ในจังหวะที่ COVID-19 ระบาดหนักหน่วง เราได้เห็นคนดัง หรือคนที่มีผู้ติดตามจำนวนหลักแสน กระทั่งหลักล้าน ออกมาใช้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียของตัวเองช่วยเหลือผู้ป่วยที่เข้าไม่ถึงการรักษาในวันที่โรงพยาบาลเตียงล้น ทั้งประสานงานหาเตียง หายา หาออกซิเจน
เป็นหนึ่งปรากฏการณ์ที่ย้ำให้เห็นว่า โลกโซเชียลมีเดียไม่ใช่มีแต่ความบันเทิง แต่พลังการสื่อสารออนไลน์ถ้ามากพอ มันช่วยชีวิตคนได้อย่างมากมายจริงๆ จากการเชื่อมโยงผู้คนสู้ความช่วยเหลือได้อย่างทันเวลา แม้ไม่รู้จักมักจี่กันมาก่อน
The MATTER ไปคุยกับเจ้าของ 2 เพจดัง ‘ภาคภูมิ เดชหัสดิน’ เจ้าของเพจ หมอแล็บแพนด้า และ ‘หมอริท—เรืองฤทธิ์ ศิริพาณิช’ เจ้าของเพจ MhorRitz ที่เป็นหัวหอกสำคัญของโลกโซเชียลมีเดีย กับการออกมาใช้กระบอกเสียงของตัวเอง ส่งต่อความช่วยเหลือในยามที่สังคมวิกฤต และพูดคุยรวมไปถึงประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ ทั้งมุมมองต่อโลกโซเชียลมีเดีย เฟคนิวส์ การทำคอนเทนต์ในยุคที่ดราม่าเต็มเมือง ในฐานะที่พวกเขาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ผู้นำทางความคิด ของใครหลายๆ คน
ถ้าพร้อมแล้ว ไถหน้าจออ่านความเห็นจากหมอทั้งสองไปพร้อมๆ กัน
เล่าให้ฟังหน่อยว่า พวกคุณเริ่มมาทำโปรเจกต์ช่วยเหลือสังคมผ่านโซเชียลมีเดียได้ยังไง
หมอแล็บแพนด้า : เราพยายามเป็นเพจที่พูดถึงสถานการณ์ปัจจุบันและสอดแทรกความรู้เรื่องสุขภาพด้วย แต่หลังๆ พอเริ่มมีวิกฤตโรคระบาดต่างๆ หรือมีอะไรที่ต้องช่วยเหลือสังคม เราก็จะใช้เพจซึ่งมีคนติดตามจำนวนมาก ใช้เป็นช่องทางในการช่วยเหลือคน รวมไปถึงช่วงหลังที่มีการระบาดของ COVID-19 วันละหมื่นๆ ราย มีคนที่ไม่มีที่รักษาเยอะเต็มไปหมดเลย ก่อนที่จะทำ home isolation กัน เราก็ทำศูนย์พักคอยขึ้นมา เป็นศูนย์ที่ดึงคนป่วยออกมาจากครอบครัวของเขา เพราะถ้าเขายังอยู่กับครอบครัวอยู่ จากคนที่ไม่ได้ติดเลยก็จะกลายเป็นว่าติดกันทั้งครอบครัว
แล้วก็มีเพจ เราต้องรอด (ดำเนินการโดย ได๋—ไดอาน่า จงจินตนาการ) ที่ได้ร่วมงานกัน มีเจตนารมณ์ที่ตรงกันในเรื่องการช่วยคนและจัดตั้งศูนย์พักคอย เราก็เริ่มทำตั้งแต่ศูนย์ สร้างตึกใหม่อะไรใหม่ เราทำ 4 ศูนย์ มีที่ประเวศ คันนายาว พระรามสอง และเพชรบุรี ซึ่งเหนื่อยมาก ตอนกลางคืนอย่างคนจากเพจเราต้องรอดเขาก็เอาทีมงานออกไปตามบ้านเลย ไปรับคนจากที่บ้านเข้าศูนย์พักคอย หรือว่าไปดูแล ไปให้ออกซิเจนแก่คนที่กำลังรอที่จะเข้าศูนย์พักคอยต่างๆ ทำให้เขามีชีวิตรอด
