ในยุคที่อะไรๆ ก็เร็วไปหมด การมีทักษะเดียวที่ลงลึกอาจไม่ได้หมายความถึงการอยู่รอด การพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลจึงเป็นสิ่งสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แค่หยุดหาความรู้ใหม่ๆ มาใส่ตัว ก็เท่ากับเราเดินตามหลังคนอื่นแล้ว
‘Digital Transformation’ คำนี้เราน่าจะได้ยินกันบ่อยขึ้น การเปลี่ยนแปลงองค์กรสู่ดิจิทัล กลายเป็นสิ่งที่บริษัทต่างๆ พยายามทำ สร้างศักยภาพการแข่งขันทางธุรกิจให้เท่าทันเทคโนโลยีที่กำลังเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว
ความท้าทายที่ว่าไม่เกิดแค่กับเฉพาะผู้บริหารระดับสูงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงพนักงาน และเหล่านักศึกษาที่กำลังก้าวสู่โลกของการทำงานในอนาคต
เมื่อสกิลที่มาจากห้องเรียนและตำราอาจไม่เพียงพอ เพราะถ้าอยากไปให้ไกล ทุกคนต้องเติมทักษะเชิงดิจิทัลใหม่ๆ ไว้กับตัว เตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลง และอัพเกรดตัวเองให้เท่าทัน
Skooldio จึงพัฒนาเทคโนโลยีด้านการศึกษา (Edtech) เปิดคอร์สสอนทั้งออฟไลน์และออนไลน์ หยิบเฉพาะชุดทักษะสมัยใหม่ที่กำลังเป็นที่ต้องการ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนโปรแกรม วิทยาศาสตร์ข้อมูล กระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือการทำธุรกิจดิจิทัล
The MATTER ชวนคุยกับ ดร.วิโรจน์ จิรพัฒนกุล Co-Founder ของ Skooldio ว่าทำไมเราต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา? ถ้าเราหยุดเรียนรู้เราจะตามคนอื่นไม่ทันจริงหรือ? โลกมันน่ากลัวขนาดนั้น…
แล้วทักษะอะไรบ้างที่กำลังเป็นที่ต้องการของตลาดตอนนี้?
ช่วงนี้คอร์สเรียนออนไลน์บูมมากๆ ทำให้เกิดทัศนคติว่า ‘ต้องเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา’ คุณมีคิดเห็นยังไงกับทัศนคตินี้
วิโรจน์: ส่วนตัวผมเชื่อเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะทุกครั้งที่คนทำงานเงินเดือนเพิ่มขึ้น บริษัทก็เพิ่มคาดหวังจากเราด้วยเช่นกัน เราจึงต้องสามารถทำอะไรได้มากกว่าเดิม มีความรับผิดชอบมากกว่าเดิม นั่นแปลว่าเราจะต้องมีทักษะมากกว่าเดิม ทุกคนจึงต้องพัฒนาตัวเองตลอดเวลา
พอ COVID-19 เข้ามา เราทำงาน work from home กันหมด จากที่เสียเวลาออกจากบ้านหนึ่งชั่วโมง เดินทางกลับบ้านอีกชั่วโมงหนึ่ง เรามีเวลาสองชั่วโมงกลับมาทันที ซึ่งเราสามารถเอาเวลานี้ไปทำอะไรก็ได้ จะนอนเฉยๆ ก็ได้ หรือจะดูซีรีส์ก็ได้ หรือจะเอาเวลาสองชั่วโมงนั้นมาพัฒนาตัวเอง
