ในอดีต หลายคนอาจจะรู้จักอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ในฐานะของเมืองที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติ มีสถานที่ท่องเที่ยวมากมาย แต่เมื่อไม่นานมานี้ อ.จะนะ ได้ถูกเพ่งเล็งอีกครั้งในฐานะของเมืองที่กำลังจะหลายเป็นนิคมอุตสาหกรรม โดยที่ชาวบ้านท้องถิ่นไม่มีส่วนรู้เห็นกับข้อตกลงดังกล่าว
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา ‘กลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น’ ได้เดินทางมายังกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบยุติโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะไว้ชั่วคราว เนื่องจากโครงการดังกล่าว มีการดำเนินการที่บิดเบี้ยว และไม่เป็นที่ยอมรับของคนในพื้นที่หลายๆ คน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์การกีดกันเหล่าผู้คัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำประชาพิจารณ์ในการเปลี่ยนผังเมือง จนกลุ่มผู้คัดค้านกลายเป็นผู้ไร้สิทธิ์กำหนดทิศทางในเขตบ้านตัวเอง
ซึ่งเมื่อวานนี้ เป็นวันที่มีการลงมติคณะรัฐมนตรี และวันประชุมผังเมืองชาติ The MATTER จึงได้ลงไปพื้นที่ไปพูดคุยกับชาวบ้านที่รอฟังคำตัดสินชี้ชะตาโครงการอุตสาหกรรมจะนะ และพบว่านอกจากกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นที่คัดค้านโครงการแล้ว ยังมีกลุ่มที่สนับสนุนให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมเดินทางมายื่นหนังสือ และร้องเรียนต่อคณะรัฐมนตรี ผ่านสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ให้พิจารณาข้อเสนอต่างๆ อีกครั้ง
เพื่อทำความเข้าใจปัญหาและรายละเอียดเกี่ยวกับโครงการนิคมฯ มากขึ้น เราจึงได้เชิญ ซาปีต๊ะห์ หวังโซะ ตัวแทนกลุ่มผู้สนับสนุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ, รุ่งเรือง ระหมันยะ (บังนี) นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ และสมบูรณ์ คำแหง (บังแกน) ผู้ประสานเครือข่ายติดตามแผนพัฒนาสงขลา-สตูล มาร่วมพูดคุยว่าในฐานะตัวแทนของแต่ละกลุ่ม มีความคิดเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้บ้าง
ซาปีต๊ะห์ หวังโซะ – ขออย่าทำลายความฝันที่จะสร้างงานในบ้านเกิดของพวกเรา
ซาปีต๊ะห์ หวังโซะ ตัวแทนกลุ่มผู้สนับสนุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ที่เดินทางมาอ่านข้อเรียกร้อง และยื่นหนังสือถึงรัฐบาล เล่าว่า ทันทีที่ได้ยินข่าวว่าจะมีการชะลอโครงการดังกล่าว เธอและชาวบ้านจึงตัดสินใจเหมารถมาจากบ้านเกิดเพื่อเดินทางมายื่นหนังสือในครั้งนี้ เพราะไม่สามารถทนเห็นความฝันที่จะมีงานทำในบ้านเกิดถูกทำลายลงด้วยคนกลุ่มเดียว
เมื่อพูดคุยกันถึงความแตกต่างทางความคิดเห็นระหว่างกลุ่มคัดค้าน และกลุ่มสนับสนุน ซาปีต๊ะห์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กลุ่มที่สนับสนุนเรียกร้องให้ฝ่ายคัดค้านเข้ามาร่วมวงพูดคุยกันอย่างสันติมาตลอด แต่ยอมรับว่า ในเวทีรับฟังความเห็นโครงการเมืองต้นแบบ 4 ซึ่งจัดโดยหน่วยงาน ศอ.บต. เมื่อวันที่ 11 กรกฎาคม มีการกัดกันเหล่าผู้เห็นต่างจริง แต่เป็นเพราะว่าก่อนหน้านี้เคยมีการจัดประชุมในลักษณะนี้มาแล้วที่โรงแรมบีพีสมิหลา และในครั้งนั้นผู้คัดค้านได้พยายามทำลายประตู ทำลายข้าวของ และมีท่าทีเหมือนพยายามจะทำลายงาน
