“เธอๆ เห็นรูปนี่ยัง?”
“เห็นอยู่บนฟีดมาวันสองวันละ ใครทำอะ เจ๋งว่ะ”
มันเริ่มจากบทสนทนานั่นแหละ ที่ทำให้เราเริ่มขุดคุ้ยกันว่า ใครกันนะที่เป็นเจ้าของภาพ ‘Soldier with a friend’s watch’ (มีคนแปลไทยให้ว่า ‘ทหารและนาฬิกาเพื่อน’) ซึ่งแชร์กันเต็มฟีดเฟซบุ๊กในช่วงวันสองวันมานี่
บราโว่! เขาคือ ‘Marco Melgrati’ ศิลปินอิสระชาวอิตาเลียน (แต่เขาบอกว่าชอบให้เรียกว่า ‘citizen of the world’ มากกว่า) หนึ่งในศิลปินที่มาร่วมโครงการ SAC Residency Program ที่เชียงใหม่เป็นเวลา 3 เดือน แล้วพอเข้าไปส่องอินสตาแกรมของ Marco นะ จะเห็นเลยว่าเข้าเป็นศิลปินที่เดินทางมาแล้วหลายประเทศ แถมฝากผลงานสุดแสบไว้มากมาย
ในบ่ายวันศุกร์ที่เขาพอจะมีเวลานั่งพัก The MATTER ได้สไกป์ไปทักทาย ‘Marco Melgrati’ หลังจากที่เขาพาชมบ้านพักศิลปินที่เชียงใหม่ซึ่งเขาแสนชื่นชมชื่นชอบ บทสนทนาเกี่ยวกับผลงาน การเสียดสี คอร์รัปชั่น และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านงานศิลปะก็เริ่มต้นขึ้น
อ้อ ลืมบอกไป งานของ Marco จัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ Depression Contour ที่หอศิลป์ศุภโชค ดิ อาร์ท เซ็นเตอร์ สุขุมวิท 39 มีถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้เท่านั้นนา
สังเกตว่างานส่วนใหญ่ของคุณเล่าเรื่องที่กำลังเป็นกระแส คุณมีวิธีเลือกประเด็นที่จะมาสร้างงานยังไง
จริงๆ แล้วส่วนใหญ่ผมทำงานภาพประกอบให้กับนิตยสาร มันก็เลยทำให้งานของผมเป็นภาพที่เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นในตอนนั้น ที่กำลังเป็นกระแส แต่โดยส่วนตัวผมก็ชอบทำอะไรที่เรียกให้คนมาคุยกัน แลกเปลี่ยนความเห็นกันอยู่แล้วล่ะ เวลาวาด ผมคิดเสมอแหละว่าผมไม่ได้วาดให้ตัวเองดู ผมวาดให้คนอื่นมาคุยกับผม ส่วนเรื่องที่ผมพูดถึงหรอ คุณก็คงเห็นจากงานของผมแหละเนอะ ว่ามันก็เป็นเรื่องการเมืองบ้าง สถานการณ์สังคมบ้าง เรื่องเกี่ยวกับโซเชียลมีเดียและเรื่องที่เกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย จริงๆ ผมก็ไม่ได้มีความสนใจเฉพาะไปเรื่องใดเรื่องนึง อะไรที่ผมเห็น ผมเจอ ผมได้ยิน แล้วมันเข้ามาในความผมคิด ผมก็ทำออกมา
นิยามสไตล์งานของตัวเองว่าอะไร ตั้งใจให้เป็นงานเสียดสี ตีแผ่ หรือล้อเลียนหรือเปล่า
ก็ขึ้นอยู่กับชิ้นนะ แต่ก็ยอมรับแหละว่าส่วนใหญ่ก็มีการเสียดสีอยู่ในนั้น (หัวเราะ) ถ้ามันไม่ใช่งานที่มีคนจ้างทำ ส่วนใหญ่ผมก็ใส่ความสนุก ความตลกลงไปด้วย ทำไงได้ล่ะการพูดเรื่องซีเรียสให้ตลก บางทีมันก็ง่ายกว่าการพูดเรื่องซีเรียสให้ซีเรียสไง นึกออกไหม มันก็แค่วิธีการสื่อสารอีกแบบหนึ่ง แล้วบางทีเรื่องซีเรียสมันซีเรียสเกินกว่าความสนใจของคนทุกคน การจิกกัดบ้าง ใส่อารมณ์ขันลงไปบ้าง แบบนี้มันชวนคุยได้มากกว่า
แต่ว่าอารมณ์ขันหรือการล้อเลียน มันจะไปลดทอนความซับซ้อนหรือความจริงจังของประเด็นที่ต้องการสื่อสารไหม
ต่อให้เราพูดจริงจังทั้งหมด คนก็รับความจริงจังทั้งหมดไม่ได้ ถูกไหม เราเลือกบางอย่างมาเล่าในปริมาณที่เขารับได้ดีกว่า แต่เรื่องการตีความหรือสารที่ได้จากงานนี่ก็ต้องขึ้นอยู่กับคนดูเลย สมมติผมวาดภาพเกี่ยวกับเรื่องสงคราม แล้วใส่อารมณ์ขันเข้าไป คนจะเอาไปตีความว่าสงครามเป็นเรื่องสนุก ผมจะทำอะไรได้