การพัฒนาตัวเองสำคัญมากขึ้นในยุคนี้ พอเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็ว พฤติกรรมลูกค้าก็เปลี่ยนไป แต่ก่อนเราเคยใช้ชีวิตในโลกออฟไลน์ แต่ปัจจุบันทุกอย่างเราทำผ่านเว็บไซต์หรือผ่านแอปฯ ทั้งหมด ฉะนั้นเทคโนโลยีเปลี่ยน ความต้องการของลูกค้าเปลี่ยน กลายเป็นว่าทุกธุรกิจต้องเริ่มปรับตัว
เรากำลังถูกดิจิทัลเข้ามาเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำงานของธุรกิจ ใครที่เรียนรู้ได้เร็ว จะมีโอกาสเป็นคนเก่งที่สุดได้ไม่ยาก เช่น วันนี้มีเรื่องใหม่ออกมาซึ่งยังไม่มีใครรู้มาก่อน แต่ถ้าเรารู้เป็นคนแรก ตั้งใจศึกษา เข้าใจ ทดลองใช้ เราจะเป็นผู้เชี่ยวชาญก่อนคนอื่น นั่นคือโอกาสที่เราจะเติบโตในอาชีพการงานครับ
ทัศนคติที่ต้องเรียนรู้ตลอดเวลา เป็นการกดดันตัวเองมากเกินไปไหม
วิโรจน์: ก็กดดันนะ แต่สุดท้าย ถ้าเราบาลานซ์ได้ ถ้าเราโอเคกับตำแหน่ง กับเงินเดือน ไม่อยากเติบโตไปไกลกว่านี้ การอยู่เท่าเดิมก็ไม่ใช่เรื่องผิด ถ้าเราเลือกให้ความสำคัญกับส่วนอื่นๆ ในชีวิต เช่น อยากใช้เวลากับคนรัก ครอบครัว หรืองานอดิเรก งานหลักทำแค่ส่วนหนึ่ง ส่วนที่เหลือฉันอยากจะไปขายของออนไลน์ ไปชมนกชมไม้ก็ได้ แล้วแต่ว่าใครให้คุณค่ากับอะไรในชีวิตมากกว่ากันครับ แต่ถ้าอยากประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน การพัฒนาตัวเองเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ เราอยู่ในยุคที่ถ้าอยู่เฉยๆ ก็เท่ากับเราถอยหลังแล้ว เพราะคนอื่นเขาจะพัฒนาได้เร็วกว่าเรา
มนุษย์โดยทั่วไปตามหลักจิตวิทยามนุษย์ จะรู้สึกดีขึ้นถ้าเราทำอะไรยากๆ ได้สำเร็จ เช่น เวลาเล่นเกมชนะ หรือทำชาเลนจ์ยากๆ สำเร็จ เราจะหลั่งฮอร์โมนให้รู้สึกดี ฉะนั้นเราจะทำยังไงให้การทำงานเป็นเรื่องสนุก คือ life กับ work มันแยกกันไม่ได้ 100% หรอกครับ การมีอาชีพการงานที่ดี ชีวิตเราก็ดีขึ้น ผมคิดว่ามันเป็นเรื่องเดียวกัน
คำว่า ‘เก่ง’ คำว่า ‘ประสบความสำเร็จ’ มีอะไรเป็นตัววัดไหม
วิโรจน์: แล้วแต่คนเลยนะ อาจจะไม่ใช่แค่เงินเดือนขึ้น ไม่ใช่การมีอาชีพที่ดี หลายคนความสำเร็จคือการทำอะไรแล้วมีผลกระทบ (impact) กับสังคม มีประโยชน์ต่อการใช้ชีวิตของคนอื่น
ทำไมคนเราต้องเรียนรู้ทักษะหลากหลาย หรือว่าปัจจุบันการมีทักษะเดียวมันไม่พออีกต่อไป
วิโรจน์: ใช่ครับ ทุกวันนี้การมีทักษะเดียวไม่พอ จริงๆ ก็มีมาตั้งแต่อดีตแล้วนะ ว่าคนทำงานได้ดีจะต้องเป็นคนที่รู้รอบ ยกตัวอย่างผู้บริหารองค์กรที่ประสบความสำเร็จ ทักษะที่เขามีคือการเห็นภาพกว้าง รู้ว่าโปรดักต์ที่ดีเป็นยังไง เขาต้องมีเซนส์เรื่องโปรดักต์ การตลาด การเงิน เศรษฐกิจ หรือเทคโนโลยี เพราะฉะนั้นคนเก่งต้องมีทักษะหลากหลายอยู่แล้ว
