การตื่นมาเช็กโทรศัพท์ในเช้าวันสุดท้ายของเดือน แล้วพบกับแจ้งเตือนสุดโปรดจากแอพฯ ธนาคารน่าจะเป็นหนึ่งในความสุขเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตวัยทำงาน
ความรู้สึกเมื่อเงินเดือนเข้าแล้วเราคิดเบาๆ กับตัวเองว่าความเหนื่อยยากที่เจอมาทั้งเดือนทุกๆ วันนี้มันก็คุ้มค่าแล้ว ถึงจะโดนลูกค้าแก้งานนับครั้งไม่ถ้วน โดนหัวหน้าโขกสับ งานที่ทำก็ทำไปวันๆ เมื่อเงินเดือนเข้าทุกอย่างก็โอเคดีแล้ว
รึเปล่านะ?
ลองไล่ๆ มาแล้วก็เกิดความสงสัยขึ้นว่าแค่เงินเดือนมากพอนี่สามารถทดแทนอย่างอื่นที่เสียไปจากการทำงานได้มากน้อยขนาดไหน? แล้วมันมีปัจจัยอะไรอีกมั้ยที่ทำให้เราพอใจกับงานของเรา?
ความพึงพอใจในงานหรือ job satisfaction ของแต่ละคนคงแตกต่างกันไปด้วยปัจจัยจำนวนมาก ไม่ว่าจะฐานะ มุมมองการให้คุณค่า ประเภทงานที่ทำ จุดมุ่งหมายชีวิต ฯลฯ
ค่าตอบแทนที่เพียงพอในการทำงานนั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างแน่นอน จากสถิติโดยมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียใต้ พบว่ากลุ่มตัวอย่างจำนวน 77% กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เขารู้สึกไม่เติมเต็มกับงานคือความไม่พึงพอใจกับค่าตอบแทนที่ได้รับ แต่อีกสิ่งที่ต้องดูต่อคือปัจจัยอื่นๆ ที่ตามมานั้นล้วนไล่หลังค่าตอบแทนอยู่ราวๆ 2-3% เช่น การไม่เติบโตในสายงาน การสื่อสารที่ไม่ดีระหว่างพนักงานและฝ่ายบริหาร งานที่ทำถูกมองข้ามโดยหัวหน้า และหัวหน้าไม่ให้ความไว้วางใจ นอกจากนั้นอีกราวๆ 66% ก็ไม่พึงพอใจจากภาระงานที่ไม่เติมเต็มอีกด้วย
คงพูดได้ว่าแม้ค่าตอบแทนเป็นเรื่องสำคัญสำหรับพนักงานเกือบทั้งหมด วัฒนธรรมองค์กร สัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กร การมีส่วนร่วมภายในบริษัท เนื้องาน และสุขภาพจิตของพนักงานล้วนเป็นส่วนที่มองข้ามไปไม่ได้ในการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ยั่งยืน
ไม่มีตัวอย่างไหนจะชัดไปกว่าในงานวิจัย The Effect of Income and Working Conditions on Job Satisfaction โดย แพท โอดอนเนล (Pat O’Donnell) เขาได้รวบรวมบทความเกี่ยวกับสุขภาพจิตของคนที่ประกอบอาชีพอาชีพที่ได้ค่าตอบแทนสูง แล้วพบว่าคนที่ประกอบอาชีพทนายความมีโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าประชากรทั่วไปราวๆ 4 เท่า หรือหากหันไปดูอีกอาชีพคือแพทย์มีโอกาสที่จะฆ่าตัวตายสูงกว่าประชากรหมู่มากและนักวิชาการด้านอื่นๆ
หลายๆ ครั้งเงินเดือนเองนี่แหละอาจเป็นสิ่งที่ล็อกเราเอาไว้ไม่ให้ออกไปจากสถานการณ์ที่ตัวเองไม่ชอบ เคยเป็นหรือเปล่า ความรู้สึกว่าไม่ชอบสิ่งที่ตัวเองทำ ไม่ชอบบรรยากาศ ไม่ชอบหัวหน้า แต่ไม่อยากออกเพราะว่าถึงเราจะไม่มีความสุขในสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ อย่างน้อยเราก็มีความมั่นคง
นี่คือภาวะที่เรียกว่า comfortable misery หรือความตายด้านแสนสบาย โดยพูดในภาพรวมอาการนี้เกิดขึ้นจากความต้องการที่จะรักษาไว้ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน (Status Quo) ของตัวเองด้วยทุกหนทาง แม้ว่าจะไม่ชอบหรือเหนื่อยหน่ายกับมันมากแค่ไหนก็ต้องหาเหตุผลที่จะยังอยู่ตรงนี้ต่อไปให้ได้