หมอริท : ของผม ตอนแรกที่เราเข้ามาทำ เราดันตั้งชื่อไปแล้วว่า ‘หมอริทช่วยโควิด’ จะเปิดเพจใหม่เพื่อมาทำเรื่อง COVID-19 โดยเฉพาะ แต่ตอนตั้งเพจมันติดคำว่า ‘โควิด’ เปิดเพจใหม่ไม่ได้ ก็เลยเอามาลงที่ช่องทางของตัวเองคือ MhorRitz
จริงๆ เริ่มจากที่เราติดตามข่าวตลอด ทั้งวัคซีน ผู้ติดเชื้อ แล้วก็ช่วงนั้น ประมาณปลายเดือนกรกฎาคม ตัวเลขผู้ติดเชื้อเริ่มสูงเรื่อยๆ เป็นหลัก 10,000 กว่า และแตะ 20,000 เลยสงสัยว่าทำไมเลขมันสูงจังเลย ประกอบกับเห็นข่าวว่า มีผู้ติดเชื้อที่เข้าไม่ถึงการรักษาและเสียชีวิตที่บ้านหรือริมถนน เลยสงสัยว่าจริงไหม ก็เลยไปตามว่าเรื่องนั้นเป็นไปได้หรือเปล่า เพราะปกติเรื่องแบบนี้เราไม่เจอกันบ่อย ปรากฏว่าคอมเมนต์ที่คอมเมนต์กันจะประมาณว่า ติดต่อเข้าไปแต่ไม่มีติดต่อกลับมา ตอนนี้อาการแย่แล้ว ออกซิเจนจะได้รับจากไหน
เลยคิดว่า ถ้าอย่างนั้นเราน่าจะต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว เพราะมีคนที่ล้นออกมาจากระบบการรักษาค่อนข้างเยอะ ประกอบกับ โอเค เราเป็นหมอ อาจจะไม่ใช่หมอด้านเวชศาสตร์ฉุกเฉิน หรือโรคระบาดโดยตรง แต่อย่างน้อยเราจบหมอมา เราก็คิดว่าเราจะต้องใช้วิชาความรู้นี้แหละ ทำไรสักอย่างนึง ตอนนั้นก็คิดง่ายๆ เลย ดูข่าวเสร็จ ประมาณ 2–3 วัน ก็ตัดสินใจว่า โอเค ชวนพนักงานในคลินิกมาทำประกาศ ทำโฆษณาเลยว่าเราจะช่วยเหลือผู้ป่วยเอง โดยตอนนั้นระบบคือใช้ทุนทรัพย์ของตัวเอง เริ่มทำตั้งแต่ตอนนั้นมาเรื่อยๆ ต่อเนื่องจนเป็นหลักเดือน
COVID-19 เป็นเหมือนกับโรคระบาดที่บันทึกประวัติศาสตร์มนุษยชาติ การโดดเข้ามาช่วยเหลือประเด็นนี้ดูน่าจะเหนื่อยไม่น้อย ทั้งสองคนได้อะไรบ้างจากตรงนี้
หมอแล็บแพนด้า : ตัวเองเคยตั้งปณิธานไว้กับตัวเองว่า จากนี้ไปก็จะช่วยเหลือสังคมเท่าที่ตัวเองจะทำได้ เป็นผู้ให้มันมีความสุขกว่าการที่เรารอรับอย่างเดียว
หมอริท : ได้ช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนไม่มีทางไป สำหรับริท มันไม่เชิงเป็นความสุข เพราะมันไม่ใช่สิ่งที่เราอยากให้เกิด ไม่ใช่สิ่งที่เราอยากให้เกิดแล้วมาทำ ทุกวันที่ริททำ มันก็มีแต่เรื่องแบบว่า เออ หวังว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อมันจะลดลง เมื่อไหร่มันจะดีขึ้น เมื่อไหร่บ้านเมืองมันจะกลับมา คิดแค่นั้น แล้วก็ทำไปเรื่อยๆ หมดได้ก็ดี เพราะไม่อยากทำแล้ว
ตัวหมอริทเองมีภาพแชร์ออกมาเลยว่า มีของบริจาคส่งมาล้นคลินิกของตัวเองเลย ดูจะต้องรับมือหนักมากทีเดียว
