เคยหรือเปล่า แคร์เรื่องอะไรสักอย่างมากๆ แล้วก็ต้องหยุดไปเฉยๆ เพราะรับมันเอาไว้ไม่ไหว…
อาจจะตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างเพื่อนปรึกษาเรื่องแฟน ไปจนเรื่องตัวเลขผู้ติดเชื้อ หรือไปจนการดูแลคนชราในบ้าน อาการที่เกิดขึ้นอาจคล้ายอาการหมดไฟ แต่สิ่งที่รู้สึกนี้มีชื่อเรียกว่า ‘Compassion fatigue’ ซึ่งคือความเหนื่อยล้าจากความเห็นอกเห็นใจ อาการเหล่านี้มักพบมากในคนทำอาชีพที่ต้องพบเจอกับความเจ็บปวดของคนรอบข้างบ่อยครั้ง เช่น พยาบาล นักจิตวิทยา หรือคนที่ต้องดูแลคนชราหรือผู้พิการ
แต่ในปัจจุบัน ไม่จำเป็นที่เราต้องตกอยู่ในสถานการณ์เหล่านั้น เราก็สามารถเป็น Compassion fatigue ได้ เพราะเราสามารถประสบกับความเจ็บปวดเหล่านั้นผ่านสื่อได้โดยเฉพาะช่วงที่มีแต่ข่าวสารที่ก่อความรู้สึกลบ และยิ่งในปัจจุบันที่โซเชียลมีเดียสามารถนำความเจ็บปวดเหล่านั้นมาเสนอให้เราเห็นตลอดเวลา ความล้าหัวใจแบบนี้เกิดขึ้นได้ไม่ยากเลย
แม้ไม่ใกล้กัน แต่โซเชียลมีเดียทำให้รู้สึก
ทุกวันนี้เราเศร้าเรื่องอะไรบ้าง? นอกจากความเครียดในสถานการณ์บ้านเมืองแล้ว เราอาจเห็นอกเห็นใจความสูญเสียของสงครามที่ยุโรป อาจจะความลำบากของประชาชนประเทศเพื่อนบ้านจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในประเทศของเขา เรารู้สึกกับเรื่องที่ไกลเราขนาดนั้นได้เลยเหรอ? หากเป็นเมื่อก่อนอาจจะไม่ แต่เมื่อโซเชียลมีเดียทำให้ทุกคนใกล้กันกว่าที่เป็น ความรู้สึกเหล่านั้นสามารถเกิดขึ้นได้ มากพอที่เราจะเอาสุขภาพใจของเราเข้าแลก
หนึ่งในความดึงดูดของโซเชียลมีเดียคือความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ซึ่งนอกจากเพื่อนฝูงแล้ว ความสัมพันธ์มนุษย์ยังเกิดขึ้นกับคนแปลกหน้าได้ด้วย ตัวอย่างเช่นเมื่อเกิดเหตุการณ์บางอย่างในโลก สัญชาตญาณความเป็นมนุษย์ออนไลน์ของเราจะทำให้เราเข้าไปยัง #Whatshappenningin… ทันที อาจเพื่อติดตามข่าวสาร แต่หลายครั้งมากเพื่อสอดส่องหาความรู้สึกร่วม และความรู้สึกนั้นอาจเสพติดได้
ในงานวิจัย A Research On Social Media Addiction and Dopamine Driven Feedback โดยมหาวิทยาลัย Mehmet Akif Ersoy University ประเทศตุรกี ค้นพบว่าความเสพติดของโซเชียลมีเดียนั้นคล้ายคลึงกับการใช้ยาเสพติด นั่นคือความเสพติดใน Dopamine Loop ที่การโพสต์ การคอมเมนต์ การแชร์ ฯลฯ สร้างขึ้น กล่าวคือความเชื่อมต่อที่เกิดขึ้นจากการรับรู้และรู้สึกในโลกออนไลน์หลายๆ ครั้งทำให้ความสัมพันธ์ในโลกจริงจืดชืดไปเลยก็ได้
ความเห็นอกเห็นใจไม่ใช่เส้นตรง
