ถ้าพูดถึง ‘เมืองที่ฉลาด’ คุณนึกถึงเมืองหน้าตาแบบไหน?
เมืองที่มีระบบระเบียบและปลอดภัย ทุกอย่างจัดการได้ผ่านหน้าจอ ตรวจจับด้วยเซ็นเซอร์ หรือไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้นเพราะมี AI คอยช่วย (เจ๋งป้ะล่ะ!) หรือเมืองที่คิดถึงความยั่งยืน เลือกใช้พลังงานทดแทน ลดการปล่อยคาร์บอนได้ออกไซด์ และมีวิธีจัดการขยะให้เหลือศูนย์ (zero waste)
ถ้าพูดถึงเรื่องเมืองฉลาดหรือ Smart City ห้องแลบหนึ่งของ MIT ที่พยายามศึกษาค้นคว้าหาทางพัฒนาและแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเมืองมาสิบกว่าปีอย่าง SENSEable City Lab น่าจะเป็นหนึ่งในทีมที่พูดคุยเรื่องเมืองๆ ได้ดีที่สุด
The MATTER ได้มีโอกาสพูดคุย ‘Assaf Biderman’ Associate Director จาก MIT’s SENSEable City Lab เกี่ยวกับเรื่องเมืองๆ ก่อนที่เขาจะเดินทางมาร่วมงาน MIT Global Startup Workshop 2018 ที่กรุงเทพฯ ในช่วงวันที่ 26-28 มีนาคมนี้
‘เมืองที่ฉลาด’ สำหรับเขาหน้าตาเป็นแบบไหน เราจะสร้างคนให้สร้างเมืองที่ฉลาดได้ยังไง และต่อไปเทคโนโลยีอะไรน่าจะมีบทบาทกับเมืองในอนาคตบ้าง
Smart City ดูจะเป็นประเด็นที่หลายคน หลายองค์กร และหลายประเทศพูดถึง สำหรับคุณ ‘เมืองที่ฉลาด’ หน้าตาเป็นยังไง
สำหรับผมมี 4 อย่างหลักๆ ที่ทำให้เมืองเมืองหนึ่งจะกลายเป็นเมืองที่ฉลาดได้ อย่างแรกที่ผมคิดว่าสำคัญที่สุดเลยคือ ‘การให้พลเมืองมีส่วนร่วม’ (engaged citizens) เพราะคนกับเมืองมันแยกออกจากกันไม่ได้ เมืองต้องถูกจัดการโดยคนที่อาศัยอยู่ในนั้น
อย่างที่สองคือ เมืองต้องมี ‘โครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล’ (digital infrastructure) หมายถึงว่าองค์ประกอบต่างๆ ของเมืองที่จับต้องได้ ที่เราใช้กันปกติ ต้องมีการเชื่อมโยงกับระบบดิจิทัล นั่นหมายถึงมีการติดตั้งเซ็นเซอร์ต่างๆ ในพื้นที่ แล้วเชื่อมโยงกับ AI ในบริเวณนั้น หรือที่อยู่ใน cloud อะไรก็แล้วแต่ แต่ที่สำคัญคือต้องมีระบบที่กระตุ้นให้เกิดแอคชั่น (actuator) อยู่ในเมือง เพื่อให้เมืองตอบสนองกับคนในแบบเรียลไทม์
อย่างที่สามคือ ‘ผู้ปกครองที่มีความเข้าใจด้านดิจิทัล’ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับประเทศ ในความเห็นของผม เขาต้องมองโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพกับทางดิจิทัลเป็นเรื่องเดียวกันนะ ไม่ใช่ว่าทำอย่างหนึ่งก่อนแล้วค่อยทำอีกอย่างตาม แต่ต้องมีกระบวนการคิดและทำมันขึ้นมาพร้อมกัน แล้วก็ต้องมองว่ามันสำคัญและจำเป็นเท่าๆ กับถนนหรือไฟฟ้าที่คนใช้กันในชีวิตประจำวัน ซึ่งแปลว่าเขาก็ต้องเรียนรู้วิธีที่จะจัดการมันด้วย