มีงานชุดหนึ่งที่ผมเคยวาดตอนอยู่เม็กซิโก มีคนเอาไปรวมให้แล้วเรียกว่า ‘The Sad Truth Of Modern Life’ โห มันเคยคิดจริงจังขนาดนั้นหรอก ผมก็แค่เล่าเรื่องชีวิตคนบนโซเชียลมีเดียที่ผมเห็น มันมีทั้งเรื่องดีไม่ดี ทั้งสุขและเศร้า แต่คนเอาไปตีความยังไงผมก็ไม่ว่า เพราะมันคือศิลปะ มันเป็นพื้นที่ให้ตีความและแสดงความเห็นได้
แล้วอย่างการที่คุณเดินทางไปทำงานในหลายๆ ประเทศ เชื่อว่ามันต้องมีบางประเด็นที่ค่อนข้างอ่อนไหวสำหรับบางวัฒนธรรม คุณมีวิธีสื่อสารยังไง มีขอบเขตของการวิพากษ์วิจารณ์ที่ตรงไหน
ผมทำงานจากสิ่งที่ผมเห็นและรับรู้ หรือสิ่งที่มันเกิดขึ้นเองกับผม ผมก็แค่สื่อสารมันออกไปตรงๆ เข้าใจว่าเรื่องการเมือง ศาสนา หรือเพศมันเป็นเรื่องอ่อนไหว หรืออาจจะต้องห้ามสำหรับบางที่ อย่างตอนอยู่โมร็อกโค ผมก็เคยทำงานที่เกี่ยวกับศาสนาและผู้ก่อการร้าย แต่มันก็เป็นเรื่องที่สื่อพูด เป็นเรื่องที่คนพูดกันทั่วโลก ผมก็แค่พูดผ่านงานของผม
แล้วงานที่มาทำที่เมืองไทยล่ะ ช่วยเล่าให้ฟังหน่อย
ก็มีงานวาดให้แกลเลอรี่ (งานชิ้นพญานาค ไก่ชน และรูปปั้นพระพุทธเจ้า) แล้วก็งานอื่นที่ทำเอง อย่างชิ้น ‘Mandatory Tipping (The Checkpoint)’ นี่นี่ผมเจอมาเองเลย ตอนขี่มอเตอร์ไซค์ที่เชียงใหม่ ผมว่าคนไทยเห็นก็น่าจะ ‘อ๋อ’ นะ คุณอ๋อไหม? จริงๆ ก็ไม่ใช่แค่คนไทยหรอก ประเทศอื่นก็มี ผมก็แค่เล่าเรื่องที่มันเกิดขึ้น
ผมไม่ได้จะทำขึ้นมาเพื่อด่าว่าตำรวจคอร์รัปชั่นนะ แต่ผมทำขึ้นมาให้คุณ ‘อ๋อ’ แล้วก็หันไปยิ้มแบบรู้กัน มันก็น่าคิดไม่ใช่เหรอ ว่าทำไมเราถึงเห็นเรื่องนี้กันจนรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องปกติ
ถ้าเป็น ‘Soldier with a friend’s watch’ ที่คนพูดถึงกันมากมายตอนนี้ล่ะ?
ผมรู้ว่านี่ไคลแมกซ์ใช่ไหม อันนั้นผมบังเอิญได้ยินคนที่แกลเลอรี่คุยกัน เรื่องการคอร์รัปชั่นในไทย แล้วมาอ่านเจอข่าวเรื่องนาฬิกานี่พอดี ก็เลยทำงานออกมา จริงๆ งานนี้มันดัดแปลงมาจากงานที่ผมเคยทำให้นิตยสารของสวีเดน (‘For Modern Filosofi’) เป็นบทความเกี่ยวกับว่า นักการเมืองมีสิทธิ์ในการโกหกหรือเปล่า (Politics have the right to lie?) มันเป็นการตั้งคำถามว่า การที่นักการเมืองเป็นคนที่มีอำนาจมาก คำพูดของพวกเขามีพลังมาก หลายครั้งคำพูดเหล่านั้นก็อาจจะสร้างประโยชน์ให้ประเทศได้ มันก็เลยน่าตั้งคำถามว่าสุดท้ายแล้ว พวกเขาควรจะมีสิทธิ์โกหกหรือเปล่า ผมก็เลยเอามาตั้งคำถามเกี่ยวกับนักการเมืองคนนี้ของไทยบ้าง
ในฐานะที่เดินทางมาหลายประเทศแล้ว คุณมองเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นผ่านงานศิลปะในประเทศไทยยังไงบ้าง
ไม่รู้สิ แต่เท่าที่ผมเจอมา จริงๆ แล้วมันง่ายกว่านะ ที่จะให้คนที่ไม่ได้อยู่ในประเทศนั้นมาพูดความจริงเกี่ยวกับประเทศนั้น ไม่ใช่เพราะผมกล้าหาญหรือรู้ดีกว่านะ แต่คนที่อยู่ในประเทศที่พูดไม่ได้หรือพูดได้ไม่เต็มปาก อาจจะมีเรื่องต้องกังวลมากกว่า ผมเลยเลือกเดินทางไปๆ มาๆ นี่ไง (หัวเราะ)
แต่ผมว่ามันก็แปลกๆ แหละ กับประเทศที่คนทำงานอาร์ตแสดงความเห็นลงในงานไม่ได้ ถ้ามันไม่ได้ผิดกฏหมาย ไม่ได้ทำร้ายใคร เมืองไทยก็เหมือนจะเป็น free country สำหรับผมนะ ศิลปินไทยก็ดูจะมีโอกาสแสดงออกได้บ้าง ถ้าไม่ถึงขนาดโจ่งแจ้ง (explicit) มากนัก แต่ผมเป็นแค่นักท่องเที่ยวครับ ผมไม่ได้เข้าใจการเมืองของคุณขนาดนั้น (ยิ้ม)
ภาพประกอบจาก
instagram.com/m_melgrati
facebook.com/tavepong.pratoomwong