แต่ทุกวันนี้เทคโนโลยียากๆ เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เช่น การเขียนโค้ด การทำแอปฯ การเขียนโปรแกรม คนที่ไม่รู้อะไรเลยก็จะไปต่อยากมาก ทุกวันนี้ทุกบริษัทอยากทำแอปฯ แต่ถ้าคุณเอาโปรเจกต์เมเนเจอร์ที่ไม่เข้าใจเลยการทำแอปฯ มาทำงาน เขาจะไม่รู้ว่าต้องเริ่มยังไง ต้องคุยอะไรกับทีม เขาก็จะบริหารโปรเจ็กต์แบบไม่เข้าใจอะไรเลย
ถ้าอย่างนั้นการเก่งเรื่องเดียวแล้วเชี่ยวชาญ กับการเก่งหลายๆ ด้านแบบพื้นฐาน คุณคิดว่าแบบไหนสำคัญกว่ากัน
วิโรจน์: จริงๆ ได้ทั้งคู่ แต่ดีที่สุดการมีทักษะแบบ T-shaped คือตัว T จะมีหนึ่งด้านที่เรารู้ลึกกว่าคนอื่น ในขณะเดียวกันเราก็ควรรู้เรื่องอื่นๆ รอบๆ ทักษะนั้น แล้วเราจะทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดีมากยิ่งขึ้น
บางครั้งคนที่รู้เรื่องเดียว เขาเก่งมากๆ แต่คุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง ซึ่งคนรู้ลึกมักจะเป็นนักวิจัย แต่น่าเศร้าที่เรามักได้ยินว่างานวิจัยขึ้นหิ้ง คือตอนวิจัยเขาไม่ได้มองภาพกว้างว่าตลาดมีอะไร เช่น เขาวิจัยสุดยอดวัสดุมาเลย แข็งแรง น้ำหนักเบา แต่ไม่รู้เอาไปทำอะไรได้ ฉะนั้นถ้าเขามีทักษะทางธุรกิจก็จะตอบโจทย์มากกว่าเดิม งานวิจัยชิ้นนั้นก็จะมีคุณค่าทางธุรกิจขึ้นมาทันที
เมื่อโลกหมุนเร็วขึ้น ทักษะใหม่ๆ เกิดขึ้นตลอดเวลา แล้วทักษะอะไรที่ตลาดกำลังเป็นที่ต้องการ
วิโรจน์: ถ้าตอบรวบรัดแบบง่ายที่สุดคือ ‘ทักษะดิจิทัล’ ไม่ว่าจะเป็นทักษะเชิงเทคนิค เช่น การเขียนโปรแกรม การสร้างซอร์ฟแวร์ แต่ถ้าไม่ใช่เชิงเทคนิคก็ต้องเข้าใจว่าเว็บไซต์มันทำงานยังไง แอปฯ ทำงานยังไง เวลากดปุ่มนี้จะเกิดอะไรขึ้น ผมว่าเราต้องมีความรู้ความเข้าใจพื้นฐานตรงนี้ก่อน ซึ่งหลายคนเรียกกว้างๆ ว่า Digital Literacy
ถามว่าทำไมถึงสำคัญ เพราะบริษัทใหญ่ๆ ระดับโลกทั้งหมดคือบริษัทซอร์ฟแวร์ เช่น Airbnb ดูเหมือนจะเป็นธุรกิจโรงแรม แต่จริงๆ คือบริษัทซอร์ฟแวร์ หน้าที่เขาคือทำเว็บไซต์ให้เราหาที่พักได้ คนมีห้องว่างก็สามารถมาปล่อยห้อง เขาไม่ได้เป็นเจ้าของห้องสักห้อง หรือ Uber ก็คล้ายๆ กัน เขาคือบริษัทซอร์ฟแวร์ ไม่ได้เป็นเจ้าของรถแท็กซี่สักคันในโลกนี้
และถ้ามองใกล้ตัวมากขึ้นอีก ทุกวันนี้มีอุปกรณ์ทุกอย่างรอบตัวเป็นซอฟต์แวร์เกือบทั้งหมด เช่น แต่ก่อนเครื่องชั่งน้ำหนักเป็นเข็ม แต่ตอนนี้เป็นดิจิทัลหมด ชั่งเสร็จข้อมูลส่งเข้าแอปฯ ทำให้เราสามารถติดตามน้ำหนักตัวเองได้ตลอดเวลา หรือตอนนี้เวลาเปิดบัญชีธนาคาร เราไม่ถามแล้วว่าแบงก์ไหนดี แต่ถามว่าแบงก์ไหนแอปฯ ดีสุด ใช้งานง่ายสุด หรือแอปฯ ไหนไม่ล่ม