หมอริท : อย่างที่บอกตอนแรก ริทเข้ามาเพราะกะว่าจะช่วยอะไรได้เล็กๆ น้อยๆ รับดูแลผู้ป่วยแต่ละวันอาจจะหลักสิบ แล้วเราก็คงดูแลไหว คิดแบบโลกสวยมากตอนนั้น ปรากฏว่าเปิดเพจ เปิดช่องทางมาวันแรก คนไข้ที่ติดต่อเข้ามาก็เป็นพันคนแล้ว ริทไม่ได้นอนเลย มันมีตั้งแต่คนที่ต้องการยาเฉยๆ ต้องการอาหารเฉยๆ หรือคนที่ต้องการออกซิเจน คนที่หายใจไม่ออกแล้วก็มี ไปจนถึงคนที่จะเสียชีวิตแล้ว ริทก็ทำเองตอบเองอยู่กับแอดมินของริทไม่กี่คน
จนมาถึงเดือนสิงหาคมที่เป็นช่วงพีก ตัวเลขผู้ติดเชื้อ 20,000–25,000 คน ก็ทำมาเรื่อยๆ ริทเริ่มรู้สึกว่าริทไม่ไหวแล้วด้านทุนทรัพย์ เพราะยาฟาวิพิราเวียร์แพงมาก ราคายาถ้า 5 วัน คือ 7,500 บาท 10 วัน คือ 15,000 บาท ซึ่งก่อนหน้านั้นริทก็ใช้ระบบใครมีช่วยริทจ่าย ถ้าใครไม่มีริทออกให้ สุดท้าย ริทไปติดต่อสภากาชาดว่า ริททำแบบนี้ขึ้นมานะ ริทมีระบบแบบนี้ ริทขอการันตีว่า ถ้าริทได้ยามา ขอรับประกันว่า ริทจะส่งให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง ซึ่งตอนนั้นถือว่าเป็นปรากฏการณ์ส่งยาที่เร็วที่สุด
พอริทมียาฟาวิพิราเวียร์ในมือ มันก็เลยทำให้เราสามารถรับคนไข้ได้มากขึ้น มากขึ้นหมายความว่า เราไม่ต้องมีข้อจำกัดทุนทรัพย์อะไรแล้ว เราก็เลยเปิดเป็นศูนย์เต็มตัว คือ ดูแลผู้ป่วยแบบ home isolation ให้ครบ 14 วัน ดูแลจนกว่าจะหาย ถ้าป่วยหนักเราก็ส่งต่อโรงพยาบาล ก็เลยเปิดรับบริจาค เพราะเราจะได้ประหยัด ลดค่าใช้จ่ายที่เราต้องจ่ายไปด้วย ปรากฏว่าเราลงไปแค่วันหนึ่งหรือสองวันนี่แหละ ของมาบริจาคคลินิกเต็มจนงง ซึ่งตอนนั้นคลินิกยังเปิดบริการได้บ้าง เราก็ต้องปิดโซนเอา แล้วก็เอาโซนที่เป็นล็อบบี้รับลูกค้าเป็นโซนแพ็กยา ที่จอดรถข้างบ้านซึ่งมีหลังคากันแดดกันฝนอยู่ เราก็ต้องใช้เป็นที่เก็บของบริจาค สุดท้าย คลินิกโดนประยุกต์เป็นศูนย์ไปในตัวเลย
มีเหตุการณ์ไหนไหมที่ใช้โซเชียลมีเดียของตัวเองในการช่วยเหลือผู้คน แล้วคิดว่ามาถูกทาง และทำให้อยากทำสิ่งนี้ต่อ
หมอริท : ถ้าคิดว่าตัวเองมาถูกทางแล้ว ริทว่าน่าจะเป็นเรื่องของการที่จริงๆ แล้ว ริทก็เป็นหมอรุ่นใหม่ หมออายุน้อยคนหนึ่ง แต่ว่าเราก็เพิ่งมารู้ความสามารถพิเศษของเราอย่างหนึ่ง คือ เราสามารถรวมคน แล้วทำอะไรที่มันยิ่งใหญ่ได้ ทีมริทเป็นทีมที่จัดตั้งมาแบบไม่เป็นทางการเลย ไม่มีใครที่เป็นคนทำงานด้านนี้โดยเฉพาะมาก่อน แต่ว่าเราสามารถทำและช่วยเหลือคนหมู่มากได้เกินคาด แบบที่ไม่คาดคิดมาก่อน ซึ่งตรงนี้ทำให้เห็นว่า ถ้าคนคนหนึ่งหรือคนกลุ่มหนึ่งตั้งใจจะทำอะไรจริงๆ สุดท้ายมันทำได้ และมันก็เป็นประโยชน์กับสังคมและคนหมู่มากได้ ขอแค่ทำและทุ่มเทกับมันจริงๆ ซึ่งอันนี้ริทก็มาค้นพบตรงนี้ว่าเราทำได้ เราช่วยได้
