และเดินไปในที่แตกต่างกันเพื่อเรียนรู้เส้นทาง เช่น ทางในซูเปอร์มาร์เก็ตจะแคบกว่า เดินในอาคารต้องช้ากว่า ช่วงนั้นคนฝึกจะอยู่ข้างๆ ตลอด เราเรียนรู้สุนัข สุนัขก็เรียนรู้เรา
“เอาจริงๆ เดินครั้งแรกน่ากลัวนะ ปกติเราใช้ไม้เท้า มีอะไรอยู่ข้างหน้าตลอดเวลา เลยเหมือนเป็นคนควบคุม แต่พอใช้สุนัขนำทาง เราต้องใช้ความไว้ใจมากๆ ถ้ามีสิ่งกีดขวางจะหลบทัน ต้องใช้เวลาเหมือนกันถึงจะไว้ใจ แม้ว่าลูเต้อร์จะได้รับการฝึกมาอย่างดี แต่ก็มีบ้างที่ผิดพลาด ขนาดให้คนนำทาง บางครั้งยังพาเดินชนได้เลย ไม่มีอะไรที่เพอร์เฟ็กต์หรอก แต่ส่วนใหญ่ลูเต้อร์ฉลาด เจอทางแคบก็หยุด เจอชั้นบันไดก็หยุด หยุดให้เราได้ระวัง นั่นเป็นสิ่งที่มันได้รับการฝึกมา
“บางคนเข้าใจไปว่า สุนัขนำทางคือ ‘ลูเต้อร์ พาไปห้องชีวะหน่อย’ แล้วมันจะพาไปได้เลย (ยิ้ม) ไม่ใช่แบบนั้น เราต้องรู้จักทางก่อน อาจใช้กูเกิลแมพเตรียมไว้ ไม่รู้ก็ถามคนแถวนั้น เพื่อคอยบอกทางลูเต้อร์เป็นระยะ แต่ถ้าเราไปตรงไหนบ่อยๆ มันก็จำได้นะ เราไปห้องสมุดบ่อยๆ บางครั้งผ่านไปแถวนั้น ลูเต้อร์ก็นำทางไปห้องสมุดเลย ทั้งที่วันนั้นไม่ได้จะไป” เธอเล่าถึงความรู้ใจของลูเต้อร์ ที่อยู่กับเธอมาแล้วสองปี
“นอกจากเรื่องการเดินทาง ลูเต้อร์ให้อะไรอีกบ้าง” ผมย้อนกลับไปที่เหตุผลแรกที่เธออยากได้สุนัขนำทาง
“เราได้ไปไหนด้วยกัน พอกลับไปหอพัก การได้คุยกัน ได้เล่นกัน ก็รู้สึกดีนะ นอกจากการกินยาและการเจอคนให้คำปรึกษา การมีลูเต้อร์ช่วยเรื่องโรคซึมเศร้าได้มากเลย”
ระหว่างการสัมภาษณ์ ผมเหลือบมองลูเต้อร์เป็นระยะ สุนัขพันธุ์ลาบราดอร์สีดำตัวโต มองผิวเผินอาจดูเคร่งขรึมน่ากลัว แต่มันแสดงความเป็นมิตรให้เห็นอยู่ตลอด โดยเฉพาะการคลอเคลียคนด้วยความอ่อนโยน ไม่ใช่แค่นั้น ผมยังเห็นมันหันไปมองทรายอยู่เป็นระยะ ไม่รู้ว่าคิดไปเองหรือเปล่า ผมสัมผัสได้ถึงความห่วงใยที่ลูเต้อร์มีให้เจ้าของด้วย
-4-
ตลอดสองปีที่ ‘ทราย’ และ ‘ลูเต้อร์’ ใช้ชีวิตด้วยกันที่อเมริกา คนส่วนใหญ่มองด้วยความเข้าใจ และสถานที่ต่างๆ ก็อนุญาตให้เข้าไปพร้อมกันอย่างเป็นเรื่องปกติ ซึ่งเป็นธรรมดาว่าแต่เดิมคงไม่ใช่ทุกคนที่เต็มใจ แต่ด้วยกฎเกณฑ์ที่ทุกคนต้องเคร่งเครัด จากคำสั่งก็กลายเป็นการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกัน
เดือนพฤษภาคม 2562 ทรายเรียนจบปริญญาตรีด้วยคะแนนเกียรตินิยมและได้รับรางวัล ‘นักศึกษาดีเด่น’ จากประธานมหาวิทยาลัย (ลูเต้อร์พาทรายขึ้นไปรับรางวัลบนเวทีด้วยล่ะ) แต่ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือนธันวาคม 2561 ทรายเคยพาลูเต้อร์ขึ้นเครื่องบินมาประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ. 2550 มาตรา 20 ระบุว่า ‘คนพิการมีสิทธิเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จากสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะตลอดจนสวัสดิการและความช่วยเหลืออื่นจากรัฐ’ โดยวรรค 8 ระบุไว้ชัดเจนว่า ‘สิทธิที่จะนำสัตว์นำทาง เครื่องมือหรืออุปกรณ์นำทาง หรือเครื่องช่วยความพิการใดๆ ติดตัดไปในยานพาหนะหรือสถานที่ใดๆ เพื่อประโยชน์ในการเดินทาง และการได้รับสิ่งอำนวยความสะดวกอันเป็นสาธารณะ โดยได้รับการยกเว้นค่าบริการ ค่าธรรมเนียม และค่าเช่าเพิ่มเติมสำหรับสัตว์ เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือเครื่องช่วยความพิการดังกล่าว’
แต่พอเจอกับการปฏิบัติจริงๆ เธอกลับโดนปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า
“ที่อเมริการะบุไว้เลย สุนัขนำทางเข้าได้ทุกที่ ถ้าไม่ให้เข้าถือเป็นการเลือกปฏิบัติ” เธอพูดถึงสิ่งที่ตัวเองเจอมาตลอดสองปี “ตอนพาลูเต้อร์มาครั้งแรก เราคิดว่าคงไม่ยากหรอก คนไทยใจดี รักสัตว์ แล้วกฎหมายก็ระบุไม่ได้ต่างกัน แต่จริงๆ แล้วยากมาก โดยเฉพาะห้างและร้านอาหารที่เป็นห้องแอร์ เขาไม่ยอมเลย เราอธิบายว่า ‘ไม่ใช่สัตว์เลี้ยงนะ เป็นสุนัขนำทางที่ช่วยเหลือคนตาบอด’ เขาก็ไม่ยอม บอกว่าเป็นกฎของห้าง
“ตอนอยู่อเมริกา เราอยากไปไหนก็ไปได้ แต่พอมาไทย เราต้องโทรถามและขออนุญาต เครียดเหมือนกันนะ เหนื่อยที่ต้องพูดเรื่องเดิมๆ ซึ่งแม่เป็นคนอธิบายว่า ‘สุนัขนำทาง’ ต่างจาก ‘สัตว์เลี้ยง’ ตรงที่ได้รับการฝึกมาโดยเฉพาะ ไม่รบกวนใคร กฎหมายของไทยก็อนุญาต แต่ส่วนใหญ่เจ้าหน้าที่ก็ไม่อนุญาต เสียใจแหละ เราอธิบายไปยังไง เขาตอบแค่ว่า ‘ไม่ได้ครับ ไม่ได้ครับ ไม่ได้ครับ’ คงกลัวเห่าเสียงดัง ทำข้าวของเสียหาย หรือลูกค้าคนอื่นเห็นแล้วเกิดคำถามว่า ‘ทำไมคนนี้เอาสัตว์เลี้ยงเข้ามาได้’ แต่ก็เข้าใจ รปภ. นะ เพราะเขาคงตัดสินใจเองไม่ได้
“เราอยากให้คนในสังคมตื่นตัวเรื่องนี้ มองว่าลูเต้อร์เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกของผู้พิการ เปรียบเทียบเหมือนวีลแชร์ของคนพิการการเคลื่อนไหว เราคงไม่ไปบอกว่า ‘ห้ามเอาวีลแชร์เข้ามา’ ถ้าวีลแชร์ทำให้คนพิการแบบหนึ่งเดินทางด้วยตัวเองได้ ลูเต้อร์ก็ทำให้เราเดินทางด้วยตัวเองได้เหมือนกัน คนมักคิดว่าคนพิการใช้ชีวิตด้วยตัวเองไม่ได้ ไม่ใช่เลย เราใช้ได้ แต่คุณต่างหากที่ไม่ให้ใช้”