พอมาถึงการประชุมวันที่ 11 กรกฎาคม เจ้าหน้าที่ที่มาดูแลจึงเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์วุ่นวายขึ้นอีก จึงมีการดูแลที่เข้มงวดมากขึ้น ใครที่มีท่าทีคุกคามก็ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเวทีประชุม ซาปีต๊ะห์ มองว่าสิ่งที่ ศอ.บต. ทำถูกต้องแล้ว เพราะที่ผ่านมาหน่วยงานดังกล่าวก็แสดงความจริงใจที่จะแสดงข้อมูลต่างๆ มาตลอด มีการจัดเจ้าหน้าที่มาให้ความรู้เกี่ยวกับโครงการนี้อย่างละเอียด ทั้งในด้านประโยชน์ และผลกระทบ แต่ฝั่งคัดค้าน ซึ่งเป็นกลุ่มน้อยไม่เคยเปิดใจยอมรับฟัง แต่จงใจมาหาเรื่องวันที่มีการประชุม
ในส่วนประเด็นเรื่องของผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยส่วนตัวเธอคิดว่า มันต้องส่งผลกระทบบางอย่าง แต่ด้วยความที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ดังนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อย่อมมีมาตรการที่รัดกุมมาดูแลอย่างแน่นอน ซาปีต๊ะห์ได้ยกตัวอย่างถึงโครงการท่าเรือน้ำลึกที่รัฐมะละกา ประเทศมาเลเซีย ว่าปัจจุบันก็ยังมีความสมบูรณ์ของของธรรมชาติ ชาวประมงเองก็ยังสามารถประกอบอาชีพตามวิถีชุมชนต่อไปได้ ตรงนี้อยากให้ผู้คัดค้านมองถึงโอกาสบ้าง อย่ามองแต่ผลเสีย
ก่อนจบการพูดคุย ซาปีต๊ะห์ได้ชี้แจงถึงประเด็นเอกสารลับที่หลุดออกมาว่ามีการจ้างวานให้มายื่นหนังสือสนับสนุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมในวันนี้ ว่าทุกคนมาด้วยใจ เอกสารส่วนนั้นเธอ และกลุ่มยังไม่เห็น แต่ยืนยันว่าทุกคนออกเงินเพื่อเช่ารถมากันเอง และขอให้กลุ่มที่จงใจใส่ร้ายหยุดการกระทำดังกล่าว
บังนี – จะนะเป็นพื้นที่แห่งวิถีวัฒนธรรม เราปล่อยให้ทุนนิยมมาทำลายทิ้งไม่ได้
รุ่งเรือง ระหมันยะ (บังนี) นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะ ซึ่งเป็นหนึ่งในแกนนำที่พาชาวจะนะเดินทางขึ้นมาเพื่อเรียกร้องให้มีการชะลอโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ และทำประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA ใหม่ โดยให้ประชาชนเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการเพื่อหารือด้วย
รุ่งเรืองเล่าว่า จะนะเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ เราอนุรักษ์ และฟื้นฟูมาตลอด แต่อยู่ๆ รัฐบาลก็เข้ามาประกาศว่าพื้นที่วิถีวัฒนธรรมที่เราอยู่อาศัยกันมาจะกลายเป็นเขตอุตสาหกรรมสีม่วง ซึ่งมันจะตามมาด้วยโรงงาน เครื่องจักร และผลกระทบอีกมากมาย ประชาชนในพื้นที่จะต้องมีโรงงานเป็นเพื่อนบ้านใหม่ แบบนี้เรารับไม่ได้ เราเดินทางมาที่นี่ เพราะรู้ว่าหากปล่อยให้มีการดำเนินโครงการต่อไป ในรูปแบบที่ชาวบ้านไม่ได้มีส่วนร่วม สิ่งที่เกิดขึ้นคือกลุ่มเจ้าหน้าที่ไม่ได้รับรู้ปัญหาของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง และคนในพื้นนั่นแหล่ะที่ต้องเป็นคนรับผลกระทบทั้งหมด โดยที่เขาไม่สามารถเรียกร้อง เสนอ หรือแก้ไขใดๆ ได้เลย
“ก่อนหน้านี้เราไปยื่นหนังสือกับหน่วยงานต่างๆ มากมาย หน่วยงานเหล่านี้เขาก็รับ แต่เขาบอกว่าเรื่องนี้มันอยู่นอกเหนืออำนาจของเขา เพราะเป็นมติ ครม. วันนี้เราจึงตัดสินใจเดินทางมากรุงเทพ เพื่อบอกเล่าความเดือดร้อน เปิดเผยความบิดเบี้ยว การฉ้อโกงของ ศอ.บต. ที่พยายามกีกกันผู้คัดค้านไม่ให้มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น”