หมอแล็บแพนด้า : ของผม เหตุการณ์ที่ทำแล้วสามารถช่วยชีวิตคนได้หลายพันคนเลยก็คือ เหตุการณ์ที่มีการกราดยิงที่โคราช มีคนไปหลบอยู่ในแผนกต่างๆ ของห้างแห่งหนึ่ง มันใช้เสียงไม่ได้เพราะถ้ามีการโทรศัพท์ ใช้เสียงขึ้นมา อาจจะถูกยิงได้ เพราะว่าเขาจะรู้ว่าเราซ่อนตัวอยู่ตำแหน่งไหน คนที่อยู่ในนั้นเขาก็นึกถึงเพจเรา เขาก็ส่งข้อความมาหาว่าเขาอยู่ตรงจุดนั้นจุดนี้ เราก็เอาข้อความนี้ส่งต่อไปยังกองปราบปรามทีมหนุมานที่อยู่หน้างาน เขาก็จะแอบเข้าไปตามจุดนั้นๆ ที่ถูกส่งพิกัดมาแล้วค่อยๆ ทยอยช่วยทีละคนๆ มันเป็นเหตุการณ์ที่ระทึกมาก เราไม่ได้นอนเลย เราช่วยคน มือเราก็อปปี้ วาง ก็อปปี้ วาง เพื่อที่จะส่งไปให้ตำรวจที่อยู่หน้างานให้เข้าช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที ก็รู้สึกว่าเป็นอะไรที่ได้ช่วยคนอย่างเป็นรูปธรรมชัดเจนมากๆ
พวกคุณคิดว่าการช่วยเหลือสังคมผ่านโซเชียลมีเดียมีพลังมากน้อยแค่ไหน
หมอแล็บแพนด้า : การช่วยเหลือออนไลน์มันมีข้อดีตรงที่ว่ามันกว้างขวาง เพราะว่าเรามีคนติดตามเยอะ มันเข้าถึงง่ายและรวดเร็วมากกว่าที่เราออกไปช่วยโดยใช้ตัวเราเองออกไปสู่สังคม เพราะการที่เราโพสต์ปุ๊บ เราช่วยได้เลย อย่างเช่นมีคนที่น้ำท่วมอยู่ตอนนี้ เขาบอกว่าเขาอยู่หมู่บ้านนี้ๆ เราโพสต์ปุ๊บคนรู้เป็นวงกว้างแล้ว ใครที่อยู่แถวนั้นก็ไปช่วยกันได้อย่างรวดเร็ว โดยที่ตัวเราไม่ต้องนั่งรถนั่งเรือไปลงพื้นที่อะไรเองเหมือนสมัยก่อน เราทำร่วมกันได้ เราใช้โซเชียลเพื่อเป็นกระบอกเสียง ผมมองว่ามันรวดเร็วกว่าและเข้าถึงได้ง่ายมากๆ ครับ
หมอริท : ริทว่ามันมีประโยชน์มากเลยนะ ของริทอย่างที่บอก ขนาดริทไม่มีช่องทางหลักเป็นของตัวเองในการช่วยเหลือ ถ้าใครติดต่อโครงการริทมาจะเข้าใจดีว่าริทมีแค่ภาพ อาร์ตเวิร์กหนึ่งอัน คิวอาร์โค้ดให้สแกนหนึ่งอัน แต่ว่ามันกระจายไป คือ แชร์ต่อไปเรื่อยๆ มันแชร์ง่าย ใครรู้ว่าที่ไหนติดก็แค่เอาคิวอาร์โค้ดริทแชร์กันต่อไปเรื่อยๆ มันทำให้การช่วยเหลือกระจายไปแบบไม่มีที่สิ้นสุด แล้วไปถึงผู้ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ไปถึงแบบปากต่อปาก จำนวนผู้ติดเชื้อที่ติดต่อเข้ามาหาริท 60,000 กว่าคน ริทไม่ได้เสียค่าประชาสัมพันธ์แม้แต่บาทเดียว
จำนวนผู้ติดตามเยอะก็อาจจะมาพร้อมกับความรับผิดชอบในการสื่อสารที่มากขึ้นและละเอียดขึ้น สำหรับทั้งสองคน สิ่งสำคัญที่สุดที่อินฟลูเอนเซอร์ต้องมีคืออะไร