แต่ถ้าเราแคร์ก็แปลว่าเราแคร์ไม่ใช่เหรอ? การแคร์มากๆ จะเปลี่ยนเป็นไม่แคร์ดูไม่เมคเซนส์เลยว่าไหม? ความเป็นจริงแล้วความเห็นอกเห็นใจอาจซับซ้อนกว่านั้น
Compassion fatigue มักเกิดขึ้นได้จากการเปิดรับความเจ็บปวดของผู้อื่นเข้ามาในตัว นี่เป็นเหตุผลให้ภาวะนี้มักเกิดขึ้นกับคนประกอบอาชีพที่เจอกับความเจ็บปวดในรูปแบบต่างๆ ของคนจำนวนมาก โดยดร. ชาร์ลส ฟิงก์เลย์ (Charls Fingley) ผู้ก่อตั้ง ศูนย์วิทยาการการบาดเจ็บ มหาวิทยาลัยทูเลน กล่าวว่ามันเป็น ‘ภัยของทุกอาชีพที่ต้องใช้ความรู้สึกและหัวใจ’ ส่วนดร. ไฮดิ อัลเลแพค (Heidi Allespach) จากมหาวิทยาลัย Miami’s Miller School of Medicine กล่าวว่าเธอมักสอนให้นักศึกษาของเธอให้สร้างกำแพงรอบๆ ใจของพวกเขา ‘ถ้าไร้โล่กำบังที่แข็งแกร่งพอ ทุกอย่างจะถาโถมเข้ามาได้’ เธออธิบาย
กล่าวคือความเห็นอกเห็นใจนั้นมีขอบเขตที่มนุษย์คนหนึ่งสามารถรับเอาไว้ไหว และขอบเขตเหล่านี้สามารถถูกพังทลายลงได้ หากเราเห็นใจใครสักคนแต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือการต่อว่าด่าทอหรือความคิดอยากฆ่าตัวตาย แม้จะเป็นคนที่มีความเข้าใจขนาดไหนว่านั่นคือผลข้างเคียงของอาการและสภาพในจิตใจของพวกเขาและเราไม่โทษเขาแม้แต่น้อย ในใจของเราเองเกราะป้องกันย่อมเกิดขึ้น
และนั่นรวมไปถึงเวลาที่เราอินกับปัญหาใดๆ สักอย่างในโลกอย่างมากๆ เรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับมัน แต่สุดท้ายรู้ว่าสิ่งที่ทำได้คือโพสต์เกี่ยวกับมันเฉยๆ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นคืออะไร เมื่อเราตื่นรู้ในทุกๆ ปัญหา ไม่ว่าจะการเมืองภายในและนอกประเทศ ปัญหาช่องว่างระหว่างชนชั้น สงคราม ปัญหาสิ่งแวดล้อม ฯลฯ และรู้ว่าถึงที่สุด อำนาจในการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงไม่ได้อยู่ในมือของเรา?
อาการของภาวะนี้คือการหลงลืม นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน อาจรู้สึกกับบางอย่างมากกว่าปกติ และกับบางอย่างน้อยกว่าปกติ มองโลกลบและมองว่ามันอันตรายกว่าปกติ ตัดขาดทางความรู้สึกและตัดขาดการสื่อสารกับผู้คน หยุดเห็นอกเห็นใจ หากเป็นหนึ่งในอาชีพที่กล่าวมาก็อาจไม่มีใจที่จะทำงานเหล่านั้นต่อ และความรู้สึกสิ้นหวังกับความรู้สึกที่ไม่อาจยื่นมือเข้าไปแก้ไขอะไรต่อความสิ้นหวังเหล่านั้นได้
ที่กล่าวมาแปลว่าความเห็นอกเห็นใจไม่ใช่เส้นตรงที่จะบอกได้ว่าแค่เห็นใจก็คือเห็นใจ แต่มันมีขอบเขตที่หากไปถึง ความเห็นใจและความสามารถที่จะรู้สึกของคนคนหนึ่งสามารถหดหายไปได้ด้วย
แล้วเราจะกลับมาเห็นใจได้หรือเปล่า?
