ดาราคนนั้น สมัยก่อนก็หล่อดีนะ แต่ตอนนี้ทำไมหลุดโลกได้ขนาดนี้ โอ๊ย แต่ยิ่งตามก็ยิ่งขำ แล้วดูนี่ ดาราคนนี้เต้นแร้งเต้นกาอะไรเนี่ย ตลกไม่ไหว สู้เราก็ไม่ได้ เปิดเพลงมาได้เลย ไลน์เต้นใหญ่ทุกเพลง
เราเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นอยู่เสมอโดยที่ไม่รู้ตัว เพราะในทางจิตวิทยาแล้ว การเปรียบเทียบทางสังคมสามารถเอามาอธิบายความสะใจที่เกิดจากการเห็นคนทำอะไรบ้งๆ ได้ด้วย
ลีออน เฟสทิงเจอร์ (Leon Festinger) นักจิตวิทยาสังคมชาวอเมริกัน ได้กล่าวถึงสมมติฐานเรื่องการเปรียบเทียบทางสังคมว่ามันเป็นหนึ่งในวิธีที่เราใช้สร้างเกณฑ์ในการใช้ชีวิต เพื่อที่เราจะได้ประเมินตัวเองอย่างแม่นยำ และใช้เป็นแรงผลักดัน มาลองดูเรื่องราวตัวอย่างที่ทำให้เข้าใจได้มากขึ้น เมื่อเด็กนักเรียนมัธยมคนหนึ่งเพิ่งจะตัดสินใจเข้าชมรมบัลเลต์ ในการเข้าร่วมครั้งแรก เธอก็อาจจะเปรียบเทียบตัวเองกับนักบัลเลต์ดาวเด่นของชมรม ประเมินความสามารถตัวเองว่าถ้าเทียบกับแม่สาวดาวเด่นแล้ว เธออยู่จุดไหน ถ้าเธอพบว่าเธอยังเต้นได้ไม่ดีเท่าดาวเด่นคนนั้น เธอก็จะมีแรงผลักดันเกิดขึ้นในใจว่าจะต้องเก่งขึ้นกว่านี้ให้ได้
ยิ่งดัง ยิ่งบ้ง ยิ่งบันเทิง
แต่การเปรียบเทียบทางสังคมไม่ได้มีเฉพาะด้านดีที่ผลักดันให้เราเป็นคนที่เก่งขึ้นเสมอไป เรื่องราวของชมรมบัลเลต์ที่เพิ่งเล่าไปนั้นเป็นการเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่เหนือกว่า ซึ่งมันมีอีกด้านหนึ่งที่เรียกว่าการเปรียบเทียบตัวเองกับคนที่ด้อยกว่าด้วย ซึ่งเราจะใช้การเปรียบเทียบนี้สร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง ดังนั้นเราจึงรู้สึกดีกับการได้เห็นคนทำอะไรที่บ้งแล้วบ้งอีก โดยเฉพาะคนดัง
การได้รู้เรื่องราวการเดินทางของคนคนหนึ่งที่กว่าจะประสบความสำเร็จนั้นสนุกก็จริง แต่การได้ดูคนที่ประสบความสำเร็จแล้วล้มกลิ้งไม่เป็นท่านั้นสนุกกว่า โดยเฉพาะคนที่เราคิดว่า พวกเขาไม่ควรจะขึ้นไปยืนอยู่บนจุดนั้นตั้งแต่แรก
มีคำเปรียบเทียบอยู่ว่าคนเหล่านี้คือ ‘ดอกป๊อบปี้ที่สูงกว่าใคร’ ซึ่งหมายถึงคนที่ประสบความสำเร็จ จนคนธรรมดาฟ้าดินอย่างเรามองว่าพวกเขาอยู่ห่างไกลจากพวกเรามาก แต่การเป็นดอกป๊อบปี้ที่สูงกว่า ก็มีโอกาสที่จะโค่นมากกว่าดอกป๊อบปี้ธรรมดาดอกอื่นในทุ่งเดียวกัน ดังนั้นยิ่งประสบความสำเร็จมากเท่าไร ก็ยิ่งล้มดังเท่านั้น เอ็น. ที. เฟเธอร์ (N.T. Feather) นักจิตวิทยา ก็ช่วยยืนยันกับเรื่องนี้เอาไว้ว่า คนเรามีความสุขกับการเห็นคนอื่นล้มจริง
นี่เป็นคำตอบว่าทำไมข่าวฉาวของดาราดังมักจะยอดเอนเกจเมนต์ดี และเรียลลิตี้โชว์ของครอบครัวคาร์เดเชี่ยนถึงมีคนสนใจตามดูมากมายขนาดนั้น ถึงหลายคนจะไม่ได้ชอบครอบครัวคาร์เดเชี่ยนมากนัก แต่ก็ยังตามดูอยู่ตลอดเพื่อรอวันที่พวกเขาจะได้พบกับปัญหา
ไม่ว่าจะมีตัวตนจริงหรือไม่ ยังไงเราก็ชอบดูความบ้งของคนอื่น