อย่างสุดท้ายคือ ‘สภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมเทคโนโลยีและนวัตกรรม’ จะส่งเสริมสตาร์ทอัพให้ก้าวสู่ระดับโลกยังไง จะทำยังไงให้คนในเมืองลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งก็เป็นความรับผิดชอบของผู้ปกครองเมืองแหละ
คือถ้าไม่มีสี่อย่างนี้ หรือมีไม่ครบ อย่างเช่นว่ามีระบบการจราจรอัจฉริยะ มีเซ็นเซอร์ตรวจวัดนั่นนี่ แต่ว่าคนไม่ได้มีส่วนร่วมอะไรเลยในการตัดสินใจเรื่องเมือง หรือรัฐไม่ได้เข้าใจในสิ่งที่ตัวเองเอามาใช้ในเมือง ผมว่าเมืองนั้นก็จะเป็นเมืองเมืองหนึ่ง ที่อาจจะดูเรียบร้อยดี มีระบบการบริหารจัดการแบบบนลงล่าง (top-down society) แต่ว่ามันจะไม่ใช่เมืองที่ฉลาด เท่านั้นเอง
คุณพูดถึงการให้พลเมืองมีส่วนร่วม ในทางปฏิบัติต้องทำยังไง
ผมว่าพื้นฐานง่ายๆ ที่ใครๆ ก็นึกได้เลยคือ ‘การโหวต’ ครับ เพราะมันคือการได้ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานมากๆ ของความเป็นคน ความเป็นพลเมืองเลย อย่างที่บอกว่าเราแยกคนกับเมืองออกจากกันไม่ได้ พลเมืองก็คือคนของเมือง เวลาจะสร้างอะไรหรือออกกฏอะไรสักอย่างขึ้นมา ก็ควรฟังเสียงคนในเมืองไหม
แล้วการที่รัฐหรือผู้ปกครองอนุญาตให้คนมีส่วนร่วมได้ รัฐเองก็จะได้ประโยชน์นะ เพราะได้สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของให้กับคน แล้วก็จะมีคนช่วยทำงานมากขึ้นในการเสนอหรือสร้างสิ่งที่จะพัฒนาเมือง คนทั่วๆ ไป ที่เราเดินสวนกันบนถนน อาจจะมีไอเดียอะไรเจ๋งๆ ที่ผมกับคุณคาดไม่ถึง แล้วมันก็เป็นประโยชน์ต่อคนและเมืองจริงๆ เพราะมันเป็นสิ่งที่คนสร้างให้คนด้วยกันเอง (people for people) สร้างจากความต้องการจริงๆ ไม่ได้คิดจากภาพใหญ่เหมือนองค์กรของรัฐ
แปลว่าในเมืองที่ฉลาด คนจะสามารถจัดการกันเองได้โดยพึ่งพารัฐน้อยลงหรือเปล่า
ผมมองว่ามันคือการทำงานร่วมกันมากกว่า คือต้องอาศัยทั้งการจัดการแบบบนลงล่าง (top-down management) และการมีส่วนร่วมจากล่างขึ้นบน (bottom-up engagement) ข้างบนสร้าง ข้างล่างช่วย optimize อะไรประมาณนั้น แต่ส่วนใหญ่มันจะเป็นการจัดการทางเดียวไง ก็เพราะมันเป็นวิธีที่สะดวกและง่ายสำหรับรัฐมากกว่า
