เปิดปีใหม่มาชาวเมืองหลายคนก็ได้ไปเยี่ยมเยียนสวนแห่งใหม่คือ ‘สวนเบญจกิติ’ ที่คราวนี้มาในชื่อสวนป่า ทีนี้ ถ้าเรามองเราก็จะรู้สึกว่าสวนป่าแห่งนี้แปลกว่าสวนอื่นๆ ที่บ้านเราเคยทำมา จากสวนที่อาจจะมีทางวิ่ง มีสนามหญ้า มีกลุ่มไม้พุ่ม ไม้ดัด แต่คราวนี้ตัวสวนกลับเต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่ มีพืชทรงกลม แถมยังเต็มไปด้วยสกายวอร์ก
อันที่จริงสวนป่าเบญจกิติถือเป็นส่วนหนึ่งของกระแสความเปลี่ยนแปลงทั้งในระดับความคิดที่เกี่ยวกับเมือง การพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ไปจนถึงฟังก์ชั่นและความงามที่ธรรมชาติเคยเป็น ในภาพใหญ่นั้นตัวสวนป่าค่อนข้างสัมพันธ์กับแนวคิดที่เรา—ในฐานะมนุษย์ไม่ได้มองแค่ว่ามีแต่มนุษย์อยู่ในเมือง แต่ยังมีสรรพสัตว์ มีระบบนิเวศที่เราเองก็ต้องคิดเผื่อไปด้วย จากวิธีคิดที่เปลี่ยนไปนั้นก็เลยทำให้การออกแบบ ทำให้ตัวสวนหรือพื้นที่ธรรมชาติในเมืองนั้นไม่ได้มีหน้าที่แค่การมองแบบรูปภาพหรือมีประโยชน์เพียงแค่ความสวยงามในแบบเดิมๆ
สวนป่าเบญจกิติ จึงเป็นสวนที่ค่อนข้างได้รับการออกแบบและพัฒนาไปในทิศทางเดียวกันกับสวนสาธารณะใหม่ๆ จากทั่วโลก คือ สัมพันธ์ทั้งกับการทำให้กลายเป็นป่า (rewilding) การเพิ่มฟังก์ชั่นหรืออรรถประโยชน์ต่างๆ ของธรรมชาติที่คราวนี้นั้น ในความรก ความหลากหลายทางชีวภาพและการออกแบบเช่นพืชพรรณอย่างระมัดระวังนั้น ก็ทำให้ตัวสวนมีบทบาทมากไปกว่าการเป็นเครื่องประดับเมือง สวนกลายเป็นพื้นที่รับน้ำ พื้นที่กระทั่งเกาะกลางอาจกลายเป็นพื้นที่ที่คิดเผื่อสรรพสัตว์อื่นๆ เช่น นกหรือแมลง ภาพของสวนที่เต็มไปด้วยไม้ใหญ่และทางเดินที่พาเราไปลัดเลาะใต้ต้นไม้นั้นก็ล้วนเป็นสิ่งที่เริ่มพบเห็นได้ทั้งจากสิงคโปร์ จีน ไปจนถึงอเมริกา
Wetland สวนชุ่มน้ำและสกายวอร์กกับภาษาของสวนแบบใหม่
อันที่จริงสวนป่าเบญจกิตินับได้ว่าเป็นปรากฏการณ์ด้านการพัฒนาเมืองที่สำคัญมากผลงานหนึ่งของบ้านเรา แค่การเลือกสร้างสวนป่าที่ถือได้ว่าเป็นสวนป่ากลางเมืองขนาดใหญ่แห่งของกรุงเทพฯ ก็ถือว่าล้ำหน้าแล้ว ตัวโปรเจกต์เองยังเป็นผลงานร่วมของสตูดิโอสำคัญคือ Turenscape หนึ่งในสตูดิโอสถาปัตยกรรมจีนที่มีผลงานระดับแถวหน้าของโลก ร่วมกับ อาศรมศิลป์ สตูดิโอสถาปัตยกรรมของไทยที่มีผลงานระดับโลกเช่นเดียวกัน โดยทั้งสองสตูดิโอนี้โดดเด่นด้านการออกแบบที่สัมพันธ์กับธรรมชาติทั้งคู่
สำหรับ Turenscape (หรือ ทูเหริน ที่หมายถึงดินและคน) ถือเป็นสตูดิโอสถาปัตยกรรมที่เน้นการออกแบบใช้ความสมดุลและความเข้าใจธรรมชาติเข้ามาแก้ปัญหาให้ในระดับเมือง ทุกวันนี้ถ้าเรามองภูมิทัศน์งานออกแบบและการพัฒนาเมือง ประเทศจีนถือเป็นประเทศที่อยู่ในแนวหน้าด้านนวัตกรรม โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเช่นน้ำท่วม โดยที่จีนจะเน้นไปที่การเปลี่ยนวิธีคิด เช่น การปรับพื้นที่เมืองให้อยู่กับธรรมชาติได้ และใช้พื้นที่เมืองเช่นสวนขนาดใหญ่ร่วมแก้ปัญหา