นอกจากเรื่องเงินแล้วยังมีอีกหลายเหตุผล อาจจะมาจากความต้องการอยู่ในบริษัทที่มีชื่อเสียง ความรู้สึกว่าถึงทำแล้วจะหมดอาลัยตายอยากแต่งานนี้คืองานถนัดของเรา เกิดจากเป็นคนที่มองโลกในแง่ดีว่าสักวันทุกอย่างจะดีขึ้น หรือมองโลกในแง่ร้ายว่าไม่ว่าจะไปที่ไหนก็เหมือนกันหมด ฉะนั้นก็เลือกความมั่นคงนี่แหละปลอดภัยที่สุดแล้ว แล้วค่อยเอาเงินที่ได้อุดรูรั่วของความไม่พอใจในภายหลัง
เราอาจเคยเห็นการถกเถียงเรื่อง ‘เงินซื้อความสุขไม่ได้’ กับ ‘การทำงานหนักเพื่อเอาเงินมาซื้อความสุข’ กันบ่อยครั้ง จริงอยู่ที่ประโยคแรกอาจไม่จริงเสมอไป เพราะเงินสามารถเอามาซื้อหนทางสู่ความสุขได้ เช่น การไปเที่ยว การซื้อของ แม้แต่การรักษาพยาบาล แต่ประโยคหลังเองก็มีส่วนที่ไม่ได้พูดถึงอยู่เช่นกัน
นั่นคือในการทำงานที่หนักหนาเกินไป บางอย่างอาจเสียหาย และแม้เงินอาจจะใช้ซ่อมแซมมันได้ มันอาจไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
งานที่หนักเกินไปและสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นพิษอาจนำไปสู่ปัญหาทางสุขภาพจิต เช่น โรคซึมเศร้า อาการวิตกกังวล ไบโพลาร์ หรือแม้แต่ภาวะหมดไฟได้ อาจเถียงได้ว่าก็ถ้ามีเงินก็เอาเงินตรงนั้นไปพบจิตแพทย์สิ แถมยังมีแหล่งการเรียนรู้ที่ให้เราหาวิธีจัดการกับอาการหมดไฟได้มากมาย
แต่สิ่งที่เว็บไม่ได้บอกคือระยะเวลาที่จะใช้ในการรักษาเรื่องที่เกิดขึ้นในใจนั้นอาจใช้เวลานานกว่าที่คิดไว้ โดยเฉลี่ยนแล้วภาวะหมดไฟจากความเครียดในการทำงานหนักเกินขนาดสามารถอยู่ยืนได้ตั้งแต่ 11 สัปดาห์ และอาจลากยาวได้เป็นเวลา 1-2 ปี
และการเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์จน ‘หาย’ จากโรคทางสุขภาพจิตนั้นก็ต่างจากการหายหวัดเพราะแม้จะหายแล้วก็อาจยังเหลือสิ่งที่ตกค้างอยู่ภายในใจ และยังเป็นที่ถกเถียงว่าตกลงแล้วโรคเหล่านี้หายได้จริงๆ หรือเป็นการรักษาอาการจนใช้ชีวิตได้ แต่ก็ยังสามารถมีอาการโผล่กลับมาอยู่เป็นระยะ
ทั้งระยะเวลาอันยาวนานที่ใช้ในการรักษา เงินที่เสียไป และสุขภาพจิตที่เปลี่ยนไป แน่นอนว่าเมื่อการทำงานทะลุขอบเขตของความพอดีไปแล้ว ผลเสียของมันอาจกลับมากระทบชีวิตและการทำงานต่อกันเป็นทอดๆ อย่างนั้นแล้วแค่เงินเดือนอย่างเดียวอาจไม่พอ
ฉะนั้นทางออกจากปัญหานี้จะอยู่ที่ตรงไหน?
หากย้อนกลับไปที่งานวิจัย The Effect of Income and Working Conditions on Job Satisfaction ผู้ศึกษาค้นพบว่ากลุ่มคนที่รู้สึกเติมเต็มจากงานมากที่สุดคือคนที่ออกไปทำธุรกิจส่วนตัว แปลว่าเราทุกคนควรออกไปเปิดบริษัทของตัวเองให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย ใช่หรือเปล่า? หรืออาจจะไม่
ผู้ศึกษาเขียนไว้ว่าการทำธุรกิจส่วนตัวในตัวของมันเองอาจไม่ใช่คำตอบของความรู้สึกพึงพอใจในงาน แต่คือมุมมองต่องานที่ทำมากกว่า แม้จะมีข้อยกเว้นในบางครั้ง เรามักมองธุรกิจส่วนตัวด้วยมุมมองแง่บวก เราอาจมองว่ามันคือความฝัน แพสชั่น หรือคืองานที่เป็นของเรา และข้อดีของมุมมองนั้นคือมันไม่จำเป็นต้องเป็นธุรกิจส่วนตัวเราก็สามารถมีมุมมองนั้นๆ กับงานแบบอื่นๆ ได้ เพียงต้องหาให้เจอ
งานที่เรารักแต่กดเงิน กับงานที่เกลียดแต่เงินเดือนสูง เป็นสองด้านของเหรียญเหรียญเดียวกันที่จะพาไปสู่ความเจ็บปวดคนละรูปแบบ สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือการหาความสมดุลระหว่างทั้งสอง
อ้างอิงข้อมูลจาก