รุ่งเรืองยังพูดถึงข้อเรียกร้องที่ว่าด้วยเรื่องการทำ EIA ใหม่ โดยให้มีชาวบ้านเข้าไปมีส่วนร่วมในฐานะอนุกรรมการ ว่า ข้อเรียกร้องนี้ถือเป็นข้อเสนอที่กลุ่มผู้คัดค้านอ่อนข้อให้รัฐบาลมากที่สุด หากชาวบ้านมีอำนาจในการตัดสินใจร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ ผลลัพธ์ที่ออกมาย่อมตรงกับความต้องการของคนทั้งสองฝ่าย ไม่ใช่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ต้องมาดูกันต่อไปว่า นิคมอุตสาหกรรมจะเหมาะสมกับพื้นที่หรือไม่ ซึ่งเราพูดมาตลอดว่าจะนะเป็นแหล่งผลิตอาหาร ไม่ใช่พื้นที่เสื่อมโทรม เราต้องการเก็บรักษาความอุดมสมบูรณ์ตรงนี้ไว้ให้ลูกหลาน และสาธารณะชนให้ได้ใช้พื้นที่สาธารณะนี้ร่วมกัน
อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้รุ่งเรือง และชาวบ้านตัดสินใจเดินทางมาปักหลักอยู่ที่กรุงเทพฯ เพราะไม่สามารถทนความบิดเบี้ยวของเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. ได้อีกต่อไป หากย้อนกลับไปเหตุการณ์การจัดเวทีแสดงความคิดเห็นเมื่อวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา ไม่มีผู้คัดค้านคนไหนที่มีสิทธิ์เข้าไปในพื้นที่การทำประชาพิจารณ์เลย มีการนำเจ้าหน้าที่มากว่าหนึ่งพันนายมาตรึงกำลัง นำลวดหนาวมาขวางกั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ที่มีการจัดประชุมที่โรงแรมบีพีสมิหลา ก็มีการจ้างคนของตนเองมานั่งจนเต็มพื้นที่ ฝ่ายผู้คัดค้านไม่สามารถเข้าไปนั่นร่วมฟังข้อชี้แจงต่างๆ ได้เลย เราจึงทำการอารยะขัดขืนด้วยการดันประตูเข้าไป การทำแบบนี้ไม่ถูกต้อง เรามีสิทธิ์ที่จะออกความคิดเห็นเพื่อกำหนดทิศทางพัฒนาบ้านเมือง นี่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในการดูแลของ ศอ.บต.
รุ่งเรืองยังแสดงความเห็นถึงการปฏิบัติงานอย่างไม่ชอบธรรมของ ศอ.บต. ในการมาทำหน้าที่ดูแลโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะว่า การที่ ศอ.บต. มีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือ กอรมน. อยู่เบื้องหลังยิ่งทำให้อำนาจของ ศอ.บต. บิดเบี้ยว และรัฐบาลชุดนี้ก็มีส่วนส่งเสริมความบิดเบี้ยวดังกล่าว หากย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2562 สมัยนั้นยังเป็นรัฐบาลทหาร ที่มีการใช้อำนาจผ่าน คสช. ก่อนหมดอำนาจ คสช. เพียงหนึ่งวัน รัฐบาลได้มีมติ ครม. ให้เร่งการสร้างนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จากนั้นพอรัฐบาลชุดดังกล่าวกลับมามีอำนาจอีกครั้งหลังการเลือกตั้ง ก็รีบผลักดันให้โครงการนี้ดำเนินการโดยไว ซึ่งส่วนตัวรุ่งเรืองเชื่อว่ามีการตกลงกันภายในระหว่ารัฐบาล และกลุ่มนายทุนเจ้าของพื้นที่
“ศอ.บต. ไม่มีหน้าที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คุณมีหน้าที่ขจัดความขัดแย้ง ตอนนี้คุณบิดเบี้ยวมาก ถ้าเป็นข้าวก็เป็นข้าวที่บูดแล้ว และชาวบ้านไม่อยากกินข้าวที่ไม่ได้คุณภาพ”