กลายเป็นว่าเราต้องมาสนใจเรื่องประสบการณ์การใช้งาน ทำยังไงให้ใช้ง่ายและตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด ทุกธุรกิจจึงต้องมาแข่งขันกันทาง UX (user experience) และ UI (user interface) แทน หรือถ้าล้ำๆ ไปอีกขั้นก็พวก Machine Learning ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็น Hard Skills นะครับ ผมเลยมองว่าแต่ละอาชีพมีมุมที่เทคโนโลยีใหม่ๆ มาช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้น และถ้าเราเรียนรู้เทคโนโลยีนั้นๆ นั่นแปลว่าเราจะสามารถเป็นคนที่เก่งในสายงานของเราทันที
แล้วทักษะที่เป็น Soft Skills มีอะไรบ้าง
วิโรจน์: เบื้องต้นคือความสามารถในการเข้าใจผู้อื่นหรือ Empathy ถ้าเราอยากออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ดี เราต้องเข้าใจลูกค้า ถ้าเราทำงานเป็นทีมภายในองค์กร เราต้องเข้าใจเพื่อนร่วมงาน แล้วกระบวนการทำงานต่างๆ ในองค์กรง่ายขึ้น องค์กรก็จะสามารถขับเคลื่อนไปได้เร็ว
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญมากๆ คือ Creativity ซึ่งไม่ได้มีได้ทันที มันต้องค่อยๆ ฝึก เพราะตอนนี้เทคโนโลยีเติบโตแบบ Exponential คำถามคือธุรกิจเราโตแบบ Exponential ได้หรือเปล่า เราจะสามารถเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาแก้ปัญหาเดิมของลูกค้าให้ง่ายขึ้น 10 เท่า 100 เท่า นั่นคือโอกาสใหม่ที่เกิดขึ้น ฉะนั้นทักษะพวกนี้สำคัญมาก
สรุปคือ Empathy สำคัญเพราะเราต้องทำของให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด Creativity สำคัญเพราะเทคโนโลยีมาเยอะ แล้วทั้งสองทักษะนี้เป็นทักษะที่คอมพิวเตอร์ทำไม่ได้ เป็นคุณค่าความเป็นคนของเราครับ
การเรียนรู้ถือเป็นหนทางการเอาตัวรอดของคนทำงานยุคใหม่หรือเปล่า
วิโรจน์: การเรียนรู้ถือเป็นการเอาตัวรอดครับ ยุคนี้ถ้าอยู่เฉยๆ ก็ถอยหลังแล้ว คือถ้าเพื่อนร่วมงานเรารู้ แต่เราไม่รู้ นั่นคือเรารู้น้อยกว่าเขาแล้ว โลกทุกวันนี้ไม่มีกรอบแล้วว่า คุณอายุน้อยกว่าคุณต้องเงินเดือนน้อยกว่า คือเด็กจบใหม่สดกว่า มีไอเดียดีกว่า เขาก็มีโอกาสก้าวหน้าได้มากกว่าคนเก่านะ
แต่ทักษะที่พูดมาเหล่านี้ เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยแทบไม่มีสอนเลยนะ
วิโรจน์: ถูกต้องครับ นั่นเลยเป็นจุดเริ่มต้นของ Skooldio เรามองเห็นปัญหาช่องว่างของทักษะ (Skill Gap) ที่มหาวิทยาลัยสอนไม่ตรงกับสิ่งที่อุตสาหกรรมต้องการ เรามักได้ยินข่าวโปรแกรมเมอร์ตกงาน พร้อมๆ กับข่าวโปรแกรมเมอร์ขาดตลาด ซึ่งสองอย่างนี้ไม่ควรเกิดขึ้นพร้อมกัน แต่จริงๆ แล้วคือ โปรแกรมเมอร์ไม่เก่งตกงาน แต่โปรแกรมเมอร์คุณภาพขาดตลาด คุณตกงานเพราะคุณไม่มีทักษะที่ตลาดต้องการต่างหาก