“คุณสามารถใช้ไม้เท้าได้คล่องแล้วไม่ใช่เหรอ มันง่ายกว่าไหมที่จะใช้ไม้เท้าแทนลูเต้อร์” ผมลองถาม
“ก็ใช่นะ แต่เราไปไหนกับลูเต้อร์ไม่ได้เลยสิ เราไม่อยากทิ้งเขาไว้ที่บ้าน คนตาบอดควรมีตัวเลือกในชีวิต คุณจะใช้ไม้เท้าก็ได้ คุณจะใช้สุนัขนำทางก็ได้ ถ้าวันไหนไปในที่ที่คนเยอะๆ เราก็อาจไม่พาลูเต้อร์ไปด้วย แต่ความแตกต่างคือ เราเป็นคนเลือกสิ่งนั้นด้วยตัวเอง ไม่ใช่ให้รัฐหรือคนในสังคมมาบอกว่า คุณต้องทำแบบนี้นะ ทำแบบนั้นไม่ได้”
ว่ากันว่าทรายน่าจะเป็นคนตาบอดที่ 2 ต่อจากศาสตราจารย์วิริยะ นามศิริพงศ์พันธุ์ (ประธานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ) ที่ใช้สุนัขนำทาง ซึ่งปัจจุบันสุนัขของศาสตราจารย์วิริยะได้เสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้นเธอเลยน่าจะเป็นคนเดียวในประเทศไทยที่ใช้สุนัขนำทาง
หลังจากสื่อสารเรื่องสุนัขนำทางผ่านเพจ ‘ผมชื่อลูเต้อร์’ มาได้สักระยะ สื่อต่างๆ เข้ามาให้ความสนใจไม่น้อย เกิดการสื่อสารเรื่องราวออกไปในวงกว้าง จากคนติดตามเพจหลักร้อย ล่าสุดพุ่งเกินเจ็ดหมื่นคนในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน ขณะเดียวกันเพจได้ลงภาพที่ทรายและลูเต้อร์เดินทางไปในที่ต่างๆ ทั้งขึ้นรถไฟฟ้าบีทีเอส เข้าหอศิลป์กรุงเทพฯ และเข้าไปที่เซ็นทรัลพลาซ่าพระราม 3 เพื่อพูดคุยกับผู้บริหาร การเข้ามาสนับสนุนจากหลายภาคส่วน ทำให้ราวกับว่าทุกอย่างเข้าที่เข้าทางอย่างรวดเร็ว
“เอาจริงๆ รถไฟฟ้ามีนโยบายเรื่องสุนัขนำทางอยู่แล้ว ทั้งบีทีเอสและเอ็มอาร์ที ซึ่งอาจคล้ายกฎหมายของไทยนะ คือเจ้าหน้าที่ก็ไม่แน่ใจ ตอนนั้นพ่อโทรไปถามว่าเข้าได้ไหม เขาต้องไปเช็คอีกที ซึ่งคำตอบคือเข้าได้ พอไปถึงที่สถานี ตอนแรกเจ้าหน้าที่บอกว่าห้ามเอาสัตว์เลี้ยงเข้า เราบอกว่าเป็นสุนัขนำทาง เลยมีเจ้าหน้าที่มาอำนวยความสะดวกอย่างดี ก็รู้สึกดีนะ แต่อยากให้สิ่งนี้เป็นเรื่องปกติมากกว่า
“เราลงจดหมายเปิดผนึกไปในเพจ พูดถึงสุนัขนำทางแล้วสื่อสารอย่างกว้างๆ ก็มีคนอาสาช่วยประสานงานให้ หรือสถานที่เล็กๆ ก็ติดต่อเข้ามาว่ายินดีต้อนรับ ขณะที่สถานที่ใหญ่ๆ ยังไม่มีการตอบรับอะไร มีแค่ผู้บริหารของเซ็นทรัลพระราม 3 ติดต่อขอพูดคุย เขาเชื่อว่าคนไทยควรจะเท่าเทียมกัน แล้วชอบหมาด้วย (หัวเราะ) แต่ต้องกลับไปคุยกับทุกๆ สาขาก่อน รับปากว่าจะช่วยผลักดัน ซึ่งดูมีความเป็นไปได้นะ แต่ไม่แน่ใจว่าผลจะออกมายังไง ถ้าห้างใหญ่ๆ อย่างเซ็นทรัลเข้าได้ เราก็อยากให้เป็นตัวอย่างกับที่อื่นด้วย”
“คำว่า ‘เป็นเรื่องปกติ’ คืออะไร” ผมสงสัย