หมอริท : การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ถ้าเรานำเสนออะไรที่มันผิดแปลกหรือสิ่งที่มันเป็นสิ่งไม่ดีก็อาจจะมีคนทำตามได้ เพราะฉะนั้นก่อนจะทำคอนเทนต์หรือลงเนื้อหาอะไร หลักการที่ริทเลือกทำมาตลอดคือคิดถึงสังคม คิดถึงความถูกต้องด้วย ไม่ใช่แค่ทำคอนเทนต์ไปเรื่อยๆ ให้มีคนดูมากที่สุดเท่าที่จะเยอะได้ โดยไม่ต้องสนใจว่าใครจะเป็นยังไง ใครจะรู้สึกยังไง ใครจะเสียใจยังไง
การรับผิดชอบต่อสังคมก็สำคัญอยู่ดี เข้าใจว่าคาแร็คเตอร์แต่ละคน แต่ละช่องก็ไม่เหมือนกัน จะให้ทุกคนทำเหมือนกันก็ไม่ใช่เรื่อง แต่ว่าสิ่งที่เราจะนำเสนอไปแต่ละครั้ง แต่ละอย่าง ในฐานะที่เราเป็นอินฟลูเอนเซอร์ก็อยากให้คิด และก็ไตร่ตรองเยอะๆ
หมอแล็บแพนด้า : อย่าลืมนะครับว่าโพสต์อะไรไปแล้วเมื่อเข้าสู่ระบบออนไลน์ก็ไม่มีทางลบได้แล้ว คราวนี้มันก็จะอยู่กับเราไปตลอดกาล เพราะฉะนั้นไม่อยากให้อินฟลูเอนเซอร์บางคนใช้อารมณ์ในการที่จะโพสต์อะไร อยากให้คิดไตร่ตรองเยอะๆ เพราะผิดแล้วมันแก้ยากจริงๆ
ในฐานะคนสร้างคอนเทนต์ คิดยังไงกับเรื่องดราม่าและเฟคนิวส์ในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกวันบนหน้าฟีด
หมอริท : ริทว่าจริงๆ ข่าวออนไลน์มันก็เหมือนเพื่อนๆ เรารอบข้างในสังคมเรานี่แหละ มันก็มีทั้งเพื่อนที่ดี เพื่อนที่ดราม่า ปนกันไป เราก็ต้องฟังและดูก่อน หาความจริงจากช่องทางอื่นก่อน แหล่งข่าวถ้าดูไม่น่าเชื่อถือ ก็ต้องคิดวิเคราะห์ขึ้นหน่อย และหาข้อมูลอย่างอื่นเพิ่ม ไม่ใช่ดูแล้วเชื่อเลย
หมอแล็บแพนด้า : ถ้าดราม่าเป็นเรื่องที่เกิดประโยชน์ มันก็เป็นสีสันในชีวิตนะ เราก็ตามข่าว เฮ้ย วันนี้มีดราม่าอะไร ก็สนุกดี เป็นเสน่ห์ของการติดตามข่าวสาร ว่าเราสามารถได้พูดคุยเรื่องที่เป็นกระแสปัจจุบัน มันก็เหมือนเราได้ดูละคร แต่ว่าละครมันไม่ได้อยู่ในทีวีอย่างเดียว มันมาอยู่ในชีวิตจริงด้วย แต่ดราม่าบางเรื่องมันก็ทำให้บางคนชีวิตพัง
เฟคนิวส์นี่ก็เรื่องสำคัญ เชื่อไหมครับว่าคนชอบจะแชร์เฟคนิวส์มากกว่าข้อมูลจริง เพราะว่าเฟคนิวส์ถูกตัดต่อมาน่าสนใจมาก มักจะอ้างนักวิทยาศาสตร์ อ้างหมอ หมอจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดอะไรอย่างนี้ แนะนำให้กินมะนาว แต่ละอย่างมันหาง่ายไง ในสิ่งที่เขาแอบอ้าง แต่ละอย่างมันอยู่รอบตัวทั้งนั้นเลย
แบบนี้แต่ละคนมีหลักการอะไรในการแชร์ข้อมูล ข่าวสาร หรือทำคอนเทนต์สู่สาธารณชนบ้าง เพื่อไม่ให้กลายเป็นเรื่องเท็จ