ผมชอบยกตัวอย่าง ตอนเรียนปริญญาตรี วิศวะ คอมฯ ตอนนั้นไม่มีสอน Mobile Application นะครับ เพราะยุคนั้นไม่มีสมาร์ตโฟน ฉะนั้นทุกคนจะต้องไปเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เหล่านี้เพิ่มเติมตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป หรือคนเรียนการตลาด ทุกวันนี้ 4P (Product, Price, Place, Promotion) ยังมีประโยชน์ แต่สิ่งที่มีประโยชน์มากกว่า 4P คือเราจะยิงแอดฯ Facebook หรือ Google ยังไงให้แคมเปญประสบความสำเร็จ นี่คือช่องว่างของทักษะที่เกิดขึ้น เราเลยเชิญคนในอุตสาหกรรมต่างๆ มาสอนเอง เพราะเขามองเห็นปัญหาว่าคืออะไร
จริงๆ มหาวิทยาลัยไม่ผิดนะครับ แค่ 4 ปีที่เรียน ทุกคนก็เรียนอัดแน่นมากพอแล้ว แต่มหาวิทยาลัยจะโฟกัสความรู้พื้นฐานซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ เพราะถ้าพื้นฐานไม่ดี เราจะศึกษาต่อยอดไม่ได้ Skooldio จึงไม่ได้ดิสรัปต์มหาวิทยาลัยนะครับ เรามองว่าช่วยๆ กันมากกว่า เด็กขาดอะไร เราก็เติมให้เด็กพร้อมไปทำงาน ทำให้เด็กที่จบออกมาสมบูรณ์แบบมากขึ้น
ทำไมการเรียนออนไลน์จึงต้องมีประกาศนียบัตรมอบให้กับนักเรียนด้วย ประกาศนียบัตรนั้นมันมีฟังก์ชันอะไรบ้าง
วิโรจน์: เวลาพูดเรื่องใบประกาศ ผมลำบากใจมาก (หัวเราะ) เพราะตอนเปิด Skooldio ใหม่ๆ เราชัดเจนว่าจะไม่แจกใบประกาศ เพราะต่อให้เราสอนดีแค่ไหน ถ้าเขายังไม่เคยนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ เราไม่กล้าไปตีตราบอกว่าเขาเก่งแล้ว แต่ด้วยสังคมไทยยังให้ค่ากับประกาศนียบัตร คิดดูว่าคำถามที่ผมตอบบ่อยที่สุดในเพจ Skooldio คือ “เรียนจบคอร์สแล้วได้ใบประกาศไหม?” สุดท้ายเราก็ต้องทำใบประกาศแจก แต่ก็ขึ้นอยู่กับนายจ้างแหละครับ เพราะเดี๋ยวนี้ใบประกาศมันได้ง่ายมากๆ แค่สมัครเรียน กดปุ่มเล่นคลิปค้างไว้แบบไม่เรียนด้วยซ้ำ เขาก็ได้ใบประกาศแล้ว นายจ้างก็จะลดคุณค่าของใบประกาศลงไปเอง
แต่อย่างน้อยใบประกาศเป็นสัญญาณที่ดีว่าคนคนนั้นใฝ่รู้นะ เขามีหลักฐานว่าพยายามเรียนรู้ พยายามศึกษาเพิ่มเติม นั่นคือมุมประโยชน์ที่เป็นสัญญาณว่าเขาอยากพัฒนาตัวเอง แต่สุดท้ายก็ต้องมีวิธีทดสอบทักษะของเขาอยู่ดี
ที่ผ่านมากลุ่มผู้เรียนของ Skooldio มีใครเป็นหลัก
วิโรจน์: หลักๆ เป็นคนทำงานครับ ส่วนใหญ่เป็นคนที่บริษัทส่งมา เพราะบริษัทอยากให้คุณเก่งขึ้น ถ้าคุณเก่งขึ้น บริษัทก็จะได้ประโยชน์จากคุณมากขึ้น แต่ถ้าเป็นลูกค้าบุคคล ส่วนใหญ่จะเป็นคนที่อยากย้ายสายงาน อยากเปลี่ยนอาชีพ อยากเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ หรืออยากกระโดดมาทำอะไรที่เป็นทักษะใหม่ๆ ที่เซ็กซี่มากขึ้น ได้เงินเดือนมากขึ้น ส่วนอีกกลุ่มที่เราลงไปก็คือกลุ่มนักศึกษา เพื่อให้เขาพร้อมก่อนที่ออกมาในตลาดแรงงานครับ