จีนเองได้ใช้แนวคิดหนึ่งที่ค่อนข้างดังมาก คือ เมืองฟองน้ำ (sponge city) คือการออกแบบพื้นที่เมืองให้เป็นเหมือนฟองน้ำ เมืองจะช่วยซึมน้ำไว้ ดังนั้น ระยะหลังด้วยการออกแบบของ Turenscape นี่แหละก็จะมีการออกแบบสวนที่พลิกฟื้นลักษณะธรรมชาติเดิม และเน้นเป็นสวนที่ชุ่มน้ำ เปิดให้น้ำท่วมได้เวลาที่มีพายุหรือฝนมากตามคาบฤดูกาล สวนก็จะช่วยซึมซับน้ำไว้ไม้ให้ไปท่วมบนถนนหรือพื้นที่สำคัญ สวนป่าของเราก็ได้รับการออกแบบในทำนองเดียวกัน คือ เป็นสวนชุ่มน้ำ (wetland) แล้วเราเองก็เน้นเดินอยู่บนทางเดินลอยฟ้า ตัวอย่างงานของ Turenscape ก็เช่น Qunli Stormwater Park หรือ Minghu Wetland Park
ดังนั้น จากเดิมสวนค่อนข้างได้รับอิทธิพลจากสวนแบบคลาสสิก คือ เป็นเหมือนภูมิทัศน์ที่เรามองจากมุมใดมุมหนึ่งแล้วเหมือนภาพวาด เน้นการออกแบบเป็นสนาม เป็นพุ่มไม้ ถึงการออกแบบสมัยใหม่ เช่น สวนลุมพินี สวนจตุจักร จะเน้นการเข้าไปเดินวิ่ง แต่การจัดการพืชพรรณก็ยังจะเน้นไปที่การมีสนามสวยๆ ที่ได้รับการตัดแต่ง แต่เราจะเห็นว่าลักษณะการออกแบบและการใช้สวนแบบใหม่นั้น ตัวสวนจะเริ่มมีฟังก์ชั่นมากกว่านั้นเช่นการช่วยรับน้ำ สำหรับสวนเบญจกิติจากการสัมภาษณ์ทีมออกแบบ ตัวสวนจะมีการผันน้ำจากคลองไผ่สิงโตเพื่อเข้ามาฟอกทำความสะอาดด้วย
ในแง่นี้สวนในฐานะพื้นที่ธรรมชาติ จากสวนสวยมาสู่สวนป่านั้น ตัวป่าเองก็เลยเพิ่มความสำคัญขึ้นมาด้วย ด้านหนึ่งความคิดการสร้างสวนป่าคือการคำนึงถึงระบบนิเวศและการมองว่าธรรมชาติและป่านั้นสำคัญ ในบางทิศทางเช่นที่สิงคโปร์ เราก็จะเห็นการรักษาพื้นที่ป่าที่อยู่ใกล้ๆ เมืองไว้ และมีการปรับเป็นสวนด้วยการสร้างทางเดินลอยฟ้าในทำนองเดียวกัน ฟังก์ชั่นของทางลอยฟ้าด้านหนึ่งเป็นการแยกผู้มาเยี่ยมชมออกจากตัวป่า สำหรับบ้านเราก็มีศูนย์เรียนรู้ป่าในกรุงของ ปตท. ที่มีแนวคิดคล้ายๆ กันคือสร้างสวนป่าไว้เพื่อรักษาและศึกษาธรรมชาติ ตัวสวนก็จะมีทางเดินลอยฟ้าให้เราได้ลัดเลาะไปตามยอดไม้ได้
เพราะเมืองไม่ได้มีแค่เรา ป่าที่รักษาความหลากหลายจะช่วยเราคืน
แน่นอนว่ากระแสการสร้างป่าในเมืองสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิอากาศ (climate change) เพราะเมืองเป็นพื้นที่ที่ปล่อยคาร์บอนสำคัญ และที่สำคัญคือการมองเห็นว่าเมืองไม่ได้—และไม่ควรถูกแยกออกจากธรรมชาติ ในเมืองยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ถ้าเมืองทำลายความหลากหลาย เช่น นก แมลง ในที่สุดแล้วเมื่อวงจรของระบบนิเวศเสียไปเช่นถ้าผึ้งสูญพันธุ์ เราเองที่จะอยู่ไม่ได้ด้วยเช่นกัน
