ดูเหมือนว่าใครๆ หลายคน นับวันถอยหลังถึงเทศกาลสงกรานต์อย่างใจจดใจจ่อ ไม่ใช่เพราะเป็นวันหยุด (ที่ถือว่า) ยาว (แล้ว) ได้พักผ่อนกายาจากการทำงานหนักมาหลายสัปดาห์หลายเดือน แต่เพราะวัน สงกรานต์เป็นประเพณีแห่งการปลดปล่อยไม่เพียงความร้อนระอุกลางเดือนเมษาด้วยการสาดน้ำให้เปียกกลางวันแสกๆ ยังเป็นเทศกาลแห่งความบันเทิงเริงใจที่จะได้แอ๊วผู้ ไปแรดอย่างสนุกสนาน ถือโอกาสทำอะไรในสิ่งที่ทำไม่ได้ในวันอื่นๆ
จากการศึกษาของปรานี วงษ์เทศ เกี่ยวกับประเพณีต่างๆ ในแต่ละปี พบว่าสงกรานต์เป็นจารีตประเพณีที่ใครหลายๆ คนใช้เป็นวันปลดปล่อยและการละเล่นออกจากกฎระเบียบและกรอบอันตึงเครียด แต่ก็มีขอบเขตที่จะไม่ทำให้ผู้อื่นบาดเจ็บล้มตาย จากเอกสารโบราณบันทึกว่า ภิกษุในหมู่บ้านชุมชน ไม่เพียงได้รับอนุญาตให้ละเล่นน้ำ แข่งเรือ จุดบั้งไฟ แข่งเกวียน และในเอกสารเก่าของรัฐล้านนา บันทึกคำบอกเล่าว่า ราษฎรยังสามารถร่วมงานมหาสงกรานต์ได้อย่างสุขสันต์ พากันสาดน้ำไล่พระเจ้าแผ่นดินที่ประทับในท้องพระโรง พระเจ้าแผ่นดินก็วิ่งหนี แต่ถ้าทำเช่นนั้นในวันปกติอื่นๆ ก็ต้องถูกประหาร[1]
เรื่องเพศก็เช่นกัน ปรกติผู้หญิงห้ามถูกเนื้อต้องตัวพระสงฆ์ พวกนางก็สามารถเล่นไล่สาดน้ำประแป้งพระได้ บางหมู่บ้านผู้หญิงร่วมกันอุ้มพระสงฆ์นิมนต์โยนลงห้วยหนองคลองบึง โดยไม่ถือว่าเป็นเรื่องผิดเพิ่มแต้มบาปแต่อย่างใด แต่ก็ไม่ถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์กัน[2]
มหาสงกรานต์ในฐานะประเพณีของประชาชนราษฎร จึงเป็นประเพณีที่อนุญาตให้ขบถละเมิดข้อห้ามต่างๆ ได้ เพราะเป็นพิธีกรรมของการยกเว้นบรรทัดฐานและเส้นแบ่งทางสังคม ตั้งแต่การแบ่งโลกสาธารณะกับส่วนบุคคล ไปจนถึงสถานะทางสังคมในโครงสร้างที่เต็มไปด้วยการจัดระดับ ชนชั้น ฐานะทางเศรษฐกิจ อาชีพ เพศ วัย ชาติพันธุ์ก็พร่าเลือนด้วยน้ำที่สาดบนท้องถนน เหมือนกับที่คนแก่และเด็กได้ร่วมประเพณีด้วยกัน หนุ่มสาว LGBT ไม่ว่าเพศสภาพใดได้ร่วมละเล่นน้ำกันเต้นรำตามเสียงจังหวะดนตรี ท่ามกลางฝูงชนเปียกปอนเบียดเสียดยัดเยียดชุลมุนอีรุตุงนัง ซึ่งมันก็เปิดโอกาสได้สัมผัสถูกเนื้อต้องตัวและลวนลาม ซึ่งไม่ว่าเพศสรีระ เพศสภาวะ และเพศวิถีใดก็มีโอกาสถูกลวนลามได้ทั้งนั้น