รุ่งเรืองยังฝากข้อความไปถึงเหล่าผู้มีอำนาจในการตัดสินใจหลังจากที่ ครม. มีมติให้ชะลอโครงการดังกล่าวชั่วคราวว่า แม้พี่น้องได้รับคำตอบที่ตรงประเด็น แต่ไม่ชัดเจน แต่เบื้องต้นพี่น้องก็พอใจกับคำตอบของรัฐบาลแล้ว ขอให้รัฐบาลจำคำสัญญาให้ดี หากรัฐบาลบิดเบือนข้อมูล ไม่ชะลอโครงการนิคมอุตสาหรรมตามที่พูดไว้ พวกเราพร้อมจะขยับขึ้นมากทม. อีก และการขยับครั้งนี้เป็นการขยับแบบมีแผลเป็นจากการถูกหลอกลวงซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราจะเคลื่อนไหวอย่างที่ไม่ไว้ใจใคร จะมีการรวมเครือข่ายและมวลชนภาคใต้ที่เราทำงานด้านอนุรักษ์มาแสดงพลังให้พวกคุณเห็น เพราะฉะนั้นอยากให้รัฐบาลควรคิดให้ดีก่อนจะสับปลับ หรือก่อนจะบิดเบี้ยวสิ่งที่สัญญาไว้
บังแกน – ชาวบ้านจะนะไม่เคยมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผังเมืองตั้งแต่ต้น
สมบูรณ์ คำแหง (บังแกน) ผู้ประสานเครือข่ายติดตามแผนพัฒนาสงขลา-สตูล หรือ NGO ผู้ร่วมต่อสู้กับกลุ่มตะรชนะรักษ์ถิ่น ได้เล่าให้เราฟังว่า เหตุผลที่เขา และพี่น้องชาวจะนะต้องเดินทางมาที่กรุงเทพและอยู่จนถึงในวันที่ 15 ธันวาคม เพราะว่าเป็นวันประชุมผังเมืองชาติ ซึ่งมีแนวโน้มสูงมากที่อำเภอจะนะจะถูกเปลี่ยนจากพื้นที่สีเขียว เป็นสีม่วง และทันทีที่พื้นที่ในอำเภอจะนะถูกเปลี่ยนเป็นเขตอุตสาหกรรมสีม่วง รัฐบาลและเจ้าหน้าที่มีแผนจะจัดทำ EIA ในวันที่ 6 มกราคม ซึ่งก็คืออีกไม่ถึงเดือน เราจึงต้องรีบมายื่นข้อเสนอให้ชะลอโครงการ เนื่องจากกระบวนการดำเนินงานมันมีความไม่ชอบธรรมตั้งแต่แรก ถ้ายึดตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 จะเห็นว่ามันผิดตั้งแต่แรก
ที่ผ่านมา ศอ.บต ดำเนินการไม่โปรงใส ในวันที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา มีการเปิดเวทีประชาพิจารณ์ 2 เวที ทั้งที่ตามระเบียบแล้วจะต้องมีเวทีหลักเวทีเดียว ซึ่งเวทีที่สองที่โผล่มาไม่มีการประกาศล่วงหน้า รวมถึงไม่ได้มีการชี้แจงว่าจัดตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์ใด แต่เมื่อมีการลงชื่อประชาพิจารณ์เสร็จ ศอ.บต. กลับนำรายชื่อของกลุ่มคนที่เข้าร่วมประชุมในเวทีที่สองไปเสนอรัฐบาล ซึ่งเหตุการณ์นี้นำมาซึ่งการอนุมัติให้มีมติเร่งดำเนินการเปลี่ยนสีผังเมือง นี่คือความไม่ชอบธรรมที่เห็นได้อย่างชัดเจน นี่ยังไม่รวมถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามกีดกันให้ไม่ให้ฝ่ายคัดค้านเข้าไปร่วมทำประชาพิจารณ์ผ่านวิธีการต่างๆ ด้วย
เมื่อพูดคุยถึงประเด็นการให้ข้อมูลโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะกับชาวบ้านอย่างครบถ้วน สมบูรณ์กล่าวว่า มันมีการให้ข้อมูลอย่างไม่สมดุลกัน ชาวบ้านส่วนใหญ่อยากให้สร้างนิคมฯ เพราะเข้าใจว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ แต่การจ้างงานจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อทักษะของลูกจ้างและความต้องการของนายจ้างตรงกัน ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่ทำประมง เป็นเกษตรกร การจ้างงานด้วยตัวเลขแสนคนจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน นอกจากนี้ยังมีเรื่องผลกระทบจากทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ เจ้าหน้าที่ควรมาชี้แจงวิธีแก้ปัญหาตั้งแต่ตอนนี้ว่าหากน้ำเน่าเสียจากโรงงานจะถูกระบายทางไหน ไม่ใช่อนุมัติแล้วจึงมาอธิบายทีหลัง เช่นนี้เราจะเชื่อใจได้อย่างไรว่าจะมีการแก้ไขปัญหาเกิดขึ้นจริง