ถามแยกประเด็นมานิดหนึ่ง ในอนาคตการเรียนการสอน คุณคิดว่ามันสามารถย้ายไปอยู่ในโลกออนไลน์ได้หมดเลยไหม
วิโรจน์: เชื่อว่าไม่ได้ 100% ผมยังมองว่าการเรียนที่โรงเรียนยังสำคัญ เพราะเด็กจะได้ Social Skills จากการทำกิจกรรมต่างๆ ในโรงเรียน ฉะนั้นการเรียนออนไลน์ 100% ไม่เวิร์กหรอก เด็กจะเข้าสังคมไม่เป็น เขินๆ กลัวๆ ตลอดเวลา ส่วนคอนเทนต์การเรียนในประเทศไทยสอนกันหนักอยู่แล้ว แต่สิ่งที่ขาดคือการขาดแรงจูงใจ (motivation) ในการเรียน เช่น เด็กไม่รู้ว่าจะเรียนตรีโกณมิติไปทำไม สำคัญอย่างไรในชีวิต
หลายคนเห็นโมเดลของประเทศฟินแลนด์แล้วสนใจ เด็กได้เล่นและเกิดการเรียนรู้ คือเขาสอนให้เด็กรู้ว่าตกลงฉันเรียนสิ่งสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร แน่นอนเด็กจะตื่นเต้นแล้วอยากรู้มากกว่า แต่ถ้าสอนทฤษฎีไปก่อนแบบเรา เด็กไม่อยากเรียนหรอก ผมว่าบทบาทหน้าที่หนึ่งของครูไม่ใช่แค่ถ่ายทอดความรู้ หน้าที่เขาคือสร้างแรงจูงใจให้เด็กพยายามมากขึ้นด้วย
เราจะสร้างแรงจูงใจที่ว่าได้อย่างไร
วิโรจน์: เราไม่จำเป็นต้องเก่งที่สุด แต่ต้องขยับไปพร้อมความเปลี่ยนแปลงได้ ไม่งั้นเราจะเป็นคนไม่มีความสามารถ เพราะทักษะไม่ได้ตอบโจทย์สิ่งที่ธุรกิจต้องการ เราก็เลยต้องขยันขึ้นอีกหน่อย สรุปก็คือ การพัฒนาตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญมากในยุคที่ทุกๆ อย่างเปลี่ยนเร็ว
โลกเราไม่ได้มีคนเก่งที่สุดได้ทุกคน แต่อย่างน้อยเราต้องมีทักษะที่โลกต้องการอยู่ ยุคนี้เป็นยุคของโอกาสครับ ยิ่งเทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วเท่าไหร่ ถ้าเราปรับได้ก่อนคนอื่น เราก็จะวิ่งนำหน้าคนอื่นไปหนึ่งก้าว นั่นคือโอกาสที่ดีมากในการเติบโตและประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน แต่ถ้าไม่อยากเป็นคนวิ่งเร็วที่สุด ฉันวิ่งจ็อกกิ้งของฉันไปเรื่อยๆ ก็โอเคแล้ว ขอแค่เกาะเพื่อนๆ เราไปให้ทัน หรือเกาะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปให้ทัน อย่าเป็นคนที่รั้งท้ายที่เดินไปข้างหน้าต่อไม่ได้ก็พอ
การเรียนทักษะไม่ใช่สิทธิพิเศษอีกต่อไป แต่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่ต้องเติมให้ตัวเองครับ ถ้าคุณอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น กรุณาไปเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ ซะ แล้วคุณจะได้มีชีวิตที่ดีขึ้น