เพราะด้วยเป็นบริบทของการสาดน้ำประแป้งมันคือการเกี้ยวพาราสีล่าคู่ของทุกเพศสภาพเพศวิถี LGBTQ หญิงชาย
และโดยมิได้นัดหมาย เพศสภาพที่ตกอยู่สถานะเป็นรอง ชายขอบทั้งหลายของโครงสร้างสังคมที่เต็มไปด้วยการจัดระดับชั้นนี้จึงถือโอกาสนี้ได้ทำอะไร
จากที่เคยถูกกดทับ ปิดบังก็ได้แสดงออกตั้งแต่อัตลักษณ์ไปจนถึงการแสดงออกถึงความใคร่ อย่างที่เพศชายที่เป็นเพศสภาวะที่เหนือกว่าและอยู่ในศูนย์กลางของสังคมได้กระทำมาแล้วตลอด 360 กว่าวันที่ผ่านมาภายใต้การสร้างความชอบธรรมต่างๆ ตามระบอบปิตาธิปไตย
ผู้หญิงจากที่ห้ามปรามให้สงวนท่าทีจึงได้ทำอะไรแบบที่ผู้ชายทำ ซึ่งท้าทายกฎของผู้ชายแบบสังคมชายเป็นใหญ่ที่ผู้หญิงจะต้องรักนวลสงวนตัว ไม่แอ๊วผู้ พวกนางสามารถวิ่งไปประแป้ง หอมแก้มผู้ แสดงอากัปดึงดูดทางเพศโจ๋งครึ่ม ออกมาเต้นรำร่อนร่ายส่ายสั่น ยั่วๆ เต้นบดๆ ตามท้องถนนหรือบนหลังกระบะ จงใจเป็นวัตถุทางเพศพอหอมปากหอมคออย่างตั้งอกตั้งใจ ในระดับที่พวกนางยินยอม ก็ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร
เก้งกวางกะเทยหลายคนก็ได้ประกาศเพศวิถีของตนเองอย่างสนุกสนาน ทว่าเวทีที่พวกเขาและเธอบางคนไม่ใช่บนท้องถนนสีลม หลังรถกระบะ ข้างตุ่มน้ำหน้าบ้าน ที่เส้นแบ่งระหว่างปริมณฑลส่วนบุคคลและสาธารณะพร่าเลือนเพราะถูกน้ำสาด แต่รวมไปถึงบนเนื้อตัวร่างกายเพศสรีระชายที่ไหนก็ไม่รู้ด้วย
ใช่ๆ พวกผู้ชายโดนกันหลายคน ทั้งจับถอดเสื้อแก้ผ้า กอดจูบลูบคลำล้วงควักบีบคลึง
สงกรานต์ไม่เพียงช่วยให้ผู้หญิงได้ผ่อนคลายตัวเองออกจากกฎชายเป็นใหญ่ สถานะของ ‘ความเป็นชาย’ เองยังถูกสั่นคลอน
เพราะเพศชายรักต่างเพศจากที่เคยถูกจัดวางอยู่ในสถานะที่เหนือกว่าเพศสภาพเพศวิถีทั้งปวงของสังคมชายเป็นใหญ่รักต่างเพศนิยม จะถูกดึงตกเป็นเป้าลวนลาม กลายเป็นวัตถุทางเพศหยอกล้อโดยเพศวิถีที่เป็นชายขอบ ซึ่งก็อาศัยระบอบปิตาธิปไตยรักต่างเพศนิยมอีกนั่นแหละอ้างมายาคติว่า เป็นผู้ชายโดนจับโดนขยำยังไงก็ไม่เสียหาย เพราะไม่เหมือนเพศหญิงที่เป็นเพศเปราะบาง อ่อนแอ มัวหมองได้ง่าย กะอีแค่ล้วงควักจับหอมแก้ม ผู้ชายไม่คิดไรมาก ไม่ต้องโกรธวิ่งไปแจ้งความ เร่ไปฟ้องปวีณาหรือมูลนิธิชายหญิงอะไรหรอก
แถมเพื่อนผู้ชายที่มาด้วยกันเผลอๆ ยังมองว่าเป็นเรื่องตลกไปอีกต่างหาก