ด้วยกระแสเรื่อง biodiversity หรือความหลากหลายทางชีวภาพที่เมืองทั้งหลายเริ่มมองว่า ไอ้การออกแบบเมืองแบบเดิมที่เน้นมนุษย์อย่างการออกแบบที่เน้นระเบียบ เน้นระบบ มันอาจจะไม่เวิร์กอีกต่อไป เราจะเห็นตัวอย่างเช่นสวนป่า ไม่ว่าสวนเบญจกิติหรือสวนอื่นๆ เช่น The Bird Wave Bridge ตรงจตุจักร ที่ทำหน้าที่เป็นพื้นที่ธรรมชาติเพื่อเชื่อมสวนใหญ่สามสวนบริเวณจตุจักรและเป็นพื้นที่ที่คิดเผื่อนกในเมืองใหญ่นั้น นักออกแบบจะเริ่มเลือกสรรค์พืชพรรณที่หลากหลาย และเน้นการออกแบบที่เชื้อเชิญหรือคิดเผื่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ มากกว่าจะเน้นการออกแบบที่เรียบง่ายหรือเน้นความเป็นระเบียบ ใช้พรรณไม้ไม่กี่ชนิดแบบเดิม
ตัวอย่างที่สำคัญหนึ่งของการทำให้เมืองกลายเป็นป่า คือ การที่เมืองใหญ่หันมาใช้ไม้เช่นดอกไม้ป่า และในบางประเทศอย่างในอังกฤษที่มีความผูกพันกับทุ่งดอกไม้ ก็มีโปรเจกต์ที่ชวนเมืองให้เปลี่ยนเกาะกลางถนนเป็นทุ่งดอกไม้ นึกภาพจากหญ้าเรียบๆ ที่ต้องตัดบ่อยๆ บางจุดก็จะถูกเปลี่ยเป็นทุ่งดอกไม้ที่จะเปลี่ยนสีไปตามฤดูกาล นอกจากจะทำให้เมืองมีสีสันขึ้นแล้วก็ยังมีงานศึกษาว่าส่งผลดีกับความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นพื้นที่ให้ผีเสื้อและแมลง นอกจากนี้ยังมีผลเพิ่มเติมเช่นประหยัดการตัดดูแลหญ้าลง
กระแสเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพเป็นกระแสสำคัญที่เมืองใหญ่เริ่มสร้างเมืองเผื่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตั้งแต่สัตว์ พืช ในบางที่เช่นที่อังกฤษพูดถึงกระทั่งมอสหรือไลแคนที่อาจจะเป็นส่วนหนึ่งของโบราณสถาน เราจะเห็นภาพเมืองที่มีสรรพสัตว์ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำเทมส์ที่เริ่มมีแมวน้ำ หรือเมืองลอนดอนที่เริ่มคิดเผื่อจิ้งจอกที่ร่อนเร่อยู่ในเมือง สิงคโปร์เองก็โด่งดังจากการปรับปรุงสิ่งแวดล้อมจนมีตัวนากกลับมาให้ชื่นชม ซึ่งสิงคโปร์เองก็อาจจะทำให้เป็นธรรมชาติจนเริ่มเจอปัญหาบ้างเช่นมีหมูป่ามาโผล่ในเมืองบ้าง ซึ่งเมืองก็น่าจะต้องมีการใช้การออกแบบแก้ไขต่อไป
สุดท้ายการเกิดขึ้นของสวนป่าเบญจกิติเป็นเรื่องน่าดีใจ เราได้เห็นสวนที่มีหน้าตาแปลกออกไป เป็นสวนที่มีฟังก์ชั่นและคิดเผื่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตัวสวนเองก็ยังออกแบบและใช้พืชพื้นถิ่นของกรุงเทพ ช่วยรับและทำความสะอาดน้ำ เป็นพื้นที่เรียนรู้ธรรมชาติ ไปจนถึงเฟสอื่นๆ ที่จะเป็นพื้นที่สันทนาการเช่นพิพิธภัณฑ์
อ้างอิงข้อมูลจาก
ขอบคุณภาพจาก สวนเบญจกิติ