อาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่า หนึ่งใน ‘มารยาทในการออกเดต’ (dating etiquette) คือไม่ควรพูดคุยในประเด็นที่จริงจังมากเกินไป อย่างการเมือง ศาสนา เศรษฐกิจ หรือสังคม เพราะมันมีแนวโน้มสูงมากที่การเดตครั้งนั้นจะได้ ‘แห้ว’ กลับมากินแทน
เมื่อการเดตเป็นเรื่องของการสร้างความประทับใจ จึงไม่มีใครอยากทำลายภาพลักษณ์ของตัวเองและบรรยากาศโรแมนติกตรงหน้า ด้วยการพูดคุยเรื่องที่ฟังดูเคร่งเครียดหรอกจริงมั้ย? แต่มารยาทในการเดตดังกล่าว ยังคงใช้ได้ในปัจจุบันที่การเมืองกลายเป็นเรื่องทั่วไปมากขึ้นอยู่หรือเปล่านะ?
บทสนทนาที่เปลี่ยนไปในช่วง getting-to-know-you
การออกเดตหรือจะเริ่มต้นความสัมพันธ์กับใครสักคน แน่นอนว่าเราจะต้องผ่านช่วงทำความรู้จักกัน (getting-to-know-you) ไปก่อน ซึ่งประโยคคำถามสุดเบสิกอย่าง What kind of music/movie/sport do you like? ก็เป็นประโยคที่เรามักจะใช้ และเห็นบ่อยๆ ตามฉากออกเดตในภาพยนตร์ต่างประเทศ
เพราะการตั้งคำถามเกี่ยวไลฟ์สไตล์ เป็นวิธีทั้ง ‘ง่าย’ และ ‘ปลอดภัย’ ที่เราจะใช้เรียนรู้ใครสักคน มากกว่าการตั้งคำถามว่า “นี่ คุณมองความจนเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างหรือเปล่า?”
แต่ในปี ค.ศ.2020 ที่ผ่านมา โรคระบาด COVID-19 ก็ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน โดยเฉพาะการสื่อสารหรือการมีปฏิสัมพันธ์ เพราะว่าพอกักตัวเราอยู่แต่ในบ้าน ไปเที่ยวเล่นที่ไหนได้ไม่มากนัก การจะมองหาใครสักคนมาเป็นคู่ใจ จึงเลยย้ายมาทำในโลกโซเชียลแทน
มันจึงเกิดเป็นเทรนด์การเดตที่เรียกว่า slow love โดยผู้คนค่อยๆ คบหาดูใจกันไปอย่างช้าๆ ใช้เวลาในช่วง getting-to-know-you อย่างเต็มที่ จากการแลกเปลี่ยนประเด็นมากมายที่เกิดขึ้นท่ามกลางปีที่สุดทรหด ทั้งโรคระบาด พิษเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม การประท้วงในหลายประเทศ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ และอีกหลายเหตุการณ์ที่กระทบต่อปากท้องและการใช้ชีวิตของเรา เพื่อศึกษาว่าอีกฝ่ายเป็นคนแบบไหนและมีมุมมองต่อโลกยังไงบ้าง
“โดยปกติแล้ว ความเห็นต่างทางการเมืองคือหนึ่งในตัวทำลายความสัมพันธ์หลายรูปแบบ แต่เมื่อเราอยู่ในจุดที่รู้แล้วว่าการเมืองเป็นมากกว่าการแบ่งพรรคแบ่งพวก เราจึงค้นหาคนที่มีค่านิยมที่คล้ายคลึงกัน” สไปร่า (Spira) ผู้แต่งหนังสือเรื่อง Love in the Age of Trump: How Politics is Polarizing Relationships กล่าว
ถึงแม้ในยุคก่อน การคุยเรื่องการเมืองตอนออกเดตอาจเป็นเรื่องที่เสียมารยาทก็ตาม แต่ในยุคนี้กลับตรงกันข้าม โดยอ้างอิงจากการผลสำรวจของเว็บไซต์หาคู่ออนไลน์ Match.com ที่สอบถามคนโสดทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 5,000 คน ตั้งแต่อายุ 18-70 ปี พบว่า
- การพูดคุยเรื่องการเมือง สามารถเพิ่มโอกาสที่จะทำให้เกิดการเดตครั้งต่อไป (หรือที่เรียกว่า second date) มากขึ้นถึง 91 เปอร์เซ็นต์
- คนโสดกว่า 79 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีปัญหากับคู่เดตที่มีมุมมองทางการเมืองต่างกัน
- คนโสด 35% จะไม่ออกเดตกับคนที่ไม่มีความคิดเห็นทางการเมือง