พอเป็นแบบนั้น ต่อให้เรามีระบบตอบรับเหตุฉุกเฉินหรือไฟจราจรอัจฉริยะ มันก็จะไม่ช่วยอะไร เราไม่ได้จัดการพลังงานได้ดีขึ้น รถไม่ได้ติดน้อยลง เพราะคนทั่วๆ ไปก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งเหล่านั้นจริงๆ เพราะสิ่งเหล่านั้นมันถูกสร้างมาแบบไม่ปรึกษาเรา กรณีอย่าง Brasília เมืองหลวงของบราซิลน่าจะเป็นบทเรียนได้ดี เมื่อศตวรรษที่ 20 รัฐวางแผนจะสร้างเมืองนี้ให้เป็นเมืองแห่งนวัตกรรมและอนาคต จัดโซนที่อยู่อาศัย วางผังว่าอะไรอยู่ตรงไหน โซนนี้ทำธุรกิจอะไรได้บ้าง แต่เชื่อไหม ไม่นานแผนนั้นก็ล้มเหลว เพราะเมืองไม่ได้ออกแบบมาเพื่อคน คนอาศัยอยู่ในนั้นก็เริ่มใช้พื้นที่แบบที่พวกเขาต้องการจริงๆ
ต่อให้ใส่เทคโนโลยีล้ำๆ เข้าไปในเมืองทั้งหมด ต่อให้มีระบบบริหารจัดการแบบ smart government มันก็ไม่ ‘สมาร์ท’ หรอกนะ
โอเค ในทางเทคนิคมันใช่ แต่มันก็จะเหมือนดิสนีย์แลนด์เวอร์ชั่นดิจิทัล คือมีเครื่องเล่นเยอะแยะไปหมด แต่มันไม่ใช่โลกที่เราอยู่ได้จริงๆ คนเป็นคนสร้างคอนเทนต์ให้เมือง คนสำคัญกว่าโครงสร้างหรือองค์ประกอบอย่างอื่น และเมืองเป็นของคนครับ
ช่วยยกตัวอย่างการที่มีส่วนร่วมของคนในการจัดการเมืองให้ฟังหน่อย
ตัวอย่างง่ายๆ เลยนะ WAZE ไง ที่ Google ยอมลงเงิน 1.3 พันล้านเหรียญซื้อไป มันเป็นแอพฯ แผนที่ที่ใช้วิเคราะห์การจราจรโดยใช้ข้อมูล crowdsource คือเวลาคุณเปิดใช้แอพฯ มันก็จะเก็บข้อมูลโลเคชั่นและความเร็วในการเคลื่อนที่ของคุณ เอาไปคำนวณโมเดลการจราจร เพื่อเป็นข้อมูลให้กับคนอื่นๆ ที่ใช้แอพฯ นี้อยู่ แล้วผู้ใช้ก็สามารถรายงานอุบัติเหตุหรืออัพเดทข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับคนขับคนอื่น อย่างเช่นปั๊มน้ำมันหรือร้านสะดวกซื้อระหว่างทาง เข้าไปในฐานข้อมูลได้ด้วย
แอพฯ นี้สร้างขึ้นโดยสตาร์ทอัพอิสราเอลที่เป็นบริษัทเล็กๆ ไม่มีการสนับสนุนจากรัฐ แต่อาศัยความช่วยเหลือจากคนที่ต้องใช้รถใช้ถนนจริงๆ ทำให้ข้อมูลมีประโยชน์และใช้งานได้จริงมากกว่าข้อมูลของบริษัทใหญ่ๆ หรือข้อมูลจากเซ็นเซอร์ของรัฐเสียด้วยซ้ำ สุดท้ายรัฐเองก็ยังต้องมาอาศัยของมูลจาก WAZE ด้วยก่อนที่ Google จะซื้อไป
แล้วเมืองไหนมีการจัดการแบบบนลงล่างที่น่าสนใจบ้าง
ผมว่า Smart Grid ในสิงคโปร์ก็น่าจะเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจนะ มันเป็นกรณีที่ต้องใช้การจัดการแบบบนลงล่าง เพราะมันต้องอาศัยเงินลงทุนจำนวนมาก ต้องหาผู้ร่วมทุนหลายคน ต้องอาศัยผู้ถือครองแหล่งพลังงานขนาดใหญ่และมากพอ ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานและผู้ให้บริการที่หลากหลาย เพื่อให้มีข้อมูลและทรัพยากรที่ครอบคลุมและสมบูรณ์มากที่สุด ทั้งหมดนี้มันใหญ่เกินไปหน่อยสำหรับการจัดการแบบล่างขึ้นบน