ไม่จำกัดแค่เฉพาะคนดังที่มีตัวตนอยู่จริงเท่านั้น คนเรายังชอบเรื่องแต่ง ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ ภาพยนตร์ นิยาย ที่เกี่ยวกับชีวิตคนรวยที่ ‘ไม่ได้เพอร์เฟ็กต์’ อย่างที่เราคิด ดูได้จากซีรีส์การหักเหลี่ยมเฉือนคมแย่งบัลลังก์และสมบัติกันอย่าง The Crown, Game of Thrones, House of the Dragon, Dynasty หรืออื่นใดนั้นได้รับความนิยมเป็นพิเศษ เพราะคนระดับราชวงศ์ยังมีการตบตีแย่งสมบัติไม่ต่างจากคนธรรมดาที่ตบตีแย่งที่จอดรถกันได้ ชนชั้นสูงยังมีเรื่องชู้สาวที่ฉาวไป 7 อาณาจักร หรือคนที่ดูฉลาดยังตัดสินใจอะไรที่ทำให้เราอยากตะโกนออกมาว่าโง่อะไรได้ขนาดนี้
ผู้เชี่ยวชาญและแฟนซีรีส์ต่างกล่าวตรงกันว่า เราติดซีรีส์พวกนี้งอมแงมเพราะนอกจากเนื้อเรื่อง นักแสดง และบทที่เขียนมาเป็นอย่างดีแล้ว พวกเรากำลัง ‘มีความสุขอยู่บนความทุกข์ของคนอื่น’ พวกเราชอบที่จะเห็นคนที่เราคิดว่าเพอร์เฟ็กต์ต้องทนทุกข์ หรือเรามักจะมีความสุขตัวละครที่เราเกลียดได้รับโทษจากผลของการกระทำ
เอลิซาเบธ โคเฮน (Elizabeth Cohen) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนีย ที่ศึกษาจิตวิทยาในสื่อและป๊อบคัลเจอร์ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่ผู้คนมีความสุขเมื่อเห็นคนรวยที่มีทุกอย่างทำอะไรบ้งๆ เอาไว้ว่า “ซีรีส์และรายการทีวีเหล่านี้จะช่วยบอกเราว่า พวกเขาไม่ได้มีครบทุกอย่าง ไม่ได้เพอร์เฟ็กต์อย่างที่เราคิดหรอก และบางทีพวกเขาก็ไม่ได้ควรค่ากับสิ่งที่พวกเขามีเลยด้วยซ้ำ”
ในวันที่แย่ การมีความสุขบนความทุกข์ของคนอื่นก็สดชื่นดี
จำเรื่องการเปรียบเทียบที่เล่าไปเมื่อกี้ได้ไหม อาจดูเหมือนใจร้าย แต่เมื่อเราเห็นใครก็ตามทำอะไรที่มันสุดแสนจะบ้ง เรากำลังเปรียบเทียบกับตัวเองอยู่ด้วยชุดความคิดที่ว่า ‘ภาพที่พวกเขาแสดงออกมามันเพอร์เฟ็กต์ขนาดนั้น แต่ก็ไม่ได้มีชีวิตที่ราบรื่นสักเท่าไหร่นี่ ก็บ้งเป็น ล้มเป็นเหมือนกัน’ การได้เป็นคนดูความบ้งอยู่เฉยๆ โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น (ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในซีรีส์หรือเกิดขึ้นในชีวิตจริงก็ตาม) นั้น สร้างความรู้สึกเหนือกว่าให้กับเรา แล้วก็รู้สึกดีขึ้นมาว่า ดีนะ ที่เรื่องแบบนี้ไม่ได้มาเกิดขึ้นกับเรา
โอเค ฟังดูใจร้ายจริง แต่เรื่องดีคือ เอ็น. ที. เฟเธอร์ (N.T. Feather) นักจิตวิทยา กล่าวถึงเรื่องนี้เอาไว้ว่า การมีความสุขกับความทุกข์คนอื่นของเรานั้นก็ยังมีพื้นฐานจากความยุติธรรมเป็นหลัก แม้เราจะมีความสุขเมื่อเห็นใครสักคนล้ม แต่นั่นเป็นเพราะพวกเขาสมควรจะล้มนั่นแหละ อย่างในชีวิตประจำวัน ก็อาจจะมีบ้างที่เราสะใจเวลาเพื่อนร่วมงานที่ชอบอู้งานคนนั้นโดนหัวหน้าด่า
ที่จริงการมีความสุขบนความทุกข์คนอื่นบ้างก็อาจไม่ได้ผิดอะไร ถ้ามันส่งผลดีกับสุขภาพจิตของเรา เพียงแต่ต้องยึดหลักการไว้ข้อหนึ่งคือ ‘เห็นคนล้มแล้วอย่าเหยียบซ้ำ’ เรามีความสุขได้ สะใจได้ ซุบซิบนินทากับคนใกล้ชิดได้ แต่อย่าซ้ำเติมพวกเขามากไปกว่านี้ เพราะนอกจากจะสร้างแผลใจให้พวกเขาแล้ว ยังทำให้เราจิตใจด้านชาและมีความเห็นอกเห็นใจคนอื่นลดลงอีกด้วย
ว่าแล้วก็แชร์คลิปนี้ให้เพื่อนดูดีกว่า ดูนี่ดิ โคตรตลกเลยอะ
อ้างอิงจาก