ไหนๆ ก็มีภาพเหมารวมแล้วว่าเก้งกวางเป็นตัวตลกสร้างสีสันและบ้าผู้นี่แหละ ลวนลามผู้ชายขำๆ บ้างจะเป็นไรไป และด้วยโครงสร้างสังคมที่จัดระดับเพศสภาพเช่นนี้ การต่อต้านขัดขืนไม่ให้ถูกเนื้อต้องกายก็กลายเป็นการเหยียด เป็น homophobia รังเกียจความหลากหลายทางเพศไปอีก
จะว่าเถื่อนก็เถื่อนจริงแหละ อยู่ดีๆ มาล่วงละเมิดใช้ความรุนแรงทางเพศกัน แต่วัฒนธรรมประเพณีดั้งเดิมบางอย่างมันก็มีความดิบเถื่อนแฝงในทีอยู่แล้ว ยิ่งประเพณีเพื่อปลดปล่อยแหกขนบในชีวิตประจำวัน และแอบอนุญาตให้แสวงหาความสุขทางกามารมณ์และประกาศเพศวิถี
มันจึงเป็นเทศกาลที่เปิดโอกาสให้เพศสภาพชายและรักต่างเพศได้ถูกท้าทาย ล้อเลียน เขย่าสั่นคลอน ตกเป็นวัตถุทางเพศล้วงควักหรืองัดออกมาบ้างในปีละไม่กี่วัน แต่ไม่ถึงขั้น purge ที่อนุญาตให้ลุกขึ้นมาฆ่าแกงใครก็ได้ภายใน 1 วัน ต่อ 1 ปีหรอก ซึ่งก็เป็นความป่าเถื่อนที่ถูกสร้างความชอบธรรมและอาศัยผลผลิตระบอบชายเป็นใหญ่รักต่างเพศนิยมนี่แหละทั้งการตีตรากะเทย รักษาภาพเหมารวมต่อเกย์ และธำรงมายาคติของ ‘ความเป็นชาย’ และก็ไม่ได้ไปรื้อสร้างโครงสร้างชายรักต่างเพศเป็นใหญ่แต่ประการใด
ท่ามกลางฝูงชนแน่นขนัดบนถนนสีลม ต่อให้ประชากรเก้งกวางจะหนาแน่นเกือบ 90% แต่ก็ยังคงถูกจัดวางให้ ‘ความเป็นอื่น’ ของสังคมอยู่ดีที่ผู้ชายจำนวนที่เหลือจะมองว่าเป็นภัยที่ต้องพึงระวัง เป็นกลุ่มอาชญากร ที่ถ้าเผลอหลงเข้าไปในดงเกย์จะถูกทึ้งเป็นชิ้นๆ และก็มักจะมีคนก่นด่าเกะเทยเกย์ที่ไปลวนลามผู้ชายว่าผิดเพศแล้วยังทำแบบนี้อีก หรือเกย์กะเทยด้วยกันเองออกมาประณามว่า ทำให้ภาพลักษณ์ LGBTQ เสียหาย เหมือนเป็นการว่า LGBTQ ทั้งหมดมีภารดรภาพ (brotherhood) ภคินีภาพ (sisterhood) ร่วมกัน กลายเป็นคำประณามแบบที่ชนกลุ่มใหญ่ใช้กับชนกลุ่มน้อยที่มักจะด่าแบบเหมารวม ว่าเป็นรองและชายขอบที่ต้องเจียมเนื้อเจียมตัว ไม่แหกขนบเพื่อให้ตนและสมาชิกอัตลักษณ์ร่วมมีที่ยืนอย่างได้รับความเมตตาเห็นอกเห็นใจ
ทั้งๆ ที่ในช่วงชุลมุนเล่นน้ำอีรุงตุงนังไม่ว่าเพศสภาพเพศวิถีใดก็ลวนลามและถูกลวนลามได้ แต่จะไม่มีใครออกมาประณามว่าผู้ชายที่ลวนลามข่มขืนผู้หญิงทำให้ภาพลักษณ์ ‘ความเป็นชาย’ เสียหาย หรือเกิดมาเป็นผู้ชายแล้วยังทำแบบนี้อีก แต่มักจะด่าเป็นด่าเฉพาะเจาะจงผู้ชายบางคนเป็นเคสๆ ไป