จากงานวิจัยที่ทำๆ มา คุณว่าอะไรเป็นปัญหาที่หลายๆ เมืองทั่วโลกมีเหมือนหรือคล้ายกัน
รถติดครับ เป็นปัญหาอย่างหนึ่งซึ่งเมืองใหญ่ทุกเมืองมีเหมือนกัน เราทำงานวิจัยหลายชิ้นเกี่ยวกับการเคลื่อนที่ในเมือง (urban mobility) สิ่งหนึ่งที่เราเรียนรู้คือ เมื่อเมืองเติบโตขึ้น พลเมืองโดยเฉพาะชนชั้นกลางเพิ่มจำนวนมากขึ้น ประกอบกับเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น ระบบขนส่งที่เราใช้กันอยู่ในเมืองมันเริ่มไม่เพียงพอแล้ว และจากข้อมูล คาดการณ์ได้ว่าความต้องการระบบขนส่งทั่วโลกจะเพิ่มมากขึ้นโดยเฉลี่ยสามเท่าภายในกลางศตวรรษนี้ ยิ่งในเอเชียน่าจะเพิ่มสูงถึง 4-5 เท่า ลองคิดภาพถนนกรุงเทพฯ ตอนนี้สิ แล้วคิดว่ามีรถอีก 4 เท่าบนท้องถนนที่พยายามแย่งคุณพุ่งไปข้างหน้า หายนะชัดๆ
เราศึกษาการเดินทางของคนเมืองประมาณ 850 ล้านทริป เพื่อหาว่าอะไรคือสาเหตุของรถติด หนึ่งคือความต้องการใช้ถนนจำนวนมากของคนในเมือง สองคือความสามารถในการรองรับของถนนในเมือง ซึ่งสองอย่างนี้เปลี่ยนแปลงได้ยาก เพราะเราลดจำนวนคนไม่ได้ และการรื้อเมืองเพื่อวางถนนใหม่หรือขยายถนนก็ทำไม่ได้เหมือนกัน ทีนี้ก็เหลืออย่างที่สาม คือลักษณะการใช้งานของพาหนะบนท้องถนน (occupancy) ซึ่งค่าเฉลี่ยทั่วโลกพบว่าตอนนี้เราใช้พาหนะกันในสัดส่วน 1.55 คนต่อรถหนึ่งคัน นั่นเป็นสิ่งที่เราแก้ไขได้
ทีนี้เราเลยลองมาคิดว่า มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าการขับรถที่เราทำกันอยู่ไหม ถ้าเราให้คนใช้บริการคาร์พูลอย่าง Uber หรือ Grab แทน มันจะช่วยแก้ไขลักษณะการใช้งานของพาหนะบนท้องถนนได้ไหม ผลคือไม่ได้ต่างกันเท่าไหร่ เพราะเส้นทางในการเดินทางของแต่ละคนไม่ได้สอดคล้องกัน แถมทำให้เกิดความล่าช้าในการรอคนที่ขึ้นลงระหว่างทางด้วย
แล้วเราก็เลยมาสู่จุดที่คิดได้ว่า หรือเราใช้พาหนะที่ผิดอยู่บนท้องถนน มันใหญ่ไปหรือเปล่า ต้องลดขนาดไหม กับการเดินทางคนเดียวหรือแค่สองคน ถามว่าทำไมไม่ทำรถขนาดเล็ก ผมเคยคุยกับผู้ผลิต เขาบอกว่าเรายังไม่มีเทคโนโลยีหรือกลไกลตลาดที่สนับสนุนการย่อส่วนรถ ทำให้ทำออกมาแล้วราคาไม่ต่างหรือต่างกันนิดหน่อย คนก็เลือกซื้อรถคันที่ใหญ่กว่าอยู่ดี สุดท้ายทีมของผมก็เลยพัฒนา Copenhagen Wheel ออกมา และหวังว่ามันจะพัฒนาต่อไปให้กลายเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยแก้ปัญหาของเมืองได้
(ดูรายละเอียดเกี่ยวกับ Copenhagen Wheel เพิ่มได้ที่ : superpedestrian.com)