นอกจากนี้ผู้คนมีแนวโน้มที่จะมองข้ามปัจจัยดึงดูดภายนอกมากขึ้น โดยผลสำรวจ พบว่า Gen Z จำนวน 61% และมิลเลนเนียลจำนวน 49% เลือกที่จะมองหาคนที่สามารถแลกเปลี่ยนบทสนทนาแบบลึกซึ้งกับพวกเขาได้ ซึ่งใครที่เป็นคนประเภท sapiosexual หรือหลงใหลคนฉลาด รอบรู้ และมีกึ๋นเป็นพิเศษ ก็น่าจะเข้าใจดีว่าทำไมการมี deep conversation กับใครสักคนถึงเป็นเรื่องที่น่าประทับใจ
“ผู้คนมีแนวโน้มที่จะมองข้ามปัจจัยดึงดูดภายนอกมากขึ้น
โดยผลสำรวจ พบว่า Gen Z จำนวน 61%
และมิลเลนเนียลจำนวน 49% เลือกที่จะมองหา
คนที่สามารถแลกเปลี่ยนบทสนทนาแบบลึกซึ้งกับพวกเขาได้”
เปอร์เซ็นต์ทั้งหลายแหล่ที่กล่าวมาอาจไม่สำคัญ หรือยืนยันได้ว่าการพูดเรื่องการเมืองตอนเดตเป็นเรื่องโอเค แต่อยากให้ลองสังเกตสถานการณ์ปัจจุบัน เราคงเห็นได้ชัดเลยว่าการเมืองไม่ได้มีแค่การแบ่งสีหรือสร้างความแตกแยกเสมอไป แต่ยังเป็นเรื่องที่แทรกอยู่ในทุกอณูของชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องของปากท้อง การเดินทาง ความปลอดภัย ไปจนถึงการสร้างครอบครัว เพราะฉะนั้น ก็คงไม่ผิดอะไรหากเราจะคุยเรื่องทั่วไปเหล่านี้ เพื่อเรียนรู้ความคิดของอีกฝ่ายให้มากขึ้นหน่อย
ยิ่งไปกว่านั้น การพูดคุยเรื่องการเมือง ยังช่วยสะท้อนให้เห็นว่า คู่เดตของเราตื่นรู้ในการรับข้อมูลข่าวสารแค่ไหน เปิดใจที่จะเสาะหาข้อเท็จจริงมั้ย หรือปักใจเชื่อโฆษณาชวนเชื่อทันที ไปจนถึงสะท้อนได้ว่าเขาเคารพสิทธิเสรีภาพของตัวเองและผู้อื่นมากน้อยแค่ไหน เพราะความสัมพันธ์ของคนสองคนจะราบรื่นได้ ส่วนใหญ่พื้นฐานก็มาจากการเคารพสิทธิเสรีภาพของกันและกันนี่แหละนะ
จากสนามรักสู่สนามรบ
การพูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม หรือปรัชญา อาจทำให้คู่เดตบางคนมองว่าเราดูฉลาดและเซ็กซี่มากขึ้นก็จริง แต่อย่างไรก็ตาม เราไม่มีทางรู้ได้เลยว่าบทสนทนานั้นจะนำเราไปสู่จุดจบแบบไหน เพราะพื้นฐานความเชื่อและการมองโลกของมนุษย์ทุกคน ไม่มีทางลงล็อคกันได้แบบพอดีเป๊ะๆ หรอก ซึ่งนั่นก็แปลว่ามันมีเปอร์เซ็นต์ที่บทสนทนาดังกล่าว อาจพาเราทั้งคู่ไปสิ้นสุดที่ความขัดแย้ง และแน่นอน No chance for a second date!
ฉะนั้น ก่อนจะเปลี่ยนสนามรักให้กลายเป็นสนามรบ มาดูกันว่ามีวิธีไหนบ้างที่ทำให้เราและคู่เดตสามารถแลกเปลี่ยนมุมมองได้อย่างสันติ และสานต่อความสัมพันธ์ให้กลายเป็นคู่รักที่เปิดใจพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง
สร้างปฏิสัมพันธ์เบื้องต้น การปูพื้นฐานความเข้าใจในตัวอีกฝ่าย ก่อนจะนำบทสนทนาเข้าสู่ประเด็นที่ลึกซึ้งนั้นเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยเราอาจใช้การถามหรือพูดคุยในเรื่องเบาๆ ก่อน เพื่อเป็นการ ‘ดูเชิง’ ว่าเขามีท่าทีอย่างไร เช่น ‘ภาวะทางอารมณ์’ เป็นคนใจร้อนมั้ย? มี sense of humor มั้ย? ‘พื้นฐานทางความคิด’ เป็นคนด่วนสรุปมั้ย? เปิดกว้างต่อความเห็นต่างมั้ย? หรือแม้แต่ ‘แบ็คกราวน์ทางการศึกษา’ ก็ดี เพราะหากเราชวนคุยในประเด็นที่ลึกมากเกินไป หรือเป็นความสนใจของเราฝ่ายเดียว ก็คงเป็นสถานการณ์ที่ชวนกระอักกระอ่วนใจไม่ใช่น้อย แบบว่า เอ่อ อ่า ผมจะต่อบทสนทนานี้ยังไงดีล่ะครับเนี่ย?