จากการสำรวจผู้หญิงในกรุงเทพ 1,650 คน อายุ 10-40 ปี ของมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล พบว่าในเทศกาลสงกรานต์ปี 2560 ว่า ผู้หญิง 59.3 % เคยถูกฉวยลวนลามตั้งแต่ถูกจับแก้ม 33.8 % ถูกแซวล้อเลียนในเรื่องเพศ 12.3 % ถูกล้วงควักของสงวน 9.6 % ทว่ามีการแจ้งความดำเนินคดีเพียง 1 ใน 4 เท่านั้น[3]เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากการสำรวจปี 2559 สำรวจผู้หญิง 1,793 ราย 51.9% เคยถูกลวนลามในงานสงกรานต์[4]กะเทยหลายนางเองถูกลวนลามไปจนถึงข่มขืนโดยผู้ชาย เพราะอัตลักษณ์ที่อ้างอิง ‘ความเป็นหญิง’ ของพวกนาง ผสมกับมายาคติที่ว่าพวกนางมักมากในกาม และเคยเป็นผู้ชายมาก่อนไม่เสียหาย ล่วงละเมิดทางเพศได้ไม่เสียหาย[5]
เอาเข้าจริงไม่ว่าเทศกาลไหน ช่วงเวลาไหน ทุกคนไม่ว่าเพศสภาพเพศวิถีใด จะเก้งกวางบ่างชะนีหรือกระทาชายก็ยังเป็นเจ้าของเนื้อตัวร่างกายของตนเองที่ไม่ชอบถูกล่วงละเมิดไม่มีใครอยากโดนดูถูกดูแคลน ล้อเลียนทำให้เป็นตัวตลก ลวนลามหรือมาสัมผัสเนื้อตัวร่างกายเราอย่างไม่ยินยอม เช่นเดียวกับที่ไม่อยากให้เพศสภาพใดมีสถานะเหนือกว่า ได้รับการให้คุณค่าความหมายมากสูงกว่าหรือต่ำกว่า เพราะมันคือความรุนแรงและล่วงละเมิดทางเพศอย่างหนึ่ง อย่างไรก็ตามการยินยอมเรื่องเพศ (sexual consent) ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับโครงสร้างสังคมแบบนี้ที่จะทำความเข้าใจกัน ยิ่งในช่วงบริบทแห่งเทศกาลสงกรานต์ มันจึงยิ่งยากเข้าไปใหญ่ ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องสำคัญฉิบหาย
พูดแบบโลกสวยๆ ในทุ่งลาเวนเดอร์ได้ว่า เทศกาลสงกรานต์ มีข้อดีบางประการตรงที่ทำหน้าที่เป็นภาพสะท้อนหนึ่งให้เห็นว่า สังคมชายเป็นใหญ่ที่ไม่เคารพเนื้อตัวร่างกายและ ‘ความเป็นเพศ’ กันแบบนี้ แม่งเถื่อน อยู่ยาก ไม่ว่ากับเพศไหนก็เหอะ
อ้างอิงข้อมูลจาก
[1] ปรานี วงษ์เทศ. ประเพณี 12 เดือน : ในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมเพื่อความอยู่รอดของคน. กรุงเทพฯ : มติชน, 2548, น.69.
[2]เรื่องเดียวกัน,หน้าเดียวกัน.
[5]อ่านเพิ่มเติม กิตติกร สันคติประภา. การลวนลามทางเพศกะเทย : นัยสําคัญภายใต้วาทกรรมรักต่างเพศ. กรุงเทพฯ : ปริญญานิพนธ์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, 2550.