ปัจจัยที่ใหญ่มากๆ ที่ก่อให้เกิดภาวะ compassion fatigue คือการให้ความสำคัญอย่างอื่นมากกว่าตัวเอง ซึ่งพบในทั้งคนที่ต้องดูแลคนอื่น และคนที่ติดตามเรื่องราวทางสังคมตลอดเวลา แต่เช่นเดียวกันกับที่คู่มือความปลอดภัยบนเครื่องบินบอก ‘โปรดสวมหน้ากากออกซิเจนให้ตัวเองก่อน แล้วจึงสวมให้ผู้ที่อยู่ใต้ความดูแลของท่าน’ การเห็นใจตัวเองก่อนนั้นอาจเป็นทางออกและการป้องกันความล้าใจที่อาจเกิดขึ้นได้
ในงานวิจัยหาความเชื่อมโยงระหว่าง compassion fatigue และความเห็นอกเห็นใจตัวเองโดยแคทเธอรีน อัปตัน (Katherine Upton) ตีพิมพ์ลงบนวารสาร Journal of Compassionate Health Care พบว่าความเห็นอกเห็นใจตัวเองนั้นมีผลปานกลางต่อการป้องกันและคาดเดาการเกิด Compassion fatigue
โดยความเห็นอกเห็นใจตัวเองในที่นี้คือการดูแลตัวเองผ่านสามปัจจัยที่ผู้วิจัยได้รับแรงบันดาลใจมาจากพุทธศาสนา นั่นคือความใจดีต่อตัวเอง (Self-kindness) ที่เริ่มจากการปลอบใจและดูแลตัวเอง ความเป็นปุถุชน (Common Humanity) ที่เชื่อว่าตัวเองเป็นคนธรรมดาและไม่มีใครสมบูรณ์แบบ และสุดท้ายคือความมีสติ (Mindfulness) ที่ยึดเราไว้เข้ากับปัจจุบัน โดยผู้วิจัยแนะนำว่าควรปลูกฝังไว้แก่ผู้คนก่อนจะต้องเสี่ยงกับสถานการณ์ที่กระทบจิตใจ
หากวาดภาพให้ชัดเจนขึ้น ทั้งสามอย่างสามารถเป็นตัวช่วยให้ใจเย็นและไม่โทษตัวเองในสิ่งที่อยู่นอกเหนือความสามารถของเราได้ อย่างเช่นหากเราเห็นนักกิจกรรมถูกคุมขังบนโซเชียลมีเดีย แทนที่ความคิดของเราจะเป็นการโทษตัวเองก่อนว่าทำไมเราทำอะไรไม่ได้ กลายเป็นการนำข้อมูลเหล่านั้นเป็นแรง และเป็นมุมมองให้สามารถเดินหน้าขับเคลื่อนต่อไปในอนาคตได้โดยไม่ล้มลงไปเสียก่อน
แม้เราจะรู้ถึงหลักการแล้ว การดูแลจิตใจของตัวเองในโลกที่เต็มไปด้วยเรื่องราวลบๆ นั้นอาจพูดง่ายกว่าทำ การฮีลจิตใจเมื่อความล้าแบบนี้เกิดขึ้นนั้นอาจใช้เวลาเป็นเดือนหรือปีๆ
แต่หากแปลว่ามันสามารถทำให้คนที่มีความใส่ใจขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนแปลงโลกและระบบเดินต่อไปได้นานขึ้น การพักและรู้ทันความล้าในใจนั้นสำคัญมากทีเดียว
อ้างอิงข้อมูลจาก
jcompassionatehc.biomedcentral.com