“คนเห็นแล้วรู้จักเลย ‘นี่คือสุนัขนำทาง’ ไม่ใช่ว่า ‘เฮ้ย อันนี้อะไร’ ส่วนเจ้าหน้าที่ต้องเข้าใจว่าสุนัขนำทางคืออะไร หรืออย่างน้อยพอเข้ามาห้ามว่า ‘สัตว์เลี้ยงเข้าไม่ได้นะ’ แล้วเราบอกว่า ‘เป็นสุนัขนำทาง’ ก็ให้เข้าได้เลย ไม่ต้องมีใครมาต้อนรับก็ได้ เราอยากให้สังคมไทยปรับทัศนคติต่อคนตาบอดและคนพิการทั่วไป มองว่าพวกเราพึ่งพาตัวเองได้ ถ้าได้รับโอกาส ก็สามารถใช้ชีวิตอย่างอิสระได้”
-5-
หลังจากมองไม่เห็นตอนอายุ 13 ปี ผ่านไปเพียงไม่นาน ทรายเริ่มชัดเจนว่าตัวเองสนใจเรื่องจิตวิทยา พอได้เรียนระดับปริญญาตรีก็ยิ่งชัดเจนว่าสนใจด้านนี้ ช่วงท้ายของการเรียน เธอเลยสมัครไปฝึกงานที่สะมาริตันส์ (องค์กรที่ให้บริการรับฟังผู้ที่ไม่สบายใจผ่านทางโทรศัพท์) ในอเมริกา ปัจจุบันเธออายุ 22 ปี เพิ่งเรียนจบได้ไม่นาน และมาใช้ชีวิตในเมืองไทยเพื่อรอกลับไปเรียนต่อปริญญาโทด้านจิตวิทยาการให้คำปรึกษา ซึ่งแน่นอนว่าเธอจะพาลูเต้อร์ไปด้วย
“ตอนนี้เราคิดหนักเหมือนกัน กลับมาอยู่ไทยหนึ่งปี ปีหน้าจะกลับไปเรียน ป.โท เจอห้ามแบบนี้ พอกลับมาอยู่ไทยระยะยาว เราจะพาลูเต้อร์กลับมาด้วยดีไหม มันยุ่งยากเกินไป แล้วสิ่งสำคัญคือ กว่าศูนย์ฯ จะฝึกสุนัขนำทางได้ ต้องใช้เวลาและค่าใช้จ่ายสูงมาก (เป็นเงินหลายหมื่นดอลลาร์-คิดเป็นเงินไทยก็นับล้านบาท) เราได้ลูเต้อร์ตอนอายุ 2 ปี อายุงานคือ 8 ปีถึงจะเกษียณ แต่ผ่านไปไม่กี่ปีก็ใช้ไม่ได้แล้ว เรากำลังคิดอยู่ว่าจะคืนลูเต้อร์เพื่อให้ทางศูนย์ฯ ได้ส่งต่อให้คนพิการที่จำเป็นต้องใช้ดีไหม”
“แต่ตอนนี้คงต้องสื่อสารและลองหาทางไปก่อน” ผมแสดงความคิดเห็น และสะท้อนความรู้สึกของเธอออกไป
“บางคนแนะนำให้ฟ้องร้องไปเลย ถ้าทำแบบนั้น เราอยากให้เป็นเคสตัวอย่างที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในที่อื่นๆ แต่ตอนนี้อยากสื่อสารเพื่อความเข้าใจ และผลักดันด้วยวิธีนี้ไปก่อน แม่เคยพูดว่า เราสู้เรื่องนี้ อย่าเพิ่งไปคิดว่าต่อไปประเทศไทยจะใช้ได้ไหม สิ่งสำคัญคือการสร้างความตื่นตัว เราอยากให้เปลี่ยนแปลงนะ แต่ถ้าไม่เกิดขึ้น อย่างน้อยคนในสังคมก็มีความเข้าใจเรื่องนี้’ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราเห็นด้วย”
จริงหรือไม่ว่า ‘สุนัขนำทาง’ ไม่ใช่เรื่องใหม่ของสังคมโลกหรือแม้แต่สังคมไทย การไม่อนุญาตให้ ‘ลูเต้อร์’ ได้ทำหน้าที่ อาจไม่ได้ต่างจากหลายต่อหลายเรื่อง นั่นคือเราเข้าใจว่าปัญหาคืออะไร แต่ความเคยชินกับโลกใบเดิม ทำให้เราละเลยการมีอยู่ของคนบางกลุ่มไปโดยไม่รู้ตัว