ไม่ควรตีตรา ตัดสิน หรือพยายามเปลี่ยนความคิดของอีกฝ่าย อาจเป็นเรื่องยากที่เราจะรับฟังความเห็นต่างจากใครสักคน โดยปราศจากอคติหรือการแปะป้ายคนคนนั้น แต่การตอบกลับด้วยคำถามที่เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายได้อธิบายมุมมองและเหตุผลของเขามากขึ้นว่าทำไมเขาคิดและเชื่ออย่างนั้น อาจช่วยลดอคติลงได้บ้าง เช่น เรารู้ว่าสิ่งที่เขาพูดออกมาเป็น fake news จากข้อความลูกโซ่ เราอาจถามเขาว่า “ฟังดูน่าสนใจดีนะ เราอยากรู้มากขึ้น คุณไปหาเรื่องนี้มาจากไหน ช่วยเล่าให้ฟังหน่อยสิ” เพื่อเป็นรักษามารยาทไว้ก่อน และถ้าความเห็นเพิ่มเติมของเขาไปกับเราไม่ได้จริงๆ ก็เอาไว้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจหลังจากเดตจบแล้วก็ได้ เพราะการตอกกลับความคิดและความเชื่อเขา ณ ทันที ว่าเป็นอะไรที่แย่หรือผิด แล้วยัดความคิดที่เรามองว่าถูกลงไปเพื่อโน้มน้าวให้เขาเชื่อตาม อาจทำให้เขารู้สึกโดนจู่โจมและไม่สบายใจมากกว่า
โฟกัสที่ท่าทีมากกว่าคำตอบ ในบางหัวข้อ เราไม่จำเป็นต้องโฟกัสที่คำตอบยิบย่อยๆ ก็ได้ว่าเขาคนนั้นคิดตรงหรือคิดต่างกับเรา (ถ้าไม่ใช่ประเด็นที่น่าจะส่งผลอันตรายต่อการใช้ชีวิตคู่ในอนาคต เช่น เขาเห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงในครอบครัว สนับสนุนการกลั่นแกล้งในสังคม หรือนโยบายที่ลุกล้ำความเป็นส่วนตัวของผู้คน) แต่เปลี่ยนไปโฟกัสที่การรับฟังหรือการเปิดใจของเขาที่มีต่อมุมมองของเราแทน เช่น เขาบอกว่า “ที่คุณคิดแบบนั้นก็ไม่ผิดนะ แต่ลองฟังในมุมของเราดูมั้ย?” แบบนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าเขาเคารพความคิดของเรา แม้จะเห็นต่างจากเราก็ตาม และต่อให้ไม่ว่าเรากับเขาจะถกกันเรื่องพระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่? หรือน้ำแข็งขั้วโลกละลายเป็นเพราะใครกันแน่? ก็คงไม่ทะเลาะกันจนแตกหักแน่นอน
จากการพบปะและพูดคุยกันครั้งนี้ เราก็คงได้เรียนรู้อะไรมากมายที่สะท้อนออกมาจากคู่เดต นอกเหนือไปจากเพลง ภาพยนตร์ หนังสือ หรืองานอดิเรกที่เขาชอบ ซึ่งการจะเดินหน้าสานต่อหรือหยุดพอแค่นี้ ก็คงอยู่ที่เราแล้วล่ะว่าซีเรียสกับความเห็นต่างในบางประเด็นของเขามากน้อยแค่ไหน เพราะไม่ว่ายังไง เราก็มีสิทธิ์เลือก ‘คนที่ใช่ที่สุด’ ให้กับตัวเองอยู่แล้วนี่เนอะ
และแม้ว่าในท้ายที่สุด เราอาจจะลงเอยกับคู่เดตที่มีความเห็นไม่สอดคล้องกันบ้าง แต่การตามหาใครสักคนที่เข้ากันได้ ไม่ได้แปลว่าคนคนนั้นจะต้องเป็นภาพสะท้อนของเราเสมอไป เพราะถ้าหากเขาคนนั้นยินดีที่จะเปิดรับและเรียนรู้มุมมองของเรา ไปพร้อมๆ กับถ่ายทอดมุมมองของตัวเองออกมาได้อย่างสบายใจ โดยไม่โจมตีกันและกัน มันก็อาจทำให้ความสัมพันธ์นั้นมีชีวิตชีวาและเป็นพื้นที่ปลอดภัยที่จะคุยกันทุกเรื่องก็ได้นะ
อ้างอิงข้อมูลจาก