เราพูดกันถึงเรื่องการสร้างเมืองที่ฉลาด พูดถึงพลเมืองที่มีส่วนร่วม เราจะสร้างพลเมืองแบบนั้นขึ้นมาได้ยังไง
อย่างที่บอกว่าผมเชื่อในระบบการโหวต นั่นหมายถึงว่าทั้งคนและเมืองต้องมีความตระหนักใน ‘ประชาธิปไตย’ ถามว่าจะสร้างความตระหนักนี้ขึ้นมายังไงหรอ อืม… น่าจะด้วยระบบการศึกษาและการเลี้ยงดูนะ นี่ผมไม่ได้พูดในแง่เทคโนโลยีหรือดิจิทัลอย่างเดียว แต่มันคือพื้นฐานของประชาธิปไตยทั่วไปเลย เราจะสอนเด็กในประเทศเรายังไงให้อยากลุกขึ้นมาออกความเห็น แล้วที่สำคัญคือเราอนุญาตให้เขาทำแบบนั้นไหม เรายอมให้เขาทำในสิ่งที่เขาคิดเห็นแค่ไหน เรามีปฏิกิริยากันยังไงเมื่อเห็นเด็กๆ ลุกขึ้นมาทำอะไรใหม่ๆ เสนอตัวเป็นอาสาสมัคร ใช้สิทธิ์ออกเสียง หรือแม้แต่ลงสมัครเลือกตั้ง
ส่วนตัวผมมองว่ามันเป็นปัญหานะ ปัญหาที่หลายๆ ประเทศไม่ได้ตระหนักในประชาธิปไตยและการอนุญาตให้พลเมืองมีส่วนร่วมจริงๆ ปัญหาที่เกิดจากการสร้างระบบที่ไม่อนุญาตให้คนมีความคิดริเริ่มและลงมือทำ แล้วนั่นมันก็เลยทำให้เมืองไม่ก้าวสู่การเป็นเมืองที่ฉลาดได้จริงๆ เสียที
จริงๆ แล้ว ยิ่งมีโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลมากเท่าไหร่ ยิ่งมีเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพมากเท่าไหร่ ยิ่งพลเมืองมีส่วนร่วมในการดูแลเมืองมากเท่าไหร่ งานของรัฐก็ยิ่งวุ่นวายน้อยลง เขาไม่ต้องมานั่งดูแลงานในระดับปฏิบัติการ แต่ได้ไปบริหารจัดการในภาพใหญ่ ใช่ไง นั่นคือหน้าที่ของรัฐ เอาเวลาไปดูว่าจะทำยังไงให้มีความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลเหล่านี้ดีกว่าไหม ทำยังไงให้ทุกคนมีอินเทอร์เน็ตดีๆ ไว้ใช้ประโยชน์ หรือทำยังไงให้คนหันมาใช้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติได้อย่างปลอดภัย
ในอีก 5-10 ปีข้างหน้าคุณมองว่าเทคโนโลยีอะไรน่าจะมีบทบาทกับเมืองในอนาคตบ้าง
ผมว่าสมาร์ทโฟนจะยังคงเป็น interface สำหรับทุกอย่าง และ AI จะเข้ามาใช้ชีวิตร่วมกับเรามากขึ้น ทุกวันนี้เราก็เคลื่อนที่โดยไม่ได้เคลื่อนที่ หรือปรากฏตัวได้ในหลายๆ ที่ รวมถึงทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมกันได้ผ่านหน้าจอขนาดพกพา และต่อไปมันจะเชื่อมโยงเรากับเมืองได้มากขึ้น
แต่อย่างที่ผมบอกแหละว่า การที่เมืองจะเป็นเมืองที่ฉลาดไหม มันไม่ได้อยู่ที่ว่าเราตื่นขึ้นมาเจอเทคโนโลยีอะไรบ้าง แต่มันขึ้นอยู่กับว่าคุณกับผมได้ใช้มันในชีวิตจริงๆ ไหม ไม่งั้นมันก็จะเป็นเทคโนโลยีที่สร้างมาวางอยู่เฉยๆ แต่ไม่ได้มีประโยชน์อะไรกับเมืองหรือกับคนเลย