หมอริท : วิธีเลือกของริท อันนี้ริทไม่รู้ว่าคนทั่วไปสามารถทำได้ไหม อย่างของริทเป็นหมอ หมอจะถูกปลูกฝังมาด้วยเรื่องของการอ่านเอกสารวิชาการหรืองานวิจัยอยู่แล้ว ดังนั้นเวลาริทเจอข่าวอะไรบางอย่างที่ดูเป็นพาดหัวว้าวๆ หรือ ดูเกินจริง ริทก็จะไปหาจากตัวต้นตอข่าว อย่างก่อนหน้านี้ก็จะมีข่าวเรื่องวีคซีนนั่นนี่ อะไรดีกว่ากัน ก็เข้าไปเลย WHO ว่าไง CDC ว่าไง เข้าไปอ่านตามที่ต้นทางจริงเขานำเสนอ บางทีที่เขานำเสนอแค่บางส่วนมาอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดหรือความขัดแย้งได้
การเป็นอินฟลูเอนเซอร์ ข้อมูลคือข้อมูล ข้อมูลแปลว่าความจริง แต่สุดท้ายแล้วคนเราก็จะมีความคิด ความรู้สึกของตัวเองปนเข้าไปได้เสมอ สำหรับริท ริทมองว่าถ้ามันเป็นข้อมูล ถ้าเป็นความจริง ให้เราพูดไปเลยไม่ต้องกลัว แต่ถ้าเป็นความคิด ความรู้สึก ให้เราบอกด้วยว่ามันคือความรู้สึกเรานะ มันไม่ใช่ความจริง
หมอแล็บแพนด้า : จริงๆ แล้วคนที่ทำเพจ เขาก็จะมีความรู้เรื่องนั้นใช่ไหมครับ ก่อนที่เราจะทำเพจ เราก็ต้องรู้ว่าเราสามารถจะทำคอนเทนต์ออกมาได้ทุกวัน เพราะฉะนั้นอันดับแรกเลย อินฟลูเอนเซอร์อย่างน้อยเขาต้องมีความรู้ในเรื่องนั้นอยู่แล้ว แต่อยากจะให้มีการค้นคว้าข้อมูล อย่างของผมมันเป็นข้อมูลทางด้านการแพทย์ เวลาโพสต์อะไรไป ถ้าผิดไปแล้วผิดเลยนะ หรือว่าถ้าเราหาข้อมูลไม่รอบด้าน มันพลาดเลยนะ แล้วคนที่ติดตามเพจเรา ไม่ได้มีแค่ประชาชนธรรมดาทั่วไป มีทั้งนักวิชาการที่เก่งกว่าเรา อาจารย์ แพทย์ พยาบาล มีทุกสาขาอาชีพที่มีความรู้ความสามารถมากมายกว่าเรา เราจะโพสต์อะไร เราต้องมีความรู้ที่แน่น เพื่อที่จะสามารถตอบคำถามต่างๆ ได้ ก่อนที่ผมจะทำข้อมูลออกไป ไม่รู้คนอื่นทำยังไงนะ แต่ถ้าอ่านงานวิจัยได้ก็ดี เพราะว่างานวิจัยที่สดใหม่มันก็จะเป็นความรู้ที่อย่างน้อยเป็นปัจจุบันกว่าอันอื่นที่สุดแล้ว งานวิจัยที่สดๆ ใหม่ๆ สำคัญมากเลยครับที่เราจะต้องอ่านมาเพื่อประกอบการโพสต์
และถ้าเราไม่มั่นใจเราอย่าฟันธง ในยุคนี้นะครับ เพราะข้อมูลข่าวสารมันเปลี่ยนแปลงเร็ว จากเฟคนิวส์ในวันนั้นกลายเป็นเรื่องจริงในวันนี้
เพจ ‘หมอแล็บแพนด้า’ เพจ ‘เราต้องรอด’ และเพจ ‘MhorRitz’ ได้รับการเข้าชิงรางวัล Best Social Change Maker Influencer รางวัลของอินฟลูเอนเซอร์ที่ใช้พลังกระบอกเสียงของตัวเองในการออกมาช่วยเหลือสังคม ในงาน Thailand Influencer Award 2021 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 21 ตุลาคม 19.00 น. ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กไลฟ์ https://www.facebook.com/Tellscore
ดูรายละเอียดอินฟลูเอนเซอร์ในงาน Thailand Influencer Awards 2021 ได้ที่ : https://www.thailandinfluencerawards.com/awards/2021