ในส่วนประเด็นเรื่อง ‘หุ้นลม’ ที่หลายคนสงสัย สมบูรณ์อธิบายว่า มีการชักจูงคนในพื้นที่ให้สนับสนุนนิคมอุตสาหกรรมโดยอ้างว่าจะมีการแบ่งหุ้นให้ ทั้งที่หุ้นเหล่านั้นมันไม่มีอยู่จริง แล้วก็ไม่มีอะไรเป็นหลักรับประกันว่าชาวบ้านจะได้ถือหุ้น หากยอมรับโครงการนิคมอุตสาหกรรมเข้ามาในพื้นที่ สมบูรณ์ได้เล่าว่าคืนก่อนลงประชาพิจารณ์ มีเจ้าหน้าที่เดินสายออกมาอธิบายเรื่องหุ้นลมว่าถ้าพี่น้องยอมเซ็นชื่อ ยอมให้สำเนา พี่น้องมีหลักฐานจะได้หุ้นฟรีในอนาคตคนละสองร้อยหุ้น
นอกจากนี้สมบูรณ์ยังตั้งข้อสังเกตถึงการทำงานของหน่วยงาน ศอ.บต. ซึ่งโดยปกติไม่ได้มีหน้าที่ในการดูแลโครงการโดยตรง หน้าที่ดังกล่าวเป็นของการนิคมอุตสาหกรรม ไม่เช่นนั้นก็ต้องเป็นหน่วยงานระดับท้องถิ่น หรือจังหวัด สมบูรณ์จึงมองว่าการเข้ามาทำหน้าที่ของ ศอ.บต ครั้งนี้มีความไม่โปร่งใส และระบุว่าเดิมทีขั้นตอนในการเปลี่ยนผังเมืองนั้นมีด้วยกันทั้งหมด 18 ขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ แต่หน่วยงานต่างๆ กลับพยายามรวบรัด และกีดกันผู้เห็นต่างไม่ให้เข้ามามีส่วนร่วม
“โครงการนี้ เป็นการจับมือระหว่างนายทุนกับรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งทำหน้าที่ดูแล ศอ.บต. ท่านใช้กลไกของ ศอ.บต. ในการดำเนินการต่างๆ รัฐบาลชุดนี้กำลังใช้อำนาจอย่างมิชอบทางการเมือง เราจึงอยากเรียกร้องให้โครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ กลับไปสู่กฎระเบียบเดิมอย่างที่มันควรจะเป็น เพื่อไม่ให้ชาวบ้านรู้สึกถึงความไม่ชอบธรรมเช่นนี้”
“อยากให้ชาวบ้านที่สนับสนุนโครงการนี้ศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน จังหวัดสงขลามีนิคมอุตสาหกรรมสองแห่ง คือ ที่อำเภอสะเดา และบางกล่ำ แต่ทั้งสองที่ตอนนี้แทบไม่มีการลงทุนเลย เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจต่างๆ ขนาดกรรมาธิการ การนิคมอุตสาหกรรมก็บอกว่าเขาหนักใจ ไม่รู้จะเชิญชวนผู้ประกอบการมาจากไหน อย่าไปเปรียบเทียบไกลถึงโครงการต่างประเทศ เพราะเงื่อนไขมันต่างกัน”
“อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลดึงดันจะอนุมัติผ่านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ ทางเราก็ได้ให้ข้อเสนอไปแล้วว่าต้องตั้งกลไกวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์มาศึกษาว่า ปัจจุบันปัจจุบันนิมคมอุสาหกรรมภาคใต้มีอยู่ที่ไหนบ้าง ใช้ประโยชน์กี่เปอร์เซ็น รวมถึงแนวโน้มในอนาคต อันนี้ถ้ารัฐบาลทำ ก็สามารถเอาข้อมูลเหล่านี้มาประกอบการตัดสินใจในอนาคตได้”
ขึ้นชื่อว่าอุตสาหกรรม ย่อมเป็นเรื่องปกติที่จะมีผลกระทบตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผลกระทบเหล่านั้นก็มีน้ำหนักแตกต่างกันสำหรับแต่ละคน ซึ่งการเด็นความขัดแย้งของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะนี้ ต้องอาศัยการทำความเข้าใจ และการเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน เพื่อร่วมกันหาทางออกที่ดีที่สุด และไม่กระทบต่อใครมากเกินไปจนทำให้เกิดความสูญเสีย ทั้งในแง่ทรัพย์สิน ร่างกาย และจิตใจด้วย
อ้างอิงจาก
https://news.thaipbs.or.th/content/299125
https://www.sarakadee.com/2020/07/10/จะนะ-กฎหมายผังเมือง/
https://www.prachachat.net/breaking-news/news-573640
https://www.matichon.co.th/politics/news_2485853
https://www.matichon.co.th/politics/news_2485853
#TheMATTER